ความรุนแรงวนลูปในครอบครัว ณ ดินแดนแห่งการประนีประนอม - Decode
Reading Time: 2 minutes

คำเตือน: เนื้อหาต่อไปนี้กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว
และการพยายามฆ่าตัวตาย

เรารู้สึกว่าอยู่ที่บ้านไม่ปลอดภัยแล้ว พ่อก็ไล่เราออกจากบ้าน ช่วยพาเราออกไปจากที่นี่ได้ไหม

วันนี้เย็นแล้ว รู้ไหมพี่อุตส่าห์ไม่ไปรับลูกแล้วมาช่วยน้องนะ

แล้วจะเอาอะไรมารับประกันความปลอดภัยคืนนี้

“ถ้าเรื่องมันจะเกิด เทวดาฟ้าดินที่ไหนก็ช่วยไม่ได้หรอกนะน้อง

นี่คือบทสนทนาของ แทม เยาวชนอายุ 18 ปี ที่พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เราขอใช้พื้นที่นี้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น จากเสียงของแทม และร่วมวิเคราะห์กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงไปพร้อมกัน

ปัญหาของครอบครัว มีการทำร้ายกันมา 23 ปีแล้ว ตั้งแต่แม่แต่งงานกับพ่อ

“พ่อแทมเป็นพี่ชายคนโตในครอบครัวคนจีน และเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในบ้าน พ่อเคยแต่งงานมาก่อนและมีภาวะการใช้ความรุนแรงสูงจนภรรยาคนแรกผูกคอตาย แม่เคยพาพ่อไปตรวจอาการทางจิต หมอวินิจฉัยว่าพ่อเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงมาก ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่เขาไม่ยอมรับ เพราะเขาบอกว่าเขาไม่ได้เป็นอะไร

“เขาเคยเล่าให้เราฟังว่าเขาเคยเห็นพ่อ (อากงของแทม) ตีแม่ ตี ตี และตีอยู่อย่างนั้นสิบกว่าปี แต่ก็ยังอยู่ด้วยกันได้จนกระทั่งอากงเสีย ขนาดแม่เขายังทนได้ แล้วทำไมแม่แทมถึงทนไม่ได้

“หลายคนชอบบอกว่าถ้าเปรียบพ่อเป็นไฟ แม่ก็เป็นน้ำ”

“แม่แทมเป็นคนที่ใจดีมาก ๆ หัวอ่อน และยอมคน แม่แทมไม่มีอาการฝังใจ (trauma) ใด ๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เป็นคนที่ถูกควบคุมมาโดยตลอด ไม่กล้าคิดหรือตัดสินใจอะไรเอง หากเจอปัญหาอะไรที่ประนีประนอมได้เขาจะประนีประนอม นี่คือนิสัยของแม่”

“แม่เคยมีแฟนมาก่อนในช่วงวัยรุ่น พ่อพอรู้เข้าก็รับไม่ได้ เขาบอกว่าแม่ไม่รักนวลสงวนตัว เขาบอกว่าแม่สำส่อน เขาพูดกับเราประจำว่าอย่ามีแฟน อย่าไปมีอะไรกับใครก่อนแต่งงานนะ เพราะคนมาได้เราไปแต่งงานต่อจะเหมือนได้รับของสกปรก และทุกครั้งที่พ่อตีแม่ พ่อจะบอกว่า ‘ที่กูตีมึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วนะ’ ใช่! เขามีความคิดแบบนี้”

มิถุนายน 2019

“วันนั้นพ่อทำร้ายร่างกายแม่ด้วยการต้อนให้แม่นั่งอยู่กับที่ และในมือเขาถือของมีคมขู่ น้องสาวเราไปเจอเข้า น้องโดนกรรไกรแทงเป็นแผลยาวตอนพยายามป้องกันแม่ น้องวิ่งร้องไห้มาหาเรา ตอนนั้นเราตกใจมาก เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เราเลยตัดสินใจโทรไปแจ้ง 191 ว่าบ้านเรามีการทำร้ายร่างกายกันอยู่ น้องสาวที่เป็นเยาวชนได้รับบาดเจ็บ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือเจ้าหน้าที่หัวเราะใส่แล้วบอกว่า มันเป็นเรื่องผัวเมีย เขาไม่ขอเข้าไปยุ่ง ถ้าอยากให้มันเป็นคดีความจะต้องรอให้แม่หรือพ่อมาที่โรงพักแล้วมาแจ้งกันเอง เราโดนตำรวจหัวเราะใส่ในเวลาที่เราไม่มั่นคงที่สุด ตอนนั้นรู้สึกเหมือนโลกพังเลย

“พอโดนปฏิเสธจากตำรวจมา เราไม่รู้ว่าจะทำยังไง เราจำได้ว่ามีคนในทวิตเตอร์เคยขอความช่วยเหลือตอนโดนทำร้ายร่างกาย เราเลยตัดสินใจเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไป วันนั้นเราได้รับการติดต่อจากหลาย ๆ องค์กร มีทั้งคนในทวิตเตอร์ที่ญาติเป็นตำรวจ องค์กรเอกชนอย่าง The Hug Project, สายเด็ก 1387 และ SHero Thailand หลังจากนั้นมีคนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ติดต่อเรามาตอนหนึ่งทุ่ม เขาต้องการให้เรากับแม่ออกไปเดี๋ยวนี้เลย ซึ่งเราไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อน เราเลยค่อนข้างตกใจ เราถามเขาว่าต้องออกไปตอนนี้เลยหรอ เป็นพรุ่งนี้แทนได้ไหม เขาตอบว่าไม่ได้ เขาโดนหัวหน้ากดดันมา ถ้าไม่ไปตอนนี้เขาจะโดนด่า ตอนนั้นมันก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่าเขามาช่วยเราเพราะเรื่องมันดัง หรือเพราะโดนกดดันมา

“เรา น้อง และแม่ตัดสินใจออกจากบ้านไปตอนช่วงสองสามทุ่ม ไปที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวัน ก่อนจะตัดสินใจไปพักที่บ้านญาติในเมือง เราอยู่ที่นั่นประมาณสองสามอาทิตย์ ระหว่างนั้นพ่อไปอาละวาดทุกที่ ทั้งสถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ รวมไปถึงองค์กรรัฐที่รับเคสเราด้วย พม.โทรมาหาเราและแม่เพื่อบอกว่า ‘เอาพ่อไม่อยู่นะ อยากให้แม่ช่วยรับโทรศัพท์พ่อหน่อย’ เขายืนกรานให้แม่และพ่อไปเจอกันให้ได้ เขาเสนอให้แม่ น้อง และแทมไปตรวจร่างกาย เราปฏิเสธ เขาจึงบอกว่าเดี๋ยวมารับแม่ไป แต่เขาไม่ได้บอกว่าจะพาพ่อไปด้วย เราและน้องสาวจึงอยู่บ้านในวันนั้นและได้รับสายโทรศัพท์ในตอนเย็นจาก The Hug Project ว่า แม่ตัดสินใจกลับบ้าน

“เราตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไหนบอกว่าวันนี้ไปตรวจร่างกาย จนแม่มาเล่าให้ฟังว่าพ่อกับแม่ไปเจอกันที่เคาน์เตอร์จ่ายยาซึ่งเจ้าหน้าที่พม.ก็อยู่กับแม่ด้วย แต่พอพ่อเห็นแม่พ่อก็ลากแม่ขึ้นรถเลย แทมไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้”

แม่แทมกลับบ้านไปกับพ่อ

มีการร่างเอกสารสัญญาขึ้นมาหนึ่งฉบับ

พร้อมคำพูดจากเจ้าหน้าที่ว่า “ยังไงรอบนี้พ่อไม่ทำร้ายแม่แล้ว ถือว่าหนังสือฉบับนี้เป็นหลักฐานรองรับความปลอดภัยให้ได้”

แล้วนั่นคือวินาทีที่แทมหมดศรัทธากับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างสมบูรณ์

กรกฎาคม 2019

“พ่อคลุ้มคลั่งอีกรอบ รูปเหตุการณ์คล้ายคลึงกับครั้งแรก พ่อต้อนแม่เข้าไปที่มุม เราเห็นว่าสถานการณ์มันไม่ค่อยดีเลยติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐไป แต่เขาเลือกที่จะไม่รับสายเรา แต่กลับโทรไปหาแม่ซึ่งกำลังปะทะกับพ่ออยู่ พอแม่รับสายพ่อก็เลยวิ่งขึ้นมาชั้นสอง เขาพยายามจะล็อกห้องและทำร้ายร่างกายเรา ช่วงเย็นวันนั้นเจ้าหน้าที่พม.จึงมาที่บ้าน เราขอคำแนะนำจากเขาว่าเราควรจะทำยังไง เพราะเรารู้สึกว่าอยู่ที่บ้านไม่ปลอดภัยแล้ว บวกกับพ่อก็ไล่เราออกจากบ้านด้วย คำตอบที่ได้คือการบอกว่า ‘วันนี้เย็นแล้ว รู้ไหมพี่อุตส่าห์ไม่ไปรับลูกแล้วมาช่วยน้องนะ ถ้าเรื่องมันจะเกิด เทวดาฟ้าดินที่ไหนก็ช่วยไม่ได้หรอกนะน้อง’

“วันต่อมาเราและน้องไปโรงเรียนตามปรกติ เย็นวันนั้นพ่อบังคับให้แม่เก็บข้าวของมาทิ้งไว้ให้ที่โรงเรียนแล้วให้เราทั้งสองย้ายไปอยู่บ้านเพื่อน ระหว่างนั้นมีองค์กรเอกชนหลายแห่งคอยติดต่ออยู่ตลอด เราอยู่บ้านเพื่อนเดือนกว่า จนกระทั่งพ่อและแม่มาลากกลับบ้านในท้ายที่สุด”

เมษายน 2020

“ทุกอย่างเกิดขึ้นตอนเช้า น้องสาววิ่งร้องไห้เข้ามาหาแล้วบอกว่า เรื่องมันเกิดขึ้นอีกแล้วนะ เราบอกให้น้องไปเก็บของ ส่วนตัวเองก็เริ่มติดต่อกับหลาย ๆ องค์กร โพสต์ลงทวิตเตอร์ และอาศัยจังหวะที่เจ้าหน้าที่กำลังส่งตำรวจมาที่บ้านหนีออกมา วันรุ่งขึ้นแม่โทรมาบอกว่า ‘แม่หนีออกมาแล้วนะ’ แม่เล่าให้เราฟังว่าโดนทำร้ายร่างกายทั้งคืน ทั้งโดนขัง โดนตี โดนฟาด โดนกระชากผมจนผมหลุดเป็นกำ ๆ ทั้งตัวแม่มีแต่แผล เราเลยตัดสินใจพาแม่ไปตรวจร่างกาย วันนั้น คุณเบส บุษยาภา จาก SHero Thailand พาเราไปที่โรงพยาบาลก่อนจะไปที่สถานีตำรวจ คุณเบสได้เข้ามาช่วยเหลือในส่วนของการยื่นคำร้องต่อศาล เราไปศาลกันเพื่อคุยว่าเราจะฟ้องร้องพ่ออย่างไรได้บ้าง ถ้าเราต้องการให้พ่อติดคุก เราต้องการจะหาวิธีแยกออกมาจากเขา”

พฤษภาคม 2020

แทม แม่ และน้องสาวกลับเข้ามาในเมืองเพื่อไปตามนัดหมอและขึ้นศาล ทนายของแทมพยายามให้เรื่องไปถึงศาลเพื่อให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำ แต่ความเป็นจริงที่เจอวันนั้น กลับกลายเป็นว่าศาลไม่ได้ต้องการที่จะไต่สวน และมีจุดมุ่งหมายในการประนีประนอมอย่างสุดความสามารถ

“ศาลถามเราว่าแล้วพ่อจะอยู่ยังไงถ้าไม่มีพวกเรา มันมีคำถามเกิดขึ้นมาในหัวเราตอนนั้นว่าทำไมศาลถึงเห็นใจคนที่เป็นจำเลยในคดีมากกว่าผู้ถูกกระทำ ในด้านผู้ประนีประนอมคดีของเรา ก็ได้เอ่ยคำถามหนึ่งที่ว่า ถ้าพ่อตัดสินใจฆ่าตัวตาย เราจะทำยังไง

“แม่ได้มีโอกาสยื่นคำร้องไปว่าต้องการให้พ่อออกไปข้างนอก แต่คำสั่งศาลที่ได้ออกมาคือการให้พ่อออกจากบ้านเพื่อไปปฏิบัติธรรม 1 เดือน หลังจากนั้นให้กลับมาอยู่ในบ้านเป็นระยะเวลา 3 – 5 เดือน เรารู้สึกว่าเราไม่ไหว เราตัดสินใจปีนระเบียง

“พอเราได้ยินคำสั่งศาลเราก็ตัดสินใจจะโดดลงไป แต่โชคดีที่คุณเบสมาห้ามทัน เขาเลยหามเรากับน้องไปโรงพยาบาล”

หลังจากแทมออกจากโรงพยาบาลและย้ายกลับเข้าบ้านจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน ระหว่างนั้นแม่ของเธอได้รับโทรศัพท์จากพ่อตลอดเวลา และโดนกดดันจากญาติและคนรอบตัว แม่ของแทมก็ยังคงเป็นคนใจอ่อนและตัดสินใจจะพาสามีของเธอกลับบ้าน

“เราก็ถามแม่นะว่า ‘ทำไมล่ะ’ ทั้ง ๆ ที่ในทางกฎหมายเราสามารถยื่นให้พ่อออกไปอยู่ข้างนอกได้ แต่ทุกครั้งที่เราพูดแบบนี้ มันก็จะไปเจอกับคำพูดที่ศาลตั้งคำถามใส่เราว่า ‘แล้วถ้าพ่อไม่ไปล่ะ’ ซึ่งคำตอบก็คือต้องทวนคำสั่งศาลสิ มันแปลกนะที่ศาลมาถามเรากลับแทน

“ปัจจุบันเราอยู่ที่หอพักกับน้องสาว ในขณะที่พ่อและแม่อยู่ที่บ้าน ตอนนี้เราได้คุยกับแม่เป็นระยะ ๆ และสัมผัสได้ว่าแม่กำลังกลับไปอยู่ในวังวนเดิม เพียงแค่เราและน้องออกมาด้านนอกเพียงเท่านั้น หลายคนบอกว่านั่นเป็นทางเลือกที่แม่เลือกแล้ว แต่เรารู้สึกว่าจริง ๆ มันมีกระบวนการตั้งหลายอย่างที่ทำได้มากกว่านี้ แต่เขาเลือกที่จะไม่ทำ

“ถ้าเจ้าหน้าที่หรือองค์กรต่าง ๆ เลือกที่จะ empower แม่ ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีอำนาจ ช่วยเหลือให้แม่รู้สึกได้ว่าแม่สามารถต่อรองกับพ่อได้ โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าพ่อจะมามีอำนาจเหนือกว่า ถ้าเขาทำให้แม่เราเข้มแข็งมากกว่านี้ได้ ไม่แน่วันนี้เรากับแม่และน้องอาจจะได้อยู่ด้วยกัน”

 “ครอบครัว” หนึ่งคำ หลากการตีความ

“หลายคนอาจมองว่าครอบครัวที่สมบูรณ์คือพ่อ แม่ ลูก แต่ในความคิดของเรา เรามองว่าครอบครัวคือที่ที่ปลอดภัย การพูดในเชิงว่าครอบครัวเป็นสิ่งที่ตัดไม่ขาดกับเหยื่อความรุนแรงมันเป็นประโยคที่ อย่าไปพูดกับใครเลย เราคิดว่าตัวเหยื่อรู้ดียิ่งกว่าใคร ว่าการจะออกไปจากวังวนนี้มันยากมาก การพูดแบบนี้ยิ่งไม่ช่วยอะไร”

หลายครั้งประโยคเหล่านี้ออกมาจากปากคนที่ทำงานช่วยเหลือเคสความรุนแรงในครอบครัวเสียเอง ทำให้แทมเกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วจุดหมายปลายทางของการช่วยเหลือคือสิ่งใด

“เราเคยมีโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง เขาบอกเราว่า พ.ร.บ.ครอบครัวของประเทศไทย จุดมุ่งหมายสูงสุดของการช่วยเหลือคือ การทำให้ครอบครัวกลับไปอยู่ด้วยกันได้” แทมกล่าว

แต่ตอนจบแบบครอบครัวสุขสันต์พร้อมหน้าพร้อมตา ประหนึ่งไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่แทมต้องการ และเป็นสิ่งที่เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวอีกหลายคนไม่ต้องการเช่นกัน

แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ด้วยสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่ความเท่าเทียมยังไม่เกิดแก่ทุกคนในสังคม เป็นผลให้ความรุนแรงในแง่อำนาจระหว่างเพศเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังสะท้อนออกมาเป็นนโยบายที่ยึดมายาคติที่ว่า ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบต้องมี พ่อ แม่ และลูก เป็นเรื่องหลัก ในขณะที่ความรู้สึกและประสบการณ์ที่ผู้เผชิญความรุนแรงพบเจอเป็นเรื่องรอง ศาลเองก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการในการสั่งให้ไกล่เกลี่ยแม้ผู้ถูกกระทำจะไม่ยอมความก็ตาม ทำให้ในท้ายที่สุดกระบวนการช่วยเหลือกลับไม่ใช่การช่วยเหลือที่แท้จริง

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนในระดับปัจเจก สังคม ภาคเอกชน และภาครัฐ จะให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยไม่ผลักให้เป็นเพียงเรื่องของคนในครอบครัว

ถึงเวลาหรือยังที่กระบวนการช่วยเหลือจะมองทางออกที่เหมาะสม แทนการทำทุกวิถีทางเพื่อนำไปสู่คำตอบสำเร็จรูปที่ตนตั้งไว้ และนำประสบการณ์ของผู้เสียหายเป็นที่ตั้ง

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กระบวนการยุติธรรมจะคืนความเป็นธรรมแก่พวกเขาอย่างแท้จริง