จากสภาวะโลกร้อนสู่ปรากฏการณ์โลกรวน อากาศที่ร้อนเกินไป สัตว์ป่าที่ล้มหายตายจาก ระเบิดฝนหลังเวลาเลิกงาน คือหลักฐานว่าวันนี้ โลกได้ผ่านจุดเดือดมานานแล้วและกำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ที่จะส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งชีวิต
ในภาวะที่โลกกำลังหาทาง “รอด” มนุษย์กลับอยู่ใจกลางของเรื่องนี้เพราะ “มันมาถึง” แล้ว และยากจะหนีพ้น และบ่อยครั้งเราก็ตกอยู่ในสภาพของผู้ประสบภัยได้โดยง่าย “สัญญาณ” โต้กลับจากธรรมชาติที่ส่งผลต่อเราทุกคน
1.5 องศาแค่มายา หายนะสิของจริง
แม้ประชาคมโลกจะร่วมลงนามในสนธิสัญญาปารีส ว่าจะร่วมลดอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศา แต่ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสัญญานเตือนสีแดงหรือ code red ที่นอกจากเราจะไม่สามารถลดอุณหภูมิโลกได้แล้วแต่ภัยพิบัติที่เกิดจากโลกรวนกำลังจะทวีคูณหนักขึ้นอีก
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มองว่าตอนนี้นอกจากเราจะก้าวข้ามสัญญานเตือนดังกล่าว แต่ทิศทางการพัฒนาของโลกและคนส่วนใหญ่ยังมองข้ามสัญญานเตือนดังกล่าวอีกด้วย
“มันเลยขั้นตอนของการส่งสัญญาณมาแล้ว มันเข้าสู่ขั้นตอนของการกระทำ ตอนนี้โลกกระทำกับเราแล้ว ซึ่งมารูปแบบของภัยธรรมชาติ ถึงแม้ว่าเราจะมีการพยากรณ์การเกิดภัยธรรมชาติ ได้แม่นยำแค่ไหนแต่สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นอาจจะต่อเนื่องและถี่จนมนุษย์อาจรับมือมันไม่ไหว รวมถึงสิ่งที่เราเผชิญไปแล้วอย่างโรคระบาด โรคติดต่อ โรคอุบัติซ้ำ ที่มนุษย์เองก็ยังไม่ได้มีแผนรับมือมันดีพอ นีคือการโต้กลับของธรรมชาติที่เกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าว
แม้จะดูแลในส่วนงานของการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ป่า แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโลกรวนทั่วถึงกันหมด สิ่งแวดล้อมที่หายไปอย่างมากในช่วงหลังย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน
นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าวว่า กรอบของการอนุรักษ์สมัยก่อนอาจจะมีการแยกกันชัดเจน แต่ปัจจุบันความเชื่อมโยงของผลกระทบมันเห็นได้ชัดเจน และกระทบถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่อยู่ในโลกใบนี้
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“ในเวลานี้มันเหมือนแม่น้ำสามสาย ถ้าสายใดสายหนึ่งแห้งลง อีกสองสายก็ได้รับผลกระทบ เมื่อเรามองในบริบทภาพรวม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกับสุขภาพ ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหมดอยู่ภายใต้ร่มของสุขภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งแวดล้อมเจ็บไข้ได้ป่วยหรือล้มหายตายจาก ย่อมหมายถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็ล้มหายตายจากด้วยเช่นกัน นี่คือความเชื่อมโยงของผลกระทบจากสุขภาพที่ย่ำแย่ของสุขภาพสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้”
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์โลกรวนไม่ได้เป็นปัญหาที่ไกลตัวจากไทย เพราะในปี 2567 ประเทศไทยตอนเหนือและใต้ ต่างกำลังเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ หลายพื้นที่เป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี และอีกตัวชี้วัดหนึ่งคือพะยูนที่กำลังจะลดเหลือเพียง 80 ตัว จาก 200 ตัว ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี
“ในปี 2566 เราเสียพะยูนในทะเลไทยไป 40 ตัว ในปีนี้ เราเสียพะยูนไป 42 ตัว คาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้ เราจะเหลือพะยูนเพียง 80 ตัวจาก 200 ตัว และเราเหลือหญ้าทะเลเพียงแค่ 5%” ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ นักถ่ายภาพและศิลปิน ผู้เชื่อมโยงประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าว
“มีคนมาถามผมว่าการที่พะยูนตายแล้วมันสำคัญยังไงกับการมีชีวิตรอดของมนุษย์ คำถามนี้มันสำคัญที่ว่าคนยังไม่เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโลกรวน ตัวพะยูนเองถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่มันอาศัย ในวันนี้พะยูนจากตรังกำลังอพยพมาในถิ่นอื่นเพราะพวกมันไม่มีอาหารกิน หญ้าทะเลหายไปเพราะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ในขณะที่โลกประกอบไปด้วยน้ำ 2 ใน 3 ส่วนของพื้นที่ทั้งหมด ถ้าพะยูนยังไม่รอดแล้วมนุษย์จะรอดได้อย่างไร การที่พะยูนตายหนึ่งตัวอาจหมายถึงโลกที่ร้อนขึ้น 0.1 องศา ความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์หายไป 0.1% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในบ้านเราคือพะยูนหายไปกว่าครึ่ง แล้วมนุษย์จะอยู่กันอย่างไร”
ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ นักถ่ายภาพและศิลปิน ผู้เชื่อมโยงประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังดูเป็นเรื่องไกลตัวของหลาย ๆ คน บนโลกของสื่อที่ผลิตเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังเข้าไม่ถึงผู้คนจำนวนมาก ในทางรอดของสื่อและธรรมชาติท่ามกลางโลกรวน เราจะทลายกรอบการสื่อสารแบบเดิมอย่างไรให้ผู้คนได้เห็นความเชื่อมโยงของผลกระทบภายใต้ร่มของสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะได้รับความเสียหายจากธรรมชาติที่ถูกทำลายไปได้บ้าง
จากมนุษย์ถึงมนุษย์อนาคต ทลายเส้นแบ่งเมืองกับชายขอบของชายขอบ
ในหลาย ๆ ครั้ง การสื่อสารปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความละเอียดอ่อนของเรื่องราวที่ต้องการที่มาที่ไป การเล่าเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก ที่ล้วนทำให้มองเห็นภาพของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนหรือผู้รับสารของการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม เลือกที่จะมองข้ามและยังไม่เห็นความเชื่อมโยงของผลกระทบดังกล่าว ที่อยู่ในอากาศ อาหาร รอบตัวเรา
ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้ ผู้กำกับสารคดี AFTER และบรรณาธิการ Decode.plus มองว่าการทำสารคดีสักเรื่องมันคือการพูดถึงมนุษย์ในฐานมนุษย์โดยยินยอมให้ “ความจริง” นั้นปรากฏขึ้นตลอดการทำสารคดี “AFTER” ยอมรับเลยว่า ตัวเองยังต้องรื้อถอนสิ่งที่เคยรู้มาทั้งหมด “ทิ้งมันไป” เพราะมันอาจเป็นภาพลวงตาของระบบที่ชวนเพ้อฝันถึง 1.5 องศาอย่างเลื่อนลอย กลายเป็นตลกร้าย มันจบแล้วครับนาย ไปได้ยังไง จะอีกกี่ผืนป่ามันก็รับจบปัญหาโลกร้อนไม่ได้ ถ้าการ Fade out จากฟอสซิลยังไม่ไปถึงไหน ทั้งที่มันการันตีถึงความอยู่รอดของมนุษย์แน่ ๆ และหายนะที่มักจะเกิดขึ้นในวันธรรมดา ๆ วันนึง แล้ววันนี้ก็เป็นแค่บ่ายวันธรรมดา ๆ ที่เรานั่งล้อมวงคุยกันอยู่ในเมืองหลวง อีกฟากนึง “ชุมพรกำลังจมน้ำ” ปริมณฑลของความอยู่รอดได้ทลายเส้นแบ่งของเมืองกับชายขอบของชายขอบ” แท้จริงมันคือสมรภูมิเดียวกัน
ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้ ผู้กำกับสารคดี AFTER และบรรณาธิการ Decode.plus
“ภาษาและถ้อยคำ “survive“ มีความหมายเมื่อมันถูกดูและถูก “คิด” ถึงความหมายที่สองของความอยู่รอดเรา ๆ เอง ไม่ใช่ใครอื่น สิ่งนี้มันทลายปริมณฑลของการอนุรักษ์ มันทลายการอยู่รอดในป่า การอยู่รอดในเมืองมันคือเรื่องเดียวกัน มันแยกไม่ขาดจากกัน โลกในวันนี้มันแปรปรวนและไม่แน่นอนไปแล้ว การเอาตัวรอดในสถานการณ์โลกรวนที่คาดเดาได้ยากขึ้น รับมือได้ยากขึ้น คือหลักฐานชัดว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการหาทางรอดร่วมกัน”
การพูดถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมจึงไม่จบที่การใช้ชีวิตแบบกรีน ๆ การใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก การลดใช้ถุงพลาสติก ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขผลกระทบของสิ่งแวดล้อม แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อบรรเทาและลดความรุนแรงจากการโต้กลับของธรรมชาติที่ทวีคูณขึ้นทุกที
“เราทำเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัวมาเยอะ อย่างการลดการใช้พลาสติก แต่วันนี้เราต้องคิดใหญ่ขึ้น อย่างการ fade out จากอุตสาหกรรมฟอสซิล มันทำให้สารคดีหนึ่งเรื่องจึงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปอีกต่อไป เพราะปัญหาซับซ้อน รุนแรงมากขึ้น และแยกกันไม่ขาดจากเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้คน กระทั่งเรื่องกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม” ภัทราภรณ์ กล่าว
ธีระฉัตรในฐานะช่างภาพที่ทำงานสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม มองว่าการที่จะสื่อสารให้คนตระหนักว่าบ้านของเขากำลังมีปัญหา คือการต้องทำให้เห็นภาพชัดว่าปัญหาที่ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร
ธีระฉัตรได้ออกแบบการสื่อสารด้วยการนำการถ่ายภาพแฟชั่นผนวกรวมกับสถานการณ์ที่วาฬบรูด้าตายในประเทศไทย แม้ว่าผลตอบรับจากเป็นไปในแง่ลบเป็นส่วนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เขามองเห็นจากเหตุการณ์นี้ คือมีคนไทยจำนวนมากไม่รับรู้เลยว่าทะเลไทยมีวาฬอยู่อาศัยและกำลังล้มหายตายจาก
“เราทำงานกับวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ว่าเราอยากถ่ายรูปแบบไหนก็ได้ แต่เราต้องการสื่อสารให้เห็นว่ามีอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ ซึ่งการถ่ายภาพแฟชั่นเป็นการดึงความสนใจให้คนเห็นว่าบนโลกเดียวกันนี้ ในการสื่อสารคนละแบบ เรามีปัญหาร่วมกันอยู่ คือสิ่งแวดล้อมกำลังถูกทำลายและมีสิ่งมีชีวิตได้รับผลกระทบจากการเบียดเบียนของคน”
“แม้ว่าจะได้รับความสนใจจำนวนมากและเป็นแง่ลบ แต่มันก่อให้เกิดการถกเถียงขึ้นในสังคม ซึ่งมันเกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและไม่ได้ไกลตัวจากผู้ชมเลย มันเลยย้อนไปที่การทำงานของเราในขั้นต้นที่ทำงานในข้อมูลวิทยาศาสตร์ เรานำความจริงมาเล่า มันก่อให้เกิด impact กับสังคมในวงกว้างได้” ธีระฉัตร กล่าว
การทำงานสื่อและการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องเน้นไปที่การทลายกรอบปฏิบัติเดิม ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์ รวมถึงการสื่อสาร เมื่อปัญหาที่เรากำลังเผชิญในทุกวันแปรปรวนและไม่แน่นอน ผลกระทบที่ตามมาย่อมใช้การรับมือแบบเดิม ๆ ไม่ได้เช่นกัน
“สารคดี AFTER คือทางเลือกหนึ่งที่ให้คนดูอยู่ตรงนั้นกับเราในฐานะกล้องที่ 2 หรือผู้เฝ้ามองความเป็นไปของผู้คนที่อยู่ตรงหน้า ในฐานะของคนทำสารคดีนี่คือจุดสำคัญที่จะทำให้คนดูเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์หรือความจริงว่ามันเป็นเรื่องของพวกเขาด้วยเช่นกัน และเราต่างตกอยู่ในวงล้อมของโลกรวนด้วยกันทั้งสิ้น มันแปรปรวน คาดเดาไม่ได้ หนำซ้ำยังรุนแรง ไม่แน่นอน แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็มักจะเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่สุดเช่นกัน เปราะบางทั้งเรื่องรายได้ สถานะทางเศรษฐกิจและตำแหน่งแห่งที่ที่อยู่นอกศูนย์กลางแห่งอำนาจ เสียงของคนเหล่านี้ยังติด ๆ ดับ ๆ จนแทบจะไม่ได้ยิน จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีเบาะรองรับต่อรับมือกับภัยพิบัติ โดยไม่มีใครถูกทิ้ง หรืออย่างน้อยก็ได้กลับมาตั้งหลักในชีวิตได้ ไม่ต้องจนไปอีกหลายปี” ภัทราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีคำตอบสุดท้ายของการอนุรักษ์ แต่ต้องร่วมมือกันสร้างทางออกต่อโลกรวน
โลกรวนยังคงแปรปรวนและไม่แน่นอน เฉกเช่นเดียวกับทางออกของเรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบสุดท้ายว่าการรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะต้องเป็นไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงและผู้ก่อตั้ง SAVE Thailay แม้หลายคนจะรู้จักเขาในฐานะนักแสดง แต่ในอีกมุมหนึ่งฐานะมนุษย์ เขาตั้งคำถามกับความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากกิจกรรมดำน้ำ การเปลี่ยนไปของหาดทราย ปะการัง และน้ำทะเล ยังมีผู้คนในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้เห็นว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจมีคนจำนวนมากถูกผลักให้กลายเป็นด่านหน้าในการรับมือจากความเสื่อมโทรมของธรรมชาติในบ้านของพวกเขาเอง
อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงและผู้ก่อตั้ง SAVE Thailay
“เราไม่ได้มองว่าเราเป็นแบบ คนดังหรือเป็นอะไร เราแค่เป็นนักแสดง เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ตัวผมเองมันเริ่มต้น จากแค่เราชอบดำน้ำ เราก็ไปดำน้ำ เราก็รู้สึกว่าเราเห็นความเปลี่ยนแปลง ของพื้นที่ในทุก ๆ ครั้งที่เราไป เพราะผมก็จะมีหาดที่ผมชอบไป อยู่ซ้ำ ๆ ไปดำจุดที่เราชอบไป แล้วเราก็ไปเรื่อย ๆ เราก็รู้สึกว่าเราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง ตรงนั้นเริ่มเห็นข่าวมากขึ้น เราก็เลยเริ่มตั้งคำถาม ว่าในฐานะมนุษย์ เราไปแล้วเรามีแต่ความสุข แต่ในมุมหนึ่งเราคิดกลับกัน ว่าเราไปสร้างความเดือดร้อนให้พื้นที่หรือเปล่า มันก็เลยเป็นจุดตั้งต้น แล้วเราทำอะไรได้บ้าง”
“เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่เราคิดว่าทุกคนเป็นมนุษย์ เราสามารถที่จะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ไกลตัวเรา แต่ด้วยความที่เป็นกำแพงระหว่างความเป็นเมืองและธรรมชาติ มันชอบถูกสังคมหรือค่านิยมบางอย่างแยกกันออกไป มันเลยกลายเป็นเพราะอยู่ในเมืองเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราห่างไกลจากธรรมชาติ” อวัช กล่าว
ในมุมหนึ่ง อวัชเชื่อว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่ใครคนหนึ่งจะต้องพูด แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน อย่างไรก็ตามเสียงที่ใหญ่กว่าคนอื่น ๆ ของอาชีพนักแสดง ยิ่งเป็นอีกจุดที่ทำให้เขาเริ่มสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อคนที่ได้รับผลกระทบในหมู่มากคือประชาชนในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง เสียงของพวกเขาส่งไปไม่ถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้มากำกับดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้น
“เราคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องของประชาชน มันนำกลับไปสู่ภาพใหญ่ของสังคมอย่างโครงสร้างและผู้นำในประชาคมโลก การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต้องนำไปสู่มาตรการที่มีแนวปฏิบัติในการแก้ไขที่ชัดเจน เราต้องอย่าลืมในจุดนี้ว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน ถ้าการเมืองดี สิ่งแวดล้อมก็จะยกระดับตามไปด้วย” อวัช กล่าว
ด้านภัทราภรณ์กล่าวเสริม ถึงความเป็นคนชายขอบที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนและกลายเป็นคนด่านหน้า อย่างในหนังเรื่อง Parasite ที่ในเมืองเดียวกันแต่สถานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมทำให้ในวันฝนตก ครอบครัวหนึ่งอดไปตั้งแคมป์และกลับไปนอนในเพนเฮาส์ของตัวเอง ในขณะที่ครอบครัวหนึ่งต้องหนีตายและเก็บข้าวของมีค่า จากน้ำที่ไหลเข้ามาภายในบ้าน
จากประเด็นในหนังดังกล่าว ชี้ให้เห็นชัดว่าการเมืองและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแนบแน่น ถ้าการเมืองดี ย่อมมีการสนับสนุนและตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมในรูปนามของนโยบายแก้ปัญหาผลกระทบจากโลกรวนอย่างจริงจัง
“การพูดถึงความอยู่รอดของสัตว์ป่าและผู้คนชายขอบที่เรามักจะไม่ค่อยได้ยินเสียงของพวกเขาเท่าใดนักอาจนำไปสู่การสร้างเบาะรองรับให้กับพวกเขาที่เราต่างเห็นพ้องว่ามันคือชีวิตจริงที่ล้วนเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และการ raise ประเด็นความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมขึ้นมาก็สะท้อนความซับซ้อนของปัญหาเหล่านี้ว่ามันต้องเริ่มแก้จากจุดใด” ภัทราภรณ์ กล่าว
ในยุคที่เรามี AI ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ธีระฉัตรมองว่า ในการออกแบบการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมเราสามารถทำได้ง่ายขึ้น เราสามารถศึกษา ทำความเข้าใจ กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านการเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไม่ลืมความน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริง และน้ำเสียงของผู้คนในพื้นที่ เพื่อที่ให้การสื่อสารของเราได้มีพื้นที่ในการตระหนักรู้ของผู้ชมด้วยเหมือนกัน
ในส่วนของภาครัฐอย่างนายสัตวแพทย์ภัทรพล มองว่าสิ่งที่เราเผชิญมาและกำลังจะต้องพบเจออีก การถอดบทเรียนไม่เพียงพออีกต่อไป แต่เราจำเป็นจะต้องสร้างแบบเรียน เพื่อรับมือในเชิงรุกกับภัยพิบัติซึ่งเป็นผลจากโลกรวนอีกด้วย
“สิ่งที่เราจะต้องเจอในอนาคตยังมีหนักหนากว่านี้แน่นอน ตั้งแต่ทำงานมาเราพบเจอการถอดบทเรียนจำนวนมาก แต่เราได้นำมันไปปรับใช้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เราจะต้องทำต่อคือการสร้างแบบเรียนและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง และเป็นผลให้เราต้องปกป้องสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่า จากการคุกคามเบียดเบียนของมนุษย์” นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าว
การโต้กลับของธรรมชาติในอนาคต จะไม่หยุดอยู่ที่ภัยพิบัติแบบเดิมที่เราคุ้นเคย โรคอุบัติซ้ำ ระเบิดฝนฉับพลัน อากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นซ้ำในหน้าร้อนของทุกปี หากเรายังไม่สร้างทางเลือกในวันข้างหน้า เราก็อาจจะไม่เหลือทางรอด