ในความเคลื่อนไหว
ประจักษ์ ก้องกีรติ
เนื่องด้วยภาระงานวิจัยที่กำลังทำอยู่เรื่องความรุนแรงในสังคมไทยและสังคมโลก บวกกับการถกเถียงเรื่องความยุติธรรมกรณีเหตุการณ์ “ตากใบ” ทำให้ผู้เขียนกลับไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีชื่อเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งว่า In Plain sight: Impunity and Human Rights in Thailand ว่าด้วยการลอยนวลพ้นผิดและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาอย่างชัดแจ้งในสังคม แต่บ่อยครั้งมันก็ชัดเสียจนคนจำนวนไม่น้อย (แกล้ง) มองไม่เห็น
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2561 แต่เนื้อหายังร่วมสมัยอย่างยิ่ง ผู้เขียนคือ Tyrell Haberkorn ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง หนังสือเล่มก่อนหน้านี้ของเธอศึกษาการก่อตัวของขบวนการชาวนาและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว
ในเล่มนี้ เธอหันมาสนใจปรากฏการณ์ความรุนแรงโดยรัฐ สิทธิมนุษยชน และการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ซึ่งคำหลังนี้เป็นคำที่ได้ยินบ่อยขึ้นในสื่อทั่วไป จากที่เมื่อก่อนเป็นคำที่อาจจะไม่ได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางนัก คำว่าลอยนวลพ้นผิดนี้หากนิยามอย่างกระชับและเข้าใจง่าย ก็หมายถึงการที่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดกับการกระทำที่ตนเองก่อไว้ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ชี้ว่า การลอยนวลพ้นผิดนี้ปรากฏให้เห็นมากที่สุดในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ทำผิด โดยเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เรื่องที่เกิดแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เกิดขึ้นอย่างเป็นแบบแผนและเป็นระบบ จนกระทั่งสามารถเรียกได้ว่าการลอยนวลพ้นผิดกลายเป็นวัฒนธรรมและเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการสร้างรัฐไทย
หนังสือเล่มนี้สืบสาวราวเรื่องให้เห็นว่าการลอยนวลพ้นผิดถูกสร้างขึ้นมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมของรัฐไทยอย่างไร ไล่เรียงมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาถึงการรัฐประหาร 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งในช่วงหลังสงครามโลกที่เต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพทางการเมือง จบลงด้วยการทำรัฐประหารของกองทัพในปี 2490 และการก่อตัวของระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย รัฐบาลทหารของจอมพล ป. ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมในขณะนั้นใช้ความรุนแรงหลากหลายรูปแบบในการขจัดผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มหาย การลอบสังหาร การซ้อมทรมาน กลายเป็นแบบแผนของการใช้ความรุนแรงนอกกฎหมาย ที่รัฐแปลงตนเองจากการเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองประชาชนกลายไปเป็นผู้ที่ใช้กำลังข่มขู่คุกคามและสังหารประชาชนเสียเอง
อาชญากรรมโดยรัฐที่ก่อตัวขึ้นในทศวรรษ 2490 กลายเป็นมรดกตกทอดที่ฝังลึกและถูกส่งทอดต่อมาในยุคหลัง แม้แต่ในช่วงที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สังคมไทยก็ไม่ได้ปลอดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลไกรัฐ เรายังพบเห็นการคุมขังประชาชนโดยมิชอบ การสลายการชุมนุมด้วยการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ การ “ปรับทัศนคติ” ประชาชนในค่ายทหาร การปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ฯลฯ
อ่านงานชิ้นนี้แล้ว ประเด็นที่สำคัญมาก ๆ และน่าตกใจก็คือ การลอยนวลพ้นผิด ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นแบบลับ ๆ โดยปราศจากการรับรู้จากสังคม แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยในที่แจ้ง ที่สังคมและสื่อมวลชนรับรู้ ตั้งแต่ยุคของการลอบสังหารสี่รัฐมนตรีในสมัยจอมพล ป. การใช้มาตรา 17 สั่งประหารชีวิตพลเมืองและการคุมขังนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ทนายความและผู้นำนักศึกษาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ กรณี “ถีบลงเขาเผาลงถังแดง” ในยุคจอมพลถนอม การปราบปรามผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภา 2535 การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 มาจนถึงเหตุการณ์ตากใบ การอุ้มหายนักกิจกรรม และการคุมขังประชาชนจากการแสดงออกทางความคิดในปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บันทึกไว้อย่างละเอียด เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลอย่างหลากหลาย ตั้งแต่หอจดหมายเหตุของรัฐ ข่าวหนังสือพิมพ์ เอกสารราชการ บันทึกของหน่วยงาน บันทึกความทรงจำของนักโทษทางการเมือง การสัมภาษณ์ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงของรัฐและครอบครัว คำให้การในศาล คำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์หลายคดี ก่อรูปเป็นความทรงจำใหม่ที่เตือนให้เราตระหนักว่า หนึ่ง ความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อประชาชนเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาภายใต้ระบอบการเมืองต่างชนิดกัน ทั้งในยุคเผด็จการ ประชาธิปไตย และกึ่งประชาธิปไตย และ สอง สังคมไทยล้มเหลวในการทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การลอยนวลพ้นผิดจึงแฝงฝังหยั่งรากลึกในสังคมไทยจนกลายเป็นสถาบัน กลายเป็นความอยุติธรรมที่เป็นระบบ
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม้ในห้วงยามที่เรามีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ทุกรัฐบาลก็มิได้มีความพยายามที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยการนำตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย จึงยังไม่เกิดการสร้างวัฒนธรรมการรับผิด (accountability) ให้ปรากฏในบ้านเรา
ผู้เขียนยกข้อมูลขึ้นมาชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 1952 ถึง 2561 (ที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์) มีกรณีของผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องถึง 179 คน (ยังไม่นับกรณีที่ไม่ถูกบันทึกไว้) แต่ไม่เคยมีการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้สำเร็จเลยแม้แต่คนเดียว ผมอยากจะเสริมว่าในกรณีของการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมก็เช่นกัน นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการดำเนินคดีกับผู้นำรัฐบาล ผู้บังคับบัญชากลไกรัฐด้านความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเลยแม้แต่คนเดียวเช่นกัน
การลอยนวลพ้นผิดถูกสร้างขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมและสถาบันในสังคมไทยได้อย่างไร? หนังสือเล่มนี้อธิบายให้เห็นว่ามีหลายวิธีประกอบกัน เริ่มตั้งแต่ผู้มีอำนาจรัฐมักจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมยกโทษความผิดให้กับตนเอง (ทั้งความผิดในอดีต ปัจจุบัน และที่จะกระทำในอนาคต) ดังที่ปรากฏในการทำรัฐประหารทุกครั้ง, ผู้มีอำนาจรัฐระดับสูงมักจะปกป้องลูกน้องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงให้ไม่ต้องรับผิด โดยบอกว่าเป็นการทำตามหน้าที่ สาม, นอกจากนั้นก็ข่มขู่และปิดกั้นเหยื่อ ครอบครัว และกลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ไม่ให้เคลื่อนไหวได้มากนัก
แต่มีอีกสองวิธีการที่ผมคิดว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้ำจุนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทย คือ การให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงของรัฐโดยอำนาจตุลาการ ทำให้การใช้กำลังที่ผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิของประชาชนถูกปกป้องในนามของกระบวนการยุติธรรม เช่น ธรรมเนียมประเพณีของฝ่ายตุลาการในการรับรองการรัฐประหารให้กลายเป็นองค์อธิปัตย์ที่ชอบธรรม คำพิพากษาที่มุ่งคุ้มครองรัฐโดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากกว่าสิทธิของประชาชน การกำหนดอายุความ การจำกัดช่องทางในการฟ้องร้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของรัฐ ฯลฯ
อีกหนึ่งกลไกสำคัญ คือ การลบประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับความรุนแรงของรัฐ ไม่ให้ถูกบันทึก ไม่ให้ถูกจดจำ ไม่ให้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เมื่อรัฐควบคุมการเขียนประวัติศาสตร์ได้ รัฐก็ปกป้องตนเองจากการกระทำผิดได้ ความหลงลืมจึงเป็นเงื่อนสำคัญของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด
แต่การลบความทรงจำกระทำได้ยากขึ้นในยุคที่มีการปฏิวัติเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร รัฐจึงต้องทำสิ่งที่ยากกว่านั้น คือ การต่อสู้ช่วงชิงความหมายเพื่อทำให้คำอธิบายเหตุการณ์จากมุมมองของรัฐกลายเป็นมุมมองกระแสหลัก เพื่อทำให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐกลายเป็น “ผู้ร้าย” ที่สมควรต่อการถูกกระทำรุนแรง ดังที่รัฐสร้างคำขึ้นมาเรียกกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐเพื่อสร้างความเป็นอื่นให้กับคนกลุ่มดังกล่าว เพื่อผลักให้พวกเขาอยู่นอกเหนือการคุ้มครองทางกฎหมาย (citizens who are beyond the protection of the law)
เช่น วาทกรรม “ศัตรูของชาติ” สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
วาทกรรม “อันธพาล” และ “คอมมิวนิสต์” สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์
หรือวาทกรรมที่เรียกคนบางกลุ่มว่าเป็น “ภัยสังคม” โดยรัฐบาลสมัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา,
วาทกรรม “ผู้ก่อการร้าย” ที่รัฐใช้เรียกประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือผัง “ล้มเจ้า” ในสมัยเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553
เมื่อรัฐประสบความสำเร็จในการสร้างความเป็นอื่นและภาพความเป็นศัตรูให้กับประชาชนกลุ่มใดก็ตาม รัฐก็มีความชอบธรรมมากขึ้นที่จะใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มนั้นโดยลอยนวลพ้นผิดไปได้ เพราะจะมีสื่อ นักวิชาการ และผู้สนับสนุนรัฐบางกลุ่มออกมาช่วยแก้ต่างให้รัฐอย่างแข็งขันโดยอ้างอิงข้อมูลและมุมมองของรัฐมาประกอบคำอธิบายของตน เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐก็ลอยนวลอย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น เพราะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งมาช่วยอุ้มรัฐให้ไม่ต้องรับผิด
ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา เกิดกระแสทั่วโลกที่เรียกร้องให้มีการสร้างวัฒนธรรมความรับผิดต่อความรุนแรงโดยรัฐ (accountability for state violence) หรือที่เรียกว่าบรรทัดฐานของความยุติธรรม (justice norm) เพื่อขีดเส้นว่ารัฐไม่สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจในการละเมิดสิทธิของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชาที่กำหนดนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใส เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เหมือนคนทั่วไป การทำเช่นนี้เป็นการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อและครอบครัวที่ถูกกระทำจากรัฐ และยังมีความสำคัญต่อพิทักษ์รักษาหลักนิติรัฐในสังคมนั้นด้วย
จะเกิดบรรทัดฐานใหม่ได้ คนในสังคมก็ต้องช่วยกันเปลี่ยนค่านิยม และระบบยุติธรรมในประเทศก็ต้องยึดหลักการคุณค่าสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญ น่าเสียดายว่าจนถึงวันนี้ การสร้างความรับผิดต่อความรุนแรง โดยรัฐยังไม่ใช่บรรทัดฐานในสังคมไทย การลอยนวลพ้นผิดจึงยังคงดำเนินต่อไปอย่างโจ่งแจ้งและชัดเจน