“ใครกันแน่ที่รู้จักภูเขามากกว่ากัน คนที่เดินทางไปรอบแปดขุนเขา หรือคนที่ปีนขึ้นไปยังยอดเขาสูงสุด?”
คือคำถามสุดท้ายของหนังสือ แปดขุนเขา ที่เขียนโดย เปาโล คนเญตติ เป็นวรรณกรรมแนวความสัมพันธ์ของเพื่อนที่ได้รับรางวัล The Strega Prize ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นอีกหนึ่งเล่มที่บรรดานักอ่านทั้งเทศและไทย มีไว้บนชั้นหนังสือ เป็นวรรณกรรมที่เล่าเรื่องของชายสองคน เพื่อนผู้ซึ่งเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างกัน ระหว่างปิเอโตร จากเมืองมิลาน (Pietro) และ บรูโน่ (Bruno) ที่เติบโตมากับภูเขา แถบ วัล ด’ออสตา (Val d’Aosta) แปดขุนเขาเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวเนปาลที่เชื่อว่า “มีขุนเขาสูงยิ่งอยู่ใจกลางโลก ชื่อเขาพระสุเมรุ รอบเขาพระสุเมรุมีแปดขุนเขาและแปดมหาสมุทร”
ลูกพ่อ ความสัมพันธ์ที่มีเพียงแค่ ‘ภูเขา’
ปิเอโตร เกิดมาท่ามกลางของครอบครัวที่อาศัยอยู่ในมิลาน มีวิถีชีวิตแบบคนในเมืองใหญ่ แต่พ่อชอบพาเขาออกไปเดินป่าและปีนเขา พ่อของปิเอโตรหลงใหลในการปีนเขาและมักพาปิเอโตรเดินทางขึ้นสู่ที่สูงเสมอ ปิเอโตรได้พบบรูโน่ ที่หมู่บ้านกลางหุบเขา และได้ผูกมิตรเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เยาว์วัย แต่เมื่อฤดูร้อนผ่านไป ปิเอโตรก็ต้องกลับมิลาน ชีวิตของเขายังคงหมุนไปตามวิถีของเมืองใหญ่ ในขณะที่บรูโน่ยังคงอยู่ที่ภูเขา พวกเขาเริ่มห่างกันตามธรรมชาติของชีวิต ขณะเดียวกันความสัมพัธ์ของปิเอโตรและพ่อ ที่แม้จะผ่านห้วงเวลาของการปีนเขามากมายด้วยกันแต่กลับยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้นห่างเหิน เพราะพ่อของปิเอโตรเต็มไปด้วยการดำเนินชีวิตแบบเงียบขรึมและเคร่งครัด มีเพียงแค่ภูเขาเท่านั้นที่ผูกทั้งสองไว้ด้วยกัน นั่นเลยเป็นเหตุผลให้ปิเอโตรเริ่มเบื่อหน่ายการปีนเขา และในที่สุดก็หันหลังให้มัน
ปิเอโตรสูญเสียพ่อในวัย 31 ขณะที่พ่อมีอายุได้ 62 เขาฉุกคิดได้ว่า ในวันที่พ่อเสีย เขากลับมีอายุเท่าพ่อตอนที่พ่อมีเขา พ่อดูเพียบพร้อม มีครอบครัว มีทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและเลี้ยงดูครอบครัว กลับกัน “31 ปี ของผมเหมือนพ่อน้อยมาก ผมยังไม่มีครอบครัว ยังไม่ได้เข้าทำงานในโรงงาน ไม่มีลูก และชีวิตผมก็ดูเหมือนเป็นกึ่งเด็กกึ่งผู้ใหญ่” ปิเอโตรยังใช้ชีวิตคนเดียวอยู่ในอะพาร์ตเมนต์โดยลำพัง ยังค้นหาความหมายของการเติบโต
หลังการเสียชีวิตของพ่อ ปิเอโตรตัดสินใจกลับมิลานไปเจอแม่ เพื่อจัดการเรื่องมรดกที่พ่อทิ้งไว้ และพบว่าพ่อมีที่ดินแปลงเล็ก ๆ ราคาอันน้อยนิดอยู่บนภูเขา แต่ไม่รู้ได้ว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ตรงส่วนไหนของภูเขา แม่บอกกับปิเอโตรว่า “บรูโน่อาจจะรู้ก็ได้” นั่นทำให้ปิเอโตรตั้งคำถามว่า พอยังมีโอกาสพบกับบรูโน่อีกหรือ บรูโน่จะยังคิดถึงเขาหรือไม่ ทั้งที่เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ปิเอโตรจึงตัดสินใจขึ้นภูเขาอีกครั้ง
เพื่อนเอ๋ย วันนี้เราต่างเป็นอะไรกัน
ปิเอโตรได้พบกับบรูโน่อีกครั้ง แต่ทั้งสองไม่มีท่าทีของคนที่เคยรู้จักและสนิทต่อกัน ช่างก่อสร้างอย่างบรูโน่มีร่างกายที่หยาบด้าน ฝ่ามือเต็มไปด้วยตาปลา เพราะนี่เป็นส่วนของร่างกายที่ใช้งานหนัก ขณะคนเมืองอย่างปิเอโตร ก็เป็นแค่ผู้ชายดาษดื่นทั่วไป ทั้งสองคนได้ออกเดินมุ่งหน้าสู่ที่ดินของปิเอโตร หลังจากผ่านบทสนทนา เพื่อละลายความเคอะเขิน แต่การเดินทางกลับล่าช้ามาก เพราะปิเอโตรไม่ได้ปีนเขามาเป็นเวลานาน และแทบที่จะไม่ได้ออกกำลังกายเลย ตอนเดินถึงที่หมาย ก็กลับพบแค่กระท่อมที่พร้อมทลายลงเพียงแค่หิมะตกใส่
“ถึงแล้ว” บรูโน่พูด
ปิเอโตรถามว่า “ถึงไหน”
“ก็บ้านของนายไง”
ปิเอโตรมองไปรอบ ๆ แม้หิมะจะทำให้ทิวทัศน์เปลี่ยนไปบ้าง แต่เต็มไปด้วยต้นไม้ อยู่ติดกับหน้าผาลาดสูง ทำให้เขาจำได้แม่นว่านี่คือที่ ที่พ่อเคยมาประจำ
ทั้งสองเริ่มต้นซ่อมแซมกระท่อมร้างด้วยกัน เพราะพ่อของปิเอโตรเคยสั่งเสียกับบรูโน่ว่า “อยากให้บรูโน่เป็นคนสร้างบ้านหลังนี้”
บทสนทนาส่วนใหญ่ จะเป็นปิเอโตรที่เป็นฝ่ายตั้งคำถาม “ว่าอันนี้คืออะไร ใช้งานอย่างไร” ทั้งเลื่อย โม่ลับหิน และอุปกรณ์ก่อสร้างอีกจำนวนมากที่ปิเอโตรไม่รู้จักเลย การรื้อฟื้นกระท่อมหลังนี้ตลอดสามสี่เดือน ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองรื้อฟื้นดั่งวันวาน เพื่อนที่เคยสนิทในวัยเด็ก กลับมาสนิทกันและใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่
บรูโน่ก็ใช้ชีวิตอย่างมีแบบแผน มีสิ่งที่ค้างคาและอยากทำให้สำเร็จ “เขาอยากซื้อฟาร์มของลุง” ที่เต็มไปด้วยความทรงจำดี ๆ บนภูเขากลับมา เขาจึงวางแผนออมเงินไว้เนิ่นนาน ปิเอโตรถามเพียงคำถามเดียว “แล้วมันให้ผลตอบแทนดีไหม”
“ก็ไม่เท่าไร ถ้าฉันจะทำเพื่อหาเงิน ฉันเป็นช่างก็สร้างต่อไป” บรูโน่กล่าวด้วยเหตุผลที่ชีวิตของเขาดำเนินแบบนั้นเสมอมา คือทำให้ชีวิตนั้นมีความหมายเพราะบรูโน่บอกว่า เขาเกิดมาเพื่อภูเขา
ส่วนบรูโน่ก็ถามถึงความฝันของปิเอโตร ปิเอโตรบอกว่า “อยากออกเดินทาง”
“ไปไหน” บรูโน่ถาม
“อาจเป็นเอเชีย ไม่รู้เหมือนกัน” ปิเอโตร ตอบ
จากนั้นปิเอโตรก็ออกเดินทาง ไปตามที่ต่าง ๆ ที่เป็นหมุดหมายของภูเขารอบโลก
การใช้ชีวิตของทั้งสองคนดำเนินไปข้างหน้าเหมือนเส้นขนาน บรูโน่ผู้ซึ่งผูกพันกับภูเขา ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นของตัวเองแม้ในภายหลังจะเจอความท้าทายและยากลำบากอยู่บ้าง ส่วนปิเอโตร ก็ออกเดินทางเพื่อพิชิตขุนเขา ความสัมพันธ์ของทั้งสองผูกกันด้วยภูเขาและบ้านที่ทั้งสองช่วยกันสร้าง
แต่ละคนคงมีทัศนะที่ต่างกันต่อภูเขารายล้อม คนหนึ่งเดินทางเพื่อพิชิตยอดเขา กับอีกคนที่ปักหลักท่ามกลางยอดเขา แต่ความหมายของการมีภูเขาของทั้งสองไม่ต่างไปเลย เพราะภูเขาคือการแสวงหาความหมายของการมีชีวิต ความฝัน ตัวตน และภูเขาที่ต่างยอดเขาออกไป ยังคงเป็นบ้านสำหรับนักพิชิตยอดเขามากมาย
ความรักของพ่อที่มีให้ลูกชาย ‘มีมากกว่ายอดเขาที่เคยไป’
ปิเอโตรยังย้อนดูบันทึกของพ่อต่อภูเขา เพื่อค้นหาสถานที่ต่าง ๆ ที่พ่อปักหมุดไว้ ซึ่งในบันทึกเต็มไปด้วยหมุดหมายของยอดเขา คำถามต่อความหมายของการเดินทางในชีวิตของพ่อคงเต็มไปด้วยยอดเขาต่าง ๆ ที่ปิเอโตรคาใจมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ตัวเองกลับไม่มีความผูกพันกับภูเขาในห้วงชีวิตที่ผ่านมา จนการออกเดินทางตามหมุดหมายของการตามรอยพ่อ ปิเอโตรกลับพบความหมายของภูเขา และความหมายของการเดินทางในชีวิตพ่อที่ปลูกกระท่อมไว้กลางหุบเขา เพื่อรอวันที่ปิเอโตรจะค้นเจอความหมายของมัน
รุ่งเช้า ปิเอโตรเดินออกจากกระท่อม ปีนขึ้นไปบนยอดเขาที่สูงที่สุดในบริเวณนั้น เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่พ่อของเขาเคยพาเขาขึ้นไปตอนเด็ก ๆ และเป็นเส้นทางที่เขากับบรูโน่เคยก้าวเดินไปด้วยกัน
ยิ่งเขาไต่สูงขึ้นเท่าไร ลมหายใจก็ยิ่งหนักขึ้น แต่ในใจกลับสงบนิ่ง
เมื่อถึงยอดเขา เขามองลงไปเบื้องล่าง หุบเขาอันกว้างใหญ่ทอดยาวออกไปสุดสายตา เส้นทางลำธารเล็ก ๆ คดเคี้ยวผ่านทุ่งหญ้า และกระท่อมของพวกเขาตั้งอยู่เงียบ ๆ ท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
ปิเอโตรนั่งลง สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ และยิ้มให้กับสายลม
ในที่สุด เขาก็เข้าใจแล้ว…
เขาอาจเป็นคนที่เดินทางไปทั่วแปดขุนเขา แต่หัวใจของเขา… อยู่ที่นี่เสมอ
Playread : แปดขุนเขา (Le otto montagne)
ผู้เขียน : Paolo Cognetti
แปล : นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
สำนักพิมพ์ : อ่านอิตาลี
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี