Earth Calling
ดร.เพชร มโนปวิตร
วิกฤติน้ำท่วมในภาคเหนือที่เพิ่งจะผ่านไป รวมทั้งวิกฤติภัยพิบัติจากน้ำทั่วโลกทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า ปัจจุบันการจัดการน้ำที่ดำเนินการอยู่มาถูกทางหรือเพียงพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นหรือไม่ อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวน และแสวงหาทางเลือกในการจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ทรัพยากรน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย นอกจากจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชากรแล้ว ยังเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างยิ่งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว น้ำยังมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ อันเป็นกุญแจในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม
อย่างไรก็ตาม การจัดการน้ำของไทยในปัจจุบันยังประสบปัญหาอยู่มาก ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และการกระจายตัว การขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรม การใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม การตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนมลพิษจากชุมชนและภาคการผลิต ล้วนส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้สถานการณ์แย่ลง ฝนทิ้งช่วง ฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ หรือเวลาตกก็ตกถล่มทลายจนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าระเบิดฝน หรือ Rain bomb ตกเหมือนระเบิดลง คือตกหนักมาก ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น กรณีน้ำป่าไหลหลากที่ถล่มแคว้นบาเลนเซียจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา 1 วันเทียบเท่ากับที่ตกเฉลี่ยตลอดทั้งปี ภัยจากน้ำท่วม และความแห้งแล้งส่งผลให้การจัดการน้ำท้าทายยิ่งกว่าเดิม
การรับมือกับวิกฤตการจัดการน้ำด้วยวิถีธรรมชาติ หรือการใช้แนวทางที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions – NbS) กำลังได้รับการถูกพูดถึงว่าอาจเป็นทางออกที่ยั่งยืนกว่า แนวคิดนี้เน้นการทำงานร่วมกับธรรมชาติในการแก้ไข ปรับปรุง หรือป้องกันปัญหาที่เกิดจากน้ำ โดยเลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติ หรืออาศัยระบบนิเวศที่มีอยู่เดิม เช่น การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ พื้นที่ธรรมชาติริมตลิ่ง การจัดการพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำกับพื้นที่น้ำท่วมถึง ไปจนถึงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่เสื่อมโทรม หรือแม้แต่การปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการกักเก็บน้ำของผืนดิน
การใช้แนวทางดังกล่าวสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำได้อย่างครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่
1. การเพิ่มปริมาณน้ำ (Improving water availability): แนวทางการจัดการน้ำด้วยวิถีธรรมชาติสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้มีใช้อย่างเพียงพอ ด้วยการจัดการน้ำฝนที่ตกลงมา ปรับปรุงการกักเก็บ การซึมผ่าน และการถ่ายเทน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเกษตรที่อาศัยน้ำฝนและชลประทานอย่างเหมาะสม การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบธรรมชาติ หรือการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อทำหน้าที่กักเก็บและสามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้
2. การพัฒนาคุณภาพน้ำ (Enhancing water quality): การจัดการน้ำด้วยวิถีธรรมชาติจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของน้ำและแหล่งน้ำได้โดยตรง ทั้งช่วยลดการกัดเซาะหน้าดิน ช่วยกักเก็บตะกอนและมลพิษก่อนจะลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งหมุนเวียนสารอาหาร ตัวอย่างเช่น การปกป้องและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ธรรมชาติริมตลิ่งที่ทำหน้าที่เหมือนกันชนของระบบนิเวศแหล่งน้ำ ไปจนถึงการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำขึ้นใหม่เพื่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะช่วยให้แหล่งน้ำมีคุณภาพดีขึ้น
3. การบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ (Reducing disaster risk): การจัดการน้ำที่อาศัยความเข้าใจด้านนิเวศวิทยาจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่นอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งในปัจจุบันยิ่งถูกซ้ำเติมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวทางการจัดการน้ำด้วยวิถีธรรมชาติ ข้อนี้มักเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูที่ราบน้ำท่วมถึง พื้นที่รับน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ เพื่อกักเก็บน้ำและควบคุมการไหล การซึมลงดินและเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งอาจรวมถึงการใช้พื้นที่สวนสาธารณะและโครงสร้างสีเขียวรูปแบบอื่น ๆ ในเมือง ซึ่งจะช่วยให้เรากักเก็บน้ำไว้ใช้ยามต้องการได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็สร้างพื้นที่รับน้ำ และชะลอน้ำยามที่ต้องเผชิญกับฝนที่ตกลงมาในปริมาณมาก ๆ รวมถึงการผสมผสานโครงสร้างสีเขียวและสีเทาเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
ข้อดีสำคัญของการจัดการน้ำด้วยวิถีธรรมชาติ คือ เรามักจะแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปริมาณ คุณภาพ และความเสี่ยงของน้ำไปได้พร้อม ๆ กัน และยังนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วม (co-benefit) อื่น ๆ อีกหลายด้านอาทิการแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศที่ได้รับการฟื้นฟู
ลองไปดู สามตัวอย่างที่น่าสนใจในการนำแนวคิดการจัดการน้ำวิถีธรรมชาติไปใช้ในระดับภูมิภาค
1.การฟื้นฟูภูมิทัศน์เพื่อปรับปรุงการจัดการแม่น้ำทานาในประเทศเคนยา
ลุ่มน้ำแม่น้ำทานาในเคนยามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการจัดหาน้ำ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ การเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพ การเสื่อมโทรมของดิน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการทำเกษตรที่ไม่ยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำโดยตรง ทำให้ปริมาณน้ำในฤดูแล้งลดลง ตะกอนเพิ่มขึ้น และมีปัญหาคุณภาพน้ำ ผู้มีส่วนได้เสียตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีการจัดการภูมิทัศน์แบบบูรณาการ (landscape approach) เพื่อแก้ไขความท้าทายที่เชื่อมโยงกันเหล่านี้ โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตอนบนของแม่น้ำทานา (UTaNRMP) หน่วยงานจัดการทรัพยากรน้ำ (WRMA) หน่วยงานพัฒนาแม่น้ำทานาและแม่น้ำอาธิ (TARDA) และ WWF ได้ร่วมมือกันฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมในลุ่มน้ำ โดยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมระบบวนเกษตร การปรับปรุงคันนา การสร้างพื้นที่กันชนริมฝั่งแม่น้ำ และการฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติร่องน้ำ ซึ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ ลดปริมาณตะกอนและการกัดเซาะหน้าดิน และยังเพิ่มความสามารถในผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ
2.แนวคิดเมืองฟองน้ำ (Sponge City) ของจีน
แนวคิด ‘เมืองฟองน้ำ’ ของจีนเป็นแนวทางการจัดการน้ำด้วยวิถีธรรมชาติที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบของการพัฒนาเมืองต่อวัฏจักรทางอุทกวิทยาและการไหลเวียนของน้ำตามธรรมชาติ โดยการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (เช่น สวนสาธารณะ หลังคาเขียว และพื้นที่ซึมน้ำ) กับโครงสร้างพื้นฐานสีเทา (เช่น ท่อระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำ) เพื่อเลียนแบบการทำงานตามธรรมชาติของระบบนิเวศ ที่คล้ายฟองน้ำ ทำการดูดซับ กักเก็บ ทำความสะอาด และระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นแนวทางที่ช่วยให้เมืองในจีนสามารถจัดการความท้าทายด้านน้ำได้อย่าง ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น
แนวคิด “เมืองฟองน้ำ” ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างผสมผสานตามบริบทที่แตกต่างในหลาย ๆ เมือง เช่น นครเซี่ยงไฮ้ได้ทำโครงการ Green Wedges มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายพื้นที่สีเขียวและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวตลอดแนวถนนและทางน้ำ เพื่อเพิ่มการดูดซับน้ำฝน ลดน้ำท่า และปรับปรุงคุณภาพน้ำ เมืองอู่ฮั่น ได้มีการออกแบบภูมิทัศน์ของสวนสาธารณะ Wuhan Yangtze River Beach Park ให้มีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำ โดยใช้พื้นผิวซึมน้ำได้ ปรับปรุงพื้นที่ชุ่มน้ำ และเพิ่มพืชพรรณที่หลากหลายเพื่อเพิ่มการดูดซับน้ำฝนและลดน้ำท่า เมืองเฉิงตู ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูแม่น้ำ Nan’an ซึ่งใช้การผสมผสานพื้นที่ชุ่มน้ำที่สร้างขึ้นใหม่ร่วมกับทางเดินริมน้ำแบบซึมน้ำได้ และพื้นที่สีเขียวเพื่อปรับปรุงการจัดการน้ำและสร้างพื้นที่สันทนาการสำหรับชุมชน
แนวคิด ‘เมืองฟองน้ำ’ เป็นแนวทางเชิงนวัตกรรมที่ช่วยให้เมืองในจีนสามารถจัดการความท้าทายด้านน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะจัดการน้ำได้ดีขึ้นแล้ว ยังปรับปรุงคุณภาพอากาศ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างโอกาสในการพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งนี้ การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากจีนเกี่ยวกับ ‘เมืองฟองน้ำ’ สามารถช่วยให้เมืองอื่น ๆ ในเอเชีย รวมทั้งกรุงเทพมหานครปรับใช้แนวคิดนี้เพื่อจัดการความท้าทายด้านน้ำของตนเองได้เช่นกัน
3.กองทุนน้ำ (Water Fund) เพื่อสนับสนุนการใช้แนวคิด NBS ในการปกป้องพื้นที่ต้นน้ำ
กองทุนน้ำ เป็นอีกโมเดลที่ได้รับการพัฒนาโดยเมืองและผู้ปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ในหลายประเทศทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงการบริหารจัดการระหว่างสถาบันต่าง ๆ ในการกำกับดูแลการจัดการน้ำ สิ่งสำคัญคือการเชื่อมช่องว่างทางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การบริหารจัดการ การเงิน และการปฏิบัติ กองทุนน้ำทำให้ผู้ใช้น้ำที่อยู่ปลายน้ำสามารถลงทุนในการปกป้องป่าต้นน้ำ ปรับปรุงการจัดการที่ดิน หรือแม้แต่ฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพและปริมาณน้ำได้สำเร็จ ตัวอย่างความสำเร็จ ได้แก่ เมืองกีโต, ซานอันโตนิโอ (เท็กซัส) และไนโรบี กองทุนน้ำไนโรบีมีจุดมุ่งหมาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวโดยการลงทุน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พื้นที่กันชนริมฝั่งแม่น้ำ การปลูกป่าทดแทน ส่งเสริมการทำเกษตรแบบฟื้นฟู (Regenerative farming) และการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรในลุ่มน้ำตอนบนของแม่น้ำทานา ซึ่งจัดหาน้ำดื่มร้อยละ 95 ของไนโรบี โดยการลงทุนนี้ คาดว่าจะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจประมาณ 21.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลา 30 ปี
อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดการจัดการน้ำด้วยวิถีธรรมชาติ หรือการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานไปใช้อย่างแพร่หลายยังมีความท้าทายหลายประการ เช่น นโยบาย กลไกทางการเงิน และความคิดที่มีอยู่เดิม มักเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเป็นหลัก การขาดความรู้ความเข้าใจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายยังไม่ทราบถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์จากการทำงานของธรรมชาติ ความท้าทายด้านเทคนิค การขาดข้อมูล และขีดความสามารถในการออกแบบ ดำเนินการ และประเมินผล ก็มีส่วนทำให้แนวทางนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมเชียงใหม่เมื่อไม่นานมานี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ตอกย้ำว่า แนวทางการแก้ปัญหาแบบ Nature-based Solutions นั้นเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพจริง ๆ เพราะหนี่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ คือ บริเวณทุ่งน้ำนูนีนอย ในอำเภอเชียงดาว ของดร.อ้อย – สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และพี่จอบ-วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ พี่จอบเปิดเผยว่าพื้นที่ทุ่งน้ำผสมผสานเกษตรกรรมอินทรีย์ ซึ่งตั้งอยู่กลางแอ่งที่ราบเชียงดาว รอดพ้นจากภัยน้ำท่วมมาได้อย่างน่าประทับใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้มีการฟื้นฟูกลับมาร่วมกับการอนุรักษ์พืชน้ำริมตลิ่ง และระบบฝายดินดั้งเดิม ทำให้เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากไม่ส่งผลเสียหายรุนแรง แต่กลายเป็นกลไกเติมปุ๋ยตามธรรมชาติ ผืนดินที่ได้รับการฟื้นฟูให้มีอินทรียวัตถุก็น่าจะมีส่วนช่วยดูดซับน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
วิกฤติสภาพภูมิอากาศจะยิ่งสร้างแรงกดดันต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเห็น ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ของมนุษย์ คือการปรับตัว การหันมาทำงานร่วมกับธรรมชาติ ไม่ใช่พยายามเอาชนะธรรมชาติดูจะเป็นทางออกที่เหมาะสม และยั่งยืนที่สุดในการจัดการน้ำท่ามกลางยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง