ปลุกผีแก่งเสือเต้น รัฐซ่อนอะไรไว้ ใต้เครื่องหมายคำถาม 'เขื่อน' หรือ 'ดงสักงาม' ที่รัฐอยากได้ - Decode
Reading Time: 5 minutes

“ถึงเวลาที่ต้องกลับมาคุยเรื่องแก่งเสือเต้นอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาทำอะไรไม่ได้ สร้างอะไรไม่ได้ เพราะยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน

คำกล่าวของภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐตรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) พูดกับสื่อในขณะที่ลงพื้นที่ภัยพิบัติจังหวัดสุโขทัย ทำให้ชื่อของ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง การกลับมาในรอบ 35 ปี นับตั้งแต่ความพยายามครั้งแรก จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐต้องการจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 

ภาพโลงศพที่ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสะเอียบจุดไฟเผาหุ่นจำลองของนักการเมืองทั้งสามท่านที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน ภายหลังคำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรี ที่ถือเป็นการ ‘ปลุกผี’ เขื่อนแก่งเสือเต้นให้กลับมาอีกครั้ง พร้อมถ้อยแถลงจากผู้นำกลุ่มต่อต้านในพื้นที่ชุมชน 

“เราผู้เดือดร้อนจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่เป็นผีหลอกหลอนเรามากว่า 35 ปี น้ำแล้งก็ปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น น้ำท่วมก็ปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำไมผู้มีอำนาจผู้มีความรับผิดชอบจึงไม่แก้ไขปัญหาเสียที”

“เจรจากับรัฐบาลแล้ว รับปากแล้วว่าไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว แต่นักการเมืองก็ยังฉวยโอกาสผลักดันปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตลอด ประสบการณ์สอนให้เรารู้ว่านักการเมืองเหล่านี้ปลิ้นปล้อนหลอกลวง และจะฉวยโอกาสผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสมอมา”

“เราจึงขอประกาศว่าเราจะไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเมื่อเราให้ความร่วมมือทีไร รัฐบาลก็จะสรุปว่า สมควรสร้างเขื่อนทุกครั้งไป นับต่อแต่นี้เราจึงขอประกาศห้ามบุคคล 
และหน่วยงานที่สนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด 
เราจะไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้น”

ส่วนหนึ่งจากคำประกาศของคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนและราษฎร ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ในวันที่ 7 กันยายน 2567

เขม่าควันไฟสีเทาที่ลอยขึ้นในอากาศ เปรียบได้กับสถานการณ์ที่ยังคงร้อนกรุ่นในพื้นที่ ไม่เคยมอดดับนับตั้งแต่รัฐบาลพูดถึงแผนโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำยม

สายน้ำยม แก่งเสือเต้น โขดหินขนาดใหญ่กลางลำน้ำที่ถูกกัดกร่อนจนมีรูปลักษณ์คล้ายรอยเท้าเสือกระโจนข้ามสายน้ำในอุทยานแห่งชาติแม่ยม กับ พื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่รวมแล้วมีพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ถูกวางแผนให้กลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น นับตั้งแต่ปี 2532 รวมเป็นเวลากว่า 35 ปี ที่รัฐบาลหลากหลายสมัยไม่เคยหยุดยั้งที่จะเอ่ยว่า มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนลุ่มน้ำยมที่แก่งเสือเต้น แม้พื้นที่สร้างเขื่อนจะเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม มีระบบนิเวศป่าไม้ที่ต้องจมลงอยู่ใต้กระแสน้ำ จะมีชาวบ้านที่ต้องอพยพ มีสันเขื่อนแทนรั้วบ้านกว่า 3,000 ครอบครัว แต่เรื่องเหล่านี้ ถูกซ่อนไว้ภายใต้คำพูดของนักการเมืองที่ยังคงเชื่อว่า การที่น้ำท่วมภาคกลางทางตอนบนอย่างสุโขทัย พิษณุโลก เพราะแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน เป็นแม่น้ำสายหลักเดียวในภาคเหนือที่ไม่ถูกการสร้างเขื่อน ต่างจากแม่น้ำปิงที่มีเขื่อนภูมิพล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมาของลุ่มแม่น้ำวัง และเขื่อนสิริกิติ์ที่เก็บกักแม่น้ำน่าน ทำให้เกิดคำถามตามมาของกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนว่า หรือน้ำท่วมสุโขทัยและพิษณุโลกที่เกิดขึ้นในทุกปี เพราะแม่น้ำยมไม่มีเขื่อน 

แม่น้ำยมไหลผ่านจังหวัดพะเยา แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ก่อนรวมกับเจ้าพระยาในจังหวัดนครสวรรค์ มีลุ่มน้ำสาขากว่า 19 สาขา ความจริงแรกที่เกิดขึ้นหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่อยู่ทางตอนล่างของต้นน้ำเป็นระยะทาง 115 กิโลเมตร จะสามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 6 สาขาของแม่น้ำยมเท่านั้น นั่นหมายถึง เขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถควบคุมปริมาณลำน้ำยมเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทั้งหมด ประกอบกับการเกิดฝนในช่วงโลกรวนที่เรียกว่า “ระเบิดฝน” (Rain Bomb) ซึ่งมีลักษณะตกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ตกหนักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และหากเกิดระเบิดฝนในพื้นที่ใต้เขื่อนกักเก็บ ก็ไม่สามารถชะลอ ยับยั้งปริมาณน้ำที่ตกสะสมในพื้นที่หนึ่งได้

เรื่องราวการสร้างเขื่อนแก่งในปี 2532 ผ่านคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี ที่ผู้เขียนเรียกแทนว่า พี่น้อย พร้อมกับพี่เบิร์ด – วุฒิชัย ศรีคำภา ทั้งสองเป็นแกนนำคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่กล่าวว่าชุมชนก่อตั้งในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2459 ก่อนที่จะขยายตัวขึ้นจากการสัมปทานป่าไม้ของนายทุนสัญชาติอังกฤษอย่าง บริษัทอิสต์ เอเชียติก จำกัด ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี 2500 การสัมปทานป่าไม้ของทุนไทยอยู่ในภาวะเติบโต บริษัทชาติไพบูรณ์ จึงเข้ามารับช่วงการตัดไม้ต่อ เมื่อการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมในปี 2529 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน พะเยา และลำปาง ขนาดผืนป่ารวม 284,218 ไร่ บริษัทสัมปทานป่าจึงออกจากพื้นที่ พร้อมกับการสิ้นสุดอาชีพรับจ้างตัดไม้ของชาวบ้าน หันมาประกอบอาชีพเก็บของป่าที่ได้ตกลงกับทางอุทยานให้ชาวบ้านสามารถเก็บพืชผลจากป่าในเขตพื้นที่อุทยาน โดยเฉพาะหน่อไม้ ซึ่งชาวบ้านจะมีการผลัดเปลี่ยนเก็บผลผลิตตามฤดูกาล พี่น้อยกล่าวว่าเป็นวิถีการอยู่กับป่า ที่ไม่ใช่ความเชื่อของบุคคลภายนอกที่มองว่าชาวบ้านเข้าไปบุกรุกพื้นที่ ลักลอบขนไม้ ทำลายผืนป่าในพื้นที่อุทยาน ส่วนไม้ที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นไม้สักทอง หรือ ไม้เบญจพรรณ ไม้มะค่า ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ และ ไม้ชิงชัน ชาวบ้านจะไม่สามารถนำไม้ออกจากพื้นที่อุทยานได้แม้จะเป็นการหักโค่นตามธรรมชาติ 

“หน่อไม้ในพื้นที่จะมีหน่อซาง หน่อไร่ หน่อไผ่ มันจะมีฤดูการออกที่ไม่ตรงกัน ชาวบ้านจะไม่เก็บทุกอย่าง เช่นตอนนี้เป็นหน้าของหน่อซาง ชาวบ้านก็จะเก็บแต่หน่อซางเพราะราคาดี พอเปลี่ยนฤดูก็ไปเก็บหน่ออื่น หน่อซางก็โตขึ้น มันคือวิถีการอยู่กับป่าที่เราเรียนรู้มา การเก็บหน่อไม้ของชาวบ้านคือการเก็บด้วยแรงคน เอาไปขายเท่าที่คนคนหนึ่งจะสามารถขนไปได้ เต็มที่ก็ 2 กระสอบ ซึ่งอุทยานก็ยอมรับว่า เป็นอาชีพของเรา ให้ชุมชนร่วมดูแลธรรมชาติในพื้นที่ ส่วนต้นไม้ในอุทยานที่โค่นลงปิดทาง ถ้าชาวบ้านเห็นก็ย้ายไปข้างถนนเพื่อเปิดทาง แต่เราไม่เอาไม้ออกจากพื้นที่”

จังหวัดแพร่ ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่สร้างผลิตภัณฑ์ไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพราะการสัมปทานไม้สักทองในพื้นที่ที่มีมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนมากจึงประกอบอาชีพรับจ้างตัดไม้ให้กับกลุ่มนายทุน เมื่อป่าไม่สามารถตัดได้ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงหันมาประกอบอาชีพหาของป่า และต้มสุราชุมชน แต่ก็จำหน่ายได้เพียงในพื้นที่เพราะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย กระทั่งเมื่อปี 2545 ที่รัฐบาลในยุคทักษิณ ชินวัตร ประกาศดำเนินโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (OTOP) แกนนำผลิตสุราจึงได้ตัดสินใจขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ต่อยอดไปเป็นบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด สักทองแพร่ การค้า ที่กระจายรายได้ให้สมาชิกในชุมชนกว่า 4 หมู่บ้าน มีรายได้ 20,000 – 30,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังเสียภาษีให้กับกรมสรรพสามิตต่อปีถึง 400 ล้านบาท ในการเป็นค่าแสตมป์การค้าและปริมาณการจำหน่ายสุรา เสียงของชาวบ้านที่มีอาชีพผลิตสุราในพื้นที่บอกกับผู้เขียนว่า การมีอาชีพผลิตสุราที่กฎหมายยอมรับ ทำให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้มั่นคง ไม่ต้องพาตัวเองออกไปหางานภายนอกพื้นที่และเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาการผลิตสุราที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ วัตถุดิบในการผลิตสุราที่มาจากข้าว สมุนไพร รวมถึงแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ เป็นเหตุผลชาวบ้านไม่ต้องการให้แหล่งต้นน้ำเกิดความสูญเสีย อพยพย้ายออกจากพื้นที่บ้านและแหล่งทำกิน

การเปลี่ยนสถานะจาก ‘ผู้ตัดไม้’ มาสู่ ‘นักอนุรักษ์ป่า’ ของชาวบ้านตำบลสะเอียบ นำมาสู่ประเพณีการบวชป่าสักทองที่ชุมชนปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ในทุกปี ชาวบ้านจะมีการจัดกิจกรรมเข้าไปในผืนป่าสักทองเพื่อนำไตรจีวรของสงฆ์มาห่มล้อมต้นสักทอง รวมถึงใครก็ตามที่สมาชิกแกนนำกลุุ่มต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้นได้พาเข้ามาในพื้นที่ ก็จะได้รับโอกาสให้เข้าร่วมประเพณีบวชป่าสักทองเช่นเดียวกับชาวบ้าน

“การบวชป่าสักทองเหมือนเป็นกุศโลบายให้ใครก็ตามที่อยากตัดไม้ ว่าการตัดไม้ ก็เหมือนกับการฆ่าชีวิตคนหนึ่งลงไป”

ยกสองของการเผชิญหน้าของป่า คน VS เขื่อน

หากตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใด ชาวบ้านจึงออกมาต่อต้านเขื่อน ทำไมรัฐ จึงสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้ การค้นหาคำตอบ อาจต้องกลับไปกว่าสามทศวรรษ ที่ทำให้เข้าใจว่า ‘เขื่อน’ เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับชาวบ้านตำบลสะเอียบมากเพียงใด

เพียง 4 ปีหลังการสัมปทานป่าไม้ของนายทุนสิ้นสุดลง ผืนป่าสักทองได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม
ชื่อ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ก็ผ่านเข้ามาให้ชาวบ้านรับรู้ว่าจะมีการสร้างเขื่อน แต่นี่ไม่ใช่ความพยายาม “ครั้งที่หนึ่ง” ของรัฐกับการสร้างเขื่อน เพราะในอดีตการสร้างเขื่อน (ในสายตาของรัฐบาล) ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่ทันสมัย เป็นแหล่งสร้างพลังงานสะอาด ในปี 2523 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ลำน้ำยม ก่อนจะส่งมอบโครงการให้กับกรมชลประทานในปี 2528 การสร้างเขื่อนครั้งนี้จึงเปลี่ยนจากการสร้างเขื่อนเพื่อการผลิตไฟฟ้าไปเป็นการบริหารจัดการน้ำด้วยโครงสร้างแข็ง 

เมื่อมีความชัดเจนว่าจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กลุ่มผู้นำชุมชนสะเอียบจึงได้มีการศึกษาผลกระทบภายในชุมชนที่เกิดการสร้างเขื่อน เพื่อรอคอยการเก็บข้อมูลทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ (Environmental Impact Assessment: EIA) ในช่วงเวลานั้นตรงกับการต่อต้านการสร้างเขื่อนปากมูลของชาวบ้านใน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงอย่างการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ใน จ.อุตรดิตถ์ ก่อนจะรวมกลุ่มเป็นสมัชชาคนจนในปี 2538 ในช่วงเวลาต่อมา เมื่อได้แลกเปลี่ยนกับ “ผู้มีประสบการณ์” รวมถึงศึกษาพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ ชาวบ้านในพื้นที่มองว่า ไม่คุ้มค่ากับการสร้างเขื่อน

คำว่า “ไม่คุ้มค่า” ของพี่น้อย พี่เบิร์ด และชาวบ้านสะเอียบ เกิดจากแผนการสร้างเขื่อนในครั้งแรกที่รัฐบาลหวังจะกักเก็บน้ำในลุ่มแม่ยมให้ในปริมาณ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้พื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ทั้งพื้นที่ชุมชน 4 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านแม่เต้น พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยมที่ภายในมีผืนป่าไม้กว่า 140,000 ไร่ ส่วนหนึ่งคือ ป่าสักทองที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ตอนท้ายของสันเขื่อนจะอยู่ภายในพื้นที่อุทยาน ระหว่างช่องว่างของเนินเขา ความห่าง 800 เมตร ก่อนที่น้ำจะไหลท่วมขึ้นไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือถึง 80 กิโลเมตรยังพื้นที่ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา เป็นเหตุผลให้ชาวบ้านในพื้นที่สะเอียบต่อต้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ประกอบกับรายงาน EIA ที่ออกมาในปี 2536 ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งผู้ชำนาญการตอบกลับไปยังบริษัท ที่รับผิดชอบการทำรายงานให้สำรวจข้อมูลที่ขาดหายไปเกี่ยวกับรายละเอียดความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว พื้นที่การอพยพโยกย้ายของชุมชน ผลกระทบทางด้านระบบสาธารณสุข ระบบนิเวศป่าไม้และสัตว์ป่า 

ระหว่างที่กรมชลประทานยังคงเดินหน้าเก็บข้อมูล เพื่อให้รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านมติ ครม. สวนทางกับการต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่ ท้ายที่สุด ด้วยข้อมูลใน EIA ที่ไม่สมบูรณ์ ประกอบกับแรงกดดันที่เข้มแข็งของชาวบ้าน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในปี 2540 ให้ระงับการสร้างเขื่อนที่รอการสร้างจำนวน 5 เขื่อน หนึ่งในนั้นคือ เขื่อนแก่งเสือเต้น 

“โครงการรัฐเหมือนกับของหลวง ถูกเขียนเลขกำกับไว้ หากยังไม่ได้ใช้ก็จะถูกเก็บเข้าลิ้นชัก วันดีคืนดีก็จะถูกเอามาปัดฝุ่น หากยังไม่ถูกจำหน่ายก็ไม่หายไปไหน โดยที่ประชาชนไม่รู้เลยว่า รัฐบาลจะเปิดลิ้นชัก เอาโครงการกลับมาอีกครั้งเมื่อไหร่”

คำกล่าวข้างต้นของ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ จากงานเสวนา “35 ปี แก่งเสือเต้น มองไปข้างหน้า การจัดการน้ำในอนาคต” ที่อธิบายได้ชัดเจนถึงความรู้สึกของชาวบ้านในชุมชนสะเอียบ น้ำท่วมในทุกครั้งของจังหวัดสุโขทัย รัฐบาลก็จะกลับมาพูดถึงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอยู่ตลอด 20 ปีหลังจากระงับโครงการไป และเมื่อมีการต่อต้านภายในพื้นที่ ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสะเอียบจึงได้ชื่อว่า ผู้ไม่ยอมเสียสละ 

เสือตัวที่สอง ‘ยมบน ยมล่าง

เมื่อรัฐไม่ประสบผลสำเร็จกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ความพยายามครั้งที่สองของกรมชลประทาน ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนในชื่อใหม่ “เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง” มีแผนที่จะสร้างเขื่อนยมบนห่างจากบ้านดอนชัยสักทอง 2 กิโลเมตร ระดับกักเก็บที่ 258 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความจุ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงของสันเขื่อน 40 เมตร ปริมาณน้ำจะไหลท่วมถึงอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา รวมความยาว 40 กิโลเมตร ท่วมพื้นที่ 10,856 ไร่

ขณะที่ เขื่อนยมล่าง เป็นการย้ายสันเขื่อนลงไปจากพื้นที่การสร้างเดิม 5 กิโลเมตร ระดับกักเก็บ 230 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความจุ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงของสันเขื่อน 54.5 เมตร ปริมาณน้ำจะเข้าท่วมไปในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ผืนป่าสักทอง ไปจนถึงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านใน ต.สะเอียบ รวมแล้วมีความยาวประมาณ 37.5 กิโลเมตร ในพื้นที่ 21,000 ไร่

“ท้ายที่สุดเขื่อนยมบนยมล่าง มันคือการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองส่วน แต่แค่เว้นที่หมู่บ้านไว้ไม่ให้น้ำท่วม กรมชลจะทำถนนเส้นใหม่ให้ชาวบ้านเดินทางบนสันเขื่อน ต่อให้น้ำไม่ท่วมบ้าน ยังไงชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบ เหมือนเหลือแต่บ้าน แต่ขาดทุ่งนา ขาดอาชีพทำกิน น้ำก็ท่วมป่าสักทองเหมือนเดิม ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น ยมบนยมล่าง เราก็ไม่เอาทั้งนั้น” 

การเกิดขึ้นมาของเขื่อนยมบนยมล่าง โดยมีเงาหลังเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นเหตุผลให้ชาวบ้านริเริ่มการปฏิเสธเขื่อนที่มากไปกว่าการต่อต้านไม่ให้หน่วยงานรัฐเข้ามาก่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ สิ่งแรกคือ การก่อตั้ง “กลุ่มตะกอนยม” ที่พี่เบิร์ดอธิบายว่า เป็นกลุ่มเยาวชนที่แกนนำในพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ในการอนุรักษ์รักษาผืนป่า รักษาภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้กลุ่มแกนนำในพื้นที่เชื่อว่า การกลับมาของรัฐพร้อมกับการสร้างเขื่อนจะไม่จบลงที่รุ่นของพวกเขาเท่านั้น 

ต้านเขื่อนในแบบชุมชนบนจุดเริ่มต้น “สะเอียบโมเดล”

นอกเหนือไปจากการก่อตั้งกลุ่มตะกอนยม ชาวบ้านในพื้นที่ยังได้มีการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำภายในชุมชนที่เรียกว่า “สะเอียบโมเดล” ผ่านโครงการสร้างแอ่งเก็บน้ำขนาดเล็กภายในชุมชน ปัจจุบันชาวบ้านได้เสนอแนวทาง 29 ข้อ ให้กับกรมชลประทานทดแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ อ่างเก็บน้ำห้วยริน ที่ก่อสร้างในปี 2561 มีความจุ 150,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่ในความดูแลของกรมทรัพยากรน้ำ รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำห้วยเป้าที่สามารถเก็บกักน้ำได้ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และกำลังมีโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่อ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 ขนาด 19 ล้านลูกบาศก์เมตร และ อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ซึ่งพี่น้อยกล่าวว่า สะเอียบโมเดลสามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ ต.สะเอียบได้ 1 ใน 10 ของเขื่อนแก่งเสือเต้น

“เราเรียกแอ่งเก็บน้ำรูปแบบนี้ว่า หลุมขนมครก ลองนึกดูว่าหากเกิดการบริหารจัดการน้ำแบบนี้ในทุกชุมชน ทุกลุ่มน้ำ เขื่อนก็ไม่จำเป็น สะเอียบโมเดลไม่ใช่แค่อ่างเก็บน้ำ แต่รวมไปถึงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่ชุมชนร่วมกันคิด พัฒนาเศรษฐกิจสุราชุมชนที่สร้างภาษีให้กับประเทศ 400 ล้านบาทต่อปี”

แต่เดิมการบริหารจัดการน้ำของชุมชนในสะเอียบเป็น “ระบบเหมืองฝาย” เนื่องจากไม่ใช้พื้นที่น้ำมาก การปลูกข้าวจึงสามารถทำได้เพียง 1 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นการใช้น้ำตามวิถีธรรมชาติ การผันน้ำของชาวบ้านจึงเป็นองค์ความรู้ผ่านการรู้จักพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่การพัฒนาสะเอียบโมเดล สะท้อนให้เห็นถึงการบูรณาการจัดการน้ำที่รัฐต้องมองร่วมไปกับชุมชน ที่วันนี้รัฐจะมาคาดหวังกับการจัดการน้ำด้วยเขื่อนขนาดใหญ่เหมือนกับในอดีตไม่ได้อีกต่อไป แต่ปัญหาหนึ่งที่ชุมชนสะเอียบเผชิญกับความพยายามในการจัดการน้ำ คือรัฐไม่สนับสนุน เยียวยาให้กับชาวบ้านที่สละพื้นที่ทางการเกษตรของตนเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำให้ชุมชน ซึ่งอาจเป็นการยาก หากชุมชนในพื้นที่อื่นจะนำรูปแบบการจัดการน้ำแบบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไปพัฒนาต่อ

ภาพตัวอย่างเขื่อนขนาดเล็กที่กำลังสร้างมาตลอดระยะเวลา 8 ปีในพื้นที่ อ.เชียงม่วน โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ ปริมาณความจุ 96 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ชาวบ้านในพื้นที่เชียงม่วนเรียกร้องให้กรมชลประทานมีการสร้างเขื่อนเก็บน้ำขนาดเล็กมาตลอดสิบปี แต่ก็เกิดกรณีความล่าช้าของการดำเนินงาน เปลี่ยนแปลงผู้รับเหมาอยู่ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง ทำให้เขื่อนเสร็จสมบูรณ์ช้ากว่าแผนดำเนินโครงการ เมื่อเขื่อนไม่พร้อมใช้งาน ก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ประกอบกับ ปริมาณน้ำที่มากผิดปกติในปีที่ผ่านมา เมื่อต้องปล่อยน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่างในช่วงฤดูน้ำหลากเป็นเหตุให้ปริมาณน้ำไหลเข้าท่วม อ.เมืองแพร่ เพราะกรมชลประทานไม่มีการผันน้ำออกทางสองฝั่งคลองชลประทานที่อยู่ด้านข้างของตัวเมือง ซึ่งหากมีการวางแผนการรับมือ ระบายน้ำออกไปยังพื้นที่รองรับอื่น ความสูญเสียที่เกิดขึ้น อาจลดน้อยลง สถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา จึงเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า แนวทางการจัดการน้ำของชุมชนอย่างสะเอียบโมเดล ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำด้วยชุมชนที่รู้จักความเป็นธรรมชาติภายในพื้นที่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายอยู่ตามที่ราบลุ่ม มีความสำคัญกับสถานการณ์น้ำของไทยในวันนี้อย่างไร 

เขื่อน หรือ ดงสักงาม ที่รัฐอยากได้ ?

“ก็เลยอยากถาม(รัฐ)กลับไปว่า อยากแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง หรืออยากได้เขื่อนกับไม้สัก เพราะถ้าอยากได้เขื่อนกับไม้สัก การพัฒนาก็จะไม่ไปไหน”

ภาพการบริหารจัดการของเขื่อนขนาดใหญ่ เช่นเขื่อนภูมิพลที่มีขนาดความจุถึง 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่รัฐก็ไม่สามารถบริหารจัดการให้ไม่เกิดน้ำท่วมขัง อีกทั้งในช่วงฤดูแล้ง น้ำที่ควรถูกกักเก็บไว้ในช่วงฤดูฝน ก็ไม่เคยเต็มความสามารถกักเก็บของเขื่อน สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่พี่น้อย รวมถึงชาวบ้านสะเอียบตั้งข้อสงสัย ถึงสิ่งที่รัฐไม่เคยบอกกับประชาชนว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ว่ารัฐต้องการสร้างเขื่อนเพื่อบริหารจัดการน้ำ หรือ ต้องการขายเนื้อไม้สักที่ต้องตัดจากการสร้างเขื่อนกันแน่ !

จาก งานสำรวจฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาไทย (TDRI) ในปี 2537 ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า 26 ลูกบาศก์เมตรของเนื้อไม้สัก มีแร่ทองคำน้ำหนัก 1 บาทอยู่ภายในเนื้อไม้ จึงมีการคาดการณ์ว่า ในชั้นดินของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยมมีแร่ทองคำ รวมไปถึงแร่แบไรต์ ที่เคยมีการสำรวจความคุ้มค่าในการลงทุนทำเหมืองแร่ในพื้นที่ แต่เนื่องด้วยราคาของไม้สักที่เปรียบเทียบกับราคาการลงทุนทำเหมืองแร่แล้วนั้น ไม้สักมีราคาที่ดีกว่า ด้วยในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2530 ไม้สักมีราคาอยู่ที่ลูกบาศก์เมตรละ 15,000 – 20,000 บาท ในวันนั้น ป่าสักทอง 40,000 ไร่ จึงมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท แต่ในวันที่ป่าเติบโตมากขึ้น ไปพร้อมกับราคาไม้สักทองที่อยู่ที่ 40,000 บาทต่อลูกบาศก์เมตร มูลค่าของไม้สักทองในวันนี้จึงอาจสูงไปถึง 4 เท่าของตัวเลขเดิมที่เคยมีการสำรวจ ซึ่งยังไม่นับรวมไม้เบญจพรรณในพื้นที่กว่า 140,000 ไร่ ที่นับเป็นป่าไม้อายุกว่า 100 ปี หลงเหลือไม่กี่แห่งในประเทศ

ข้อสังเกตดังกล่าว มาจากพื้นที่น้ำท่วมที่หากเกิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมไปถึงเขื่อนยมบนยมล่าง รัฐยังคงต้องการให้น้ำท่วมในพื้นที่ป่าสักทองและพื้นที่ภายในอุทยานแห่งชาติแม่ยม การสัมปทานป่าไม้ที่ต่อให้ยุติมาแล้วเกือบ 40 ปี วันนี้ยังคงเป็นเงาตามหลังให้กลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นโต้แย้งกลับว่า ในวันนี้พื้นที่อุทยานแม่ยมไม่มีป่าแล้ว แต่ในภาพบนผาอิงหมอกในเขตพื้นที่อุทยาน นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งต้นน้ำยม ประกอบกับการสัมปทานป่าที่กลุ่มนายทุนไม่ได้นำไม้ออกจากพื้นที่ทั้งหมดหลังประกาศพื้นที่อุทยาน เมื่อเวลาผ่านไปต้นไม้จึงเติบใหญ่ มีเมล็ดสักร่วงหล่นไปในดินให้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไป

ปิดตาย ‘เขื่อน’ ไม่ใช่คำตอบของการป้องกันน้ำท่วม

ข้อมูลจาก ผศ.ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์เขื่อนแก่งเสือเต้นมาตั้งแต่ช่วงระยะแรกเริ่มของการต่อต้านเขื่อนในพื้นที่ แม้ผศ.ดร. ไชยณรงค์ จะยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่มีทางที่เขื่อนแก่งเสือเต้นจะดำเนินการสร้างได้จริงจากความเข้มแข็งในพื้นที่ รวมไปถึงการทำสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่หากพิจารณาแล้วย่อมไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี แก่งเสือเต้นเกิดขึ้นครั้งแรกพร้อมกับแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีจัดการน้ำสมัยใหม่ ผ่านโครงการผันน้ำกก ปิง วัง ยม น่าน แก่งเสือเต้นเป็นพื้นที่เดียวที่ถูกระงับโครงการก่อสร้าง เพราะการสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังไม่มีความสมบูรณ์ ปัญหาใหญ่ที่ขาดหายไปมากกว่าพื้นที่น้ำท่วม และการอพยพโยกย้ายชุมชนของชาวบ้าน คือรอยเลื่อนเถิน ที่ยังก่อให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในจังหวัดแพร่ในปัจจุบัน สิ่งนี้ไม่เคยถูกระบุในความเสี่ยงของการสร้างเขื่อนผ่านรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องเพิ่มงบประมาณการก่อสร้างไปถึง 200,000 ล้านบาท ให้เขื่อนสามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน รวมไปถึงรัฐบาลไม่สามารถจะนำเพียงข้อมูลที่ได้ทำการสำรวจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาใช้ในการพิจารณาความสูญเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านความเปลี่ยนแปลงของชุมชน เศรษฐกิจภายในพื้นที่ พื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ที่แตกต่างกับช่วงเวลาในอดีต

“หากรัฐยังอยากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สำรวจรายงาน EIA อีกครั้ง เพราะข้อมูลที่ทำเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในวันนี้” 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับการยุติการใช้เขื่อนขนาดใหญ่ ทำลายโครงสร้างแข็งในการจัดการน้ำของต่างประเทศเพื่อให้ระบบนิเวศภายในแหล่งน้ำกลับมาสู่สภาวะปกติ เป็นสิ่งที่ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ย้อนกลับมาให้พิจารณาถึงรูปแบบการจัดการน้ำของประเทศไทย ที่ ณ วันนี้เขื่อนขนาดใหญ่ภายในประเทศไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่นักการเมืองกลุ่มหนึ่งยังคงมีความเชื่อในการบริหารจัดการน้ำแบบโครงสร้างแข็ง ละเว้นความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ความเป็นธรรมชาติของแหล่งน้ำ ที่วันนี้ชุมชนในหลากหลายพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่รองรับน้ำ เกิดการรุกล้ำ ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางเส้นทางน้ำเดิม ลำน้ำจึงไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างที่เคยเป็นมา

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องไปกับสิ่งที่ ผศ.ดร.สิตางศุ์ อธิบายปริมาณน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำยม ที่โดยปกติมีปริมาณน้ำไหลผ่านไม่เกิน 1,100 ลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อไปถึงจังหวัดสุโขทัยจะเหลือเพียง 550 ลูกบาศก์เมตร รวมกับแม่น้ำยมสายเก่าที่เหลือความสามารถรองรับเพียง 300 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีปริมาณถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตร โดยเป็นปริมาณน้ำที่มากเกินความผิดปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลำน้ำแม่มอกในเขตพื้นที่ อ.เถิน จ.ลำปาง ไหลลงมาสมทบ

การบริหารจัดการน้ำที่ต้องมองตั้งแต่  “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” วางแผนการ “เก็บ ชะลอ ระบาย” ให้ปริมาณน้ำที่เกินกับการรองรับของแหล่งน้ำ มีทิศทางให้สามารถระบายน้ำออกไปได้ตามวิถีธรรมชาติ ชะลอปริมาณน้ำให้เพียงพอกับการใช้งานน้ำของประชาชนในช่วงฤดูแล้ง เมื่อมีปริมาณน้ำล้นเกินในพื้นที่ ก็ต้องระบายออกไปในพื้นที่รองรับในพื้นที่ปลายน้ำ การปิดตายโครงสร้างเขื่อนขนาดใหญ่สำหรับประเทศไทย คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในการบริหารจัดการน้ำ โดยไม่สร้างความหวังให้กับประชาชนว่า เขื่อนคือคำตอบของการป้องกันน้ำท่วม แม้ว่า ‘เขื่อน’ จะเป็นสิ่งที่ทำให้น้ำ กลายเป็นสิ่งที่จัดการได้สำหรับรัฐบาล

“ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ขอยืนยันว่าจะไม่มีการนำโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเข้าสู่มติ ครม. ในรัฐบาลชุดนี้”

ในปัจจุบัน หลายหน่วยงานของภาครัฐอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน ยุติความพยายามในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนยมบนยมล่าง เหลือเพียงนักการเมืองบางกลุ่มที่ยังคงสนับสนุนการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องน้ำท่วม หรือมูลค่าความคุ้มค่าในป่าสักทอง ที่ไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเลขได้ในสายตาของชาวบ้านในพื้นที่ แต่เขื่อนแก่งเสือเต้น จะเป็น “เรื่องที่ไม่เคยเงียบ” จากความไม่ชัดเจนของรัฐบาล ภายใต้การบริหารจัดการน้ำด้วยโครงสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ พัฒนาที่ไม่เท่าทันภัยธรรมชาติ ที่พาประเทศมาบรรจบลงที่เขื่อนและประตูระบายน้ำ ความหวังอันแห้งแล้งในการรับมือกับภัยพิบัติที่มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวการจัดการน้ำแบบสะเอียบโมเดล เขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ใช่เพียง ‘การปลุกผี’ ดั่งที่ใครหลายคนเลือกใช้ในการอธิบายการกลับมาของรัฐในความพยายามสร้างเขื่อน

แต่เป็นการบอกกับสังคมว่า ชุมชนที่บริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง มีศักยภาพไปได้ไกลกว่าการจัดการน้ำของรัฐบาล ที่เห็นเพียง ‘สันเขื่อน’ ในช่วงน้ำหลาก วันนี้ คำยืนยันจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ ยืนยันว่าไทยไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ใดได้ แต่รัฐบาลต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ดำเนินการระบายน้ำด้วยวิถีทางธรรมชาติ ยกเลิกการก่อสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในเส้นทางน้ำที่ส่งผลให้ทิศทางการไหลของน้ำ ความสามารถในการกักเก็บเปลี่ยนแปลงไป และท้ายที่สุด ต้องให้ประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการน้ำในชุมชน ที่ทำให้ น้ำ และ คน อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างแข็งในการจัดการน้ำ