ยาสมิน อุลลาฮฺ : เส้นทาง 32 ปีที่ 'ลี้ภัย' รอดตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 'โรฮิงญา' จนเกือบสูญสิ้นความเป็น 'คน' - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ตอนนั้น แม่น่าจะอายุยี่สิบ” 

“แม่ก็ตัดสินใจว่า ไม่อยากให้ลูกสาวต้องมาทนอยู่กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น แพร่กระจาย และควบคุมไม่ได้” 

“ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนึง แบกลูกสาวอายุสามขวบลงเรือจากซิทเวย์รัฐอารกันลงมาที่ย่างกุ้ง 

เจอทหารพูดจาไม่ดีใส่บ้าง พยายามละเมิดทางเพศบ้าง 

“แม่สู้ทุกอย่างเพื่อที่จะให้เขากับเราอยู่รอด จนเข้ามาที่ชายแดนจังหวัดตาก และขึ้นไปอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน”

ความทรงจำของยาสมิน อุลลาฮฺ ในวัยเด็กตามคำบอกเล่าเหตุการณ์ของผู้เป็นมารดา เนื่องจากความรุนแรงในพื้นที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน การข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศต่อชาวโรฮิงญา

หญิงสาวแทบทุกคนในหมู่บ้านจำเป็นต้องแต่งงานแม้อายุยังน้อย เพื่อหลีกหนีความรุนแรงทางเพศจากกองกำลังทหารเมียนมา

แม่ ผู้อยากให้ลูกสาว ได้มีโอกาสในการศึกษาและชีวิตที่ดีกว่าของลูกสาว จึงตัดสินใจจากบ้าน พร้อมเด็กสาววัยสามขวบ แนบไว้ข้างกายตลอดการเดินทางข้ามชายแดนมายังประเทศไทย 

ยังสาว สดใส สวยงาม และเต็มไปด้วยอุดมการณ์

คือคำกล่าวที่เพื่อนนักกิจกรรมมักพูดถึงเธอเสมอ 

ยาสมิน อุลลาฮฺ นักกิจกรรมชาวโรฮิงญา ในวัย 32 ปี เธอเป็นผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายสตรีโรฮิงญา” (Rohingya Maìyafuìnor Collaborative Network) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเน้นบทบาทของผู้หญิงโรฮิงญาในฐานะผู้รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและผู้ส่งต่อความหวังไปยังคนรุ่นหลังการยืนหยัดเพื่อสตรีและชนกลุ่มน้อย ท่ามกลางความเลวร้ายในสังคมปิตาธิปไตยที่เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตลอดจนกดขี่ เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ศาสนา กลายเป็นความรุนแรงที่ฝังลึกและกลายเป็นวัฏจักรวนลูปของความรุนแรงที่ไม่สิ้นสุดและเหวี่ยงชีวิตคนนับล้านให้ต้องพลัดถิ่น 

โร-ฮิง-ญา บนแผนที่โลก ‘ความเป็นอื่น’ ในประเทศที่บูชาความรุนแรง-เผด็จการ

ชาวโรฮิงญา (Rohingya) คือหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในรัฐอารกัน (Arkan) หรือรัฐยะไข่ในปัจจุบัน (Rakhine State) ทางตะวันตกของประเทศเมียนมา

ชาวโรฮิงญามีศาสนาหลักเป็นศาสนาอิสลาม มีวัฒนธรรม ภาษา และประเพณีที่เป็นของชาวโรฮิงญาเอง โดยภาษาของชาวโรฮิงญามีความใกล้เคียงกับภาษาเบงกอลลีของชาวบังคลาเทศ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกันทางพื้นที่และการค้าขายที่ไปมาหาสู่กันทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน 

หลังจากการประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคมอังกฤษในค.ศ. 1948 นายพล อองซาน ได้ทำรวมกลุ่มคนชาติพันธุ์ในเมียนมา ภายใต้ชื่อ Union of Burma โดยให้สัญญากับกลุ่มคนชาติพันธุ์กว่า 134 กลุ่ม ว่า หากรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งเพื่อป้องกันการตกเป็นอาณานิคมจากชาติตะวันตก และหากหมดเวลาตามข้อตกลง กลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถแยกไปปกครองตัวเองได้อีกครั้ง 

แต่หลังจากการสร้างชาติได้เพียง 14 ปี ได้เกิดการรัฐประหาร และลอบสังหารนายพล อองซาน และเกิดเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารนำโดยนายพลเน วิน ในปี 1962 ที่มีแนวความคิดชาตินิยมในความเป็นชาว บะหม่า หรือเมียนมา และมีความเป็นพุทธชาติสูง ส่งเสริมให้การมองชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐอารกันเป็นคนนอกนั้น มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

“กลุ่มคนโรฮิงญาก็ถูกมองว่าเป็นคนอื่นในประเทศที่บูชาความรุนแรง บูชาทหาร บูชาเผด็จการ แล้วก็บูชาความเป็นชาตินิยมที่ต้องเป็นพุทธเท่านั้น”

“เริ่มมีการเข่นฆ่าคนโรฮิงยา ผลักไสคนโรฮิงญาให้ออกจากพื้นที่บ้านเกิด มีการเผาบ้านมีการยึดที่ดินแล้วก็มีการเอาที่ดินไปให้คนอื่น 

ให้ชาวโรงฮิงญาไปอยู่ในสลัมในขอบเขตที่รัฐบาลกําหนด ไม่มีวี่แววว่าเราจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่”

“มีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายระลอกจนคนโรฮิงญาก็ต้องหนีข้ามชายแดนไปฝั่งบางประเทศคนโรฮิงญาบาง ถ้าอายุประมาณ 80 90 ปี ก็เป็นผู้ลี้ภัยมาแล้ว 3-4 ครั้งในชีวิต”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1982 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารประกาศใช้ กฎหมายสัญชาติเมียนมา (Myanmar Citizenship Law) ซึ่งกำหนดให้ชาวโรฮิงญาไม่ใช่หนึ่งใน “กลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง” ทำให้ชาวโรฮิงญาถูกยึดบัตรชนพื้นเมืองซึ่งเปรียบเสมือนบัตรประชาชนของประเทศไทยและทำให้พวกเขาถูกตัดสิทธิพลเมืองอย่างถาวรเช่น การเดินทาง การศึกษา การทำงานและการรักษาพยาบาล

“ในปัจจุบันชาวโรฮิงญาต้องใช้บัตรที่เรียกว่า national verification correct หรือ n v c บัตรนี้มีคำถามในการลงทะเบียนว่า ย้ายมาจากที่ไหน อพยพมาจากที่ไหน  ซึ่งมันตรงกันข้ามกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเรา” 

“เราเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่แค่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ตรงนั้น แต่มีภาษา วัฒนธรรม อาหาร ชุดแต่งกายของตัวเอง คนในรัฐอารกันเองหลายคนก็พูดภาษาโรฮิงญาได้ คนโรฮิงญาก็พูดภาษาที่คนในรัฐอารกันหรือยะไข่ใช้ได้ 

“เราเคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ในอดีต” 

‘รอดตาย’ แต่เกือบสูญสิ้นความเป็น ‘คน’

ยาสมินเล่าว่าความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างชาวพุทธในรัฐยะไข่และชาวโรฮิงญา เกิดจากความพยายามของรัฐที่ต้องการยืมมือประชาชนเมียนมาผู้นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ ให้ขับไล่ชาวโรฮิงญา โดยใช้กระแสสร้างความเกลียดชังด้วยการให้ข้อมูลที่บิดเบือนและข่าวลวง สร้างวาทกรรมต่อชาวโรฮิงญาว่าเป็นคนขี้เกียจ มีลูกมากและเป็นผู้อพยพที่เป็นภาระ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและกดขี่ชาวโรฮิงญา แม้กระทั่งการรักษาพยาบาล 

“เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในรัฐยะไข่ ทุบตีครอบครัวชาวโรฮิงญาที่ไปขอเข้ารับการรักษา พวกเขารู้อยู่แล้วว่ายังไงพวกเขาก็จะต้องถูกทุบตี แต่ก็ต้องจำยอมเนื่องจากกลัวว่าลูกของพวกเขาจะต้องเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วย หลังจากทุบตีเสร็จ หมอและพยาบาลก็ค่อยเข้าไปให้การรักษา” 

“รอดมาได้…แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เหลือแล้ว ”

“วาทกรรม ที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของโรฮิงญามันทําให้เกิดเรื่องความรุนแรง ในระดับที่มันเกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าทหารจะอยู่ตรงนั้นหรือไม่ มันก็เกิดขึ้น

เพราะว่าคนเชื่อไปแล้วว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่ ไม่ควรจะได้มีความสุข

ปีค.ศ. 2017 การปกครองด้วยรัฐบาลพลเรือน ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกส่งต่อจากรัฐบาลเผด็จการทหาร กองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ต่อชาวโรฮิงญา ภายใต้ข้ออ้างเรื่องการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธ โดยมีรายงานการใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวาง เช่น การสังหารหมู่ การข่มขืน และการเผาหมู่บ้าน องค์การสหประชาชาติระบุว่าเหตุการณ์นี้อาจเข้าข่าย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide)

“รัฐบาลพลเรือนในช่วงปี 2017 ที่เข้าไปเป็นตัวแทนทหารไปพูดที่ศาลโลก เค้าบอกแล้วว่าไม่มีโรฮิงญาอยู่ในประเทศ เค้าก็พูดเสียงเดียวกันว่ามันไม่มีคําว่าโรฮิงญาอยู่ในอยู่ในพจนานุกรมของเขา”

“ทั้งที่คนโรฮิงญาเองเป็นกลุ่มที่ช่วยตั้งต้นประชาธิปไตยในประเทศเมียนมา เราเป็นส่วนสําคัญในการก่อร่างสร้าง Union of Burma ขึ้นมากับนายพล อองซาน

ซึ่งแปลกมากที่ลูกสาวเขาพูดในทางตรงข้ามเกี่ยวกับคนโรฮิงญา เขาพยายามลบล้างไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของเรา แต่เขาก็อยากลบล้างสิ่งที่เราเคยสร้างประโยชน์ให้ประเทศนี้”

“มันก็กลายเป็นว่าคนทั้งประเทศก็เชื่อ”

“เชื่อว่าคนโรฮิงญาไม่มีคุณค่าอะไรเลย ฆ่าให้ตายก็ไม่เป็นไร”

“เขาใช้คําว่า เบงกอลลี เขาใช้คําว่า กะลา เขาไม่ใช้คําว่าโรฮิงญา ซึ่งมันชัดเจนตรงนี้ว่า เขาอยากจะทําลายล้างตัวตน จิตวิญญาณของคนโรฮิงญา หรือว่าแก่นแท้ของเรา ซึ่งเขาก็เริ่มทําสําเร็จไปแล้วในบางส่วนด้วยการผลักคนออกไป”

“เขาทำให้เราไม่มีที่อยู่ ไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน ชาวโรฮิงญาถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นแรงงานทาสในการก่อสร้าง โดยไม่ได้รับค่าจ้าง หากค้าขาย เกษตร ประมงอะไรได้ ถ้าทหารต้องการยึดเงินไป เราก็ต้องให้ เพราะไม่งั้นจะถูกทุบตีหรือถูกขังคุกที่ก็ถูกทุบตีอีกครั้ง”
 

“ความเป็นชาตินิยมของคนเมียนมาที่เขามองต้องเป็นคนเมียนมาอย่างเดียวที่มีสิทธิ์ที่จะควบคุมอํานาจในประเทศแล้วก็ต้องเป็นพุทธ เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราไปแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งก็ คือการที่พยายามจะลบล้างความเป็นคนโรฮิงญาด้วยการที่ปิดกั้น โอกาสทางสังคมโอกาสทางการเรียนโอกาสในการเข้ารักษาพยาบาลคือทุกอย่างที่ที่เรามองเป็นนโยบายต่าง ๆที่มี หรือว่าเป็นการปฏิบัติ ทุก ๆ อย่างมันนําไปสู่ความตาย หรือนําไปสู่การที่คนโรฮิงญาก็คือต้องหนีออกจากประเทศ

พลัดถิ่นใน ‘ไทย’ ในสถานะไร้สัญชาติ ‘ไร้สถานะ’ เพียงแค่การอยู่รอด 

“คนโรฮิงญาก็ไม่ได้ต่างอะไรจากคนไทย ไม่ได้ต่างอะไรจากคนทั่วโลก ที่ต้องการจะอยู่รอด” 

“ต้องการให้ครอบครัวตัวเองมีความสุข” 

“กัดฟัน ดิ้นรน ไม่ให้เป็นภาระคนอื่น” 

ยาสมินเล่าถึงชีวิตนับตั้งแต่วันที่เธอเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ครอบครัวของเธอประกอบอาชีพการขายโรตี เป็นรายได้หลักในการมีชีวิต

“บางครั้งพ่อแม่ต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับ”

“ถ้ารู้ว่าจะถูกจับก็ต้องย้ายไป เรื่อย ๆ เพราะว่าไม่มีกฎหมายคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย”


“เรารู้อยู่แล้วว่าถ้าถูกส่งกลับประเทศการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มันดําเนินอยู่ ก็เลยต้องหนีไปเรื่อย ๆ 

ย้ายโรงเรียนจําได้เลยว่าย้ายแบบประมาณเจ็ดแปดที่  พ่อแม่ตั้งใจมากให้ลูกสาวได้เรียนหนังสือก็พยายาม ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็พยายามให้เราได้เรียนต่อ” 

จากอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน สู่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คือร่องรอยระยะทางการถอยหนี ดิ้นรน ภายใต้ชีวิตที่ไม่มีระบบและหลักประกันใดมารองรับ ไม่มีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่มีระบบประกันสังคมรองรับ และคุ้มครองการทำงาน เพราะการออกมาชีวิตอยู่นอกเหนือค่ายผู้ลี้ภัย ถือว่าเป็นการลักลอบอาศัยอย่างผิดกฎหมาย 

เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการลงนามรองรับผู้ลี้ภัย 

“เรารู้สึกกลัวที่ต้องเห็นตำรวจ กลัวที่จะถูกส่งกลับ”

“เวลาไปโรงเรียนก็กลัวห้องเอกสารทะเบียน กลัวโดนเรียกเข้า เพราะเราไม่มีเอกสาร”

“รัฐไทยยังสามารถต่อรองให้เราเข้าเรียนได้ แต่ไม่มีวุฒิให้ เพื่อน ๆ เขานั่งสอบกันทุกคนแล้วเราไม่ได้สอบ มันเป็นอะไรที่รู้สึกเลยว่าเราแตกต่างจากคนอื่น โดดเดี่ยวซึ่งเราก็ไม่สามารถที่จะมานั่งร้องไห้โวยวายกับพ่อแม่ได้”

“เพราะว่าพ่อแม่เจอเรื่องปัญหาหนักกว่านั้นเห็นความเจ็บปวดของเขาถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดออกมา เราเห็นการต่อสู้ดิ้นรนของพ่อแม่ เพื่อที่จะหาเงินได้แบบสักร้อยนึง เพื่อที่จะดูแลที่บ้าน “

“ก็ต้องขอบคุณ ระบบการศึกษาไทยเพราะว่า
ช่วยให้อ่านหนังสือได้ ช่วยให้เขียนได้ มันเป็นอะไรที่สําคัญมาก ถ้าเทียบกับผู้หญิงโรฮิงญาทั่ว ๆ ไป น้อยคนที่จะมีโอกาสได้อ่านเขียน”


“พอได้รับการศึกษาในประเทศไทย
โตมาในสังคมไทย ก็รู้สึกนะคะว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่สอง”

ถ้าเลือกได้ก็คงอยู่ที่ประเทศไทย ถ้าเราสามารถที่จะทําประโยชน์ให้ประเทศนี้ได้เราก็อยู่แล้วก็ทําไปแล้ว จ่ายภาษีไปแล้ว”

“แต่ว่ามันไม่มีโอกาส” 

รัฐไทยถือว่า ทำดี ในภูมิภาคที่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน

“หลายแง่มุมที่รัฐไทยก็ช่วย อย่างที่คนโรฮิงญายังอยู่ได้ในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างนึงนะคือการไม่ถูกผลักกลับ คนโรฮิงญาบางกลุ่มเขาก็มีสถานะการพักพิงที่นี่ชั่วคราว” 

“การที่ยังมีเด็กอยู่ในสถานกักกัน ก็มีการเคลื่อนไหวในเรื่อง alternative to detention เริ่มมีการมองว่า เราควรจะพาเด็กออกมาอยู่ข้างนอกไหม เป็นการร่วมมือของฝั่งตํารวจตรวจคนเข้าเมืองและกลุ่มภาคประชาสังคมที่ก็หาทางออกเพราะว่าไม่อยากให้เด็กอยู่ในสภาพแบบนั้นอีกต่อไป”

“อันนี้ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ใหม่มาก
อาเซียนประเทศอื่น ยังไม่มีเลย
ถ้านับอินโดนีเซียกับมาเลย์ คนก็ยังอยู่ในสถานกักกันมาเลเซีย 20,000 คน มีเด็กที่ถูกกักกันอยู่ตอนนี้ประมาณ 1,500 คน ในฐานะที่เคยอยู่ ที่นี่ก็จะเป็นทัศนคติเดียวกันก็คือคุยกันได้นะพยายามผลักดันให้มันก้าวหน้าไปอีกนิดนึง”

“อาจจะเป็นแค่คืบเดียว เราก็พยายามผลักดันให้มันก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ”

ส่วนเรื่องระบบโครงสร้างเรื่องกฎหมายคุ้มครองนั้นยาสมินกล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ประเทศอาเซียนเป็นประเทศที่ต้องรองรับผู้ลี้ภัยหลายแสนหลายหมื่นคนควรจะต้องมีกฎหมายที่เข้าได้กับกฎหมายนานาชาติ รองรับ UN Reconvention เพื่อที่จะให้องค์กรนานาชาติอย่าง UNICEF หรือว่า Save The Children ให้มาทํางานตรงนี้ให้มาช่วยดูแลได้ง่ายขึ้น

‘ฉันเป็นใคร’ ในเมื่อมัสยิด บ้านเรือนและเพื่อนบ้านถูกฝังกลบในดินแดน ‘อารกัน’ 

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด “เห็นชัดเจนที่สุดคือ เราผ่านทุกอย่าง ผ่านความยากจน ผ่านจุดที่แบบมันแย่ที่สุด” 

“ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทําไมถึงต้องมีตัวตนนี้”

“ทําไมมันถึงยากนักที่จะเป็นคนโรฮิงญาคนนึง” 

Internal core การต่อสู้ที่อยู่ภายในใจ

นี่คือความรู้สึกที่ยาสมินในวัยเยาว์ต้องเผชิญ

ก็คือพูดไม่ได้อยู่แล้วว่าเป็นคนโรฮิงญาในหมู่คนไทยในที่สาธารณะ 

ก็คือรู้ตัวมาตลอดว่าเราไม่ใช่คนที่นี่คือ ยังไงเราก็ไม่ได้รับการยอมรับหรอก 

ก็คือรู้สึกเหมือนตัวเองมันแปลกไปจากคนอื่น

“แม้ว่าเราจะพูดสําเนียงไทยได้หรือว่าปรับตัวมีเพื่อน มีคนที่เรารู้จักมากมายในโรงเรียนหรือว่าในที่อื่น ๆ

แต่มันก็ยังรู้สึกแปลกอยู่ดี รู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นคนที่นี่ มันไม่มีทางที่คนเขาจะยอมรับในตัวตนของเรา”

น้ำใสคลอดวงตาที่เคยเปล่งประกาย เมื่อยาสมินในวัย 32 ปี ได้ส่งข้อความถึงหนูน้อยยาสมินในวัยกำลังตั้งคำถาม


“อยากให้อดทนนะ เดี๋ยวทุก ๆ อย่างมันกำลังจะดีขึ้น ขอให้เชื่อ”  

เด็กน้อยที่ต้องเผชิญคำถามภายในใจเพียงลำพังและอดทนรอคอยในวันที่เติบโต เพื่อให้เธอเข้าใจในทุกสิ่งอย่าง

“ในความเป็นเด็ก ไม่เข้าใจว่าทําไมมันต้องเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

“ทําไมเราถึงต้องถูกกระทําขนาดนี้ ทําไมเราถึงต้องถูกผลักออกมาจากประเทศ”

“รู้สึกว่าตัวเองอะเป็นต้นไม้ต้นนึงที่ถูกตัดรากออก ถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วจะโตยังไงก็โตไม่ได้สักที เพราะไม่มีราก”

นี่คือผลจากการพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้คนจำนวนมากตั้งแต่ทารกน้อยไปจนถึงวัยชราร่วงโรย ต่างถูกสถานการณ์ความรุนแรง บีบบังคับให้พวกเขา ต้องพลัดถิ่นจากบ้านเกิด มาหลายชั่วอายุคน 

ตัวตน ประเพณี วัฒนธรรม ที่ถูกส่งต่อ กลายเป็นเพียงเรื่องเล่า 

มัสยิด บ้านเรือน เพื่อนบ้าน ถูกฝังกลบในดินแดนรัฐอารกัน 

อีกหนึ่งสมรภูมิสงครามเกิดขึ้นภายในหัวใจเพื่อยืนยันว่า ฉันคือใคร  

การยืนยันและพิสูจน์ว่าชาวโรฮิงญามีค่ามากพอในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ท่ามกลางวาทกรรมที่ถูกสร้างเพื่อลดทอนชาวโรฮิงญาถูกหลอมรวมกับกาลเวลาที่ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาต้องแบกบนบ่าพร้อมการดิ้นรนเอาชีวิตรอดในทุก ๆ วัน

ความอยู่ ‘รอด’ ของโรฮิงญาขึ้นอยู่กับความเป็น ‘หญิง’และความเป็น ‘แม่

ในปี 2011 ช่วงเดือนมิถุนายน ยาสมินและครอบครัวได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มมิชชันนารีคู่สามีภรรยา พวกเขาเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับพ่อของยาสมิน เนื่องจากพ่อของยาสมินเองก็ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของชาวโรฮิงญาเช่นเดียวกัน 

หลังจากนั้น คู่มิชชันนารีและยาสมินได้พยายามสร้างเครือข่ายในประเทศแคนาดาเพื่อสนับสนุนให้ยาสมินและครอบครัวสามารถเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามได้สำเร็จ

กระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานถึงสามปี ในช่วงแรกการสมัครขอลี้ภัยของพวกเขาถูกปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้อาศัยอยู่ในค่ายหรือศูนย์พักพิงตามที่องค์กรระหว่างประเทศกำหนด อย่างไรก็ตาม กลุ่มมิชชันนารียังคงดำเนินการช่วยเหลือต่อเนื่อง

จนในที่สุด ครอบครัวของยาสมินก็ได้รับการยอมรับและสามารถเดินทางไปยังแคนาดาได้

“รู้สึกว่าเราถูกต้องตามกฎหมาย เพราะว่ามันวาทกรรมที่เราต้องมานั่งขบคิดทั้งชีวิตว่าเรามันไม่ถูกกฏหมาย ต้องเป็นต่างด้าว ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ”

“เวลาผ่านจุดตรวจก็คือกลัวใจเต้นแล้วกลัวเค้าจะจับขังคุก จะถูกผลักกลับรึเปล่าจะต้องแยกจากพ่อแม่ไหมอะไรอย่างเงี้ยมันมีหลายหลายเรื่องที่เรากลัว แล้วเป็นความกลัวที่เป็นความจริงด้วย”

“พอได้สัญชาติแล้วก็รู้สึกว่าตัวตนของเรามันถูกยอมรับแล้วนะ มีเอกสารที่แท้จริงที่เราสามารถที่จะใช้ทั่วโลกได้แล้วคือคนต้องยอมรับว่าเรามีอยู่จริง” 

“เพราะว่ามันเป็นแง่มุมนึงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

“ที่เราต้องมานั่งถามคําถามตัวเองว่าเรามีตัวตนจริง ๆ ไหม”

ในปี 2017 ยาสมินต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียที่สะเทือนใจและเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจเริ่มต้นบทบาทนักกิจกรรมของเธอ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อเธอได้รับโทรศัพท์จากแม่ในวันที่ 15 สิงหาคม แม่ของเธอขอให้เธออธิษฐานเพื่อความปลอดภัยของครอบครัวญาติในหมู่บ้าน ขณะนั้นกองกำลังทหารกำลังเคลื่อนเข้ามาในพื้นที่โรฮิงญา สถานการณ์ตึงเครียดจนเธอแทบไม่สามารถติดต่อญาติพี่น้องได้

“พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ร้องไห้อยู่สองวันเต็ม ๆ” 

“ในใจลึก ๆ คิดอยู่เสมอว่าถ้ามีโอกาสได้กลับบ้าน ฉันอยากกลับไปสร้างสิ่งที่สูญเสียให้กลับคืนมา แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็รู้ว่าบ้านของเราอาจไม่มีหลงเหลืออีกแล้ว”

ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความเศร้าโศกนี้ ยาสมินตระหนักว่าการอยู่นิ่งเฉยไม่ใช่ทางออก เธอตัดสินใจเปิดเผยตัวตนของเธอในฐานะชาวโรฮิงญา และเริ่มพูดในทุกเวทีที่เธอมีโอกาส ทั้งในโซเชียลมีเดียและการระดมทุนผ่านแคมเปญ GoFundMe เพื่อนำเงินช่วยเหลือกลับไปยังครอบครัวและชุมชนในประเทศเมียนมาภายใต้สถานการณ์ที่บ้านเรือนถูกเผา มีการฆ่าฝังกลบร่างของชาวโรฮิงญา พวกเขาต้องเดินเท้าออกจากบ้านเพื่อเข้าไปในป่าอย่างไร้จุดหมาย และบางส่วนก็ตัดสินใจลงเรือ เพื่อหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่าแผ่นดินที่เป็นมาตุภูมิของพวกเขา 

“เงินที่ได้จากการระดมทุนในสองเดือนนั้นสูงมาก จนไม่อยากถือไว้เอง” เธอกล่าวถึงเงินจำนวนมากที่รวบรวมได้ “ทุกบาททุกสตางค์ถูกส่งกลับไปยังประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด เช่น เด็กและผู้หญิงที่ไม่มีใครดูแล”

ยาสมินยังขยายการทำงานของเธอไปสู่เวทีระหว่างประเทศ เธอร่วมมือกับกลุ่มโรฮิงญาในแคนาดา เพื่อผลักดันให้รัฐสภาแคนาดายอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

เธอทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ในแคนาดา เพื่อจัดนิทรรศการที่นำเสนอเสียงของชาวโรฮิงญา โดยใช้คำว่า “โรฮิงญา” อย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นครั้งแรกในเวทีระดับโลกที่คำนี้ถูกใช้แทนคำเรียกที่ลดทอนศักดิ์ศรี อย่างกะลาหรือเบงกอลลี

“มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก”

“การใช้คำว่าโรฮิงญาแสดงถึงการยอมรับในตัวตนของพวกเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกลบล้างมานาน”

นอกจากนี้ เธอยังมุ่งเน้นการทำงานเพื่อสิทธิสตรีและกลุ่มชายขอบในสังคม เธอเชื่อว่าการปกป้องสิทธิเหล่านี้จะช่วยสร้างความเท่าเทียมและความยุติธรรมให้กับทุกคนในสังคม

“ถ้าเราปกป้องเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มคนชายขอบ มันหมายถึงการปกป้องทั้งสังคม” เธอกล่าว

“ปิตาธิปไตยมีความเกลียดชังผู้หญิงเป็นนโยบายเป็นการเลือกปฏิบัติทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ในแง่ของคนโรฮิงญาเนี่ย มีการ internalize หรือว่าการซึมซับพฤติกรรมที่ถูกกดดันมาก่อน ผู้ชายในสังคมเก็บกดจากการถูกใช้ความรุนแรงจากรัฐ ไม่มีทางปลดปล่อยแล้วหนทางออกยังไม่เห็น เขาก็กดผู้หญิงต่อหรือว่ากด LGBTQIAN+ ต่อหรือว่ากดคนที่เป็นคริสต์เป็นฮินดูในสังคมโรฮิงญากดต่อไปเรื่อย ๆ มันก็กลายเป็นวัฏจักรแบบนรก ไม่มีใครที่ชนะเลยในภาพรวมนี้

“ความอยู่รอดของคนโรฮิงญามันขึ้นอยู่กับผู้หญิงนะ”

“ตอนปี 2017 หรือว่าช่วงที่ผ่านมา ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่อุ้มลูกวิ่งหนีออกมาทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็บาดเจ็บ ผู้หญิงบางคนมีลูกสี่ห้าคน ก็พาออกมาได้หมดรอดทุกคน นับถือหัวใจแม่ชาวโรฮิงญา” 


ไม่ใช่เพียงในฐานะแม่อย่างเดียว แต่ยังคงเป็นในฐานะจุดศูนย์รวมของชุมชนที่ส่งต่อวัฒนธรรมความเป็นตัวตนของคนโรฮิงญาให้กับคนรุ่นต่อไป

เมื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือเรื่องของเราทุกคน 

ยาสมินมองว่า การทำงานในระดับภูมิภาคมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลในอาเซียนยังคงยึดมั่นในหลักการ ไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา 

“เส้นแบ่งดินแดนระหว่างประเทศมันเริ่มเบลอแล้ว โลกกลายเป็นโลกที่เชื่อมโยงกัน ถ้าเราไม่ร่วมมือแก้ไขปัญหาในประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหานั้นก็จะย้อนกลับมาหาเรา” เธอกล่าว

ในมุมมองของยาสมิน ชาวโรฮิงญามักถูกมองว่าเป็นภาระในสังคมไทยและอาเซียน เธอชี้ให้เห็นว่า วาทกรรมเชิงลบเหล่านี้มักมาจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเขา “มันเป็นวาทกรรมเดียวกันกับที่กองทหารเมียนมานำมาใช้ในการกดขี่เรา และมันไม่ควรจะใช้ในสังคมใดก็ตาม”

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ยาสมินและกลุ่มผู้หญิงของเธอ Rohingya maìyafuìnor Collaborative Network ได้มีผู้หญิงชาวโรฮิงญาจากหลายประเทศในอาเซียน ที่เมื่อได้รับสัญชาติในประเทศที่สาม 

พวกเธอก็ตัดสินใจเปิดหน้าสู้  

เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ผู้คนมีต่อชาวโรฮิงญา 

“เราใช้ภาษาไทยในการพูดคุยกับคนไทย หวังว่ามันจะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น” เธอกล่าวพร้อมเสริมว่า “ถึงแม้เราจะทำให้บางคนไม่พอใจ แต่เราก็อยากให้คนเห็นว่า ชาวโรฮิงญามีศักยภาพที่จะสร้างประโยชน์ ไม่ใช่เป็นภาระอย่างที่หลายคนเชื่อ”

ยาสมินและเพื่อนนักกิจกรรมพยายามผลักดันแนวคิดใหม่ว่าคนโรฮิงญาสามารถที่จะทําอะไรให้ประเทศเหล่านี้ได้มาก แสดงให้เห็นว่า ชาวโรฮิงญาจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศนี้ได้แค่ไหน 

มีคนโรฮิงญาอย่างน้อยในประเทศไทยก็ประมาณ 40,000 คนในมาเลเซีย 200,000 คนในอินโดเซียอย่างน้อย 5,000 ถึง 7,000 คน

คนเหล่านี้ต้องมองว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ ไม่ใช่ภาระ!

“เขาก็สู้กันอยู่ก็เหมือนคนไทยหรือเหมือนคนในอาเซียนที่ก็สู้ดิ้นรนกัดฟันสู้ชีวิตแต่ถ้ามีโอกาสให้เรามากกว่านี้ในการศึกษา
โอกาสในการที่จะได้การจ้างงานในระบบที่ถูกต้อง สามารถที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลได้แบบคนอื่น ๆ”

“ถ้าเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งอาเซียน ก็จะทําให้ปัญหาเหล่านี้มันน้อยลง”

“เราก็อยากให้มันมีการคุ้มครองผู้ลี้ภัยชั่วคราว อย่างน้อย ๆ ชั่วคราว

ยาสมินกล่าวเสริมว่าหากผู้ลี้ภัยได้รับการคุ้มครอง ในระหว่างนั้นพวกเขาก็พยายามทํางานเดินหน้าต่อไป ผลักดันให้ประเทศเมียนมากลายเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ลดทอนอํานาจทหารหรือว่าผลักให้ออกจากหน้าที่ หรือผลักให้ออกจากอํานาจตรงนี้ ด้วยการใช้ ศาลโลกหรือว่าระบบกฎหมายนานาชาติอื่น ๆ เพื่อที่จะให้กองทัพเมียนมาต้องได้รับผลตอบแทนจากการที่ทําร้ายผู้คน

“ถ้าหากอาเซียนตัดขาดความสัมพันธ์ทางทหารหรือว่าความสัมพันธ์ทางการเงินทางธุรกิจมันก็จะเป็นอะไรที่ช่วยให้คนโรฮิงญาได้กลับบ้านได้เร็วขึ้น”

“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยที่สังคมโลกไม่รู้ มันเป็นเรื่องที่เรื้อรังมานานแล้ว… เราต้องสร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนักรู้ และรับผิดชอบร่วมกัน”

“มันสามารถหยุดได้ตั้งแต่ปี 1982 หรือ 1990 แต่มันก็ยังไม่หยุด เราเงียบกันเกินไป” เธอกล่าว พร้อมชี้ว่าความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาและวัฒนธรรมของพวกเขาเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด ในมุมมองของเธอ การแก้ปัญหาไม่ได้จำกัดเพียงชาวโรฮิงญาหรือประชาชนในเมียนมาเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนทั้งโลก 

“ถ้ารัฐต่าง ๆ ในอาเซียนได้เงินหรือมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับทหาร… ก็คงต้องมาคิดกันแล้วว่าเงินตรงนั้นเอาไปสนับสนุนการซื้ออาวุธเพื่อเข่นฆ่าประชาชนหรือเปล่า” 

“เราต้องผลักดันให้รัฐบาลของเราทำหน้าที่ที่ถูกต้อง เหมาะสม และเข้ากันได้กับกฎหมายสากล เพื่อหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือความไม่สงบที่เกิดขึ้น”

“ถ้าคนเรามีทางเลือกที่จะอยู่ประเทศเดิม มีพาสปอร์ตของตัวเอง ใครจะอยากหนีมา… แต่เพราะเราเลือกไม่ได้”

“อยากให้มองผู้ลี้ภัยว่าเป็นเพื่อน ไม่อยากให้มองว่าเป็นศัตรู หรือคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะมาทำผิดกฎหมายในประเทศไทย” 

“เราหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้เฉลิมฉลองร่วมกันว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปลอดจากเผด็จการและการเข่นฆ่า… เราจะฉลองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีค่ามากกว่าค่าเงินหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ” 

7 ปีผ่านไป ‘ช้าไปไหม’ สำหรับคนนับล้านที่ยัง ‘รอ’ ความยุติธรรม

“ช้าไปสําหรับคนเป็นล้านคนที่ยังรออยู่ ช้าไปสําหรับคนอีกสองแสนคนที่ยังอยู่ในมาเลเซีย และช้าไปสําหรับชาวโรฮิงญาในอินโดนีเซีย รวมถึงเด็กอีก 1,500 คนที่ยังถูกกักกันอยู่” ยาสมินกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น แต่เธอก็ย้ำว่า “แต่ถ้าไม่มีเลย มันจะแย่กว่านี้”

ยาสมินเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันหลังจากการรัฐประหารเมียนมาในปี 2021 

“ตอนนี้มีผู้อพยพและลี้ภัยประมาณสองล้านสี่แสนคนเหลือคนโรฮิงญาในรัฐอารกันหรือว่ารัฐยะไข่ ไม่ถึงหกแสนคน

“ท่ามกลางสภาวะสงครามกลางเมือง มีกลุ่มผู้อพยพใหม่ที่เพิ่งหนีออกมาเพราะว่ามีการสู้รบกันระหว่างกองกำลังอารกันกับกลุ่มทหารเมียนมา

และพวกเขาก็ใช้คนโรฮิงญาไปเป็นเกราะป้องกันเป็นแนวหน้าของทั้งสองฝั่ง

ความรุนแรงครั้งนี้ว่าเป็นระลอกที่สองของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

เธออธิบายถึงความพยายามของศาลโลก (ICC) ในการออกหมายจับมิน อ่อง หล่าย และผลักดันความรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่พึ่งถูกแถลงไปในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2024

 “มันยังมีขั้นตอนอีกมากมาย ทั้งการเตรียมเอกสาร การให้ข้อมูล และการจัดเตรียมเหยื่อให้พร้อม… เหยื่อต้องให้การหลายรอบ บางคนถูกสัมภาษณ์เป็นสิบ ๆ ครั้ง เพื่อให้คำให้การมีความพร้อมที่สุด” 

แม้กระบวนการนี้จะยากลำบากและใช้เวลาหลายปี แต่ยาสมินเชื่อว่าความสำเร็จที่เริ่มปรากฏขึ้นเป็นก้าวสำคัญ “การเริ่มต้นของการออกหมายจับ ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของชาวโรฮิงญา แต่เป็นความสำเร็จของคนทั้งประเทศ”

ยาสมินเน้นย้ำว่า ชาวโรฮิงญามีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติ แม้จะถูกกดขี่และถูกผลักให้ออกจากสังคม แต่พวกเขายังคงมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ประเทศมีอนาคตที่ดีกว่า 

“เราหวังว่าในครั้งนี้ คนจะไม่ลืมบทบาทของเรา และจะไม่กลับมากดขี่พวกเราอีก”

‘สวัสดีปีใหม่’ ในย่อหน้าสุดท้ายจากพี่น้องชาวโรฮิงญา 


“ชีวิตมันยากมาก บางทีมองไม่ออกว่าเอออนาคตมันจะเป็นยังไง”

“เราจะตายแบบนี้เหรอ” 

“แต่อยากให้สู้ต่อ คนโรฮิงญาด้วยกันเองรู้ว่าต้องสู้ขนาดไหนต้องดิ้นรนขนาดไหน”

“ไม่อยากให้ยอมแพ้นะคะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามตอนนี้”

“อยากให้โชว์จิตวิญญาณของคนโรฮิงญาให้คนเขาเห็นเขาจะได้เลิกเข้าใจผิด”

“แล้วก็วันนึงก็เดี๋ยวกลับบ้านด้วยกันนะคะ”

ข้อความจากหญิงสาวอายุ 32 ปี สู่เพื่อนพี่น้องชาวโรฮิงญาที่ต้องเผชิญความรุนแรงและความเกลียดชัง การถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะ เชื้อชาติ ศาสนา 

เรื่องราวที่เธอพูด เป็นเพียงเศษเสี้ยวของยอดภูเขาน้ำแข็งของความรุนแรง ที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญมาตลอดระยะเวลา 82 ปี การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

การมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้มีเพียงส่วนเดียวก็หมายถึงชีวิตของผู้คนที่เฝ้ารอวันได้กลับบ้านถูกพรากไป

รวมไปถึงการเมินเฉยเพียงหนึ่งครั้งก็นับเป็นการส่งเสริมความรุนแรง 

ประเทศไทยไม่ได้ลงนามใน อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees) และ พิธีสารปี 1967 (1967 Protocol Relating to the Status of Refugees) ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดสิทธิและสถานภาพของผู้ลี้ภัย รวมถึงหน้าที่ของรัฐภาคีในการปกป้องผู้ลี้ภัย ซึ่งจะทำให้ความหมายของคนลี้ภัยกลายเป็นเพียง ผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ที่จะสามารถถูกกักขัง ส่งกลับ เก็บส่วย ได้ตลอดเวลา 

แม้ประเทศไทยจะใช้หลักมนุษยธรรมและความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติในการจัดการผู้ลี้ภัยมาเสมอ

แต่ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับการลงนามผู้ลี้ภัยของประเทศไทย ในวันที่ไทยสามารถทำได้ดีกว่านี้ในด้านสิทธิมนุษยชน