สงครามเย็น 2.0 ใต้เงามหาอำนาจโลก - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค “ภูมิรัฐศาสตร์” เป็นหนึ่งในความสนใจที่ถูกพูดถึงในระดับนานาชาติ จากเสวนา “ไขปัญหาวิกฤต ภูมิรัฐศาสตร์โลก การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความท้าทายและบทบาทของไทย กับศูนย์เอเชียแปซิฟิก” เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 กับภาพสะท้อนบทบาท ความท้าทายของไทยในฐานะประเทศตรงกลางภูมิรัฐศาสตร์มหาอำนาจทั้งสองฝั่งดินแดน

“นี่คือสงครามเย็น 2.0 ระหว่างการแข่งขัน

ประเทศโลกเหนือและประเทศโลกใต้”

    

นิยามข้างต้นคือสถานการณ์ ณ ปัจจุบันของมหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกาในสายตาของ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียที่มองว่าการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจสองฝั่งโลก มีเป้าหมายสร้างสัมพันธ์กับประเทศตะวันออกกลางด้วยประเด็นอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ผ่านการครอบครองอำนาจฐานการผลิต พลังงาน ความสามารถทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ดร. ปิติ ชี้ให้เห็นการกลับขั้วกันของมหาอำนาจ ที่เดิมสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจฝั่งตะวันตก จับมือกับพันธมิตรเดิมในเอเชียแปซิฟิกสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์ใหม่ในดินแดนอินโดแปซิฟิก พร้อมด้วยความเข้มแข็งของประเทศฝั่งตะวันออกอย่างจีนและรัสเซียที่เริ่มต้นสร้างพันธมิตรมุสลิมในดินแดนตะวันออกกลาง หวังเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการเดินเรืออ่าวเปอร์เซีย ก้าวข้ามไปสู่การชิงอำนาจอธิปไตยบนไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) พัฒนาการเทคโนโลยีเพื่อครองพื้นที่เหนือกายภาพทางดินแดน

ปัจจัยการกลับขั้วมหาอำนาจ คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนอย่างก้าวกระโดด พร้อมทั้งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างจีน – รัสเซีย ที่ถือครองอำนาจการค้าเสรีเชื่อมต่อไปยังดินแดนตะวันออกกลาง [International North-South Transportation Corridor (INSTC)] สกุลเงิน BRICS (BRICS Digital Currency) ภายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว [บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้] สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความประจักษ์ถึงการสูญเสียทางอิทธิพลของสหรัฐในดินแดนฝั่งตะวันออก พร้อมทั้งความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐในช่วงเวลาปัจจุบัน

ระเบียบโลกใหม่ในสมรภูมิตะวันออกกลาง เปิดศึกช่วงชิงวาล์วน้ำมันโลก

หากกลับมาพิจารณาพื้นที่ยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศมหาอำนาจในดินแดนตะวันออกกลาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อสังเกตถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างดินแดนในตะวันออกกลางที่จางหายไปนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย – ยูเครน สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวของตะวันออกกลางในการให้ความสนใจจากประเทศมหาอำนาจ ณ วันนี้ ถือครองแหล่งทรัพยากรพลังงานใต้ผืนโลก โดยเฉพาะบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ จุดยุทธศาสตร์เส้นทางการค้าในทะเลแดง อ่าวเปอร์เซีย ภาพแทนการสงวนท่าทีในการแสดงจุดยืนของกลุ่มผู้นำในประเทศตะวันออกกลางอย่างอิหร่าน หรือ Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบียที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ เทคโนโลยีภายในดินแดนโดยไม่พึ่งพาภายนอกเป็นการป้องกันมิให้เกิดการแทรกแซงทางอิทธิพลของมหาอำนาจ วันนี้คู่ขัดแย้งทั้งหลายต่าง ‘เปิดหน้าชกอย่างตรงไปตรงมา’     

“ภูมิภาคตะวันออกกลางคือวาล์วน้ำมันของโลก หากใครคุมวาล์วน้ำมันนี้ได้ นั่นหมายถึงการคุมเศรษฐกิจและโลกนี้ได้”

