หลัง COP29 รัฐไทยก้าวไม่ทันกับความแปรปรวนของโลก - Decode
Reading Time: 3 minutes

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP29 อยู่ในสายตาของนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วม ด้วยเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน มุ่งหน้าสู่เส้นทางปล่อยพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 ข้อเจรจาที่ทุกประเทศต่างเฝ้าคอย คือ เงินกองทุนสำหรับการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจากกองทุน 730 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าในการประชุมครั้งนี้ ได้รับชื่อว่า “COP ทางการเงิน” บทบาทของไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญ การเสวนา Post COP 29 และเส้นทางสู่อนาคต ชวนหาคำตอบว่า ความสูญเสียที่ประเทศไทยได้รับจากภัยพิบัติในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในส่วนใดของกองทุนช่วยเหลือ และไม่ว่าจะได้รับเงินสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศหรือไม่ วันนี้รัฐบาลไทยควรเร่งพัฒนาสิ่งใดเพื่อพาประเทศไปสู่ข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง

COP ทางการเงิน’ ไทยอยู่ตรงไหนของกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

ศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปประเด็นการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในครั้งนี้ไว้สามส่วน ในประเด็นแรกที่หลากหลายประเทศต่างเฝ้ารอข้อตกลงจากการเจรจา คือกองทุนความสูญเสียและการเสียหาย (Loss and Damage Fund) จากเงินบริจาคของ 26 ประเทศ จำนวน 730 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 24,820 ล้านบาท ที่จะเริ่มดำเนินการจัดสรรให้กับประเทศแถบหมู่เกาะ ทวีปแอฟริกา ซึ่งมีกำลังการพัฒนาน้อยที่สุดเป็นอันดับแรก  ดร.วิษณุให้ความคิดเห็นว่า มีโอกาสเป็นไปได้ยากที่ประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินภายในกองทุนนั้นยังห่างไกลกับตัวเลขความเสียหายต่อปี ที่มีมูลค่า 53.5 ล้านล้านบาท อีกทั้งการบริจาคยังไม่ยั่งยืนต่อเนื่องสำหรับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกปี

ประเด็นต่อมา คือการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ที่นานาประเทศมีเป้าหมายสำรองเงินไว้จำนวน 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2035 ซึ่งหากนับปัจจุบันที่มีกองทุนสำรองอยู่ที่ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงกล่าวได้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่อาจมีเงินทุนสำรองไว้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดแผนการเงินใหม่ที่มีชื่อว่า “Baku to Belem Roadmap” เพิ่มกำลังทางการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนาเป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้มากขึ้น เป็นผลให้ในการประชุมครั้งนี้เกิดข้อตกลงที่จะให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเริ่มบริจาคเข้าร่วมในกองทุนสำรองดังกล่าว

การพัฒนาสุดท้ายที่ถูกผลักดันภายใต้การประชุมทางสภาพภูมิอากาศ คือตลาดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ นับเป็นการเพิ่มกลไกทางเศรษฐศาสตร์เพื่อลดต้นทุนที่จะนำไปสู่การลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก เปิดพื้นที่ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ที่ให้โอกาสนักลงทุนผู้พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาท ซึ่งหากเกิดการยกระดับตลาดคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ ไทยควรมองหาผู้เล่นในตลาดการค้าที่มีความสามารถในการกำกับดูแลการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และเจรจาร่วมกับกลุ่มตลาดการค้าในต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

สำหรับแนวทางในอนาคตของประเทศไทย การนำเสนอโครงการที่มีประสิทธิภาพเพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จะเพิ่มโอกาสในการได้รับเงินกองทุนสนับสนุน ผลักดันการจัดเตรียมทรัพยากร เพื่อรองรับคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ มุ่งหาพันธมิตรร่วมลงทุนในองค์กรระหว่างประเทศ ในด้านพลังงานหมุนเวียน ระบบความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการพัฒนา และวิจัยทางสิ่งแวดล้อม 

หากมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ดร.วิษณุได้นำเสนอแนวทาง การลงทุนในแหล่งน้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทาน เนื่องจากปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกเพียง 26 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกิดความเปราะบางทางการเกษตร เกี่ยวเนื่องไปกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข พัฒนาความรู้พร้อมทั้งหลักประกันความเสียหาย จากเดิมที่เป็นการช่วยเหลือแบบประชานิยม แต่ไม่มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนทางเกษตรที่มีความยั่งยืน พัฒนาศักยภาพทางการผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการสนับสนุนตลาดเช่าบริการเทคโนโลยี (Sharing Economy) เนื่องจากรูปแบบการเกษตรของไทยไม่ใช่รูปแบบการผลิตขนาดใหญ่ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง การสนับสนุนธุรกิจการเช่าบริการเทคโนโลยี จึงเป็นแนวทางให้เกิดการแข่งขันทางตลาดภายในประเทศ เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า มีคุณภาพ โดยที่ต้นทุนทางการผลิตถูกลง

“การที่ประเทศไทยจะมีระบบคาร์บอนเครคิตที่เป็นมาตรฐานสากล รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือให้ภาคเกษตรกร ธุรกิจขนาดเล็กสามารถปรับตัวไปพร้อมกับการพัฒนารูปแบบทางการผลิต ซึ่งก่อนหน้านั้น
รัฐต้องมีการวางแผนนโยบายโครงสร้างพื้นฐานการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำภายในประเทศ” 

การพัฒนาทางด้านการผลิตสามารถพิจารณาควบคู่ไปกับพลังงานที่ใช้ภายในประเทศ ที่ปัจจุบันไทยยังใช้พลังงานหมุนเวียนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศทั่วโลก ด้วยตัวเลขเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งหมด นับรวมไปถึงระบบการผลิตอาหารที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมด ซึ่งวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดเก็บตัวเลขปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่มีมาตรฐาน หากในอนาคตเกิดการจัดเก็บภาษีปล่อยคาร์บอนย้อนหลัง และไทยยังไม่เตรียมรับมือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้เป็นที่ยอมรับของตลาดสากล ไม่มีระบบการจัดเก็บคาร์บอนที่มีความละเอียดเป็นมาตราฐานของประเทศ จะส่งผลให้เกิดราคาสินค้าที่เพิ่มสูงมากขึ้น แข่งขันระหว่างประเทศคู่แข่งทางการค้าได้อย่างยากลำบาก ไม่เป็นที่ยอมรับของเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หรือหากจะดำเนินการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคู่แข่ง อาจจะส่งผลให้ราคาคาร์บอนถูกลง ไม่เกิดการเติบโตไปยังตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ

ลงทุนตลาดคาร์บอนเครดิตไม่ควรแยกขาดจาก ‘ความยากจน’

“People and Planet” คือจุดมุ่งหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (Sustainable Development Goals: SDGs)
ที่ ผศ.ดร.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไปพร้อมกับโลกที่สามารถอุ้มชูทุกชีวิตได้อย่างสมดุล ซึ่งหากเชื่อมโยงประเด็นความมั่นคงกับการประชุม COP29 สิ่งสำคัญแรกที่ควรคำนึงถึง คือสถานะทางการเงินและการพัฒนาทักษะของประชาชน ที่วันนี้ในการดำเนินงานของภาครัฐ ยังไม่มีกระบวนการติดตามงบประมาณเพื่อความยั่งยืน จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศต่อประชาชน ว่าได้นำงบประมาณไปดำเนินงานด้านใดบ้าง ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้ ติดตามสถานะการทำงานของภาครัฐได้ว่า ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณตามความเร่งด่วนและความยั่งยืนที่เหมาะสมหรือไม่ รวมไปถึงมาตรการผสมผสานกองทุนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนา ที่วันนี้ยังไม่เกิดขึ้นสำหรับเงินทุนภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

แม้ความยั่งยืนจากการประชุมจะพูดถึงในเชิงมิติทางสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญ แต่ผศ.ดร.ชล ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนานั้นไม่สามารถละเลยความยั่งยืนในประเด็นอื่นได้ เพราะวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ถดถอยลงกว่าข้อมูลในปี 2015 หากจะดำเนินการพัฒนาภายใต้สถานการณ์ความน่าเป็นห่วง ย่อมต้องคำนึงหลักการที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันด้วย เช่น หากภาครัฐจะพัฒนาการลงทุนตลาดคาร์บอนเครดิต ต้องไม่มองแยกขาดจากเรื่องลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ หรือหลุดไปจากเป้าหมายการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพไปได้ อีกทั้งปัญหาทางสิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด็นข้ามพรมแดนที่ภาครัฐควรอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาค กลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อพัฒนาความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมให้มีอำนาจการต่อรอง พัฒนาประเทศกลุ่มภูมิภาคให้มีความทัดเทียมกับนานาประเทศ

กฎหมายรับมือโลกรวนไทย ช้ากว่าใครไป 15 ปี

ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่เตรียมดำเนินการเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ที่มีประเด็นในความสนใจถึงการระบุแนวทางการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ที่ในช่วงเวลาก่อนหน้าปัญหาของประเทศไทยคือความละเอียดในการเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีมาตรฐาน ครอบคลุมไปถึงกลุ่มภาครัฐ รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการผลิต รวมไปถึงเพิ่มเติมในส่วนของการบังคับให้เกิดการเข้าร่วมตลาดคาร์บอนเครดิต จากเดิมมีเพียงภาคสมัครใจ ร่วมไปกับการกำหนดภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ในภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนเป็นจำนวนมากเช่นในอุตสาหกรรมไฟฟ้า

“ส่วนสำคัญกว่าคาร์บอนเครดิต คือการลดการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะตลาดซื้อขายคาร์บอนเป็นเพียงแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ที่ต้องระมัดระวังการฟอกเขียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนอย่างแท้จริง”

หนึ่งในมาตราร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ปรับแก้หลังจากปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีความน่าสนใจในมุมมองของดร.ภาคภูมิ คือมาตรา 8 ที่ว่าด้วยเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065 (หากอ้างอิงจากข้อตกลงการประชุม COP21 เมื่อปี 2015 ที่ทุกประเทศได้ทำมติเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 3035 และปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 จะถือได้ว่าไทยมีเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมช้ากว่ามติประเทศร่วมลงนามถึง 15 ปี) ต่อเนื่องไปถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในมาตรา 9 ที่มีใจความว่า 

“ภายใต้บังคับมาตรา 8 ให้ถือว่าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของไทยเป็นภารกิจของหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน และให้กำหนดแผนปฏิบัติงานในแต่ละภาคส่วนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมของประเทศ”

แม้จะถูกร่างไว้ในพระราชบัญญัติ แต่ความขัดแย้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติของการดำเนินงานของภาครัฐยังคงเกิดขึ้นในการดำเนินภารกิจทางสิ่งแวดล้อม ดร.ภาคภูมิยกตัวอย่างการยกเลิกการใช้ทรัพยากรถ่านหิน ที่ยังไม่ถูกบัญญัติไว้ในแผนนโยบายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และวันนี้ยังคงมีการใช้ทรัพยากรถ่านหินภายในประเทศในอุตสาหกรรมพลังงาน จึงเป็นหนึ่งในข้อคำถามถึงการบังคับใช้กฎหมายที่หากยังมีความขัดแย้งกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐจะมีแผนการรับมืออย่างไร หากไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายเมื่อถึงช่วงเวลาที่กำหนดไว้ได้

จากร่างกฎหมายสู่รัฐสภา รัฐไทยไม่ทันกับความแปรปรวนของโลก

ดร.ศนิวาร บัวบาน สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และกรรมาธิการที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ในฐานะตัวแทนรัฐสภาผู้เข้าร่วมการประชุม COP29 กล่าวว่าจากการประชุมร่วมกับรัฐสภาของประเทศร่วมลงนามด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศผู้เข้าร่วมประชุมจะดำเนินการลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 และก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีเป้าหมายที่ช้ากว่าประเทศอื่น แต่หากพิจารณาตามกระบวนการทำงาน หากเร่งกระบวนการปรับเปลี่ยนจากการใช้งานทรัพยากรธรรมชาติไปสู่พลังงานสะอาด อาจส่งผลกระทบกับประชาชนที่วันนี้ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดต่อการปรับตัว ดร.ศนิวารยกตัวอย่างกรณีของเหมืองถ่านหินแม่เมาะ ที่เป็นเหมืองถ่านหินสุดท้ายภายในประเทศไทย มีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในปี 2050 ในความคิดเห็นของดร.ศนิวารนั้น ประเทศไทยสามารถยกเลิกอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินได้รวดเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ยังไม่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับภาคประชาชน ในด้านอาชีพรองรับภายหลังจากดำเนินการปิดถ่านหิน เพื่อให้แรงงานอุตสาหกรรมพลังงานมีรายได้ และไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทางสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ คือความมั่นคงทางด้านสุขภาพระดับโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องร่วมหาแนวทางสาธารณสุขเพื่อดูแลปัญหาสุขภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการวางแนวทางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan: NAP) ที่ประเทศไทยกำหนดร่างไว้ในปี 2018 แต่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติใช้ดำเนินงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแผนการปรับตัวดังกล่าวยังไม่ได้ลงรายละเอียดที่มีความหลากหลาย มีการลำดับความสำคัญเทียบเท่ากับประเทศต้นแบบที่ได้ทำการศึกษา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างลำบาก ไม่มีแบบแผนในการลำดับการใช้งบประมาณที่มีความสำคัญเช่นในกรณีของการเกิดภัยพิบัติ ที่ประเทศเสี่ยงต่อภัยพิบัติล้วนใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาการรับมือกับภัยพิบัติ เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นภายหลังภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ อีกทั้งแผนการดำเนินงานของประเทศไทย ยังไม่มีการพัฒนาให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญในปัจจุบัน ความน่าเชื่อถือของภาครัฐผ่านแผนการดำเนินงานในสายตาของประชาชนจึงลดน้อยลงไปด้วย

ลดคาร์บอนไม่พอ แต่ต้องปรับตัวกับภัยความเสี่ยง

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ TDRI กล่าวถึงข้อมูลเชิงสถิติว่าประเทศไทยอยู่ในรายชื่อ 1 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ จากตัวเลขย้อนหลัง 20 ปีที่ไทยเผชิญกับภัยพิบัติทางการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศจำนวน 146 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 138 คนต่อปี คิดมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี หากในสายตาของประเทศทั่วโลก ความสำคัญในวันนี้ที่ทุกประเทศมุ่งเน้นปรับลดคาร์บอนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Mitigation) หากแต่ในระดับท้องถิ่น การปรับตัวทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation) เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ถูกกล่าวถึงในระดับสากล โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทย ซึ่งแม้การประชุมครั้งนี้จะมีความพยายามในการเพิ่มกองทุนรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ยังมีความคลุมเครือว่าประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับเงินกองทุนในช่วงเวลาใด ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงทางการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแนวทางที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ ภายใต้สถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่าเรากำลังจะเผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  

จากภัยพิบัติในพื้นที่ภาคเหนือ สู่ภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นข้อย้ำเตือนว่าสถานการณ์รับมือภัยพิบัติของประเทศไทย ไม่สามารถใช้รูปแบบการทำงานแบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่ยังคงบูรณาการทำงานจากส่วนกลาง ขาดเครื่องมือการแจ้งเตือนภัย แผนการรับมือภัยพิบัติ ที่ท้ายที่สุดผลกระทบจากภัยพิบัติเป็นประชาชนที่เป็นด่านหน้าของความสูญเสีย การทำงานปรับนโยบาย และระบบบริหารประเทศ ไม่สามารถปรับได้ด้วยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ต้องเป็นการทำงานภายใต้มุมมองว่าเป็นงานด้านการรับมือความแปรปรวนทางสิ่งแวดล้อม เป็นการทำงานระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้ทำงานด้านการปรับตัวทางการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการรับมือภัยพิบัติที่ยั่งยืนผ่านการสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชน

ชุมชนคือคำตอบ เดิมพันที่ไม่ต้องแลกกับความสูญเสียมหาศาล

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) เป็นสิ่งสำคัญที่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านการรับมือความแปรปรวนที่เป็นธรรมกับประชาชน ที่วันนี้ยังไม่ถูกเขียนไว้ในกฎหมาย ถึงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ระดับท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม ที่มีความชัดเจนว่าเราไม่สามารถคาดหวัง รอคอยการช่วยเหลือด้านเงินทุนจากนานาชาติเพียงอย่างเดียว โดยต้องเริ่มต้นจากรัฐบาล ให้ทรัพยากรกับชุมชนในการพัฒนาความสามารถในการรับมือความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม มีแผนการรับมือภัยพิบัติ เผชิญเหตุโดยไม่จำเป็นต้องแลกกับความสูญเสียจำนวนมหาศาล ทำให้ท้องถิ่นชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนผ่านทางกฎหมายที่ไม่จำกัดความสามารถในการทำงานระดับท้องถิ่น สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม หยิบยื่นทรัพยากรสะอาดให้กับชุมชน ที่กรณีตัวอย่างของการปลูกป่าไม้ เพื่อใช้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ต้องนำไปสู่เป็นการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ไม่ใช่การกระทำเพื่อนำมาซื้อขายในระบบเศรษฐกิจเพียงช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่

ความรับผิดรับชอบของรัฐบาล (Accountability) ต่อการทำงานภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ คือสิ่งที่ประชาชนตามหาภายใต้การทำงานที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ของหน่วยงานรัฐ ที่วันนี้การทำงานของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุติเพียงแค่การรายงานผลการทำงานกับคณะรัฐมนตรี แต่รัฐสภา รวมไปถึงประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลการทำงานด้านความยั่งยืนของประเทศ การใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม การรับมือด้านภัยพิบัติของประเทศ ภาพการทำงานเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งที่ ‘มองไม่เห็น’ ในสายตาของประชาชน และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บุคคลที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานด้านความยั่งยืนถูกลดบทบาทความสำคัญ ไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในภาครัฐ เป็นเพียงกลไกที่ไม่มีพลังมากพอในการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งหากจะเกิดกระบวนการทำงานเพื่อความยั่งยืนขึ้นจริง  

ในวันนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างรัฐบาลและชุมชน เกิดกลไกที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนในระดับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และในระดับประเทศ ที่หากรอเวลาตามเป้าหมาย อาจไม่เท่าทันการแปรเปลี่ยนของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง และความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมที่เกินความรับผิดรับชอบของรัฐบาล เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เพียงเรื่องของโลกรวน ภัยพิบัติ แต่หมายถึงการสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติ การพัฒนาความยั่งยืนของประเทศ ระบบเศรษฐกิจ และการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติที่มีต่อความตระหนักถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อม