New Green Deal: ไกลแค่ไหนคือใกล้ เมื่อโลกร้อนเป็นปัญหาปากท้องที่ถูกมองไม่เห็น - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ไกลแค่ไหนคือใกล้” เมื่อการเปรียบเทียบถึงการตระหนัก-รับรู้ “โลกร้อน” หรือ Climate Change นั้นไม่อาจฟันธงว่าผู้คนรู้สึกแบบใดกันแน่ ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าสถานการณ์ตรงหน้ามันคืบคลานใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที…ทุกทีแล้วจริง ๆ

“โลกร้อนเป็นปัญหาที่ยังไกลตัวในเชิงระยะทาง มันเกิดขึ้นจริง ที่ขั้วโลกเหนือหมีโพลากำลังจะสูญหาย ใช่…มันเศร้า แต่มันไกลตัวในเชิงของเวลา อาจจะเกิดขึ้นอีก 100 ปี ซึ่งอาจจะมีเทคโนโลยีอะไรที่มาแก้ปัญหาได้ โลกร้อนมันไม่ได้เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ใช่แค่คนไทยที่ห่างเหิน แต่ผู้คนที่ยังไม่ตื่นตัวนั้นหมายถึงทั่วโลก”

2 องศา ที่อุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น และเราพยายามไม่ให้มันไปถึงนั้น ระหว่างการเผชิญหน้ากับภาวะนี้การใช้ถุงผ้า หรือการให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้า ลดการใช้พลาสติกเพียงอย่างเดียว อาจไม่ช่วยอะไร เมื่อความรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนอินเหมือนกัน เข้มข้นจืดจางต่างกัน ดังนั้นจะไปสู่โลกสีเขียวที่เซฟทั้งเรา และโลกนโยบายสีเขียวจึงต้องถูกออกแบบโดยไม่ละทิ้งมิติปากท้อง

“ไม่อยากให้เป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่มันควรเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และปากท้อง”

De/code คุยกับ อาจารย์พรหม-พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากวันที่เราคุยกัน (ปีกว่า ๆ มาแล้ว) วันนี้ อาจารย์พรพรหมก้าวมาเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจาก UN Environment Programme (UNEP) ด้วยประสบการณ์การเป็นผู้ช่วย ส.ส. ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูแลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และปริญญาโทด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สหรัฐฯ ทำให้เขามีความเข้าใจการออกแบบนโยบายที่ต้องยึดโยงชีวิตของผู้คน รวมถึงกลไกจากภาคการเมืองที่มีผลให้นโยบายสีเขียวเกิดขึ้นจริงด้วย

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องตั้งหลักวันนี้ก่อนว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องถูกพูดถึงในฐานะประเด็นหลักของสังคม (Main Stream) แค่ไหน เมื่อมันยังไม่เกิดขึ้นเลย เราจะคุยกันว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และหน้าตาของไอเดียนโยบายสิ่งแวดล้อม โมเดล MACE (เมส) เป็นแบบไหน

New Green Deal
ข้อเสนอสุดโต่ง กฎหมายโดนคว่ำ แต่เป็น Talk of The Town

New Green Deal เป็นกฎหมายที่ถูกยื่นโดย อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ (Alexandria Ocasio-Cortez) ส.ส.สมัยแรก ของพรรคเดโมแครต ด้วยข้อเสนอสุดโต่ง ตั้งแต่การตั้งเกณฑ์ลดคาร์บอน (Carbon Emission) ที่สูงมาก คือ ภายในปี 2030 สหรัฐฯ จะต้องเป็น Carbon Zero ให้ได้ และข้อเสนอตรงกันข้ามคือ ในขณะที่มันเป็นวิกฤต เราสามารถใช้มันเป็นโอกาสในการ “สร้างงาน” จากอุตสาหกรรมสีเขียว ผลิตกังหันลม ผลิตรถยนต์ EV ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ข้อเสนอนี้นำไปสู่การถกเถียง ชื่นชม และด่าทอ จากกลุ่มที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และคนที่ไม่เชื่อว่าโลกร้อนมีจริง

