อาหารกาลกิน
กฤช เหลือลมัย
ในชีวิตประจำวันของผู้คนตามเมืองใหญ่ ๆ อย่างเช่นกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี เชียงใหม่ คงมีหลายครั้ง ที่เราต้องเดินทางด้วยยานพาหนะไปตามเส้นทางต่าง ๆ แล้วสังเกตเห็นด้วยความบังเอิญว่า บางจุดยังเป็นพื้นที่รกร้าง ดงไม้ขนาดกลางขึ้นเบียดเสียดหนาแน่น มีแอ่งน้ำเล็ก ๆ และบริเวณที่ลุ่มชุ่มชื้น บ้างเป็นสวนสาธารณะ ตลอดจนเขตแนวรั้ว เสาไฟ สายโทรคมนาคมที่มีเถาพืชเลื้อยเกี่ยวพันปกคลุมหนาตา ซึ่งก็อาจพอนับเป็น“พื้นที่สีเขียว” ของเมืองสีหม่นดำแกมเทานี้ได้บ้าง
สีเขียวของต้นไม้ในเมืองใหญ่ ๆ ของไทยดูเหมือนเป็นเรื่องย้อนแย้งทางความเชื่อและการปฏิบัติเสมอมา เรามักได้รู้ได้ยินโครงการรณรงค์ปลูกต้นไม้ให้เป็นปอดของเมือง ผลิตออกซิเจนให้ผู้คนที่อยู่อาศัย ลดมลพิษ เป็นร่มเงาสีสัน ถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน ก็อาจรวมถึงเรื่องโครงการธนาคารต้นไม้ หรือคาร์บอนเครดิต ที่คิดคำนวณไว้ให้สัมพันธ์กับสภาวะสิ่งแวดล้อมโลก ทว่า ก็ยังได้ยินข่าวการตัดฟันต้นไม้อย่างรู้ไม่เท่าถึงการณ์ อย่างปราศจากความรู้ความเข้าใจด้านรุกขศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง จนน่าสงสัยว่า ตกลงคนไทยจะเอายังไงกับต้นไม้กันแน่
และผมคิดว่ายังมีอีกมุมหนึ่งของต้นไม้ในเมืองใหญ่ ที่ยังไม่เคยถูกนับแบบจริง ๆ จัง ๆ ก็คือมุมของพืชอาหาร หรือ“ไม้แดก” นะครับ
มันอาจเป็นเพราะคนเมืองส่วนใหญ่ถูกทำให้คิดถึงพืชอาหารแค่ในแง่มุมจำกัดจำเขี่ย ว่าต้องเป็นผักที่หาซื้อตามตลาดสดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่หากมองด้วยสายตาคนบ้านนอกคอกนา หรือสวมแว่นของโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ลงมา มนุษย์ย่อมผ่านสังคมเก็บของป่า – ล่าสัตว์ (hunting – gathering society) มาตั้งแต่นับหมื่น ๆ ปีที่แล้ว พูดได้ว่า ก่อนสามพันปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มนับเนื่องเข้าสู่สมัยสังคมเกษตรกรรม คนเราคือนักล่า นักเก็บของป่าตัวยง และจิตวิญญาณนั้นก็ยังสถิตในวิถีชาวบ้านชาวป่า ที่มีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
แล้วลองคิดเล่น ๆ ดูก็ได้ครับว่า สมัยที่คนยังมีแค่เครื่องมือหินกรวดแม่น้ำกะเทาะหยาบ ๆ หัวลูกธนูก็เป็นเพียงหินชนวนขัดฝน หอกไม้ไผ่เหลาแหลม เบ็ดกระดูกปลา ฯลฯ การออกไป hunting คงหาอาหารมาเยียวยาท้องไส้ลูกเมียญาติพี่น้องได้ไม่มากเท่า gathering แน่ ๆ เผลอ ๆ จะกลายเป็นเหยื่อเสียเองด้วยซ้ำ การรู้จักเก็บผักหักหน่อไม้ จึงน่าจะเป็นเสบียงให้มนุษย์ได้ดี แม้อาจต้องเสี่ยงกับนักล่ารายอื่น ๆ ในป่า อย่างเสือ หมาไน หมีควาย หรือจระเข้ในน้ำบ้างก็ตาม
ความรู้เรื่องการกินไม้แดกแต่ก่อนเก่าก็น่าจะมีมากกว่าปัจจุบันนะครับ ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (พ.ศ. 2452) นิยามพืชกินได้ไว้ว่า “บรรดาที่เปนพืชน์คามเปนไม้ที่ไม่มีพิศม์ให้มึนเมาเปนของแสลงแล้ว ซึ่งเกิดมีอยู่ธรรมดาโดยมากใช้ได้แทบทั้งนั้น ตลอดถึงดอกและผลลำต้นมูลรากด้วย”
กระทั่งคำสัมภาษณ์คุณป้าเสาวลักษณ์ รามสูต ในหนังสือจานอร่อยจากปู่ย่า สูตรโบราณ 100 ปี (สำนักพิมพ์สารคดี, 2557) ก็สะท้อนเรื่องการเก็บหาผักป่าที่บ้านในอำเภอประจันตคามเมื่อเจ็ดสิบปีที่แล้ว จากปากท่านเองว่า “สมัยก่อนตื่นมายังไม่ได้ทำ (กับข้าว) ต้องไปหาผักก่อน เพราะไม่มีตลาด แล้วจึงมาทำ”
สภาพป่าข้างทางในเขตสวนผักผลไม้เก่า ย่านบางแค บางบอน ธนบุรีครับ
ถ้าลองสังเกตสูตรอาหารในหนังสือตำรากับข้าวเก่า ๆ อายุตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วลงมา ก็จะพบด้วยความประหลาดใจว่า ความหลากหลายของพืชผักที่เอามาเข้าเครื่องปรุงนั้นมีมากมายที่คนไม่รู้จักกันนักแล้ว เช่น แกงขั้วเป็ดกับผลพุดซาแดง แกงหมูกับดอกส้มเสี้ยว แกงขั้วผลสมอไทย์ แกงดอกพยอม ปลาช่อนแกงส้มกับผลลางสาด (ตำราแม่ครัวหัวป่าก์) แกงส้มปลากับมันแกว ยำดอกพยอม พล่าดอกกาหลง พล่าดอกเทพี (ปะทานุกรมการทำของคาวของหวานอย่างฝรั่งแลสยาม)
คนมักเชื่อว่า พืชเหล่านี้สูญพันธุ์ไปมาก แต่จริงหรือที่เราไม่สามารถเก็บหามันได้จากสภาพแวดล้อมปัจจุบันแล้ว
ใบอ่อนจิงจ้อดอกขาว
มีข้อมูลมากมายชี้ให้เราเห็นว่า มีสิ่งที่อนุโลมเรียกว่า“ป่าอาหาร” อยู่กลางเมืองขนาดใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เอาที่คนรู้จักกันดีก็คือ ป่า Ketelbroek ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีกิจกรรมสันทนาการเกี่ยวกับการเก็บหา ทำความรู้จัก ประกอบสร้างอาหารที่ได้จากป่ากลางเมืองแห่งนั้น มันเป็นงานความรู้ที่ส่งสะท้อนให้ผู้คนเห็นคุณค่าของพื้นที่สีเขียวของเมืองใหญ่ ในแง่ที่ว่าด้วยอาหาร หนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นที่สุดของมนุษย์
เท่าที่รู้ นี่เป็นสิ่งที่เมืองไทยไม่มีนะครับ เราจะไม่นับชาวบ้านชนบทชายป่าชายทุ่งที่ยังดำรงวิถีนี้อยู่ แต่พูดถึงคนเมือง ในลักษณะที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้น ว่าเมืองทุกเมืองล้วนเคยเป็นป่ามาก่อน จึงย่อมหลงเหลือพื้นที่สีเขียวอยู่ตรงนั้นตรงนี้ให้เห็นบ้าง ไม่มากก็น้อย ตามตรอกซอกซอย ที่ดินว่างเปล่า หรือกระทั่งสวนสาธารณะ ตลอดจนการปลูกประดับต้นไม้ตกแต่งพื้นที่โดยหน่วยงานราชการ ทั้งหมดนี้เมื่อรวม ๆ กันเข้า แล้วจ้องมองด้วยสายตาของคนเก็บหาพืชผัก ก็อาจนับเป็นป่าอาหารเล็ก ๆ กระจายตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ ได้
โดยยังไม่มีการจัดการในกรอบคิดสากลแบบป่าอาหารอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่นี่ เราอาจเริ่มต้นเรื่องทำนองนี้เองตามกำลัง ความสนใจ และความสนุกที่มีเป็นปัจเจกอารมณ์ มันน่าตื่นเต้นน้อยอยู่เมื่อไหร่เล่าครับ ที่จะสามารถผนวกเอาการเก็บของป่าแบบบรรพกาล เข้ากับการออกกำลังกายประจำวัน ในพื้นที่เมืองใหญ่ศูนย์กลางความเจริญ แถมยังเอาวัตถุดิบปลอดสารพิษนั้นมาปรุงกับข้าวกินได้อีก นี่เรากลายเป็นผู้เก็บหาอาหาร (forager) ไปได้แบบน่าสนุกจริง ๆ ด้วย
คงต้องเล่าประสบการณ์ส่วนตัวสักหน่อยล่ะครับ
ช่วงที่ผมยังอยู่ในกรุงเทพฯ แถบชานเมืองด้านตะวันตก แล้วใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางหลัก ผมเริ่มต้นเรื่องนี้ง่าย ๆ ด้วยจักรยานสองล้อกึ่งนอน (semi recumbent) ยี่ห้อ Clean Speed ซื้อมือสองมาจากเซียงกงปทุมวัน ความจริงจะเป็นจักรยานอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ แต่พวก recumbent นั้นเป็นจักรยานนอนปั่น เลยทำให้ผมเห็นวิวทิวทัศน์ข้างทางได้ละเอียดลออชัดเจนกว่า
เวลาออกไปธุระ ไปซื้อของ หรือปั่นออกกำลังกายรอบเช้าสายบ่ายเย็น นอกจากจดจำร้านข้าว ร้านเครื่องดื่ม ผมก็แค่สังเกตพื้นที่เขียว ๆ รกร้าง ๆ เป็นพิเศษอีกสักหน่อย ว่ามันอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ละแห่งมีต้นไม้แดกชนิดใดมากน้อยแค่ไหน จะเวียนมาเก็บได้อีกเมื่อไหร่ ฯลฯ แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้ต้องใช้ความรู้อยู่บ้าง แต่ต้องบอกว่า “ความรู้” เรื่องต้นไม้ใบไม้ที่หาเก็บกินได้นั้นไม่ได้อัตคัดขัดสนเหมือนในอดีต ทว่าสืบค้นหาได้ง่ายเพียงปลายนิ้วจากอินเทอร์เน็ตนะครับ
ลงว่าเรามีฉันทะ มีความพึงใจเป็นเบื้องต้นแล้ว ของพวกนี้เรียนรู้ได้ง่ายได้ไวกว่าสมัยพ่อแม่เรามากทีเดียว
และอันที่จริง เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ นั้น เพิ่งจะมีผู้คนเข้าอยู่อาศัยตั้งถิ่นฐานได้ไม่นานเท่าใดนัก แต่เดิมคงมีลักษณะพื้นที่เป็นป่าพรุเฉอะแฉะ ตั้งแต่ก่อนระดับน้ำทะเลลดครั้งสุดท้ายเมื่อสามพันปีก่อน ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง บางจุดยังเป็นดินที่มีความเค็มสะสม พืชพันธุ์ที่ขึ้นในพื้นที่ย่อมมีความหลากหลาย โดยเฉพาะพืชล้มลุกโตไว ตลอดจนไม้ชายเลนบางชนิดก็ยังปรับตัวเติบโตได้
ราวสิบปีก่อน เคยมีกิจกรรมทดลองปั่น เก็บ กิน ทำนองนี้ครั้งหนึ่งที่ถนนเทอดไท ฝั่งธนบุรี จัดโดยมูลนิธิโลกสีเขียว ครั้งนั้น ผมและคณะผู้ร่วมปั่นสามารถเก็บพืชผักกินได้ตลอดริมเส้นทางไม่กี่กิโลเมตรนั้นได้ถึงกว่ายี่สิบชนิด แถมเราไปอาศัยพื้นที่วัดนิมมานนรดี ริมคลองภาษีเจริญ ตั้งเตาทำแกงเขียวหวานมะเดื่อ และแกงเลียงผักสารพัดชนิดที่เก็บมาได้ กินข้าวกลางวันกันแบบได้อารมณ์มาก
ในเวลานั้น สภาพพื้นที่ริมถนนเทอดไทยังมีหย่อมพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมลองปั่นไปทบทวนความหลัง ก็พบว่าความเขียวของประชากรไม้แดกนั้นหายไปเกินครึ่ง ชนิดที่ว่าจำแทบไม่ได้เอาเลย
แต่ gatherer หรือ forager ที่ดีย่อมมีทักษะเฉพาะบางประการ มันอาจเป็นสัญชาตญาณที่ค่อย ๆ รื้อฟื้นสั่งสมบ่มเพาะจากการสังเกตสังกา นั่นก็คือการจดจำ “แหล่งอาหาร” ให้ได้แม่นยำ เหมือนเรื่องพรานกะเพราที่ราชบุรีซึ่งผมเคยเล่าไปเมื่อครั้งก่อน คือต้องมีแผนที่ในหัวอย่างละเอียดลออว่ามีอะไรอยู่ตรงไหน ถ้าไม่เจอไอ้นี่ตรงนี้ จะไปหาต่อที่ไหน หรือหาอะไรทดแทนได้ยังไงบ้าง
มันก็เป็นความสนุกท้าทายอย่างหนึ่งนะครับ
ถ้าให้เล่าจากเส้นทางปั่น เก็บ กิน เส้นประจำของผมเมื่อหลายปีก่อน สมมุติว่าหาของจากถนนเทอดไทไม่ได้มาก ผมก็จะปั่นต่อมาตรงท่าเกษตร แยกซ้ายเข้าไปทางที่จะไปสำนักงานเขตบางแค ถนนเล็ก ๆ เลียบคลองภาษีเจริญเส้นนั้นยังพอมีของให้เก็บอยู่จนเดี๋ยวนี้นะครับ ก่อนจะถึงสำนักงานเขต เราอาจจะได้ดอกชุมเห็ดเทศ ผักบุ้งนา ผักโขมหัด ผักโขมจีน หญ้ายาง ผักปราบใบกว้าง เอามาแกงส้มกิน ได้มะเดื่อปล้อง มะเดื่ออุทุมพรมาแกงเขียวหวาน ผมยังเคยเห็นพี่แท็กซี่คนหนึ่งจอดรถแอบข้างทาง ลงไปสาวเอาเถาฝอยทองจากยอดไม้ลงมาได้กำใหญ่ ๆ เดาว่าพี่เขาคงเอาไปต้มจิ้มน้ำพริกเป็นแน่
ถนนอีกเส้นในละแวกเดียวกัน คือซอยร่มไทร ที่เชื่อมถนนกาญจนาภิเษกกับซอยเพชรเกษม 69 เส้นทางเล็ก ๆ วกไปมาในสวนเก่านี้เต็มไปด้วยลูกเถาคันที่แกงส้มแบบปักษ์ใต้อร่อยมาก มีเถาจิงจ้อดอกขาวที่แตกใบอ่อนจำนวนมหาศาลนับประมาณมิได้ ใบอ่อนจิงจ้อต้มจืดหมูบะช่ออร่อยนิ่มนวลมากครับ นอกจากนี้ก็อาจพบดงผักโขมจีนต้นอวบ ๆ ที่จะต้มจืดก็ได้ แกงส้มแกงเลียงก็ดี มีต้นขลู่ ยอดอ่อนกินสดรสฝาดมัน สรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ไม่นับต้นกระถิน ที่ให้ทั้งยอดอ่อนและฝักอ่อนฝักแก่ ลำต้นกระถินเองก็มักเลื้อยพันไว้ด้วยเถาตำลึงและกะทกรก ตำลึงนั้นคนคุ้นเคยกับต้มจืดแน่นอน แต่ส่วนใหญ่คงไม่เคยกินแกงเลียงยอดกะทกรกกันมากนัก
แล้วผมเพิ่งพบว่า ซอยบ้านน้องชายผม คือซอยบรมราชชนนี 74 ที่แยกจากถนนใหญ่เข้าไปทางด้านทิศเหนือนั้น เป็นถนนสายอาหารจริง ๆ ใครอยู่ละแวกนั้น จะสามารถเข้าไปเก็บใบอ่อนจิงจ้อดอกขาว ลูกเถาคัน ตำลึง ได้ครั้งละมาก ๆ ถ้าขยันก็อาจเด็ดยอดผักเสี้ยนผีมาดองเปรี้ยว ๆ จิ้มน้ำพริกกะปิกินได้ด้วย ผมคิดว่าซอยอื่น ๆ ในเขตนั้น ซึ่งยังไม่มีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ก็คงมีสภาพเป็นถนนเส้นเล็ก ๆ ที่มีป่าอาหารย่อม ๆ อยู่ทุกซอยแน่ ๆ
แม้ผลกระทบจากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2567 จะส่งผลให้เจ้าของที่ดินว่างเปล่าในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ต้องพยายามทำการเกษตรให้เจ้าหน้าที่เห็น เช่น ถากถางพื้นที่เพื่อทำสวนกล้วย สวนมะนาว ทำให้ “ไม้แดก” ตามธรรมชาติต้องสูญไปมาก แต่ดูเหมือนว่าแค่ไม่นาน ความรกร้างก็เริ่มกลับคืนมาอีกครั้ง และสำหรับไม้แดกล้มลุกโตไว อาจใช้เวลาไม่มากนัก ที่ผู้คนจะเริ่มเข้าไปเก็บกินได้เหมือนเดิม
ลูกเถาคัน ลูกตำลึง ไข่เจียวยอดชะคราม และการเก็บเอาผักริมทางมากินกับน้ำพริก ลูกเถาคัน ลูกตำลึง ไข่เจียวยอดชะคราม และการเก็บเอาผักริมทางมากินกับน้ำพริก
ต้องเล่าด้วยครับว่า นอกจากพื้นที่รกร้าง บางครั้ง สวนสาธารณะหรือกระทั่งหมู่บ้านจัดสรรก็อาจเป็นป่าอาหารเล็ก ๆ ได้ เพราะนักจัดสวนเมืองไทยมักเลือกต้นแคนา (trumpet tree) ปลูกประดับเป็นไม้ยืนต้นในสวนที่พวกเขาออกแบบ แคนาบานดอกสีขาวทรงปากแตร คำเก่า ๆ เช่นในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ จึงมีที่เรียกว่าแคแตรด้วย ดอกแคนาหรือแคแตรลวกจิ้มน้ำพริกเป็นผักรสขมอ่อน ๆ หรือจะเอาไปใส่ผัดพริกแกง แกงอ่อมกะทิ ก็อร่อยดี คงนึกออกนะครับว่า ตามริมถนน หรือลานโล่ง ๆ ในหมู่บ้านจัดสรร จะมีดอกแคนาร่วงขาวโพลนเสมอในยามเช้าของช่วงปลายฤดูร้อน เราแทบไม่เคยเห็นใครกินมัน ดังนั้นถ้าใครกินดอกแคนาเป็น ตอนไปเก็บก็แทบไร้คู่แข่งเอาเลยแหละ
เช่นเดียวกับแคนา การปลูกไม้ประดับยืนต้นเช่นนี้ ทำให้เราสามารถเก็บดอกคูน (ราชพฤกษ์) พวงสีเหลืองสดใสมากินสด ๆ ดอง หรือแกงส้มได้ เก็บดอกและยอดอ่อนต้นแคบ้าน ที่สำนักงานเขตบางแคมักปลูกริมถนนให้เป็นไม้มงคลนามประจำเขต เก็บช่อดอกพวงชมพูมาใส่ไข่เจียว เก็บดอกแคฝรั่งมาแกงส้ม หรือเก็บยอดอ่อนต้นพิกุลมาซอยใส่ข้าวยำสูตรโบราณแบบภาคกลางได้ด้วย
ผักโขมริมทาง ย่านสำนักงานเขตบางแค ธนบุรี และการเอามาทำไส้ขนมของคาว
แม้ว่าแรกทีเดียวเขาจะหมายให้เป็นแค่ไม้ประดับสวย ๆ แต่ความรู้เรื่องไม้แดกก็ทำให้เราสามารถมองพืชเหล่านี้ในทัศนะใหม่ได้ครับ
และเนื่องจากเรื่องนี้ดำเนินไปได้ด้วยจักรยาน จึงย่อมพลอยทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ หรือใครที่เป็นผู้บริหารเมืองใหญ่ ต้องร่วมกันคิดเชื่อมโยงไปถึงหนทางที่จะทำให้พาหนะชนิดนี้มีที่ทางอยู่บนถนน ทั้งเพื่อการเดินทางจริง การพักผ่อน ออกกำลัง และการปั่น เก็บ กินทำนองนี้ด้วย
แกงส้มผักเบี้ยกับกุ้งสด
ความจริงแล้ว คนปั่นจักรยานส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้จ้องจะเก็บกินอย่างผมหรอกครับ อย่างพวกแก๊งค์เสือหมอบยิ่งทำไม่ได้แน่ ถึงจะอยากทำก็เถอะ เพราะคงไม่รู้จะเอาเถาตำลึงหรือยอดกระถินไปยัดไว้ตรงไหนของเฟรมรถ หากสำหรับคนที่ “มักมากในรส” คือชอบกิน ชอบปรุงอาหารเอง ชอบตะลอนไปลองของอร่อยแปลก ๆ จากวัตถุดิบท้องถิ่น แถมพ่วงด้วยความปรารถนาจะลดการบริโภคพืชผักตลาดที่มีสารเคมีพิษตกค้างในปริมาณน่าเป็นห่วง วิถีนี้ก็ดูจะตอบสนองความสนุกสนานเพลิดเพลินส่วนตัวได้ดี แถมพ่วงด้วยการได้ออกกำลังกายตามสมควร ทั้งยังเป็นการท้าทาย ชักชวน ส่งเสริม ตลอดจนเป็นแรงกระตุ้นให้การใช้จักรยานเป็นพาหนะในเมืองใหญ่ถูกพัฒนาปรับปรุง จนอาจใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพในวันหนึ่งข้างหน้า
เอาเฉพาะแค่วันนี้ การได้ปั่น เก็บ กิน บนผืนดินที่กำลังเปลี่ยนไป จนเก็บเกี่ยวผักหญ้ามาปรุงเป็นแกงเขียวหวานมะเดื่ออุทุมพร ต้มบะช่อใบจิงจ้อ แกงส้มลูกเถาคันแบบปักษ์ใต้ แกงเลียงผักรวมใส่ใบตำลึง กะทกรก หญ้ายาง ผักปราบ ไข่เจียวดอกพวงชมพู ใบโสมไทยตุ๋นน้ำมันมะกอก ผักโขมผัดไฟแดง น้ำพริกถั่วเน่าแกล้มลูกมะเดื่อปล้อง คั่วดอกแคนาแบบเมือง แกงส้มยอดกระถินชุบไข่ทอด หลนหมูแกล้มยอดขลู่ แกงส้มดอกคูน ดอกแคฝรั่งผัดไข่ ฯลฯ ก็นับเป็นความท้าทายที่อร่อยแปลกไปจากกับข้าวพื้น ๆ ที่หากินได้ทั่วไป
มันเป็นปฏิบัติการเชิงปัจเจกภาพที่ทำคนเดียวก็ได้ นัดกันทำเป็นหมู่คณะเล็ก ๆ ในวันหยุดวันว่างก็ดี ตอนแรก ๆ ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้ ยกระดับความเข้าใจ ตลอดจนความเคยชินในการกิน ทำให้เราเริ่มกินอาหารหลากหลาย รับรู้รสอร่อยทางเลือกอื่น ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งย่อมนำพาสู่สุขภาวะที่ดีโดยรวม
ต่อไป ถ้ามีคนร่วมทำมากขึ้น มันก็อาจส่งผลต่อนโยบายสาธารณะ การออกแบบพื้นที่เมือง วิธีคิดเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมวัฒนธรรมของคนเมือง อีกหลายสิ่งหลายอย่าง