เดซิเบลของการแจ้งเตือน วิกฤติหลังไซเรนเที่ยงคืน เสียงเตือนว่าเรา ‘ไม่วางแผนรับมือ’ แบบวันนี้ไม่ได้แล้ว - Decode
Reading Time: 4 minutes

“เสียงเดียวที่แม่ได้ยินตอนน้ำมา คือเสียงเพื่อนบ้านตะโกนเรียกให้แม่ออกมาจากบ้าน ตอนแรกแม่ก็ไม่เชื่อ ยังตอบกลับเขาไปเลยว่าน้ำจะมาได้ยังไง”

แม่สมัย ตะไนย เล่าถึงช่วงเวลาที่ต้องละทิ้งบ้านตัวเอง เพราะเสียงย้ำเตือนของเพื่อนบ้าน ที่ร้องบอกว่าระดับน้ำขึ้นสูงแล้ว จึงรีบขับรถกระบะไปยังเนินเขาด้านหลังบ้าน ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะหยิบสิ่งของอื่นไปด้วย ของในบ้านทุกอย่างยังถูกจัดวางไว้เหมือนเดิม เพราะเวลาที่บีบคั้น ประเมินไว้ว่าปริมาณน้ำน่าจะไม่สูงมากนัก

แม่สมัยคือหนึ่งในผู้เผชิญกับเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากมายังเส้นทางของแม่น้ำกก ณ หมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย ถือเป็นจุดแรกของจังหวัดเชียงรายที่รับมวลน้ำจากตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เส้นทางของแม่น้ำกก มีเส้นทางผ่านเข้าไปยังตำบลแม่ยาว ตำบลริมกก และตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เขตอำเภอเมืองเชียงราย

เส้นทางน้ำกก มีจุดตั้งต้นในเทือกเขารัฐฉาน ประเทศเมียนมา ก่อนจะเข้าเขตแดนประเทศไทย ณ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จ. เชียงใหม่ เข้าสู่เขตเมืองเชียงรายที่อำเภอห้วยชมภู เดินทางผ่าใจกลางเมือง ก่อนจะรวมเป็นส่วนหนึ่งกับแม่น้ำโขงที่อำเภอสมกก เขตชายแดนไทยลาว จ.เชียงราย

แม่สมัยให้ข้อมูลปริมาณน้ำ ที่ขึ้นสูงเทียบเคียงตลิ่งมาตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ผู้คนในหมู่บ้านคุ้นชิน เพราะในอดีตที่ผ่านมา หมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรเคยประสบกับน้ำท่วมเพียงหนึ่งครั้งในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นระดับน้ำล้นตลิ่ง ไม่ไหลข้ามผ่านถนนที่วิ่งผ่านกลางของหมู่บ้าน บ้านของแม่สมัยที่ไม่ได้อยู่ริมกกนั้น จึงยังอุ่นใจว่าสถานการณ์จะปลอดภัย

จนกระทั่งวันที่ 10 กันยายนในช่วงเย็น (วันที่ 1 ของภัยพิบัติ) ที่ระดับล้นตลิ่งและไหลผ่านข้ามฝั่งถนนอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านไม่ได้ละทิ้งบ้านทันที เพราะยังพยายามเก็บทรัพย์สินเท่าที่พอที่จะเป็นไปได้ กระทั่งกระแสน้ำแรงและขึ้นสูงสุดในช่วงเวลาตีหนึ่งของวันที่ 11 กันยายน จึงจำเป็นต้องอพยพไปยังโรงเรียนและโบสถ์ ไม่ใช่เพราะเป็นสถานที่อพยพ แต่เป็นเพียงที่เดียวที่ชาวบ้านนึกถึงด้วยที่ตั้งที่อยู่บนเขาสูง

ถ้าบอกว่าบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว รายล้อมไปด้วยน้ำตก นักท่องเที่ยวสามารถเช่ารถเอทีวีขับชมธรรมชาติ พายเรือล่องน้ำกก มีปางช้างที่ถูกเลี้ยงดูท่ามกลางป่าใหญ่ แต่น้ำท่วมครั้งนี้พัดพาทุกอย่างให้ไม่เหลือภาพเดิมที่เคยเป็นมา

“เขาบอกว่าบ้านแม่เหมือนท้องมังกร ด้านหน้าเป็นน้ำ ด้านหลังเป็นเขา นึกถึงคำนี้ ก็ยังอดหัวเราะไม่ได้ตอนที่น้ำท่วม”

จากหมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หมู่บ้านจัดสรรธนารักษ์กำลังเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ โดยอาศัยผู้นำหมู่บ้านและลูกบ้านผลัดเวรยามเฝ้าระวัง บ้านของโกเมน และพัชราภา อินทรกำแหง ตั้งอยู่ด้านในสุดของหมู่บ้าน บ้านริมน้ำกกที่เคยเป็นวิวสวยงาม กลายเป็นด่านแรกเมื่อน้ำเอ่อล้นเข้ามายังหมู่บ้าน จากชีวิตยามค่ำคืนที่พาลูกเข้านอนปกติ กลับต้องอพยพลูกและคุณแม่สูงวัยออกจากบ้านในยามดึกไปพักยังบ้านของเพื่อนที่ปลอดภัย

“พี่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหยิบอะไรใส่กระเป๋าให้แม่และลูกไปบ้าง เพราะตอนนั้นไฟดับแล้ว โชคดีที่สามี (โกเมน) มีสติ รีบตัดไฟในบ้านทั้งหมดก่อน พี่ไม่ได้ออกไปพร้อมลูก ยังเก็บของต่อ พี่ยกของขึ้นโต๊ะสูง แต่ก็ไม่รู้ว่าปริมาณน้ำจะสูงขนาดไหน ที่ยกเก็บไว้จะโดนน้ำหรือไม่ จนกระทั่งเกือบตีสอง (วันที่ 11 กันยายน) ที่น้ำเริ่มอยู่ที่ระดับสะโพก มีรถหกล้อของมูลนิธิเข้ามาช่วย บอกว่าพี่ต้องออกมาทันที เพราะรถกำลังจะดับ และพี่จะออกไปไม่ได้อีกแล้ว”

ภัชราภาใช้เวลากว่าสองวันกว่าจะสามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายภายในตัวบ้านได้ เนื่องจากวันที่ 11 กันยายนช่วงเที่ยงวัน (วันที่ 2 ของภัยพิบัติ) ได้พยายามกลับเข้าไปในหมู่บ้านด้วยเรือ แต่เดินทางไปได้เพียงทางเข้าของหมู่บ้านเพราะระดับน้ำที่ไหลเชี่ยว และรับรู้ภายหลังว่า ยังมีเพื่อนบ้านกว่า 30 ชีวิต อยู่ในหมู่บ้านโดยไม่มีไฟฟ้า น้ำ และอาหาร ซึ่งกว่าหน่วยกู้ภัยจะสามารถเดินทางเข้าช่วยเหลือ ก็ผ่านเวลาไปสามวันหลังน้ำเข้าท่วมภายในหมู่บ้าน

“วินาทีที่เห็นบ้านครั้งแรก พี่เห็นจากภาพถ่ายเพื่อนบ้านที่ยังติดอยู่ในหมู่บ้านถ่ายส่งมาให้ กับวิดีโอช่วงที่กู้ภัยเข้าไปในหมู่บ้าน พี่รู้ทันทีว่าของที่อยู่ชั้นล่างจมอยู่ใต้น้ำไปหมดแล้ว ได้แต่ลุ้นต่อว่าน้ำจะขึ้นไปชั้นสองไหม กว่าพี่จะกลับเข้าไปบ้านได้ ก็สามวันหลังจากน้ำท่วม ต้องพังประตูเข้าไปในบ้าน เปิดประตูไม่ได้เพราะโคลนข้างในกับข้างนอกบ้านสูงเท่ากันเลย ตู้เย็นที่วางไว้บนโต๊ะ ถูกน้ำพัดไปอัดติดกับกำแพง ผนังพัง น้องลองนึกภาพดูว่ากระแสน้ำต้องแรงมากขนาดไหน”

เตือนภัยของเราไม่เท่ากัน หลังเที่ยงคืน แล้วยังไงต่อ?

บ้านเกาะลอยในอำเภอเวียง ชุมชนที่พักและแหล่งการค้าใจกลางเมืองเชียงราย อยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญอย่างอนุสาวรีย์พญาเม็งราย หอนาฬิกา ถนนคนเดิน สัญญาณแรกที่บอกความผิดปกติของระดับน้ำปีนี้ ไม่ใช่สัญญาณเตือนภัย หรือประกาศรับมือภัยพิบัติ แต่เป็นน้ำที่ผุดขึ้นมาตามรางระบายน้ำรอบหมู่บ้าน ของที่ขนยกสูงเก็บไว้ ก็เพียงพอแค่น้ำในระดับไม่เกิน 30 เซนติเมตรเช่นที่เคยเจอมาก่อนหน้า กระทั่งต้องยอมทิ้งบ้านออกมาในช่วงกลางดึก ข้ามมาวันใหม่ที่ 11 กันยายน จึงได้รับรู้ว่านี่ไม่ใช่น้ำท่วมที่เคยเจอเมื่อหลายปีก่อน 

เมื่อถามถึงการเตือนภัย ชาวบ้านส่วนหนึ่งตอบกลับเราว่าไม่ได้ยินเสียงประกาศอะไรเลย ต้องตามข่าวในเฟซบุ๊ก ไลน์กลุ่มชุมชน คนที่รู้จัก ว่าตอนนี้น้ำมาถึงไหนแล้ว มีที่ไหนที่เปิดให้เข้าไปพักในช่วงที่น้ำท่วมได้ อีกกลุ่มหนึ่งตอบว่าได้ยินแต่ไซเรนของรถกู้ภัย แต่ก็ไม่ได้คำอธิบายว่าต้องทำอย่างไรต่อ? เพราะเสียงไซเรนที่ดังขึ้นในช่วงเที่ยงคืน คือช่วงเวลาหลังจากที่น้ำเริ่มขึ้นสูงแล้ว 

คำตอบของการเตือนภัยล่วงหน้า ปรากฏให้เห็นผ่านข้อมูลที่ไปคนละทิศทางนี้ ฟังดูคล้ายกับว่าประชาชนได้รับข้อมูลการเตือนภัยที่ไม่เท่ากัน แม้แต่ในหมู่บ้านธนารักษ์ที่อยู่ห่างจากสถานีวัดระดับน้ำแม่ฟ้าหลวงเพียง 3 กิโลเมตร ชาวบ้านก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าระดับก่อนที่จะเอ่อล้นนั้น มีปริมาณเท่าใด

สัญญาณเตือนที่เงียบงัน เหลือไว้เพียงสัญชาตญาณเอาตัวรอด

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab ระบุว่ากรมทรัพยากรน้ำได้ทำการติดตั้งสถานีเตือนภัยล่วงหน้าเขตอำเภอเมืองเชียงรายครอบคลุม 84 หมู่บ้าน ใน 13 ตำบล (พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย ประกอบไป 258 หมู่บ้าน 16 ตำบล นั่นหมายถึงยังมี 3 ตำบล 174 หมู่บ้านที่ไม่อยู่ในเขตเตือนภัย) จำนวน 15 แห่งอยู่ในหมู่บ้านตำบลแม่ยาว หนึ่งในนั้นคือสถานีเตือนภัยบ้านผาเสริฐ อยู่ใกล้กับหมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรในรัศมี 2 กิโลเมตร บริเวณสะพานมิตรภาพแม่ยาว – ดอยฮางที่ได้รับความเสียหายจากความเร็วของกระแสน้ำ แต่ไม่พบข้อมูลในเขตพื้นที่ตำบลเวียง และตำบลริมกก ในด้านของสถานีวัดระดับน้ำ ปรากฏข้อมูลของสถานีวัดระดับน้ำสะพานพ่อขุนเม็งรายมหาราช ตำบลแม่ยาว (ปิดใช้งานหลังอุทกภัยเนื่องจากสะพานได้รับความเสียหาย) และสถานีวัดระดับน้ำสะพานแม่ฟ้าหลวง ในตำบลริมกก ซึ่งเป็นสองสถานีวัดน้ำที่อยู่ใกล้อำเภอเมืองมากที่สุด

หากไล่เรียงช่วงเวลาของอุทกภัย มีรายงานในคืนวันที่ 10 กันยายนก่อนเกิดภัยพิบัติ กรมทรัพยากรน้ำขึ้นแจ้งเตือนสีแดงในเขตอำเภอเมืองเชียงราย 2 หมู่บ้าน (การขึ้นเตือนภัยสีแดง หมายถึงต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย) ผ่านระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ Early Warning System ซึ่งจะเตือนภัยน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม โดยทั่วไป การแจ้งเตือนจะมีทั้งหมด 3 ระดับ คือ สีเขียว เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ สีเหลือง เตรียมความพร้อมรับมือ จัดเก็บสิ่งของให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และ สีแดง ที่แจ้งให้ประชาชนอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย

นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ ชาวบ้านส่วนมากที่เราได้มีโอกาสพูดคุยได้รับการช่วยเหลือผ่านอาสาสมัครอพยพไปยังที่พัก ที่ผู้ประกอบการเปิดห้องพักของตนเองให้ผู้ประสบภัยเข้าพักโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลาสองคืน เพราะไม่มีสถานที่หลบภัยที่หน่วยงานรัฐจัดเตรียมไว้ จำนวนหนึ่งต้องหาสถานที่พักในต่างอำเภอด้วยตนเอง ก่อนที่ชาวบ้านจะกลับเข้าไปดูความเสียหายในวันสี่เพราะระดับน้ำที่ลดลง โดยระหว่างนั้น ไม่มีการรายงานข้อมูลระดับน้ำและความเสียหายที่เกิดขึ้น นั่นหมายถึงตลอดระยะเวลาเกือบ 5 วันของการเกิดเหตุ ชาวบ้านเข้าไม่ถึงข้อมูลก่อนเกิดภัย ช่วงเวลาการเกิดภัย รวมไปถึงหลังเกิดภัยว่า ปลอดภัยเพียงพอที่จะกลับเข้าไปยังบ้านของตนเองแล้วหรือไม่ 

การเตือนภัยที่ชาวบ้านต้องตั้งคำถาม ว่าก่อนหน้านี้ทำไมจึงไม่มีการแจ้งเตือน หรือรู้ตัวก่อนหน้าว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงภัย ภาพของแผนที่บอกเราอย่างชัดเจน ว่าสถานีเตือนภัยอยู่ห่างไกลจากเขตเทศบาลเมืองเชียงรายในรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร จึงเป็นเหตุให้การแจ้งเตือนถึงประชาชนยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ 

อีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่ได้รับจากผู้ประสบภัยในเมืองเชียงราย คือเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากที่อำเภอเทิง และ อำเภอแม่สาย ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านับตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม มาจนถึงวันที่ 9 กันยายน การให้ความช่วยเหลือในจังหวัดเชียงรายจึงกระจายตัวเข้าไปยังสองพื้นที่ และเมื่อน้ำไหลเข้ามาในเขตอำเภอเมืองเชียงราย จึงไม่มีกำลังเข้าให้การช่วยเหลือโดยทันที อีกทั้งพื้นที่ประสบภัยที่กระจายวงกว้างไปในหลายอำเภอ ก็เกินการรับมือของระดับจังหวัดไปเสียแล้ว

“พี่ไม่ใช่คนเชียงราย แต่พี่ตัดสินใจซื้อบ้านที่นี่ เพราะพี่มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมเมืองเชียงราย”

ก่อนระดับน้ำจะขึ้นสูงจนกระทั่งต้องอพยพออกจากพื้นที่ สิ่งที่ผู้คนในเขตอำเภอเมืองเชียงรายใช้ประเมินสถานการณ์คือสัญชาตญาณการรับมือในภาวะวิกฤต นับตั้งแต่การประเมินระดับน้ำไปจนกระทั่งถึงช่วงเวลาการอพยพ ประชาชนบางกลุ่มที่ยังเลือกพักอาศัยอยู่ที่บ้านนั้น เป็นเพราะเชื่อว่าระดับน้ำจะไม่สูง ไหลเชี่ยวจนถึงจุดที่ไม่สามารถสัญจรออกไปภายนอก และต้องยอมรับว่า เขาไม่เคยเผชิญเหตุน้ำป่าไหลหลากเฉพาะหน้าเช่นนี้มาก่อน

น้ำลดโคลนผุด ‘ฟื้นฟูไม่ใช่เรื่องง่าย’

แม้ ณ วันนี้พื้นที่เมืองเชียงรายจะเข้าสู่ช่วงเวลาการฟื้นฟูพื้นที่หลังภัยพิบัติ แต่ความเลวร้ายก็ไม่ต่างกับช่วงเวลาน้ำหลาก โคลนจำนวนมหาศาลที่น้ำหลงเหลือไว้ ซุกซ่อนหลายสิ่งมากมายนับตั้งแต่ขยะ สิ่งของที่ขนย้ายขึ้นที่สูงไม่ทัน เป็นลูกโซ่ให้ต้องคิดต่อว่าจะจัดการอย่างไร

ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หนึ่งในผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านธนารักษ์ และนักวิชาการที่เข้ามาวางแผนฟื้นฟูในระดับชุมชน ในระยะแรก นิอรเริ่มต้นรวบรวมข้อมูลจากการบันทึกระดับน้ำ ความเสียหายของลูกบ้านผ่านแบบฟอร์ม จัดระบบการกวาดล้างโคลนในซอยและถนนสายหลัก โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน ลูกบ้านในการช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่

“โคลนที่เราเจอ บางจุดสูงระดับหัวเข่า ถ้าเราล้างโคลนแต่ในบ้านตัวเอง สุดท้ายโคลนที่อยู่ด้านหน้าบ้านก็ยังอยู่ หรือถ้าโคลนที่ถนนหน้าบ้านยังหนามาก เราก็เอาโคลนจากในบ้านออกไม่ได้รวมถึงท่อระบายน้ำ ถ้าเราล้างโคลนในบ้านออกมา สุดท้ายโคลนก็ค้างอยู่ในท่อน้ำ น้ำไม่มีทางระบายออก ปัญหาเรื่องฟื้นฟูจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ”

นิอรตั้งเป้าหมายหลังจบภารกิจการฟื้นฟูนี้ไว้ว่า ชุมชนจะมีแผนที่ความเสี่ยงในระดับชุมชน (Risk Map) จากการบันทึกความเสียหายน้ำท่วมครั้งนี้ จึงร่วมมือกับทางชุมชนทำงานบนพื้นฐานข้อมูล ภาพสะท้อนแรกนับตั้งแต่เผชิญภัย คือการที่ไม่มีใครทราบเลยว่า มีเพื่อนบ้านที่ยังติดอยู่ในหมู่บ้านมากน้อยเพียงใด เธอจึงได้เริ่มกลับมาปรึกษากับผู้นำชุมชน สำรวจข้อมูลลูกบ้านใน 272 หลังคาเรือน เพื่อกระจายความช่วยเหลือ บันทึกข้อมูลความเสียหายในแต่ละจุด

ซึ่งการเริ่มต้นบันทึกข้อมูลนี้ เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามของชุดข้อมูลที่ปรากฏผ่านความเสียหายที่อยู่ตรงหน้า ร่องรอยน้ำ ระยะเวลาการขยายพื้นที่น้ำท่วม การเดินทางของมวลน้ำ ช่วงเวลาที่ชาวบ้านทราบว่าน้ำเริ่มเอ่อล้น ไปจนกระทั่งทราบว่าเกิดอุทกภัย ข้อมูลชุดดังกล่าว จะเป็นแนวทางประเมินสถานการณ์ยามที่เกิดภาวะวิกฤตในอนาคต เพราะการรอคอยแจ้งเตือนให้มาถึงตัว ในช่วงเวลาที่เราไม่สามารถก้าวตามทันความแปรปรวนของโลก เป็นอะไรที่เธอมองว่าไม่ทันการแล้วสำหรับวันนี้

แต่ในช่วงเวลาเฉพาะหน้า นิอรบอกเล่าถึงความสำคัญของศูนย์บัญชาการการฟื้นฟู ซึ่งวันนี้มีชุมชนเป็นหัวใจหลัก เพราะพื้นที่ความเสียหายกระจายตัวในเขตพื้นที่เทศบาลเมือง ไปจนถึงอำเภอข้างเคียง การช่วยเหลือจึงเกินกำลังมือของภาคส่วนที่จะเข้ามารับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว ศูนย์บัญชาการจะเป็นฐานข้อมูลหลัก ประสานความร่วมมือรับมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ ชุมชน เพื่อให้เห็นภาพรวมของความเสียหาย กำลังการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ลำดับการให้ความฟื้นฟู โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำงานแยกส่วนอย่างเช่นที่เป็นอยู่วันนี้ และสุดท้าย ศูนย์บัญชาการจะสามารถมีบทบาทในการเตือนภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติด้วยการประเมินจากชุดข้อมูลที่มีอยู่ เป็นการวางแผนการเตือนภัยก่อนเกิดภัยพิบัติ ช่วงเวลาเผชิญภัย และฟื้นฟูภายหลังเกิดภัยได้เป็นลำดับ

ถอดบทเรียนเชียงราย เสาสัญญาณเตือนภัย ‘หักก่อนน้ำมา

ขอบคุณภาพ สื่อท้องถิ่นเชียงรายสนทนา

ศิรินันต์ สุวรรณโมลี นักวิชาการอิสระด้านการจัดการภัยพิบัติ วิเคราะห์สถานการณ์อุทกภัยเชียงรายในครั้งนี้ ผ่านการลงพื้นที่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ว่านับตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ช่องทางการสื่อสารเดียวคือไลน์กลุ่มเครือข่ายผู้นำชุมชน การตัดสัญญาณไฟ เป็นเหตุให้วิทยุกระจายเสียงในหมู่บ้านใช้การไม่ได้ การแจ้งข่าวจึงไม่ครอบคลุม รวมไปถึงการซ้อมแผนรับมือในช่วงเวลาก่อนหน้า ที่ยังไม่ตอบคำถามว่าถ้าหากเกิดภัยแล้ว ผู้ประสบภัยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ตนเองจะได้รับผลกระทบในด้านใดบ้าง

“การซ้อมแผนการรับมือภัยพิบัติ คือการที่ประชาชนเป็นนักแสดง แต่ปัญหาคือ
แผนการที่ประชาชนเป็นผู้ร่วมเล่น ยังไม่ทำให้เห็นสถานการณ์จริงว่าในช่วงเวลาที่เกิดภัย
เขาจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด”

สิ่งที่เป็นเรื่องเดียวกันกับการซักซ้อม คือการสื่อสารความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ (Risk and Crisis Communication) ศิรินันต์ทำให้เข้าใจโดยง่ายผ่านเสาสำคัญทั้ง 4 คือ มีข้อมูลการเกิดภัยพิบัติ สื่อสารกับประชาชนด้วยภาษาที่ทำให้เกิดความเข้าใจ ประชาชนรับรู้ความเสี่ยง มีแผนเผชิญเหตุรองรับช่วงเวลาเกิดวิกฤติ

แต่เมื่อมาพิจารณาในแต่ละโครงสร้าง เราจะพบปัญหานับตั้งแต่ข้อมูลภัยพิบัติจากการรายงานสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำจากสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) ที่ในหลายครั้งเป็นการส่งต่อข้อมูลภายในหน่วยงานต่อไปที่หน่วยปกครองส่วนท้องถิ่น ยากต่อการตรวจสอบว่าประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูล นำมาสู่คำถามที่สองว่า รูปแบบการสื่อสารที่ส่งต่อข้อมูลภัยพิบัติไปให้ประชาชน ภาษาที่เลือกใช้ การอธิบายถึงรายละเอียดผล
กระทบที่ประชาชนจะต้องเผชิญนั้น ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วน ตรงกับการสื่อสารของภาครัฐหรือไม่ 

จากปัญหาข้อมูลและกำแพงการสื่อสาร ส่งผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงของประชาชน
ในช่วงเวลาเกิดภัยเฉพาะหน้า ชุดข้อมูลที่เข้าถึงได้เร็ว มีความไว้ใจในผู้ให้ข้อมูล จะเป็นตัวแปรสำคัญให้ประชาชนเชื่อมั่นในการเตือนภัย และเข้าใจแผนการรับมือภัยที่ได้มีการเตรียมการไว้ 

ถ้าการเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติเป็นเหมือนกับบทละครหรือ ‘ซีเนริโอ’ ประชาชนที่เป็นผู้เล่น ควรมีโอกาสได้ออกแบบ และเข้าไปมีบทบาทในเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติให้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อเกิดภัยแล้ว จะไม่นำไปสู่การตั้งคำถามของประชาชนว่าควรทำอย่างไรต่อ หรือรู้ภัยที่กำลังมา แต่ไม่มีแผนรองรับในช่วงเวลาการเกิดภัย

“บทละครนี้ ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า ผลกระทบที่แต่ละคนได้รับจะไม่เท่ากัน ต้องให้โอกาสประชาชนได้ลงมือทำแผน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีข้อมูลในพื้นที่ว่า ใครจะได้รับผลกระทบ ใครคือกลุ่มเปราะบางที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกในช่วงที่เกิดภัย”

ประเทศไทยได้รับแนวทางการวางแผนรับมือภัยพิบัติจากประเทศญี่ปุ่น แต่ความเข้มแข็งในช่วงเวลาเกิดภัยพิบัติของประชาชนญี่ปุ่น คือความสามารถในการแปรผลข้อมูลการเตือนภัยพิบัติ วิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นผ่านชุดข้อมูล มีกลุ่มผู้นำชุมชนรับมือภัยพิบัติที่เข้มแข็ง ซ้อมแผนภัยพิบัติ และใช้งานได้จริงในช่วงเวลาของการเกิดภัย แต่สิ่งที่ประเทศไทยยังก้าวไปไม่ถึง คือการมีผู้นำที่จะรับมือภัยพิบัติในทุกชุมชน ต่อยอดให้ประชาชนในพื้นที่สามารถแปรข้อมูล ประเมินการเกิดภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่เสี่ยง แต่ควรทำให้เกิดขึ้นจริงในทุกพื้นที่

ศิรินันต์ยกตัวอย่างโครงการการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน [Community Based Disaster Risk Management (CBDRM)] ที่ไทยมีโครงสร้างการทำงานอยู่แล้ว แต่ไม่ถูกสานต่อให้เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา นี่อาจเป็นโอกาสอันดีให้ภาครัฐได้กลับมาเริ่มต้นทำโครงการในระยะยาว จัดอบรมอย่างต่อเนื่องให้สมาชิกชุมชนได้หมุนเวียนเข้ามาวางแผนการรับมือภัยพิบัติ

การจะทำให้บทละครนี้จบบริบูรณ์ ไทยยังต้องส่งเสริมเครื่องมือทางเทคนิค ข้อเสนอของศิรินันต์ คือการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้าง แฮกกาธอน (Hackathon) และ Social Enterprise สนับสนุนในด้านการรวบรวมข้อมูล แจ้งเตือนภัยพิบัติ ดำเนินแผนการรับมือ ประเมินความเสียหายและเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งทางด้านทรัพย์สินและสภาวะจิตใจ

อีกทั้งวันนี้ เราเห็นแล้วว่าเส้นทางน้ำแต่ละสายมีที่มาจากแหล่งไหน เชื่อมโยงกับสายน้ำอื่นใดบ้าง การบริหารจัดการน้ำ ต้องไม่มองแม่น้ำเป็นสาย แต่ต้องมองให้กว้างไปถึงการบริหารจัดการลุ่มน้ำ เชื่อมโยงข้ามพื้นที่จังหวัด พื้นที่พรมแดนประเทศ เช่นในลุ่มน้ำกก ที่โจทย์ใหญ่สำคัญที่รัฐต้องดำเนินการ คือการประสานความสัมพันธ์ด้านลุ่มน้ำ ให้เกิดการส่งต่อข้อมูลปริมาณน้ำกกจากต้นสายในรัฐฉาน ติดตามข้อมูลร่วมกันในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายที่เป็นพื้นที่รับน้ำ เพื่อให้การประเมินสถานการณ์เกิดขึ้นร่วมกันบนฐานข้อมูล 

ท้ายที่สุดแล้ว ในพื้นที่เผชิญไฟป่า ฝุ่นควัน ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลากอย่างจังหวัดเชียงราย ความซ้ำซ้อนของภัยพิบัตินี้ ต้องไม่ปล่อยให้ประชาชนจัดระดับความเสี่ยงโดยใช้สามัญสำนึก ความรู้สึกของมนุษย์ในการคาดการณ์ผลกระทบ ในเมื่อเรามี ‘ความจริง’ ที่ประเมินได้จากชุดข้อมูล ตัวเลขสถิติ ที่ส่งสัญญาณเตือนเราว่า ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้นจากภัยครั้งนี้ ไม่เหมือนในช่วงเวลาก่อนหน้าอีกต่อไป

ภาพแผนที่หมู่บ้านขนาดใหญ่พร้อมแผนการทำงานที่ถูกขึงไว้ ณ บ้านของนิอร ซึ่งวันนี้เป็นหน่วยบัญชาการจำเป็นของหมู่บ้านในการวางแผนฟื้นฟูบ้านพักอาศัยกว่า 242 ครัวเรือน เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าประชาชนผู้ประสบภัยต้องลุกขึ้นมาเป็น ‘ด่านหน้าของการรับมือ’ นับตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนเกิดภัย สิ่งสำคัญที่อุทกภัยครั้งนี้ฝากไว้กับประชาชน ไม่ใช่เพียงร่องรอยของความเสียหาย แต่เป็นการรับรู้ความเสี่ยงในการเผชิญภัย ที่ต้องพร้อมตั้งรับในทุกช่วงเวลา การตื่นตัวของประชาชนเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเข้าไปให้การสนับสนุน ร่วมมือกับประชาชน นับตั้งแต่ตรวจสอบว่าประชาชนรับรู้ว่าตนมีความเสี่ยงภัย รู้วิธีการรับมือล่วงหน้า การวางแผนกระจายงานจากระดับหน่วยงานไปถึงชุมชน ทำให้งานไม่มีความทับซ้อน หรือเป็น ‘ช่องว่าง’ ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปรับผิดชอบ 

“เราไม่ได้หวังว่าหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือทุกขั้นตอน เพราะวันนี้เราอยู่กับภัยที่ใหญ่เกินกว่าใครจะมารับบทด่านหน้าเพียงฝ่ายเดียว ทุกคนต้องเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือระหว่างรัฐ เอกชนที่มีกำลังทุน ประชาชน ให้เสียงสะท้อนของภัยที่เกิดขึ้น เป็นเสียงเตือนว่าเรา ‘ไม่วางแผนรับมือ’ แบบวันนี้ไม่ได้อีกต่อไป”