การทูตไร้จุดยืนที่สุดในจุดเงียบกลางไฟสงครามเมียนมา? - Decode
Reading Time: 3 minutes

จากการทูตยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สู่การทูตในยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร “แม้มีทิศทางที่ดีขึ้นในเบื้องต้นเพราะมีประโยคที่แถลงถึงวาระในต่างประเทศ แต่ยังเป็นการทูตแบบไร้จุดยืนกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเป็นธรรม ในฐานะกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อธิบายในสถานการณ์โลกที่ปั่นป่วน เรากลับสงวนท่าทีอย่างที่นายกฯ กล่าวในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า “เราจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง” ระหว่างประเทศ แต่สถานการณ์ไม่เป็นแบบนั้น กัณวีร์ยกตัวอย่างสถานการณ์อิสราเอลและปาเลสไตน์ ว่าสถานการณ์ดังกล่าว “มันบังคับให้เราต้องเลือกเราจะเอาอย่างไร” เพราะอย่าลืมว่าเรามีแรงงานที่อยู่ในอิสราเอลกี่ชีวิต นายกฯ จะมาพูดว่าเราจะไม่มีท่าทีใด ๆ ไม่ได้ หรือหากมองใกล้ตัวขึ้นกว่านั้น สถานการณ์ในเมียนมาก็จะเด่นชัดที่สุด ที่จะสะท้อนจุดยืนของเราท่ามกลางมหาอำนาจต่าง ๆ

De/code คุยกับ “กัณวีร์ สืบแสง” หนึ่งในฝ่ายนิติบัญญัติและอดีตคนทำงานด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยในเวทีนานาชาติ ชวนคิดและตั้งคำถามกับตัวแสดงทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสกับผลกระทบต่อไทยในอนาคตอันใกล้ รวมถึงบทบาทของอาเซียนที่หลายคนมักยกให้เป็นพี่ใหญ่ว่าทำไมต้องมีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาในเมียนมา?

หลังจากการเยือนเมียนมาของรัฐมนตรีระหว่างประเทศของประเทศจีนที่ประกาศว่า “จีนต้องการมีอิทธิพลที่จะเป็นจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพในเมียนมา” การต่างประเทศของเรามีเจตจำนงตรงนี้หรือเปล่า กัณวีร์ เริ่มตั้งคำถามพร้อมกับให้ความเห็นว่า เหตุใดจีนถึงต้องการมีบทบาทหรือเป็นพี่ใหญ่ในการสร้างสันติภาพในเมียนมา เพราะเราต้องยอมรับว่า สิ่งที่ไม่อยู่เรดาห์ของการพูดคุยเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาเลย คืออิทธิพลของจีนที่มีต่อเมียนมาอย่างมากทั้งทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การทหารและความมั่นคง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากเราจะหยิบยกบทเรียนจากจีนคือ “จีนนี่เขาฉลาดมาก ๆ ถึงแม้จะมีชายแดนสั้นกว่าประเทศไทย แต่เขามองเรื่องยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน อย่างเช่นเรื่องการค้าหยกเป็นต้น” ที่เศรษฐกิจของรัฐบางรัฐอย่างรัฐฉานซึ่งแทบที่จะขึ้นอยู่กับอิทธิพลของจีนทั้งหมด แม้อย่างเป็นทางการ

“จีนอาจจะบอกว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของเพื่อนบ้าน แต่ในเชิงปฏิบัติเราก็เห็น ๆ ว่าเงินในรัฐฉานเข้ามากับใครในตอนนี้” ซึ่งสอดคล้องกับที่สื่อท้องถิ่นของเมียนมาอย่าง The Irrawaddy รายงานว่าจีนมีส่วนต่อการส่งอาวุธให้เมียนมาทั้งกองกำลังต่าง ๆ และทหารเมียนมา ซึ่งท้ายที่สุดอิทธิพลของจีนก็จะส่งผลต่อเมียนมาเป็นอย่างมาก แล้วเราในฐานะทวิภาคีกับเมียนมาไม่แสดงท่าทีอะไรเลยทั้งที่ผลกระทบจะเข้ามายังชายแดนของเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง “เราต้องกล้ายืนยันว่าจีนมีอิทธิพลมาก ประเทศไทยจะยอมหรือในการที่เราจะไม่มีจุดยืนใด ๆ ทั้งนั้น เราจะแค่ตอบสนองต่อสถานการณ์บางสถานการณ์ต่อไปเรื่อย ๆ” กัณวีร์บอกว่า เราต้องมองภาพกว้างกว่านี้ และต้องเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสันติภาพในเมียนมา “เราต้องเป็นเบอร์หนึ่งเราไม่สามารถเป็นเบอร์รองกับใครได้ประเทศไทยต้องชัดเจนในเรื่องนี้ว่า เราจะเป็นคนชูธงร่วมมือกับคนเมียนมา ร่วมมือกับ ชนเผ่า กองกําลังต่าง ๆ ร่วมมือกับทางกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ติดกับชายแดนไทยทั้งหมดว่าเราจะทําอย่างไรให้เกิดสันติภาพ”

“เราเป็นการทูตแบบ selfish หรือเห็นแก่ตัว ไม่ใช่การทูตแบบ salesman” กัณวีร์ แสดงความเห็นต่อนโยบายทางการทูตของรัฐบาลเศรษฐาที่ผ่านมาที่ไม่แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ในเมียนมา และไม่พยายามที่จะมีบทบาทในการผลักดันสันติภาพให้กับเพื่อนบ้าน เพราะหากถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของรัฐบาล และตลอดระยะเวลา 10 กว่าเดือนมานี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องเกี่ยวกับการจัดอันดับความสำคัญว่าสถานการณ์ในเมียนมามีผลกระทบต่อประเทศไทย

รัฐบาลไทยให้ความเห็นว่าฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน คือการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ต่อประเด็นนี้กัณวีร์ เสนอว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องกระโดดออกจากกรอบความคิดนั้นให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีจุดยืนที่มั่นคงและชัดเจน ปัจจุบันในฐานะที่เรามีอาณาเขตติดกับเมียนมายาวที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของเมียนมา แต่นโยบายของเราที่กำลังดำเนินการอยู่

“มีเพียงแค่การตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า” ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่ Progressive และ Proactive เหตุผลอะไรที่ทำให้กัณวีร์ วิจารณ์นโยบายในขณะนี้ว่าไม่ก้าวหน้าและไม่เร่งดำเนินการ นั่นคือการที่เรารอให้สถานการณ์ต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อเรา “เราถึงจะมีท่าทีบางอย่างเช่นสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยสงคราม ที่เรามีเพียงแค่กรอบของความมั่นคงในการดำเนินการทั้ง ๆ ที่เมื่อพิจารณาอย่างจริงจัง เรากลับเป็นเพื่อนบ้านของเมียนมาที่ได้รับผลกระทบเยอะที่สุด สิ่งที่รัฐไทยต้องมองให้เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีอิทธิพลกับเราอย่างไร ทั้งเรื่องการค้าชายแดน การค้าข้ามแดน และเรื่องมนุษยธรรมสิทธิมนุษยชน

แม้ข้อเสนอของกัณวีร์ไม่เป็นไปในทางเดียวกับฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน กัณวีร์ โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า “เราต้องมองข้าม หากเราอยากเห็นสันติภาพจริง ๆ เกิดขึ้นในเมียนมา ไม่ใช่ว่าฉันทมติของอาเซียนไม่ดี แต่ว่ามันไม่ practical” โดยให้เหตุผลสำคัญว่า เพราะกลไกที่ไม่ต่อเนื่องของอาเซียนไม่อาจแก้ไขปัญหาที่มีความรอบด้านและลุ่มลึกอย่างปัญหาในเมียนมาได้ chair person ต่าง ๆ อย่างเลขาธิการฯ และกลุ่มงานในอาเซียน เปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป ซึ่งถ้าอาเซียนอยากมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาและสร้างสันติภาพในเมียนมา อาเซียนจำเป็นต้องมีกลุ่มงานและคนที่ทำงานด้านเมียนมาโดยเฉพาะฝังตัวอยู่ในอาเซียน และเป็นกลุ่มงานที่อยู่อย่างถาวรไม่ใช่กลุ่มงานที่ตั้งขึ้นมาตามเฉพาะกิจเท่านั้น หรือถ้าหากมองย้อนกลับไปในขณะที่มีคนไทยนั่งเก้าอี้เลขาธิการอาเซียน

ยกตัวอย่างดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งขณะนั้นได้ใช้หลักการอย่าง Constructive Engagement (นโยบายพัวพันอย่างสร้างสรรค์ของอาเซียนต่อเมียนมา) ซึ่งกัณวีร์มองว่า ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่เราอาจจะต้อง Constructive Intervention (การใช้การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์) ที่ต้องใช้คำว่า “แทรกแซง” เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงทุกฝ่ายเข้ามามีบทบาทในการผลักดันสันติภาพ ซึ่งจำเป็นต้องยึด core value ด้วยกันสามประการ 1.Humanitarian ที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดคุณค่าที่สอง Development ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งคุณภาพชีวิต การศึกษา และการมีส่วนร่วมทางการเมืองคุณค่าที่ 3.Peace สันติภาพ จำเป็นจะต้องให้คนตรงนั้นมีส่วนร่วมให้มากที่สุด

กัณวีร์ ยอมรับด้วยว่า ส่วนตัวแล้ว อยากเห็นการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์จริง ๆ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อเรามีรัฐบาลที่มี political view เจตจำนงทางการเมือง มีความปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพ และได้รับความไว้วางใจ นี่คือบันไดขั้นแรก ที่จะทำให้เรามีจุดยืนต่อการแก้ไขปัญหาในเมียนมา

