เรื่องพลาสติกเป็นปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงปัญหาด้านสุขภาพด้วย
ภายใต้ความท้าทายของการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 หรือ INC 5 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้เมื่อปลายปี 2567 การปรากฏขึ้นของ CHAIR’S TEXT หรือร่างข้อตกลงการพูดคุยถึง 32 มาตรา แต่ดูจะเป็นความหวังที่ยังพร่าเลือน เพราะมีคำสำคัญหลายประการที่ยังเป็นข้อถกเถียงในวงเจรจา
นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเราจะยุติมลพิษพลาสติกได้จริง หรือจะเป็นเพียงแค่การจัดการขยะที่อาจเพิ่มมากขึ้น
สาระสำคัญจากปูซานสู่ใจกลางมหานคร ก่อนการเจรจาโค้งสุดท้ายจะมาถึงในปี 2568 เมื่อการชักเย่อแรงระหว่างประเทศด้วยมลพิษไร้พรมแดนของพลาสติกกำลังมีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน โลกกำลังขยับปัญหาร่วมกันนี้อย่างไรและไทยต้องเขยิบอะไรบ้างเพื่อถอยห่างจากวัฒนธรรมการใช้พลาสติกเกินจำเป็น จากวงเสวนาไปกันต่อ INC-5.2: ยังไงดีสนธิสัญญาพลาสติกโลก
CHAIR’S TEXT ปรากฏ แต่ยังไม่บรรลุผล ‘สิทธิที่จะมีชีวิตปราศจากมลพิษพลาสติก’
“แม้ INC 5 จะพยายามสร้างสนธิสัญญาให้เกิดความครอบคลุมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด หรือกระทั่งสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ รวมไปถึงกลไกทางการเงินในการรับผิดชอบมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากประเทศต้นทาง แต่ท่าทีของหลายประเทศโดยเฉพาะการประชุมครั้งนี้มีกลุ่มทุนพลังงานเข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญ ก็ยังมีประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติ และอาจทำให้การลดมลพิษทางพลาสติกนี้ไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาดหวัง” ผานิต รัตสุข ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าว
ผานิต รัตสุข ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ
การประชุมเจรจาเพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลกเดินทางมาถึงครั้งที่ 5.2 (Intergovernmental Negotiating Committee : INC-5 ) โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 ระหว่างการประชุมครั้งที่ห้าของสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environmental Assembly : UNEA)
โดยคณะกรรมการ INC ได้จัดการประชุมครั้งแรก (INC-1) ที่เมืองปุนตา เดล เอสเต้ ประเทศอุรุกวัย และการประชุมครั้งถัดไปจัดขึ้นที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส (INC-2), ไนโรบี ประเทศเคนยา (INC-3) และออตตาวา ประเทศแคนาดา (INC-4) และการประชุมครั้งที่ห้า (INC-5) ณ เมืองปูซาน เกาหลีใต้
โดยในการประชุมครั้งที่ 5 ที่ผ่านมา ผานิตได้กล่าวถึงเอกสารสำคัญอย่าง CHAIR’S TEXT หรือการบันทึกข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการ(non paper) มีการบันทึกรายละเอียด 32 มาตรา เพื่อที่จะนำไปสู่สนธิสัญญาฉบับเต็ม
เอกสารประกอบการบรรยายจากกรมควบคุมมลพิษ
การหารือถึงทางออกเพื่อบรรลุเป้าหมายแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกครั้งนี้ ได้มีความพยายามลงลึกและครอบคลุมถึงมิติด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการครอบคลุมมีใจความสำคัญอย่างเช่น สร้างความร่วมมือระดับโลก การปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมถึงบนพื้นทะเลไม่ใช่แค่ระบุแต่บนพื้นดินเท่านั้น
การประชุมครั้งดังกล่าวยังพูดถึงการปกป้องสุขภาพของมนุษย์ เพราะในปัจจุบันพลาสติกมีสารเคมีที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่สิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ จึงมีเป้าหมายในการควบคุมพลาสติกที่มีอันตรายและส่งเสริมทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
รวมไปถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สนธิสัญญานี้มีเป้าหมายในการสมดุลระหว่างเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการออกแบบที่ยั่งยืนและส่งเสริมการปฏิบัติเช่นการรีไซเคิลและการจัดการของเสียทั่วโลก
“ในการประชุม INC 5 เราไม่ได้มีแค่ภาคราชการของแต่ละที่มาคุยกัน มีการเชิญภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ เข้าร่วมเพื่อออกแบบสนธิสัญญานี้เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน แต่แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของเราคือการลดการผลิตพลาสติก แต่มันกระทบกับภาคธุรกิจค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ข้อตกลงดังกล่าวยังมีเรื่องให้ถกเถียงเพื่อหาทางออกร่วมกัน” ผานิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจา INC-5 ไม่บรรลุผล แม้ว่ามีประเทศกว่า 100 ประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มุ่งมั่นและสนับสนุน “การตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติก” ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างจริงจังและร่วมยืนหยัดต่อเป้าหมายนี้ แต่ยังมีหลายประเทศปฏิเสธที่จะยอมรับประเด็นข้างต้น จึงได้มีการต่อเวลาการเจรจา
นำไปสู่การเจรจาอีกครั้งใน INC 5.2 ซึ่งจะเป็นการเจรจาครั้งสุดท้ายในปีนี้
แต่การเจรจาครั้งสุดท้ายนี้จะนำสังคมโลกบรรลุข้อตกลงเพื่อคลี่คลายมลพิษพลาสติกได้จริงหรือ อะไรคือกำแพงที่ขวางกั้นให้หลายประเทศโลกมีข้อโต้แย้งไปสู่การเลิกพลาสติกได้
เบื้องหลังการเจรจา และ INC 5 จึงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ผานิต ได้กล่าวถึงท่าทีของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการเจรจา INC-5 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มประเทศผู้สนับสนุนสนธิสัญญาประกอบด้วย กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อังกฤษ ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา กลุ่มประเทศละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศแคริบเบียน
กลุ่มประเทศที่แสดงจุดยืนในเชิงขัดขวาง ประกอบด้วย กลุ่มประเทศอ่าว และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ที่มีซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน รัสเซีย รวมถึงอินเดีย
นอกจากนี้ จีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยมีจุดยืนคัดค้านการทำสนธิสัญญาแบบทะเยอทะยาน แต่ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่จะยอมรับสนธิสัญญาแบบทะเยอทะยานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศ เช่น แคนาดา สิงคโปร์ เนปาล ภูฏาน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้แถลงจุดยืนก่อนการปิดประชุมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ว่า พวกเขาพร้อมให้ความร่วมมือในการเจรจาครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งของกลุ่มประเทศที่แสดงจุดยืนขัดขวาง ในฐานะประเทศต้นทางที่ผลิตพอลิเมอร์ปฐมภูมิ หรือสารตั้งต้นของพลาสติก ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน (ฟอสซิล) ซึ่งนอกจากการสกัดน้ำมัน ก๊าซ ยังมีพอลิเมอร์ปฐมภูมิจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย จึงมองว่าการเปลี่ยนผ่านทางด้านสิ่งแวดล้อมด้านพลาสติกผ่านสนธิสัญญานี้ ส่งผลกระทบมากเกินไปต่อประเทศของตน
“ในลักษณะของการปฏิเสธบางข้อของสนธิสัญญาที่จะเกิดขึ้น เป็นเพราะส่วนหนึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจในด้านพลังงานซึ่งเกี่ยวข้องกับพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่าง ผลิตภัณฑ์พลาสติกและอุปทานของพอลิเมอร์ปฐมภูมิ รวมไปถึงหลายประเทศยังตกลงกันเรื่องกลไกทางการเงิน ในการฟื้นฟู เยียวยา มลพิษที่เกิดขึ้นและอาจจะเกิดขึ้นกันยังไม่ได้” ผานิต กล่าว
ในฐานะหัวทีมเจรจา ผานิตได้เล่าถึงกระบวนการในการแสดงท่าทีของแต่ละประเทศ ซึ่งจะต้องมีการหารือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ประชาชน ภาคธุรกิจ และราชการ ทำให้การนำเสนอข้อตกลงนี้ของแต่ละประเทศจึงเป็นข้อตกลงของความต้องการระดับประเทศซึ่งจะอิงกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้น ทำให้ข้อโต้แย้งยังเกิดขึ้นในหลายประเทศยังคงมี และไม่บรรลุเป้าหมายร่วมกันได้สำเร็จในการเจรจาครั้งที่ผ่านมา
โดยประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติใน INC 5 มีอยู่ 3 ประเด็นได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์พลาสติก-สารเคมีที่กังวลในการผลิตพลาสติก รวมไปถึงการเติมสารเคมีอันตราย ยากต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ และการรายงานถึงสารที่ใช้ในการผลิต
2. อุปทานของพอลิเมอร์ปฐมภูมิ-การกำหนดเป้าหมายระดับโลกในการผลิตและบริโภค
3. กลไกทางการเงิน ของประเทศพัฒนาแล้ว/ทุกประเทศต้องสนับสนุนด้านการเงินในการบรรลุข้อตกลงร่วมกัน
ใน 2 ข้อแรก ผานิตมองว่า ในแง่ของการผลิต การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ผลิต เพราะจะนำไปสู่การตั้งคำถามถึงปฐมภูมิของพลาสติก หรือพลาสติกประเภทเม็ดโฟม ที่ปัจจุบันถูกแทรกซึมอยู่เกือบทุกผลิตภัณฑ์ของมนุษย์
“บางประเทศก็จะมองว่าแต่ละประเทศมีพลาสติกปฐมภูมิที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมของประเทศแตกต่างกันออกไป จึงน่าจะให้แต่ละประเทศดำเนินการตามแผนการระดับชาติ คือให้บรรจุเป็นวาระระดับชาติของแต่ละที่ แต่ไม่จำเป็นต้องลดใช้พอลิเมอร์ปฐมภูมิเหล่านี้เหมือนกันหมด”
“ในการหารือมันค่อนข้างชัดเจนว่ากลุ่มประเทศไหนเป็นใครในวงจรการลดพลาสติก อย่างกลุ่มประเทศในแอฟริกาอย่างรวันดา เรียกร้องให้ลดการผลิตลงสู่ระดับที่ยั่งยืน หรือหมู่เกาะคุก กำหนดเป้าหมายให้ระดับโลกลดการผลิตลงร้อยละ 40 ภายในปี 2040 ประเทศเหล่านี้เองได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งขยะพลาสติกบนผืนดิน (Inland) และขยะที่ลอยไปมาในมหาสมุทร (Island)”
ผานิต อธิบายต่อว่า “ในขณะที่กลุ่มประเทศทางตะวันออกอย่างอิหร่าน กลุ่มประเทศอาหรับ หรือซาอุดิอาระเบีย ไม่เห็นด้วยกับมาตรานี้ แม้จะเสนอให้เปรียบเทียบข้อตกลงกับการจัดการขยะพลาสติก แต่โดยส่วนมากเสนอให้ลบข้อความในมาตรานี้เนื่องจากนอกขอบเขตของมาตรการ มันทำให้เห็นว่าผู้ผลิตกับผู้ได้รับผลกระทบยังมองทางออกของเรื่องนี้ร่วมกัน และนำไปสู่ข้อกังวลในการจัดการปัญหาพลาสติกอย่างการลดหรือเลิกผลิต เป็นเพียงการจัดการขยะที่ปลายทาง”
ด้าน พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ใน INC 5 เป็นที่น่าสังเกตได้ว่ามีตัวแทนบริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีเข้าร่วมถึง 220 คน ซึ่งสูงสุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย
“เป็นข้อกังวลว่าการเจรจาจะทำให้การลดใช้และผลิตพลาสติกจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและนำไปสู่การจัดทำมาตรการที่หันเหไปจากวัตถุประสงค์ตั้งต้น ที่ต้องการให้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อยุติมลพิษพลาสติก ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ (INC) รอบหน้าจึงมีความสำคัญและน่าจับตามองอย่างมาก”
“ทิศทางที่พยายามลบคำสำคัญหลายประการในข้อโต้แย้ง นำไปสู่การตั้งคำถามว่าประเทศเหล่านี้กำลังนำข้อเจรจาในการลดการผลิตหรือกระทั่งการเลิกใช้ เป็นเพียงแนวทางการจัดการขยะหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่เพียงแต่เราจะมีปริมาณขยะมากขึ้นแต่เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาพลาสติกที่ต้นทางได้เลย” พิชามญชุ์ กล่าว
แนวทางในการมองการจัดการปัญหามลพิษพลาสติกยังสืบเนื่องถึงการจัดการกลไกทางการเงิน ที่ยังต้องหารือกันถึงความสามารถทางการเงินที่ต้องสอดคล้องกับระดับการรั่วไหลของพลาสติก ที่ประเทศโลกที่ 1 จะต้องจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีข้อถกเถียงถึงประเทศที่จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กองทุนใหญ่ คือกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งจะพิจารณาหลายปัจจัยในการกำหนดเม็ดเงินที่แต่ละประเทศที่พัฒนาแล้วต้องส่งเข้ากองทุน
ในขณะที่ประเทศกลุ่มแอฟริกา กลุ่มประเทศละตินอเมริกาและแคริบเบียน รวมไปถึงหมู่เกาะคุก ฟิจิ ไมโครนีเซีย เสนอการจัดตั้งกองทุนใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของ COP โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมีส่วนร่วมหลักในการให้เงินทุน
แม้จะเป็นความหวัง แต่ก็ดูจะเป็นความหวังที่เลือนราง ผ่านเม็ดโฟมพลาสติก หากเราไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมเพื่อบรรลุการลด-เลิก ต่อปัญหามลพิษพลาสติก
ไปให้ไกลกว่าผลประโยชน์และการต่อรอง 5.2 ยังมีหวัง
ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation กล่าวว่า แม้จะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่การขยายการเจรจาออกไปเป็นเรื่องที่ดีกว่าการรีบทำให้เสร็จแล้วโลกได้สนธิสัญญาที่แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้
ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation
ศลิษา ให้ความเห็นว่าผู้จัดและประเทศสมาชิกต้องหารือว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ และต้องป้องกันให้ไม่เกิดขึ้นอีกในการเจรจาครั้งที่ 5.2 ยังมีอีกหลายข้อบทที่ต้องการเวลามากกว่า 7 วันในการเจรจา ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล เราต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้แตก ไม่เช่น นั้นการเจรจาครั้งที่ 5.2 อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เราจะเสียเวลาไปอีก และโลกเราจะมีโอกาสอีกสักกี่ครั้งที่จะได้เข้าใกล้การแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกได้อย่างแท้จริงขนาดนี้”
“ช่วงที่ผ่านมา พึ่งมีการจัด intersectional ในการนำผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาพูดคุยกันเลย เรามาคุยกันถึง data ว่าถ้าเกิดเรายังเดินไปเส้นทางนี้ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติรอบด้านจะเกิดอะไรบ้าง ถ้าหากเรายังคุยกันโดยเอาผลกระทบทางเศรษฐกิจมาเป็นเรื่องคุยเป็นหลัก สนธิสัญญานี้จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้เลย และโลกเราจะทรุดลงยิ่งกว่าเดิม” ศลิษา กล่าว
เมื่อยังไม่มีข้อตกลงร่วมอย่างเป็นทางการ แต่สถานะผู้บริโภคที่เป็นตัวประกันระหว่างการเกิดสนธิสัญญาพลาสติก ทำให้ภาคประชาสังคมมองเห็นว่า หากเราไม่กำกับควบคุมและลดการใช้พลาสติก มลพิษเหล่านี้จะยิ่งทวีคูณหนักขึ้น
จากงานวิจัยหลายชิ้นที่แพร่หลายในปัจจุบัน พบว่า พลาสติกแทรกซึมอยู่ในทุกที่ตั้งแต่ในมหาสมุทรจนถึงยอดเขาที่สูงที่สุด และในปัจจุบันเรายังพบพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในร่างกายมนุษย์ ตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติประจำปี ค.ศ. 2023 ระบุว่า สารเคมีที่น่ากังวลในพลาสติกมีมากกว่า 3,200 ชนิด ซึ่งระบุว่าผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงต่อพิษของสารเคมีเหล่านี้เป็นพิเศษ อีกทั้งการผลิตพลาสติกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี ค.ศ. 2050 ในขณะที่มีการพบไมโครพลาสติก ทั้งในอากาศ ผลิตผลสด และแม้แต่ในน้ำนมแม่ของมนุษย์
ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ในตอนแรก การประชุม INC 5 คาดหวังไว้ว่าอย่างน้อยจะต้องมีการคุยกันเรื่องประเด็นสารเคมีในพลาสติกอย่างจริงจัง และนำไปสู่ร่างสนธิสัญญาพลาสติกที่มีการควบคุมสารเคมีในพลาสติกอย่างเข้มข้น
ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ
แต่สุดท้าย การประชุม INC 5 ครั้งนี้ไม่สามารถหาข้อสรุป รวมทั้งมีความพยายามในการลดความจริงจังต่อมาตราที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในพลาสติก และไม่สามารถเกิดร่างสนธิสัญญาพลาสติกได้ ซึ่งคาดหวังความชัดเจนจากการประชุม INC5.2 ในอนาคตอีกครั้ง
ฐิติกรยังกล่าวเสริมว่า ในกระบวนการผลิตพลาสติกนั้นมีวิวัฒนาการมายาวนาน ซึ่งนับวันเข้าก็ยิ่งมีสารเคมีชนิดใหม่เข้ามาทดแทน ทั้งในแง่ของการลดต้นทุน การใช้สสารทดแทน และยิ่งย้อนกลับไปในข้อโต้แย้งในการเจรจาครั้งที่ผ่านมาเรื่องของผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่ยังไม่สามารถควบคุมประเภทหรือสารที่ใช้ในการผลิตได้นั้น จะยิ่งเป็นข้อกังวลต่อผู้บริโภค ที่ไม่สามารถเลือกได้ว่าสิ่งของในชีวิตประจำวันต่าง ๆ นั้นจะถูกสร้างจากสารเคมีที่อันตรายหรือไม่

‘วัฒนธรรมการใช้ซ้ำ‘ ทำได้ไม่ต้องรอ สู่การเปลี่ยนผ่านลด-เลิกพลาสติกอย่างเป็นระบบ
แม้ปัจจุบัน เราจะมีพลาสติกทดแทน พลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก รวมถึงวัสดุอื่น ๆ อย่างหลอดกระดาษ แต่จากการวิจัยของกรีนพีซ พิชามญชุ์กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกทดแทนเหล่านี้หลายชิ้นไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติตามเวลาที่ระบุได้จริง ซึ่งจะกลับไปย้ำจุดยืนที่ว่าวันนี้ เราต้องควบคุมการผลิตที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อโลกมากไปกว่านี้
“ในการวิจัยเราค้นพบหลายอย่างมาก ทั้งวัสดุเหล่านี้มีไบโอพลาสติกแต่ไม่ย่อยสลาย หรือกระทั่งไม่มีไบโอพลาสติกเลยและไม่ย่อยสลาย อาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไปว่าเราไม่สามารถใช้พลาสติกทดแทนเหล่านี้ได้เลยหรือ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีช่องในการให้เอกชนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อมาทดแทนและไม่สามารถลดขยะได้จริง ดังนั้นการควบคุมการผลิตจึงหมายถึงวัสดุทดแทนเหล่านี้ด้วย” พิชามญชุ์ กล่าว
แม้การร่วมมือระดับโลกครั้งนี้จะยังเต็มไปด้วยข้อสงสัย แต่ผู้ร่วมวงเสวนากล่าวเหมือนกันว่า ไม่ใช่ว่าไทยจะรอการขยับจากทั่วโลกแล้วจึงค่อยเริ่ม วันนี้ไทยสามารถเริ่มการลดใช้พลาสติกได้เลย
ศลิษากล่าวถึงพฤติกรรมการใช้พลาสติกของเราเป็นเหมือนวัฒนธรรม ปัจจุบันเรากำลังใช้พลาสติกเกินความจำเป็น สาเหตุหนึ่งที่สังคมไทยยังไม่สามารถลดการใช้พลาสติกได้ เพราะเราไม่ได้มีแนวคิดของการใช้ซ้ำมากนัก ในอีกนัยหนึ่งจะลดการใช้พลาสติกได้ที่ต้นตอ ก็ต้องหามาตรการในการให้ผู้บริโภคมองเห็นความสำคัญของการใช้ซ้ำ หรือที่ศลิษาเรียกว่า วัฒนธรรมการใช้ซ้ำ
“ในห้างร้านใหญ่เล็ก ประเทศไทยเรายังคุ้นชินกับการใช้พลาสติก ในขณะที่ประเทศเกาหลีเอกชนและภาครัฐร่วมกันสร้างมาตรการในการลดขยะเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างเกาหลีใต้มีคาเฟ่เยอะมาก สิ่งที่ตามมาคือแก้วพลาสติกที่ใส่เครื่องดื่ม แต่ประเทศเกาหลีใช้แนวคิดของการใช้ซ้ำ โดยการที่ถ้าคุณนั่งทานที่ร้าน ร้านจะเสิร์ฟเครื่องดื่มในแก้วใช้ซ้ำเท่านั้น อย่างแก้ว เซรามิค เป็นต้น ในขณะที่ถ้าต้องถือออกไปข้างนอกจะเก็บค่าบริการเพิ่ม สิ่งเหล่านี้มันคือการวางแผนอย่างเป็นระบบซึ่งภาครัฐเองฝ่ายเดียวทำไม่ได้ ต้องให้เอกชนร่วมด้วย” ศลิษา กล่าว
นอกจากนี้ตัวอย่างของประเทศไทยที่ได้เริ่มทำแล้ว อย่างการนำฉลากขวดน้ำออกเพื่อลดพลาสติก ด้านผานิตกล่าวว่า การลดใช้พลาสติกในสังคมไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน แน่นอนว่าหลายฝ่ายต้องปรับตัว ภาครัฐเองก็ต้องหาจุดร่วมกับภาคธุรกิจในการสร้างแรงจูงใจให้พวกเขามองเห็นมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากมิติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
“เราอาจจะไปหวังให้ INC สำเร็จอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เราต้องขับเคลื่อนเป็นอย่างแรกคือเราจะลดการใช้พลาสติกเกินจำเป็นในสังคมไทยได้อย่างไร ซึ่งการจะแก้ไขพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ได้เพียงแต่ผลักให้ประชาชนเลิกใช้แต่กลับสร้างความลำบากมากกว่าเดิม หรือผลักให้ภาคธุรกิจทำตามมาตรการแต่ไม่สร้างแรงจูงใจ รวมถึงเมื่อรัฐออกนโยบายแต่หากสังคมองค์รวมมองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน เราก็ไม่สามารถลดการใช้พลาสติกได้” ผานิต กล่าว
ความคาดหวังต่อการแก้ปัญหาพลาสติกในสังคมไทย ภาคประชาสังคมหลายแห่งรวมถึงผู้เข้าร่วมวงเสวนาในครั้งนี้ มองเห็นว่า ไทยเราก็ต้องจัดการในระดับนโยบายและสร้างเป็นกฎหมายออกมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติก โรงงานรีไซเคิล ไปจนถึงกฎหมาย PRTR เพื่อที่จะเปิดเผยข้อมูลสารเคมีใกล้บ้านและคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง
“การพูดคุยเรื่องมลพิษ มันอาจไม่ใช่แค่การพูดถึงคนรุ่นเราเพียงรุ่นเดียว แต่นี่คือการตั้งคำถามต่อโลกที่เราจะมอบให้คนรุ่นต่อไป ว่าเราอยากมอบโลกแบบไหนไว้ให้ลูกหลานของเรา ในวันนี้เราจึงต้องเริ่มทำมาตรการที่เกิดจากความร่วมมือระดับโลกและในสังคมไทย เพื่อที่จะพาเราไปสู่สังคมที่ผู้คนจะอยู่อาศัยอย่างไม่ต้องกังวลถึงสารพิษมากไปกว่านี้” ฐิติกร กล่าว
