“ภูเขาคือสิ่งที่พระเจ้าสร้างให้ มนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นได้”
“วันนี้ถ้าคุณจะทําลายคุณก็ลองสร้างขึ้นมาใหม่ดูก่อน”
“โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่คุณทําลายไปแล้ว”
“ คุณลองสร้างกลับมาใหม่ แล้วดูว่าจะสามารถทำให้ภูเขากลับมาเหมือนเดิมได้หรือเปล่า”
อับดุลเลาะห์ ปะดุกา : กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง
การเปรียบเปรยและคำถามย้อนกลับถึงภาครัฐ ที่เรียบง่ายของอับดุลเลาะห์ ปะดุกา ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์เขาโต๊ะกรัง จังหวัดสตูล ทำให้เห็นภาพสะท้อนของปัญหาเหมืองแร่ในประเทศไทย
ภายใต้สถานการณ์ที่ โลก กำลังเผชิญภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างรุนแรง แนวทางการแก้ไขที่ทั่วโลกสนใจพุ่งเป้าไปที่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) เพื่อลดอัตราการทำให้อุณภูมิโลกเพิ่มมากขึ้นจนเกินขีดที่มวลมนุษย์จะย้อนกลับ สวนกระแสการได้มาของทรัพยากรแร่ใต้ดินที่รัฐบาลไทยยังคงเล็งเห็นประโยชน์ในการสร้างเศรษฐกิจ
การได้มาต้องทำลายทรัพยากรภูเขาป่าไม้หลายพันไร่ที่ยากลำบากในการสร้างขึ้นมาทดแทน และภายในพื้นที่นับพันไร่นั้นไม่ใช่เพียงแค่ป่าไม้และแร่ แต่ยังรวมถึงระบบนิเวศ และชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกับธรรมชาติอย่างยาวนาน
เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่และที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มากกว่า 13 เครือข่าย ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดถึงการยื่นฟ้องยกเลิกนโยบายแร่เพื่อแก้ปัญหาโลกเดือด เพื่อให้เพิกถอนแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570)
ถึงคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้ที่เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่
และฟ้องถึงคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติหรือ ครน.ที่จัดทําแผนแม่บทเสนอต่อ ครม.
ยื่นฟ้อง 5 ประเด็นคือ
1.การมีส่วนร่วมของประชาชนในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 นั้นไม่รอบด้าน
2.การจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 มีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน
3.การจัดทำเขตแหล่งแร่ไม่เป็นไปตาม ม.17 วรรคสี่
4.ไม่ได้ทำ SEA (Strategic Environmental Assessment) หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ให้ครบถ้วน
5.ขัดต่อหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อกฎหมายเป็นเพียงตัวหนังสือ
แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ คือ แนวทางในการบริหารจัดการแร่ให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน อันเป็นเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ 2560 โดยยึดหลักสำคัญตามหลักการของแนวนโยบาย และทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 – 2565 และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2579)
เป้าหมายของแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ก็เพื่อกําหนดแนวทางการบริหารจัดการแร่ของประเทศให้เป็นไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในระยะ 20 ปี สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
โดยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ มีผลบังคับใช้ในกรอบระยะเวลา 5 ปี ในการบริหารจัดการแร่ของประเทศในช่วงเวลานั้น โดยฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 2 ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2566 – 2570
ส่วนประกอบสำคัญในแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ คือ บัญชีทรัพยากรแร่ และแผนที่เขตแหล่งแร่อนุญาตในการสัมปทานเหมืองของประเทศไทย รวมไปถึงยุทธศาสตร์ในแนวทางการพัฒนา และสถานการณ์ผลกระทบจากการทำเหมือง
ซึ่งจะถูกจัดทำโดยหน่วยงานกรมทรัพยากรธรณี, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, กรมควบคุมมลพิษ
โดยทุกหน่วยงานจะต้องศึกษา สำรวจพื้นที่จริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน และจะต้องมีส่วนร่วมจากประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แผนแม่บทบริหารจัดการแร่เป็นกรอบกฎหมายและนโยบายที่เป็นความหวังของภาคประชาชน ผู้ต่อสู้กับเหมืองมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปีภายใต้สถานการณ์ที่ต้นทุนความเสียหายของชุมชนผู้ต้องเผชิญกับเหมืองถูกมองข้ามจากทางภาครัฐ อย่างชุมชนกะเหรี่ยงคลิตี้ ที่ต้องสูญเสียแหล่งน้ำและ ชีวิต ของผู้คนในชุมชนจากการปนเปื้อนตะกั่ว ที่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ดังเดิม
“เรามีความหวังนะครับ ตอนที่กฎหมายประกาศว่าต้องมีแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ เราคิดว่ามันจะมีการทบทวนแหล่งแร่ทั้งประเทศ ทบทวนการมีส่วนร่วมของคนในจังหวัดนั้นได้มีส่วนร่วมด้วย”
“แต่พอมาดูในเนื้อในของกฎหมาย มีแค่มาตราเดียวที่คุ้มครองชุมชน คือมาตรา 17 “
สมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
มาตรา 17 ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการแร่ ที่กําหนดให้กระบวนการ จัดทําแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนทราบเป็นระยะ
วรรค 4 พระราชบัญญัติแร่ที่กำหนดห้ามนำพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุเขตพื้นที่ที่มีกฎหมาย ห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่เหล่านี้ถูกคุ้มครองจริงหรือไม่ ?
“การให้สัมปทานครั้งที่สอง เกิดขึ้นเพียงเพราะเคยเป็นพื้นที่เหมืองมาก่อน และอนุญาตอีกครั้งไม่มีการสำรวจพื้นที่อีกครั้ง”
จวน สุจา เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา
ในช่วงปี พ.ศ. 2530 เหมืองแร่ฟลูออไรต์ แม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีปัญหาพื้นที่ที่ถูกสัมปทานนั้นมีแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นแหล่งต้นน้ำอย่างแม่น้ำลา ซึ่งจะไหลไปรวมกับแม่น้ำยวม และผ่านอำเภอสบเมย เกิดตะกอนขุ่นแดงไม่สามารถอุปโภคบริโภคได้ ลำน้ำแห้ง สูญเสียสัตว์น้ำ และตะกอนทรายทับถมแหล่งเพาะปลูกชุมชน ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำที่เป็นชีวิตของประชาชนสามอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
และในปี พ.ศ. 2532 เหมืองได้ปิดตัวลงจากนโยบายปิดป่าของรัฐบาล
และต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ได้เกิดการยื่นขอสัมปทานอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ผลกระทบจากเหมืองแร่ฟลูออไรต์ต่อชุมชน เคยถูกร้องเรียนมาแล้ว
กลับกลายเป็นว่า เสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกลับไม่ถูกรับฟังอย่างที่ควรจะเป็น
กระบวนการอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่ในประเทศไทยสะท้อนถึงความลักลั่นและความไม่ชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมปทานที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองตาม มาตรา 17 วรรค 4 ของกฎหมาย ที่ระบุว่าพื้นที่แหล่งน้ำซับซึมหรือมีความสำคัญทางนิเวศวิทยาห้ามสัมปทานแร่ อย่างไรก็ตาม หลายกรณีชี้ให้เห็นว่ากระบวนการอนุมัติสัมปทานแร่ในพื้นที่เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะขัดแย้งกับกฎหมายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
และพื้นที่แม่ลาน้อยและแม่น้ำลาหลวง ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่เดียวที่เกิดความทับซ้อนของพื้นที่ แม้จะมีการประกาศใช้แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ และกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ถึงความสำคัญของแหล่งต้นน้ำ
แต่สุดท้าย ภาครัฐและกลุ่มทุนจะยังคงหาช่องว่างทางกฎหมาย ในการดำเนินการเหมืองแร่ต่อไป
“ภาคอีสานเผชิญปัญหาการทำเหมืองบนแหล่งน้ำซับซึม แหล่งต้นน้ำ น้ำบาดาล และแหล่งโบราณสถาน”
“รัฐบอกว่าภาคอีสานไม่มีต้นน้ำเพราะอีสานไม่มีป่าดิบชื้น แต่ความจริงแล้ว ภาคอีสานมีสิ่งที่เรียกว่าตาน้ำผุดที่จะไหลรวมกันไปเป็นแม่น้ำและเป็นน้ำใต้ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์”
“และนี่คือสิ่งที่แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ไม่ได้คำถึงเรื่องนี้”
สมัย พันธโคตร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย
ตาน้ำผุด คือ แหล่งน้ำธรรมชาติที่เกิดจากการไหลออกมาของน้ำใต้ดิน ผ่านรอยแยกหรือช่องว่างในดินและหิน ทำให้น้ำใต้ดินถูกกักเก็บอยู่และเมื่อถึงจุดที่มีแรงดันหรือมีช่องทางออก น้ำจะไหลออกมาเป็นน้ำผุดที่ไหลรวมกันกลายเป็นลำธาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตของชุมชนภาคอีสาน ปัจจุบันการทำเหมืองในภาคอีสานมีการรุกรานทับที่ตาน้ำผุด อย่างเหมืองแร่ทองคำเลยในอดีต และแร่โปแตสด่านขุนทดที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำใต้ดินในชุมชน รวมถึงเหมืองหินสีชมพู จ.ขอนแก่น ที่ทับซ้อนกับพื้นที่โบราณสถาน
ที่ทำให้เห็นว่าการเข้ามาของเหมือง คือการเข้ามาทับวิถีชีวิตของชุมชนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
“ในพื้นที่ของสตูลประมาณ 80% เป็นชุมชนมุสลิม พื้นที่การทำเหมืองมีโรงเรียนสอนศาสนาห่างจากภูเขา แค่เพียง 200 เมตร”
“บริเวณเหมืองหินสตูลที่ได้รับสัมปทาน เป็นป่าชุมชน ชาวบ้านมีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้แต่มาถูกยกเลิกป่าชุมชนด้วยกับการที่จะมาระเบิดภูเขา”
“เค้าก็ไม่สนใจกระบวนการเหล่านี้เลย เพียงสนใจอย่างเดียวว่าทําอย่างไรที่จะระเบิดมันให้ได้”
อับดุลเลาะห์ ปะดุกา กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง
เขาโต๊ะกรัง จังหวัดสตูล เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับการสัมปทานเหมืองแร่หิน แม้ความเป็นจริงเขาโต๊ะกรังมีความอุดมสมบูรณ์และติดกับพื้นที่อุทยานธรณีโลกที่มีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันทำให้ชุมชนจดทะเบียนเป็นป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ แต่กลับถูกกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่ที่สามารถสัมปทานแร่ได้ และกระบวนการ EIA ไม่ได้มีส่วนร่วมกับประชาชนอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดจากการที่เหมืองนั้นอยู่ใกล้ชุมชนที่หมายถึงผู้คนที่ต้องมลพิษและอันตรายจากการระเบิดภูเขา
“พื้นที่ที่ถูกสัมปทานเป็นพื้นที่ทํากินของชุมชนเป็นพื้นที่ที่ชุมชนอาศัยอยู่ มีวิถีชีวิตมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์”
“พื้นที่อมก๋อยเป็นพื้นที่แหล่งน้ำซับซึม ซึ่งอยู่ในกฎหมายเขตพื้นที่ห้ามทำการสัมปทานเหมืองแร่”
พรชิตา ฟ้าประทานไพร กลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย
พื้นที่อมก๋อยเป็นแหล่งน้ำซับซึมที่มีกฎหมายคุ้มครองห้ามทำสัมปทานเหมืองแร่ แต่การสัมปทานเหมืองถ่านหินยังคงเกิดขึ้น ส่งผลให้วิถีชีวิตของชุมชนปกาเกอะญอ กะเบอะดินเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นจิตวิญญาณของชุมชน รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้เพาะปลูกมะเขือเทศ ฟักทอง และพืชผลอื่น ๆ การบุกรุกพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้ ทำให้ชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
เรื่องเล่า จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ทำให้ปรากฏความจริง ว่ากรอบปฏิบัติของแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ เป็นเพียงแค่ตัวอักษร
สิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิมนุษยชน
หนึ่งในผิดพลาดของแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ที่เด่นชัด คือ การขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งแร่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนนั้นไม่ครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนไม่สามารถทำได้อย่างถูกต้อง การขาดการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียดและมีความรอบคอบยังเป็นอีกหนึ่งปัญหา
ซึ่งแผนแม่บทอาจอนุญาตให้มีการสัมปทานในพื้นที่ที่สำคัญต่อระบบนิเวศ โดยไม่ผ่านการสำรวจใหม่และสำรวจพื้นที่จริงที่ไม่ใช่เพียงแค่การสำรวจแร่จากภาพถ่ายทางอากาศ
“พื้นที่ที่มีปัญหาสําหรับหน่วยงานรัฐ คือพื้นที่ที่รัฐไม่สามารถให้คํานิยามได้ตามมาตรา 17 วรรค 4 ”
“ใครก็ไม่สามารถให้คํานิยามได้ เพราะทุกพื้นที่ทั่วประเทศมีระบบนิเวศแตกต่างกันชุมชนนิยามคําว่าพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมแตกต่างกัน”
“แต่หน่วยงานรัฐไม่เคยลงมาสํารวจพื้นที่ใหม่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ฉบับ 2560”
สุทธิเกียรติ คชโส enlaw
อีกทั้งการดำเนินการจริงของการสัมปทานเหมืองแร่สะท้อนให้เห็นถึงความย้อนแย้งของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทย โดยในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายลดการใช้พลังงานฟอสซิลและเพิ่มพื้นที่ป่า แต่กลับมีการอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่ที่ควรได้รับการปกป้อง ซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ซึ่งเป็น การละเมิดสิทธิของชุมชน ในด้านการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนอาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง การขาดมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานของเหมืองสามารถทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
“สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ในปัจจุบันได้ถูกรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติว่าที่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิมนุษยชน”
“ตอนนี้คุณกําลังที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน คุณไม่ปฏิบัติตามหลักการป้องกัน
เพราะการตัดพื้นที่เหล่านี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมายออกไปคือหลักป้องกันไว้ก่อนถ้าคุณไม่ตัดแล้วคุณไปให้สัมปทานแล้วเกิดผลกระทบทีหลังถามว่าจะแก้ไขเยียวยาได้ในภายหลังได้อย่างไร”
“สิ่งที่เกิดมีแต่ผลกระทบที่จะเป็นการซ้ำเติมประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
สุทธิเกียรติ คชโส enlaw
สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไปคือ ผลกระทบระยะยาว ที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าอนุมัติสัมปทานต่อไป ปัจจุบันประเทศไทยมีเหมืองแร่ทั้งหมด 4,388 แห่ง ซึ่งการทำเหมืองเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชนที่ไม่สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้ หลายชุมชนที่เคยพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ แหล่งป่าไม้ และพื้นที่เกษตรกรรม ต้องประสบกับความยากจนลง และคุณภาพชีวิตที่แย่ลง
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ชุมชนกะเหรี่ยงคลิตี้ ซึ่งสูญเสียแหล่งน้ำและมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของตะกั่วในแหล่งน้ำที่ยังไม่สามารถฟื้นฟูได้จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ชุมชนดงมะไฟ และ วังสะพุง ยังต้องเผชิญกับการข่มขู่และการละเมิดสิทธิของกลุ่มนักปกป้องทรัพยากรที่ถูกกลุ่มทุนผู้มีอำนาจคุกคามทั้งทางกาย ใจ และชีวิต
สิ่งเหล่านี้คือ ชีวิตของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่อาจหวนกลับ
คือต้นทุนของค่าภาคหลวง ที่รัฐไม่เคยนำไปคำนวณ