มีมมากกว่าความบันเทิง เจาะลึกบทบาทและคอมมูนิตี้มีม - Decode
Reading Time: 3 minutes

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตของเราผูกติดอยู่กับโลกอินเตอร์เน็ต ชนิดที่อาจเรียกได้ว่า อินเตอร์เน็ตเป็นโลกที่สองของมนุษย์ และสำหรับคนบางคนโลกอินเตอร์เน็ตอาจจะสำคัญกว่าโลกจริงเสียด้วยซ้ำ

ด้วยการที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทค่อนข้างมาก ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะมีหลายตัวตนอาศัยอยู่พร้อม ๆ กัน เราสามารถทานอาหารเย็นร่วมกับครอบครัว พร้อมกับพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ห่างไกลเป็นร้อยเป็นพันกิโลผ่านโปรแกรมแชทอีกนับไม่ถ้วน แต่สิ่งที่มาพร้อมกับอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรารู้จักกันว่า มีม (meme)

เมื่อพูดถึงมีมภาพในหัวของคนที่พอรู้จัก มักจะเป็นภาพตัดแปะ และจะมีลักษณะเป็นเรื่องตลกขบขัน มิติของมีมจึงดูจะเป็นเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก หากแต่มีมยังมีมิติอื่นซึ่งหลายเรื่องก็ลึกล้ำเกินกว่าแค่มิติเรื่องความบันเทิง และหลายครั้งมิติแง่มุมเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบถึงโลกจริงด้วยเช่นกัน ทว่าการจะเข้าใจถึงบทบาทของมีม เราควรจะเข้าใจเสียก่อนว่ามีมในที่นี่เคยมีหน้าตาเป็นอย่างไร และปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน

ไวรัสที่ชื่อว่ามีม

คำว่ามีมปรากฏครั้งแรกในหนังสือ The Selfish Gene ของริชาร์ด ดอร์กิน (Richard Dawkins) โดยใช้อธิบายในเชิงทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยลักษณะหลัก ๆ ของมีมตามนิยามนี้จะมีลักษณะเดียวกับยีนในร่างกายของสิ่งมีชีวิต แต่เปลี่ยนจากลักษณะทางชีววิทยากลายเป็นวัฒนธรรมแทน โดยมีมมีลักษณะที่สามารถผลิตซํ้าได้เรื่อย ๆ ดังจะเห็นได้จากการที่อินเตอร์เน็ตมีมปัจจุบันมักจะเป็นเทมเพลต (template) เพื่อง่ายต่อการทำซ้ำ นิยามมีมแนวนี้ก็นับว่าค่อนข้างจะอธิบายลักษณะของมีมได้ดีพอสมควร และเป็นนิยามที่เว็บไซต์อธิบายเรื่องมีมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Know your meme เลือกใช้อธิบายความหมายของของคำว่า มีม

ทว่านิยามข้างต้นก็ใช่ว่าจะครอบคลุมใครไปเสียทุกคน เบญจ์บรรพต โพธิ์เกตุ อาจารย์ปรัชญาประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้จะไม่ได้เห็นแย้งกับนิยามดังกล่าวเสียทั้งหมด แต่เขากลับคิดว่านิยามนี้ ไม่ตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบันขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะคำคำนี้ถูกเสนอมาได้กว่า 40 ปีแล้ว หรือก็คือ ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1976 ซึ่งเป็นสมัยที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต สำหรับเบญจ์บรรพต เขาคิดว่าสิ่งที่ใกล้เคียงกับมีม (หรือในที่นี่หมายถึงอินเตอร์เน็ตมีม) ที่สุดในตอนนี้นั่นไม่ใช่ยีน แต่เป็นไวรัสเสียมากกว่า

“การเปรียบเปรยที่ดีจริง ๆ ของมีมไม่ใช่ยีน แต่เป็นไวรัส ในแง่หนึ่งมันก็พยายามลอกเลียนตัวเอง แต่เป็นการลอกเลียนที่กลายพันธุ์เยอะมาก ๆ อินเตอร์เน็ตมีมเป็นสิ่งที่ขยายตัวเองในสังคมของเราผ่านการลอกเลียนแบบ แต่ไม่ใช่การลอกเลียนแบบที่เหมือนเดิมเปี๊ยบ มันเป็นการลอกเลียนแบบที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือการกลายพันธุ์เสมอ และเป็นการกลายพันธุ์ในแง่ที่เทมเพลตก็เปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ เหมือนกันด้วย”

เมื่อมีมมีลักษณะเหมือนไวรัส มากกว่ายีน มีมจะมีความอันตรายเหมือนไวรัสด้วยหรือไม่ เบญจ์บรรพต ได้ตอบด้วยการชี้ประเด็นว่าการมองเรื่องอันตรายหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เราคาดหวังว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีมจะให้กับเราได้ หรือก็คือ มีมตอบโจทย์บางอย่างกับเรา และเป็นโจทย์ที่ทำให้เราต้องผลิตซ้ำ

“การที่มีมสามารถขยายตัวไปในสังคมได้ มันเกิดจากการที่มันตอบโจทย์บางอย่างกับเรา เพราะมันตอบโจทย์กับเรา มันมีความหมายบางอย่างกับเรา เราเลยต้องใช้มัน ผ่านการที่มันมีความหมาย มีฟังค์ชั่นบางอย่าง”

คำถามก็คือว่าแล้วบทบาทอะไรกันล่ะที่มีมสามารถตอบโจทย์ให้คนในสังคมได้

บทบาทของมีมในฐานะเครื่องมือแสดงออกทางอารมณ์

ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความเปลี่ยนแปลง แน่นอนบทบาทของมีมในสังคมก็มีความเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย แน่นอนบทบาทของมีมในช่วงแรกนั่น แตกต่างจากบทบาทของมีมในสมัยนี้ เบญจ์บรรพต ได้เล่าถึงบทบาทของอินเตอร์เน็ตมีมในสมัยที่สังคมเพิ่งเกิดนวัตกรรมที่ชื่อว่าอินเตอร์เน็ต เขาได้ชี้ว่าการแสดงอารมณ์ในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก บทบาทของมีมในตอนนั้นจึงเป็นเครื่องมือแสดงอารมณ์

“ถ้าเราไปดูอินเตอร์เน็ตมีมในช่วงแรก ๆ อย่างพวกมีมเหยาหมิงหรือมันฝรั่งร้องไห้ ดูแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นหน้าคนเยอะ และจะไม่มีสี ดูเหมือนเด็กอนุบาลวาด ฉันคิดว่าลักษณะแบบนี้มันบ่งบอกฟังค์ชั่นของมีมบางอย่าง (อย่างน้อยก็ในตอนนั้น) ในโลกอินเตอร์เน็ตขีดจำกัดในการสื่อสารมันเกิดขึ้นมา เราไม่สามารถใช้อย่างอื่นได้นอกจากตัวอักษร อิโมจิก็ใช้แทนอารมณ์ได้ไม่ค่อยดี ดูแล้วไม่ตอบโจทย์เสียเท่าไหร่ ในช่วงแรกมีมจึงทำหน้าที่คล้ายอิโมจิ ที่ตอนแรกมีมสามารถตอบโจทย์บางอย่างของเราได้เพราะมีมสามารถทำให้เราแสดงออกในโลกอินเตอร์เน็ตได้ดีขึ้น ยิ่งในโลกอินเตอร์เน็ตภาษามันไม่ได้มีภาษาเดียว มีมก็เลยเกิดขึ้นมาในฐานะเทมเพลตที่ทำออกมาเพื่อให้การแสดงออกทำได้อย่างง่ายๆ เพราะฟังค์ชั่นนี่เองทำให้มันถูกผลิตซ้ำต่อไปได้เรื่อยๆ”

ทว่าในเวลาต่อมามีมก็ขยายบทบาทตามไปด้วย และคนก็ค้นพบว่ามีมไม่ใช่แค่เครื่องมือแสดงออกอย่างที่คิดอย่างน้อยก็ในกรณีของเบญจ์บรรพตซึ่งเขาคิดว่ามุมที่น่าสนใจของมีมเป็นการที่มีมสามารถเสนอช่องทางการแสดงออกแบบใหม่ ๆ ให้ตื่นตาตื่นใจได้เสมอ

“ตอนแรกเราเข้าไปอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต แล้วเรารู้สึกว่าถูกจำกัด แต่พอเราคิดค้นมีมในฐานะเครื่องมือในการแสดงออก เราก็พบว่ามีมมันดีกว่าวิธีการแสดงออกที่เราคิดว่าเราถูกจำกัด มันดีกว่าการที่เรา ผายมือ มันดีกว่าที่เรามีน้ำเสียง เราสามารถเอาแรปเปอร์มาแทนความคิดทั้งหมดของเราได้ มันทำให้เราตระหนักว่าเราไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต แต่มันทำให้เรามีอิสรภาพมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ”

ซึ่งเบญจ์บรรพต ได้คิดว่าบทบาทของมีมตอนนี้ได้ขยายจากการที่มีมเป็นเพียงเครื่องมือในการแสดงอารมณ์ที่เราสามารถเข้าใจได้ มีมได้เพิ่มบทบาทการนำเสนอวิธีการแสดงออกใหม่ ๆ ให้เราได้รับรู้

“มีมในตอนหลังเปลี่ยนเป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดค้นวิธีการแสดงออกที่น่าสนใจได้ เวลาเราดูมีมตอนนี้เราจะรู้สึกว่ามันขายวิธีการแสดงออกใหม่ ๆ ให้เรา ซึ่งผิดกับตอนแรกที่มีมเป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการแสดงออกถึงความรู้สึกที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว”

มีมจึงไม่ใช่แค่แสดงออกถึงอารมณ์ได้อย่างเดียว หากแต่สามารถถ่ายทอดข้อมูลหรือความรู้ รวมไปถึงความคิดได้เช่นกัน

มีมในฐานะสื่อที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด

นอกจากการที่มีมเป็นเครื่องมือที่แสดงออกทางอารมณ์ เบญจ์บรรพต ได้เปิดแง่มุมของมีมที่สามารถใส่ชุดความคิดต่าง ๆ ลงไปได้มากกว่าแค่อารมณ์ความรู้สึก หากแต่สามารถใส่ความรู้ความเข้าใจในสังคมลงไปได้ด้วย

“มีมีมที่ฉันชอบมาก เป็นมีมที่มาจากเรียลลิตี้โชว์ที่พ่อลูกคู่หนึ่ง พยายามจะสร้างมอเตอร์ไซต์ แล้วพ่อลูกคู่นั้นจะชอบทะเลาะกันตลอดเวลา ในประเทศไทยมีมนี้จะถูกใช้แบบ “มึงไม่มีประสบการณ์มึงไม่ต้องมาทำงาน” แล้วคนลูกก็เถียงว่า “เพราะกูไม่มีประสบการณ์กูเลยมาทำงาน” ก่อนที่คนพ่อจะเถียงกลับว่า “มึงไม่มีประสบการณ์มึงไม่ต้องมาทำงานอีกรอบ” ฉันเคยเจอมีมนั้นเป็นการเถียงกันของนักปรัชญา แล้วแบบยาวมาก มีการยกข้อความมาเต็มเลย มีมจึงไม่ใช่การแสดงออกทางอารมณ์เท่านั้น หากแต่เป็นการแสดงออกทางความคิดผ่านเนื้อหาด้วย”

สำหรับประเทศไทย มีมที่คนส่วนมากคุ้นเคยกันมักจะเป็นมีมประเภทที่เรียกได้ว่ามีมการเมือง

มีมการเมืองในสังคมไทยเป็นมีมที่เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง หลายครั้งมีมการเมืองได้ถูกใช้ไปในการโปรโมทสินค้า หรือบริการ จนเราสามารถบอกได้ว่ามีมการเมืองเป็นมีมไม่กี่ประเภทที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงร่วมกันได้ เพราะมีจุดร่วมหรืออะไรบางอย่าง

โดยตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านมา นับแต่การรัฐประหาร 2557 ในการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร มีการใช้มีมเพื่อเป็นเครื่องมือล้อเลียนรัฐบาล ผ่านการใช้คนและตัวละครต่างๆ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของการรัฐประหาร โดยแฟนเพจเฟซบุ๊คที่ใช้มีมในการแสดงความไม่พอใจก็มีตัวอย่างเช่น เพจไข่แมว มานีมีแชร์ หนังฝังมุข รวมไปถึงเพจอย่างโหดสัส ปัจจุบัน เพจบางเพจก็ได้ลดความเคลื่อนไหวลงไปค่อนข้างมากแล้ว ทว่าเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ก็ทำให้มีการเล่นมุข การเล่นมีม รวมไปถึงจำนวนเพจก็มากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนหนึ่งอาจบอกได้ว่าที่มีมการเมืองค่อนข้างมีบทบาทในสังคมไทยเพราะว่าในสังคมนี้ไม่สามารถพูดคุยเรื่องการเมืองได้โดยตรง หากแต่ไม่ใช่เพียงในรัฐบาลที่ไม่ได้มาในช่องทางปกติจนความสามารถในการพูดเรื่องการเมืองเป็นไปได้ยาก เพราะแม้แต่ก่อนการรัฐประหาร 2557 มีมก็เริ่มมามีบทบาทในการล้อเลียนต่อต้านผู้มีอำนาจบางแล้ว ส่วนหนึ่งคงเพราะในสังคมไทยการคุยกันเรื่องการเมืองอาจสามารถความบาดหมางในความสัมพันธ์ได้ มีมซึ่งมีการใส่อารมณ์ขันลงไป จะสามารถลดทอนความรุนแรงของบทสนทนาลงไปได้ ทั้งนี้ไม่ใช่มีมีมที่ใช้เฉพาะในการล้อเลียนรัฐบาลหรือกลุ่มก้อนทางการเมือง แต่มีมีมบางชนิดที่ใช้โปรโมทกลุ่มก้อนทางการเมืองได้ด้วย มีมที่โด่งดังมากที่สุดในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 คงหนีไม่พ้น มีมรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล ซึ่งเป็นมีมซึ่งเกิดจากภาพถ่ายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ในขณะที่กำลังถือถุงข้าวแกงไปใส่บาตร

โดยมีมดังกล่าวทำให้ชัชชาติได้แจ้งเกิดในวงการการเมืองอย่างแท้จริง จากที่เมื่อก่อนเป็นที่รู้จักในวงแคบ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาเป็น digital native จนแทบจะเรียกได้ว่าชัชชาติมีวันนี้ได้เพราะมีม นักการเมืองอีกคนที่ได้อานิสงค์จากมีมด้วยก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยมีมของเขาเป็นมีมที่ล้อเลียนวาทกรรมเกี่ยวกับเขาของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาสรุปออกมาจะเป็น “ทักษิณ” เป็นต้นต่อของความชั่วร้ายทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และสามารถซื้อได้ทุกอย่างตามที่ใจปราถนา เมื่อกลายเป็นมีมก็มีการใส่ประเด็นนี้ไปแบบเกินจริง จนอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยสามารถซื้อได้ทั้งจักรวาล ภาพลักษณ์ที่ดูเวอร์ๆ นี่เองที่ทำให้ตัวอดีตนายกมีมิติของการเป็นเหยื่อมากกว่าการเป็นผู้กระทำ และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่เขาได้ในที่สุด

อิทธิพลของมีมต่อความรับรู้ทางการเมืองนั้นอาจจะยังไม่สามารถประเมินได้ว่ามีประสิทธิภาพขนาดไหน แต่ก็นับได้ว่าค่อนข้างมีประสิทธิภาพพอสมควรสำหรับคนที่เป็น digital native

แพนด้า ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย เขาจำเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก่อนการรัฐประหาร 2557 ได้ไม่ได้มากนัก แต่ที่เขารู้คือ เขารู้จักการเมืองจากมีม มากกว่าที่รู้จักจากหนังสือเรียนเสียด้วยซ้ำ

“เอาจริง ๆ ก่อนหน้าการรัฐประหาร 2549 ผมจำอะไรไม่ค่อยได้ ผมรู้จักทักษิณจากมีม ไม่ได้จำจากหนังสือเรียนหรอก”

ทว่าประสิทธิภาพในในฐานะที่เป็นตัวเผยแพร่ความคิดทางการเมืองของมีมก็สามารถข้อโต้แย้งได้ เพราะมีคนบางคนที่มีความรู้ทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว

บุ๊ค กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับแพนด้า แต่เขาได้รู้เรื่องการเมืองมาก่อนหน้านั้น ด้วยการที่ครอบครัวมีความนิยมชมชอบในตัวกลุ่มการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เขาไม่ได้อิทธิพลทางความคิดมาจากมีม มิหนำซ้ำเขาค่อนข้างจะเบื่อมีมการเมืองไม่ใช่น้อย

“มีมการเมืองสำหรับผมมันน่าเบื่อ มันชัดเจนเกินไป หลายครั้งมันเป็นการแสดงออกแบบเสียดสีมากกว่า คนปกติก็เล่นมีมการเมืองในกลุ่มเพื่อนมันเป็นเรื่องวงกว้างไปแล้ว”

เรื่องของมีมในฐานะเครื่องมือแสดงออกทางการเมืองจึงยังมีประสิทธิภาพ และค่อนข้างที่จำเป็นในสังคมไทยที่การพูดคุยทางการเมืองยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากนัก หากแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกจากเรื่องของการแสดงอารมณ์ หรือความคิดคงหนีไม่พ้นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ขัน ซึ่งเป็นภาพจำของมีมในยุคสมัยนี้

เพราะเสียงหัวเราะสามารถสร้างสังคม มีมจึงมีประโยชน์

นอกจากบทบาทในการแสดงออกทั้งทางอารมณ์ และทางความคิด สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่มีมต้องมีด้วยก็คืออารมณ์ขัน แม้ว่าตามนิยามมีมจะไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ขัน แต่ทุกคนก็เข้าใจว่ามีมจำเป็นต้องสนุก หรือสร้างเสียงหัวเราะได้ไม่มากก็น้อย

จากการสอบถามทั้งบุ๊คและแพนด้าต่างนิยามมีมไว้แตกต่างกัน แต่มีจุดที่เหมือนกันคือ มีมเป็นสิ่งที่ตลก และมีมแต่ละมีมจะมีกลุ่มเฉพาะของตัวเอง โดยบุ๊คได้อธิบายไว้ว่ามีมเป็นเรื่องตลกที่ขึ้นอยู่กับความชอบเฉพาะตัว โดยอาจจะเป็นเรื่องที่มีสาระในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงระดับสังคมอย่างการเหยียดชาติพันธุ์

“สำหรับผม มีมคือมุขตลกของคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งที่เข้าใจในกลุ่มนั้นๆ ไม่ใช่ทุกคนที่รู้จักมีมจะเข้าใจมีม อย่างผมที่ดูแล้วขำก็จะเป็น dank meme มีมตลก ๆ ไร้สาระที่ชีวิตเราจะไม่ทำ นอกจากนั้นก็เป็นมีมปรัชญาบ้าง”

ขณะที่แพนด้ามองว่ามีมเป็นการแสดงออกให้คนอื่นรู้สึกตลก โดยที่หลายครั้งเรื่องตลกสำหรับคนหนึ่ง อาจจะไม่ตลกสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง

“มีมเป็นเทมเพลตหรือรูปแบบการนำเสนอที่จะทำให้คนอื่นตลก ถ้ามุขตลกนั้นกลายเป็นเรื่องที่เหยียดเชื้อชาติหรือดาร์คโจ๊กเกินไปก็เป็นอีกเรื่อง ความรู้สึกแบบ ‘มันเหยียดว่ะ’ ของแต่ละคนมันต่างกัน อย่างผมไปเล่นมุขเหยียดคนดำใส่เพจบางเพจก็โดนลูกเพจถล่มได้เหมือนกัน”

ทั้งนี้มีมความเป็นอารมณ์ขันของมีมนี่เองที่เป็นจุดเด่นซึ่งทำให้มีมกลายเป็นที่นิยมในสังคมวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่เติบโตมากับอินเตอร์เน็ตได้ง่าย และทำให้มีมเป็นตัวชักนำไปสู่ชุมชนหรือสังคมได้เลยทีเดียว

ส่วนนี้เบญจ์บรรพต ได้อธิบายอารมณ์ขันว่า เป็นสิ่งที่สามารถเปิดใจมนุษย์ได้ดีที่สุดสิ่งหนึ่ง และเพราะการเปิดใจดังกล่าวทำให้ ทำให้เกิดความใกล้ชิด และผูกพันในระดับที่ค่อนข้างจะลึกซึ้ง

“เวลาที่เราคิดถึงเรื่องตลกมันเป็นบางอย่างที่ผูกพันอย่างมากกับตรงนั้นเลย เวลาที่เราตลกกับอะไรบางอย่าง มันไม่ใช่ว่าเราถูกอธิบายว่าทำไมถึงตลก แต่มันเป็นอะไรที่คลิกเลย เวลาเราเจอมุขตลก เราต้องขำเลยมันถึงจะขำมาก ถ้าแบบเราสงสัยว่ามันตลกยังไง แล้วไปถามแล้วอธิบายแล้วมันก็ไม่ตลกแล้ว อย่างกรณีของฉันถ้ามีคนมาถามก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงเพราะมันเป็นเรื่องที่เก็ตเฉพาะตัว และรู้สึกอายที่จะเล่าเหตุผลจริง ๆ ว่าทำไมถึงขำ ความตรงนั้นนั่นแหละที่ผูกพันกับเราในระดับที่ใกล้ชิดมากๆ มันต้องเป็นบางอย่างที่มีความส่วนตัวระดับหนึ่งเลย เราถึงจะขำกับมันได้”

และด้วยความผูกพันที่มาจากเสียงหัวเราะเบญจ์บรรพตได้อธิบายอีกว่า เพราะอย่างนั้นมีมที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องตลก เวลาที่ถูกใส่ความคิดบางอย่างลงไป ก็เป็นการง่ายที่จะถ่ายทอดความคิดเหล่านั้นให้เราเข้าใจหรือเชื่อตามได้มากกว่าปกติที่ความคิดอาจจะเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากตัวเราเสียเหลือเกิน

“ผ่านการที่ตัวมีมมันตลก ในแง่หนึ่งฉันคิดว่ามีมถ่ายทอดความคิดให้กับเราได้ง่ายมาก เพราะเมื่อเราขำให้กับสิ่งนี้ อารมณ์ขันทำให้เราผูกตัวเองไว้กับทัศนคติที่แสดงออกในมีมในแบบที่ใกล้ชิดมากๆ มันไม่ใช่แบบอาจารย์อธิบายหน้าห้องแล้วเราเก็ต มันเข้าใจในมุมที่ลึกกว่านั้น และผูกพันกว่านั้นมาก”

หากแต่ไม่หมดเพียงแค่นั้นเบญจ์บรรพต คิดว่าเสียงหัวเราะจากมีมยังช่วยสร้างสังคม และแก้เหงาได้อีกด้วย การที่มีใครหัวเราะคล้าย ๆ กับเรา เป็นข้อพิสูจน์ว่ายังมีคนที่พร้อมจะหัวเราะไปกับเรา และเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลกใบนี้

“เวลาเราขำกับมีม เรารู้สึกได้ว่าเราขำร่วมกับคนอื่น เพราะเราเก็ตบางอย่าง มันมีบางอย่างที่เชื่อมโยงเรากับมีม และก็เชื่อมโยงกับคนอื่นด้วยไม่ต่างกัน มันจะมีความรู้สึกฉันไม่เคยรู้สึกว่าฉันดูมีมอยู่คนเดียว มันมีความเป็นสังคมแฝงอยู่เสมอ เวลาเราดูคลิปตลกๆ ในยูทูปเราเลยมักจะเลื่อนไปอ่านคอมเมนต์ เพราะเชื่อว่าจะมีเรื่องตลกกว่าในคลิปอยู่ในนั้น ทั้งหมดเราอาจจะบอกว่าในอารมณ์ขันมีความเป็นชุมชนก็ได้”

หากแต่ความเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นนั้นก็ยังมีปัญหาบางอย่าง ปัญหานั้นก็คือ ความคลุมเครือ เนืองจากถึงมีมจะมีบทบาททั้งในด้านความบันเทิง การแสดงออก รวมถึงการนำเสนอวิธีการแสดงออก แต่มีมหรืออินเตอร์เน็ตมีมก็ยังอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต และตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดและปัญหาการแสดงออกในโลกอินเตอร์เน็ตอยู่

“อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยเคลียร์สิ่งที่เราคุยกันอย่างจริงจัง บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าบทสนทนาในอินเตอร์เน็ตนั่นจริงจังหรือเล่น ๆ บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องเล่น ๆ ของเราเป็นเรื่องจริงจังก็ได้ อย่างเมื่อก่อนเวลาตอนฉันอ่านมีมเหยียดชาติพันธุ์ เหยียดคนดำ ฉันก็ขำ เพราะรู้ว่ามันไม่จริง และหัวเราะเพราะมองว่าการเหยียดชาติพันธุ์มันงี่เง่า เราหัวเราะไม่ใช่เพราะคนดำน่าหัวเราะ หากหัวเราะเพราะคนเล่นมุขคนดำมันน่าหัวเราะ บางทีเราเสพความงี่เง่า เพื่อที่จะหัวเราะความงี่เง่าพวกนั้น แต่ในโลกอินเตอร์เน็ตมันครุ่นเครือ มันมีคนที่พร้อมจะตลกเพราะเป็นคนเหยียดชาติพันธุ์จริง ๆ อยู่เหมือนกัน และเราก็ไม่มีทางรู้ว่ามันเป็นคนแบบนั้นจริง ๆ หรือเปล่า”

กระนั้นนอกจากเรื่องความครุ่นเครือที่เบญจ์บรรพตพูดมา อาจจะบอกว่ามีมเป็นเหมือนหลักฐานในการแสดงความเป็นชุมชน หรือสมาชิกในสังคมไปในตัว

บางทีการหัวเราะให้กับมีมการเมืองแบบไทย ๆ ก็คงเป็นเครื่องยืนยันว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในสังคมที่ชื่อว่าประเทศไทยก็เป็นได้