จากผลการตรวจโควิดแบบ Rapid test พบว่าคุณติดเชื้อโควิด19 โปรดนำผลที่ได้จากทางเรา ไปทำการตรวจแบบ RT-PCR ที่ รพ.รัฐ โดยเร็วที่สุด…ย้ำต้องตรวจแบบ RT-PCR เท่านั้นทาง รพ.สนาม ถึงจะมารับตัวท่านไปรักษา
ขึ้น Taxi เพื่อไปตรวจที่ รพ.
ต้นทางซอยวัฒนโยธิน—ปลายทาง—โรงพยาบาลราชวิถี ค่าแท็กซี่ 122 บาท ผลการตรวจโควิด ไม่รับ
ต้นทางซอยวัฒนโยธิน—ปลายทาง—โรงพยาบาลตำรวจ ค่าแท็กซี่ 200 บาท ผลการตรวจโควิด ไม่รับ
ต้นทางซอยวัฒนโยธิน—ปลายทาง—โรงพยาบาลกลาง ค่าแท็กซี่ 230 บาท ผลการตรวจโควิด ไม่รับ
เสียใจด้วยไม่มีใครรับตรวจโควิดให้คุณ เพราะคุณไม่มีบัตรประชาชน คุณคือคนไร้สถานะ…
ไร้สถานะการตรวจ หมดสิทธิ์เข้าถึงเตียง ชีวิตแขวนบนเลข 13 หลัก
22 มิถุนายน 64 พร อาภาพร วรรจวาด อาชีพพนักงานร้านอาหาร อายุ 40 ปี ทราบผลตรวจยืนยันของสามีเธอว่าเขาติดโควิด เธอรีบหยุดงานและเดินทางไปตรวจโควิดในวันรุ่งขึ้น
อาภาพรไม่สามารถเข้าถึงการตรวจโควิดแบบ RT-PCR ใน รพ.รัฐได้ จึงเลือกใช้บริการคลินิกเอกชน สหคลินิก สุวรรณภูมิ เฮลท์เมด (อ่อนนุช) สนนราคาในการตรวจแบบ Rapid test 800 บาท
การตรวจโควิด ณ ขณะนี้ แบ่งได้ 2 ประเภทคือ 1.ตรวจแบบ Rapid antigen test เป็นการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาเชื้อไวรัส ใช้เวลา 10-30 นาทีทราบผล แต่มีความคลาดเคลื่อนสูง มักใช้กันตามคลินิกเอกชน 2.ตรวจแบบ RT-PCR (Real time polymerase chain reaction) ใช้เวลา 24-48 ชั่วโมง โดยการเก็บตัวอย่างด้านหลังโพรงจมูก เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจหาเชื้อที่ได้รับการยอมรับอยู่ ณ ขณะนี้
ผลตรวจของอาภาพรออกมาจากคลินิกว่าเธอติดโควิด เธอรีบแจ้งที่ทำงานและกลับมาที่พักอาศัย เพื่อรอไปตรวจยืนยันแบบ RT-PCR อีกครั้งที่ รพ.
“เราตระเวนไปหาตรวจ รพ. ทุกที่ เขาไม่ตรวจให้เลยเพราะไม่มีเอกสาร ไม่มีบัตรประชาชน”
สาเหตุที่เธอไม่มีเลขบัตรประชาชน เพราะตอนเกิดพ่อแม่เธอไม่ได้มีความรู้เรื่องการไปแจ้งเกิดที่อำเภอ ทั้งยังไม่คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้อาภาพรเองไม่ได้นิ่งนอนใจ เธอเคยไปเดินเรื่องขอทำบัตรประชาชนแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่า
“เขตบอกเราต้องเดินเรื่องเอง ต้องให้ผู้ใหญ่บ้าน คนที่รู้จักเราในบ้านเกิดมารับรอง แต่เราไม่รู้จักใครเลย ออกจากอุดรธานีบ้านเกิดมาตั้งแต่เด็ก”
ทำให้อาภาพรเป็นคนไร้สถานะ ไร้สวัสดิการใด ๆ จากภาครัฐมาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงวันที่ต้องใช้สถานะนี้ เพื่อตรวจโควิด
“เราบอกทาง รพ.ว่า ‘ขอความช่วยเหลือเราหน่อย’ เขาบอกว่า ‘ต้องการบัตรประชาชน’ เราพยายามย้ำกับเขาตลอดว่าเราเป็นคนไทย 100%”
เมื่อความพยายามไม่เป็นผล อาภาพรหอบสังขารตัวเองกลับมาตั้งหลักที่บ้าน แต่เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เจ้าของบ้านยื่นคำขาดให้เธอย้ายออกจากห้องเช่า
“คืนวันที่ 27 มิถุนายน เขาไม่ให้เราค้างแล้ว เขาบอกว่า ‘จะไปไหนก็ได้ แต่คุณต้องออกไปจากบ้านเช่า’ เราเลยตอบกลับเขาว่า ‘หนูไม่รู้จะไปไหน เป็นแบบนี้ลุงจะให้หนูไปอยู่ที่ไหน’ คำตอบเจ้าของบ้านบอกให้เรา ‘ไปเช่าโรงแรม ไปหาที่พักไกลๆ ที่เขาไม่รู้ว่าแกเป็นอะไร’”
ระหว่างช่วงเวลาสิ้นหวัง เธอพยายามโทรหาสายด่วนของภาครัฐ ได้คำตอบว่าต้องมีผลตรวจยืนยันเท่านั้น ถึงจะส่งรถไปรับได้ ระบบที่ไม่เคยคิดถึงความหลากหลายของผู้คน ไม่ต่างอะไรจากระบบตอบรับอัตโนมัติ
อาภาพรเลือกที่จะดิ้นรนหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเอง เธอกด Search หาเบอร์ของมูลนิธิกระจกเงา และโทรเข้าไปจนได้รับการประสานงานกับเครือข่ายของอินทิรา วิทยสมบูรณ์ ภาคประชาชนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยในช่วงโควิด จนเธอได้รับการส่งตัวมารอคอยการเข้าถึงเตียงชั่วคราว ที่ศูนย์ของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จ.ปทุมธานี
“ดีใจที่ได้ออกมาจากบ้านเช่า ตอนที่รอเตียงยอมรับว่าร้องไห้ทุกวัน พยายามดิ้นรนหาที่ตรวจ จนบางทีเพื่อนบ้านบอกว่า ‘มึงจะออกไปทำไม’ เราบอกเขาไปว่า ‘อยู่อย่างนี้มันไม่ได้อะไรขึ้นมาต้องดิ้นรน หาทางด้วยตัวเอง’ เราถึงรอดมาได้ ขณะที่ตอนนี้ในบ้านเช่ายังมีคนติดเชื้อ รอความช่วยเหลืออยู่อีกหลายคน”
โดยตอนนี้ (1 ก.ค.2564) ทาง รพ.ปิยะเวท ได้มารับตัวอาภาพรไปเอ็กซเรย์ปอด และตรวจโควิดยืนยันผลแล้ว เรื่องราวของเธอเป็นหนึ่งในอีกหลายเรื่องราวของผู้ที่กำลังประสบปัญหา ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองแบบ RT-PCR ที่ทางภาครัฐรับรอง และเมื่อไม่ได้ตรวจ โอกาสเข้าถึงเตียงจึงริบหรี่แทบจะกลายเป็นศูนย์
ปัญหาการตรวจโควิดระลอก 3 เสริมพิเศษ
“สถานการณ์ของอาภาพร มันสะท้อนรูโหว่ของระบบการตรวจเชื้อ หรือแม้กระทั่งการส่งต่อเข้ารับการรักษา ระบบการตรวจตอนนี้สามารถแบ่งผู้รับผิดชอบได้ 2 หน่วยงานคือ 1.สำหรับคนไทยที่มีบัตรประชาชน สปสช. จะเป็นคนดูแล 2.แรงงานข้ามชาติ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นคนดูแล
“ดังนั้นกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง คนไทยไม่มีบัตร คนที่อยู่นอกระบบ จึงไม่รู้จะใช้สิทธิใดในการตรวจ สถานะที่มันลักลั่นตรงนี้ ทำให้เขาไม่สามารถใช้สิทธิในการตรวจได้”
ตุ้ม อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ประสานงานให้ความช่วยเหลืออาภาพรกล่าวกับเรา ถึงปัญหาที่สะท้อนออกมาจากกรณีนี้ว่า การผลักคนเหล่านี้ออกจากระบบการตรวจของภาครัฐ ทำให้พวกเขาเลือกไปเสียเงินตรวจเองตามคลินิก ที่ใช้วิธีการแบบ Rapid test อินทิราได้มีการแจ้งปัญหากลับไปยังทาง สปสช.
“เราสะท้อนกลับไปทาง สปสช. เรื่องการตรวจที่ไปยึดโยงกับหลักฐานบางอย่าง คนที่ไม่มีก็เข้าถึงการตรวจไม่ได้ ทาง สปสช. ยืนยันกลับมาว่า ให้เอาแค่ใบที่เราตรวจจากคลินิก ไปหา รพ. เพื่อให้ รพ. ตรวจซ้ำให้ ซึ่งสิ่งนี้ สปสช. บอกว่ารับรองการตรวจให้ แต่มันเป็นหลักการ เพราะในทางปฏิบัติจริง ๆ กลับไม่เป็นอย่างนั้น ณ เวลานี้ คนที่ไปตรวจคลินิกเอกชน เมื่อต้องเอาผลตรวจไปให้ทาง รพ. ตรวจยืนยัน จะเจอกรณี รพ. ไม่ตรวจให้เช่นนี้”
โดยเหตุผลที่ทาง รพ. ไม่ยอมตรวจให้คนที่ไร้สถานะนั้น นิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นเสริมต่อจากอินทิราว่า
“ตอนนี้ทุกส่วนเห็นปัญหาและผลักดันกันในเชิงงบประมาณ นโยบาย ประกาศ ออกไปหมดแล้วว่า ให้ตรวจกับทุกคนและตรวจเลย ดีกว่าการไม่ตรวจและเกิดการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ในขั้นตอนการปฏิบัติ จำเป็นต้องสื่อสารไปถึงผู้ปฏิบัติงานทุกคน ที่อยู่ใน รพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ ให้เปิดรับการตรวจคัดกรองอย่างทั่วถึงคนทุกกลุ่ม โดยไม่มีข้อยกเว้น”
ดังนั้นในกรณีของอาภาพรสาเหตุที่ไม่ได้รับการตรวจ จึงเกิดจากความไม่เข้าใจของผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องการบัตรประชาชนยืนยัน ทั้งที่ในระดับนโยบายก็มีการแจ้งแล้วว่าให้ตรวจกับทุกคนที่มีความเสี่ยง หรือมีใบตรวจจากคลินิกมายืนยันเพื่อตรวจซ้ำตามที่ สปสช.ระบุ
ถ้า Home isolation คือทางออก แต่โดนไล่ออกจากบ้าน
ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้ หลาย ๆ ฝ่ายเริ่มออกมาเสนอ ระบบการกักแยกโรคที่บ้าน (Home isolation) สำหรับประชากรที่อยู่ในกลุ่มจัดการตัวเองได้คือ อายุต่ำกว่า 60 ปี ไม่มีอาการ ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคประจำตัวร่วมตามที่สาธารณสุขประกาศ และสามารถแยกตัวในที่พักของตนเอง
แต่ระบบ Home isolation ยังมีข้อจำกัดสำหรับกลุ่มคนที่มีที่อยู่อาศัยไม่เอื้ออำนวย แม้จะอยากกักแยกโรคที่บ้านก็ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนเช่าที่พักอาศัย โดยส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝงที่เข้ามาทำงาน หรือเรียนหนังสือจำนวนถึง 7,034,000 คน (ข้อมูลจาก: สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2563)
หากไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าของหอพัก บ้านเช่าได้ เช่นที่เกิดขึ้นกับการถูกไล่ออกจากบ้านเช่าของอาภาพร เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่สามารถสร้างระบบ Home isolation ได้ดั่งที่นิมิตร์กล่าว
“การไล่ออกจากที่พัก ส่วนหนึ่งมันเกิดจากการสื่อสารของสังคม ให้โควิดเป็นผีร้าย คนไม่เข้าใจว่าแบบไหนติด แบบไหนป้องกันได้
“ถ้าคุณไล่เขาออกมา แล้วเขาไม่มีที่ไป นั่งอยู่หน้าหอพักคุณ โอกาสความเสี่ยงในการที่คุณจะติดเชื้อมีมากกว่าให้เขาอยู่ในห้อง ทั้งยังเป็นการแพร่กระจายเชื้อ ไปให้กับคนอื่นๆ และในทางกฎหมายมันไม่สามารถทำได้”
โดยผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิไปล็อกห้องโดยไม่ได้รับคำยินยอมจากผู้เช่า ซึ่งจะเข้าข่ายการบุกรุก รบกวนการครอบครองอสังหาฯ ของผู้เช่า มีความผิดทางอาญา ตามมาตราที่ 362 คือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงความผิดฐานละเมิดทางแพ่ง ตามมาตรา 420
“ผู้ติดเชื้อโควิดสีเขียวอาการไม่หนัก ควรทำ Home isolation เพราะตอนนี้การรอให้ภาครัฐ ภาคประชาสังคมช่วยหาที่พักให้ ไม่ใช่วิธีแก้ไขสถานการณ์ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ การสร้างความเข้าใจกับเจ้าของบ้าน ที่พักอาศัย รวมถึงผู้ป่วย ถึงวิธีการกักแยกโรคที่บ้านอย่างปลอดภัย” นิมิตร์ กล่าวทิ้งท้าย
ทางด้านอินทิรา ในฐานะคนที่รับเคสอาภาพร มาประสานงานช่วยเหลือ ให้ความเห็นในเรื่อง Home isolaion ว่า รัฐต้องคิดต่อว่าจะออกแบบอย่างไร ให้ผู้คนที่มีความหลากหลาย อยู่ในที่พักอาศัยที่มีลักษณะแตกต่างกันได้ เพราะบางบ้านมีห้องแยก บางบ้านไม่มี
“กรณีของอาพาภร ถ้าเขาไม่โดนไล่ออกมาจากที่พัก และอยู่คนเดียวในห้องอยู่แล้ว สามารถทำ Home isolaion ได้ แต่ต้องมีระบบของการจัดการเช่น การส่งข้าว ส่งน้ำ ส่งยา มีหมอที่สามารถโทรคุยทางไกลได้ (Telemedicine) แต่ของอาภาพรทำไม่ได้ เพราะโดนไล่ออกมา”
เมื่อระบบ Home isolaion ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายเคส สิ่งที่ภาคประชาชนสามารถช่วยได้ ดั่งในกรณีของอาภาพรคือ การเข้าไปต่อรองกับเจ้าของบ้านจนถึงที่สุด และจัดหาที่พักให้เขามีที่อยู่อาศัยชั่วคราว จากนั้นจึงประสานงานส่งต่อไปที่ รพ.
แต่ดั่งที่อินทรากล่าวไว้ “การทำงานของเธอไม่สามารถช้อนคนเข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด” ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยกลไกของรัฐ ทำให้การตรวจเชื้อเป็นเรื่องพื้นฐานเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม เพราะการปล่อยให้ประชาชนไปตรวจเองตามคลินิก เปรียบเสมือนการให้ประชาชนแบกความหวัง พอตรวจมาแล้วกลายเป็นว่า ผลตรวจใช้ต่อในการเข้าถึงเตียงไม่ได้ และรัฐก็ไม่เคยออกมาสื่อสารให้ข้อมูลประชาชนในเรื่องนี้
และการทำ Home isolaion เพื่อแก้ไขปัญหาเตียงไม่พอ รัฐต้องออกแบบกระบวนการ สร้างความเข้าใจ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับเจ้าของหอพักที่อยู่อาศัยต่างๆ เพื่อให้ Home isolaion เป็นอีกหนึ่งทางบรรเทาในสถานการณ์โควิดครั้งนี้
“ตอนที่เราเจออาภาพร เขาอยู่ในสถานการณ์ที่โดนไล่ออกจากบ้านพัก มันเป็นความโหดร้ายของโรค ทั้งที่มันกระทำกับเราในเชิงร่างกาย และมันก็ทำงานกับความหวาดกลัวของผู้คนรอบข้าง แล้วทำไมระบบไม่โอบอุ้มคนเลย ถ้าระบบโอบอุ้มคนไว้ได้ เขาจะสามารถรอเตียงได้อย่างมีความหวัง อาภาพรเป็นเพียงแค่หนึ่งคน มันยังมีคนอีกมาก ที่สังคมเรายังควานหาไม่เจอ” อินทิรากล่าวทิ้งท้าย