ดินล้า ป่าอ่อน มรดกจากสัมปทานป่า รอยร้าวทางประวัติศาสตร์และบาดแผลของ 'หินลาดใน' - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ออทีเก่อตอที เอาะก่อเก่อะตอก่อ” กินน้ำรักษาน้ำ กินจากป่ารักษาป่า คำสอนที่ถูกส่งต่อกันมาในชุมชนปกาเกอะญอจากรุ่นสู่รุ่น ถูกเขียนบนป้ายผ้าและแขวนบนเวทีงานเสวนา บริเวณโรงเรียนบ้านหินลาดในจากสนามคอนกรีตซึ่งเคยเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ในการเล่นกีฬาของเยาวชนหินลาดใน ซึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำป่าดินถล่มเมื่อเดือนกันยายน

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ชุมชนหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายประสบภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากเนื่องจากฝนตกต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายวันและเกิดดินถล่ม โดยเมื่อดินถล่มและมีไม้ใหญ่ขวางกั้น การสะสมปริมาณน้ำจึงคล้ายลักษณะเขื่อน และเมื่อเกินปริมาณที่จะรับไหว ทำให้น้ำที่สะสมมาไหลทะลักเข้าสู่ชุมชน จนทำให้เกิดความเสียหาย โรงเรียน บ้านเรือน ทางสัญจรถูกตัดขาด 

เล็ก นิราพร จะพอ เล่าถึงวันที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาตลอดสัปดาห์นั้น ฝนมักจะตกหนักในช่วงเช้าอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นฝนเม็ดใหญ่กระหน่ำลงมาที่ชุมชนหินลาดในอย่างไม่มีสัญญาณแจ้งเตือน 

เมื่อเวลากลางดึก ราว ๆ หนึ่งนาฬิกา เสียงดินถล่มราวกับฟ้าพังทลายได้เกิดขึ้น ผู้คนในชุมชนหินลาดในจึงได้รู้ว่าดินได้ถล่มลง และเริ่มเตรียมการอพยพไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย 

  

“ชาวบ้านก็เริ่มออกจากหมู่บ้านแล้วก็เริ่มเช็กที่โรงเรียนตามลําน้ำ แล้วก็เริ่มพากันอยู่เป็นกลุ่ม ประกาศให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เพราะไม่ได้มีแค่น้ำยังมีดินถล่มอีกด้วย” 

“หลังจากนั้น ชั่วโมงกว่า ๆ น้ำก็ทะลักเข้าหมู่บ้านและทุกอย่างพังหมดเลย” 

“พอถามผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เขาบอกว่าเกิดไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน”

เล็ก นิราพร จะพอ เยาวชนชุมชนหินลาดใน

หลังจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม เล็ก นิราพร เล่าว่าฝนยังตกต่อเนื่องทั้งอาทิตย์ ทั้งวันทั้งคืน และไม่สามารถใช้รถใช้ถนนได้ เนื่องจากดินถล่มอยู่หลายจุดทั้งในชุมชนและชุมชนรอบข้าง 

ชุมชนหินลาดในได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการบริเวณปากทางหมู่บ้านโดยเป็นความร่วมมือของกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน บ้านผาเยือง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ โดยต้องใช้วิทยุเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสาร 

ภายใต้ความเสียหายครั้งใหญ่ของชุมชนหินลาดใน อคติทางชาติพันธุ์ได้ซ้ำเติมชุมชนอีกครั้ง

เมื่อมีเฟซบุ๊กนักวิชาการสายสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ภาพไร่ข้าวโพดและภูเขาหัวโล้น โดยใช้คำบรรยายที่มีใจความว่า 

เจาะลึกที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำไมน้ำป่าไหลแรง พาดินโคลนและท่อนไม้ลงมาถล่มชุมชนดังกล่าว

ทั้งนี้ หากสำรวจจะพบว่าพื้นที่ใกล้ชุมชนดังกล่าว ที่เป็นป่าต้นน้ำบางส่วนกลายเป็นเขาหัวโล้นอย่างกว้างขวาง หลายแห่งปลูกข้าวโพดและพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งน้ำป่าดินโคลน และท่อนไม้ มาจากพื้นที่เหล่านี้ 

ดินล้า ป่าอ่อน ความรุนแรงที่แฝงฝัง 

ขณะเดียวกัน อ.ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์ภาควิชาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เห็นคลิปวิดีโอที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ถึงภาพน้ำผสมดินสีแดงท่วมทะลักตัดกลางชุมชนหินลาดใน พร้อมกับ รถยนต์ ผู้คน ที่ไหลไปพร้อมกับสายน้ำสีดินแดงข้นคลั่กด้วยความเร็วที่น่ากลัว   

ต้นเหตุหนึ่งของภัยพิบัติในครั้งนี้ มาจากพายุลูกหนึ่งที่มีพฤติกรรมวิปริตกว่าการพยากรณ์เดิม พายุที่ควรจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือไปยังเมียนมา กลับแช่อยู่ที่เชียงราย และวกกลับมายังเชียงรายอีกครั้งก่อนจะสลายตัว ส่งผลให้ฝนตกต่อเนื่องไม่หยุดเป็นเวลาหลายวัน

ข้อมูลจากจังหวัดตราด หนึ่งในจังหวัดที่ต้องรับมือจากพายุฤดูฝนจังหวัดแรก ๆ ในประเทศไทย ในช่วงต้นฤดูฝนพบว่า ภายในเพียง 7 วัน ฝนตกถึง 80% ของปริมาณฝนทั้งปี ซึ่งสะท้อนถึงความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ

หลังเกิดเหตุ อ.ดร.จตุพรได้ตัดสินใจโทรหาเพื่อขออนุญาตชุมชนเพื่อทำการศึกษาปัจจัยดินถล่ม โดยได้ระดมทีมนักนิเวศวิทยา นักสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS: geographic information system) นักเศรษฐศาสตร์  นักวิทยาศาสตร์และนักป่าไม้ จำนวน 6-7คน ได้เข้าไปศึกษาพื้นที่หินลาดใน เพื่อค้นหาสาเหตุของดินถล่มอย่างเป็นระบบโดยทำงานร่วมกับชุมชนและตั้งเป็นทีมวิจัยชุมชนหินลาดในขึ้น 

การวิเคราะห์โครงสร้างของดินโดยใช้การตีแปลงขนาด 1 x 1 เมตร พบว่า พื้นที่ที่เกิดดินถล่มมีหน้าดินลึกประมาณ 1-1.3 เมตร ในขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่เกิดถล่ม หน้าดินมีความลึกเพียง 70 เซนติเมตร ก่อนที่ข้างล่างจะกลายเป็นชั้นหินที่ไม่สามารถอุ้มรับน้ำได้

การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ดินหนึ่งตารางเมตรในพื้นที่ดินถล่มสามารถรับน้ำหนัก (ดิน+น้ำ) ได้ถึง 1,700 กิโลกรัม หรือ 1.7 ตัน ซึ่งสูงกว่าพื้นที่ไม่ถล่มที่รับได้เพียง 1.2 ตัน 

แต่เมื่อฝนตกต่อเนื่อง 4-5 วัน ดินที่อุ้มน้ำไว้เต็มศักยภาพ และไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทันตามกลไกธรรมชาติ น้ำหนักจึงสะสมเรื่อย ๆ 

เหมือนคนที่แบกกระเป๋าหนักไว้ตลอดเวลาโดยไม่มีโอกาสพัก

ในที่สุดดินก็ “ล้า” และถล่มลงมา

เมื่อชั้นล่างของดินเป็นหินแข็งที่ลื่น และไม่ซึมน้ำได้อีก

นอกจากเรื่องศักยภาพการอุ้มน้ำของดิน การศึกษานี้ยังพบข้อสังเกตสำคัญในโครงสร้างของป่าในชุมชนหินลาดใน  

พื้นที่ที่เกิดดินถล่มพบว่าต้นไม้มีความสูงเท่ากันหมด และส่วนใหญ่เป็นไม้ก่อ (ไม้เนื้ออ่อน) ถึง 51% ซึ่งหมายถึงระบบรากและการแผ่ของรากก็คล้ายกัน ขาดความหลากหลายของพืชพันธุ์ในการยึดดิน ต่างจากพื้นที่ที่ไม่ถล่มซึ่งมีเรือนยอดหลายระดับและพันธุ์ไม้หลากหลาย ส่งผลให้มีระบบรากที่แตกต่างและสลับซับซ้อน ช่วยล็อกหน้าดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

โดยป่าที่มีเรือนยอดที่มีชั้นเดียว จะทำให้พื้นดินรับแรงกระแทกจากฝนเท่า ๆ กันตลอดแปลง เปรียบเสมือนการเอาน้ำทั้งถังเทรดใส่ดินตรง ๆ ซึ่งต่างจากเรือนยอดหลายชั้นที่ค่อย ๆ ชะลอแรงฝนลงมาตามระดับชั้น ลดความรุนแรงก่อนที่น้ำจะกระทบดินด้านล่าง

จากโครงสร้างของป่าทำให้เกิดความสงสัยต่อมาว่าแปลงที่เกิดดินถล่ม ทําไมเรือนยอดต้นไม้ถึงสูงเท่ากันหมด

ประวัติศาสตร์สัมปทาน และการทำลายล้าง

จากการสืบค้นเพิ่มเติมของทีมวิจัยทำให้พบว่า พื้นที่ที่เกิดดินถล่มเคยเป็นทางชักลากไม้จากการถูกสัมปทานโดยกรมป่าไม้มาก่อน 

กรมป่าไม้ประเทศไทยถูกจัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2439 ในยุคของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการ “สร้างรัฐสมัยใหม่” เพื่อต่อรองกับอำนาจอาณานิคมตะวันตก

ในเวลานั้น ประเทศไทยไม่ได้ถูกล่าอาณานิคมโดยตรง แต่ก็อยู่ในแรงกดดันจากประเทศจักรวรรดิ อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส โดยเฉพาะอังกฤษที่มีอิทธิพลในเมียนมาและสนใจทรัพยากรไม้สักอย่างมาก เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งคุณภาพสูง เหมาะกับการสร้างเรือและอุตสาหกรรมในยุคจักรวรรดิ

ประเทศไทยจึง ตั้งกรมป่าไม้ขึ้นเพื่อลงทะเบียน จัดระเบียบ และควบคุมการตัดไม้ รวมถึงเก็บภาษีและสัมปทานอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาอำนาจรัฐเหนือทรัพยากร และเปิดทางให้นายทุนต่างชาติ เช่น บริษัทบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burmah Trading Company) ที่เข้ามาขอสัมปทานไม้ในภาคเหนือ

และป่าโดยรอบของชุมชนหินลาดในถูกสัมปทานโดยบริษัทเชียงรายค้าไม้ ในช่วงปี พ.ศ. 2532 ทำให้ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดไป เหลือเพียงต้นอ่อนที่ขึ้นใหม่พร้อม ๆ กันในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ความหลากหลายของระบบราก และเรือนยอดน้อยกว่าปกติ

ภาพจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

“ผมสอบถามชุมชน ว่าจุดที่ดินถล่มเคยเป็นอะไรมาก่อน ชาวบ้านบอกว่ามันยังมีรอยรถชักลากไม้อยู่ตรงนั้นอยู่เลย เราก็ถึงบางอ้อว่าไอ้ต้นไม้สูง ๆ ใหญ่ ๆ ที่มันหายไปเพราะว่าเขาก็น่าจะเลือกตัดเอาไปก่อน” ดร.จตุพรกล่าว

ในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาจากการสัมปทานป่าไม้  รากของต้นไม้ใหญ่เดิมที่เคยยึดหินไว้ก็ค่อย ๆ ผุพังตามเวลา จนไม่สามารถป้องกันการสไลด์ของดินได้อีกต่อไป 

“นี่คือคำตอบจากสภาพจากการศึกษาที่ผ่านมา และสาเหตุที่ฝนตกหนักมากนั้นมาจากสภาวะโลกร้อนโลกรวน ที่โลกร้อนมากอุณหภูมิจึงสูงขึ้น 7-10% ที่สะสมอยู่ในอากาศกลายเป็นไอน้ำและถูกพักไว้ในบางจุด ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดดินโคลนถล่มนั้นเกิดจากฝนที่ตกหนักผิดปกติผ่านเงื่อนไขของโลกร้อน และในพื้นที่ผมยังไม่เคยเห็นข้าวโพดอยู่ในไร่หมุนเวียน” 

อ.ดร.จตุพร เทียนมา

อคติต่อชาติพันธุ์ ความไม่เข้าใจในภูมิปัญญา 

“จริง ๆ แล้วเป็นนักวิชาการ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่รู้ก็ต้องยอมรับว่าตัวเองไม่รู้” 

ความเข้าใจผิดที่พบเจออยู่บ่อยครั้ง คือการมองว่าชุมชนที่ทำไร่หมุนเวียนคือผู้ทำลายป่า และเป็นสาเหตุของดินถล่ม ทั้งที่ในความเป็นจริง หลายผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันว่าไร่หมุนเวียนเป็นหนึ่งในรูปแบบการเกษตรที่ยั่งยืน” 

อ.ดร.ยิ่งลักษณ์ กาญจนฤกษ์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้กล่าวถึงความสำคัญในการฟังเสียงและรับฟังภูมิปัญญาท้องถิ่น และสำหรับห้วยหินลาดใน สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การจัดการทรัพยากรของชุมชนมีรากฐานจากความรู้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง และสำหรับห้วยหินลาดใน สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การจัดการทรัพยากรของชุมชนมีรากฐานจากความรู้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

เมื่อรัฐเริ่มมองป่าเป็น “ทรัพยากร” ที่ต้อง “บริหารจัดการ” ป่าก็ถูกแบ่งประเภท ถูกทำแผนที่ และวัดด้วยระบบราชการ กลายเป็นสิ่งที่รัฐจะ “อนุญาตให้ใช้” ได้เท่านั้น และในท้ายที่สุด กลุ่มคนที่อาศัยอยู่กับป่าโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กลับถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุก

หลังพ.ศ. 2532 เป็นต้นมารัฐไทยจึงเริ่มชะลอการให้สัมปทานไม้ และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกรมป่าไม้จาก “ผู้จัดการทรัพยากรเพื่อเศรษฐกิจ” เป็น “ผู้อนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อสิ่งแวดล้อม”

แต่แนวคิดการอนุรักษ์ของรัฐก็มักวางอยู่บนฐานอำนาจแบบรวมศูนย์ ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับโลกอย่างแนวความคิดคอมมิวนิสต์ซึ่งมีเขตงานตามพื้นที่ป่าในประเทศไทย ทำให้การผลักดันให้เกิด เขตอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือเขตห้ามล่าสัตว์ กลายเป็นอีกระลอกของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน/กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำให้เกิดวาทะกรรมเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมจะดีได้ต่อเมื่อ ไม่มีคนอยู่ในป่า

ชัยธวัชได้เล่าว่าในช่วงเวลาที่ชุมชนกำลังประสบภัย ได้มีการสื่อสารจากบุคคลภายนอกที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อชุมชนว่า เป็นพื้นที่ภูเขาหัวโล้น ทำลายป่า จึงทำให้เกิดดินถล่ม เหตุการณ์นี้ทำให้ชุมชนเสียกำลังใจ และเสียความรู้สึก 

“ในวันนั้นผมไม่ได้อยู่บ้าน” ทศ ชัยธวัช จอมติ ทีมวิจัยชุมชนหินลาดในได้เล่าพร้อมทั้งน้ำตา

10 สายที่ไม่รับจาก พี่นาน (หนึ่งในทีมวิจัยบ้านหินลาดใน) ได้ปรากฏที่หน้าจอโทรศัพท์ในวันที่ชัยธวัชได้ออกจากหมู่บ้านไปช่วยชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเชียงใหม่และเชียงราย ในตอนนั้นเขาไม่สามารถเดินทางกลับหมู่บ้านได้จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ตัดขาดถนน   

ชุมชนหินลาดใน เป็นชุมชนที่สัญญาณโทรศัพท์เข้าไม่ถึง และ 10 สายที่ไม่ได้รับหมายความว่า นาน ต้องเดินเท้าออกจากหมู่บ้านไปมากกว่า 20 กิโล เพื่อหาสัญญาณโทรศัพท์ติดต่อเขาในวันที่ฝนตกหนักและดินถล่ม 

เมื่อเขาตั้งสติได้สิ่งที่ชัยธวัชทำคือการโทรประสานงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือ ไปยังชุมชนหินลาดใน ได้ไวที่สุด 

น้ำดื่ม อาหาร คือสิ่งที่สำคัญเมื่อเกิดภัยพิบัติ ชุมชนหินลาดใน ได้ตั้งกองอำนวยการขึ้นมาอย่างทันท่วงที เพื่อตรวจสอบจำนวนประชากร ความเสียหาย และความต้องการพื้นฐานเร่งด่วน

“ บทเรียนนี้จะเกิดผลประโยชน์ต่อที่อื่น ๆ อีกมาก เราต้องสรุปออกมาเป็นองค์ความรู้เพื่อที่เราจะต่อยอดในเรื่องของการนําไปสู่การบูรณาการเข้าไปสู่ในหลักสูตรของโรงเรียนให้ได้ เพราะฉะนั้นเด็กคนรุ่นใหม่จะไม่รู้ประวัติศาสตร์ของโครงสร้างดิน ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้การรับมือภัยพิบัติ หรือองค์ความรู้ ต่าง ๆ โอกาสของการเรียนรู้ แบบธรรมชาติ เรื่องนี้มันยังไม่จบ อาจจะเป็นแค่การเริ่มต้น”  

ทศ- ชัยธวัช จอมติ

หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ อ.ดร.ยิ่งลักษณ์ ได้เน้นย้ำคือความพิเศษของชุมชนหินลาดในกับการรับมือกับวิกฤติ ไม่เพียงแค่การฟื้นตัวทางกายภาพ แต่รวมถึงจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเองและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“พอเกิดเหตุเขาก็ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริง ๆ ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน…เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนมาก”

“ไม่ได้คิดแค่ว่าใครจะมาช่วยเรา แต่เราจะช่วยตัวเองยังไงก่อน นั่นคือแนวคิดของ resilience นี่คือ สิ่งที่ทำให้บางชุมชนสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว”

สิ่งที่ชุมชนหินลาดในต้องแบกรับ ไม่ใช่เพียงแค่ความเสียหายจากภัยพิบัติ  แต่กำลังรับน้ำหนักของอดีตอันยาวนาน ทั้งประวัติศาสตร์สัมปทานป่า ความไม่เข้าใจไร่หมุนเวียน และอคติที่มองชาวบ้านเป็นผู้ทำลายป่า

ป่าไม้เนื้ออ่อนที่เกิดขึ้นแทนที่ไม้ใหญ่เนื้อแข็งที่ถูกโค่นลง ส่งผลให้ความหลากหลายทางพันธุ์พืชน้อยลง และระบบรากที่ช่วยเกาะหน้าดินอย่างแน่นแฟ้นก็ลดลงตามไป เหมือนกับระบบความเข้าใจที่หลุดลุ่ย เมื่อรัฐและสังคมกระแสหลักยังคงเลือกจะมองชุมชนบนพื้นที่สูงผ่านมุมมองของความล้าหลังและการทำลายป่า โดยไม่ตั้งคำถามกลับไปยังประวัติศาสตร์ของการจัดการทรัพยากรที่รัฐเองมีส่วนทำลาย

เวทีห้วยหินลาดในจึงไม่ใช่แค่การนำเสนอข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบของดินถล่ม แต่คือพื้นที่ของการ “ยืนยันตัวตน” ของชุมชนชาติพันธุ์ ที่บอกว่าวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ใช่ต้นเหตุของภัยพิบัติ หากแต่เป็นเหยื่อของนโยบายที่ไม่เคยฟังเสียงของผู้คนผู้มีวิถีชีวิตที่แตกต่าง

เมื่อ “เสียง” ของชุมชนถูกจัดวางไว้เป็นแค่เสียงข้างนอก การมีนักวิชาการลงพื้นที่จึงไม่ใช่เพียงงานวิจัย แต่คือการ “ถักทอ” พันธมิตรของความรู้ ที่ทำให้เสียงชาวบ้านไม่กลายเป็นเสียงเบาในเวทีสาธารณะอีกต่อไป

และบางที ในวันที่โลกยังคงเปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติเกิดบ่อยขึ้นไม่เว้นวัน บทเรียนจากห้วยหินลาดในอาจเป็นเครื่องย้ำเตือนเราทุกคนว่า การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน คงต้องเริ่มจากการฟังให้ลึกลงไปถึง “ราก” ของผู้คนที่อยู่กับป่าจริงๆเสียที

พื้นที่คุ้มครอง ไม่ใช่ ‘อภิสิทธิ์’ 

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาและป่าไม้ ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อพื้นที่ที่พวกเขาใช้ดำรงชีวิต ถูกประกาศเป็นพื้นที่ของรัฐภายใต้กฎหมายหลายฉบับ เช่น พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวน หรือเขตอนุรักษ์ การประกาศเหล่านี้มักเกิดขึ้นโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นหรือให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ส่งผลให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมได้อีกต่อไป โดยเฉพาะระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล ถูกมองว่าเป็นการบุกรุกหรือทำลายป่า

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน จึงได้เสนอให้มีหมวดเฉพาะว่าด้วย “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 5 ประกอบด้วย 6 มาตรา (มาตรา 27–32) โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับและคุ้มครองการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ทับซ้อน ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ภายใต้ระบบกติกาที่มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ

พื้นที่คุ้มครองนี้จะเป็นพื้นที่พิเศษที่กำหนดยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ บางประการ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ หรือ พ.ร.บ.ป่าสงวน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายสำคัญที่ทำให้สิทธิพื้นฐานของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่กฎหมายป่าไม้ครอบทับ นั้นไม่เท่าเทียมกับพื้นที่อื่น เช่นการไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน น้ำ ไฟฟ้า ถนน การไม่ได้รับสนับสนุนทางการศึกษาและการรักษาพยาบาล 

พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงไม่ใช่เพียงการคืนพื้นที่ให้กับชุมชน แต่เป็นการคืนสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตและแนวทางการจัดการทรัพยากรให้กับผู้คนที่ผูกพันกับผืนดินผืนน้ำเหล่านี้มาอย่างยาวนาน เพื่อสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตของผู้คนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย และสามารถช่วยทลายอคติทางชาติพันธุ์ที่มาจากความไม่เข้าใจ ให้สลายหายไปในเร็ววัน