“ถ้าคนไร้บ้านเจ็บป่วย สถานที่ใดที่คนไร้บ้านจะนึกถึงหากต้องรักษาพยาบาล”
เริ่มต้นตั้งคำถามถึงประเด็น “คนไร้บ้าน” เรื่องบ้าน ๆ ที่ไม่เรียบง่ายหากจะทำความเข้าใจอย่างครบถ้วน ตัวเลข 2,499 คือจำนวนคนไร้บ้านในประเทศไทย กว่าครึ่งหนึ่งพักอาศัยในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร คนไร้บ้านถูกพูดถึง
ในด้านความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโดยมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย จากการก่อตั้งโครงการ “บ้านอิ่มใจ” ของกทม. เช่าพื้นที่ประปาแม้นศรีในการเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวให้กับคนไร้บ้านได้ตั้งต้นประกอบอาชีพ สร้างรายได้
เพื่อขยับขยายไปสู่การเช่าที่พักอาศัยได้ด้วยตัวเอง ไปสู่โครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมไปถึงองค์กรที่ทำงานสนับสนุนคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างมูลนิธิอิสรชน และมูลนิธิกระจกเงาผ่านโครงการจ้างวานข้า ทำให้เกิดการว่าจ้างงานคนไร้บ้าน นำไปสู่กลไกการสร้างความมั่นคงให้กับคนไร้บ้านได้ใช้ชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเพียงระบบสงเคราะห์ แม้ฟังดูเป็นเรื่องง่ายดาย แต่การพัฒนาชีวิตคนไร้บ้านมีหลากมิติที่จะให้คนไร้บ้าน “ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง” ซึ่งไม่ใช่เพียงการมีบ้านมั่นคง มีอาชีพ มีรายได้ แต่ยังรวมไปถึงการเข้าถึงรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เสมอภาคกันในสังคมไทย
‘สุขภาวะ’ ที่ยังไม่เคยพูดถึงในคนไร้บ้าน
เรื่องสุขภาวะของคนไร้บ้านเป็นสิ่งหนึ่งที่เลือนหายไปจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน ซึ่งหากอิงจากการแจงนับคนไร้บ้าน One Night Count ในปี 2556 คนไร้บ้านที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนไปจนถึงสูงวัย มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ถึง 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่นับรวมถึงความเสี่ยงการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ที่ส่งผลให้คนไร้บ้านเผชิญกับความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาวะ โรคภัยที่เกิดขึ้นตามอายุขัย ความเสื่อมโทรมของร่างกาย สิ่งที่ซ้ำร้ายไปกว่าความเจ็บป่วย คือการที่ภาครัฐไม่นับรวมคนไร้บ้านเข้าไปในกลุ่มผู้ได้รับรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐาน คนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง
ไม่ได้มีเอกสารยืนยันตัวตนจากภาครัฐ เป็น ‘คนกลาง’ ตามชื่อเรียกของคนไร้บ้าน ที่บอกว่าตนเองอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ไม่มีบัตรประชาชน ขาดการต่ออายุบัตร สูญหายไปในช่วงที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เป็นกำแพงสูงใหญ่ที่ปิดกั้นการเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ยากต่อการที่คนไร้บ้านจะตัดสินใจออกจากพื้นที่สาธารณะเพื่อไปใช้ชีวิตอย่างมั่นคง
ความชัดเจนที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาวะคนไร้บ้าน เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่มาตรการปิดเมืองทำให้คนไกลบ้านจำนวนมากได้กลับบ้าน แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนไร้บ้าน อีกทั้งยังขาดระบบสาธารณสุขที่จะช่วยเหลือคนไร้บ้านในกรณีที่ติดเชื้อไวรัส การป้องกันความเสี่ยงขั้นพื้นฐาน ก่อนที่จะเกิดโครงการ “Cocare” ของกระทรวงสาธารณสุขจากความร่วมมือกันของแพทย์อาสา ดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ
คุณหมอไก๋ นายแพทย์อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ นักวิจัยระบบสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในทีมแพทย์อาสาของ Cocare ที่ได้มาสัมผัสกับงานสุขภาวะของคนไร้บ้าน หลังจากสถานการณ์โควิด – 19 คุณหมอมองว่าปัญหาสาธารณสุขของคนไร้บ้านไม่ได้จบลงไปพร้อมกับวิกฤติโรคระบาด เป็นเหตุผลให้ตัดสินใจเชิญชวนเพื่อนคุณหมออาสาจัดตั้งบริษัท สุขภาวะข้างถนน จำกัด ริเริ่มโครงการสุขภาวะข้างถนนผ่านนิยามของ “อาสาสาธารณสุข” ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิอิสรชน ที่มีตารางปันอาหารให้คนไร้บ้านทุกวันอังคารของสัปดาห์ที่สองและสัปดาห์สุดท้ายของเดือน หลังจากกิจกรรมปันอาหาร คลินิกเคลื่อนที่ (Mobile Clinic) ของเหล่าแพทย์อาสาก็เริ่มตั้งต้นขึ้น โดยจะมีทีมแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักเรียน นิสิตนักศึกษามาร่วมทำงานผลัดเปลี่ยนกันทำงานในแต่ละรอบของการจัดตั้งคลินิกเคลื่อนที่
เมื่อได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนไร้บ้านมากขึ้น การจัดตั้งเพียงคลินิกเคลื่อนที่ ไม่เพียงพอกับการเข้าไปช่วยเหลือระบบสุขภาวะของคนไร้บ้าน เมื่อคนไข้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล สิ่งที่คุณหมออานนท์บอกเล่าเหตุการณ์ที่ส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล แพทย์อาสาจะพบปัญหาอยู่สองสิ่งที่ไกลไปกว่าการจะจัดตั้งระบบการแพทย์ชั่วคราว
สิ่งแรก คือปัญหารัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ขาดหายไปในชีวิตของคนไร้บ้าน คุณหมออานนท์พบว่าคนไร้บ้านส่วนมากไม่มีบัตรประชาชน ไม่ว่าจะจากสาเหตุสูญหายเพราะใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้ต่ออายุบัตร กังวลว่าจะถูกกีดกันการติดต่อสถานที่ราชการ สาเหตุนี้เป็นกำแพงด่านแรกที่กีดกันการเข้าถึงระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานของคนไร้บ้าน ที่เพียงนึกถึงว่าต้องไปรักษายังโรงพยาบาล เรื่องเอกสาร ค่ารักษา ถูกปฏิเสธการรักษา ก็ผุดขึ้นมาในความกลัวของคนไร้บ้าน และล้มเลิกความคิดที่จะรักษาอาการเจ็บป่วยที่ตนเองมีอยู่
ปัญหาต่อมาที่ทีมแพทย์อาสาค้นพบ คือภายหลังการส่งตัวผู้ป่วยคนไร้บ้านรักษาในโรงพยาบาล กระบวนการรักษาเสร็จสิ้น การพักฟื้นตัวไม่ได้สิ้นสุดลง ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถพักฟื้นร่างกายในพื้นที่สาธารณะ แต่ก็ขาดแคลนพื้นที่ในการดูแลร่างกายหลังการรักษา เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดูแลร่างกาย วงจรการวนเวียนกลับไปสู่ระบบการรักษาก็เกิดขึ้นกับคนไร้บ้าน สุขภาวะข้างถนนจึงสร้างพื้นที่นอกระบบสาธารณสุข เช่าห้องพักที่ไม่ห่างไกลมากกับตรอกสาเก เพื่อให้คนไร้บ้านที่สิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาล มีสถานที่พักฟื้นตัวให้ตั้งหลักได้อย่างน้อยคือร่างกายแข็งแรงก่อนกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ
“กลุ่มคนไข้ของบ้านพักฟื้นฟูทางการแพทย์ทั้งหมด จะได้รับจากการประสานกับคลินิกชุมชนอบอุ่น
โรงพยาบาลรัฐใกล้เคียง เราจะดูแลต่อในด้านการฟื้นฟูร่างกาย หลังจากระบบรักษาพยาบาล”
จากการเริ่มต้นคำถามถึงทีมแพทย์อาสาว่า คนไร้บ้านกลุ่มใดเป็นเป้าหมายของการรักษา คำตอบว่าผู้ป่วยไร้บ้านที่รักษาตัวในคลินิกชุมชนอบอุ่น และโรงพยาบาลโดยรอบพื้นที่พักอาศัยของคนไร้บ้าน สะท้อนให้เราเห็นว่ายังพบช่องว่างของการพาผู้ป่วยออกจากพื้นที่สาธารณะไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล เพราะขาดการประสานเรื่องสิทธิการรักษา การยืนยันตัวตนทางเอกสาร ติดต่อญาติ จากคำบอกเล่าของคุณหมออานนท์ หน่วยงานที่เคยเข้ามาดำเนินการเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ให้คนไร้บ้านมีสิทธิรักษาใกล้กับพื้นที่พักอาศัยของตนเอง แต่ก็ไม่เกิดการเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับภาพที่เราเห็นว่ายังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาสา เข้ามาทำหน้าที่ร่วมกับสุขภาวะข้างถนน เพื่อพาคนไร้บ้านเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลของภาครัฐ แต่กระบวนการนี้ เกิดขึ้นเพียงคนไร้บ้านที่มีบัตรประชาชน
การเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลเป็นขั้นตอนที่ยัง “ไปไม่ถึง” สำหรับคนไร้บ้านที่มีสถานะเป็นคนกลาง ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งโดยทั่วไปการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ จะต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันสิทธิการรักษา ทำให้คนไร้บ้านไร้เอกสารยืนยันตัวตน เลือกที่จะเลี่ยงการรักษาในระบบสาธารณสุข เพราะต่อให้เข้าไปสู่ระบบการรักษา ก็ขาดพื้นที่พักฟื้นร่างกายที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ เป็นเหตุผลให้สุขภาวะข้างถนนที่รองรับการพักฟื้นตัวของผู้ป่วย ต้องทำงานควบคู่ไปกับการสร้างสวัสดิการที่ขาดหายไปให้กับคนไร้บ้าน ลดช่องว่างการเข้าถึงสิทธิที่ไม่เป็นธรรม ตัดวงโคจรที่ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขเป็นเรื่องห่างไกล และคนไร้บ้านยังคงติดกับดักปัญหาระบบสุขภาวะที่ไม่อาจก้าวข้ามไปได้
เปลี่ยนห้องเช่าเป็นห้องพักฟื้น
ปัจจุบันสุขภาวะข้างถนนมีห้องพักสำหรับการดูแลพักฟื้นทางการแพทย์ (Medical Respite Care) จำนวน 3 ห้อง
มีกฎเกณฑ์การเข้าพักว่าผู้ป่วยต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสถานที่พักฟื้นตัว ทางสุขภาวะข้างถนนจะสนับสนุนห้องพักอาศัย
อาหารสามมื้อ ยารักษาโรค จัดสรรแพทย์เข้าไปติดตามอาการ ดูแลด้านร่างกาย สภาวะจิตใจของคนไร้บ้านอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งแพทย์อาสานิยามระบบห้องพักฟื้นฟูดังกล่าวว่าเปรียบเหมือนกับ “การเยี่ยมบ้านของคนไร้บ้าน” โดยผู้ป่วยสามารถใช้เวลาพักฟื้นตัวเป็นเวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้ป่วยรายใหม่เข้ามารักษาตัวต่อ
ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากห้องพักดูแลพักฟื้นทางการแพทย์ คุณหมออานนท์แจกแจงว่าค่าใช้จ่ายหลักจะอยู่ที่ค่าเช่าห้องพักเดือนละ 3,000 บาทต่อห้อง ค่าอาหาร ยารักษาโรค รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาวะทั้งหมด ได้รับจากเงินสนับสนุนที่ผ่านเข้ามาภายในองค์กร ซึ่งเริ่มต้นมาจากคลินิกชั่วคราว และห้องเช่าหนึ่งห้องที่แปรเปลี่ยนมาเป็นห้องพักฟื้นของผู้ป่วยไร้บ้าน
นอกเหนือไปจากงานด้านสาธารณสุข ที่สุขภาวะข้างถนนร่วมทำงานกับองค์กรภายนอกอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านเรื่องการโยกย้ายสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อให้คนไร้บ้านเข้าสู่กระบวนการรักษาได้สะดวกมากขึ้น หากมีกรณีคนไร้บ้าน ไร้เอกสารยืนยันตัวตน ทางทีมแพทย์อาสาจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสิทธิคนไร้บ้านเช่นมูลนิธิอิสรชน ในการดำเนินการติดต่อด้านเอกสารกับทางสำนักการทะเบียน สำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงรัฐสวัสดิการได้ตามสิทธิ
ภาพห้องพักสำหรับการพักฟื้นฟูทางการแพทย์ของสุขภาวะข้างถนน
คุณหมออานนท์ถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นภาพแทนการทำงานของทีมแพทย์อาสา ถึงชีวิตของลุงอำนวย คนไร้บ้านคนแรกที่เข้าพักในห้องพักฟื้นฟู โดยสุขภาวะข้างถนนรับช่วงดูแลหลังจากมูลนิธิอิสรชน ด้วยอาการระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกระทั่งเลือดเป็นกรด ภาวะหลอดเลือดสมองและวัณโรค หลังจากเสร็จสิ้นการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลุงอำนวยกลับมาพักฟื้นที่ห้องพักทางการแพทย์เพื่อทำกายภาพ เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากเพียงพอที่จะกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ในขณะที่งานของมูลนิธิยังคงทำหน้าที่ประสานงานด้านการทำบัตรประจำตัวประชาชน ติดต่อญาติเพื่อยืนยันตัวตน ท้ายที่สุดลุงอำนวยได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวหลังจากพักฟื้นตัว ถือบัตรประชาชน มีสิทธิรับรัฐสวัสดิการ ทำให้ลุงอำนวยสามารถกลับไปประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง มีที่พักอาศัยมั่นคง และไม่มีสถานะเป็น “คนกลาง” ที่อยู่นอกสายตาของภาครัฐอีกต่อไป
“ความโชคดี” ของคนไร้บ้านที่ครอบครัวยอมรับการมีตัวตนอยู่ เป็นกุญแจดอกสำคัญให้สำนักการทะเบียนของแต่ละพื้นที่นำข้อมูลเพื่อดำเนินการทำบัตรประชาชน ในกรณีของกทม. แม้จะมีรถบริการทำบัตรประชาชนเคลื่อนที่ของแต่ละสำนักงานเขตเพื่อเอื้อให้เกิดการเข้าถึงกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน แต่ข้อมูลและเอกสารที่จะนำมายืนยันตัวตนของคนไร้บ้านยังขึ้นอยู่กับครอบครัว นั่นจึงเปรียบเสมือนการปิดโอกาสให้คนไร้บ้านที่ไม่สามารถติดต่อครอบครัวได้ ต้องอยู่ในสถานะไร้บ้าน ไร้รัฐสวัสดิการต่อไป
สุขภาวะข้างถนน ทำให้เรากระจ่างถึงข้อจำกัดในระบบสาธารณสุขของประเทศ ที่ผูกโยงสิทธิการรักษาอยู่ที่ทะเบียนราษฎร์ เข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการหลักประกันสุขภาพ ทำให้การทำงานของทีมอาสาในด้านสุขภาวะคนไร้บ้านยังมีข้อจำกัด คนไร้บ้านไม่ต่างกับคนพลัดถิ่นที่กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ของประเทศ ที่เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้าน คนไร้บ้านกว่า 74 เปอร์เซ็นต์พักอาศัยอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งเมื่อไม่มีที่พักอาศัยถาวร ก็ยากต่อการติดตาม เข้าถึงข้อมูล หรือแม้แต่ช่วยเหลือคนไร้บ้านในแต่ละพื้นที่ยังเป็นเส้นขนานระหว่างการทำงานของภาครัฐและคนไร้บ้านตามที่มีข้อมูลกว่า 2,499 ราย ที่วันนี้ยังไม่เห็นเส้นทางที่จะมาบรรจบกันได้
‘จำหน่ายคนไข้ไม่ได้’ ปัญหาใหญ่ของทีมอาสา
ด้วยข้อจำกัดที่คุณหมออานนท์ยอมรับว่า ณ เวลานี้ยังไม่สามารถเช่าห้องพักสำหรับการดูแลพักฟื้นทางการแพทย์ได้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ด้วยข้อจำกัดทางด้านค่าใช้จ่าย จำนวนทีมอาสาสมัครที่เข้ามาดูแล อีกทั้งกระบวนการจำหน่ายคนไข้ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาฟื้นฟูยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากลำบาก ทำให้ในหลายช่วงเวลามีคนไข้เข้าพักรักษาระยะเวลานานกว่าที่โครงการกำหนด เพื่อรอให้คนไร้บ้านมีความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ป่วยไร้บ้านจำนวนมากที่รอคอยเข้าพักรักษาต่อ
“ปัญหาที่เจอคือ เราไม่สามารถพาคนไข้ที่เป็นคนไร้บ้านออกจากระบบบ้านพักพิงชั่วคราวได้ เขาจะรู้สึกว่าการดูแลที่ได้รับหายไป ความท้าทายในวันนี้ คือจะทำให้การดูแลผู้ป่วยคนไร้บ้านยั่งยืนกว่าการที่ส่งตัว
ผู้ป่วยกลับไปยังพื้นที่สาธารณะ เพราะท้ายที่สุดถ้ายังไม่มีสวัสดิการของรัฐ ยังไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
เขาก็ต้องกลับมาอีกครั้ง”
ความมั่นคงของชีวิตคนไร้บ้าน เป็นโจทย์สำคัญที่ภาครัฐต้องมองย้อนกลับไปถึงระบบโครงสร้างรัฐสวัสดิการที่ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คนไร้บ้านกำลังเผชิญกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงวัย กลุ่มผู้ป่วย คนพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อีกทั้งยังไร้ซึ่งรัฐสวัสดิการที่เป็นสิทธิความมั่นคง พึงมีพึงได้ของประชาชนอย่างเท่าเทียม สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักประกันเดียวของคนไร้บ้านคือ “ระบบอาสาสมัคร” นับตั้งแต่เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรค รวมไปถึงอาสาสมัครดูแลซึ่งเป็นคนไร้บ้านในการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริง การทำงานของระบบอาสาสมัครเพียงด้านเดียว เป็นการตอกย้ำ “ระบบสงเคราะห์” ที่ไม่เอื้อให้คนไร้บ้านสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้อย่างมั่นคงในอนาคต
การไม่สามารถจำหน่ายคนไข้ของทีมแพทย์อาสา เป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่าการทำงานที่ครอบคลุมเพียงห้องพักฟื้นฟูนอกระบบสาธารณสุข ไม่เพียงพอต่อการสร้างระบบสุขภาวะที่ยั่งยืนให้กับคนไร้บ้าน และเป็นการทำงานที่ไกลเกินไปกว่าบทบาทหน้าที่ของทีมอาสาสมัคร ที่เงินสนับสนุนเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตทางความสามารถในการทำงาน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงว่าจะสามารถช่วยเหลือคนไร้บ้านได้อย่างครบถ้วน
การทำงานในวันนี้ของทีมแพทย์อาสา รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน จึงเปรียบเสมือนการทำงานในเชิงรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่สามารถย้อนกลับไปปรับแก้โครงสร้างที่มีปัญหา รวมถึงให้การส่งเสริมศักยภาพของคนไร้บ้านเป็นไปอย่างยั่งยืน ปรับเปลี่ยนระบบรัฐสวัสดิการที่เข้าถึงคนไร้บ้าน ที่วันนี้ไม่เพียงเปราะบางเรื่องที่อยู่อาศัย แต่ยังซ้ำร้ายด้วยการไม่ถูกนับรวมกับการพัฒนาสวัสดิการที่เท่าเทียมที่เป็นบันไดขั้นสำคัญให้คนไร้บ้านสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตตนเอง พร้อมไปกับการพัฒนาความเท่าเทียมทางสังคม
รัฐสวัสดิการ ≠ การสงเคราะห์
“เงินหมื่นก็ไม่ได้ เงินสูงวัยก็ไม่มี บัตรประชาชนก็หมดอายุ”
ประโยคข้างต้นคือสถานการณ์ที่ได้จากการสอบถามข้อมูลคนไร้บ้านที่พักอาศัยในพื้นที่ตรอกสาเก ริมคลองหลอดย่านพระนคร ซึ่งมีคนไร้บ้านพักอาศัยอยู่กว่า 600 คน รัฐสวัสดิการของคนไร้บ้านที่แต่ละคนได้รับนั้นแตกต่างกันออกไป บางส่วนไม่มีสิทธิรับสวัสดิการเพราะขาดการยืนยันตัวตนกับทางภาครัฐ บางส่วนได้รับสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุมกับสิทธิที่พึงได้รับ แม้สวัสดิการดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นบันไดขั้นสำคัญของการสร้างตัว พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของคนไร้บ้าน แต่ความหมายของ “รัฐสวัสดิการ” คือสิ่งที่ตอกย้ำว่าประชาชนมีสิทธิพึงได้รับอย่างเท่าเทียม แต่กลับไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปทำงานกับคนไร้บ้านอย่างเป็นรูปธรรม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนยังคงผ่านสายตาของการสงเคราะห์ เยียวยากลุ่มเปราะบางในสังคม รวมไปถึงคนไร้บ้านที่เป็นปลายทางของรัฐสวัสดิการ การทำงานผ่านสายตาระบบสงเคราะห์มาแก้ไขปัญหา ทำความเข้าใจเรื่องราวที่มีความละเอียดอ่อนเช่นเรื่องราวของคนไร้บ้าน อาจไม่ใช่แนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านที่ยั่งยืน และต้องไม่มองข้ามปัญหาที่ยังเป็นช่องว่างของการทำงาน เช่นในกรณีของการจัดการด้านสาธารณสุขคนไร้บ้าน
คำตอบของการทำงานด้านสุขภาวะข้างถนนยังเป็นสิ่งเว้นว่าง อยู่ภายใต้การตั้งคำถามของทีมแพทย์อาสา ที่วันนี้คุณหมออานนท์ได้ฝากแนวทางไว้กับเราว่า ความยั่งยืนที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับคนไร้บ้าน คือการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรอาสาสมัครและภาครัฐ ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้การทำงานเรื่องคนไร้บ้านไม่ถูกผลักไปเป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง และมองการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านที่มีเป้าหมายว่าคนไร้บ้านสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง มีรัฐสวัสดิการที่เท่าเทียม ก้าวออกจากระบบการช่วยเหลือจากภายนอกได้อย่างมั่นคง
“ตราบใดที่การมีอยู่ของคนพักอาศัยในพื้นที่สาธารณะยังคงดำเนินต่อไป สังคมก็ไม่อาจลบเลือนเรื่องราวของคนไร้บ้านให้อยู่เพียงมุมหนึ่งของเมือง หรือทำให้เป็นเรื่องราวในอดีตที่ถูกพูดถึงในวันวาน โดยที่เพียงเดินออกไปยังพื้นที่สาธารณะ ตามตรอกซอกซอยเล็กใหญ่ของเมือง ชีวิตของคนไร้บ้านก็ยังดำเนินร่วมไปกับเราทุกคน มีเรื่องราวอีกหลากหลายมุมให้เราได้ทำความเข้าใจ ไม่ใช่สิ่งซ้ำซากที่ต่อให้พูดถึงมานับสิบปี การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านจะสมบูรณ์ดั่งความตั้งใจ หรือพูดได้อย่างไม่ต้องตั้งคำถามว่าเรานั้นอยู่ในสังคมที่เท่าเทียมจริงหรือไม่”