ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
ทุกสิ้นปี คอลัมน์ “ในความเคลื่อนไหว” จะอุทิศให้กับการนำเสนอหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองที่เผยแพร่ในรอบปีที่ผ่านมา โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แน่นอนว่ารายการที่แนะนำคัดเลือกมาจากอัตวิสัยของผู้เขียน ซึ่งอาจจะขาดตกบกพร่อง หรือพลาดงานที่ดี ๆ อีกหลายชิ้นไป
ปี 2567 เป็นอีกปีที่หนังสือด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ไทยทยอยเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง งานที่ผู้เขียนหยิบมาแนะนำในบทความนี้มีทั้งหนังสือแนววิชาการเข้มข้น วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอกที่ปรับปรุงแก้ไขมาเป็นหนังสือ งานวิจัยเล่มเขื่อง หนังสือรวมบทความคลาสสิกที่นำมารวมเล่มตีพิมพ์ใหม่ รวมถึงงานกราฟิกโนเวลที่อ่านสนุกเพลิดเพลิน
ขอแนะนำตามลำดับ (โดยไม่ได้เรียงตามความชอบหรือคะแนน) ดังต่อไปนี้
ตำรับสร้าง(รส)ชาติ
โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ (มติชน)
ชื่อของนริศ เป็นชื่อที่คุ้นเคยและเชื่อมือได้ในทางประวัติศาสตร์ หนังสือของเขาทั้งเล่าเรื่องสนุกและเต็มไปด้วยข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับอดีตที่อ่านเพลินเสมอ ในผลงานเล่มก่อน ๆ เขาค้นลึกลงไปที่ความเปลี่ยนแปลงในช่วงการปฏิวัติสยาม 2475 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เขาหลงใหลมากที่สุด มาในเล่มนี้ ขอบเขตของประวัติศาสตร์ที่เขาพาเราย้อนกลับไปครอบคุลมช่วงยาวกว่านั้นคือ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้ตำราอาหารเป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมการบริโภค วิถีชีวิต และกระทั่งมิติทางการเมืองที่เกี่ยวกับโภชนาการ และการสร้างพลเมือง เป็นอีกหนึ่งเล่มที่ช่วยเติมเต็มให้กับงานด้านประวัติศาสตร์สังคมและการสร้างชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่แผนที่ ธงชาติ เพลงชาติ แบบเรียน และสัญลักษณ์ความเป็นชาติอีกมากมายที่มีคนศึกษาไว้แล้ว งานชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่าตำราอาหารก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่เกี่ยวพันกับการสร้างชาติเช่นกัน เป็นงานที่อ่านอร่อย
2475 นักเขียนผีแห่งสยาม
โดย สะอาด และพชรกฤษณ์ โตอิ้ม (ด้วงคอมิกส์)
ผมเขียนแนะนำเล่มนี้ไปแล้วในหลายที่ แต่ก็ขอนำมารวมไว้อีกครั้งในที่นี้ เพราะเป็นงานที่อยากให้ได้อ่านกันในวงกว้าง งานเขียนแนวกราฟิกโนเวลที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองเป็นแนวงานที่หายากในสังคมไทย ทั้งที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นเต็มไปด้วยวัตถุดิบอันรุ่มรวยให้หยิบไปเล่าได้ไม่รู้จบ ในงานนี้ เราโชคดีที่ได้นักวาดการ์ตูนฝีมือดีอย่างสะอาด มาพาผู้อ่านย้อนกลับไปในช่วงก่อนการปฏิวัติพลิกแผ่นดินในปี 2475 ทั้งลายเส้น พล็อตเรื่อง และการสร้างตัวละครของสะอาด ทำให้เหตุการณ์ 2475 ซึ่งถูกศึกษากันอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว ถูกปลุกให้กลับขึ้นมามีชีวิตด้วยน้ำเสียงและลีลาแบบใหม่ที่ทั้งสดใหม่และมีพลัง หนังสือเล่มนี้ควรถูกนำไปบรรจุเป็นหนังสือนอกเวลาทั้งระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย
เสด็จพ่อ ร.5 วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย และประชาชนในรัฐนาฏกรรม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มติชน)
ชื่อของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ แทบจะเป็นชื่อที่ไม่ต้องบรรยายขยายความให้เปลืองเนื้อที่ การจากไปของนักประวัติศาสตร์ชั้นครูอย่างนิธิ คือ การจากไปของปัญญาชนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย จึงนับเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่มีการนำผลงานที่ไม่ค่อยได้รับการตีพิมพ์ซ้ำของนิธิมารวมเล่มไว้ในที่เดียวกัน เล่มนี้เหมาะกับทั้งนักอ่านรุ่นเก่าที่ชื่นชอบผลงานของนิธิอยู่แล้ว และนักอ่านรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับฝีไม้ลายมือ และการวิเคราะห์อันแหลมคมของนักประวัติศาสตร์อย่างนิธิ
บทความในเล่มนี้ส่วนใหญ่ใช้กรอบวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงยาวของสังคมและวัฒนธรรมไทย ผู้เขียนพาเราท่องไปในเรื่องราวของประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และนาฏกรรมต่าง ๆ ทั้งที่ผลิตโดยรัฐและสามัญชน เป็นหนังสือที่ทำให้ผู้อ่านหูตาสว่าง ไม่เพียงต่ออดีตแต่รวมถึงปัจจุบันและอนาคตที่รอสังคมไทยอยู่ข้างหน้าด้วย โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ การสืบทอดอำนาจ และอำนาจนำทางศีลธรรมที่เสื่อมคลายในสังคมไทย บางบทอ่านแล้ว แทบวางไม่ลง
Dictatorship on Trial: Coups and the Future of Justice in Thailand
โดย Tyrell Haberkon (Stanford University Press)
ผู้เขียนเป็นนักวิชาการที่ศึกษาสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 2 ทศวรรษ งานของไทเรล ฮาร์เบอคอร์น มักจะรวมเอามิติทางประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์เข้าด้วยกัน ทำให้บทวิเคราะห์ในงานของเธอมีความลุ่มลึก งานชิ้นนี้คือบทบันทึกที่ดีที่สุดชิ้นนี้เกี่ยวกับความยุติธรรมกับระบอบรัฐประหารในสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยรวบรวมข้อมูลอย่างกว้างขวาง รวมถึงการเข้าไปสังเกตการณ์พิจารณาคดีทางการเมืองในศาลด้วยตัวเอง นำมาสู่บทวิเคราะห์ผ่านคดีสำคัญที่สะท้อนว่าหลักนิติรัฐนิติธรรมในสังคมไทยสูญสลายลงไปอย่างสิ้นเชิงแถมอยู่ในสภาวะกลับหัวกลับหาง
เมื่อผู้ที่ใช้กำลังฉีกทำลายรัฐธรรมนูญลอยนวลพ้นผิด ส่วนประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยกลับถูกพิพากษาลงทัณฑ์ งานของไทเรลทำให้เห็นว่าระบอบรัฐประหารในปัจจุบันของไทย (และอีกหลายประเทศทั่วโลก) ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องอำนาจที่ขาดความชอบธรรม ส่วนที่ผมชอบที่สุดของหนังสือ คือ ไทเรลลองเขียนคำพิพากษาที่ควรจะเป็นของแต่ละคดีที่เธอศึกษาเสียใหม่ ว่าหากใช้หลักฐานและตีความโดยยึดหลักความยุติธรรม หน้าตาของคำตัดสินจะเปลี่ยนไปเช่นไร ช่างเป็นวิธีการศึกษาที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความหวังที่งานชิ้นนี้ฝากไว้ให้กับผู้อ่าน
ในนามของความมั่นคงภายใน
โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ (ฟ้าเดียวกัน)
เล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางที่สุดเล่มหนึ่งในรอบปี เนื่องจากปรากฏเป็นข่าวครึกโครม งานชิ้นนี้เมื่อตีพิมพ์ออกมาในภาคภาษาอังกฤษได้ถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดีที่สุดแห่งปีเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียโดยวารสาร Foreign Affairs ที่ทรงอิทธิพลระดับโลก เล่มนี้เป็นหนังสือที่ช่วยต่อภาพความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพในการเมืองและสังคมไทยได้อย่างดีเยี่ยม โดยเจาะลึกถึงวิธีคิด ปฏิบัติการ และวิธีการที่กองทัพใช้ในการแทรกซึมและควบคุมสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขบวนการมวลชน กิจกรรมสอดส่องการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ การทำสงครามจิตวิทยา กิจกรรมด้านการจัดอบรมเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ ฯลฯ อ่านจบแล้วก็จะเข้าใจว่าเหตุใด หาคำตอบด้วยตนเองว่า เหตุใดประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศจำนวนน้อยในโลกที่กองทัพยังมีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองและสังคมอย่างสูง
Indigenizing the Cold War: The Border Patrol Police and Nation-Building in Thailand โดย Sinae Hyun (University of Hawaii Press)
หนังสือเล่มนี้พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียน ซึ่งศึกษาตำรวจตระเวนชายแดนของไทย อันเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมกับผู้นำทหารไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามเย็นในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯ เป็นงานที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยศึกษามาเกี่ยวกับบทบาทของตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งถูกขยายบทบาทอย่างมากในยุคทศวรรษ 2500 และ 2510 กระทั่งเข้ามามีบทบาทในการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ใจกลางพระนคร สิ่งที่โดดเด่นคือ กรอบการวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นว่า สงครามเย็นไม่ใช่แค่เรื่องของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ระหว่างสองค่ายมหาอำนาจ แต่คือโอกาสสำหรับชนชั้นนำไทย (และประเทศกำลังพัฒนา) ในการฉวยใช้ความขัดแย้งนี้เพื่อเพิ่มพูนอำนาจและผลประโยชน์ให้กับตนเองในนามของความมั่นคง อ่านเล่มนี้คู่กับเล่ม ในนามของความมั่นคงภายใน ก็จะยิ่งเห็นภาพกระจ่างชัด
ชาติเมื่อวายชนม์ อุดมการณ์รัฐไทยในอนุสรณ์ฯ ผู้ดับสูญ
โดย พรชัย นาคสีทอง (มติชน)
หนังสือเล่มนี้ใช้หนังสืองานศพที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในภาคใต้ ครอบคลุมระยะเวลาช่วงยาวมากตั้งแต่ พ.ศ. 2460-2550 คือตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงยุควิกฤตการเมืองสมัยใหม่ เพื่อสะท้อนและบอกเล่าถึงวิธีคิด ความเชื่อ อัตลักษณ์ และความใฝ่ฝันของคนใต้ ธรรมเนียมการใช้หนังสืองานศพเป็นแหล่งวัตถุดิบในการเล่าประวัติศาสตร์นั้นมีมานานแล้ว จุดเด่นของงานชิ้นนี้คือ สำรวจเจาะลึกลงไปในเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ผ่านหลายยุคหลายสมัย จึงทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว แน่นอนว่าการศึกษาหนังสืองานศพย่อมไม่ใช่การศึกษาชีวิตของคนทั่วไป แต่คือชนชั้นนำหรือคนที่มีสถานะทางสังคม เพราะคนที่จะมีหนังสืองานศพเป็นของตนเองย่อมไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป หนังสือเล่มนี้ช่วยสลายภาพความเข้าใจหลายอย่างต่ออัตลักษณ์ของคนใต้ ที่มักถูกฉายภาพว่าเป็นคนขบถ หัวแข็ง ต่อต้านอำนาจรัฐ รักอิสระ แต่จากการศึกษาผ่านหนังสืองานศพ ผู้ศึกษาพบว่าอุดมการณ์รัฐไทยที่ผลิตโดยชนชั้นนำและปัญญาชนส่วนกลางแผ่ซ่านและครอบงำวิธีคิดของชนชั้นนำภาคใต้อย่างมาก หนังสือเล่มนี้กระตุ้นให้เกิดคำถามตามมาอีกหลายคำถาม และชี้ว่ายังมีอะไรให้เขียนอีกสารพัดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการเมืองของคนใต้
คณะทหารหนุ่มยังเติร์ก อุดมการณ์ ความฝัน ความจริง
โดย บัญชร ชวาลศิลป์ (แสงดาว)
เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “กบฏยังเติร์ก” หรือ “กบฏเมษาฮาวาย” เป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยังเต็มไปด้วยปริศนา ความพยายามก่อรัฐประหารโดยคณะทหารยศนายพันที่ทะเยอทะยานทางการเมือง ที่เกือบสำเร็จเพราะรวบรวมกำลังพลเข้าร่วมก่อการได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่กลับล้มเหลวอย่างหักมุม ผู้เข้าร่วมยึดอำนาจครั้งนั้นต่างมีชะตากรรมที่ผกผันกันไปตามทาง หลายคนยังมีบทบาททางการเมืองในยุคต่อ ๆ มา หนังสือเล่มนี้พยายามย้อนกลับไปไขปริศนาทั้งตัวเหตุการณ์และกลุ่มกบฏยังเติร์กโดยผู้เขียนเองเป็นนายทหารที่มีชีวิตร่วมยุคร่วมสมัยในห้วงประวัติศาสตร์ดังกล่าว เป็นหนังสือที่อ่านสนุก และมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ เนื่องจากผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์นายทหารในกลุ่มดังกล่าว อ่านจบแล้วก็ชวนให้คิดว่าการศึกษารัฐประหารที่ล้มเหลวอาจช่วยให้เราทำความเข้าใจการทำงานของอำนาจในการเมืองไทยได้ดีกว่าการศึกษาการรัฐประหารที่สำเร็จ
พลวัตทางอุดมการณ์ของชนชั้นกลางไทยในคืนวันที่ผันแปร
โดย สายชล สัตยานุรักษ์ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
หนังสือเล่มหนานี้เป็นบทสังเคราะห์โครงการวิจัยที่มีชื่อว่า “ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ระบบคุณค่า และระบอบอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทย พ.ศ. 2500-2560” ซึ่งประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย 9 โครงการ นับเป็นงานที่พยายามวิเคราะห์และเข้าใจชนชั้นกลางไทยอย่างเป็นระบบมากที่สุดในรอบหลายปี ชนชั้นกลางไทยเคยเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากสื่อและปัญญาชนในช่วงทศวรรษ 2530 จากความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจและบทบาทของพวกเขาในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เลือนหายไป จึงเป็นที่น่ายินดีที่มีความพยายามเข้าใจชนชั้นกลางอีกครั้ง ที่น่าชื่นชมคือ เล่มนี้เปลี่ยนมุมศึกษาชนชั้นกลางจากมุมเศรษฐศาสตร์และการเมือง ไปสู่มิติทางวัฒนธรรม ดูการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ชีวิตครอบครัว การนับถือศาสนา การเสพละครและสื่อบันเทิงต่าง ๆ การเดินทางท่องเที่ยว สุนทรียะ การงาน และกระทั่งความรัก ทุกคนทราบดีกว่าชนชั้นกลางคือกลุ่มพลังทางสังคม และการเมืองที่หลากหลายและมีความเปลี่ยนแปลงสูงโดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้คือ แผนที่นำทางที่จะช่วยให้เราเข้าใจความคิดและความรู้สึกของพวกเขาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ขอให้ทุกคนสนุกกับการอ่านครับ