Earth Calling
ดร.เพชร มโนปวิตร
ปี 2024 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแตะระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขทางวิทยาศาสตร์ แต่มันสะท้อนถึงความจริงที่น่ากลัวว่าโลกใบนี้กำลัง “ร้อน” และกำลัง “เปลี่ยนแปลง” ในรูปแบบที่เราคาดการณ์ได้ยากขึ้นทุกที หนึ่งในผลกระทบที่เห็นชัดที่สุดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นคือไฟป่า ซึ่งทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก
อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ของโลกในปีที่แล้วสะท้อนให้เห็นจากคลื่นความร้อนที่ยาวนานหลายสัปดาห์ที่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้โรงเรียนในฟิลิปปินส์ บังคลาเทศและอินเดียต้องปิดชั่วคราว อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรอุ่นราวกับออนเซนเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 4 น้ำทะเลที่ร้อนยังเพิ่มความรุนแรงให้กับพายุเฮอริเคนในอ่าวเม็กซิโกและไซโคลนในฟิลิปปินส์ อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงสภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะแห้งแล้งต่อเนื่องที่รุนแรงที่สุดในรอบ 1,200 ปี ล่าสุดนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียเผชิญกับไฟป่าที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เฉพาะความเสียหายด้านอสังหาริมทรัพย์อาจสูงถึง 3 แสนล้านบาท
ไม่ต้องสงสัยอีกแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงของไฟป่าเพิ่มสูงขึ้น รายงาน ‘ลุกลามดั่งไฟป่า: ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากไฟป่าที่ผิดปกติ’ จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและ GRID-Arendal พบว่าไฟป่ากำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าไฟป่ารุนแรงจะเพิ่มขึ้น ราว 14 % ภายในปี 2030 30 % ภายในปี 2050 และมากถึง 50 % ภายในปี 2100
รายงานฉบับนี้พบว่าทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินมีส่วนทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงและบ่อยขึ้น ซึ่งคาดว่าแนวโน้มนี้จะเพิ่มขึ้นทั่วโลก และกำลังสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า สุขภาพของมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา จีน ทั่วทั้งยุโรป และป่าแอมะซอน แม้แต่ในพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับผลกระทบมาก่อน เช่น อาร์กติก
ไฟป่า (Wildfire) ในที่นี้ ถูกนิยามว่าเป็น “ไฟที่เผาไหม้พืชพรรณอย่างผิดปกติและไร้การควบคุมผิดธรรมชาติ ซึ่งอาจเกิดจากการจุดไฟโดยเจตนา อุบัติเหตุ หรือสาเหตุทางธรรมชาติ และส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เศรษฐกิจ หรือคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม” ซึ่งแตกต่างจากไฟป่าในระบบนิเวศ หรือในภูมิทัศน์ที่เราคุ้นเคยกันดีเช่นป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า อันเป็นส่วนสำคัญของโลก มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบนิเวศหลายแห่ง และเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมและการจัดการที่ดินที่สำคัญ ไม่ว่าจะเกิดจากฝีมือมนุษย์หรือธรรมชาติ แต่เมื่อไฟไหม้เกินความควบคุม มันก็สามารถกลายเป็นไฟป่าได้
เมื่อไฟป่าเกิดขึ้นอย่างผิดปกติ มันมีอานุภาพเผาทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณ สัตว์ป่า ที่อยู่อาศัยของชุมชน และแม้แต่ผู้คนที่ไม่สามารถหนีรอดทัน ในแง่ของสิ่งแวดล้อม ไฟป่าทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง มันเผาไหม้ต้นไม้และพืชพรรณจำนวนมหาศาล ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์อาจกลายเป็นผืนดินที่ว่างเปล่าหลังจากถูกไฟไหม้ นอกจากนี้ เถ้าถ่านและขี้เถ้าจากไฟป่าจำนวนมากผิดปกติ เมื่อถูกลมพัดหรือฝนชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ก็จะก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำตามมาได้
สำหรับสัตว์ป่า ไฟป่าถือเป็นหายนะที่คร่าชีวิตสัตว์นับไม่ถ้วน ทั้งจากการถูกเผาทั้งเป็นโดยตรง หรือการอดตายเพราะขาดอาหารและแหล่งน้ำภายหลัง บางสายพันธุ์ที่เป็นสัตว์ประจำถิ่นซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว อาจสูญพันธุ์ไปเลยจากไฟป่าเพียงครั้งเดียว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไฟป่าที่ควบคุมไม่ได้ในพันทานาล ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดราว 100 ล้านไร่ในละตินอเมริกา ได้ทำลายระบบนิเวศเกือบหนึ่งในสามของพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และตอนนี้มีความกังวลอย่างจริงจังว่าพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้จะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างสมบูรณ์
ไฟป่าไม่เพียงแต่ลดความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังมีส่วนในวงจรย้อนกลับของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ กระตุ้นให้เกิดความร้อนมากขึ้น ความแห้งแล้งมากขึ้น และการเผาไหม้มากขึ้น
เมื่อไฟป่าเกิดใกล้ชุมชน ผลกระทบต่อมนุษย์นั้นชัดเจนและเกิดผลทันที ไม่เพียงบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างถูกเผาทำลาย ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย แต่ควันพิษจากไฟป่ายังส่งผลเสียต่อสุขภาพในวงกว้าง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากการเผาไหม้สามารถแพร่กระจายในอากาศได้ไกล และเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของคนได้ลึกถึงถุงลมปอด ก่อให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งปอด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ค่อนข้างเปราะบาง
ไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเชื่อมโยงกันเป็นวงจร เนื่องจากไฟป่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะ คาร์บอนดำ (Black carbon) – อนุภาคขนาดเล็กในอากาศ ซึ่งนับเป็นมลพิษภูมิอากาศที่มีอายุสั้น แต่ส่งผลรุนแรง ซึ่งจะยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังแย่ลงเมื่อพื้นที่ดูดซับคาร์บอนอย่างพื้นที่ป่าไม้กลายเป็น “เชื้อเพลิงที่พร้อมลุกไหม้” แทนที่จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ
ข้อเท็จจริงสำคัญคือ ไฟป่ากำลังเปลี่ยนแปลงเพราะเรากำลังเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดไฟป่า ไม่ใช่ไฟป่าทุกประเภทที่เป็นอันตราย และไม่ใช่ไฟป่าทุกประเภทที่จำเป็นต้องดับ เพราะไฟบางประเภทมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม ไฟป่าที่ลุกไหม้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านในพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตรนั้น เป็นความท้าทายที่ปัจจุบันเรายังไม่พร้อมรับมือ
ที่ผ่านมาไฟป่ามีสาเหตุหลักมาจากฟ้าผ่าและความประมาทของมนุษย์ซึ่งยากที่จะควบคุม แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการจัดการที่ดินและป่าไม้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไฟป่ารุนแรงมากขึ้นเพราะเชื้อเพลิงจำนวนมาก และสภาพอากาศที่เอื้อต่อการสร้างความเสียหายมากขึ้น ไฟป่าลุกไหม้นานขึ้นและร้อนแรงขึ้นในพื้นที่ที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำ และกำลังขยายตัวไปเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่คาดคิด เช่น พื้นที่พรุที่ประสบกับความแห้งแล้ง และในชั้นดินเยือกแข็งที่กำลังละลาย
รายงานระบุว่าสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเกิดไฟป่า หรือที่เรียกว่า “สภาพอากาศที่เอื้อต่อไฟ” (Fire weather) นั่นคือ ร้อน (ผิดปกติ) แห้งแล้ง (ยาวนาน) และมีลมแรง กำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดไฟป่ามากขึ้น เมื่อโลกร้อนขึ้น อากาศก็จะร้อนขึ้น ความชื้นในอากาศและพื้นดินระเหยเร็วขึ้นทำให้แห้งแล้งมากขึ้น และรูปแบบลมก็เปลี่ยนแปลงจนมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้ (ความร้อน ความแห้งแล้ง และลมแรง) เป็นสภาวะที่เหมาะอย่างยิ่งต่อการเกิด และการลุกลามของไฟป่า
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือไฟป่าที่ถล่มเมืองลอสแอนเจลิส (LA) ในขณะนี้มีความรุนแรงผิดปกติเนื่องจากปัจจัยสำคัญหลายประการที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งภาวะแห้งแล้งรุนแรง ลม Santa Ana และผลกระทบสะสมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปรากฏการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
แคลิฟอร์เนียและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญภาวะแห้งแล้งรุนแรงที่สุด (Mega drought)ในรอบ 1,200 ปี จากข้อมูลวงปีไม้ (tree rings) ที่แสดงให้เห็นว่าแหล่งน้ำธรรมชาติมีการขาดแคลนต่อเนื่อง ส่งผลให้ความชื้นในดินต่ำ ทำให้พืชพรรณแห้งกรอบและกลายเป็นเชื้อเพลิงสำหรับไฟป่า แหล่งน้ำที่ลดลงส่งผลให้การควบคุมไฟป่ายากลำบากขึ้น การใช้น้ำเกินขีดจำกัดจากแหล่งน้ำใต้ดิน และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของรัฐแคลิฟอร์เนียทำให้สถานการณ์แห้งแล้งยิ่งรุนแรงขึ้น
ลมซานตาอนา (Santa Ana) เป็นลมจากที่สูงพัดลงสู่ที่ต่ำ (Katabatic Winds) ซึ่งก่อตัวขึ้นเหนือแอ่งเกรทเบซิน (Great Basin) บริเวณที่ราบสูงขนาดใหญ่ครอบคลุมเนวาดาเกือบทั้งรัฐ ยูทาห์ครึ่งรัฐ รวมถึงบางส่วนของไอดาโฮ ไวโอมิง และแคลิฟอร์เนีย ลมนี้จะพัดไปทางทิศตะวันตก มุ่งหน้าสู่บริเวณชายฝั่งแคลิฟอร์เนียที่มีความกดอากาศต่ำกว่า
ลักษณะสำคัญของลมซานตาอานา คือ เป็นลมร้อนและแห้งจัด มีกำลังแรงระดับพายุเฮอริเคนเลยทีเดียว โดยอาจมีความเร็วลมสูงสุดถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความร้อนและความแห้งสุดขั้วของมัน จะทำให้พืชพรรณในเส้นทางที่ลมพัดผ่านแห้งกรอบจนกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่าย และกระแสลมแรงก็จะช่วยพัดพาเศษไม้ที่ลุกไหม้ไปยังพื้นที่อื่น ทำให้ไฟลุกลามได้อย่างรวดเร็ว โดยปกติกระแสลม Santa Ana มักเกิดในฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาว แต่ในปัจจุบันปรากฏการณ์นี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และยืดเยื้อจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ดินและพืชพรรณระเหยน้ำเร็วขึ้น ส่งผลให้เชื้อเพลิงไฟป่ามีความแห้งมากขึ้น และทำให้ฤดูไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียยาวนานขึ้นหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน สภาพอากาศสุดขั้วที่เพิ่มขึ้น เช่น ความแห้งแล้งที่รุนแรงสลับกับฝนตกหนัก ส่งผลให้พืชพรรณงอกขึ้นในช่วงฝนตกแล้วแห้งตายในช่วงแห้งแล้ง ซึ่งเพิ่มเชื้อเพลิงสำหรับไฟป่า การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกทำให้สภาพอากาศไม่สามารถกลับสู่สมดุล จึงยิ่งส่งผลต่อทั้งความถี่และความรุนแรงของไฟป่า
ความสูญเสียในชีวิตและการดำรงชีพของมนุษย์สามารถประเมินได้จากจำนวนผู้เสียชีวิตในเปลวเพลิง หรือผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจจากควันพิษ หรือจำนวนเมือง บ้านเรือน ธุรกิจ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ชี้ว่าการสัมผัสกับควันไฟป่าประจำปีส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30,000 คนใน 43 ประเทศที่ทำการศึกษา
รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มเทแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยปรับเปลี่ยนการลงทุนไปที่การป้องกันแทนการรับมือ หรือแก้ปัญหาหลังเกิดไฟป่าขึ้นแล้ว รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ แนะนำว่ารัฐบาลควรใช้งบประมาณสองในสามสำหรับการป้องกัน – ซึ่งปัจจุบันได้รับน้อยกว่า 1% – และหนึ่งในสามสำหรับการรับมือ
การที่โลกร้อนขึ้นกำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงพร้อมติดไฟ ในขณะที่สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นทำให้เกิดลมที่แรงขึ้น ร้อนขึ้น และแห้งขึ้น ซึ่งพัดให้เปลวไฟลุกลาม เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการลดโอกาสที่ไฟป่าจะเริ่มต้นตั้งแต่แรกและลดความเสี่ยงของความเสียหายและการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดไฟป่า เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่กำลังจะลุกเป็นไฟ และต้องทำงานร่วมกับธรรมชาติ ชุมชน ใช้ประโยชน์จากความรู้ท้องถิ่นให้มากที่สุด
เพราะโลกนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว