ปริศนาหน้าฟาร์มถึงหน้าเขียง ใครคุมราคาหมู - Decode
Reading Time: 7 minutes

“ถ้าวันหนึ่งเขาคุมตลาดหมูได้หมด ไม่ใช่แค่คนเลี้ยงหมูรายเล็ก ๆ หรอกที่ตาย แต่คนทั้งประเทศก็จะตายเหมือนกัน” เฮียหมิน-สมบัติ จตุรภาคภิญโญ เจ้าของฟาร์มสุกร ‘ทรัพย์สมบัติฟาร์ม‘ กล่าวในวันที่คนเลี้ยงหมูต้องขายหมูแม้รู้ว่าขายแล้วจะขาดทุน และนำทุนที่ได้มาขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หลังการแพร่ระบาดของโรค ASF(อหิวาตกโรคหมู) ในปี 2565 และการจับกุมหมูเถื่อนตั้งแต่ 2564-ปัจจุบัน กว่า 5 ล้านตันเป็นอย่างต่ำ จำนวนเกษตรกรที่หดหาย เพราะเสียหายหนักจากโรค ยิ่งโดนกระหน่ำซ้ำด้วยราคาขายที่ต่ำลง ในขณะที่ต้นทุนมีแต่จะแพงขึ้นทุกวัน

หมูแพง เป็นเพียงฉากหน้าของการสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของคนไทย เมื่อ 1 ใน 3 ของเนื้อสัตว์ที่คนไทยบริโภคมากที่สุดกำลังเผชิญปัญหากับการกินรวบที่อาจทำให้คนเลี้ยง คนขาย และคนกิน อาจต้องบริโภคหมูในราคามากกว่า 300 บาทก็เป็นได้ถ้าเรายังไม่แก้ปัญหาที่เบื้องหลังของเรื่อง ‘หมู ๆ’ นี้

กิจวัตรประจำวันของฟาร์มหมูจะเริ่มที่ราว ๆ 05.00 น. แต่ถ้าหากมีการทำคลอดหมู เท่ากับว่าคืนนั้นจะต้องมีการเฝ้าที่คอกเพื่อรอทำคลอดตลอดทั้งคืน

หมูใหญ่กินหมูเล็ก ทุนเล็กหายทุนใหญ่กินรวบ

“อู๊ด ๆๆๆๆๆ” เสียงร้องของหมูแม่พันธุ์หนักกว่า 200 กก. ที่กำลังให้นมลูกหมูจำนวนโหล มาพร้อมกับกลิ่นแอมโมเนียจากโรงเลี้ยงหมูบนพื้นที่ 20 กว่าไร่บนทรัพย์สมบัติฟาร์ม แม้จะมีลูกน้องเดินขวักไขว่ในการจัดการฟาร์ม แต่นี่เป็นอีกเดือนที่สมบัติต้องขายหมูในราคาต่ำกว่าทุน และในปี 2566 ทรัพย์สมบัติฟาร์มขาดทุนราว ๆ 30 ล้านบาท

“หายไปเยอะจริง ๆ ตั้งแต่โรคระบาดมาจนถึงหมูเถื่อน แต่ที่หายไปมีแต่ตัวเล็ก ๆ นะ พวกกลุ่มทุนใหญ่มีแต่จะขยายพื้นที่ในตลาดมากยิ่งขึ้น ถ้ามีคนอื่น ๆ ในตลาดอย่างแต่ก่อนเรายังพอหาราคาที่คุ้มทุนเราได้ แต่วันนี้มีแต่ราคาที่ทุนใหญ่เขาอยู่ได้ มันเหมือนเจอสถานการณ์ที่กระทบกับคนเลี้ยงหมูและยังเจอคนในวงการทำร้ายกันต่ออีก” สมบัติ กล่าว

ทรัพย์สมบัติฟาร์มอยู่ในประเภทฟาร์มขนาดกลาง มีจำนวนสุกรในฟาร์มไม่เกิน 1,000 ตัว โดยจะเป็นการขายหมูในลักษณะสุกรขุนเป็นหลัก รวมถึงมีการขายน้ำเชื้อให้กับเกษตรกรรายย่อยอื่น ๆ ในพื้นที่ โดยหมูที่ทรัพย์สมบัติฟาร์มเลี้ยงจะเป็นการผสม 3 สายพันธุ์ต่างประเทศที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยได้แก่ แลนด์เรซ ลาร์จไวต์ และดูร็อค

สมบัติ เป็นผู้ประกอบกิจการฟาร์มหมูมา 20 ปี แต่ยิ่งขายหมูนานเท่าไหร่ ราคากลับยิ่งตกลงไปเรื่อย ๆ การปรับเปลี่ยนราคาหมูในทุก ๆ วันพระมีบางช่วงที่ราคาพอจะดีดตัวขึ้นบ้างในช่วงเทศกาลที่มีการจับจ่ายใช้สอย แต่พอพ้นช่วงเทศกาล ราคาหมูก็จะตกลงมาในราคาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องทนยอมขาดทุนไปอีกเรื่อย ๆ

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ในปี 2546 ประเทศไทยเคยมีเกษตรกรเลี้ยงหมูถึง 317,564 ราย

ในปี 2551 คนเลี้ยงหมูมีจำนวนลดลงเหลือ 285,533 ราย

ในขณะที่ปี 2562 เหลือ 187,272 ราย

และในปี 2567 เหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเพียง 148,881 ราย

ในปี 2565 การแพร่ระบาดของ ASF เป็นต้นตอของปัญหาใหญ่ที่ทำให้กิจการเกษตรกรเลี้ยงหมูไม่ต่ำกว่า 81,995 รายในเวลานั้นต้องปิดตัวลง (ข้อมูลจากคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติกล่าวว่าช่วงเวลาที่มีการประกาศการระบาดของ ASF ในช่วงมกราคม 2565 เหลือเกษตรกรเลี้ยงหมูเพียง 107,157 ราย)

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทรัพย์สมบติฟาร์มมีระบบการเข้าออกฟาร์มที่เข้มงวดมากเป็นพิเศษ จึงทำให้รอดพ้นจากโรคระบาดดังกล่าว แต่ไม่ใช่กับฟาร์มแห่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีแผนรับมือที่ดีแบบเขา

การหายไปของเกษตรกรรายย่อยเป็นผลให้ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ ซึ่งใช้เป็นการเลี้ยงแบบระบบปิดและไม่ได้เสียหายจากโรค ASF มีพื้นที่ในตลาดมากขึ้นหรือกล่าวได้ว่าเนื้อหมูส่วนใหญ่นับจากเวลานั้นเป็นต้นมามาจากฟาร์มที่มีกำลังเลี้ยงมาก

จะเห็นได้จากปี 2565 มีผู้เลี้ยงหมูอยู่ราว ๆ 190,000 ราย มีสัดส่วนของผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายเล็กอยู่ที่ 98% ผลิตหมูในตลาดอยู่ที่ 28% และรายกลางถึงรายใหญ่ 2% ผลิตหมูอยู่ที่ 72% ของทั้งหมด 

ในขณะที่ปี 2566 มีผู้เลี้ยงหมูอยู่ราว ๆ 150,000 ราย ในขณะที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายเล็ก (50 – 500 ตัว) มีจำนวนในตลาดถึง 97% ทว่า ผลผลิตที่ได้ออกมามีเพียง 26% ของตลาด ในขณะที่อีก 74% ของปริมาณเนื้อหมูในตลาดนั้นมาจากสัดส่วน 3% ของผู้เลี้ยงหมูที่เป็นรายกลาง (500 – 5,000 ตัว) และรายใหญ่ (5,000 ตัวขึ้นไป)

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การเข้ามามีพื้นที่ในตลาดกว่าครึ่งของเนื้อหมูที่ต้องบริโภคในประเทศ ส่งผลให้ทุนใหญ่เองสามารถตั้งราคาต่อพ่อค้าคนกลางหรือโบรกเกอร์หมู ซึ่งโบรกเกอร์เองก็ใช้เป็นราคาในการซื้อขายกับผู้เลี้ยงหมูรายเล็กและรายย่อย รวมถึงรายกลางที่ไม่ได้มีขนาดเทียบเท่า หรือเป็นเครือเดียวกับบริษัทใหญ่ที่สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างเบ็ดเสร็จกว่า

ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในประเทศไทยจะประกอบไปด้วย 4 ส่วนได้แก่ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ผลิตเนื้อสุกร (ชำแหละและการแปรรูป) และช่องทางการจำหน่าย (ร้านค้า ห้างร้าน หรือเขียง)

โดยในปี 2566 CPF (ซีพี) มีสัดส่วนในตลาดการเลี้ยงหมูมากที่สุดอยู่ที่ 27% รองลงมาคือ BTG (เบทาโกร) ที่ 16% FTG (ไทยฟู้ดส์) 9% เอสพีเอ็ม 5% เจริญชัย 4% มีคนเลี้ยงหมูเจ้าอื่น ๆ ในตลาดรวมกันที่ 32%

ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 อันดับข้างต้นในอุตสาหกรรมหมู มีสายพานครบวงจรทั้ง 4 ส่วน อีกทั้งยังมีฟาร์มในลักษณะฟาร์มใหญ่ของบริษัทและเกษตรพันธสัญญาหรือ Contract farming ที่เป็นรายเล็ก รายกลางซึ่งต้องดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดของทางบริษัททั้งพันธุ์หมู อาหาร ยา ซึ่งเชื่อมโยงกับมาตรฐานและความสะอาดของเนื้อหมู ส่งหมูให้กับบริษัทอีกทีหนึ่ง

เมื่อเทียบกับเกษตรกรรายย่อยหรือรายเล็ก รวมถึงรายกลางอย่างฟาร์มของสมบัติ ทำให้กลุ่มทุนใหญ่สามารถควบคุมราคาตลอดการผลิตจนถึงการขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า

“ในเมื่อทุกวันนี้เป็นราคาที่อ้างอิงมาจากกลุ่มทุนใหญ่แล้วพวกเขาสามารถควบคุมทรัพยากรได้ดีกว่า มันเป็นไปได้เหรอที่ราคาเหล่านั้นจะไม่บวกกำไรไปแล้ว ในขณะที่พวกเราที่ตัวเล็ก ๆ มันชี้แล้วว่าต้นทุนมันเกินไปกว่าที่ภาครัฐคำนวณต้นทุนไว้ด้วยซ้ำ” สมบัติ กล่าว

ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากผลสรุปประกอบการประจำปี 2566 ของ CPF ระบุไว้ว่า ได้เริ่มดำเนินการในการขยายฐานการผลิตทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจการผลิตอาหารและแปรรูปในหลายประเทศทั่วโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบันมี 13 ประเทศที่เปิดฐานการผลิตอาหารสัตว์ โดยหลายประเทศฝั่งยุโรปที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์

แม้กลุ่มฟาร์มเลี้ยงหมูของทุนใหญ่จะสามารถทนต่อราคาที่กดลงได้ และไม่สามารถบอกราคาคุ้มทุนต่อกิโลกรัมที่แน่ชัดในการเลี้ยงหมูเหล่านี้ แต่สมบัติกล่าวว่า อย่างไรก็ตามกลุ่มทุนใหญ่ก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าการได้รับผลกระทบนี้สมบัติมองว่าก็เป็นไปเพื่อให้รายย่อยและรายเล็กอื่น ๆ ทนไม่ไหวและเข้าครองพื้นที่ในตลาดได้เบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น

“ยังไงเขาก็ต้องเจ็บ แต่เขาทน ทนเพื่อที่จะให้รายเล็ก ๆ หายไป จนถึงวันที่เขาควบคุมตลาดได้เบ็ดเสร็จ ในวันที่รายย่อยรายเล็กแทบไม่เหลือ ก็ไม่มีใครตอบได้หรอกว่าวันนั้นเนื้อหมูจะไปโลละเท่าไหร่ ก็มีแต่พวกเขาที่ตอบได้ เพราะถ้าถึงวันนั้นเขาจะเป็นคนไม่กี่กลุ่มกุมหมูกับคนทั้งประเทศ” สมบัติ กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ใช่แค่ความกลัวของคนเลี้ยงหมูรายเล็กที่กังวลกับสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น แต่การมีพื้นที่ในตลาดมากขึ้นของบริษัทเจ้าใดเจ้าหนึ่ง หมายถึงการควบคุมผูกขาดต่อสินค้าประเภทนั้น ๆ โดยเฉพาะสินค้าบริโภคที่ผู้คนเข้าถึงจำนวนมากอย่างเนื้อหมูและตอนนี้ภาครัฐยังไม่มีการรับมือกับความมั่นคงทางอาหารที่อาจจะหายไป

อาจมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจควบคุมความมั่นคงนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

วิกฤตหมูที่หน้าเขียงอย่างแพง ทำไมหน้าฟาร์มยังขาดทุน?

สมบัติกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของการซื้อ-ขายหมูจากหน้าฟาร์มถึงหน้าเขียงคือช่องว่างของราคา ที่เมื่อเกิดวิกฤติหมูแพง ประชาชนจะตั้งคำถามว่าทำไมหมูถึงแพง แต่เมื่อดูราคาต้นทุนของหมูหน้าฟาร์มกลับพบว่าราคาหมูที่อยู่หน้าเขียงกลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ก่อนอื่น การคิดคำนวณราคาหมูหน้าฟาร์มและหน้าเขียงนั้นต่างกัน โดยจะคิดได้อย่างง่ายคือการนำราคาหมูหน้าฟาร์มคูณ 2 โดยการคูณนี้คือการผ่านค่าชำแหละ ค่าขนส่ง เป็นต้น จึงกลายเป็นราคาที่พวกเราจับจ่ายใช้สอยมาบริโภคกัน

แต่การคูณ 2 ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่ทำให้หมูที่เราบริโภคมีราคาสูง แต่เป็นเพราะราคาที่ประกาศจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติไม่ใช่ราคาจริงทั้งหมดที่เกษตรกรรายเล็ก ถึงเกษตรกรรายกลางหลายรายได้

สมบัติเล่าต่อว่า ต้นทุนหลักของการเลี้ยงหมูคืออาหาร ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามสูตรของแต่ละเจ้าเพื่อให้ได้น้ำหนักและถึงจุดคุ้มทุนในการขาย และอาหารหมูจะประกอบไปด้วยวัตถุดิบอย่าง รำข้าว มันสำปะหลังเส้น ปลาป่น กากถั่วเหลือง เป็นต้น

หมูขุนตัวหนึ่งจะใช้เวลาในการเลี้ยงราว ๆ 7 เดือนครึ่ง (28 สัปดาห์) นับตลอดช่วงชีวิตก่อนหมูจะถูกขายจะกินอาหารอยู่ที่ 220-240 กิโลกรัม หากนับแค่ค่าอาหาร หมูขุน 1 ตัวจะมีต้นทุนอาหารอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาท แต่การขายหมูขุนหนึ่งตัว (น้ำหนัก 100 กก.) จะได้ราคาอยู่ที่ราว ๆ 2,300-2,500 บาท

แต่ระยะหลัง (ตั้งแต่ 2565) ต้นทุนอาหารต่อกิโลกรัมเฉลี่ยอยู่ที่ 15 บาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งนับว่ามีราคาสูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรกเริ่มของการทำฟาร์มที่มีราคาอยู่ที่ 10 บาท(+-)ส่วนต่าง 5 บาท เมื่อนับเป็นจำนวนหลายสิบตันต่อเดือน และยังไม่นับต้นทุนอื่น ๆ อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัคซีน และค่าลูกน้อง

“อย่างกับรำตอนนั้น 530 – 540 บาท ตอนนี้ 670 – 680 บาท อันนั้นข้าวโพดตอนนั้นเคย 8 บาทกว่าตอนนี้ 12 บาทกว่า อันนี้มันโม่แต่ก่อน 6 บาท ตอนนี้ก็ 9 บาทกว่า อย่างสีส้ม ๆ ถั่วอบแต่ก่อนนั้น 12 บาท เดี๋ยวนี้ขึ้นมา 24 – 25 บาท คันรถสิบล้อนึงประมาณ 5 แสน แต่ก่อนนั้น 2 – 3 แสนก็ซื้อได้และ แต่ตอนนี้ขึ้นไป 5 แสน”

“เมื่อปี 40 กว่า ๆ ต้นทุนอาหารอยู่ที่ไม่เกินโลละ 10 – 11 บาทช่วงนั้นเราขายหมูได้ 45 – 50 บาท ขยับมาปี 50 กว่าขึ้นมา ต้นทุนอาหารก็ขึ้นมาอีกนิดหน่อย เฉลี่ยอยู่ที่ 12 – 13 บาท ตอนนั้นเราก็ขายหมูเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 55 – 60 บาทตอนนั้นก็ยังถือว่าพออยู่ได้ ยังพอมีกำไร ยังพอขยายกิจการไปต่อเนื่องได้ พอมาปี 60 กว่าขึ้นมา การแข่งขันในตลาดมันสูงขึ้น พอสูงขึ้นปุ๊บบริษัทยักษ์ใหญ่ก็เข้ามาทุ่ม คราวนี้ต้นทุนอาหารมันก็สูง” สมบัติ กล่าว

เท่ากับว่าในการขุนสุกรให้มีน้ำหนักราว 100 กิโลกรัม ปัจจุบันการขายหมูหนึ่งตัวของเกษตรกรไทยจะขาดทุนอยู่ที่ 700 บาท/ตัว เป็นอย่างต่ำ

“คุณขาย 10 ตัวก็ขาดทุน 7,000 ขาย 100 ตัวก็ขาดทุน 70,000” สมบัติย้ำว่านี่เป็นตัวเลขขั้นต่ำ

“ในขณะที่ต้นทุนมีแต่สูงขึ้นทุกวัน จะมีลงบ้างเป็นบางช่วงแต่บางทีมันลง 10 สตางค์แต่ขึ้น 50 สตางค์ ไม่ใช่ทุกคนที่จะทนไหว อย่างเราก็เสียหายเป็นเดือนละเกือบ 3 ล้าน ถามว่าขาดทุนขนาดนี้ทำไมไม่เลิก หมูตัวหนึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 7 เดือนครึ่ง มันใช้ทั้งเวลา ทั้งเงินไปเยอะ ไหนจะลูกน้องอีก สิ่งที่คนเลี้ยงหมูทำได้ทุกวันนี้ คือการเอาเงินกลับมาเพื่อขาดทุนใหม่ เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นเราจะไม่ได้เงินกลับมาเลย” สมบัติ กล่าว

ในปัจจุบันอ้างอิงจากราคาที่ทรัพย์สมบัติฟาร์มต้องแบกรับ ราคาสินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นกว่า 40% ในขณะที่ราคาหมูได้น้อยกว่าราคาประกาศ 15%

ราคาหมูปัจจุบันจะอยู่ที่ 140 บาท/กิโลกรัม (สันนอก-สันใน) แต่ราคานี้เป็นราคาที่หน้าเขียง เกษตรกรเลี้ยงหมูจะได้ราคาในอัตราที่ครึ่งหนึ่งตามข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567 จะอยู่ที่ 74 บาท

ในขณะที่ต้นทุนหมูไตรมาสที่ 4/2567 ตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศอยู่ที่ 72 บาท/กิโลกรัม แต่สมบัติกล่าวว่าหากตีเลขกลม ๆ ต้นทุนในการเลี้ยงหมูก่อนจะขายอยู่ที่ 80-85 บาท/ กิโลกรัม อีกทั้งรายเล็กหลายรายก็โดนโบรกเกอร์กดราคาซึ่งอ้างอิงจากทั้งราคาที่ประกาศและการรับซื้อจากฟาร์มใหญ่จะตกมาจากราคานั้น 2-3 บาท/กิโลกรัม

“มันเป็นมาสักพักแล้วนะที่เราเริ่มไม่ได้ราคาหมูตามที่สมาคมประกาศ ซึ่งจริง ๆ เราก็ไม่ได้ตามราคาต้นทุนตามที่กรมการค้าภายในประมาณการไว้เช่นกัน ราคาที่ซื้อขายหมูที่หน้าฟาร์มเป็นราคาที่โบรกเกอร์อ้างอิงจากฟาร์มของทุนใหญ่ซึ่งเขาสามารถควบคุมต้นทุนได้มากกว่าเรา มันเลยเป็นปัญหาย้อนแย้งว่าสภาพตลาดมันทำให้เราต้องจำยอมขายในราคาขาดทุนมานานแล้ว” สมบัติ กล่าว

จากช่องว่างของราคาที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง แต่ผู้ผลิตได้รายได้น้อย ช่องว่างที่ว่ายังมีนัยสำคัญที่ชี้ให้เราเห็นอีกประการ แล้วใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากส่วนต่างของช่องว่างนี้

‘ประกาศ’ แต่ไม่สามารถกำหนดราคาได้ แล้วราคามาจากไหน?

ผู้เล่นในตลาดหมูซึ่งมีบทบาทสำคัญมากอีกหนึ่งกลุ่มคือโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นตัวละครที่อยู่ในบทบาทการซื้อขายโดยตรง ซึ่งโบรกเกอร์เป็นคนที่นำราคาไปประกาศใช้รวมถึงในหลาย ๆ ครั้ง โบรกเกอร์เองที่เป็นคนตัดราคาในฐานะพ่อค้าคนกลางเอง
ทำไมโบรกเกอร์ถึงสามารถทำเช่นนั้น แล้วราคาที่เป็นมาตรฐานและราคาที่กดลง โบรกเกอร์นำมาจากไหน

สมบัติฉายภาพในการซื้อขายหมูขุนในสายพานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมสุกรในประเทศไทย จะถูกดำเนินการโดยโบรกเกอร์ตั้งแต่การมารับหมูที่ฟาร์ม ไปดำเนินการที่โรงชำแหละ ก่อนจะส่งไปถึงช่องทางจำหน่าย จะมีโบรกเกอร์หรือพ่อค้าคนกลางดำเนินการในแต่ละช่วง โดยโบรกเกอร์นี้เอง

“เวลาโบรกเกอร์มาซื้อเขาก็ใช้ราคาของฟาร์มกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนของฟาร์มอื่น แต่เมื่อสัดส่วนในการผลิตเนื้อหมูในประเทศตอนนี้มาจากพวกเขาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการหมูรายเล็กไม่มีทางเลือกที่จะต้องขายหมูไปในราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งก็ได้แต่รอคอยให้มีการประกาศขยับราคาในช่วงวันพระ ทว่า สมบัติกล่าวว่าการขึ้นพระ-ลงพระนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนของเกษตรกรเลี้ยงหมูรายเล็กติดต่อกันมานานนับปี” 

“แม้กลุ่มทุนใหญ่จะมีโบรกเกอร์ที่จะจัดการในสายพานของตนได้อย่างครอบคลุม แต่ด้วยสัดส่วนของตลาดที่รายเล็กทยอยหาย รายใหญ่ขยายตัว ทำให้ท้ายที่สุด โบรกเกอร์ภายนอกก็ต้องรับซื้อในราคาที่อ้างอิงจากกลุ่มทุนใหญ่อยู่ดี” สมบัติ กล่าว

แต่ราคาต้นทุนของหมูไม่ได้มาจากภาครัฐแต่อย่างใด ทั้งหน่วยงานภาครัฐอย่าง กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมบัติกล่าวว่า เป็นเพียงผู้ประกาศไม่ใช่ผู้กำหนดราคา

ราคาที่นำมาประกาศและโบรกเกอร์ (พ่อค้าคนกลาง) รับซื้อ เป็นราคาที่อ้างอิงจากการประกาศของบริษัททุนใหญ่ โดยในราคาเนื้อหมูหน้าเขียงที่ประกาศจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีการอ้างอิงจากราคาของบริษัท CPF

โดยผู้สื่อข่าวได้ทำการสืบค้นจากปากคำของสมบัติ พบว่าในช่วงปี 2562-2565 ประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้แนบท้ายถึงที่มาราคาไว้ว่า “ราคาอ้างอิงลูกสุกร CPF วัน… ” ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าราคาของ CPF ถูกนำไปเป็นราคากลางในการซื้อขายและอ้างอิงตลาดหมูในประเทศ

จากปากคำของสมบัติและการสืบค้นของผู้สื่อข่าว แม้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมถึงกรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน มีการปรับราคาขึ้นในภาวะวิกฤตของอุตสากรรมหมูหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวและอาจไม่การซื้อขายในราคาอื่น ดังการพาดท้ายจากเพจสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่เขียนไว้ในการประกาศขึ้นพระแต่ละครั้งว่า “ข้อมูลของทางสมาคมฯ นี้ ประกาศเพื่อไว้ดูความเคลื่อนไหวราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มสุกร แต่การซื้อขายจริงขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย”

จริงหรือไม่ว่าราคาหมูในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการประกาศราคาคุ้มทุนของทางบริษัททุนใหญ่ แต่ผู้ผลิตรายเล็ก รายกลาง หรือผู้บริโภคไม่สามารถสะท้อนปัญหาด้านราคาได้ เนื่องจากกำลังการผลิตกว่า 76% ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรายใหญ่ถูกใช้เป็นมาตรฐานราคาไปแล้ว

อย่างไรก็ตามหมูเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ทว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้ในสถานการณ์ทั่วไป กล่าวได้ว่าช่วงราคาที่ต้นทุนหมูหน้าฟาร์มแพงกว่าราคาขายและหมูหน้าเขียงมีราคาสูงขึ้นก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ และไม่ได้มีหน่วยงานภาครัฐไหนสามารถกำกับ หรือแทรกแซงโดยตรง

แม้ “หมู” จะเป็นสินค้าควบคุมภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และดำเนินการโดยดุลยพินิจของ กกร.(คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) คือ ควบคุมความผิดปกติของการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไข และวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม แต่ไม่มีอำนาจกำหนดราคา?

เนื่องจากภารกิจหลักของกรมการค้าภายในจะมี 2 บทบาทหลัก ๆ ในด้านราคาสินค้าเกษตร คือ ดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร และดูแลค่าครองชีพของพลเมือง หรือกรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่ในการกำกับควบคุมเกษตรกรเสียมากกว่า ในช่วงที่ผ่านมา คนเลี้ยงหมูจะเห็นได้จากมาตรการที่ใช้กับสินค้าสุกร คือ การเข้าแทรกแซงราคาสุกรในช่วงที่ราคาสุกรขยับตัวสูง เพื่อดูแลค่าครองชีพของพลเมือง ในลักษณะการขอความร่วมมือตรึงราคาจำหน่าย เพราะบทบัญญัติของกฎหมายยังไม่มีอำนาจมาคุมราคา ต้องใช้อำนาจ กกร. คือจะต้องมีประกาศออกมาก่อน

ในช่วงปัจจุบันที่การผลิตเนื้อหมูกลับเข้าสู่ปริมาณคงตัว แต่สัดส่วนของที่มาเนื้อหมูในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นอย่างเกษตรกรรายเล็กมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง สมบัติให้ความเห็นว่า ความเสถียรของการผลิตเนื้อหมูอาจไม่ได้เท่ากับเสถียรภาพของราคาหมูอย่างที่เคยเป็นมา เมื่อมีฝั่งใดฝั่งหนึ่งสามารถกุมการขึ้นลงของราคาไว้ได้มากกว่า

“ในอดีตหรือกระทั่งปีนี้ พวกเราก็เคยไปร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐน่าจะ 4 ครั้งได้แล้ว เดินทางกันไปเรียกร้องทั้งกระทรวง ทั้งสำนักนายกฯ สิ่งที่ได้กลับมาก็มีแต่คำหวานแต่ไม่มีมาตรการ ซึ่งคนเลี้ยงหมูเขาก็รู้กันว่าราคาที่โบรกเกอร์จะมาซื้อหมูจากเราไปชำแหละที่โรงเชือดเขาก็เอามาจากทุนใหญ่ ถ้าเราไม่ยอมตกลงไปราคานั้นเขาก็ไม่ซื้อ เราก็ได้จำยอม”

“เราเองก็หวังว่าหน่วยงานภาครัฐจะควบคุมหรือไปเจรจากับเขาได้ เพื่อให้วงการมันอยู่รอด ให้รายอื่น ๆ มันอยู่ได้ แต่ที่เห็นทุกวันนี้คือประชาชนเองก็อยู่ไม่รอดเช่นกัน” สมบัติ กล่าวทิ้งท้าย

ปริศนาหมูกล่อง หมูไฟฟ้า หมูเถื่อน 

“หมูเถื่อนเพิ่งจะกลายเป็นข่าวดังมาเมื่อปี 2566 แต่ตามตลาดหรือห้างในช่วงหนึ่งที่คุณจะเห็นเนื้อเขียว ๆ หน่อย คือมันจะเป็นสีเขียวเลยนะ ผมเห็นตั้งแต่ช่วง 61-62 ปี 64 ที่เป็นข่าวดังก็ไม่ใช่ล็อตแรก ๆ รวมถึงที่จับได้เยอะ ๆ ช่วงปีที่แล้วก็ไม่ใช่ล็อตสุดท้าย ไม่มีใครตอบได้หรอกว่าวันนี้เรากินหมูเถื่อนไปรึยัง” สมบัติพูดตลกร้ายถึงหมูที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงด้วยอาหาร แต่เลี้ยงด้วยไฟฟ้าจากตู้เย็นที่เดินทางข้ามทวีปก่อนมาถึงไทย

ระหว่างปี 2564-2566 นับเป็นช่วงเวลาวิกฤตของอุตสาหกรรมสุกรของไทย หลังรัฐบาลประกาศพบโรคระบาด ASF ในประเทศ ทำให้ผลผลิตหมูขุนและแม่พันธุ์สุกรหายไปจากระบบ 50% ราคาหมูปรับขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ หมูเนื้อแดงที่เคยราคาหน้าเขียงระดับ 120-150 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2565 พุ่งขึ้นไปสูงเกินกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม ตามกลไกตลาดอุปสงค์ (Demand) สูง แต่อุปทาน (Supply) ไม่เพียงพอ ราคาจึงจำต้องปรับ

การเฟ้อขึ้นของราคาเนื้อหมูภายในประเทศทำให้มีผู้เห็นช่องทางทำกำไร ด้วยการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน เข้ามา สาเหตุที่เป็นประเทศเหล่านี้ เพราะว่าเป็นประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบของอาหารสัตว์และมีกำลังผลิตมากในประเทศ แต่ถึงจุดหนึ่งที่อุปทานมากกว่าอุปสงค์ อีกทั้งหลายประเทศดังกล่าว มีกฎหมายในการไม่ให้ขายชิ้นส่วนหมูบางส่วน เช่น เครื่องใน หัว เป็นต้น ทำให้ประเทศเหล่านี้เองก็ต้องระบายของออก

“หมูกล่องทีแรกเลยมันเข้ามาในลักษณะของเครื่องใน เพราะต่างประเทศในยุโรปเขาไม่กินเครื่องใน // จนกระทั่งเข้ามาเยอะมาก เข้ามาหลายพันตู้ในหนึ่งตู้เราคิดคำนวนแล้วหมูประมาณ 500 ตัวตู้ 25 ตันหมูประมาณ 500 ตัว และเข้ามา 2,000 ตู้ก็เอา 500 คูณเข้าไป 2,000 คิดว่าหมูต่างประเทศเข้ามาเบียดหมูไทยปีละกี่ 10,000 ตัว” สมบัติ กล่าว

สมบัติให้ข้อสังเกตว่า หมูเหล่านี้ถูกเชือดไว้แล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2  ปีหรืออาจถึง 4 ปีก่อนมาถึงไทย โดยจะถูกบรรจุไว้ในกล่องและขนเต็มตู้คอนเทนเนอร์

ซึ่งมันส่งผลเสียต่อทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศ เพราะทำให้ราคาหมูตกต่ำ และผู้บริโภคที่อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคเนื้อหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง สารปฏิชีวนะ และเชื้อโรคต่าง ๆ

โดยในการลักลอบนำเข้าจะมีบริษัทชิปปิ้ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสำแดงเอกสารเท็จ ประทับตราในเอกสารเพื่อยืนยัน เปลี่ยนจากหมูเถื่อนเป็นปลาแซลมอน หรือเป็นโพลิเมอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและการตรวจค้น และมีรถเตรียมนำส่งไปห้องเย็นทั่วประเทศ

โดยรูปแบบดังกล่าว ยังมีความคล้ายคลึงกับแผนผังเส้นทางการฟอกหมูเถื่อน ที่ออกรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside thailand เทป “เปิดเส้นทางฟอกหมูเถื่อน” ออกอากาศเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 67 ซึ่งผู้ดำเนินรายการฯ”ดนัย เอกมหาสวัสดิ์” กล่าวว่า ได้รับข้อมูลมาจากพนักงานสอบสวนของ DSI ที่รู้จัก

อย่างไรก็ตาม ต้นปี 2565 เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าหมูขาดตลาด และมีราคาแพง จึงมีความพยายามนำเข้าเนื้อหมูเพื่อแก้ปัญหา

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ทำหนังสือลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อเสนอต่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ เวลานั้น เพื่อขอให้อนุญาตนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศสเปน หลังจากราคาหมูในไทยสูงขึ้น จึงจูงใจเอกชนให้สนใจนำเข้าเนื้อหมู และหากไม่นำเข้าอาจมีการลักลอบนำสัตว์ข้ามแดนจากเพื่อนบ้าน และอาจส่งผลให้เกิดโรคระบาดได้

แต่เฉลิมชัยยังยืนยันว่า ไม่ให้มีการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพราะแนวโน้มราคาหมูลดลงแล้ว และไม่ช้านี้สถานการณ์น่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการแก้ปัญหาหมูขาดแคลนอยู่แล้ว ด้วยการห้ามส่งออกหมูชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 เป็นต้นไป และตรวจสต๊อกเนื้อหมู สำหรับผู้เลี้ยงที่มีหมู 500 ตัวขึ้นไป

แต่การประเมินสถานการณ์ของอดีตรัฐมตรีเฉลิมชัยผิดพลาด เพราะหลังจากนั้นไม่นานจำนวนหมูไม่ได้เพิ่มขึ้น ราคาหมูไม่ได้ลดลงและมีการนำเข้าหมูเถื่อนจำนวนมาก

โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากร ณ วันที่ 17 ตุลาคม ปี 2566 ตั้งแต่ปี 2564-2566 มีผู้ถูกจับกุมจากการนำเข้าหมูเถื่อน รวม 220 ราย น้ำหนักรวม 5,439,910 กิโลกรัม แบ่งเป็น

ปี 2564 : 14 ราย น้ำหนัก 236,177 กิโลกรัม

ปี 2565 : 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม

ปี 2566: 181 ราย น้ำหนัก 4,772,073 กิโลกรัม

โดยสมบัติกล่าวว่า หมูเถื่อนหรือหมูกล่อง เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มตกมานานแล้ว หมูปริมาณหลายตันหรือหลายสิบตัน ถูกขายโดยกลุ่มคนที่ไม่หวังดีและกล่าวว่าเป็นเนื้อเกรดรองลงมาทั้ง ๆ ที่เป็นเนื้อค้างสต็อกจนขึ้นสีเขียว จนทำให้ปริมาณเนื้อหมูมีมากกว่าความต้องการของตลาด เป็นผลทำให้ราคาตก อีกทั้งอาจมีการขายตรงไปยังร้านค้า ห้างร้าน ในราคาถูก จนทำให้การรับซื้อหมูหน้าฟาร์มเพื่อนำไปเชือด กดราคาลงไปอีก

หมูเถื่อน หมูกล่อง หรือหมูไฟฟ้าที่สมบัติเรียก คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมไทยได้รับผลกระทบในแง่ของความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากการปั่นราคา และความมั่นคงทางอาหารที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าหมูที่ถูกปรุงให้เราทาน หรืออาหารแปรรูปชิ้นไหนที่มีส่วนผสมของหมูเถื่อนผสมอยู่ด้วย

จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าโรค ASF ที่เข้ามาในไทยเริ่มต้นระบาดด้วยสาเหตุใด ทว่า สมบัติไม่เชื่อว่าการระบาดของ ASF เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน สาเหตุเนื่องจากตนที่เป็นผู้ประกอบและได้เห็นราคาที่ตกลงตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า รวมถึงได้เห็นหมูเถื่อนที่ช่วงแรกถูกนำขายในบริเวณตลาดนัดแถวบ้าน ก่อนจะปรากฏในห้างร้านใหญ่ จนนำไปสู่การจับกุมล็อตแรกในปี 2564

“มันก็กลับมาที่เรื่องเดิมว่ามันเป็นความต้องการที่จะให้รายเล็กค่อย ๆ ทนไม่ไหวและหายไป เราเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น เป็นคุณคุณจะกล้าให้คนในครอบครัวกินหมูไม่ปลอดภัยเหรอ ถ้าเขาต้องการเอาหมูคุณภาพต่ำมาเพื่อทดแทนปริมาณหมูที่ต้องกำจัดด้วยโรคระบาดไป มันคือกระบวนการ dump(กด) ราคาเพื่อที่ให้คนในวงการต้องเจ็บตัว แล้วใครที่ทุนหนากว่าก็อดทนไว้จนกว่าจะได้พื้นที่ในตลาดที่มากขึ้น”

ซึ่งอ้างอิงจากขบวนการการนำเข้าหมูเถื่อน สมบัติเชื่อว่า ไม่มีทางที่รายเล็กหรือรายกลางที่มีหมูเพียงไม่กี่พันตัวจะสามารถทำได้ การสั่งออเดอร์หมูเถื่อนซึ่งต้องขนส่งผ่านบริษัทชิปปิ้งทางเรือ ต้องดีลผ่านนอมินีของบริษัทฝั่งประเทศส่งออก การหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่จากรัฐ ทั้งหมดมันชี้ตัวไปว่าคุณต้องใครที่ใหญ่โตในประเทศนี้ และไม่ใช่เพียงคนเดียวแต่กรณีหมูเถื่อนเป็นขบวนการที่มีผู้มีอำนาจหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

รวมถึงการขอยื่นเอกสารการสั่งซื้อจากบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (ชื่อเก่า) ที่มีบริษัทคู่ค้าเป็นบริษัทชิปปิ้งรายหนึ่งที่นำเข้าหมูเถื่อน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีเอกสารแม้แต่ฉบับเดียวปรากฏออกมาและคณะทำงานหมูเถื่อนของ DSI ก็ได้ประกาศมาว่าได้ทำการเปลี่ยนชุดและจะเร่งตามหาผู้กระทำผิด

“จนถึงวันนี้เอกสารที่ไปขอจากแม็คโครได้มาหรือยัง ตัวผู้กระทำผิดที่นายกฯ เศรษฐาสั่งให้ไปหาได้มาหรือยัง เราอ่านข่าวแล้วเราก็คิดว่ามันสามารถชี้แหล่งหรือหน่วยงานของผู้กระทำผิดได้เลยว่าผิดตรงไหนบ้าง จนเราคิดว่าที่ยังจับไม่ได้มีอยู่ 2 ส่วนคือเราไปเจอตอของกลุ่มคนที่เอาผิดไม่ได้ กับกลุ่มคนที่ทำผิดมีเยอะมาก ๆ จนจับไม่ได้”

หมูเถื่อนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันที่แพร่กระจายไปตามห้องเย็นและอาจตกถึงท้องหลาย ๆ คนไปโดยไม่รู้ตัว เป็นหลักฐานว่าการปัญหาวิกฤตหมูนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเกษตรกรเลี้ยงหมูเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องโดยตรงถึงความมั่นคงทางอาหารของคนไทยทุกคน รวมไปถึงปัญหากินนอกกินในและผู้มีอิทธิพลที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถเอาผิดได้

จากครัวของโลก สู่ ความมั่นคงทางอาหารที่หายไปจากครัวไทย

นับตั้งแต่การระบาดของโรค ASF ที่ทางการไทยมีการประกาศล่าช้าจากการอ้างอิงราคาที่ผันผวนเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่คาดว่าจำนวนหมูไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภคแลผู้ประกอบการกิจการฟาร์มหมูเริ่มออกมาแจ้งเรื่องหมูตายที่มีลักษณะมาจากโรค ASF มาจนถึงการจับกุมหมูเถื่อนล็อตแรกในปลายปี และการประกาศการระบาดของโรคล่าช้าในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565

จนถึงวันนี้สิ่งที่ปรากฏแน่ชัด คือวัคซีน ASF ยังเป็นเพียงตัวต้นแบบและยังไม่ได้ใช้จริงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมถึงหมูเถื่อนในวันนี้ก็ยังหาต้นตอของการกระทำผิดไม่ได้

ปีที่ 20 ของทรัพย์สมบัติฟาร์ม สมบัติบอกว่าแม้ว่าอาชีพนี้จะเป็นรายได้ให้กับครอบครัวมาตลอด แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าธุรกิจที่ตนหวังจะส่งต่อให้ลูกหลาน อาจไม่ได้ส่งให้อีกแล้ว เมื่อการลงทุนได้กลับมาแต่ขาดทุน สำหรับตนที่ยังพอประคับประคองได้ก็โชคดี แต่กับอีกหลายคนอาจไม่ได้ที่จบต้องปิดฟาร์ม แต่ยังก่อเป็นภาระหนี้สินและนำไปสู่การจากโลกนี้ไปด้วยเรื่อง ‘หมู ๆ’

“เขารังแก ทุนเขาหนาเขาก็ไล่ทุบเรา คุณอยู่ได้ก็อยู่ไป ปีหนึ่งเขาก็ขาดทุน เขาขาดทุนแต่ทำไมเขายอมทำธุรกิจตรงนี้ เขาขาดทุนตรงนี้เขาก็ไปกำไรตัวอื่น แต่ว่าอนาคตวันข้างหน้าเขาลงทุนไปก่อน เขาเหมือนซื้อเวลา วางระเบิดเวลาเอาไว้ให้ ถ้ารายย่อยไม่เหลือแล้วก็เหลือรายใหญ่ไม่กี่รายเขาก็อยู่ได้ ทุนใหญ่ก็คือระเบิดเวลาของคนเลี้ยงหมู”

“ถ้าวันนี้รัฐยังไม่สามารถควบคุมได้ เราก็บอกได้แค่ว่าเราทุกคนลำบากแน่ ๆ ถ้าทุนใหญ่ยังทำธุรกิจแบบกินรวบ ไม่แบ่งพื้นที่ไว้ให้ใคร และภาครัฐยังมองไม่เห็นปัญหานี้ วันหนึ่งสิ่งของที่เคยถูกก็จะแพง เพราะเขาเป็นคนกำหนดราคา ไม่ได้มีผู้เล่นอื่นในตลาดไว้ถ่วงดุลอีกแล้ว” สมบัติ กล่าว

การลดลงของเกษตรกรเลี้ยงหมูรายเล็ก ถูกเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับราคาหมูที่แพงขึ้น ที่ถูกทำให้ซับซ้อนด้วยราคาต้นทุนอย่างวัตถุดิบ การแพร่ระบาดของ ASF และการเข้ามาของหมูเถื่อน

หากภาครัฐยังไม่สามารถหามาตรการและการเจรจาเพื่อควบคุมปัจจัยที่ควบคุมได้ยากอย่างโรคระบาด และการควบคุมราคาของผู้มีอำนาจในตลาดหมูนี้ได้ ช่องว่างของราคาจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคจะยิ่งขยายตัวสูงขึ้น เพราะจนถึงปัจจุบันแม้ราคาหมูจะเขยิบสูงไปเพียงใด หรือกระทั่งวันหนึ่งราคาหมูหน้าฟาร์มสามารถไปถึง 100 บาทได้ แต่ต้นทุนในวันนั้นอาจเท่ากับ 150 บาท และผู้บริโภคอาจจะต้องซื้อหมูในราคา 300 บาทหรือมากกว่า

เพราะในปี 2565 ประเทศไทยเคยมีหมูราคาแพงถึง 215 บาท และในวันนั้นร้านข้าวตามสั่ง ร้านค้าในห้าง ไปจนถึงครัวหลังบ้านของทุกคน ก็ไม่ได้มีทางเลือกนอกจากต้องคำนวณเงินในกระเป๋าให้มากขึ้น และควักซื้อเนื้อหมูราคาแพงนี้ เพราะเราไม่สามารถกำหนดราคาได้อีกต่อไป

ทั้งหมดนี้ทำให้เราชินกับราคาหมูที่แพงขึ้นทุกวัน

จนอาจลืมไปว่า ทำไมเราต้องกินหมูแพงขนาดนี้