ระหว่างทางกลับบ้าน - Decode
Reading Time: 2 minutes

ชีวิตของนักเดินทางกับการตระเตรียมกระเป๋าเพื่อเดินทางกลับบ้าน

ระหว่างร้อยกิโลเมตรจากรุงเทพฯ บนรถโดยสารที่พากลับบ้านมาตลอดครึ่งทศวรรษ สองชั่วโมงที่ชวนให้คิดว่าเส้นทางกลับบ้านของแต่ละคนล้วนมีเหตุการณ์ที่ต่างกัน เหตุผลของการกลับบ้านก็คงเป็นเช่นนั้น 

เรื่องราวของ ‘ซัลมาน’ ผู้อุทิศเวลาไปกับการเดินทางครึ่งโลก จากสงขลาสู่ปัตตานี ก่อนการศึกษาจะเป็นตัวเร่งก้าวเดินไปยังอินเดีย ปักหลักเก็บเงินในเมืองหลวง พบพานความรักก่อนจะกลับมายังปักษ์ใต้บ้านเกิดอีกครั้ง บ้านเกิดที่ทำให้หวนย้อนไปถึงเรื่องราวของคนที่รอคอยการกลับบ้าน คนที่ไม่เคยกลับมาบ้าน หรือแม้แต่คนที่กลับมายังบ้าน อันเป็นกิโลเมตรแรกแห่งการเดินทางเช่นซัลมาน

การออกเดินทางที่เปรียบได้กับการร้างถางพงทุกผืนดินที่ได้เหยียบย่ำ แต่สำหรับ ‘ทางกลับบ้าน’ ที่เคาะโลกภายในความคิด จากเสียงโกรกกรากที่ซัลมานได้ยิน ได้รับรู้บทสนทนาผ่านหน้าต่างบานเล็กของบ้านหลังเดิมในวัยเด็ก ที่มองทะลุผ่านไปยังกุโบร์ สุสานอันเป็นที่พำนักสุดท้ายของผู้จากไป คือเสียงจักรยานซอมซ่อในทุกวันยามเช้า ที่ยายอัมเราะฮใช้เดินทางไปยังกุโบร์เพื่อพูดคุยสุไรมานสามีอันเป็นที่รัก แม้จะถูกดินกลบร่างไปนานกว่า 10 ปี ไร้การตอบกลับเรื่องราวที่ภรรยาบรรจงขยายความต่อหน้าหินสลักป้ายหลุมศพนานนับชั่วโมง 

ยายอัมเราะฮเล่าถึงลูกชายคนโตให้สุไรมานหมดห่วง มุฮัมมัดอยู่กรุงเทพฯ มีลูก 4 คน ญามีลาลูกคนกลางมีครอบครัวที่หาดใหญ่ นานทีจะกลับบ้านสักครั้ง  ….

แต่ยายอัมเราะฮไม่เคยไปไกลจากบ้านและกุโบร์ ไม่เคยห่างไกลสามีแม้จะจากกันทางร่างกายไปแล้ว

ห่างจากบ้าน 

ระบบสังคมเมืองได้พันธนาการชีวิตจนยากจะหลุดพ้น งานและหน้าที่รัดตึงเราไม่ให้สั่นไหว บ้านและรถที่เพิ่งซื้อก็พันธนาการไว้อย่างกระชับ ดิ้นไม่หลุด ไปไหนไม่ได้กับเงินที่ยังคงต้องหามาผ่อนทุกงวด ทุกสรรพสิ่งที่ถูกกำหนดให้ ‘จำเป็น’ ภายใต้ระบบทุน การแข่งขัน เอาชนะ ที่ผู้มีอันจะกินได้ร้อยเรียงการพลัดพรากผู้คนจากบ้านเกิดไปอย่างไม่ไหวสู้ เพื่อเข้าเมืองใหญ่ไปแลกกับค่าครองชีพที่นับวันยิ่งสูงขึ้นอย่างเท่าตัว รถที่ครอบครองไว้ เพื่อหวังว่าจะทำให้กลับบ้านได้บ่อยมากขึ้น 

แต่จนแล้วจนรอด รถคันนั้นยิ่งทำให้การกลับบ้านเป็นเรื่องยากกว่าเดิม

หลานคนโตใกล้มีครอบครัว หลานคนสุดท้องที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมของยายอัมเราะฮ ฉายภาพหนุ่มสาวจำนวนมากที่เลือกเอาความสดใหม่ของช่วงวัยไปกับชีวิตสังคมเมือง เพื่อแลกโอกาสที่อยากจะไขว่คว้า การศึกษาที่อยากจะเข้าถึง หน้าที่การงานที่อยากมั่นคง ชีวิตของซัลมานก็เคยเลือกเดินเส้นทางนั้นก่อนกลับมาบ้าน

‘หากไม่มาที่กุโบร์ ก็ไม่รู้จะไปที่ไหน มีแต่สุไรมานเพียงคนเดียวที่อัมเราะฮจะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง’

ภาพจำของซัลมานที่มีต่อสุไรมานและฮัมเราะฮยามที่ทั้งสองเคียงใกล้ คือ คู่ชีวิตที่คอยประคับประคองกันในยามสุขทุกข์ ชีวิตของสุไรมานที่อุทิศให้กับการสอนศาสนาแก่เด็กนักเรียนในชุมชน จะมียายอัมเราะฮคอยเกื้อหนุนความตั้งใจของผู้เป็นสามีอยู่ไม่ห่าง ในค่ำวันศุกร์ที่เด็กเล็กในชุมชนรวมตัวเพื่อละหมาดที่บ้านของสุไรมาน ลูกหลานรายล้อมไม่ห่างตัว ซัลมานเองก็เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่ได้รับการบ่มเพาะจากความรักและคำสอนของสองสามีภรรยา ภาพเหล่านั้นถูกฝังกลบไปพร้อมกับร่างของสุไรมาน หลงเหลือเพียงการระลึกถึงของอัมเราะฮ ที่วันนี้บ้านในทุกค่ำวันศุกร์ วันแห่งครอบครัว จะมีเพียงหญิงชรานั่งอยู่ในมุมมืดของบ้าน ไร้เสียงของคนรอบข้าง ที่พลังงานของความเงียบเสียงดังกว่า ความหดหู่ของยายอัมเราะฮจึงถูกปิดทับจนใครไม่ได้ยิน

ยายอัมเราะฮถ่ายทอดบรรยากาศบ้านหลังน้อยที่เปลี่ยนแปลงไป ในหมู่บ้านที่เหลือแต่เด็กน้อยและคนชรา และเศร้ายิ่งกว่าเมื่อคนชรานั้นคือเพื่อนของอัมเราะฮ ที่แต่ละคนทยอยออกเดินทางตามหลังไปกับสุไรมาน ถนนโล่งเตียน เงียบงัน หดหู่ และเหงาเศร้า ความรักที่เคยมีริบหรี่ลงเรื่อย ๆ ซัลมานก็รู้สึกเช่นนั้นเพราะชีวิตในสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ล่ามร้อยให้การทำงานกระชากความสัมพันธ์ของบางครอบครัวให้สะบั้นลง หรือเป็นเพราะเราต่างเออออยอมรับว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข แนบเนียนเสมือนว่าทุกคนยอมรับและชาชินกับความจริงว่างานอาจนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

‘ชีวิตคือการเดินทาง แต่ชีวิตในเมืองใหญ่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างใช้ชีวิต ต่างก็หาทางกลับบ้านของตนเอง’

หากมีรถป้ายแดงขับเข้ามาในวันเสาร์อาทิตย์หรือเทศกาล ปิ้งย่างก็เกิดขึ้นบ่อย บางครั้งอาจดูว่าสมาชิกครอบครัวรักใคร่ปรองดอง แต่อีกนัยหนึ่งก็ชวนให้คิดว่า ครอบครัวต่างพบกันนานครั้ง ในโอกาสวาระสำคัญ หรือปิ้งย่างจึงเกิดขึ้นแบบภาคบังคับ ที่ต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็มิอาจล่วงรู้

บ้านที่ตั้งต้นจากความรักของคนสองคน งอกเงยเป็นบุตรหลานที่ทำให้บ้านขยายขอบเขตความรักอย่างทั่วถ้วน แต่บ้านยังคงทำหน้าที่เช่นเคยไม่เปลี่ยนแปลง เว้นเสียแต่สังคมรอบนอก ที่พาผู้คนห่างไกลจากบ้านของตนเองจนยากจะกลับไปได้โดยง่าย

สิ่งใดคือบ้าน 

เมื่อก้าวขาออกจากบ้าน เราถูกต้อนเข้าโรงเรียนที่วางระบบไว้ว่าต่อไปต้องเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นใครก็ตามที่สังคมยอมรับ นับเป็นเรื่องดีหากได้เป็นดั่งใจหวัง แต่ก็มีอีกหลายคนที่อ้างว้างเพราะไร้ซึ่งพื้นที่ความสงบในหัวใจ 

เบ้าหลอมและเสาเข็มที่ครอบครัวตอกไว้ให้ตั้งแต่วัยเยาว์ ที่ไม่ได้หวังว่าต้องมีตำแหน่งทางสังคม มีการงานที่มั่นคง เพราะสิ่งเหล่านี้จะหมดประโยชน์ทันทียามต้องสละร่างกายไว้ยังสุสานอันเงียบงัน แต่หวังเพียงในระหว่างทางที่ออกจากบ้านเมื่อเจอลมพายุพัดโหมกระหน่ำ ยังคงมีสมอปักหยั่งลึกไม่ให้ลู่ไหวไปตามสายลม

“กรรมสิทธิ์ของท่านมีเพียงสามอย่าง 

สิ่งที่ท่านกิน สิ่งที่ท่านใช้ สิ่งที่ท่านหามา 

นอกจากนั้น มิใช่ของท่าน”

‘โชคดีสินะ ที่เธอได้ออกเดินทางไปก่อนฉัน … เธอจึงได้พบกับบ้านอันเป็นนิรันดร์ ส่วนฉันต้องอยู่ในบ้านเพียงคนเดียว บ้านซึ่งเป็นเพียงอิฐหินปูนทราย แต่ไร้ซึ่งความหมายและจิตวิญญาณ’

สำหรับอัมเราะฮ ที่หมุดหมายการเดินทางเดียวในทุกวัน คือการพาร่างกายวัยเจ็ดสิบปีมาหาสามีผู้ล่วงลับ เป็นความจริงว่าอัมเราะฮไม่รู้จะบอกเล่าความรู้สึกเดียวดายแก่ใคร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเมินเฉยกับความเงียบงันนั้น ตลอดสิบปีที่ขาดคู่ชีวิตข้างกาย อัมเราะฮได้จัดเตรียมกระเป๋าใบใหญ่ ดูแผนที่อยู่ทุกวัน ว่าจะใช้ถนนเส้นไหนในการกลับบ้าน 

บ้าน ที่ถูกลงเสาเข็มจากการร้างถางพง วางอิฐหินด้วยความรักของสุไรมานกับอัมเราะฮ แม้จะเป็นเพียงสถานที่พักนอนไร้ราคาค่างวด แต่อบอวลไปด้วยความรักและความมั่นคง มาวันนี้ที่บ้านเงียบงัน หลังใหญ่เกินไปเมื่อไร้คนอยู่ โดยเฉพาะขาดครอบครัวที่เป็นโครงสร้างของบ้าน การกลับบ้านในความหมายของอัมเราะฮ จึงไม่ใช่บ้านที่เธอใช้กลับมาหลบแดดฝน แต่เป็นบ้านที่เธอจะได้พบ และใช้ชีวิตกับคนรัก ในพื้นที่แห่งความสงบอันเป็นนิรันดร์ 

พบความรัก ในความหมายของการกลับบ้าน

แม้หมุดหมายของการกลับบ้านจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายสำหรับผู้คนในสังคม หากไร้ซึ่งความหมายในระหว่างการเดินทาง ‘บ้าน’ ก็อาจเป็นเพียงความเงียบงันวังเวง เป็นผืนดินที่ทำหน้าที่ฝังกลบร่างกายในยามไร้ลมหายใจ

เรื่องราวของสุไรมานและอัลเราะฮ ก่อเกิดเป็นคำถามสำหรับซัลมาน สามีได้ถักทอสายใยรักด้วยด้ายชนิดใด ภรรยาจึงสามารถรักษาพลังงานแห่งความรักและความผูกพันได้ยาวนานเพียงนี้ 

เพราะสิ่งใดที่ทำให้ร่างกายใต้ผืนดินมีอิทธิพลต่อร่างกายที่อยู่บนดินได้มากมายเกินพรรณา 

ในยามที่ความรักถูกพรากจากข้างกาย หากแต่ความรักที่อยู่ภายในตัวตนของผู้ถูกรักมิได้สลายตาม เฉกเช่นกับเรื่องราวระหว่างทางกลับบ้านที่ถูกถักทอไว้อย่างเหนียวแน่น ที่นับเป็นความพิเศษของอานุภาพความรัก เปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่ถูกหย่อนลงผืนดิน แตกหน่อและงอกเงยด้วยการถนุถนอมตลอดเส้นทางของการใช้เวลาร่วมกัน แม้ยามไม่ได้เคียงใกล้ แต่ความรักที่ถูกฝากฝังไว้ให้หัวใจผู้ถูกรัก ยังคงเป็นพื้นที่ของบ้านที่อบอุ่นไม่เสื่อมคลาย

อานุภาพของความรักเหล่านี้ มันช่างวิเศษนัก และนั่น ทำให้ผู้คนที่ตระเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการเดินทางกลับบ้าน ได้พบกันพื้นที่แห่งจิตวิญญาณภายในตนเอง นับตั้งแต่ก้าวเดินไปตามเส้นทางที่ต่างคนได้เลือกไว้

ส่วนคำถามของซัลมานนั้น ก็ได้พบคำตอบเพียงส่วนหนึ่งจากความรักของสุไรมานและอัมเราะฮว่า 

‘ความตายแข็งแกร่งกว่าชีวิต แต่ความรักทนทานกว่าความตาย’

แม้ความตายได้พรากชีวิตจากไป แต่ความรักจะยังคงเป็น ‘บ้าน’ ที่แข็งแกร่งเช่นที่เป็นอยู่เดิมเสมอมา 

Playread : ทางกลับบ้าน The way back “home”
ผู้เขียน : เอ. อาร์. มูเก็ม Abdunrohman Mukem
ออกแบบภาพปก : ฟาริดา มูเก็ม
ภาพประกอบ : พ.จ.อ. มุยิสดีน สุขกายรัตน์
สำนักพิมพ์ : ปาตานีฟอรัม Patani Forum

PlayRead : คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี