ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม
วีรพร นิติประภา
จำนวนเยาวชนที่ฆ่าตัวตายในช่วงปีที่ผ่านมาไม่เพียงแต่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่อายุของผู้พยายามและกระทำสำเร็จยังน้อยลงอีกด้วย ล่าสุดในข่าวมีอายุแค่ 12 ปีเท่านั้น
การฆ่าตัวตายในเด็กเป็นปัญหาที่ต้องการทำความเข้าใจในมิติที่หลากหลาย อย่างตั้งใจและจริงและเร่งด่วนยิ่งยวดในการแก้ไข ไม่ใช่แค่ป้องปราม …สั่งสอน ประหนึ่งเด็ก ๆ ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร และที่แย่กว่านั้น ความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายยังติดต่อกันได้เหมือนโรคระบาด โดยเฉพาะในหมู่คนอายุน้อย ๆ
การเลือกตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในเด็กและวัยรุ่นแตกต่างจากการฆ่าตัวตายในผู้ใหญ่มาก ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่คนอายุน้อย ๆ มักจะมองโลกในแง่ดี ร่าเริง มีความสุข และมักถูกมองว่าไม่มีเหตุแห่งความทุกข์เทียบเท่าผู้ใหญ่ เพราะยังไม่มีภาระต้องดูแลตัวเอง ยังไม่ได้เริ่มต้นใช้ชีวิตจริงจัง หรือเหนื่อยล้าจากความกดดันต่าง ๆ
…ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น
แต่เมื่อไม่เป็นอย่างที่เราเข้าใจกัน การเลือกจบชีวิตตนเองในเด็กยังบ่งบอกอีกด้วยว่าปัญหาความกดดันที่สุมใส่ทำร้ายเด็ก ๆ เป็นปัญหามาจากคนอื่น และแน่นอน ซับซ้อน มีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ถูกมองข้าม และไม่สามารถจัดการได้ด้วยการพล่ามสอน สั่ง ห้าม ในฝั่งเด็กแต่ฝั่งเดียวอย่างที่เราทำ ๆ กันอยู่
ทุกครั้งที่มีข่าวเด็กฆ่าตัวตาย เราก็มักจะได้ยินคนพูดว่า ‘ทำอะไรทำไมไม่คิดถึงพ่อแม่’ โดยไม่ฉุกคิดกระทั่งว่า นั่นสิ ทำไมเขาถึงไม่คิดถึงพ่อแม่ คนสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก ๆ คือพ่อแม่ แน่นอนว่าเขาจะต้องคิดถึงพ่อแม่อยู่แล้วเป็นอันดับแรก แต่เขาก็ยังเลือกทำ เราจำเป็นต้องยอมรับความเป็นไปได้ว่าการฆ่าตัวตายอาจเป็นการจงใจตอบโต้ เป็นการตั้งใจทำให้พ่อแม่เสียใจ นอกเหนือจากความเป็นไปได้ของการเลี้ยงดูที่ผิดพลาดซึ่งทำให้เขารู้สึกไร้ค่า จนคิดว่าพ่อแม่คงไม่ยี่หระที่เขาจะจากไป
หลายครั้งมีเหตุมาจากความรัก ความหวังดี และความคาดหวังของพ่อแม่ ซึ่งทำให้เขาผิดหวังในตัวเอง และรู้สึกไร้ค่าเมื่อไม่สามารถตอบสนองได้ โลกอุตสาหกรรมทำให้เราสร้างบรรทัดฐาน และสิ่งที่ไม่ได้สแตนดาร์ดจะถูกมองเป็นของเสีย ชำรุด มีตำหนิ ไม่ผ่านคิวซี และต้องคัดทิ้งเพื่อทำลาย และแนวคิดนี้ซึ่งก็มาจากความกลัวของพ่อแม่ก็ถูกนำมาใส่หัวเด็ก ๆ เช่นกัน ผ่านการพยายามเคี่ยวเข็น ผ่านการแข่งขันตั้งแต่เล็ก ๆ ผ่านเกรดคะแนน และคำพูดทำนองถ้าทำนั่นนี่ไม่ได้หรือคะแนนเรียนไม่ดีก็คือเอาดีไม่ได้ หรืออะไรทำนองนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งก็ตาม ทั้งที่คนไม่ได้ถูกผลิตออกมาจากโรงงาน

น้อยที่สุดก็คือพ่อแม่ไม่สามารถทำให้เขารู้สึกว่าถูกรักมากพอที่เขาจะรักตัวเอง
ที่พูดกันมากอีกประโยคคือ ‘มีปัญหาทำไมไม่ปรึกษาพ่อแม่’ ซึ่งทำให้เราเห็นความห่างเหินและที่มาของปัญหาอีกอย่างด้วย ไม่ว่าจะด้วยอะไร เด็กไม่สามารถปรึกษากับพ่อแม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น และนั่นคือเขาจะถูกทิ้งให้รู้สึกว่าตัวคนเดียว และไม่มีใคร ซึ่งก็เป็นสาเหตุใหญ่พอที่จะทำให้คนละทิ้งชีวิตได้เหมือนกัน
ที่กล่าวมาไม่ได้กล่าวหาว่า พ่อแม่เป็นต้นเหตุ แต่เราจำเป็นต้องมองหาสิ่งที่เรามองข้าม มันมีสิ่งที่เรามองข้ามในเรื่องนี้อยู่ เราทุกคนรักลูกและอยากเป็นพ่อแม่ที่ดีกันทั้งนั้น และแน่นอน หลายครั้งความผิดพลาดล้มเหลวของเราในการเป็นบุพการีก็เป็นผลพวงมาจากความผุพังของสังคมอีกที ไม่ว่าจะความกดดันจากงาน ความเครียด ความกระเบียดกระเสียรชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือแม้แต่ความรู้สึกลึก ๆ ที่ฝังหัวเรามาว่า ลูกเป็นภาระ
เราไม่สามารถโทษปัญหาที่เพิ่งเข้ามากระทบเด็ก ๆ แต่เท่านั้น ไม่ว่าจะปัญหาความรัก การถูกบุลลีทำร้ายในสถานศึกษา หรือกระทั่งปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่เราต้องพยายามเข้าใจคือเหล่านี้ล้วนเป็นแค่ตัวกระตุ้น การละทิ้งชีวิตเป็นเรื่องใหญ่ และต้องอาศัยความเปราะบางเรื้อรังมหาศาลผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ความเดียวดาย ความป่วยไข้ทางจิตซึ่งมักพัฒนามาจากการเลี้ยงดู การถูกทำร้าย ทั้งจากการเพิกเฉย โดดเดี่ยว ด่าว่า ข่มขู่ ทุบตี ประทุษร้ายทั้งกายและใจในรูปแบบต่าง ๆ น้อยมากที่จะความป่วยไข้ทางจิตจะเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
ที่สำคัญสังคมของเรายังมองการฆ่าตัวตายว่าเป็นการคิดสั้น ทั้งที่บ่อยครั้งมันไม่ได้เป็นการกระทำชั่ววูบ หากถูกไตร่ตรองและคิดมาเป็นอย่างดี อีกทั้งนานพอที่เราจะสามารถมองเห็นเค้าลางได้ล่วงหน้าด้วย ไม่ว่าจะจากการถอยห่างออกมาของเด็กเอง ไม่เล่น ไม่พูดคุย ไม่สามารถบอกเล่าความทุกข์ อธิบายผลการเรียนตกต่ำ การแยกตัว เก็บตัว หมกมุ่น ไม่ร่าเริง ไม่สนใจสิ่งรอบตัว
ยิ่งกว่านั้นเรายังชอบสรุปกันว่า เด็กฆ่าตัวตายเป็นเพราะตัวเด็กเองอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง …ไม่สู้ชีวิต และละเลยว่าถามหาที่มาของความอ่อนแอนั้น มันง่ายที่จะสรุปว่าคนนี้ไม่สู้ชีวิต คนนั้นไม่อดทน และทำให้ตัวเองรู้สึกเก่งกว่าที่เอาชีวิตรอดมาได้ แต่การเอาชีวิตตนเองก็บอกอยู่ทนโท่ว่าเขาอดทนและสู้มามากจนล้า สู้มาจนไม่มีหวัง และความเชื่อว่าชีวิตต่อไปจะดีขึ้นแล้วต่างหาก …สู้จนถึงขนาดเลือกไม่สู้ และเลือกหนีออกจากชีวิตมากกว่าอยู่ รวมทั้งการถูกสอนมาให้ต้องเป็นผู้ชนะ ไม่สามารถยอมรับความพ่ายแพ้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนนำมาซึ่งความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอที่จะอยู่ในโลกด้วย
และในความเป็นจริง ไม่ใช่คนอ่อนแอหรอกที่ฆ่าตัวตาย คนอ่อนแอจะอ่อนแอเกินกว่าจะคิดหรือทำเรื่องยากขนาดนี้ คนกล้าหาญเข้มแข็งต่างหากที่มักฆ่าตัวตาย และอันตรายกว่านั้นคือทำได้สำเร็จ

ทั้งหมดที่พูดมาผู้เขียนไม่ได้มีรายละเอียดข้อมูลมากพอ แต่ไม่ใช่แค่เท่าที่เราคิด ๆ และพูด ๆ กัน เราต้องคิดมากกว่านี้ ลงลึกในปัญหานี้มากกว่านี้ เท่าที่พยายามจะบอกคือการฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และยังส่วนตัวมากด้วย และเรา…ผู้ใหญ่และคนทั้งสังคมต้องร่วมกันรับผิดชอบ เราต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับเรื่องนี้มากกว่านี้ เพื่อที่จะร่วมกันแก้ไข ป้องกัน
ไม่มีสิ่งใดจะบ่งบอกถึงความผุพังและล้มเหลวของสังคมและมนุษยชาติ ได้มากไปกว่าการที่คนอายุแค่ไม่กี่ปีไม่สามารถจะมีชีวิตที่ดีพอที่เขาจะอยู่ และเติบโต และเลือกปลิดชีวิตตัวเองอีกแล้ว
ชีวิตแสนสั้นที่เขาผ่านรู้จักต้องทุกข์ยากน่ากลัวมากเกินกว่าที่เขาจะฟันฝ่า
และการเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องน่าชังเกินกว่าเขาจะเติบโตเป็นด้วย