ถอดโมเดล “กลุ่มคนดูแลกันเอง” ช่วยคนตรงหน้า ด่ารัฐบาล เรียกร้องรัฐสวัสดิการ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

“ถนัดช่วยมากกว่าด่า”
“ไม่อยากใช้พลังงานไปกับการด่าช่วยคนกำลังจะตายก่อน”
“ไม่ด่าไม่วิจารณ์ช่วยหลังบ้านอย่างเงียบ ๆ”
“ไม่ใช่เวลาเรียกร้องรัฐสวัสดิการช่วยคนก่อน”
“ต้องสามัคคีกันทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง”

คำพูดข้างต้นเกิดขึ้นในยามที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตย่างเข้า 4,000 คนจากโควิด-19 เศรษฐกิจถดถอย ระบบสาธารณสุขไม่สามารถทำงานได้ บุคลากรไม่พอ คนจำนวนมากสิ้นเงินและสิ้นหวัง กลุ่มอาสาสมัครจำนวนหนึ่งฟอร์มตัวขึ้น ท่ามกลางการเสื่อมความชอบธรรมของรัฐบาล คำพูดข้างต้นถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงว่า ตอนนี้หมดเวลาการต่อสู้เชิงโครงสร้าง หมดเวลาวิจารณ์รัฐบาล ให้ช่วยการโอนเงิน เสียสละ อาสา โดยไม่ต้อง “วิจารณ์รัฐบาล” “ไม่ต้องด่ากัน” ให้ช่วยคนตรงหน้า ซึ่งเป็นคำที่ย้อนแย้งอย่างมาก

เพราะเป็นที่ทราบกันว่าสำหรับการระบาดในช่วงกลางปี 2021 เป็นการระบาดในช่วงที่ชาวโลกมีวัคซีน ระบาดในช่วงที่เรารู้จักโรคนี้มามากกว่า 18 เดือน  วัคซีนที่ล่าช้าทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากกว่าที่ควรเป็น ความเหลื่อมล้ำที่สะสมมาก่อนหน้าและเพิ่มสูงขึ้นทำให้ คนรายได้น้อยเสี่ยงตายข้างถนน

หากเราไม่ “วิจารณ์รัฐบาล” มันคือการเมินเฉยต่อเรื่องนี้อย่างน่าละอาย คำถามสำคัญคือ เราสามารถช่วยชีวิตผู้คน สนับสนุนด่านหน้า เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เรียกร้องรัฐสวัสดิการ พร้อมด่ารัฐบาล ไปพร้อมกันได้หรือไม่ วันนี้ผมจะพาถอดรหัส “กลุ่มคนดูแลกันเอง” ซึ่งสามารถทำทุกอย่างข้างต้นได้ในพร้อมกัน

“กลุ่มคนดูแลกันเอง” ตั้งขึ้นมาหลังจากรัฐบาลประกาศปิดแคมป์คนงาน ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานหลายหมื่นชีวิตต้องเผชิญกับสถานะที่ยากลำบาก เพราะไม่สามารถเข้าถึงยา การตรวจ อาหาร รวมถึงงานได้ แรงงานส่วนมากเป็นแรงงานรายวัน ไม่มีรายได้ไม่มีเงินเก็บ และหลายคนตัดสินใจที่จะอยู่ในแคมป์ต่อเพราะไม่อยากนำเชื้อแพร่กลับไปที่บ้าน แต่พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเพียงพอ “กลุ่มคนดูแลกันเอง” ฟอร์มตัวภายใต้หลักการสำคัญที่สื่อสารออกไป

1.สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขา มันคือหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำ พวกเขาไม่ใช่คนดี หรือคิดว่าทำได้ดีกว่ารัฐ
2.พวกเขาวิจารณ์รัฐอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และเรียกร้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
3.กระบวนการประสานงานของกลุ่มเริ่มต้นด้วยหลักการ การปักหมุดแคมป์จากในแผนที่ ซึ่งทำให้พบว่ามีแคมป์คนงานกว่า 1,000 แห่ง และมีคนงานที่ต้องการความช่วยเหลือหลักหมื่นคนและ หลักพันคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรค ทางกลุ่มไม่รับเงินบริจาคเพราะจะทำให้ยากต่อกระบวนการจัดการเพราะบุคลากรหน้างานมีจำกัดถ้าต้องเจียดหนึ่งคนมาทำงานด้านบัญชีก็ไม่สามารถช่วยคนได้

สร้างแผนที่แคมป์คนงาน ทำเองดูแลกันเอง

ระบบพื้นฐานจึงเป็นการ จับคู่ความต้องการ ส่งต่ออุปกรณ์  ทีมงานส่งคนเข้าไปทำการตรวจ ก่อนที่จะได้รับการอาสาจากบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 20 ชีวิตในการช่วยการสั่งยาทางไกล ออกแบบการแยกตัวของคนในชุมชน สิ่งที่เกิดขึ้นคือบุคลากรหลักสิบ สามารถยื้อชีวิตคนหลักหมื่นได้ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ ผ่านระบบ Open Chat ที่จำแนกตามกลุ่มต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพด้วยทรัพยากรที่จำกัด พวกเขาทำงานได้ดีกว่ากระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเทียบกำลังคนและทรัพยากรที่มี

ไปต่อ…ไม่รอรัฐ สร้างฐานข้อมูล ช่วยทันทีไม่ต้องมีเอกสาร

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ปัญหาการขาดแคลนอาหารเริ่มคลี่คลายกลุ่มคนดูแลกันเองได้ออกแถลงการณ์เพื่อประณามรัฐบาล พร้อมเรียกร้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าโดยระบุว่า

“พวกเราร่วมลงพื้นที่สำรวจแต่ละแคมป์เพื่อส่งข้อมูลกลับมาที่ส่วนกลาง จนเราได้ฐานข้อมูลแคมป์แรงงานที่อัปเดตกว่ากระทรวงแรงงานถึงกว่า 650 แห่ง โดยมีกลุ่มอาสาสมัครเฉพาะกิจประมาณ 380 ทีม สแตนด์บายรอให้ความช่วยเหลือทันทีแบบไม่ต้องมีเอกสาร แรงงานเป็นแสนชีวิต กลับมามีข้าวกิน อาการป่วยถูกบรรเทา และได้รับกำลังใจว่ามีมนุษย์คนอื่นมาสนใจอยู่บ้าง

“สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประกันสังคม ซึ่งเราไม่แน่ใจว่ากำลังทำงานอยู่ส่วนไหนของประเทศ แต่ในกว่า 650 แคมป์แรงงาน พวกเราแทบไม่เห็นพวกคุณเลย”

“พวกเราอยากให้คุณลองคิดว่าหากในแคมป์นั้นเป็นพ่อแม่ พวกพ้อง คนที่รักของคุณ ทุกอย่างจะยังช้าแบบนี้อยู่หรือเปล่า ช้าจนตายกันไปอีกกี่ชีวิต?

การเรียกร้องรัฐสวัสดิการที่ดีไม่ใช่เพียงเพื่อสำหรับผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนในประเทศต้องได้รับ ปัจจุบันการเลื่อนชนชั้นทางสังคมแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะแค่รักษาสถานะที่มีไม่ให้ตกต่ำไปกว่าเดิมก็นับว่ายากเกินพอแล้ว”

นอกจากนี้สมาชิกของกลุ่มได้เร่งการขยายโรงพยาบาลสนาม ผ่านการจับคู่อุปกรณ์การแพทย์ พวกเขายังสามารถเขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลที่ทำงานล้มเหลว จนทำให้พวกเขาต้องมาทำหน้าที่แทนรัฐบาล และแน่นอนการด่าการวิจารณ์ ที่ไม่ทำตัวเป็นคนดีที่เชื่องเซื่อง ทำให้รัฐบาลสนองตอบและเข้ามาทำงานแทนส่วนที่พวกเขาทำ เมื่อสื่อจับตา และเมื่อรัฐที่มีทรัพยากรมากกว่า กำลังคนมากกว่าเข้ามาทำหลังจากพวกเขาส่งเสียง พวกเขาก็ขยับไปดูแลมิติอื่นที่รัฐทอดทิ้งจากแคมป์คนงาน สู่กลุ่มคนไร้บ้านที่เสียชีวิตมากมาย ชนิดที่มีคำเปรียบเทียบจากอาสาสมัครของกลุ่มท่านหนึ่งว่า “จากอนุสาวรีย์ชัยถึงหัวลำโพง ผมเห็นคนตายมากกว่าหนูตายเสียอีก”

การทำงานของกลุ่ม ไม่ได้มุ่งประสงค์ทำหน้าที่แทนรัฐ แต่คือการ “ทำให้เด็กมันดู” แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนไม่มีทรัพยากรยังสามารถทำได้ กลุ่มที่มีบุคลากรหลักสิบยื้อชีวิตคนได้หลักหมื่น และรัฐที่มีข้าราชการประจำหลักล้าน ทำหน้าที่ประจำมีเงินเดือน มีความชำนาญทำไมจะทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้

การช่วยชีวิตคนเฉพาะหน้า เรียกร้องรัฐสวัสดิการ ด่ารัฐบาล วิจารณ์ระบอบอำนาจนิยม ทำได้พร้อมกันไม่มีข้อห้ามอะไรแม้แต่น้อย

ช่องทางติดต่อกลุ่ม คนดูแลกันเองยังต้องการอาสาสมัครในรูปแบบต่าง ๆ อยู่เสมอ https://www.facebook.com/noonecaresbangkok/