ร่องสะกายแยก เหล็ก SKY โผล่ ฝุ่น(แดง)ใต้พรม 'โรงงานจีน' - Decode
Reading Time: 3 minutes

Lab Test เหล็กจากจุดเกิดเหตุ พบ ‘เหล็กบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน’

31 มีนาคม 2568 ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย วิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กฯ, ณัฐพล สุทธิธรรม กรรมการกลางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และตัวแทนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้ สวทช. ร่วมในการทดสอบเหล็กที่ได้มาจากจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานสตง. ถล่ม หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากจุดศูนย์กลางเมืองมันดาเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,100 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร

โดยเหล็กเส้นที่ถูกนำมาตรวจสอบทั้งหมด 28 เส้น แบ่งเป็น 3 ประเภท 7 ขนาด จากบริษัท 3 แห่ง 3 สัญชาติ (จีน, ไทย-จีน, อินเดีย) ได้แก่⁣

เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม.⁣(ยี่ห้อ SKY / เตาหลอม IF) จำนวน 3 เส้น⁣

⁣เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม.⁣(ยี่ห้อ SKY / เตาหลอม IF) จำนวน 3 เส้น⁣

⁣เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม.⁣(ยี่ห้อ SKY / เตาหลอม IF) จำนวน 6 เส้น⁣

⁣เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม.⁣(ยี่ห้อ SKY / เตาหลอม IF) จำนวน 2 เส้น⁣

⁣เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม.⁣(ยี่ห้อ SKY / เตาหลอม IF 2 ท่อน), (ยี่ห้อTATA / เตาหลอม EF 4 ท่อน), (ยี่ห้อ TYF / เตาหลอม IF 1 ท่อน) จำนวน 7 เส้น⁣

⁣เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม.⁣(ยี่ห้อ SKY / เตาหลอม IF) จำนวน 2 เส้น⁣

⁣ลวดสลิงขนาด 15.2 มม.⁣ จำนวน 5 เส้น⁣

สำหรับการตรวจสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1. การตรวจวัดองค์ประกอบทางเคมีโดยการยิงรังสีเข้าไปในเนื้อเหล็ก
2.การตรวจค่ามวลต่อเมตรทั้งเชิงกายภาพและเชิงกล ว่าเหล็กที่นำมาใช้ก่อสร้างอาคารนั้นมีคุณภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.

ด้านวิโรจน์ กล่าวว่า “การตรวจสอบในวันนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่บริษัทใด เพราะสถาบันเหล็กฯ เป็นตัวกลางในการตรวจสอบ สิ่งที่เราจะเปิดเผยให้กับพี่น้องประชาชนคือข้อมูลจริง ๆ ของเหล็กแต่ละเส้น ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเหล็กเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่”

รอยบั้งเล็ก เหล็กหลอม IF จุดสังเกตบนเหล็กเส้น

ผู้สื่อข่าวพบจุดสังเกตเมื่อมองดูเส้นเหล็กจากภายนอกอยู่ 2 จุดที่น่าสนใจ

ส่วนแรกได้รับข้อมูลจากหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมคือเส้นเหล็กมีรอยบั้งตื้นเกินไปหรือสูงไม่พอ ซึ่งเหล็กที่มีรอยบั้งสูงไม่พอนั้นจะส่งผลให้เมื่อนำไปก่อสร้างจะไม่สามารถยึดเกาะเหล็กกับคอนกรีตได้ดีนักและอาจเกิดความเสียหายได้

ส่วนที่สองคือตราปั๊ม IF บนแท่งเหล็ก

เตาหลอมเหล็กในประเทศไทย มีทั้งเตา IF และเตาแบบ EAF

ในขณะที่เตา ’EAF‘ หรือ Electric Arc Furnace เตาประเภทนี้จะสามารถควบคุมคุณภาพเหล็กได้แม่นยำแล้วก็ได้เหล็กที่คุณภาพสูง

ขณะเดียวกันมีโรงงานบางกลุ่มใช้เตา ‘IF’ หรือ Induction Furnace process (IF) แม้จะผลิตเหล็กได้เหมือนกัน แต่การควบคุมค่าทางเคมีของการผลิตเหล็ก รวมไปถึงการกำจัดสิ่งสกปรกจากวัตถุดิบออกก่อนที่จะรีดออกมาเป็นเหล็ก ค่อนข้างยาก และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ซึ่งเหล็กที่นำมาตรวจสอบครั้งนี้ส่วนใหญ่มีชื่อยี่ห้อ SKY และทุกอันมีตราประทับ IF เหมือนกันหมด

“แม้ว่าซิน เคอ หยวน จะปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2567 แต่ต้องอย่าลืมว่าอาคารสตง. สร้างมา 5 ปีแล้ว แน่นอนว่าหากเหล็กเหล่านี้ที่มียี่ห้อจากซิน เคอ หยวนไม่ได้มาตรฐาน มันจะเป็นคดีอีกคดีหนึ่ง ซึ่งไม่นับรวมกับการดำเนินการครั้งก่อนหน้า” ฐิติภัสร์ กล่าว

และยี่ห้อ SKY หรือเหล็กจากบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด นี้เองก็นำไปสู่การตั้งคำถามถึงกลุ่มทุนจีนที่ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานและดัมพ์ราคาในตลาดลง แต่ตัวเหล็กที่จากบริษัทที่พึ่งถูกปิดปรับปรุงไปกลับโผล่บนตึกสูง 30 ชั้นของอาคารสำนักงานสตง.

‘ซิน เคอ หยวน’ ถูกสั่งปิด แต่ฝุ่นแดงยังไม่หมด?

บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่บน ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จดทะเบียนเมื่อปี 2554 มีกรรมการ 3 คน คือ นายเจี้ยนฉี เฉิน นายสู้ หลงเฉิน นายสมพัน ปันแก้ว

โดยมีนายเจี้ยนฉี เฉิน (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่สุด 64.91%

แต่เมื่อ ธ.ค. 67 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในโรงงานและได้นำไปสู่การตรวจสอบโรงงานว่าผลิตเหล็กเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

ผลปรากฏว่า เหล็กที่นำไปตรวจไม่ผ่านเกณฑ์ 2 ด้าน คือ 

1.ความสูงของบั้ง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการยึดเกาะของเหล็กกับคอนกรีต

2.ตรวจพบการปนเปื้อนของธาตุโบรอน ซึ่งทำให้เนื้อเหล็กเปราะ ไม่สามารถทนแรงดึงได้ตามมาตรฐาน SD40 และ SD50 ที่ระบุในใบอนุญาต

จากกรณีดังกล่าว ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าชุดตรวจการสุดซอย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน ได้รับใบอนุญาต มอก. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จำนวน 3 ฉบับ แต่กลับผลิตสินค้าไม่ได้คุณภาพ และยังพบว่าใช้วัตถุดิบจากซัพพลายเออร์นอกระบบ ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมีอย่างเหมาะสม ถือเป็นการละเมิดมาตรฐานอย่างชัดเจน

ถึงแม้ว่าโรงงานของบริษัท ซิน เคอ หยวน ถูกสั่งปิดปรับปรุงไม่ให้ดำเนินการ แต่อาคารสำนักงานสตง. ที่สร้างมานานราว 5 ปี กลับพบเหล็กที่ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัท นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างตึกนี้เป็นล็อตก่อนหน้าที่ไม่ได้ถูกอายัดแต่ตกมาตรฐานด้วยหรือไม่

ซึ่งวันนี้ ด้าน สส.ชุติพงศ์ พิภพพิญโญ พรรคประชาชน จังหวัดระยอง เขต 4 ได้เข้าไปขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทที่สาขาหนองละลอกแต่ไม่ได้ถูกให้เข้าพบเพื่อขอข้อมูล นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำรถขนฝุ่นแดงออกไป ซึ่งเป็นฝุ่นจากการหลอมเหล็ก และรถคลุมผ้าขนาดแบนอีกคันหนึ่งแต่เมื่อเห็นสส.ชุติพงศ์ กลับวนรถเข้าไปในเขตโรงงาน ทำให้เกิดเป็นคำถามอีกเช่นกันว่าโรงงานที่ถูกสั่งปิดปรับปรุงตั้งแต่ปลายปี 2567 ทำไมถึงยังขนฝุ่นแดงออกไปไม่หมดเสียที

ซิน เคอ หยวน ยังเป็นอีกโรงงานที่สร้างมลพิษให้กับบริเวณใกล้เคียง ทั้งเสียง กลิ่น และมลพิษจากการประกอบกิจการหลอมเหล็กและยังเข้าข่ายโรงงานจีนศูนย์เหรียญที่มีเป็นโรงงานของผู้ประกอบการจีน ใช้แรงงานข้ามชาติ รวมถึงใช้ของจากซัพพลายเออร์นอกระบบ

การถล่มของตึกจากแผ่นดินไหวที่ร่องแยกสะกาย ปรากฏให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่ถูกปกปิดไว้ของโรงงานอุตสาหกรรมข้ามชาติทุนจีนที่ประกอบกิจการผิดกฎหมายหลายประการ จนผลกระทบที่เกิดขึ้นของโรงงานเหล่านี้ไม่จบที่บริเวณใกล้เคียงโรงงาน แต่ยังเกิดขึ้นได้ทุกที่ที่ผลิตภัณฑ์เถื่อนเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในตึกรามบ้านช่อง โดยเฉพาะเมื่อสามารถเกิดขึ้นได้กับหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตโดยตรง

พบเหล็กส่วนน้อย ‘ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน’

เวลา 19.30 น. ทางชุดตรวจสอบมาตรฐานของตัวอย่างเหล็กที่เก็บมาจากจุดเกิดเหตุ แถลงว่าเป็นเหล็กจำนวน 2 ชุดที่พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

เหล็กดังกล่าวคือ เหล็กขนาด 20 มม. และเหล็กขนาด 32 มม.

โดยเหล็กขนาด 20 มม. พบปัญหาตกมวลต่อเมตร

และเหล็กขนาด 32 มม. พบปัญหาค่ายีลด์(สัดส่วนปริมาณของวัตถุดิบ) ทำให้ค่าแรงต้านดึงไม่พอ

เหล็กที่มีปัญหารวมแล้ว 13 เส้น

นนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 (สมอ.) แถลงผลการตรวจสอบว่า
“จากการที่เราดูผลทดสอบเบื้องต้น ที่สถาบันเหล็กทดสอบออกมา และจับเกณฑ์ประเมินที่มาตรฐานกำหนด เราพบว่ามีทั้งที่เป็นไปตามมาตรฐาน และ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน”

แม้ในช่วงแรกของการแถลง คณะตรวจสอบจะยังไม่ได้เปิดเผยถึงเหล็กยี่ห้อไหนโดยนนทิชัยกล่าวว่า “หากเราบอกไปว่าเหล็กเบอร์ไหนไม่ได้มาตรฐาน คนจะต่างไปมุงหาเหล็กเบอร์ดังกล่าวที่ไซต์งาน อาจจะทำให้การสืบค้นเพิ่มเติมมีความผิดเพี้ยน”

อย่างไรก็ตาม ทางณัฐพล กรรมการกลางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสิริภัสร์ หัวหน้าชุดตรวจการสุดซอย ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า

“การระบุเหล็กดังกล่างอาจทำให้การทำงานของชุดตรวจสอบผิดเพี้ยนและอาจเกิดการลักลอบ จัดวางจุดเกิดเหตุให้ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง นอกจากนี้การทำงานตรวจสอบยังต้องคำนึงถึงผู้ที่ยังติดอยู่ใต้ซากอาคารเพราะการเข้าไปเก็บตัวอย่างอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ได้ และชุดทำงานต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นอันดับแรก”

“การที่ตึกถล่มลงมามี 3 ปัจจัยหลักคือ โครงสร้าง การออกแบบ และวัสดุ ซึ่งเราจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนเพื่อจะหาคำตอบได้ว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้ตึกถล่มลงมา” ณัฐพล กล่าว

และยี่ห้อของเหล็กที่พบปัญหา ฐิติภัสร์ออกมายืนยันว่าเป็นเหล็กที่มีตราปั๊ม SKY ซึ่งหลังจากนี้จะต้องทำการสืบสวนและทดสอบเหล็กจากจุดเกิดเหตุชุดอื่น ๆ กันต่อไป

”ในระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการกับโรงงานที่ผิดมาตรฐานไปทั้งหมด 7 แห่ง ซิง เคอ หยวนคือหนึ่งในนั้น ทว่า เหล็กที่พบในจุดเกิดเหตุคาดว่าถูกใช้ก่อสร้างมาราว ๆ 6-7 เดือน จึงเป็นไปได้ว่าเป็นเหล็กที่ถูกนำมาขายก่อนการปิดโรงงาน“

”ทั้งนี้หากการตรวจสอบพบว่าโรงงานใดที่เป็นเจ้าของผลิตเหล็ก เราสามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.มาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้โรงงานเหล่านี้ไม่สามารถลอยนวลได้“ ฐิติภัสร์ กล่าว

แม้ว่าเราจะไม่สามารถกล่าวได้ว่าสาเหตุการถล่มของตึกมาจากเหล็กตกคุณภาพไม่กี่ชิ้น อีกทั้งการทดสอบนี้ยังเป็นเพียงชุดตัวอย่างของเหล็กจากจุดเกิดเหตุและต้องพิสูจน์หลักฐานกันอีกหลายรอบและการวิเคราะห์การถล่มของตึกจำเป็นต้องวิเคราะห์อย่างรอบด้านและไม่สามารถอ้างอิงสาเหตุจากเหล็กได้เพียงอย่างเดียว

ทว่า การทดสอบครั้งนี้แปลผลได้ในทิศทางเดียวว่า สอบตก เนื่องจากในการก่อสร้างเหล็กที่ตกเกรดเพียงชิ้นเดียวก็จำเป็นต้องโล๊ะทั้งล็อต แม้จะบอกไม่ได้ว่าเหล็กเป็นเหตุผลหลักของการถล่ม แต่เหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐานนี้รวมถึงอีกหลายร้อย หลายพันชิ้นใต้ซากปรักหักพังของอาคารสำนักงานสตง. มีส่วนที่ทำให้หลายชีวิตต้องสูญหายเป็นแน่

อาคารสำนักงานสตง. ที่ได้ถล่มเพราะเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ได้เปิดแผลแค่ระบบการเตือนภัยที่ภาครัฐล่าช้าในการแจ้งประชาชน

แต่ยังเปิดแผลเดิมที่ไม่เคยตกสะเก็ด อย่างโรงงานข้ามชาติที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและความโปร่งใสตั้งแต่การอนุญาตและดำเนินการของหน่วยงานราชการ