“อยากย้ำว่าพวกที่เสนอไป ‘ไม่เป็นกฎหมายแน่นอน’ โดนัลด์ ทรัมป์เองก็ไม่เชื่อว่าโลกร้อนเป็นจริง และถ้าเป็นบารัค โอบามา มันก็อาจจะไม่ผ่าน เพราะมันไปไกลกว่าที่โอบามาจะรับได้ด้วยซ้ำ มีทั้งคนชมคนด่า มันถูกพูดถึงจากทุก ๆ คนที่ไม่คิดว่าโลกร้อนเป็นจริง และคนที่ผลักดันได้ ตอนนี้กลายเป็น ‘โลกร้อน’ เป็นประเด็น Main Stream ในการเมืองอเมริกา หรือพูดถึงสังคมชนชั้นในอเมริกา”

เมื่อมองกลับมาที่ไทยว่าสังคมเราควรมี New Green Deal แบบไหน? ที่คุยจะมาพูดถึงและถกเถียงกัน
“จะเป็นจริงก็ดี ไม่จริงก็ดี แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทำให้คนได้มาถกกัน มาพูดถึงมัน”

MACE Solution
ไอเดียนโยบายสิ่งแวดล้อม

ในฐานะที่ทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนไอเดีย และทางออกเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนวันนี้ อาจารย์พรพรหมมีข้อเสนอเพื่อให้เรา “อยู่รอด” ใต้วิกฤตนี้ผ่านโมเดลที่มีชื่อว่า MACE ซึ่งอาจถือว่านี่คือ New Green Deal ของไทยก็ได้ มันเป็นโครงสร้างนโยบายที่สามารถเป็นฐานของนโยบายอื่น ๆ

M A C E

M – Mitigation การลดคาร์บอนไดออกไซด์ เวลาเราพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม คนจะพูดถึงมากที่สุด เพราะเรารู้ว่าถ้าเราลดได้มันจะดี ที่สำคัญคือมันเป็นต้นตอของปัญหาโลกร้อน ในตัว M แยกย่อยออกไปอีก 2 ขา คือ M1 – Supply Science ทำอย่างไรให้เราใช้พลังงานเท่าเดิม แต่พลังงานนั้นปล่อยคาร์บอนน้อยลง แทนที่จะผลิตจากไฟฟ้าถ่านหิน ก็เป็นจากแผงโซลาร์แทน พลังงานเท่าเดิม แต่คาร์บอนลดลง การขนส่งก็จาก ก.ไป ข.เหมือนเดิม แต่ใช้พลังงานไฟฟ้า อันนี้เป็นประเด็นที่ทุกคนพูดถึงในวงการสิ่งแวดล้อม ต้องมาแก้ผลักดันเป็นนโยบาย

ตัวถัดไป คือ M1 – Demand Science ทำไงให้คุณภาพชีวิตเท่าเดิม แต่ใช้พลังงานน้อยลง ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือไฟแอลอีดี อันนี้เป็น Demand Science ของจริง ไฟสว่างเท่าเดิม เราอ่านหนังสือตอนกลางคืนได้ แทนที่เราจะใช้หลอดไฟธรรมดาที่ใช้พลังงานเยอะ เขาดึงไฟฟ้ามาน้อยลง ถ้าเรามีตึก ๆ หนึ่ง เปลี่ยนเป็นกระจกให้หมด จากแบบเก่าเป็นแบบใหม่ ประตูเปิด-ปิดที่แอร์ออก มาป็นประตูหมุน ส่วนของ M อาจารย์พรหรมยกไว้เป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ถ้าร่วมมือกันลดลงแน่นอน เราหยุดโลกร้อนได้แน่นอน

A – Adaptation อันนี้มาในส่วนของการมองโลกในแง่ร้าย ไม่ว่าจะทำอะไรดีแค่ไหน โลกร้อนก็มาอยู่ดี แม้พรุ่งนี้เราจะ Carbon Zero เลิกทำทุกอย่าง ภาวะนั้นก็ไม่สามารถยั้บยั้งได้อีกต่อไป โลกร้อนเกิดขึ้น ภัยพิบัติมา พื้นที่ที่แล้งก็จะแล้งมากขึ้น พื้นที่โดนพายุก็จะโดนมากขึ้น หรือระดับน้ำทะเลก็หนุนสูงขึ้นอยู่ดี ดังนั้น การปรับตัว จึงเป็นทางออกของเรื่องนี้ ซึ่งการปรับตัวนั้นมีทั้งระดับ Macro การลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐ เช่น สร้าง Sea Wall ป้องกันอ่าวไทยไม่ให้น้ำทะเลสูงขึ้นมา หรือระดับ Micro ปลูกป่าโกงกางได้ช่วยกันได้

“ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพอย่างประเด็นฝุ่น PM 2.5 การแก้ปัญหาในกลุ่ม M จะอาจจะดูเรื่องการกำหนดนโยนบายว่าจะลด PM 2.5 แบบไหน ให้รถวิ่งวันคู่วันคี่ดีไหม หรือถ้าทำในกลุ่ม A คือ เราไม่ได้ทำประเด็นนั้นแต่เป็นการสร้างหอฟอกอากาศขนาดใหญ่ไปเลยดีไหม กลางอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปเลย เรารู้อยู่แล้วว่า PM มันอยู่ทั่ว”

C – Creation of Job การสร้างงาน คล้าย ๆ เกี่ยวกับ New Green Deal ของอเล็กซานเดรีย ซึ่งต้องดูโอกาสว่าจะส่งเสริมทางไหนได้บ้าง เช่น การเป็นศูนย์การผลิตชิ้นส่วนสินค้า อาจารย์พรพรหมมองไปถึงการปรับเปลี่ยนโยกย้ายหน่วยงาน หรือคนมาอยู่ในส่วนของสายงานสีเขียวนี้ เช่นตัวอย่างที่ชอบยกขึ้นมาบ่อย ๆ คือ กำลังของทหารเกณฑ์ แม้ส่วนตัวจะเชื่อในสิทธิเสรีภาพว่าถ้าคุณไม่อยากถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ถ้าไม่อยาก แต่คิดว่ายากถ้าจะต้องยกเลิก ซึ่งมองไว้เป็นตรงกลางว่า เรามองหน้าที่ทหารคืออะไร?

“เท่าที่ทำถามลูกศิษย์ บทบาททหารที่เชื่อคือ “การป้องกันประเทศจากภายนอก” ส่วนใหญ่พูดถึงการป้องกันภัยพิบัติ ถ้าเราโยกหน่วยงานหลาย ๆ ที่มาช่วยด้านนี้ อาจจะมีประโยชน์กว่า น่าจะเป็นภาพที่ดีกับสถาบันทหารได้” นั่นคือส่วนหนึ่ง แต่ถ้าในมุมของรัฐที่ก็สร้าง Mega Project หรือสร้างธุรกิจสีเขียวเพื่อสร้างโอกาสการทำงานไปเลยนั้นมีความเป็นไปได้แค่ไหน

“ผมไม่อยากบอกว่าจะต้องสร้างเมกะโปรเจก มันต้องประเมินว่าข้อดีข้อเสียด้วยว่าคืออะไร เรามีเงินพอที่จะสร้างไหม เอาเงินมาจากไหน ผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องทำด้วย แล้วการจ้างงานเพิ่มก็สามารถเข้าเป็นผลพลอยได้จากเรื่องนี้ แต่ถ้าเรื่องการสร้างงานอยากเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มันต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่สร้างเสร็จแล้วจบ เช่น การแผงโซลาร์ อาจตั้งว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตแล้วส่งออก มันทำได้เรื่อย ๆ ไม่เหมือนการสร้างกำแพงกั้นคลื่น ที่สร้างแล้วจบ เราต้องหาจุดเด่นของประเทศ และธุรกิจสีเขียวให้ได้

E – Education ต้องยอมรับว่าผู้คนตื่นตัวเรื่องนี้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ในวงกว้าง แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ไม่ใช่แค่นักวิชาการพูดอย่างเดียว หรือเราสามารถหาคนพูดได้อย่างมีพลังคือ โป๊ปฟรานซิส คนที่นับถือคาทอลิกก็หันมาสนใจ หรือนักแสดงดังอย่าง ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) พอมาพูดเรื่องนี้ก็มีคนเริ่มมาสนใจมากขึ้น

จะเป็นเพียงภาพฝันหรือทำมันให้เกิดได้จริง
ปัจจัยอะไรที่ไทยไม่ถึงฝั่งฝัน

โมเดล MACE ที่ทำขึ้นอาจารย์พรพรหมบอกว่า “ไม่อยากให้เป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ควรเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจด้วย”  ไม่เช่นนั้นมันจะปะทะกัน เช่น บริษัทอยากเปลี่ยนเป็นโซลาร์แทนจะใช้น้ำมัน มันดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่มันไม่ดีกับตัวเขาเอง เพราะว่าอยู่ดี ๆ ต้นทุนสูงขึ้นเฉยเลย ประชาชนอยากขับรถไฟฟ้า แต่ราคาก็ยังแพงกว่ารถธรรมดาที่ใช้ดีเซล

การที่คุณจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มันกลับทำให้ค่าครองชีพของคุณมันสูงขึ้น เราจะทำยังไงให้สอดคล้อง ทำให้มันสร้างงานไปพร้อม ๆ กัน และโอกาสทางเศรษฐกิจก็จะมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างโซลาร์เซลล์ รัฐอยากหนุนให้คนติดโซลาร์ตามบ้าน ซึ่งมันไม่ Make Sense เพราะเราไม่ได้อยู่บ้านในช่วงกลางวัน ไฟฟ้ามันไม่ได้เก็บได้เหมือนน้ำร้อน มันต้องใช้แบตเตอรี่ที่แพง พอไม่มีแบตก็หายไป พอไม่อยู่บ้านมันก็เปลืองจะมีโซลาร์ทำไม มันคุ้มสำหรับโรงงาน อันนี้เราควรมีนโยบาย Net Metering มีแผงโซลาร์ แล้วก็ขายคืนได้ เป็น Passive Income”

“อีกหนึ่งตัวอย่างคือที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กลางเมืองมี Congestion Charge ถ้าขับรถเข้าไปในเมือง กล้องจับภาพจะเสียเงิน เป็นค่าขับรถเข้าไปกลางเมือง แก้เรื่องรถติดกลางเมือง แก้ปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เขาเสนอต่อถ้าขับรถยนต์ไฟฟ้าเข้าได้ฟรี มันสอดคล้องกับเศรษฐกิจ มันดีต่อสิ่งแวดล้อม มันดีต่อการเงินของคุณด้วย มันคือการเอื้อที่มาคู่ ดูว่าคนอยากซื้อรถ EV เพราะรักสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวไหม หรืออยากซื้อเพราะมันมีผลประโยชน์พ่วงเข้ามาในเชิงการเงิน”

Carbon Tax l Emission Tax
ใครปล่อยคนนั้นต้องจ่าย

อีกหนึ่งข้อเสนอที่ที่จะคู่ขนานกับ MACE คือการจริงจังต่อการจัดเก็บภาษีคาร์บอน “ใครก่อมลพิษ ผู้นั้นจะต้องจ่าย” อาจารย์พรพรหมพูดถึงแนวทางในการจัดเก็บภาษีเหล่านี้หลายทาง ตั้งแต่ตั้งแต่ระบุว่าจะลดให้ได้เท่านั้นเท่านี้ ถ้าทำไม่ได้ตามสัญญาก็ถูกเก็บถูกปรับ

“ส่วนตัวไม่ไปในทางนโยบายที่ไปบังคับคน แต่คิดว่ากับเรื่องของมลพิษมันสำคัญมาก ๆ เขา (ธุรกิจ/อุตสาหรรม) ได้มานานแล้ว เขาปล่อยมานานแล้ว มันก็ถึงเวลาที่เขาต้องเด็ดขาด เลยมุ่งไปทางเก็บภาษีที่ไปเลย “ปล่อยเท่าไหร่ก็ต้องจ่าย”

“แต่เราก็จะดูในเชิง Carbon Content ถ้าใช้พลังงานเยอะ แต่เป็นแก๊สธรรมชาติ มันปล่อยก็มาไม่เยอะก็โอเค แต่ถ้าคุณใช้ถ่านหิน ซึ่งมันสกปรกที่สุด อันนี้คุณต้องโดนเก็บในสัดส่วนและน้ำหนักที่สูงที่สุด สุดท้ายมันก็กลับไปที่คุณปล่อยเท่าไหร่คุณต้องจ่าย แต่พอกลับมาดูบัญชีแล้ว คุณยังไม่ได้จ่ายสักอย่าง ตั้งแต่มลพิษที่ประชาชนจะต้องสูดเข้า ไปจนถึงภาวะเรือนกระจกที่ทำให้มีวิกฤตต่าง ๆ ที่รุนแรงมากขึ้น”

ขยายความลึกลงไปอีก อาจารย์พรพรหมบอกว่า หลาย ๆ ประเทศมี Carbon Tax ที่เรียกว่า Positive revenue เก็บเงินผู้ปล่อยมลพิษให้เข้ามาในกองทุน จะเรียกว่ากองทุนสีเขียว กองทุนคาร์บอน อะไรก็ได้ แล้วรัฐก็ตัดสินใจว่าจะเอาเงินตรงนี้ไปลงทุนกับอะไร เช่น โครงการแผงโซลาร์ยักษ์ ได้เงินมามีรายได้ก็เอาไปลงทุน

อีกโมเดล น่าสนใจยังไม่มีประเทศทำ บริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งทำและประสบความสำเร็จ เรียกว่า Revenue Neutral แทนที่จะเก็บเงินมาเป็นกองทุน แต่รัฐบาลไม่ใช้เงิน แล้วเลือกให้คืนกับประชาชนในเชิง Tax Credit หรือ Tax Cut คนมีรายได้ต่ำก็แจกเป็น Tax Credit ไปเลย หรืออาจเป็นเงินสดไปเลยก็ได้ ถ้าอยากไปทางประชานิยม หรือว่าถ้าเป็นคนที่มีรายได้สูง ก็อาจจะเป็นในเชิง Tax Cut ไปให้เพื่อให้เสียภาษีน้อยกว่าเดิม

“มันก็เหมือนประชานิยมนิดหนึ่ง เอาเงินจากคนที่ปล่อยมลพิษมาให้คนที่สูดมลพิษมานานหลายปีแล้ว”

“ทำไมคนใช้ฟอสซิลอยู่ ก็เพราะว่ามันถูก พลังงานทดแทนมันแพงกว่าตั้งเยอะ แล้วก็กลับไปทุนนิยมแบบเดิมที่คุณต้องทำให้ ต้นทุนมันต่ำที่สุด คุณจะอยู่ดี ๆ มาปรับให้ต้นทุนสูงขึ้นทำไม แต่ถ้าวันหนึ่งรัฐบาลบอกว่า ถ้าคุณยังใช้ฟอสซิลอยู่ราคามันขึ้นนะ พอฟอสซิลโดนภาษี หรือแพงกว่าโซลาร์ เขาอาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้ มันคือการกระตุ้นในเชิงภาษี”

การชักช้า ไม่ขยับปรับการเดินจะทำให้ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกอย่างไทย ภาวะโลกร้อนจะถ่างช่องว่างนี้มากขึ้นไปอีก และเมื่อผลกระทบเกิดขึ้นอย่างประจักษ์ชัดแจ้งแล้วคนที่ได้รับผลกระทบกลับกลายเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้ “ก่อมลพิษ” เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างที่สุด

“คนที่ทำโลกร้อน หรือมลพิษ ไม่ใช่เกษตรกร แต่คนที่จะได้รับผลกระทบไม่ใช่บริษัทใหญ่ ๆ แต่มันคือเกษตรกรที่ต้องเจอภัยแล้งที่หนักมาก หรือน้ำท่วมแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ใช่แค่สังคมไทย แต่ในสเกลระดับโลก ประเทศเจริญแล้วผลิตมลพิษเยอะ แต่ประเทศที่โดน คือเกาะเล็ก ๆ ซึ่งมันจะจมแล้วกลางแปซิฟิก หรือเกาะมัลดีฟ หรือที่บังกลาเทศ ซึ่งเจอน้ำหนุนขึ้นมา ตอนนี้ทางตอนใต้ของบังกลาเทศ พื้นที่เกษตรกรรมที่แทบจะทำไม่ได้แล้ว”

โลกร้อนและชนชั้นจะชัดเจนมากขึ้น
เมื่อนั้นทุนนิยมที่ต้องมีหัวใจ…ได้แล้ว

การปรับตัวของไทยนั้นเกิดขึ้นจากตรงไหน อาจารย์พรพรหมมองว่าในระดับมหภาคการผูกขาดในเศรษฐกิจไทยยังเหนียวแน่น แต่ไม่ควรหมดหวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องพึ่งพากลุ่มนี้อาจเรียกได้ง่าย ๆ ว่า ให้เขาเป็นตัวเคลื่อน เพราะต้องไม่ลืมว่าหาก เศรษฐกิจสีเขียวสร้างกำไรได้จริง ธุรกิจพวกนี้จะปรับตัวตามธรรมชาติอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในมุมของเอกชน เชื่อในกลุ่ม Stakeholder Capitalism คือทุนนิยมมีหัวใจ

“มีทุนนิยมแบบใหม่ คือ กำไรที่ดีที่สุดไม่ใช่กำไรที่ให้นักลงทุน แต่มันคือกำไรที่ให้ทั้งนักลงทุน และสังคม พรือลงชุมนุม และพัฒนาสิ่งแวดล้อม อันนี้สามารถเป็นอุดมการณ์ มันก็จะเห็นภาคเอกชนที่ดีขึ้น มันจะมีเกณฑ์ ESG (Environmental, social and corporate governance) ซึ่งตอนนี้หลายบริษัทเริ่มทำแล้ว มีหลายคนเชื่อว่าผลกำไรระยะยาว และมี Short Term Profit น้อยหน่อย เพื่อจะให้สังคมดีขึ้น มันจะทำให้มี Profit ระยะยาวดีขึ้น เมื่อโลกดี สังคมดีในระยะยาว ธุรกิจเขาก็อยู่ได้ ไม่ใช่ปล่อยมลพิษแล้ว ในอนาคตโลกอยู่ไม่ได้”

ขณะที่บทบาทของภาครัฐ ไม่ใช่แค่ปล่อยให้เอกชนเดินทางหน้า แต่คือการกำกับดูแล และกำหนดทิศทางก็เป็นความจำเป็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นการใช้ตัวชี้วัด GDP ที่มุ่งสนใจเพียงแค่การบริโภค มูลค่าน้ำเข้า-ส่งออก แต่ตัด GDP ที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม อย่างโครงการเขตเศรษฐกิจหนึ่งทางฝั่งตะวันออก ที่ทำให้ GDP ไทยพุ่งกระฉูด มี FDI เข้ามาเยอะ เพราะมีทุนจีนเข้ามาจำนวนมาก พร้อมกับได้รับการงดเว้นไม่ต้องผ่าน EIA

ถ้าการเมืองดี
แก้โลกร้อนไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป

สุดท้ายปัจจัยที่ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือการตระหนักรับรู้ (Awareness) ซึ่งส่วนนี้อาจารย์พรพรหมมองว่า เราอาจจะยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะมันสัมพันธ์กับความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจของโลก ไวรัสที่แม้ระบาดสั้น แต่ผลกระทบจะรุนแรงมาก ทั้งหมดเป็นผลให้ประเด็นที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมให้ดังและจริงจังกว่าเดิม “ตกไปอยู่ท้าย ๆ” แม้ก่อนหน้าเราจะตื่นตัวอย่างกับประเด็นฝุ่น PM 2.5 ก็ตาม แต่เรายังไม่ได้ผลกระทบจากโลกร้อนอย่างจริง ๆ จัง ๆ

แต่ถึงแบบนั้น “ภาคการเมือง” มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ประเด็นนี้ถูกขยายวงกว้าง และคนมาถกเถียงกันเรื่อง New Green Deal ของประเทศไทย แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะผลักดันประเด็น อาจารย์พรพรหมที่ก่อนหน้านี้เคยเข้าทำงานการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็พยายามผลักดันประเด็นนี้ แต่ทว่าก็ไม่ได้รับการสนับสนุน โดยได้รับเหตุผลว่ายังมีเรื่องปากท้องที่ต้องแก้ไข

“โลกร้อนก็ปากท้อง ก็เป็นชาวบ้านเกษตรเหมือนกัน ผมมองว่าถ้าเสนอผ่านสภาฯ มันง่ายกว่า และยังมีความเชื่อว่าผ่านฝั่งการเมืองสำคัญ และเร็ว ถ้าความต้องการข้างบนมันชัด”

แต่นั่นก็ยังพบความทับซ้อน และซับซ้อนของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ และตีความคำว่าสิ่งแวดล้อมที่มองต่างกัน ยังเคยคุยว่าอาจจะต้องมีกระทรวงที่เกี่ยวกับโลกร้อนโดยเฉพาะ”

ตอนนี้อาจารย์พรพรหมกำลังให้โมเดล MACE ดีที่สุดในเชิงตัวเลขวิจัย และทำให้ครอบคลุมทุกอย่าง เช่น เก็บภาษีเท่าไหร่ แบบไหน ถ้าเราจะเป็นศูนย์กลางการผลิตโซลาร์มีกำหนดค่าแรงเท่าไหร่ สู้ประเทศเพื่อนบ้านได้หรือเปล่า R&D (Research and Development) ต้องแค่ไหน เพื่อนำไปเสนอภาคการเมือง

“ถ้าถามส่วนตัว อยากให้มี ส.ส.ฝ่ายค้านกลุ่มหนึ่งเสนอ หรือรัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่รู้ว่ารัฐบาลไม่ทำอยู่แล้ว”