Empathy 101 : เปิดโหมด On เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม - Decode
Reading Time: 2 minutes

เคยไหมที่บางทีเราอยากเข้าใจคนอื่น

อาจจะไม่ถึงขั้นที่เราเข้าไปช่วยเหลือ แค่ได้รับฟังเขาก็ยังดี

แต่พอบางทีพอรับฟังไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าคนฟังนั่งซึม เพราะอินกับเรื่องที่เขาเล่าให้ฟัง จนบางทีก็เผลอให้คำแนะนำจากมุมมองของตัวเอง

เราอาจคิดไปว่า อันนี้เราได้ช่วยเขาแล้ว ทั้งที่จริง ๆ แล้วเขาแค่อยากได้ใครบางคนนั่งรับฟังเขาเฉย ๆ ก็ได้

ซึ่งการที่เรารู้สึก “อิน” กับเรื่องของคนอื่นมากจนเกินไป อันนี้ไม่เรียกว่า Empathy แต่จะเรียกว่า Sympathy มากกว่า ซึ่งความหมายอาจดูเหมือนใกล้เคียงกัน แต่จริง ๆ ไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย

Empathy ต่างจาก Sympathy

วัฒนธรรมไทยคุ้นเคยกับคำว่า สงสาร (Sympathy) ในบางครั้งเลยอาจทำให้สับสนว่า คำนี้มีความหมายเดียวกับEmpathy ไหม 

ถ้าเรารู้สึกสงสาร (Sympathy) คนอื่น ผู้ที่ให้ความสงสารจะอยู่ในสถานะที่สูงกว่า ถ้าเราให้ความสงสารนั้นไปแล้ว เรารู้สึกดีอยู่ฝ่ายเดียว อันนี้ไม่ใช่ Empathy

พอมาพิจารณากับตัวเองดู แต่ก่อนส่วนมากเราน่าจะเป็น Sympathy แหละ จนถึงปัจจุบันที่ได้เรียนรู้เรื่องเอ็มพาทีแล้ว บางทีก็ยังเผลอ Sympathy อยู่บ่อย ๆ ซึ่งเรื่องนี้เราก็ต้องพยายามฝึกกับตัวเองเรื่อย ๆ 

Empathy กับความเมตตา สองเรื่องนี้อยู่ในหมวดเดียวกัน เพียงแต่ว่าความเมตตามีการกระทำด้วย มีความต้องการที่จะช่วย แต่ในขณะที่เอ็มพาที แค่รับรู้ เข้าใจ แล้วแสดงออกว่าเราเข้าใจโดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยก็ได้ ดูเหมือนว่าการรับรู้ เข้าใจ จะทำได้ง่าย แต่พอนำมาใช้ในชีวิตจริง ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะพอได้ฟังเรื่องจากคนอื่น เรามักจะมองจากมุมของตัวเองก่อนเสมอ

ในหนังสือ “On Empathy” โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว หรือถ้าจากที่เรารู้จักก็คือคุณดุจดาว จากรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า “R U OK” จะพาเราไปรู้จักกับคำคำนี้ให้ลึกซึ้งขึ้น สำหรับเราเมื่ออ่านจบขอเรียกว่าเป็น Empathy 101 ได้เลย

เรารู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นทักษะที่ทุกคนต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เรื่อย ๆ เพราะทักษะนี้จะช่วยให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข และทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น 

สำหรับคุณดุจดาว คำว่า Empathy  เป็นความสามารถอันละเอียดอ่อนที่จะรับรู้ความคิด ความรู้สึก ความต้องการ จากทัศนคติของผู้อื่น

Empathy จะเกิดขึ้นได้ จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

1.ความอยากจะเข้าใจอีกฝ่าย ซึ่งความเข้าใจนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเหลือได้ แต่บางครั้งความเข้าใจก็เพียงพอแล้วสำหรับเขา

2.มองด้วยมุมมองของเขา โดยไม่เอาความคิด ความเชื่อของเราไปตัดสินคนอื่น 

รายละเอียดชีวิตคนเราแต่ละคนไม่เท่ากัน บางเรื่องอาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเรา แต่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนอื่นก็ได้ (ซึ่งข้อนี้แหละ ที่เราว่าต้องฝึก)

3.ความจริงของเราไม่เท่าความจริงของผู้อื่น

4.เคารพในสิ่งที่เขามี เขาเป็น เขาต้องการ

5.ยอมรับว่าเราทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน

6.เห็นว่าจุดยืนของคนอื่นสำคัญ

พออ่าน ๆ ไปดูเหมือนว่า เราต้องใช้ทักษะนี้ตลอดเวลาเลยหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องมี Empathy  ตลอดเวลาก็ได้ เพราะการมีเอ็มพาทีตลอดเวลามันเหนื่อย ให้ตัวเราพร้อมก่อน การที่จะไปเข้าใจคนอื่นตลอดเวลามันใช้พลังงานมาก

Empathy ต้องมีขอบเขต

ถ้าตอนที่เรายังไม่พร้อม ยังจัดการเรื่องของตัวเองยังไม่เรียบร้อย ก็ยังไม่ควรทำสิ่งนี้ เพราะมันจะกลายเป็นว่าเอาเรื่องของคนอื่นมาให้หนักตัวเองไปอีก ถ้าเรายังไม่พร้อม เราสามารถบอกคนอื่นได้

Empathy คือความเข้าใจความรู้สึกอีกฝ่าย เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ว่าแต่ละคนมีวิธีการจัดการอารมณ์ของตัวเองอย่างไร เราก็จะสามารถเข้าใจเขาได้มากขึ้น บางคนจัดการอารมณ์ตัวเองด้วยการระเบิดอารมณ์ตัวเองออกมา แสดงอารมณ์สุดโต่ง (Volcano style) บางคนเวลาเจอเรื่องอะไรที่เป็นภัยกับตัวเอง อาจจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองด้วยการ ยังไม่เผชิญอารมณ์อะไรในตอนนั้น (Armadillo Style) บางคนอาจจะจัดการอารมณ์ตัวเองเวลาเจออะไรที่ไม่ปลอดภัย โดยการไปพุ่งชน หรือทำอะไรที่เสียดแทงคนอื่นที่ทำให้เจ็บปวด (Spear Style) หรือบางคนอาจจะจัดการอารมณ์ตัวเองด้วยการมีอะไรก็เล่าออกมาหมดจนเห็นภาพ ซึ่งก็ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ในทันทีว่าเขารู้สึกอย่างไร (Typewriter Style)

ก่อนจะสื่อสารเราต้องจัดการอารมณ์ของตัวเองก่อน จากนั้นก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน ซึ่งก่อนรับฟังต้องเปิดพื้นที่ในใจเราก่อน ตั้งใจฟังอย่างไม่ตัดสิน ไม่ต้องรีบพูดให้คำแนะนำ เพราะบางครั้งในระหว่างที่อีกฝ่ายกำลังระบายอยู่ เขาอาจค้นพบคำตอบได้ด้วยตัวเอง

การสื่อสารอย่างมีเอ็มพาที เป็นทักษะที่ต้องฝึก และเราคิดว่าต้องฝึกไปตลอดชีวิตนั่นแหละ ถ้าเรายังไม่พร้อมที่จะเอ็มพาที ณ ตอนนั้น เราก็ควรไปเคลียร์ตัวเองก่อน โดยในหนังสือได้มีเทคนิคในการสื่อสารอย่างมีเอ็มพาทีในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งการสื่อสารอย่างมีเอ็มพาทีไม่มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทของผู้พูด ผู้ฟัง และสถานการณ์ในเวลานั้น ๆ ด้วย การจะมีเอ็มพาทีต้องใช้สติ และต้องให้เรื่องราวของอีกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเรื่องของเราจะไปกลบเรื่องของเขา

นอกจากในหนังสือจะให้ความหมายในภาพรวมแล้ว ยังพูดถึงการประยุกต์ใช้กับตัวเอง ประยุกต์ใช้ในองค์กร ซึ่งนอกจากประโยชน์ในเรื่องการสื่อสารแล้ว ยังสามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการได้อีกด้วย เพราะหลักการของเอ็มพาทีคือการคิดจากมุมมองของคนอื่น หรือถ้าในแง่ของการขายก็คือคิดจากมุมมองของลูกค้า เพื่อวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริง

Empathy ใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์

อย่างถ้าเอาความสัมพันธ์ใกล้ตัวเรา ก็คือความสัมพันธ์ พ่อแม่ลูก ถ้ายกสถานการณ์ที่จะแสดงออกถึงการใช้ Empathy  ก็อย่างเช่นเรื่องการแสดงออกถึงความรัก พ่อแม่อยากจะบอกว่าทำแบบนี้แหละถึงเรียกว่ารักลูก แต่ในความเป็นจริง ลูกไม่ได้รู้สึกถึงความรักนั้น เช่นการที่พ่อแม่ดุด่าว่ากล่าว ท่านอาจคิดว่านี่แหละคือการเตือนด้วยความเป็นห่วง ด้วยความรักลูกมาก แต่ว่าการแสดงออกแบบนั้นคนที่ได้รับอารมณ์นั้น เขาไม่ได้รู้สึกว่า คุณรัก

พ่อแม่ อาจรู้สึกโกรธได้ แต่ท่านก็สามารถเลือกวิธีแสดงออกได้เช่นกัน ถ้าพ่อกับแม่ยังรู้สึกว่าอารมณ์โกรธยังอยู่ ก็อาจจะหลีกเลี่ยงยังไม่ต้องคุยกับลูกตอนนั้น รอให้อารมณ์เย็นลงก่อนแล้วจึงค่อยคุยกับลูกน่าจะดีกว่า และเราว่าลูก ก็มีสิทธิ์ที่จะบอกพ่อแม่ ว่าเราไม่ชอบวิธีการสื่อสารแบบนั้น เพียงแต่ลูกต้องเลือกคำพูดที่ดีในการสื่อสาร 

เรามอบ Empathy ให้กับตัวเองได้ไหม

เพราะโดยมากเรามักจะมองออกไปข้างนอก จนลืมหันกลับมามองตัวเอง และกลัวว่าการเอ็มพาทีกับตัวเองทำให้เราหลง หรือหลอกตัวเองหรือเปล่า และในหลาย ๆ ครั้งที่เกิดเรื่องกับตัวเองก็เผลอบอกตัวเองว่าเรื่องแค่นี้เอง ไม่เห็นเป็นอะไรเลย แล้วก็เลือกที่จะมองข้ามมันไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่อง “แค่นี้” สักหน่อย หรือบางครั้งเราก็เผลอซ้ำเติมตัวเองด้วยซ้ำ

การมอบ Empathy ให้ตัวเอง ก็เหมือนกับการใจดีกับตัวเอง และการที่เราใจดีกับตัวเอง ก็ไม่เท่ากับเป็นการแสดงความอ่อนแอ การหลงตัวเอง หรือหลอกตัวเอง การมอบเอ็มพาทีให้ตัวเอง ใช้หลักการเดียวกับที่เรามอบเอ็มพาทีให้คนอื่น ก่อนเราจะเข้าใจตัวเอง ต้องเท่าทันอารมณ์ก่อน ลองสังเกตอารมณ์ตัวเองบ่อย ๆ ถ้าเราเท่าทันอารมณ์ตัวเอง แล้วค่อย ๆ มาคิดพิจารณาว่าอารมณ์นั้น หาสาเหตุว่าทำไมเราถึงมีอารมณ์แบบนั้น แล้วคิดต่อว่าเราอยากหายจากอารมณ์นั้นไหม แล้วค่อยมาหาทางจัดการกับอารมณ์นั้น

เราจะยังไม่ตัดสินว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นดีหรือไม่ดี เพราะอารมณ์มันเกิดขึ้นแล้ว และอารมณ์เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าตอนนี้ร่างกายและจิตใจเราเป็นอย่างไร คุณดุจดาวได้สรุปเทคนิคการมอบ Empathy ให้ตัวเอง ดังนี้

1.ให้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเอง 

2.สังเกตร่างกายตัวเอง

3.สัมผัสร่างกายตัวเอง อาจจะโดยการโอบกอด หรือใช้มือบีบนวดร่างกายอย่างอ่อนโยน เพื่อปลอบประโลมตัวเอง

4.ให้เวลาตัวเองได้เคลื่อนไหว เช่นอาจจะเลือกเดินหรืออะไรก็ได้ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย

5.รับฟังความคิด ความรู้สึก และความต้องการ ที่เราพูดกับตัวเองว่าเป็นอย่างไร

6.ยอมรับทุกสิ่งที่ตัวเองสังเกตเห็นและได้ยินอย่างซื่อสัตย์

7.ขอบคุณตัวเอง ที่เหนื่อยลำบาก

แต่ถ้าสิ่งที่เราเจอกับตัวเองมันหาทางออกด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าถึงขั้นนั้นจริงอาจจะต้องยอมรับว่าเราต้องการความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งความช่วยเหลือมีได้หลายแบบ เช่น ความช่วยเหลือทางใจ ความช่วยเหลือทางความรู้ ความช่วยเหลือในทางปฏิบัติ อย่ามองข้ามสัญญาณทางร่างกายของเราที่พยายามส่งสัญญาณออกมา

ในชีวิตจริง เราอาจไม่ต้องเปิดโหมด On Empathy กับคนอื่นตลอดเวลาก็ได้ Off โหมดนี้กับคนอื่น เพื่อ On Empathy กับตัวเองบ่อย ๆ บ้างก็คงดี

Playread: On Empathy
ผู้เขียน: ดุจดาว วัฒนปกรณ์
สำนักพิมพ์: ฮาวทู อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี