ความรักไม่ต้องมากมายแค่รักษามันไว้ให้ยาวนาน : ชวนอ่านวิทยานิพนธ์ว่าด้วยความรักในโลกเหลื่อมล้ำ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกท่านหนึ่ง – คุณพาฝัน รชตสกุล ประเด็นที่เธอสนใจคือเรื่อง “ค่าครองรัก” การศึกษาในระดับปริญญาเอกที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผมเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนั้น ค่อนข้างเปิดกว้างในการเลือกหัวข้อ นักศึกษามีพื้นหลังที่หลากหลาย ทั้งแพทย์ วิศวกร นักประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ สำหรับคุณพาฝันพื้นหลังการทำงานของเธอ คือทำงานด้านการตลาดและโฆษณา ที่จริงแล้วเธอมีประสบการณ์ด้านงานวิจัยการตลาดอยู่มากทีเดียว ซึ่งแน่นอนในวงการธุรกิจการนิยาม “ค่าครองรัก” หรือ “ค่าของความรัก” ก็เป็นเรื่องที่ทำการเป็นปกติในการแปรเปลี่ยนสิ่งที่วัดไม่ได้ให้กลายเป็นสิ่งที่วัดได้ ราคาของของขวัญ ราคาของทริปท่องเที่ยว ราคาของแหวนแต่งงาน บ้าน รถ ราคาของความสัมพันธ์ ก็เป็นสิ่งที่แวดวงการตลาดและการโฆษณาทำกันอยู่เป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อผู้วิจัยเลือกมาศึกษาในระดับปริญญาเอก และการศึกษาในแง่มุมเชิงลึกที่มากขึ้นในทางทฤษฎีที่มากกว่าการวิจัยการตลาดก็มีความจำเป็นจนกระทั่ง งานชิ้นนี้ออกมาเป็นวิทยานิพนธ์ที่สมบูรณ์ภายใต้ชื่อ “รัฐสวัสดิการกับค่าครองรักกรณีศึกษาประเทศฟินแลนด์และประเทศไทย” ที่ผู้เขียนใช้เวลาศึกษาถึงกว่าหกปีเต็ม ผมเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจที่น่านำมาขยายความต่อให้ผู้สนใจ

ความรักไม่ต้องมากมายแค่รักษามันไว้ให้ยาวนาน เป็นประเด็นที่ถูกตั้งในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ แต่คำถามง่าย ๆ คือ แต่ละคนสามารถรักษาความรักได้เท่า ๆ กันหรือไม่ หรือในอีกทางหนึ่งผู้คนที่มีประสบการณ์ที่หลากหลายแตกต่างกัน พื้นหลังทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันจะนิยามความรักเหมือนกันหรือไม่ เป็นคำถามที่มนุษย์ถามกันมาหลายศตวรรษ ทั้งในประวัติศาสตร์ บทกวี บทเพลงที่เราต่างเพียรถามกันว่า “รักคืออะไร” ในงานวิจัยนี้ได้ฉายภาพให้เห็นว่า สำหรับอารยธรรมของมนุษย์ นิยามความรักแบบทางการในแต่ละยุคสมัยก็มีความแตกต่างกัน

หากในยุคกรีกโรมัน ความรักเองก็ถูกนิยามในฐานะภาพแบบนามธรรมที่ตายตัว และแยกความรักกับความสัมพันธ์ทางเพศออกจากกันแบบชัดเจน ความรักแบบเพลโต-Platonic Love ความรักที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ความรักที่เหนือความสัมพันธ์ ความใคร่ ความสุข หรือความรักแบบอริสโตเติลที่พูดถึงความรักในฐานะคุณค่าของการตัดสินใจ การตัดสินใจในความสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง ล่วงมาถึงยุคกลางความรักถูกจำกัดเป็นเรื่องของศาสนา ปิดซ่อน ควบคุม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนารูปแบบความรักที่ตายตัวในลักษณะครอบครัว ชาย-หญิงให้มีความชัดเจนมากขึ้น กระทั่งยุครู้แจ้ง ความรักถูกนิยามผ่านสายตายของปัจเจกชนมากขึ้น ดังนิยามของ Hegel ที่ว่า “เมื่อแรกที่ข้าพเจ้ามีความรัก ข้าพเจ้าเห็นตัวเองในแววตาของอีกฝ่าย และเห็นอีกฝ่ายในแววตาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เหลือความเป็นตัวเองอีกต่อไป”

อย่างไรก็ตามจุดสำคัญของงานเขียนชิ้นนี้คือการเติบโตของทุนนิยมอุตสาหกรรม การแบ่งงานกันทำ และการสะสมทุนภายใต้ระบบทุนนิยมได้ผันแปรให้ ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ถูกควบรวมไปเพื่อการได้กำไรสูงสุด รวมถึงเวลาของผู้คนในสังคม เวลากลายเป็นหน่วยนับที่มีความสำคัญที่ใช้กำหนดคุณค่าของสรรพสิ่งต่าง ๆ ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ และความรักในสังคมสมัยใหม่ผ่านกลไกหลายประการ โดยสามารถวิเคราะห์ได้ ดังนี้

ประการแรก โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มข้น ซึ่งลดทอนเวลา และพลังงานที่บุคคลสามารถทุ่มเทให้กับการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัว

ประการที่สอง ค่านิยมทางวัตถุที่แพร่หลายในสังคมบริโภคนิยมส่งเสริมการให้ความสำคัญกับทรัพย์สิน และสถานะทางสังคมมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ ส่งผลให้ความสัมพันธ์มีแนวโน้มที่จะตื้นเขินและขาดมิติทางอารมณ์

ประการที่สาม บรรยากาศการแข่งขันที่รุนแรงในระบบทุนนิยมกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเห็นแก่ตัวและการมุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนบุคคล ซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของความรักและความเอื้ออาทร นอกจากนี้ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายแรงงานยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างครอบครัวและความสัมพันธ์ระยะยาว โดยสร้างความเครียดและความห่างเหินในความสัมพันธ์

แต่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 การต่อสู้ของขบวนการแรงงานนำสู่การสร้างรัฐสวัสดิการและส่งผลต่อการจัดวางความสัมพันธ์ของผู้คนที่ต่างไป แน่นอนว่า “ความรัก” ยังคงมีนิยามที่ลื่นไหล ตามแต่การนิยาม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เมื่อสังคมมีความเสมอภาคมากขึ้นก็เปิดโอกาสให้ผู้คน “รักกันง่ายขึ้น” หรือมีทางเลือกต่อความรักได้มากขึ้น นักวิจัยได้ฉายภาพประเด็นนี้ในการวางภาพเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับฟินแลนด์ 

แน่นอนที่สุดเราทราบกันว่าทั้งสองประเทศนี้มีลักษณะสวัสดิการที่ต่างกัน แต่ทั้งสองประเทศมีจุดเปลี่ยนในจุดร่วมช่วงเวลาเดียวกัน ในช่วงทศวรรษ 1980 ฟินแลนด์นับเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่รัฐสวัสดิการช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และเลือกเป็นเส้นทางการพัฒนาประเทศ ขณะที่ประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันเลือกแนวทางเสรีนิยมใหม่เต็มขั้น และนำสู่การจัดวางระบบสวัสดิการแบบรับผิดชอบตัวเอง

ในจุดนี้เราจะเห็นได้ว่าในปลายทางที่ว่า รัฐสวัสดิการแม้จะไม่ใช่ยาวิเศษ แต่ก็มีผลสำคัญในการที่ทำให้คนเก็บรักษา และมีทางเลือกต่อความรักไว้ได้ การเก็บความรักอาจไม่ใช่ความหมายของการอยู่ด้วยกันตลอดไป แต่หมายรวมถึงทางเลือกอื่น ๆ ในการสิ้นสุดความสัมพันธ์ อย่างการหย่าร้าง เพื่อให้สามารถเก็บความทรงจำความรักที่เคยมีมาในอดีตได้

ขณะเดียวกันในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ความรักถูกดึงให้มาทำหน้าที่อื่น เป็นเสื้อชูชีพในวันที่เราต้องเกาะกัน เป็นความอบอุ่นในโลกที่ไร้ความอบอุ่น เป็นอะไรหลายอย่าง อาจจะต่างไป แต่แน่นอนที่สุด แม้เราจะไม่สามารถบอกนิยามความรักได้ แต่เราพอพูดได้ว่า สิ่งที่เกิดในสังคมที่เหลื่อมล้ำมหาศาล มันได้พรากมนุษย์ออกจาก “ความรัก” และ “ความสัมพันธ์ที่พึงเป็นแน่นอน”

ความรักไม่ต้องยาวนานแค่ขอให้รักษามันไว้ให้ยาวนาน แต่เราจะรักษาความรักให้ยาวนานได้อย่างไร ในโลกที่เราทางเลือกและทรัพยากรจำกัดเช่นนี้

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม :รัฐสวัสดิการกับค่าครองรัก: กรณีศึกษาประเทศฟินแลนด์และประเทศไทย