อาสาสมัครฟื้นเชียงราย ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม - Decode
Reading Time: 3 minutes

ผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์แล้วหลังแม่สายน้ำลด ความเสียหายและสูญสิ้นจมใต้โคลนคือเบื้องหลังที่ถูกทิ้งไว้ระหว่างทาง ขณะที่เบื้องหน้า คืออาสาสมัครล้างคราบโคลน ที่ปักหลักสู้โคลนร่วมกับชาวบ้านที่ประสบภัย จนถึงวันนี้ก็ยังมี “มีบ้านล้างให้เข้า”

ฟื้นฟูเชียงรายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินคุณต้องกู้ให้เร็ว ต้องเบิ้ลกำลังพลและเครื่องจักรแล้ว เบิ้ลแล้วเบิ้ลอีก และอาจจะต้องเบิ้ลสิบเท่าตัว

ถาม-ตอบ คำถามต่อคำถาม กับพี่หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา ด่านหน้าของการระดมความช่วยเหลือเพื่อกู้คืนเชียงรายประเมินสถานการณ์กับ De/codeว่า ถ้าปล่อยให้การฟื้นฟูล้างบ้านเกิดขึ้นแบบไร้ระบบจัดการเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ กว่าเชียงรายจะฟื้นกลับมาได้อีกครั้งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน หรืออาจเป็น 6 เดือนก็ได้

ทั้งยังชวนสังคมไทยมองไปข้างหน้าถึงโจทย์ฟื้นเชียงรายบนฐานของความเป็นมนุษย์ว่าถ้ารัฐแยกกันทำงานอย่างนี้หรือจะทําไปเรื่อย ๆ มันก็ได้ แต่อย่าลืมว่าประชาชนเขาอยากจะเข้าบ้านแล้ว สามเดือนหกเดือนได้ไหม คำถามสั้น ๆ ของพี่หนูหริ่งคือ แล้วชาวบ้านจะกินนอนที่ไหน

ภาพการหลั่งไหลของอาสาสมัครมุ่งหน้าสู่เชียงรายกำลังบอกอะไร

มันสะท้อนว่า มีปัญหาอยู่ข้างหน้า แล้วปัญหามันมีขนาดใหญ่ คนที่เข้าไปเป็นอาสาสมัครเขามองว่ามันยังมีพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ในการช่วยเหลือ ต้องเข้าใจก่อนว่าเวลามันเกิดปัญหาใด ๆ ในสังคม โดยทั่วไปเราจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐใช่ไหมครับ แต่ว่าโดยสํานึกของความเป็นพลเมืองเราก็จะรู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานั้น

ทีนี้ถ้าปัญหานั้นมันไม่ใหญ่หรือช่องว่างมันมีเหลือไม่มาก อาสาสมัครเข้าไปไม่มีอะไรทําก็กลับมาถูกไหม แต่ว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับเชียงราย แต่ว่าอาสาสมัครเข้าไปปุ๊บถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม แสดงว่าปัญหามันไซส์ใหญ่มาก แล้วขีดความสามารถในการที่หน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐหรือพวกมูลนิธิฯเราเข้าไปก็ยังไม่เพียงพอ มันสะท้อนความขาดแคลนทั้งในเชิงปริมาณแล้วก็เชิงคุณภาพ

การฟื้นฟูเชียงรายควรต้องทุ่มสรรพกําลังเต็มพิกัด มันเหมือนการทําสงคราม สำหรับรัฐบาลไทยผมยังคิดว่า การตอบสนองต่อเรื่องนี้ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่คิดว่าจะต้องชนะโดยเร็ววัน รัฐบาลอาจจะมองเพียงว่าเมื่อน้ำลดแล้วคือจากการกลับเข้าสู่ความเป็นปกติ

ผมพูดเรื่องนี้หลายปีแล้วว่าเวลานายกรัฐมนตรีบอกว่า น้ำลดแล้วจากการกลับสู่ปกติแล้ว มันเป็นความหมายในช่วงเผชิญเหตุ แต่การจัดการภัยพิบัติมีช่วงของการฟื้นฟู ซึ่งไม่ได้เล็กหรือด้อยกว่าปัญหาในช่วงเผชิญเหตุเลยครับ แถมยังใช้เวลานานใช้ทรัพยากรมากกว่าครับ แต่ว่าเราไม่ค่อยเห็นปฏิบัติการที่มันสอดคล้องกับขนาดของปัญหา

รัฐล้มเหลว หรือ ประเมินสถานการณ์ต่ำไป

มันสะท้อนว่าปัญหามีขนาดใหญ่เกินกว่าขีดความสามารถของรัฐ มันขึ้นอยู่กับคุณว่าจะมองอย่างไร รัฐมีขีดความสามารถต่ำกว่าภัยที่เกิดขึ้น หรือคิดว่าภัยที่เกิดขึ้นมันเป็นขนาดที่ไม่ได้ประเมินไว้ก่อน

แต่กรณีเชียงราย ผมว่ายังเกินความสามารถของรัฐนะ

เรื่องเครื่องจักรและกําลังพลตอนนี้อาจจะเกินขีดความความสามารถของรัฐ แต่ว่ารัฐยังมีอีกเครื่องมือคืองบประมาณ จริง ๆ สามารถจัดการในเชิงงบประมาณได้ ตั้งงบจากนั้นคุณจ้างเอกชนได้ เพียงแต่ว่ารัฐจะต้องมองเห็นก่อนว่าปัญหาคืออะไร และต้องใช้วิธีการใดในการจัดการ แล้วเปิดทางให้สามารถใช้งบกลางออกมาแก้ปัญหาได้

ถ้าเราจะคาดหวังนายอําเภอหรือท้องถิ่น คำถามคือนายอำเภอจะไปหาเงินมาจากไหน สมมุติต้องใช้เงินสองร้อยล้าน ห้าร้อยล้าน นายอําเภอที่ไหนจะมีเงินก้อนนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเป็นคนที่มองเห็นเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ผมเห็นการสั่งการจากรัฐบาลนะครับว่าให้หน่วยงานที่มีเครื่องจักรใหญ่เข้ามาเต็มที่ แต่ในความเต็มที่นั่นเมื่อเทียบกับขนาดของเหตุการณ์ที่เราเผชิญมันยังต่ำไปมาก

รัฐส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ตรงไหนของปัญหานี้

ภัยพิบัติต้องถือว่ารัฐเป็นตัวหลักครับ กรณีเชียงรายเราเห็นข้อจํากัดของการเตือนภัยไปแล้วในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ ในช่วงเผชิญเหตุแน่นอนพวกกู้ภัยต่าง ๆ เขาเข้าถึงได้ก่อนใช่ไหม แต่ว่าพอถึงจุดหนึ่งหน่วยกู้ภัยเขามีขีดจํากัด เครื่องมือที่เขามี บุคลากรที่มีมันถูกฝึกมาในระดับหนึ่งแต่ว่าไม่ใช่การรับมือภัยระดับซับซ้อน

กรณีอย่างแม่สายวันที่เข้าไปกู้ภัย ยังต้องใช้หน่วยซีลหรือเฮลิคอปเตอร์ไปรับคน หรือแม้แต่ที่มีเจ็ตสกีของเอกชนเข้าไปช่วย พวกนี้มันเกินเบอร์เกินมือกู้ภัยของรัฐหมดเลยนะ แม้แต่กัน จอมพลังเขาก็ไม่ได้ใช้หน่วยกู้ภัย เขาใช้นักกีฬาระดับแชมป์โลกและการประยุกต์ใช้เจ็ตสกีที่เครื่องยนต์แบบเฉพาะกําลังสูงมาก หน่วยกู้ภัยไม่มีของเหล่านี้มีแต่เรือท้องแบน

หน่วยซีลที่เข้าไปก็เป็นหน่วยที่ถูกฝึกฝนมาสําหรับการทํางานกับน้ำ รอบนี้ทหารเขาใช้ถูกตัวนะ เขาเอาคนที่ถูกฝึกมาสําหรับงานฉุกเฉินพิเศษมาก ๆ หน่วยซีลเขาไปช่วย แล้วมากันที 5-10 คน เขามีขีดความสามารถสูงแล้วสามารถช่วยเหลือกรณีเคสวิกฤติได้ มันอาจจะทุลักทุเลใช้เวลาหน่อย แต่ว่าโดยความเห็นผมช่วงเผชิญเหตุหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะทหารรอบนี้ ผมคิดว่าฟังก์ชั่นที่สุดแล้วเท่าที่ผมเคยเห็น

แต่ว่าพอเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูพอเราเห็นหน้างานฟื้นฟูและเงื่อนไขที่มีดินโคลนจํานวนมากกีดขวางกระบวนการเข้าไปฟื้นฟูตั้งแต่ถนน ชนิดที่ว่าคุณเดินเข้าไปไม่ได้ ถ้าไม่มีรถมาตักดินออกไปก่อน ตรงนี้เห็นได้ชัดเลยว่าเกินศักยภาพของรัฐบาลหลายหลายเท่า ต่อให้มีการระดมเครื่องจักรใหญ่เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ก็ทําได้แค่การเคลียร์ในซอยหลัก ในซอยย่อยและกิ่งของซอยอีกทียังไม่สามารถทำได้ เพราะว่าเครื่องจักรที่อยู่ในพื้นที่แม่สายเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าซอยไม่ได้ เพราะเวลามันทํางานมันต้องตักดิน แล้วก็เหวี่ยงหมุนเหวี่ยงเพื่อเอาดินใส่รถดั้มพ์ต้องหมุนไปหมุนมา มันเลยทำงานไม่ได้

ผมคิดว่ากองทัพรถเครื่องจักรใหญ่เป็นร้อย ๆ คันที่เราเห็นกันในพื้นที่ เพิ่งจะเคลียร์พื้นที่ได้ไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์เอง อาจจะใช้เวลานานมาก แล้วหลังจากนี้มันจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันเป็นซอยย่อยมีความซับซ้อนมาก คงต้องใช้หลายเดือนครับ

จริง ๆ รัฐมีกลไกนะครับ แต่การสื่อสารออกมาจากคนที่เห็นภาพใหญ่ในพื้นที่ไม่มี เอาเป็นว่าหาคนที่มองเห็นภาพใหญ่จริง ๆ มีอยู่นะครับแต่ว่ามีอยู่ไม่กี่คน ปัญหาคือคนเหล่านั้นไม่ได้สื่อสารออกมา ต่างคนก็ต่างเข้าไปทํางาน

อย่างถ้าเปรียบเทียบระหว่างตอนยุคที่มีเด็กติดถ้ำหลวง ตอนนั้นมันคือจุด ๆ เดียวที่เผชิญเหตุก็จริงแต่ว่าความยากของมันคือการหาตัวให้เจอ ต้องการหาวิธีการขนเคลื่อนย้ายเด็กออกมา ครั้งนั้นมันมีการสื่อสารมันเป็นระบบ Single command การสื่อสารจึงมีประสิทธิภาพมาก มีการบอกว่าสถานการณ์เป็นยังไง ต้องการอะไร ผู้คนก็จะเดินตามแนวทางนั้นได้ แต่ว่ารอบนี้พื้นที่เผชิญเหตุเยอะกว่ามีหลายจุด แต่เราไม่เห็นสิ่งนั้นในพื้นที่

แล้วฟื้นเชียงรายจำเป็นต้อง Single command แบบกรณีหมู่ป่า ?

ก็ทําได้ แต่ว่ายังไม่รู้ว่าใครจะมีศักยภาพขนาดนั้น เพราะว่ามันมีปัญหาการเมืองในพื้นที่อยู่ มันมีหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็ไม่คอนเทคเลยครับ เขาก็มีกําลังพล มีเครื่องจักรของตัวเอง มีทรัพยากรตัวเอง มีวัฒนธรรมตัวเอง

เช่น ตามกฎหมายคือเป็นนายอําเภอใช่ไหม แต่ว่านายอําเภอไม่มีเครื่องจักรไม่มีกําลังพล แล้วจะไปสั่งทหารที่มีเครื่องจักรมีกำลังพล ? ถ้าคุณไปอยู่หน้างานคุณจะเห็นว่าใครมีอํานาจตัวจริง เวลาอยู่ในที่ประชุมเรารู้เลยว่าใครคือคนที่มีอํานาจ คือคนที่มีทรัพยากรนั่นแหละที่มีอํานาจ

เต็ม 100 ให้คะแนนรัฐบาลเท่าไร ?

ให้ได้ไม่เกินสามสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าทําแบบนี้ใช้เวลาอีกนานเพราะเรายังไม่มีเครื่องมือเล็ก ที่มีข่าวเรื่องว่าหน่วยทหารบางหน่วยเขาจะเริ่มเอาเครื่องจักรใหญ่กลับแล้ว เพราะว่าถนนสายหลักที่เครื่องจักรมันทําได้มันจบแล้ว เพราะเข้าซอยไม่ได้เขาจะถอน ผมเข้าใจว่าเครื่องจักรมันเข้าซอยไม่ได้แล้วจบแต่ว่าแล้วเครื่องจักรเล็กอยู่ไหน เพราะภารกิจยังไม่จบเลย แล้วเป็นไงต่อ

ผมถามต่อ รัฐบาลทํายังไงกับซอยที่มันยังเข้าไม่ได้ บ้านชาวบ้านน้ำลดแล้วยังล้างบ้านไม่ได้ เพราะโคลนยังเต็มอยู่ทั้งบ้านและนอกบ้าน คุณหวังคุณตันเหรอ คุณตันประกาศว่าหนึ่งเดือนจบภารกิจผมว่าไม่เสร็จนะครับ ในสถานการณ์แบบนี้ผมให้คุณตันหกเดือนเลยถ้าไม่มีตัวเล่นอื่นเข้ามา

ชัดว่าการฟื้นฟูต้องแข่งกับเวลา แต่ทำไมวันนี้เชียงรายยังขับเคลื่อนด้วยอาสาสมัคร?

ต้องใช้คำว่า อาสาสมัครมีบทบาทสําคัญมาก มีความซอกแซก เป็นหน่วยเล็กที่สามารถลื่นไหลไปดูแลช่องว่างที่เกิดขึ้นได้ แล้วรอบนี้ก็มีอาสาสมัครกลุ่มองค์กรที่เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมเป็นมูลนิธิที่มีกำลังสามารถจัดกําลังได้ระดับหนึ่งทีเดียวแต่ก็ไม่ได้ใหญ่เท่าหน่วยงานรัฐ แต่ว่าเขาก็มีบทบาทรองลงมา

รัฐเขาก็ทํานะไม่ใช่ไม่ทํา แต่ว่าช่องว่างมันเยอะมาก ๆ สมมติว่าทําได้ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แล้วพวกภาคประชาสังคมก็ไปอุดอีกสักประมาณสักยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ถ้ารวม ๆ กันแล้ว ภาครัฐกับภาคประชาสังคมผมว่าการทำงานในพื้นที่ตอนนี้ไซต์พอ ๆ กัน

ทั้ง ๆ ที่รัฐมีศักยภาพมากกว่า ใช่ ถ้ารัฐรู้จักใช้งบประมาณหรือใช้การจัดการนะ

ในงานภัยพิบัติจำเป็นต้องมีอาสาสมัครหรือไม่ ?

มันจําเป็นอย่างมากที่จะต้องมีอาสาสมัครในงานภัยพิบัติ แต่อาสาสมัครก็ยังต้องพัฒนาขีดความสามารถ ผมเห็นความพยามของหลายหลายหน่วยงาน หลายหน่วยงานก็ขึ้นเทิร์นโปรขึ้นเรื่อย ๆ เลยนะ

ที่ผมประทับใจมาก เช่น มูลนิธิเพชรเกษม เขาเป็นมืออาชีพในเรื่องครัวกลาง เขารับขนาดใหญ่ได้การจัดการดีมาก แม้แต่รถห้องเย็นแช่แข็งวัตถุดิบก็มีพร้อม หน่วยอาสาสมัครอีกหลายหน่วยก็เช่นกัน อย่างกระจกเงานี่เป็นครั้งแรกเลยที่ผมต้องต้องซื้อรถแทรกเตอร์มาจัดการหน้างาน

คือองค์กรอาสาสมัคร ความเป็นอาสาสมัครมันเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ว่าประสบการณ์ หรือแม้แต่ทักษะ หรือเครื่องมือในการทํางานก็จําเป็นมาก ๆ ไม่งั้นอาสาสมัครก็จะทําภายใต้ความจํากัด

สอดคล้องแค่ไหน ในความเป็นประชาธิปไตยของรัฐกับความเป็นอาสาสมัครของพลเมือง

ผมคิดว่าเรื่องนี้สําคัญ คืออาสาสมัครมันทํางานอยู่บนจิตสํานึกว่าเราเป็นพลเมืองนะเราเป็นเจ้าของประเทศ นี่มันสังคมของเราประเทศของเรา ผู้คนของเรา มันคือความรู้สึกร่วมเวลามันเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่แล้วเราเห็นว่า เราพอจะทําอะไรได้บ้างเราก็มีสํานึกนี้อยู่บนพื้นฐาน

โดยในมุมมองของอาสาสมัคร ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชมนะครับ โดยเฉพาะพวกกู้ชีพกู้ภัยเป็นอะไรที่ผมปลื้มมาก สําหรับประเทศนี้น่าภาคภูมิใจในภาคประชาชนที่อยู่ในงานกู้ภัยมาก ๆ เพราะกลุ่มนี้จริงจัง มีความต่อเนื่องเรียนรู้พัฒนามีเครื่องมือมีวินัยมีระบบสั่งการและรอบคอบ โดยส่วนตัวผมคิดว่านี่เป็นความงดงามของสังคมไทย

ส่วนจะไปวิจารณ์ว่าการมีอาสาสมัยนี้จะสะท้อนถึงข้อจํากัดของรัฐ มองมุมนี้ก็อาจจะได้นะครับ แต่ว่าต้องเป็นการมองว่าเป็นข้อจํากัดของรัฐภายใต้ขนาดของปัญหาที่ใหญ่ แต่ว่าถ้ามันเป็นเกิดว่ามันเป็นงานพื้นฐานมาก ๆ งานขนาดแค่นี้ คุณมีทรัพยากรทําไมไม่เอาลงมา มองจากตรงนี้มันก็จะเห็นเลยว่าประสิทธิภาพในการสั่งการของรัฐเนี่ยต่ำ เพราะว่ารัฐมีกําลังคน มีเครื่องมือแต่ว่าไม่ยอมเอาคน และเครื่องมือนั้นลงมา หรือแม้แต่มีงบประมาณ

อะไรคือบทเรียนราคาแพงของรัฐจากภัยพิบัติในครั้งนี้

ผมเข้าใจว่า การเตือนภัยรอบนี้น่าจะถูกวิจารณ์หนักที่สุด สองคิดว่าหน่วยราชการที่อยู่พื้นที่เขาได้บทเรียนเยอะมาก แต่ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลส่วนกลางเข้าใจปัญหาจริงหรือเปล่า เพราะผมยังไม่เห็นการตอบสนองหรือการตอบโต้ในระดับเดียวที่ผมคิดว่ามันสมส่วนกับปัญหา อาจจะเป็นลักษณะว่าคิดว่าซื้อเวลาได้ ทําให้เต็มที่แต่การกอบกู้สถานการณ์ เดี๋ยวอีกสักพักหนึ่งได้เดี๋ยวรัฐจะโดนว่า ละเลย เพราะว่าปัญหามันจะไม่ไปไหน มันจะแก้ปัญหาแบบคืบคลาน มันช้ามาก แล้วถูกตั้งคำถามว่าเอาเรือไปสามเดือนแล้วยังแก้ไม่ได้

คำถามผมคือไหวเหรอ

ข้อเสนอผมก็คือต้องส่งรัฐมนตรีหนึ่งไปนั่งทํางานออนไลน์อยู่ที่เชียงราย แล้วก็เป็นหูเป็นตานั่งอยู่กลางวอร์รูม แล้วก็ให้อํานาจในการที่จะส่งสัญญาณหรือสั่งการเชื่อมต่อขึ้นไปที่รัฐบาลส่วนกลาง เพื่อเชื่อมต่อการสนับสนุนให้สอดคล้อง

แก้ปัญหาราชการไม่กล้าขอความช่วยเหลือข้ามหน่วยงาน คงเพราะบางทีมันเป็นความรู้สึกว่าการไปร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกมันจะให้ความรู้สึกว่า เฮ้ย คุณไม่เจ๋งจริง คุณจัดการเองไม่ได้คุณต้องมาร้องขอความช่วยเหลือคนอื่น

แต่ในความเป็นจริงก็คือว่า ปัญหามันใหญ่กว่าขีดความสามารถของแต่ละหน่วยอย่างมาก ดังนั้นไม่ควรทำงานอยู่บนแนวคิดว่า ขอความช่วยเหลือแล้วเสียเชิง