ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เมื่อวานผมเล่าเรื่องนิทานก่อนนอนให้ลูกสาวตัวน้อยวัย 10 เดือนฟัง ผมเล่าถึงเรื่องราวของสองหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งผู้คนแบ่งปันกัน อีกหมู่บ้านหนึ่งมีคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่กอบโกยทุกอย่างไว้เอง ซึ่งผลออกมาแล้วชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านต่างกันเมื่อเกิดปัญหา
หมู่บ้านแรก แม้ไม่มั่งคั่งแต่กลับสามารถโอบอุ้มชีวิตผู้คนไว้ได้ ขณะที่หมู่บ้านที่สองแม้จะมีความมั่งคั่งหรูหรา แต่เมื่อมีปัญหา ไม่สามารถเก็บชีวิตและความฝันของผู้คนไว้ได้ แม้จะดูไกลตัวแต่ผมนึกถึงนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุด คือ Acemoglu, Johnson และ Robinson และนำสู่ความคิดและคำถามง่าย ๆ ซ้ำ ๆ ว่าหากมองตามแนวคิดงานวิจัยของทั้งสามท่าน เหตุใด “ประเทศไทยถึงยังไม่มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเสียที”
Acemoglu กับ Johnson เป็นอาจารย์อยู่ที่ MIT ส่วน Robinson เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโก เขาเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจแอฟริกาและละตินอเมริกาเป็นพิเศษ เมื่อปี 2012 Acemoglu จับมือกับ Robinson เขียนหนังสือชื่อ “ทำไมบางชาติถึงล้มเหลว” (Why Nations Fail) ที่พยายามไขปริศนาว่าทำไมบางประเทศถึงรวย ในขณะที่บางประเทศยากจนแสนเข็ญ อันเป็นสิ่งที่ผู้คนตั้งคำถามกันมาหลายศตวรรษ ภูมิประเทศ ทรัพยากร ศาสนา ชาติพันธุ์ กองทัพ ความสามารถของผู้นำ?
แต่งานวิจัยได้อธิบายมากกว่านั้น และพยายามยกให้เห็นว่า ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ที่ชาติตะวันตกออกล่าอาณานิคม พวกเขาได้วางระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละที่ น่าแปลกที่บางประเทศที่เคยรุ่งเรืองในยุคอาณานิคม เป็นประเทศล่าอาณานิคมเอง กลับกลายเป็นประเทศยากจนในปัจจุบัน หรือแม้แต่ประเทศที่ ไม่เคยล่าอาณานิคมก็กลับมั่งคั่ง หรือประเทศที่เคยยากจนก็กลับร่ำรวย
คำตอบของงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ที่ “สถาบัน” แต่ไม่ใช่สถาบันตามความหมายแบบที่คนไทยคุ้นเคย ประเทศที่สร้าง “สถาบันที่รวม-Inclusive” ที่ให้ความสำคัญกับกฎหมายและสิทธิในทรัพย์สิน จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ส่วนประเทศที่มี “สถาบันที่เอาเปรียบ-Extractive” ที่ยอมให้คนกลุ่มน้อยกอบโกยผลประโยชน์ จะติดกับดักความยากจนไม่จบสิ้น
เหมือนในนิทานที่ผมเล่าให้ลูกฟัง หมู่บ้านที่ผู้คนแบ่งปันกันก็เจริญรุ่งเรือง ส่วนหมู่บ้านที่มีคนกลุ่มเล็ก ๆ กอบโกยทุกอย่าง สุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรให้ใคร ๆ เลย
ลองนึกภาพว่าสังคมเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นใกล้บ้าน สถาบันก็คือกติกาว่าใครจะได้เล่นอะไร นานแค่ไหน ถ้ากติกาเอื้อให้เด็กบางคนผูกขาดเครื่องเล่นทั้งหมด (Extractive Institutions) เด็กส่วนใหญ่ก็จะไม่มีที่เล่น เหมือนกับสังคมไทยที่ทรัพยากร และโอกาสถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มน้อย
ดูอย่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ สองประเทศแยกจากกันเมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว วันนี้เกาหลีใต้มีสวัสดิการและกฎหมายแรงงานที่ครอบคลุมมากขึ้น พ่อแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเลี้ยงดูลูก ผู้สูงอายุมีบำนาญใช้ยามแก่ ขณะที่เกาหลีเหนือประชาชนแทบไม่มีอะไรจะกิน ทั้งที่เริ่มต้นจากจุดเดียวกัน ต่างกันตรงที่เกาหลีใต้สร้าง “สถาบันที่รวม” ส่วนเกาหลีเหนือยึดติดกับ “สถาบันที่เอาเปรียบ”
มาดูไทยบ้าง ทั้งที่เศรษฐกิจเติบโตมาตลอด 40-50 ปี แต่ทำไมพ่อแม่หลายคนยังต้องทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาเลี้ยงลูก? ลองดูตัวเลขจาก Credit Suisse ปี 2022 คนไทย 1% บนถือครองความมั่งคั่ง 50% ของประเทศ ขณะที่พ่อแม่ชนชั้นแรงงานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เลี่ยงไม่ได้ แต่คนร่ำรวยและมีอำนาจในสังคมมีช่องทางการเลี่ยงภาษีเต็มไปหมด นี่คือตัวอย่างของ “สถาบันที่เอาเปรียบ” ชัด ๆ
ลองเทียบกับ นอร์เวย์ที่มีระบบภาษีก้าวหน้า คนรวยจ่ายภาษีขั้นบันไดในอัตราที่สูงหมายความว่า สังคมอนุญาตให้คนรวยได้นะ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งซึ่งเป็นความรวยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เป็นความรวยที่ไม่จำเป็นคุณจะรวยขึ้นยากมาก ๆ เพราะเป็นขั้นบันไดที่ภาษีสูง ดังนั้น คุณก็ต้องไปทำอย่างอื่น หรือแบ่งให้คนอื่นรวยบ้าง ขณะที่คนรายได้น้อยภาษีอาจจะจ่ายต่ำ แต่ก็ได้รับสวัสดิการที่ดี ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาฟรี รักษาพยาบาลฟรี เงินบำนาญยามแก่ เงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูเด็ก ทำให้พ่อแม่มีเวลาดูแลลูกอย่างเต็มที่ จะเห็นได้ว่าสถาบันถูกออกแบบช่วยกำกับไม่ใช่แค่เฉลี่ยให้เท่ากัน แต่ช่วยจำกัดอำนาจและความมั่งคั่งของคนที่รวยและมีอำนาจในสังคมด้วย
แล้วไทยล่ะ? เรามีแต่สวัสดิการแบบ “ชั่วครู่ชั่วยาม” ที่เปลี่ยนไปตามรัฐบาล ไม่มีความแน่นอน ไม่มีความยั่งยืน ทำให้คนต้องรู้สึก “เกรงใจ” เหมือนได้ของแถม ไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้ จะแก้ยังไง? Acemoglu บอกว่าต้องปฏิรูปสถาบัน แต่นี่แหละที่ยาก เพราะคนที่ได้เปรียบจากระบบเดิมย่อมไม่อยากเปลี่ยน เราปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนอยู่ในตลาดหุ้น ผู้คนที่ผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายมีอำนาจในกระบวนการตัดสินใจ พวกเขาย่อมกลัวการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกในระบบ
เมื่อมองผ่านกรอบแนวคิดของ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุด รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าของไทยอาจฟังดูห่างไกล เพราะ “สถาบัน” ที่ถูกออกแบบมานั้นดูกำหนดว่าใครควรได้อะไร เอื้อให้แก่คนที่มีอยู่แล้ว ขณะที่คนไม่มีก็ลำบากมากขึ้น และแทบไม่มีโอกาสคิดฝันถึงการเข้าถึงทรัพยากรเลย นอกจากเป็นหนี้ ทำงาน และเจ็บป่วย เพื่อให้ชนชั้นนำมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่คนส่วนใหญ่นอนจมกับความสิ้นหวัง
คืนนี้ขณะที่ผมเล่านิทานให้ลูกฟังจบ เป็นเรื่องราวที่สุดท้ายหมู่บ้านที่แบ่งปันสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เธอยิ้มกว้างและหลับไปอย่างมีความสุข ผมหวังว่าเมื่อเธอโต นิทานเรื่องการแบ่งปัน และความเท่าเทียมจะไม่ใช่แค่เรื่องแต่งในหนังสือ แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย