จาก 'วันหนึ่ง' จนวันนี้ ทศวรรษของการช่วงชิงผืนป่าลำปาง - Decode
Reading Time: 6 minutes

: ปกติใช้เวลาหาของในป่านานไหม?

“ก็แล้วแต่นะ แล้วแต่จะเดิน เชื่อไหมว่าแม่ไม่เคยซื้อผักเข้าบ้านเลย สารเคมีมันเยอะ ออร์แกนิกก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เก็บเสร็จก็เอามาแบ่งคนแถวบ้าน คนละนิดคนละหน่อย เดี๋ยวก็หมด”

หญิงสูงวัยอายุอาราวเข้าใกล้วัยเกษียณเล่าอย่างภาคภูมิ เธอในชุดเสื้อเชิ้ตแขนยาวลายตาราง กางเกงวอร์มสีกรมท่า หมวกสานกับรองเท้าแตะ ก็พอจะบอกได้ว่าเธอเชี่ยวชาญพื้นที่มากเพียงใด แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คงเป็นการที่เธอสามารถบอกได้ว่าพืชพันธุ์แต่ละชนิดเอาไปใช้ทำอาหารอะไรได้บ้าง

“… ตอนที่อยู่ที่เดิมก็ทำไร่หมุนเวียนเหมือนกัน แต่ย้ายมาที่นี่ได้ 3 ปีแล้วล่ะ”

‘วันหนึ่ง’ หญิงสูงวัยเจ้าของความเชี่ยวชาญดังกล่าวเล่าพลางเด็ดพืชผักต่าง ๆ ที่งอกเงยขึ้น
ในไร่หมุนเวียนแห่งหนึ่ง ณ จังหวัดลำปาง ที่ซึ่งเป็นทั้งแหล่งทำมาหากินและแหล่งพำนักปัจจุบันของเธอ

ย้อนกลับไปเมื่อราวปีพ.ศ. 2557 ตามรายงานแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนระบุว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีพ.ศ. 2504 มีพื้นที่ป่าไม้กว่า 171 ล้านไร่ (53.3%) ทว่าลดลงเหลือ 107 ล้านไร่ในปีพ.ศ. 2551 (33.4%), 102.1 ล้านไร่ (31.57%) ในปีพ.ศ. 2556 และลดลงเหลือเพียง 101.8 ล้านไร่ (31.47%) ในปีพ.ศ. 2566

โดยสาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ เกิดขึ้นทั้งจากการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การขยายพื้นที่ทำการเกษตร การเข้ามาของกลุ่มทุนบ้านพักและกลุ่มทุนเกษตรกรรม ไปจนถึงการออกเอกสารสิทธิ์และครอบครองที่ดินในเขตป่า โดยกอ.รมน. กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ประเมินไว้ว่ามี 12 จังหวัดที่ถือว่าเป็นพื้นที่วิกฤตรุนแรง คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย น่าน อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย กระบี่ เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน และลำปาง

ดังนั้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และสมดุล เพื่อให้ประชาชนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเพื่อหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าและพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ รัฐบาลคสช. ของพล. อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 ที่ว่าด้วย นโยบายทวงคืนผืนป่า เพื่อหยุดยั้งการรุกรานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อย่างน้อย 40% ในระยะเวลา 10 ปี

“สวนข้าง ๆ เขาก็ตัดหมดแล้ว เขากลัว เขาไม่สู้ แต่เราวิ่งไปขอเจ้าหน้าที่ป่าไม้
แต่เขาบอกว่าต้องตัด และบอกว่าถ้าผมช่วยก็เท่ากับว่าทุบหม้อข้าวตัวเอง”

ในพื้นที่บ้านแม่กวัก หมู่ 1 ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง แสงเดือน ตินยอด เกษตรกรหญิงอายุปลายเกษียณอาศัยและทำกินอยู่ที่นั่น โดยในพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่ง ที่ถูกประกาศตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514

ในปีพ.ศ. 2528 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 กำหนดให้มีมาตรา 16 ทวิ และมาตรา 16 ตรี เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นผู้ยากจนยากไร้ เป็นผู้ที่ทำประโยชน์หรือทำกินอยู่ก่อนแล้ว ให้มี สิทธิ์ทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนฯ ได้ โดยจะออกเป็น ‘หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ’

โดยขั้นตอนของการได้มาซึ่งสิทธิ์ทำกินนี้ กรมป่าไม้จะทำการสำรวจตรวจสอบสภาพพื้นที่นั้น ๆ และกั้นพื้นที่ทำกินเดิมของประชาชนออกจากพื้นที่ที่เป็นป่า พื้นที่ลาดชัน และพื้นที่ไม่เหมาะสม หลังจากนั้นกรมป่าไม้จะนัดหมายประชาชนที่ถือครองที่ดินแต่ละรายมาสำรวจในพื้นที่อีกครั้ง โดยจะทำการตรวจสอบสภาพพื้นที่ ทำการรังวัดแปลงที่ดิน หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทั้งหมด กรมป่าไม้จะดำเนินการออกหนังสืออนุญาตฯ ให้ประชาชนผู้นั้นต่อไป

แสงเดือนเล่าว่า ประชากรในพื้นที่บ้านแม่กวักใช้ที่ดินดังกล่าวทำกินมาตั้งแต่ก่อนกฎหมายป่าสงวน เธอเองก็ใช้ที่ดินดังกล่าวต่อมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่ปีพ.ศ. 2508 พร้อมทั้งมีร่องรอยการทำกินของคนในพื้นที่ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2497 โดยการกำหนดเขตที่ดินทำกินตามพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) ทำให้เธอได้รับสิทธิ์ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนจำนวน 14 ไร่เศษ

ในปีพ.ศ. 2551 แสงเดือนเริ่มปลูกต้นยางพาราตาม ‘โครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2550-2553)’ ด้วยความต้องการในตลาดโลกที่สูงขึ้น โครงการดังกล่าวจึงเป็นความพยายามของรัฐในการยกระดับยางพาราให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อมูลพอสังเขปของโครงการดังกล่าวคือ จากเดิมที่เน้นปลูกยางพาราที่ภาคใต้ของประเทศไทย รัฐบาลจะสนับสนุนการปลูกยางพาราและขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะจัดสรรพื้นที่ปลูกกว่า 1 ล้านไร่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 700,000 ไร่ และภาคเหนือ 300,000 ไร่ และมีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ทำหน้าที่ดูแล สนับสนุน และส่งเสริมการปลูกยางพารา โดยมีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้รับผิดชอบผลิตกล้ายางให้กับสกย.

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้กล้ายางพาราไร่ละ 90 ต้น (สำหรับปลูก 76 ต้น และอีก 14 ต้นใช้สำหรับปลูกซ่อมแซม) โดยผู้ปลูกรายใหม่จะได้รับสนับสนุนเพียงกล้ายางพารา ทว่าหากเป็นผู้ปลูกรายเก่าที่ปลูกยางพารามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530 มีต้นยางพาราอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมแล้ว จะได้รับการสนับสนุนการปลูก โดยสกย.จะให้กล้ายางพาราพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ปุ๋ย และเครื่องมือสำหรับปลูกให้กับผู้ปลูกรายเก่า

โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่าในปีพ.ศ. 2549 ที่เป็นปีสิ้นสุดของโครงการฯ ในระยะที่ 1 มีพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคเหนือทั้งหมด 198,171 ไร่ และเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ ในระยะที่ 2 ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินระบุว่าพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคเหนือเพิ่มเป็น 972,096 ไร่

กล้ายางพารา 760 ต้นถูกวางลงในดิน แสงเดือนและครอบครัวทำมาหากินอยู่บนพื้นที่ 14 ไร่เศษนั้น ด้วยการทำไร่หมุนเวียนและทำสวนยางพารา ที่กลายมาเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวตินยอด

ทว่าเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 แสงเดือนถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทใช้วาจาข่มขู่ และบังคับให้เธอตัดฟันต้นยางพาราของเธอทิ้ง ในฐานที่พื้นที่ดังกล่าวกำลังเตรียมประกาศเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท หากเธอไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็จะถูกดำเนินคดี “ป่าไม้บอกว่าตัดแล้วก็ไปทำไร่ทำสวนแทน ไม่เป็นไรหรอก” แสงเดือนเสริม

เหตุการณ์ปะทุขึ้นอีกครั้งในปีพ.ศ. 2558 และเป็นก้าวแรกของแสงเดือนในการต่อกรกับรัฐ

1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าได้เริ่มต้นพร้อมกันทั่วประเทศ พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนั้น ตั้งเป้าหมายจะทวงคืนผืนป่าให้ได้ 600,000 ไร่ภายในปีดังกล่าว โดยเฉพาะ 142,000 ไร่ในภาคเหนือที่พบการบุกรุกอย่างหนัก

“ยางพารา” กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องกำจัดในปฏิบัติการครั้งนี้ มูลนิธิชีวิตไทรายงานว่า ในปีพ.ศ. 2558 มีพื้นที่ปลูกยางพาราในเขตป่าไม้ทั่วประเทศไทยทั้งหมด 5.5 ล้านไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าสงวน 4.4 ล้านไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 1.1 ล้านไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ระบุว่ากว่า 4.4 ล้านไร่ เป็นการบุกรุกปลูกยางพาราทั้งหมด มากสุดในพื้นที่ตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ปีพ.ศ. 2557 ก็ยังระบุอีกว่า สาเหตุสำคัญของการลดลงของพื้นที่ป่าคือ นโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้มีการบุกรุกป่า เช่น การปฏิรูปพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม กระทั่งนโยบายส่งเสริมการบุกรุกทางอ้อม เช่น การส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

“นายกฯ ให้เอาเรื่องจัดการการบุกรุกป่าไม้และสวนยาง เป็นความเร่งด่วนแรกก่อน และก็จัดการนายทุนซะก่อน ซึ่งมีนายทุนตัวจริงกับที่เอาชาวบ้านเป็นนอมินี เรารู้หมด” – พล.อ. ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ

ซึ่งหากพืชเศรษฐกิจในอดีตสามารถกลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ไปได้ การที่เกษตรกรผู้บุกเบิกอย่างแสงเดือน กลายเป็น “ผู้บุกรุก” ก็คงไม่แปลกนัก

“ตอนนั้นมันป่าเถื่อนมาก ชุดดำ ชุดกรมท่ามากันหลายชุด สะพายปืน M16 ขึ้นไปตรวจสวนยาง ไม่พูดกับชาวบ้านนะ ภาพแบบนี้เราไม่เคยเห็น มันโหดร้าย คนทำมาหากิน ไม่ได้ไปปล้นฆ่าใคร” แสงเดือนเอ่ยขึ้น

ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ที่เป็นดีเดย์ของปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า

รายงานของกรุงเทพธุรกิจ พบปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เตรียมการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในจังหวัดลำปางตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557

ปฏิบัติการครั้งนั้นนำโดย พล.ต.อุกฤษณ์ อากาศวิภาต ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จ.ลำปาง, พ.อ.วีระยุทธ กวยะปาณิก ผู้อำนวยการป้องกันและปราบปราม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กองทัพภาค 3, นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และป่าไม้พร้อมอาวุธครบมือกว่า 600 นาย เดินเท้าเข้าตรวจยึดพื้นที่ปลูกยางพาราในเขต ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยาง-แม่อาง ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง และพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยาน แห่งชาติ ตำบลบ้านหวด อำเภองาว โดยให้เหตุผลว่าเป็น พื้นที่บุกรุกปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก

ถัดมาคือหนึ่งเดือนหลังวันดีเดย์ สำนักข่าวผู้จัดการรายงานว่า วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเดินเครื่องเลื่อยยนต์ ตัดฟันยางพาราและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในบริเวณป่าเด่นลาน บ้านแม่พุ หมู่ 13 ตำบลเวียงหมอก อำเภอเถิน เนื้อที่กว่า 153 ไร่ และสิ่งปลูกสร้างอีก 9 หลัง เป็นสัญญาณของการเปิดปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามแผนแม่บทป่าไม้ฯ พ.ศ. 2557 โดยเน้นการทวงคืนจากนายทุน และไร้ผลกระทบต่อประชาชน

สำนักข่าวผู้จัดการรายงานอีกว่า ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทหารจากหน่วยรบพิเศษ ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามฯ ตำรวจภูธรฯ รวมถึงกำนันและชาวบ้านในพื้นที่กว่า 200 คน ได้สนธิกำลังตัดฟันต้นยางพาราในช่วง เวลาใกล้จะเก็บเกี่ยวกว่า 216 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย หมู่ 9 ตำบลปงเตา อำเภองาว เพราะเจ้าหน้าที่เคยเข้าตรวจสอบและพบว่าเป็นแปลงยางพาราของนายทุนจริง โดยปฏิบัติการครั้งนั้นนำโดย จเรศักดิ์ นันตะวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) สมศักดิ์ โคตะมะ ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) สุเทพ พุทรา ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) และหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่นในพื้นที่ 

โดยจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ยังระบุอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่า ยังเหลือแปลงยางพาราบุกรุกที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอีก 40 แปลง คือ ที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน, อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล อำเภอห้างฉัตร อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย อำเภองาว โดยตัดฟันทำลายและยึดคืน ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558 

“ที่เป็นสวนยางของนายทุน ทำไมไม่ไปทำ ทำไมต้องมาทำเราด้วย เพราะที่มันประกาศออกมาคือ จะให้ยกเว้นผู้ยากไร้ แต่ทำไมมันกลับมาทำผู้ยากไร้ล่ะ แล้วยกเว้นนายทุนล่ะ แม่พูดไปแบบนี้”

แสงเดือนอธิบายว่าในพื้นที่ 14 ไร่เศษ เธอใช้พื้นที่ 10 ไร่ในการปลูกต้นยางพารา ส่วนอีก 4 ไร่เศษ เป็นไร่ปกติ หลังจากการตัดฟันยางพาราในครั้งนั้น เธอจึงไม่เข้าไปใช้พื้นที่ 10 ไร่นั้นอีก และอาศัยหากินในพื้นที่ 4 ไร่เศษที่เหลือที่เป็นที่ดินของส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) เช่น ปลูกผักหวานที่ลูกนำมาให้แทนยางพารา ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก เพราะว่าการปลูกผักหวานนั้นตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเมล็ด ค่าทำหลังคา กระทั่งปริมาณน้ำที่ใช้ปลูก

เวลาผ่านไปสองปีหลังจากเหตุการณ์นั้น ไม่ใช่แค่ผักหวานที่เจริญเติบโต แต่ต้นยางพาราที่เธอตัดฟันไปก็เติบโตเช่นกัน แสงเดือนเล่าว่าแม้จะไม่ได้เข้าไปดูแลสวนยางพาราเหมือนอย่างเคย แต่ด้วยสภาพอากาศ ดิน และปัจจัยอื่น ๆ ต้นยางจึงออกหน่อและเติบโตแทบจะสูงเท่าก่อนตัด กระทั่งมีคำสั่งจากส่วนกลางลงมาอีกครั้ง เพื่อให้แสงเดือนตัดฟันต้นยางของเธอทิ้งเป็นครั้งที่สอง

“ตัดครั้งที่สองแม่ก็หมดกำลังใจเลย เราหวังอยู่กับยางอย่างเดียว ความหวังเรามีอยู่แค่นั้น ใช้หากินไปวัน ๆ เอาไว้ใช้ส่งลูกเรียน ตัดยางก็ร้องไห้ไปด้วย ไม่รู้จะทำยังไง ไม่รู้จะไปทางไหน”

ต้นยางพารากว่า 760 ต้นในพื้นที่สวน 10 ไร่ของแสงเดือนถูกตัดทำลายอีกครั้งไปพร้อมความหวัง
แต่อย่างไรก็ดี การทำลายต้นยางพาราในครั้งนั้น ก็ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้และแข็งข้อกับรัฐ 

“…มันทำใจไม่ได้ ก็เลยลุกขึ้นสู้ ลุกขึ้นสู้ก็โดนคดีอีก (หัวเราะ​) โหดร้ายนะไอ้พวกป่าไม้ ตัวเองอยู่ที่ไหนไม่รู้มาบอกว่าเป็นป่าตัวเอง ชาวบ้านอยู่ที่นี่ตั้งนมนานกลับมาไล่เขา” เธอขึ้นเสียง

แสงเดือนเล่าว่าเธอเริ่มเดินเรียกร้อง และกดดันหน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) โดยเรียกร้องให้ตรวจสอบแนวเขตทำกินเดิมกับเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

ทว่าการลุกขึ้นแข็งข้อกับรัฐในครั้งนั้น กลับกระเทือนไปถึงความสัมพันธ์ของครอบครัวตินยอดด้วย ความเข้มข้นในการเรียกร้องของแสงเดือน ทำให้ความเห็นระหว่างเธอกับสามีไม่ลงรอยกันจนต้องหย่าร้าง ความไม่มั่นคงในชีวิตของลูกแสดงตัว และรอยร้าวของครอบครัวก็แตกออกจากกัน

แสงเดือนจึงตัดสินใจที่จะโยกย้ายจากจังหวัดลำปาง ไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดเชียงราย
พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจริงเป็น วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ทิ้งความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง และเริ่มต้นชีวิตใหม่

“แม่ย้ายทะเบียนบ้านไปเลย ก็กะว่าจะทิ้งหมดแล้ว กะไม่เอาอะไรแล้วอะ แต่คดีมันตามไปไง ถ้ามันไม่ทำคดี มันก็จบแล้ว (หัวเราะ) พอมัน (เจ้าหน้าที่ป่าไม้) ทำคดีเราก็เลยเลือกที่จะสู้ต่อ”

18 กันยายน พ.ศ. 2561 เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) สนธิกำลังเข้ายึดแปลงยางพาราของวันหนึ่ง และออกหมายเรียกวันหนึ่งและพวกในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ” 

วันหนึ่งเล่าว่าเธอไม่ไปตามหมายเรียกครั้งแรก เพราะเธอออกจากพื้นที่นั้นแล้ว และไม่ได้ใช้ทำกินอีกเลยหลังจากการตัดต้นยางครั้งที่สอง ทว่ากลับมีหมายเรียกมาอีกเป็นครั้งที่สอง เธอจึงตัดสินใจที่จะสู้ต่อ “มันไปทำอะไรนายทุนไม่ได้ มันเลยไปหาทำชาวบ้าน มันทำหมดเลย คนไม่ฮึดสู้ วิ่งหนี มันยิ่งชอบ” วันหนึ่งย้ำ

ตามรายงานของประชาไท เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตำรวจ และทหาร ได้ลงพื้นที่สำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่ทำกินของบ้านแม่กวัก (ไม่ได้แจ้งกับชาวบ้านในพื้นที่) และเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่าชาวบ้านในบ้านแม่กวักได้บุกรุกพื้นที่ป่า ทว่าชาวบ้านค้านว่าเขตป่าดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แต่เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าพื้นที่ป่านั้นครอบคลุมทั้งหมด

“คุณนั่นแหละผิด ผมนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปดูมีแต่ดอยหัวโล้น” เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งพูดกับวันหนึ่ง

“แล้วคุณรู้ได้ไงว่าพื้นที่ของชั้นเป็นดอยหัวโล้น?” วันหนึ่งถามกลับ

“มันก็โล้นหมดนั่นแหละ คุณต้องเซ็น (รับทราบข้อกล่าวหา)” เจ้าหน้าที่ยืนยันกับวันหนึ่ง

วันหนึ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรงาว จังหวัดลำปาง เธอเล่าว่าเผชิญกับคำขู่ของเจ้าหน้าที่ให้รับความผิดดังกล่าว แต่เธอยืนยันว่าถ้าเธอผิด ก็เท่ากับว่าเกษตรกรในพื้นที่บ้านแม่กวักก็ผิดทั้งหมด เธอจึงไม่เซ็นรับข้อกล่าวหา และยืนยันที่จะไปต่อสู้ในชั้นศาล

“ชาวบ้านเขามองว่าถ้าตามแม่ไปก็ติดคุก สู้ไปสู้มาจนทั้งหมู่บ้านเขาไม่เอาเรา … เจ้าหน้าที่ถามแม่ว่าถ้าพวกเขาหลงป่ามาจะให้กินข้าวไหม แม่บอกเลยว่าไม่ (หัวเราะ)”

การตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ ตั้งข้อหา และจับกุมเกษตรกรในพื้นที่ลำปางเกิดขึ้นอยู่หลายครั้งด้วยกัน

รายงานของประชาไทได้ยืนยันคำบอกเล่าของวันหนึ่งว่า นับตั้งแต่มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์ว่า เตรียมประกาศพื้นที่บ้านแม่กวักเป็นเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทเมื่อปีพ.ศ. 2535 โดยไม่มีคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดการจับกุม เสาร์แก้ว โพรโส ในข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ ในปีพ.ศ. 2540 ถัดมาเป็นคดีของ ธงชัย ใจเย็น จากข้อกล่าวหาเดียวกันในปีพ.ศ. 2555 และตามมาด้วยเหตุการณ์ของ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ในปีพ.ศ. 2556 แม้ทั้งสามคดีจำเลยจะยืนยันว่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็ตาม 

หลังวันหนึ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหา วันหนึ่งเข้าร่วมการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move ซึ่งเธอยืนยันว่ารัฐต้องชดเชยและเยียวยาจากการบังคับให้ตัดฟันต้นยางพาราตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไถ ทว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ปฏิเสธการให้เงินชดเชย พร้อมทั้งอ้างว่าวันหนึ่งตัดฟันด้วยตนเอง และพื้นที่ของวันหนึ่งถูกกันออกจากพื้นที่อุทยานฯ แล้ว เป็นพื้นที่ดำเนินงานของป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ยังคงยืนยันว่าวันหนึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ

“ยากนะสู้กับรัฐ” วันหนึ่งเอ่ยขึ้น

เธอเล่าว่า ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ณ ตอนนั้น
ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจริงว่าการทำกินในพื้นที่ของวันหนึ่งเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่หรือไม่

ชีวะภาพได้รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าจากการตรวจสอบลงพื้นที่จริง พบว่ามีความคลาดเคลื่อนในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง เขาให้ข้อเท็จจริงว่าภาพถ่ายทางอากาศได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแปลงที่ดินของวันหนึ่งมีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2497 แล้ว และใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2510, 2545, 2557 และ 2562 

“คือมันก็จะเอาเราให้ได้แหละ มันกลัวมันติดคุก (หัวเราะ) มันกลัวค่าชดเชยต้นยางเรา เลยสู้หน้าดำหน้าแดงกันหมด หัวหน้าชีวะภาพก็ว่าไม่น่าไปดำเนินคดีแม่เลย มันไม่มีที่ว่าแม่จะสู้คดีไม่ได้ เขาก็เลยเอาคดีแม่มาเป็นคดีตัวอย่าง”

18 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องวันหนึ่งในคดีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าแสงเดือนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนฯ อีกทั้งกำลังดำเนินตามนโยบายโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และยังได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557

ทว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพาษาศาลชั้นต้น โดยสั่งจำคุกวันหนึ่ง 1 ปีไม่รอลงอาญา ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยเจตนา พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท ดอกเบี้ย 7.5% นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2561 และให้วันหนึ่งออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด

วันหนึ่งเล่าว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดเธอให้จงได้ โดยอ้างว่าเธอใช้สารเคมีในพื้นที่ป่าบ้านแม่กวัก แต่ภาพหลักฐานที่ใช้กลับเป็นภาพป่าของบ้านแม่แป้น กระทั่งนำเอาอาวุธปืนไปไว้ในพื้นที่สวนของวันหนึ่ง และกล่าวหาว่าเป็นอาวุธของเธอ ทั้งที่ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่วันหนึ่งย้ายรกรากไปอยู่ที่จังหวัดเชียงรายแล้ว 

จนเวลาผ่านไปกว่า 9 ปีหลังการตัดฟันยางพาราครั้งนั้น ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกวันหนึ่งโดยรอลงอาญา 2 ปี และปรับเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท แม้จะไม่ต้องติดคุก แต่จวบจนวันนี้วันหนึ่งก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ คืนกลับมา

“ตอนแม่สู้นะ แม่ไปหมดทุกเวทีเลย ตอนแรกก็ไปคนเดียว แต่ก็มีคนปกาเกอะญอนี่แหละที่ช่วย เราหายไปเขาก็โทรหาเรา นับถือเลย เป็นพี่น้อง เป็นลูกหลาน … ชุมนุมครั้งล่าสุดแม่ก็ไปด้วย”

ปัจจุบันวันหนึ่งยังคงเคลื่อนไหวอยู่บ้างตามโอกาสและคำชวนของสหายเก่า
เพราะไม่ว่าจะเวลาใด ผืนป่าลำปางก็ยังคุกรุ่นไปด้วยการช่วงชิงอำนาจระหว่างประชาชนและรัฐ

หลังจากสิ้นสุดคดีของแสงเดือน ตินยอด หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง 
ก็ยังพบรายงานถึงการเข้าทำลายแปลงเกษตรกรรมของเกษตรกรโดยเฉพาะแปลงยางพารา

เช่นวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 มติชนออนไลน์รายงานว่า พ.อ.สมศักดิ์ เตชะสืบ รอง ผอ.กอ.รมน.จ.ลำปาง มนตรี นาคถาวร นายอำเภอเกาะคา ชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) และ สุเทพ พุทชา ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) สนธิกำลังเข้าตรวจยึดแปลงยางพาราในพื้นที่บ้านหมู่ 2 (บ้านวังพร้าว) และหมู่ 6 (บ้านสบจาง) ตำบลวังพร้าว อำเภอเกาะคา 115-122 ไร่ที่อยู่พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ไฮ และป่าแม่จางใต้ฝั่งซ้าย

และในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ช่อง 8 รายงานว่า ชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 50 นาย เข้าตรวจยึดพื้นที่ หมู่ที่ 4 (บ้านมะกอกนาบัว) ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา ที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่เรียงแม่ยาว โดยติดประกาศตรวจยึดยางพาราอายุเข้าใกล้ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวจำนวน 10 แปลง เป็นพื้นที่กว่า 242 ไร่ หลังพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกลุ่มนายทุนต่างจังหวัดที่ว่าจ้างชาวบ้านแผ้วถางปลูกยางพารา

อย่างในกรณีล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา คือกรณีของ บ้านขุนอ้อนพัฒนา ที่ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยเจ้าหน้าที่หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่งที่ 6 จำนวน 4 ราย ได้เข้าตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าตามคำสั่งของกรมป่าไม้ ทว่าการตรวจสอบดังกล่าวไม่มีการแจ้งชาวบ้านในพื้นที่ล่วงหน้า อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แสดงหนังสือคำสั่งจากกรมป่าไม้แต่อย่างใด

“ไร่หมุนเวียนจะมีปัญหาช่วงที่ป่าไม้ลงพิทักษ์ไพร เขาก็จะดูภาพดาวเทียม คือถ้าพักไว้หลายปี ถ้าต้นไม้มันจะเริ่มใหญ่ เราก็ต้องคอยตัด ไม่งั้นเขาจะยึดไปปลูกป่า แลกกับการไม่ดำเนินคดี”

คำบอกเล่าของ เธียรชัย สกุลกระวี เกษตรกรชาวปกาเกอะญอในชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา หมวกหนึ่งเขาคือชายหนุ่มวัยกลางคนที่เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อมาทำเกษตรกรรม กับอีกหมวกหนึ่งคือ รองผู้ใหญ่บ้านของชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา ผู้ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการรวมตัวเรียกร้อง ณ ศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อสะท้อนปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่า จากกฎหมายและนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้