คำอธิบายที่ดร. มาโนชญ์ วิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างดินแดนมหาอำนาจและตะวันออกกลางคือ “การเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก” ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับระเบียบในแต่ละดินแดนอย่างมีนัยสำคัญระเบียบโลกที่วันนี้อยู่ในภายใต้อิทธิพลของจีนและรัสเซีย พยายามเข้ามาแทนที่บทบาทของสหรัฐอเมริกาในดินแดนตะวันออกกลางผ่านนโยบายระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม การลงทุนทางด้านการค้า พร้อมทั้งเป็นบุคคลกลางในการเจรจาความขัดแย้งในภูมิภาค ซึ่งต่างจากสหรัฐอเมริกาที่ใช้วิธีแทรกแซงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างดินแดนด้วยความมั่นคงทางกองทัพ 

วิธีการสร้างสัมพันธ์ในดินแดนตะวันออกกลางของจีนและรัสเซีย เปรียบเสมือนการใช้สันติภาพทางการค้าเป็นอาวุธในการพังทลายอิทธิพลอำนาจของสหรัฐอเมริกา การสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เอื้อหนุนระหว่างจีน รัสเซีย ดินแดนตะวันออกกลาง จึงได้ซุกซ่อนความหวังที่ต้องการจะสกัดกั้นอำนาจในดินแดนทรัพยากรของสหรัฐอเมริกา และนับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงเวลาปัจจุบันที่อำนาจทางเศรษฐกิจพลิกขึ้นมามีบทบาทแทนความเข้มแข็งทางการเมือง

ไทยเสี่ยงหลุดออกจากระเบียบโลก แนะแสวงหาพันธมิตรทางเทคโนโลยี

จะเห็นได้ว่า นโยบายระหว่างประเทศของแต่ละดินแดน คือเข็มทิศในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง การลงทุนทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค นโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศของจีน รัสเซียกับดินแดนตะวันออกกลาง นำมาสู่การยอมรับว่าจีนและรัสเซียก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในประเทศโลกใต้ สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีคนใหม่ จึงเป็นความท้าทายของผู้สมัครชิงตำแหน่งถึงการกำหนดนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศที่ต้องป้องกัน ควบคุมการแทรกแซงของมหาอำนาจโลกใต้

บทบาทและความท้าทายของประเทศไทยอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มขั้วอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น ในความคิดเห็นของ ดร. ปิติ และ ดร. มาโนชญ์ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางว่าเป็นโจทย์สำคัญของผู้นำประเทศในการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อสถานการณ์โลก ณ ปัจจุบัน ผ่านการดำเนินการนโยบายระหว่างประเทศมหาอำนาจ ประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมไปถึงการลงทุนทางธุรกิจระหว่างภูมิภาค แม้สถานการณ์ความร่วมมือระหว่างไทยและดินแดนในภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีจากการร่วมลงนามการค้าการลงทุนทางธุรกิจระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย 

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐ การตัด GSP (Generalized System of Preferences) ยกเว้นภาษีศุลกากรสินค้าไทยที่นำเข้าไปยังสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในท่าทีความไม่พึงพอใจของสหรัฐอเมริกาจากกรณีการสั่งซื้อยุทโธปกรณ์จากประเทศจีนของไทย นับรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำสหรัฐและไทย ที่เว้นวรรคการสานความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง การไม่เรียนเชิญการเข้าร่วมประชุมผู้นำประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีผู้นำการประชุมเป็นสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้ สะท้อนถึงมุมมองที่ประเทศมหาอำนาจพิจารณาภาพลักษณ์ของไทยในระดับประชาคม รวมไปถึงอิทธิพลของสหรัฐ ที่ในตอนนี้ ไม่อยู่ในจังหวะเวลาที่ไทยจะเข้าไปมีบทบาทได้อย่างเต็มรูปแบบ

ในด้านมหาอำนาจโลกใต้ ตราบที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางสงครามในรัสเซียและยูเครนยังดำเนินต่อไป ทิศทางนโยบายระหว่างประเทศของไทยที่ยังไม่เกาะกลุ่มความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทวิภาคี อาจทำให้ในวันที่โลกสงบลง ไทยจะหลุดออกจากระเบียบโลก สูญเสียโอกาสของประเทศ ผลประโยชน์ของประชาชน การร่วมมือในระดับนานาชาตินั้น ไม่ใช่การแสดงออกว่าประเทศไทยเลือกข้างพันธมิตรท่ามกลางความขัดแย้ง แต่หมายถึงการเข้าร่วมเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระดับนานาชาติ พร้อมไปกับการพัฒนาทางด้านโนโลยี หนึ่งในปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนจากคำแถลงนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันต่อรัฐสภา ที่ตำแหน่งผู้นำทางเทคโนโลยีการผลิตของจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง จะกระชากเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของไทย (Disruptive Technology)

แม้วันนี้ไทยยังไม่พร้อมเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการผลิต แต่การแสวงหาพันธมิตรทางการลงทุน พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดประตูให้ไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมที่โอบล้อมไปด้วยแหล่งทรัพยากรการผลิตและเทคโนโลยี 

“ผลประโยชน์ของประเทศไทย หรือ ใคร?”

ความมั่นคง ความมั่งคั่ง พลังอำนาจของชาติในมิติต่าง ๆ ความภาคภูมิใจของชาติ (ซึ่งไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ หรืออำนาจในการครอบงำ) คือสี่องค์ประกอบ ที่ ดร. ปิติกล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า เป็นหลักใหญ่สำคัญที่ผู้นำประเทศควรยึดถือเป็นผลประโยชน์ของชาติ

“ต้องแบ่งแยกอย่างชัดเจน ระหว่างผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ครอบครัว ผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะมีหลากหลายกรณี ที่นโยบายภาครัฐถูกจัดทำขึ้นมาเพียงเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่กลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งซ้อนทับกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ”

การแบ่งแยกนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติให้เด็ดขาด ไม่ปะปนกับผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ครอบครัว ผลประโยชน์ทางธุรกิจ เป็นอาวุธที่จะใช้รักษาอำนาจทางการต่อรองผลประโยชน์กับประเทศมหาอำนาจ ที่ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจซีกโลกหรือใต้ ไทยจะสามารถเจรจาต่อรองผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและสันติ เป็นพันธมิตรที่ประเทศมหาอำนาจยอมรับที่จะดำเนินการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ผลประโยชน์ของชาติที่ยังซ้อนทับกันนั้น เป็นสิ่งเดียวกับปัญหาที่ประเทศภายใต้ระบอบอธิปไตยมีปฏิสัมพันธ์กับไทยในทิศทางถดถอย ในมุมหนึ่ง อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากระบอบการปกครองของประเทศ หากแต่ใจกลางปัญหาของไทยคือความอ่อนแอในด้านธรรมาภิบาล หลักนิติธรรมที่มีความโปร่งใส เป็นผลให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนทางธุรกิจ การพัฒนาทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่มีต่อไทยมีความศรัทธาที่ลดน้อยลงตามไปด้วย  

แม้แต่กรณีของสิงคโปร์ที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ก็สามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคได้ ด้วยการยึดถือหลักธรรมาภิบาล แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม เพราะวันนี้ไทยยังขาดอำนาจการเจรจาต่อรองในระดับเวทีโลก ซึ่งหนึ่งในกลไกการต่อรองสำคัญ คือการมีบทบาทเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน

นอกเหนือการเล่นบทบาทผู้นำประชาคม คือความชัดเจนในการแสดงจุดยืนของรัฐบาล ท่าทีผู้นำที่มีต่อการแสดงทัศนะในระดับนานาชาติ ที่เป็นภาพลักษณ์ ภาพสะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศพันธมิตร ที่สร้างการรับรู้ในระดับสากลได้อย่างแข็งแกร่ง ร่วมไปกับการวางรากฐานทางนโยบายระหว่างประเทศ เตรียมการตั้งรับ แสดงออกทางจุดยืนที่มีต่อกลุ่มประเทศพันธมิตรในแต่ละสถานการณ์ เพราะการแสดงออกอย่างเป็นกลางทางนโยบายระหว่างประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ประเมินได้ยากยิ่งจากมุมมองของนานาประเทศ อีกทั้งดินแดนในหลากหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ ดร. มาโนชญ์กล่าวย้ำเตือนถึงความท้าทายอันซับซ้อนในสถานการณ์ความร่วมมือภายในดินแดนที่ผู้นำของไทยต้องไม่ติดกับดักการทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้ง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง