ร่างกายเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจ เพราะบางครั้งมันก็มีกลไกอะไรบางอย่างที่คอยช่วยปกป้องให้มนุษย์รอดชีวิต แต่เมื่ออายุของเราเพิ่มมากขึ้นประสิทธิภาพอะไรที่เคยดี เมื่อตอนอายุยังน้อย ๆ ก็เริ่มถดถอยลงไป
สิ่งหนึ่งที่ร่างกายของผู้หญิงต้องประสบพอเจอตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์เลยก็คือเรื่องของ “ประจำเดือน” แต่ละคนอาจจะมีอาการของประจำเดือนในแต่ละเดือนไม่เหมือนกัน และอาการเหล่านี้ก็จะอยู่กับเราเหล่าผู้หญิงจนถึงช่วงวัยที่หมดประจำเดือน
วัยหมดประจำเดือน – คำนี้มักถูกผู้คนในสังคมปิตาธิปไตย นำมาด้อยค่า ว่าผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยนี้เป็นคนไร้ค่า ไร้ประสิทธิภาพ (ในแง่ของสภาพร่างกาย และการมีเพศสัมพันธ์) ถูกมองว่าเป็นโรคที่เกิดจากความอ่อนแอของผู้หญิงและรังไข่ของผู้หญิง แต่การเข้าใจแบบนี้ก็เพราะว่าผู้ชายไม่ได้มีรังไข่แบบเพศหญิง วัยหมดประจำเดือนไม่ได้ทำให้ถูกพูดในชีวิตประจำวันจึงทำให้ผู้หญิงไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ และอาจทำให้รู้สึกกลัว จนไม่กล้าพูดถึง จริง ๆ แล้ววัยหมดประจำเดือนเป็นการปรับตัวทางวิวัฒนาการอย่างนึงที่ทำให้ร่างกาย “อยู่รอด”
แม้ว่าเรา จะยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน แต่เราก็รู้สึกว่าความหมายในเชิงลบแบบนั้นมันเป็นการด้อยค่าผู้หญิงไปสักหน่อย และไม่ใช่มีแต่ร่างกายของผู้หญิงที่เสื่อมลงไปฝ่ายเดียวเสียเมื่อไหร่ เพศชายเอง ร่างกายก็เสื่อมไปตามวันเวลาเช่นกัน เพียงแต่ว่าไม่มีใครพูดหรือให้คำนิยามในการด้อยค่าเพศชายเช่นนี้
ผู้แปลหนังสือเล่มนี้เอง ก็เลือกแปลคำว่า Menopause เป็นภาษาไทยโดยใช้คำว่า วัยหมดประจำเดือน มากกว่าที่จะใช้คำว่า วัยทอง เพราะคำหลังฟังดูให้ความหมายในเชิงลบมากกว่า
หนังสือเรื่อง The Menopause Manifesto หมดเมนส์แล้วเป็นไง เตรียมตัวไว้ก่อนวัย 30 วัยหมดประจำเดือน พญ.กันเทอร์ ผู้เขียนหนังสือได้บอกไว้ว่า เป็นวัยเจริญพันธุ์กลับด้าน เพราะเป็นเวลาที่รังไข่เปลี่ยนผ่านการทำงานจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่ง เหมือนกับตอนที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนที่แปรปรวนก็ส่งผลกระทบกับทุกอย่าง แม้เราจะยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน แต่การที่เรารู้ไว้ก่อนก็น่าจะเป็นการดีในการทำความเข้าใจ และการเตรียมตัว และจริง ๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดแต่หลังช่วงที่ประจำเดือนหมดเพียงแค่นั้น แต่ยังพูดถึงการที่ประจำเดือนมาผิดปกติต่าง ๆ อีกด้วย จะว่าไปเมื่อไม่นานมานี้ เราก็ตรวจพบเจอความผิดปกติบางอย่างของประจำเดือน เลยทำให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อเตรียมตัวไว้ก็คงจะดีเหมือนกัน
ช่วงที่กำลังจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนร่างกายเราจะเปลี่ยนไปจากเดิม ในหนังสือพูดถึงช่องว่างของความรู้ในช่วงระหว่างที่กำลังจะหมดประจำเดือนว่าช่องว่างตรงนี้ยังไม่เคยมีใครมาให้ความรู้มาก่อน ผู้หญิงจะต้องพบเจอกับอาการทางร่างกาย จิตใจอย่างไรบ้าง และบางครั้งบางบริษัทก็ถือโอกาสเอาช่องว่างตรงนี้นี่แหละ ไปโฆษณาชวนเชื่อให้กับผู้หญิงว่าทำแบบนั้นสิ ทำแบบนี้สิ อาการจะหายไป แม้ว่าหนังสือจะมีคำศัพท์ทางวิชาการเยอะ แต่ก็พอจะทำให้ชาวบ้านแบบเราเข้าใจเนื้อหาพอสังเขปเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับช่วงวัยที่กำลังจะมาถึงได้
วัยหมดประจำเดือน เกิดขึ้นเมื่อถุงไข่ในรังไข่ ไม่สามารถตกไข่ได้อีกต่อไป อายุเฉลี่ยของวัยหมดประจำเดือนจะอยู่ระหว่าง 50-52 ปี ข้อบ่งชี้สำคัญข้อหนึ่งของวัยนี้ คือการลดลงอย่างรวดเร็วของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นแหล่งกำเนิดหลักคือถุงไข่ ซึ่งการที่เอสโตรเจนลดลงเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติและโรคหลายอย่าง ซึ่งการที่เราจะบอกได้ว่านี่คือช่วงหมดประจำเดือนทางการแพทย์จะหมายถึงการไม่มีประจำเดือนติดต่อกันหนึ่งปี แต่หากว่าในระหว่างนั้นยังมีประจำเดือนก็จะยังไม่นับ
ฉะนั้นช่วงก่อนหมดประจำเดือนจะเป็นช่วงที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะยาวนานแค่ไหน และการแปรปรวนของฮอร์โมนนี้ก็อาจจะนำไปสู่อาการต่าง ๆ หรือนำไปสู่โรคร้ายได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะแยกอาการผิดปกติที่สัมพันธ์กับการแปรปรวนของฮอร์โมน กับความผิดปกติที่มาจากความสูงวัย ซึ่งความสูงวัยก็มาจากการสะสมโรคต่าง ๆ มานานแล้วเหมือนกัน
อย่างเรื่องประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจเป็นอาการเริ่มต้นของคนที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่วัยหมดประจำเดือน แต่ถ้าคนที่มีอาการนี้มาก่อนหน้านี้อยู่แล้วอาจเสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ เพราะในช่วงอายุ 30-40 ปี อาจเป็นโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอได้ เช่น ภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ฯลฯ
อาการวัยหมดประจำเดือนที่พบได้บ่อย เช่น อาการนอนหลับยาก
สาเหตุของการนอนไม่หลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจระหว่างหลับ หรือภาวะซึมเศร้า อาจเกิดขึ้นเพราะความสูงวัยหรือโรคประจำตัวบางอย่าง แต่ก็ยังมีข้อเท็จจริงอีกอย่างคือ ช่วงเปลี่ยนผ่านวัยหมดประจำเดือนสามารถกระตุ้นอาการเหล่านั้นได้เช่นกัน แพทย์และผู้ป่วยอาจจะต้องมาพิจารณาหาสาเหตุทั้งหมด
อาการร้อนวูบวาบ
อาการนี้เรามักได้ยินบ่อย ๆ เมื่อใครที่เข้าใกล้ช่วงวัยหมดประจำเดือน อาการนี้เกิดขึ้นเมื่อเครื่องมือควบคุมอุณหภูมิในร่างกายทำงานผิดปกติแล้วบอกกับสมองว่าคุณร้อน ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ คุณไม่ได้ร้อน เครื่องมือควบคุมอุณหภูมินี้เรียกว่าเทอร์โมเรกิวเลชัน เป็นระบบชีววิทยาช่วยรักษาระดับอุณหภูมิร่างกายอยู่ลึกเข้าไปในสมอง มีฮอร์โมนและสารสื่อประสาทหลายชนิดทำงานร่วมกันเพื่อรับสัญญาณจากร่างกายตลอดจนสภาพแวดล้อมเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายไม่ให้เปลี่ยนแปลงขึ้นลงจากระดับปกติมาก และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างระบบสืบพันธุ์กับระบบควบคุมอุณหภูมิ เช่น อุณหภูมิร่างกายจะสูงสุดระหว่างช่วงตกไข่และช่วงมีประจำเดือน เพื่อให้ร่างกายมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการฝังตัวของไข่ จริง ๆ เพศชายสูงวัยก็จะมีอาการร้อนวูบวาบแบบนี้เช่นกันเพียงแต่ว่าเป็นน้อยกว่าเพศหญิงมาก
ถ้าอยู่ในช่วงก่อนวัยสี่สิบปีแล้วมีภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด อาการคือรอบเดือนขาดการมาติดต่อกันสามถึงสี่รอบ หรือรู้สึกร้อนวูบวาบ ควรให้แพทย์วินิจฉัยโรค หากมีภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด ก็อาจจะทำให้เกิดควาามเสี่ยงโรคร้ายตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน
อย่างที่เราบอกไปตอนต้นว่า เมื่อไม่นานมานี้เรามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมีประจำเดือน นั่นก็คือการมีประจำเดือนกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน ซึ่งนั่นก็ส่งสัญญาณให้เรารู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติไป ซึ่งอาการผิดปกตินี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่น ๆ ซึ่งหากใครมีอาการผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรค รวมถึงคนที่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนด้วย เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก มดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
สุขภาพและวิธีการใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนสูงวัยส่งผลกับเรื่องวัยหมดประจำเดือนทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่สุขภาพมดลูกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย ความเครียด ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือถ้าคนมีลูกก็จะรวมถึงการมีลูกและการให้นมลูก ข้อพิจารณาอื่น ๆ ด้วยเช่นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ซึ่งหมายถึงเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจตามสภาพแวดล้อมของแต่ละคน
ผู้หญิงแต่ละคนประสบกับภาวะช่วงใกล้หมดประจำเดือนไม่เหมือนกัน และไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าใช้ระยะเวลายาวนานแค่ไหนและถ้าเราบอกอาการที่เราเป็นให้กับคนที่ไม่เข้าใจ อย่างเช่น เพศชาย เขาก็อาจจะมองว่าเราเรื่องมาก คิดไปเองหรือเปล่า ซึ่งนี่แหละคือการที่สังคมไม่เคยสนใจ เข้าใจความต้องการหรือความรู้สึกที่แท้จริงของเพศหญิง รวมถึงไม่เคยเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องของเรื่องนี้ให้สังคมภายนอกได้รับรู้ ผู้หญิงเราอาจพิจารณาเรื่องการเตรียมตัวรับมือวัยหมดประจำเดือนได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี หรือน้อยกว่านั้น สิ่งที่เราทำได้ต่อเนื่องเลยก็คือ การหยุดสูบบุหรี่ (เพราะการสูบบุหรี่จะไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และเป็นตัวเร่งให้อายุวัยหมดประจำเดือนเร็วขึ้นประมาณสองปี) ออกกำลังกายให้ครบชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามที่หมอแนะนำ (จะช่วยรักษากล้ามเนื้อและมวลกระดูกเอาไว้ได้) และการกินอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วน สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งยาและการป้องกันก่อนเกิดโรค อาจดูเหมือนเรื่องพื้นฐานทั่วไป แต่คนส่วนมากมักทำไม่ได้ ทั้งนี้รวมถึงการฝึกความคิดและปรับพฤติกรรมด้วย (CBT) เพื่อให้มีความพร้อมก่อนวัยหมดประจำเดือนเพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายใจ
ในหนังสือเล่มนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากมายให้เราเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การที่เราหมั่นสำรวจ สังเกตร่างกายของตัวเองบ่อย ๆ ก็อาจจะเป็นส่วนที่ช่วยป้องกันโรคร้ายที่จะเกิดตามมาได้ และมันไม่ผิดเลยที่จะพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผย
อย่าให้เพศไหนกำหนดคุณค่าของผู้หญิง วัยหมดประจำเดือนไม่ใช่จุดจบของชีวิต แต่เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
PlayRead: The Menopause Manifesto หมดเมนส์แล้วเป็นไง เตรียมตัวไว้ก่อนวัย 30
ผู้เขียน: พญ.เจ็น กันเทอร์
แปล: นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
สำนักพิมพ์: แม็กพาย บุ๊กส์