ท่ามกลางผู้ชุมนุมกว่า 300 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปางทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 10 คนที่ตรึงกำลังในบริเวณนั้น เธียรชัยประกาศว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายนนั้น ส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้คนที่อาศัยวิถีชีวิตแบบเกษตรดั้งเดิมในการหาเลี้ยงชีพ เพราะแม้แนวปฏิบัติดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของกรมป่าไม้ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ แต่ข้อกังวลที่ร้ายแรงที่สุดคือการตรวจและยึดของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 

ความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ดังกล่าว เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พัฒนา “ระบบปฏิบัติการพิทักษ์ไพร” เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าแบบเรียลไทม์ และตรวจค้นการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังกรมป่าไม้บนแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน และนำทางไปยังจุดที่ตรวจพบความผิดปกติของป่าไม้นั้น ๆ

ทว่าแม้ในรายละเอียดของระบบปฏิบัติการพิทักษ์ไพรจะระบุว่าตรวจสอบได้ละเอียดถึงขั้นว่า แปลงดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าของหน่วยงานใด เป็นพื้นที่นิคมสหกรณ์ ที่ราชพัสดุ หรือพื้นที่สปก. ซึ่งจะสามารถแยกออกมาได้ว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นไร่หมุนเวียนหรือไม่ ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านขุนอ้อนพัฒนา ก็ฉายภาพความคลาดเคลื่อนของระบบพิทักษ์ไพรได้อย่างชัดเจน “ไร่หมุนเวียนของเราเดี๋ยวนี้ก็ไม่ถึง 6-7 ปีแล้ว เผาข้าวเหมือนเดิมก็ไม่ได้ คนข้างล่างก็ขึ้นมาเก็บทุกวัน มันก็เลยเหมือนพื้นที่หมดอายุ ต้นไผ่ ต้นไม้ พืชผักก็หายหมด” เธียรชัยเสริม

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านขุนอ้อนพัฒนา คือ เจ้าหน้าที่หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่งที่ 6 เข้าใจและตีความว่า ‘ไร่เหล่า’ หรือพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ทำการเก็บเกี่ยวและพักฟื้นเป็นเวลากว่า 6-7 ปี (บ้านขุนอ้อนพัฒนาพักฟื้น 2-3 ปี) เป็น พื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ เพราะในช่วงเวลาของการพักฟื้น ต้นไม้จะเจริญเติบโตคล้ายป่า และทำให้การเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวในรอบถัดไป จะกลายเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวเข้าตรวจสอบพื้นที่ 20 แปลงโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

“เขาไม่ได้มาสัมผัสบนดอย บางทีเขาก็อยู่แต่ในที่ทำงานและก็ออกคำสั่งมา ซึ่งการเป็นอยู่ของพี่น้องบนดอย มันต่างจากกฎหมายที่เขาสร้างขึ้นมาดูแลป่า”

ดังนั้นการเรียกร้องในครั้งนี้จึงร่วมกับสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดลำปาง จึงส่งข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง 3 ข้อด้วยกัน หนึ่ง ยุติการตรวจสอบที่อาจนำไปสู่การยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียนในจังหวัด ลำปาง สอง ชี้แจงกระบวนการตรวจสอบแปลงที่ดินทำกินให้ชอบธรรมและชัดเจน และสาม เครือข่ายจะยืนในแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน

“แผนปฏิบัติ ‘พิทักษ์ไพร’ จากกรมป่าไม้ในขณะนี้กำลังมุ่งโจมตี แย่งยึดที่ดินทำกินของเราไปปลูกป่า … ณ ชุมชนสมาชิกของเรา บ้านขุนอ้อนพัฒนา ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ดำเนินการอันไร้มนุษยธรรม เข้าตรวจสอบ ขู่ตรวจยึด กล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่า สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ผืนดิน ผืนป่า สายน้ำในหมู่บ้านเรานั้นก็เป็นประจักษ์พยานว่าเราคือผู้ดูแลรักษา มิใช่ผู้ทำลาย

หลังสิ้นเสียงเรียกร้องและเจตนารมณ์ของประชาชน ประสิทธิ์ ท่าช้าง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง ยืนยันว่าจะมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินงานในพื้นที่ตามข้อเรียกร้อง จนกว่าจะมีคำสั่งจากกระทรวงทรัพยากรฯ อีกครั้ง ทว่าหากมีคำสั่งทางนโยบายในระดับกรมและกระทรวง ในฐานะหน่วยงานระดับจังหวัดก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงคำสั่งนั้นได้แต่อย่างใด 

จากการตอบกลับของคนระดับผู้อำนวยการของหน่วยงานด้านป่าไม้
ดูเหมือนว่าประชาชนก็สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ หากได้รับการอนุญาตจากรัฐเสียมากกว่า

“ชาวบ้านไม่อยากให้มีการตรวจสอบแบบนี้ เพราะผมมองว่ามันเป็นผลประโยชน์ต่อรัฐมากกว่า ความเท่าเทียมกันไม่มี และกฎหมายไม่ได้อยู่ในมือเรา เราจึงขอโฉนดชุมชน ขอจัดการพื้นที่เอง เพราะมันสำคัญต่อการเป็นอยู่ของชาวบ้าน การทำกิน การจัดการเชื้อเพลิง … ดูต้นไม้ต้นนี้สิ ปลูกไม่ได้เรื่อง ต้นนี้ 4-5 ปีแล้วมั้ง ยังไม่โตเลย ต้นนี้ออกเอง สองปีก็ใหญ่แล้ว มันต่างกันเยอะ” เธียรชัยเล่าพลางชี้ไปที่ต้นไม้ในป่า

: ตั้งแต่คดีจบลง ชีวิตดีขึ้นรึยัง

“ยัง” วันหนึ่งรีบตอบ

“หนี้ยังไม่หมด ยังไม่ลงตัวหรอก หนี้แม่เยอะนะที่ทำกับสวนยาง” เธอเล่าเสริม

วันหนึ่งเล่าว่า แม้เธอได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้ปลูกยางพารา แต่เธอก็ต้องกู้เงินนอกระบบมาลงทุนในสวนยาง เพราะแม้ตอนกรีดยางไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะไปอยู่ในขั้นตอนของการปลูก ขุดหลุม ดายหญ้า หรือสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งต้นทุนเหล่านั้นใช้เวลาถึง 4-5 ปีกว่าจะได้ผลผลิตกลับมา

ทว่าก่อนที่จะได้ผลผลิตในปีพ.ศ. 2557 เธอกลับต้องทำลายต้นยางที่เธอปลูกไปเสียก่อน ปัจจุบันวันหนึ่งอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ของ สมจิตร์ ชัยวรรณ์ เกษตรกรบ้านแม่กวักที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐเช่นเดียวกัน โดยสมจิตร์แบ่งแปลงปลูกยางพาราให้วันหนึ่งดูแลครึ่งหนึ่ง และใช้เงินที่ได้จากแปลงดังกล่าวในการดูแลตนเอง ใช้หนี้ที่เหลืออยู่ และดูแลลูกชายสองคนที่ปัจจุบันกลับมากรีดยางกับเธอที่ลำปาง

“ก็หาสวนให้เขากรีดอยู่ เพราะเขาก็ยังกรีดไม่คล่อง ยังเป็นมือใหม่ รายได้วันละบาทสองบาท ถ้ากรีดเยอะก็ตกวันเป็นพันเหมือนกันนะ แต่ตอนนี้ใช้ได้แต่ดอก เงินต้นไม่ลดเลย” วันหนึ่งเล่าพลางถอนหายใจ

อย่างไรก็ดี วันหนึ่งไม่คิดว่าจะกลับไปอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของเธอแล้ว
เนื่องจากแปลงดังกล่าวตั้งอยู่บนดอยสูง ความชราทำให้เธอไม่อาจสัญจรไปมาได้คล่องแคล่วเหมือนอย่างเคย 

ปัจจุบันวันหนึ่งยังคงรอคอยการจัดสรรที่ดินคืนจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรฯ นั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์สำหรับการเยียวยาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากรัฐ ซึ่งครั้งหนึ่ง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) หาหลักเกณฑ์ในการเยียวยาผลกระทบแก่แสงเดือน เช่น การผ่อนผันให้สามารถเข้าไปทำกินในระหว่างรอคำพิพากษาของศาลฎีกา

ทว่าจนถึงวันนี้ วันหนึ่งคงไม่ได้รับที่ดินใด ๆ คืนจากหน่วยงานรัฐเลย

“ถ้าเรามีที่ทำมาหากิน ลูกก็จะมีที่ดินทำกิน เราก็สบายใจที่ลูกมีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปรับจ้างคนอื่น ที่แม่มีไว้สิบกว่าไร่ ถ้าป่าไม้ไม่ไล่ ก็ให้ลูกสองคนทำคนละครึ่ง สองพี่น้องมันก็อยู่ได้แล้วอะ ทำเกษตรพอเพียงอะไรไป มันก็ทำได้อยู่ได้”

วันหนึ่งเล่าเรื่องสัพเพเหระ รับประทานอาหาร และหยิบยาบรรเทาอาการซึมเศร้าขึ้นมาทาน
ก่อนจะจากลากัน เธอยังคงหยิบพืชผักต่าง ๆ ที่ได้จากไร่ใส่ถุงพลาสติกให้นักข่าวที่มาเยี่ยมเยือน

: ทำไมแม่ถึงเปลี่ยนชื่อเป็นวันหนึ่ง

(เธอหยุดคิดไปครู่หนึ่ง) “ก็หวังไว้แค่ว่าวันหนึ่ง ทุกอย่างมันจะดีขึ้น” เธอตอบ