ความตายที่ชายแดน 'อ่องโกโก' ความยุติธรรมที่ล้มเหลว 'ลอยนวล' - Decode
Reading Time: 4 minutes

อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นดินแดนไทยที่มีพื้นที่ใกล้ชิดกับประเทศเมียนมามากที่สุด และเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยชายแดนสำหรับสัญจรข้ามไป-กลับระหว่างประเทศไทยและเมียนมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพื้นที่ที่เรียกว่า ‘พื้นที่ 70 ไร่’ ที่คนเมียนมามักใช้สัญจรไปมา

พื้นที่ 70 ไร่เป็นพื้นที่กึ่งกลาง (No Man’s Land) หรือพื้นที่ที่ยังไม่ตกอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทยหรือเมียนมา และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา โดยมีหน้าที่เป็นเพียงทางผ่านของคนเมียนมาที่ข้ามมาทำงานหรือเยี่ยมญาติที่อยู่ฝั่งไทย

และ อ่องโกโก ก็เป็นหนึ่งในพลเมืองเมียนมาวัย 37 ปี ที่คุ้นเคยกับเส้นทางนี้ ทว่าตามปากคำของ พยาน กลุ่มทหารสี่นายได้จับกุมอ่องโกโกบริเวณดังกล่าวขณะกลับจากประเทศเมียนมา และเมื่อราว 11:00-15:00 น. ของวันที่ 12 มกราคม 2567 อ่องโกโกกลายเป็นร่างไร้ลมหายใจอยู่ในพื้นที่ไม่ไกลนักกับพื้นที่ 70 ไร่

สืบเนื่องจากรายงาน ‘ความตายที่พรมแดนไทย-เมียนมา การควบคุมตัว การทรมาน และการสังหารอ่องโกโก พลเมืองสัญชาติเมียนมาในประเทศไทย’ กองบรรณาธิการ Decode ได้ติดต่อสัมภาษณ์กับ Fortify Right หน่วยงานที่ทำงานในคดีดังกล่าว เพื่อขยายผลของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยอ้างอิงรายงานของ Fortify Right เป็นสำคัญ เนื่องจาก Fortify Right เข้าถึงพยานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านการสัมภาษณ์ประจักษ์พยานและบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของอ่องโกโกทั้งหมด 23 ราย ประกอบด้วยชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจากบ้านใต้ ผู้ใหญ่บ้านตำบลท่าสายลวด สมาชิกในครอบครัว และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การซ้อมทรมานอ่องโกโกโดยตรง อาทิ ศิรชัช ม.ล. และ ย.จ. รวมถึงพยานคนอื่น ๆ ที่ผ่านมาเห็นร่างไร้วิญญาณของอ่องโกโก อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจแม่สอด และเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่

อ่องโกโกเคยเป็นอาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยชุมชน (ชรบ.) ที่เป็นกลุ่มพลเรือนอาสาสมัครในพื้นที่ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชุมชน โดยอาสาเหล่านี้จะได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอ และได้รับการอบรมจากหน่วยงานของรัฐที่มีหลักสูตรอบรมชรบ. (กรมการปกครอง จังหวัด อำเภอ) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย โดยอาสาจะได้รับเสื้อกั๊กสีดำพร้อมตราสัญลักษณ์ของกรมการปกครองและธงชาติไทย

ตามระเบียบแล้ว ชรบ.จำเป็นต้องมีสัญชาติไทย แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่ทางการไทยจะแต่งตั้งพลเมืองเมียนมาที่มีเอกสารพำนักระยะยาวให้เป็นชรบ. เพราะพื้นที่แม่สอดมีประชากรชาวเมียนมาอยู่ค่อนข้างมากและกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ จึงพบชรบ.ที่เป็นคนสัญชาติเมียนมาอยู่หลายกรณี อ่องโกโกก็เช่นกัน เขาได้เข้าเป็นชรบ. เพราะได้คนที่รู้จักกับชรบ.อยู่แล้ว แม้จะไม่มีเอกสารใด ๆ ก็ตาม

ความตายที่พรมแดน
6 ชั่วโมงก่อนอ่องโกโกเสียชีวิต

“ช่วยผมด้วย! ผมไม่ได้ทำอะไรผิด! ผมไม่ได้ทำความผิด! ช่วยผมด้วย” อ่องโกโกร้องตะโกนขึ้น

เวลาประมาณ 10:00 น.

อ่องโกโกถูกทหารควบคุมตัวบริเวณสะพานไม้แห่งหนึ่งบริเวณไม่ใกล้ไม่ไกลจากพื้นที่ 70 ไร่ โดยสาเหตุในการควบคุมตัวคือ อ่องโกโกนั้นมีเสื้อกั๊กของชรบ. ไว้ในครอบครอง อีกทั้งก็ยังตั้งข้อสงสัยว่าอ่องโกโกอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ศิรชัช ชาวเมียนมาผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (หน่วยเดียวกับอ่องโกโก) ได้รับโทรศัพท์จากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านว่า มีการจับกุมชายเมียนมาคนหนึ่ง (อ่องโกโก) บริเวณพื้นที่ 70 ไร่ใกล้ ๆ เส้นพรมแดน และผู้ช่วยฯ ได้สั่งให้ศิรชัชไปยังจุดเกิดเหตุเพื่อดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับ ม.ล. และ ย.จ. (นามสมมติ) พลเมืองสัญชาติเมียนมาและสมาชิกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (หน่วยเดียวกับอ่องโกโก) ที่ได้รับข้อมูลเช่นเดียวกัน ก็รีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ

เวลาประมาณ 11:45-12:20 น.

ศิรชัช ม.ล. และย.จ.ได้เดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุ และเห็นว่าอ่องโกโกนั้นนั่งขัดสมาธิอยู่บนพื้น มือทั้งสองข้างถูกมัดไว้ด้านหลัง ท่ามกลางทหาร 4 นายในชุดลายพรางเต็มยศ สวมหมวกทหาร และสะพานปืนยาว ทหารนายหนึ่งถามทั้งสามว่า อ่องโกโกเป็นสมาชิกชรบ. จริงรึไม่ 

ม.ล. และย.จ. ยืนยันกับทหารว่าอ่องโกโกเป็นสมาชิกชรบ. จริง แต่เขากลับไปทำงานที่เมียวดี (อีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่ 70 ไร่) ได้ประมาณหนึ่งเดือนแล้ว แต่ด้านศิรชัชซึ่งไม่รู้จักกับอ่องโกโก จึงไม่ได้ยืนยันกับทหารว่า อ่องโกโกเป็นสมาชิกจริงหรือไม่

ทาง Fortify Right ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเป็นสมาชิกชรบ. ของพลเมืองเมียนมาจะต่างกับพลเมืองไทย ตามระเบียบของกิจการความมั่นคงภายใน สมาชิกชรบ. จะได้รับบัตรประจำตัวที่มีอายุ 6 ปี ทว่าสมาชิกชรบ.เมียนมาจะไม่ได้รับบัตรหรือเอกสารใด ๆ ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า อ่องโกโกเป็น สมาชิกของชรบ. จริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี ทาง Fortify Right ได้เปิดเผยภาพถ่ายของนายอ่องโกโกที่ยืนเข้าแถวร่วมกับสมาชิกชรบ. คนอื่น ๆ 

ด้านศิรชัช ซึ่งไม่เคยรู้จักกับอ่องโกโกมาก่อน Fortify Right ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศิรชัชเป็นหนึ่งในแรงงานข้ามชาติที่ย้ายเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ไทยตั้งแต่อายุ 7 ปี เขาไม่มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องในประเทศไทย เติบโตขึ้นในศูนย์การเรียนรู้ในแม่สอด ถูกรับเลี้ยงโดยผู้ใหญ่บ้านที่เอ็นดู จนเติบโตขึ้นมาเป็นสมาชิกของชรบ. ในระดับสั่งการ (ทำงานร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งต่างจากอ่องโกโกที่ทำงานในระดับปฏิบัติการ คือทำงานจิปาถะในพื้นที่ ดูแลความเรียบร้อย และสื่อสารกับคนเมียนมา

ทั้งสามขอร้องให้ทหารปล่อยตัวอ่องโกโกที่ขณะนั้น มีบาดแผลที่ใบหน้าและอาการมึนเมาแล้ว ทว่าทหารไม่ยอมปล่อยตัว และพาอ่องโกโกไปยังบริเวณป้อมทหารเก่าแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากจุดสอบสวนประมาณ 500 เมตร ราว 20 นาทีหลังจากอ่องโกโกและทหารสามนาย (อีกหนึ่งนายเฝ้าอยู่ที่สะพาน) ออกจากพื้นที่สะพาน ย.จ.เล่าว่า ได้ยินเสียงอ่องโกโกตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งสามจึงเดินตามเสียงร้องนั้นไป

“เมื่อผมอธิบายว่าอ่องโกโกเป็นลูกน้องของผม พวกเขาก็ไม่ยอม ผมพยายามขอโทษและขอให้ ปล่อยตัวเขา แต่ทหารไม่ยอมปล่อยตัว ตอนนั้นเขามีบาดแผลที่ใบหน้าแล้ว” ย.จ.บอกกับ Fortify Right

ทั้งสามคนพบว่า ทหารกำลังสอบปากคำและทรมานอ่องโกโก การซ้อมทรมานเริ่มขึ้นต่อหน้าพยานทั้งสามคน ม.ล.บรรยายการซ้อมทรมานดังกล่าวว่า ทหารได้นำไม้ไผ่ตีที่แผ่นหลังและขาของอ่องโกโกซ้ำหลายครั้ง จนไม้ไผ่หัก จากนั้นก็ใช้ไม้ยาวกว่า 1.5 เมตรตีต่อจนกระทั่งไม้หักอีกครั้ง และใบหน้าของอ่องโกโกเปรอะเปื้อนไปด้วยดินและเลือดจนแทบมองไม่ออกว่าเป็นอ่องโกโก

ทั้งสามอ้างว่า ทหารที่ซ้อมทรมานอ่องโกโกนั้น เป็นทหารจากหน่วยรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนที่มีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบตามคลองแม่ตาว และยังมีอาวุธครบมือเหมือนทหารทั่วไป แต่ย.จ.เล่าว่า ทหารเหล่านี้ไม่มีเครื่องหมายที่ชัดเจน เขาเห็นเพียงบั้งสองหรือสามขีดที่ติดไว้บนปกของทหารคนหนึ่ง กับอีกคนหนึ่งที่ไม่มีบั้งอะไรบนปกเลย

Fortify Right รายงานว่า ทหารที่ประจำอยู่ในบริเวณที่อ่องโกโกถูกสังหาร คือ หน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษภายใต้กองกำลังนเรศวร และกองกำลังนเรศวรก็หน่วยรบพิเศษภายใต้กระทรวงกลาโหมอีกทีหนึ่ง โดยหน่วยเฉพาะกิจราชมนูได้รับมอบหมายให้คุ้มครองพรมแดนจังหวัดตาก อาทิ การจับกุมผู้ที่ไม่มีเอกสารผู้ลี้ภัยและการลักลอบขนยาเสพติด

แต่อย่างไรก็ดี อารมณ์โกรธไม่ได้เกิดขึ้นกับทหาร 4 นายเท่านั้น ศิรชัชให้สัมภาษณ์กับ Fortify Right ว่า เขาเองก็มีส่วนร่วมในการทำร้ายอ่องโกโกเช่นเดียวกัน เพราะเขารู้สึกโกรธที่อ่องโกโกใส่เสื้อกั๊กของชรบ. จึงหยิบลำไม้ไผ่แห้งตีเข้าที่หน้าแข้งของอ่องโกโก 2 ครั้ง และตีเข้าที่ก้นอีก 1 ครั้ง 

แต่เขาก็อธิบายว่าอีกว่า เขาก็พยายามที่จะตีอ่องโกโกเพื่อส่งสัญญาณให้ทหารว่า เขาที่มาในนามของผู้ใหญ่บ้าน เขาได้สั่งสอนอ่องโกโกแล้ว ซึ่งจะให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนจัดการต่อ และระหว่างตีก็ได้พูดกับอ่องโกโกเป็นภาษาเมียนมาว่าให้เงียบ ๆ ไม่ต้องพูดอะไรแล้ว เพราะว่าด้วยอาการมึนเมาจากการถูกซ้อม ทำให้อ่องโกโกไร้สติที่จะตอบคำถาม เช่น อ่องโกโกมีญาติอยู่ที่แม่สอด แต่บอกทหารไปว่า ไม่มีญาติอยู่ที่นี่

การสอบปากคำและซ้อมทรมานเกิดขึ้นราว 30 นาที ทหารสั่งให้ศิรชัชและย.จ.ออกจากพื้นที่บริเวณป้อมทหาร แต่ให้ม.ล.อยู่รอก่อนเพื่อเป็นล่ามแปลให้อ่องโกโก ขณะที่ศิรชัชและย.จ.กำลังออกจากพื้นที่ ม.ล.ก็ยังเห็นทหารซ้อมทรมานอ่องโกโกต่อไป

“ตอนที่ทหารหยุดทุบตีเขา พวกเขาพูดว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ (อ่องโกโก) จะได้อยู่ที่นี่ พวกเขาเตือนว่าถ้าอ่องโกโกกลับมาอีก คราวนี้ได้ตายแน่นอน” ม.ล.บอกกับ Fortify Right

หลังการซ้อมทรมานเสร็จสิ้น ทหารทั้งสามได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ป้อมทหาร และกลับไปยังบริเวณสะพานที่จับกุมอ่องโกโก และสั่งให้ม.ล.นำอ่องโกโกที่ตอนนั้นใกล้จะสิ้นสติและร่างกายไม่สามารถเดินได้แล้ว ส่งกลับไปยังพรมแดนประเทศเมียนมา

เวลาประมาณ 12:30 น.

ม.ล.พยายามพยุงร่างของอ่องโกโกที่อ่อนแรงและได้รับบาดเจ็บสาหัสข้ามกลับไปยังพรมแดนเมียนมา เพื่อส่งตัวให้โรงพยาบาลเมียวดี ม.ล.เรียกขอความช่วยเหลือจาก ร.อ. แม่ค้าหญิงชาวเมียนมาคนหนึ่งที่เดินข้ามฝั่งมายังประเทศไทยพอดี ให้เธอช่วยพยุงร่างของอ่องโกโก แต่อ่องโกโกเดินได้เพียง 4-5 ก้าวก็ล้มลง เขายังบอกกับม.ล.อีกว่า เขาเดินไม่ไหวแล้ว ทรุดลง เลือดไหลออกจากบาดแผลจำนวนมาก ทั้งสองจึงปล่อยอ่องโกโกไว้บริเวณ 2-3 เมตรจากป้อมทหาร แยกย้ายกันไปขอความช่วยเหลือ ม.ล.รีบกลับไปขอความช่วยเหลือจากบ้านใต้ ส่วนแม่ค้าหญิงกลับไปขอความช่วยเหลือจากฝั่งเมียนมา

ระหว่างนั้นมีพยานอีกสองคนเดินผ่านมาพบอ่องโกโกที่กำลังหายใจรวยริน 

ร.บ. พบอ่องโกโกอยู่ใกล้กับบริเวณป้อมทหาร ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีทหารไทยสามนายประจำการอยู่

ร.ช. ได้รับโทรศัพท์จากญาติของอ่องโกโกว่า ให้พาเขาไปที่โรงพยาบาล

และด้าน ย.จ. พยานที่เห็นอ่องโกโกถูกซ้อมทรมานอีกคนหนึ่ง บอกกับ Fortify Right ว่า เขาได้รับโทรศัพท์จากสมาชิกชรบ. ว่าอ่องโกโกเสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 14:30 น.

เวลาประมาณ 15:00 น.

ร.อ. ร.บ และ ร.ช. กลับไปดูอ่องโกโกอีกครั้งบริเวณใกล้กับป้อมทหาร แต่ร่างของอ่องโกโกไม่อยู่แล้ว ทั้งสามไปพบร่างของอ่องโกโกนอนอยู่บนแคร่ไม้ไผ่บริเวณใกล้ ๆ กับหลุมหลบภัย ลมหายใจของอ่องโกโกเริ่มแผ่วลงช้า ๆ ร.ช. บอกว่า อ่องโกโกไม่พูดอะไรเลย ไม่รู้ว่าเขาตายหรือยังมีชีวิตอยู่ ส่วนร.บ. เชื่อว่า อ่องโกโกน่าจะเสียชีวิตแล้ว เขาหายใจออกยาว ๆ และแน่นิ่งไป ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณชีวิตสุดท้ายของอ่องโกโก

หลังจากนั้น พลเมืองเมียนมาทั้งสามก็แยกย้ายกัน เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นผู้ฆาตกรรมอ่องโกโก

“หลังจากเขาตายไปแล้ว พวกเขา(ทหารไทย)บอกให้เราพาร่างของเขากลับไปประเทศเมียนมา แต่เราไม่กล้านำร่างของเขากลับไป พวก BGF ที่อยู่ใกล้ ๆ ก็จะควบคุมตัวเรา เราจึงกลัวมาก ถ้าเราเอาศพกลับไป เราต้องถูกจับแน่นอน ฉันจึงบอกกับทหารไทยเป็นภาษาพม่าว่า ‘หัวหน้า! ฉันจะไม่พาเขากลับไป เพราะเขาเสียชีวิตแล้ว ฉันจะกลับบ้านแล้ว’ ดูเหมือนว่าทหารไทยจะเข้าใจสิ่งที่ฉันพูด และไม่มีปฏิกิริยาอะไรอีกหลังจากนั้น” ร.ช. บอกกับทหาร เมื่อทหารบอกให้ทั้งสามนำศพอ่องโกโกกลับไปยังฝั่งเมียนมา

เช่นเดียวกับศิรชัชที่ได้รับข่าวว่าอ่องโกโกเสียชีวิตเมื่อราว 14:00-15:00 และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านใต้ได้ขอให้เขาไปช่วยเก็บศพอ่องโกโก ทว่าจุดที่เขาพบศพอ่องโกโกนั้นต่างกับที่ร.บ. และร.ช. บอกไว้ ศิรชัชไปถึงจุดพบศพพร้อมกับทีมกู้ภัย ศพของอ่องโกโกถูกพบอยู่บริเวณใกล้แทงก์น้ำเก่า ซึ่งใกล้กับทางเดินที่แบ่งพรมแดนระหว่างไทยและเมียนมา อีกทั้งทีมกู้ภัยยังบอกอีกว่า ร่างกายของอ่องโกโกยังอุ่นอยู่ ซึ่งหมายความว่าเขาเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน (ซึ่งจากปากคำของพยานไม่มีการบอกไว้ว่าศพถูกเคลื่อนย้ายไปได้อย่างไร)

ความยุติธรรมที่หายไป…

การลอยนวลพ้นผิดของ ‘นายทหาร

หลังการพบศพอ่องโกโก ก่อนที่ครอบครัวจะฌาปนกิจศพของอ่องโกโก นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานสนับสนุนสิทธิของผู้โยกย้ายถิ่นฐานในอำเภอแม่สอด ได้มาพบกับครอบครัวอ่องโกโก และแนะนำให้ครอบครัวแจ้งความกับตำรวจ และขอให้มีการชันสูตรพลิกศพ

รายงานชันสูตรพลิกศพของโรงพยาบาลแม่สอด ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลการตรวจสอบว่า

  • มีบาดแผลถูครูดที่ใบหน้าและจมูกรวม 6 บาดแผล ขนาดตั้งแต่ 1 ถึง 3 เซนติเมตร 
  • มีบาดแผลที่หน้าผาก เข่าขวา ขนาดตั้งแต่ 0.5 ถึง 3 เซนติเมตร
  • มีบาดแผลที่ไหล่ขวา เข่าทั้งสองข้าง หน้าแข้งขวา ปลายเท้าซ้าย บาดแผลฟกช้ำ ที่หางดวงตาซ้ายขนาด 2 เซนติเมตร 
  • มีบาดแผลถลอกถูครูดเป็นแนวยาวที่ปลายแขนขวาจำนวน 4 บาดแผล ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 3 ถึง 5 เซนติเมตร
  • มีบาดแผลถลอกถูครูดร่วมกับรอยฟกช้ำโดยรอบบาดแผลที่ด้านหลัง หน้าอก หน้าท้อง ต้นแขนซ้ายขนาดตั้งแต่ 2 ถึง 3 เซนติเมตร
  • มีบาดแผลฟกช้ำที่ด้านหลัง ลำตัว ต้นขาซ้าย ขนาดตั้งแต่ 2 ถึง 15 เซนติเมตร
  • บาดแผลฟกช้ำใต้ผิวหนังรูปแบบแนวยาวที่ลำตัว หลังด้านซ้ายบน ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 3 ถึง 15 เซนติเมตร 
  • ได้รับบาดเจ็บภายในศีรษะ เช่น หนังศีรษะด้านหน้าซ้ายฟกช้ำ พบเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางด้านซ้าย สมองบวม 

และสรุปผลการรายงานว่า “อ่องโกโกเสียชีวิตจากศีรษะบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกาย”

ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ตำรวจแม่สอดได้จับกุมและดำเนินคดีกับศิรชัชในมาตรา 290 ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยมิได้เจตนา และมาตรา 83 ที่ถือว่าเป็นผู้ได้ร่วมกระทำความผิดสองคนหรือเป็นตัวการในความผิดนั้นตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย

ตามคำขอร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่สอด ที่ยื่นต่อผู้พิพากษาระบุว่า ‘พยานสองคนยืนยันว่าผู้ก่อเหตุที่ทำร้ายร่างกายด้วยการเตะและต่อย และใช้ไม้ไผ่ตีนายอ่องโกโกคือ นายศิรชัช … และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนี ระหว่างการสอบปากคำผู้ต้องหาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

รวมถึงบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาต่อศิรชัชของตำรวจแม่สอดที่ระบุว่า ผู้ต้องหายอมรับว่าได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทหารในการทำร้ายร่างกายนายอ่องโกโกจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ การกระทำของท่านมีความผิดฐาน ‘ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย’ และต้องเข้ารับการไต่สวนเพื่อรับความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งศิรชัชได้ขอประกันตัว แต่ศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษสูง และมีความเสี่ยงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนี ศิรชัชเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และถิ่นที่อยู่ของเขาอยู่ใกล้กับพรมแดนไทย-เมียนมา

แต่อย่างไรก็ดี Fortify Right ให้สัมภาษณ์ว่า ขั้นตอนการสอบปากคำนายศิรชัชนั้นค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากตอนสอบปากคำพยานไม่มีการจัดล่ามภาษาไทย แต่ในบันทึกกลับระบุว่า พยานสามารถอ่านและเข้าใจภาษาไทยได้ อีกทั้งศิรชัชก็ให้ปากคำว่า เขาตีนายอ่องโกโกจริง แต่ตีแค่บริเวณหน้าแข้งและที่ก้นไม่กี่ทีเท่านั้น แต่ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหากลับระบุว่า นายศิรชัชเป็นผู้ที่ทำให้เกิดบาดแผลทั้งหมด

“หลังจากที่อ่องโกโกเสียชีวิต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็เรียกว่า ให้ศิรชัชเข้าไปหาผู้ใหญ่บ้านไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตอนนั้น ศิรชัชก็เลยถูกเรียกให้ไปดู และเขาก็รับศพมาด้วยตัวเอง เขาก็ต่อสู้ด้วยเจตนาว่า ถ้าเขาตีคนจนตายจริง ๆ เขาคงจะหนีไปแล้ว ไม่กลับมารับศพให้ญาติพี่น้องที่แม่สอดหรอก ซึ่งตอนนี้เขาก็ยังอยู่ในเรือนจำแม่สอด” Fortify Right บอก

Fortify Right ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า การจับกุมนายอ่องโกโกในครั้งนี้ ไม่ใช่การจับกุมเพื่อเข้ากระบวนการทางกฎหมาย และตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การจับกุมจะต้องมีการรายงานไปยังนายอำเภอ แต่ในกรณีของอ่องโกโก มีเพียงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เท่านั้นที่ทราบถึงการจับกุมและก็ไม่ได้มีการประสานต่อไปยังนายอำเภอ จนเกิดเหตุสลดขึ้น

อีกทั้งการจับกุมดังกล่าวก็ไม่ได้มีการบันทึกทั้งภาพหรือวิดีโอแต่อย่างใด สองสัปดาห์หลังจากอ่องโกโกเสียชีวิต Fortify Right มีการลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลและหลักฐาน ทว่าก็ไม่มีกล้องวงจรปิดในพื้นที่เลย ทำให้ไม่มีการบันทึกช่วงเวลา 6 ชั่วโมงก่อนการเสียชีวิตของอ่องโกโกไว้เลย ทำให้ทางฟากฝั่งทหารบอกกับทาง Fortify Right ว่า การเสียชีวิตของอ่องโกโกเป็นน้ำมือของกลุ่ม BGF

Fortify Right ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า พื้นที่ 70 ไร่นั้นเป็นพื้นที่ข้อพิพาท กล่าวคือเป็นพื้นที่ที่มีการช่วงชิงอำนาจในการดูแลพื้นที่ระหว่างกองกำลังไทยและกองกำลัง BGF แต่อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ห่างจากพื้นที่ 70 ไร่ และอยู่ในพรมแดนของประเทศไทย พยานหลายคนก็ให้การว่า พวกเขาไม่เห็นทหาร BGF เลยในช่วงเวลาก่อนเสียชีวิตของนายอ่องโกโก อีกทั้งภาพถ่ายนายอ่องโกโกที่ถูกใช้ในรายงานฉบับนี้ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็ให้ข้อมูลกับทาง Fortify Right ว่า เป็นภาพ Screen Shot จาก Facebook ที่นายทหารระดับปฏิบัติการถ่ายส่งให้กับนายทหารอาวุโส

ดังนั้น ประเด็นเรื่อง BGF หรือ ทหารไทย ก็ยังไม่แน่ชัดจนถึงปัจจุบัน

Fortify Right ย้ำว่า คดีอ่องโกโกเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ล้มเหลวตั้งแต่กฎหมายการจับกุม หรือความเป็นธรรมต่อผู้ต้องหา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไทยก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนใด ๆ เลย อย่างเช่น นายศิรชัชไม่รับทราบข้อกล่าวหาของตนเอง เขารู้เมื่อตอนที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำเห็นป้ายชื่อของตนเองที่ระบุว่า เป็นนักโทษข้อหาทำร้าย จนตาย หรือกระทั่งตอนเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรม อัยการก็เห็นด้วยกับสำนวนของตำรวจ ทุกอย่าง แต่พอเปิดสำนวนคดีในชั้นศาล กลับไม่มีการลงลายมือชื่อของล่าม ทั้งที่ผู้ต้องหาเป็นคนต่างชาติ 

สะท้อนว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง แม้กฎหมายจะดี แต่ยังมีข้อบกพร่องในการบังคับใช้อยู่ 

Fortify Right ทิ้งท้ายว่า อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก คือ กระบวนการคุ้มครองพยาน Fortify Right อธิบายว่า มีความยากลำบากมากในการเก็บรวบรวมข้อมูล และหลักฐานในคดีเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน เพราะหนึ่ง ผู้ตายไม่มีโอกาสได้เล่าเหตุการณ์ และสอง พยานหลายคนก็กังวลเรื่องความปลอดภัยหากให้ข้อมูล อีกทั้งตำรวจก็ไม่มีความจริงใจในกระบวนการตรวจสอบ หรือให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิต

ดังนั้นข้อเสนอของ Fortify Right จะให้น้ำหนักไปทางตำรวจค่อนข้างมาก เช่น ประกันให้มีการสอบสวนและผลการสอบสวนอย่างรอบด้าน ดำเนินคดีและลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวให้สมควรตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงยศถาบรรดาศักดิ์ 

“นอกเหนือจากข้อเสนอแนะอื่น ๆ ในรายงานฉบับนี้ ทางการไทยต้องดำเนินการสืบสวนการเสียชีวิตของอ่องโกโกอย่างเป็นกลาง และถี่ถ้วน รวมถึงหาตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเขา โดยไม่คำนึงถึงยศหรือตำแหน่ง” Fortify Right ทิ้งท้ายในรายงาน