แต่ถ้าต้องวิจารณ์ทางการไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางการทูต ก็ต้องวิจารณ์ไปที่ตัวผู้นำของรัฐบาล “เพราะเราไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทางด้านการทูต จะไปโทษเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่ได้” เพราะตลอดเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา เรามีแต่เรื่องค้า ๆ ขาย ๆ และเรื่องลงทุนที่มองเห็นแต่เม็ดเงิน และคิดว่าเงินอาจจะแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ “เจตจำนงทางการเมืองของประเทศไทย ที่เราเห็นชัดเจนโดยนัยยะของมัน คือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้วยเม็ดเงิน จนลืมมองการสร้างความเจริญรุ่งเรืองโดยมนุษยชาติ” กัณวีร์บอกว่า นี่คือความเป็นจริงที่สะท้อนนโยบายทางการทูตของเราในขณะนี้ ปัจจุบันการทูตในการเดินหน้าขายของของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การทูตด้วยซ้ำ “เพราะเราเอาแต่มองว่าเราจะได้อะไรจากโลก แต่เรากลับไม่คิดเลยว่าโลกจะได้อะไรจากเรา” นี่นับว่า “เราเป็นการทูตแบบ selfish เห็นแก่ตัว ไม่ใช่การทูตแบบ salesman” เพราะสองด้านของงานทางการทูตคือ “เราต้องการอะไรจากเวทีระหว่างประเทศ แล้วคนอื่นเค้ามีความคาดหวังอย่างไร กับเราที่จะออกไปอยู่ในเวทีระหว่างประเทศ”

นโยบายด้านมนุษยธรรมก็ช้าเกินกว่าจะเยียวยา ทั้งผู้หนีภัยและผู้ลี้ภัยสงคราม ซึ่งต้องยอมรับก่อนว่า เราไม่ใช่ชาติแรกที่เจอสถานการณ์ภายใต้ปัญหาเฉพาะแบบนี้ เพราะยุโรป และอเมริกาเคยเจอปัญหาในลักษณะผู้ลี้ภัยมาก่อนเรา และเขามีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากเราที่มีกรอบความคิดแค่ว่า “กลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” และปฏิบัติตามแค่กรอบกฎหมายของคนเข้าเมือง

แม้จะมีการเรียกร้องทั้งจากภาคประชาชนและนานาชาติอยู่บ้างไม่ให้เกิดการส่งกลับ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง จะยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในบ้านประเทศไทยเลวร้ายลงไปอีก ตามคาดการณ์แม้จะไม่มีบันทึก เราจะมีคนเข้ามาอย่างน้อย ๆ หนึ่งล้านคน หรืออย่างน้อยที่สุดคือสามแสนคนที่กำลังรออยู่ที่ชายแดน และค่ายผู้ลี้ภัยต่าง ๆ โดยพื้นฐานคนเหล่านี้ไม่ได้มีความผิดอะไร “เขาผิดเพราะรัฐสมัยใหม่มีชายแดนเกิดขึ้น” การโยกย้าย และอพยพถิ่นฐานอยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นพัน ๆ ปี

“หากวันนี้เราไม่มองว่าคนเหล่านี้แตกต่างจากเรา เราสามารถดึงศักยภาพของแต่ละคนที่เขาไม่ สามารถเดินทางกลับไปประเทศต้นกำเนิดได้ มาอยู่ในส่วน หนึ่ง ของการพัฒนาชาติได้ เราก็จะได้กำลังคนอย่างมหาศาลมาทดแทนแรงงานด้านต่าง ๆ ที่เรากำลังขาดหาย

แม้เราจะมีกฎหมายว่าคนที่เดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมายจะต้องถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่ด้วยข้อตกลงที่เรามีต่อนานาชาติ ไม่อาจให้เราทำแบบนั้นได้ เพราะจะเป็นการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางที่ไม่มีความปลอดภัย ซึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมีตั้งแต่ วิศวกร พยาบาล และแรงงานทั่วไป งานบางประเภทแรงงานไทยไม่ทำแล้วด้วยซ้ำ เช่นแรงงานในภาคประมงและภาคก่อสร้างที่เหลือน้อยลงทุกวัน หากเราสามารถดึงศักยภาพเหล่านี้มาร่วมพัฒนาชาติได้ สร้างชาติได้ ก็จะยิ่งทำให้เรามีกำลังคนในภาคแรงงานได้  

“เราอยู่ในยุคสังคมสูงวัย แต่อยากเติบโตทาง GDP อย่างก้าวกระโดด” แล้วคำถามสำคัญคือ เราจะหากำลังคนที่ไหนมาทดแทนแรงงานที่กำลังขาดหายไป

ทั้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ในการแก้ไขปัญหาสันติภาพในเมียนมา ซึ่งไม่เพียงพอที่ใช้แค่กรอบความคิดใดความคิดหนึ่ง เพราะความรุนแรงและขัดแย้งครั้งนี้มีความท้าทายอย่างมาก แต่เมื่อเราไม่จุดยืนและท่าทีใด ๆ ต่อสถานการณ์ในเมียนมา ภัยเหล่านี้ก็จะยิ่งใกล้ตัวเราขึ้นเรื่อย ๆ กัณวีร์ เน้นย้ำว่า “ทุกวันนี้ก็ใกล้จนไม่รู้จะใกล้อย่างไรแล้ว”