ดงมะไฟ อาหารของเรา แผ่นดินของเรา - Decode
Reading Time: 4 minutes

อาหารกาลกิน

กฤช เหลือลมัย

…น้ำชุ่มดินดำ พงไพรเถื่อนถ้ำ หมื่นล้ำผาหิน

ปู่ย่าทำกิน พร้าวตาลหวานลิ้น ง้วนดินกลิ่นหอม

ผืนดินถิ่นเก่า นับเนื่องนานเนา ขุนเขาโอบล้อม

ลำทรายไหลอ้อม เรือนทับกระท่อม ท้องทุ่งริมทาง

ไม้กลายเป็นหิน ดินกลายเป็นทราย นับหลายชั่วรุ่น

ลมฝนโคลนฝุ่น ขุ่นฝังฝั่งคู เป็นภูผากว้าง

บ้านใหม่เมืองเก่า บางเบาแน่นเนือง รุ่งเรืองรกร้าง

มือคนร่วมสร้าง ร่วมมลายล้าง ต่าง ๆ นานา..

สมัยผมเป็นวัยรุ่นอยู่ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี กระทั่งเข้าไปเรียนไปทำงานด้านโบราณคดีในกรุงเทพฯ นั้น การระเบิดเขาหินปูนที่เทือกเขางู ในเขตอำเภอเมือง ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน กำลังถูกประท้วงคัดค้านอย่างหนัก จำได้ว่าผมเองก็ยังได้ร่วมกับเพื่อน ๆ ในชมรมนักโบราณคดีสมัครเล่น จัดกิจกรรมค่ายเด็กนักเรียนในพื้นที่ ให้พวกเขามาเรียนรู้แหล่งถ้ำโบราณพันปีสมัยทวารวดีบนเทือกเขา รับรู้ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ในช่วงท้าย ๆ ก่อนที่โรงโม่หินและกิจการระเบิดหินที่เขางูจะยุติลงโดยสิ้นเชิง ช่วงทศวรรษ 2530

แล้วเมื่อครั้งเรียนอยู่มัธยมต้น ผมมีเพื่อนสนิทอยู่เขางูคนหนึ่ง เขามักเล่าเสมอว่า เวลาระเบิดหิน เสียงจะดังน่ากลัวมาก ฝุ่นหินฟุ้งคลุ้งตลบพื้นที่ จนบางทีถ้าเผอิญอยู่นอกบ้านก็ต้องหลบหมอบกับพื้นเอาเลย แล้วส่วนใหญ่ต้องตรวจเช็คสภาพปอดกันทุกครึ่งปี 

การระเบิดหินที่เขางูเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังได้ทำลายเทือกเขาไปมาก รวมทั้งยอดเขาสำคัญต่าง ๆ ที่รัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ในจดหมายเหตุครั้งเสด็จประพาส และคงมีถ้ำโบราณหลายแห่งที่สาบสูญไปในช่วงนั้นด้วย เหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้เพียงถ้ำฤาษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ ซึ่งมีพระพุทธรูปสลักบนผนังถ้ำ อายุร่วมพันปี ประดิษฐานอยู่ภายในเท่านั้น

ผมไม่ได้เชื่อหรอกครับว่า ความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของถ้ำหินปูนหลายแห่งบนเทือกเขางูจะยับยั้งการระเบิดหินได้ สมัยนั้นผมยังเด็ก แล้วเรื่องมันก็นานมาแล้ว จนไม่รู้จะไปสอบถามใคร ว่ามีเหตุปัจจัยอื่นใดบ้างที่ทำให้โรงโม่หินเขางูต้องย้ายไปเขาสามง่าม เขาพระเอก และเขาอื่น ๆ ใกล้เคียงในเขตอำเภอจอมบึงแทน ผมเพิ่งมาเห็นเหตุปัจจัยเหล่านั้นเอาจากการได้รับรู้ กรณีต่อสู้คัดค้านการระเบิดหินและการตั้งโรงโม่หิน ของขบวนการชาวบ้านดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง

หล่อกลองสำริด ลายดวงอาทิตย์ เป็นมโหระทึก

ตีฆ้องก้องกึก กลางพนาพฤกษ์ เหนือลานหน้าผา

เสียงกบเสียงกลอง เสียงสวดเสียงซร้อง เรียกฝนบนฟ้า

นาแฮกหว่านกล้า หมาเก้าหางพา ข้าวฟ้าลงดิน..

ในทางโบราณคดี กลุ่มเขาหินปูนอย่างภูผายา ผาฮวก เขตตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับกลุ่มวัฒนธรรมร่วมสมัยทวารวดีที่ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีนี้ ได้พบหลักฐานโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยที่คนยังใช้เครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน เครื่องมือเหล็ก อย่างขวานมีบ้อง จอบ เหล็กสกัดแบบต่าง ๆ ที่โถงถ้ำบนภูผายา ซึ่งผนังด้านหน้าถ้ำมีภาพเขียนสีแดงเป็นรูปลายเรขาคณิต รูปมือแดง รูปคน ทั้งมีพื้นที่ราบปากถ้ำเป็นลานที่อาจทำพิธีกรรมได้สะดวก และที่สำคัญ พบกลองมโหระทึกสำริดแบบ heger 1 ขนาดใหญ่ บนลาดเขาภูผาซาง ในบริเวณใกล้กัน แสดงถึงความสำคัญของชุมชนเขตภูผายาที่ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีสมัยโลหะในเวียดนาม ลาว และภาคอีสานของไทย ตั้งแต่ราว 2500 ปีมาแล้ว

กลองสำริดใบนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดศิริธรรมพัฒนา ส่วนโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ยังพอหลงเหลือ อยู่ในการดูแลของวัดถ้ำภูผายาธรรมสถิต

เมื่อยืนอยู่บนที่ราบ หรือกระทั่งลาดเนินเขาลูกใดลูกหนึ่ง มองไปรอบ ๆ จะเห็นความเด่นตระหง่านของเขาหินปูนลูกโดดผุดโผล่เป็นจังหวะ โดยเฉพาะภูผายา ที่มีลักษณะจอมเขาขนาดใหญ่ เป็นหมุดหมายสำคัญทั้งทางความเชื่อ และการกำหนดทิศในการเดินทางสมัยโบราณ

ลักษณะเช่นนี้ เป็นที่หมายตาของกิจการโรงโม่หินในงานอุตสาหกรรมก่อสร้างเช่นกัน

พรหมอยู่แดนฟ้า ลงมาดูดกิน ง้วนดินกลิ่นหอม

กินห้วยกินทุ่ง บุ่งทามกระท่อม ทั่วทุกท้องถิ่น

กินวัวกินควาย กินไก่กินปลา ผักหญ้าล้วนกิน

สูบเลือดเนื้อสิ้น ทุกภูเนินดิน เขาหินปูนทราย…

จากที่ได้พูดคุยกับนักกิจกรรมที่เข้าร่วมคัดค้านโรงโม่หินดงมะไฟมาตั้งแต่ต้น อย่าง ‘เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์’ และบรรดา “แม่ ๆ” ชาวบ้านผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้ด้วยตัวเอง อย่างแม่ลำดวน วงศ์คำจันทร์ ผมพอสรุปลำดับเรื่องคร่าว ๆ ได้ว่า มันเริ่มมีการเข้ามาสำรวจพื้นที่บริเวณภูผายาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได คัดค้านไม่ยอมให้มีการทำเหมืองอย่างเด็ดขาด เริ่มหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเหมือง สร้างความเชื่อมั่นในหมู่ชาวบ้านด้วยพิธีดื่มน้ำสาบานว่าจะร่วมกันต่อสู้เรื่องนี้จนถึงที่สุด

การคัดค้านยืดเยื้อมาจนถึงปี พ.ศ. 2542 – 2543 ช่วงนั้นมีแกนนำชาวบ้านถูกลอบยิงเสียชีวิตถึง 4 คน โดยเฉพาะกำนันตำบลดงมะไฟ นายทองม้วน คำแจ่ม ซึ่งกลุ่มชาวบ้านถึงกับแห่ศพไปเรียกร้องความเป็นธรรมที่ศาลากลางจังหวัด และจนกระทั่งปัจจุบัน ศพกำนันทองม้วนยังคงฝังอยู่ท่ามกลางดงไม้ใหญ่ร่มรื่น ข้างวัดศิริธรรมพัฒนา ด้วยความหวังของเหล่าญาติที่ว่า เปลวเพลิงแห่งความยุติธรรมเท่านั้น จึงสามารถกระทำฌาปนกิจครั้งนี้ได้ดีที่สุด

กลุ่มชาวบ้านได้ชุมนุมปิดกั้นเส้นทางเข้าออกภูผาฮวก ป้องกันไม่ให้มีการติดตั้งเครื่องจักรกลในพื้นที่ จนมีการสลายการชุมนุม มีชาวบ้านถูกดำเนินคดี แต่ทางกลุ่มก็ตอบโต้โดยยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนประทานบัตรผิดกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมใช้เวลา 3 ปี จึงมีคำสั่งเพิกถอนใน พ.ศ. 2547

อย่างไรก็ดี ถึงปี พ.ศ. 2553 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษา คืนประทานบัตรให้บริษัทสามารถระเบิดหินต่อไปได้จนถึง พ.ศ. 2563 การชุมนุมคัดค้านต้องเริ่มกันอีกครั้ง ในที่สุดนำมาซึ่งการตั้ง “หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี” ปิดกั้นทางเข้าเหมืองโดยสิ้นเชิง หมู่บ้านจัดตั้งแห่งนี้นับเป็นฐานที่ตั้ง จุดพัก ห้องประชุมวางแผน เวรยามรักษาความปลอดภัย ฯลฯ ที่ขับเคลื่อนขบวนการต่อต้านอย่างแท้จริง

มันกลายเป็น “บ้านหลังใหญ่” ของคนดงมะไฟผู้หาญกล้าลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่เหนือกว่า ด้วยทุกหนทางที่มือเท้าของพวกเขาจะสามารถทำได้จริง ๆ ผมคงไม่อาจเล่ารายละเอียดภารกิจตลอดช่วงเกือบสามสิบปีได้หมดนะครับ ผู้สนใจอาจสืบค้นได้ไม่ยาก แต่ในที่สุดแล้ว ชัยชนะก็เป็นของชาวบ้าน โดยบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินกิจการโรงโม่หินต่อไปได้ จำต้องขนย้ายเครื่องจักรกลทั้งหมดออกจากพื้นที่ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563 

หลังจากนั้น กระบวนการที่ชาวบ้านร่วมกันคิดร่วมกันทำก็เริ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่า ปลูกต้นไม้เพิ่ม เก็บเมล็ดพันธุ์ พยายามยื่นหนังสือขอรื้อฟื้นคดีลอบสังหาร 4 ศพ ไม่ให้มีคนลอยนวลพ้นผิด ตลอดจนคิดถึงแผนการส่งต่อผืนแผ่นดินนี้แก่เยาวชนคนรุ่นต่อไป

งาน “เทศกาลอาหารบ้านป่าดงมะไฟ” ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 หลังการปิดเหมืองสำเร็จครั้งนี้ ก็มีขึ้นที่ “จัดตั้ง” คือบริเวณหมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคีนี้เองแหละครับ 

“เงื่อนไขที่ช่วยผลักดันให้พวกเราชนะ มันมีหลายส่วนด้วยกัน” เลิศศักดิ์ลำดับเรื่องราวให้ฟัง เมื่อผมสงสัยว่า ลำพังการรวมต่อต้านของชาวบ้าน ที่แม้จะเข้มแข็งแค่ไหน แต่ก็ไม่น่าจะประสพผลได้ง่าย ๆ มันน่าจะมีตัวช่วยอื่น ๆ หรือเปล่า “ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาสู้เต็มที่ ในจำนวน 5 หมู่ที่ได้รับผลกระทบ น่าจะมีราวร้อยละ 10 ของทั้งหมู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดตอนนั้นก็ตัดสินใจไม่ถูก ว่าจะอยู่ตรงไหน เลยไม่ขัดขวางอะไรนัก ส่วนตำรวจ กรณีเราเขาไม่มายุ่งอะไร คือส่วนใหญ่แค่มาสังเกตการณ์ แต่ไม่ได้กวดขันมาก อีกอย่างคือ คนที่มีอำนาจในระบบราชการ ที่จะช่วยเหลือบริษัทระเบิดหิน มีไม่มากนัก แถมยังไม่มีอำนาจหรือกฎหมายที่สามารถเอื้อให้เกิดความเชื่อมโยงกับอำนาจอื่น ๆ ได้ ส่วนฝ่ายบริษัท ก็คิดไม่ถึงว่าจะถูกต่อต้านแข็งขันขนาดนี้ คือคาดผิดนั่นแหละ”

เลิศศักดิ์ เคยคำนวณว่า เมื่อพิจารณาขนาดของเขาหินปูนเป้าหมายการระเบิด อย่างเช่นภูผายา ซึ่งมีพื้นที่ไม่มาก น่าจะทำอยู่ได้ไม่เกิน 5 – 6 ปี หินก็คงหมด แต่ผลกระทบคงอยู่กับผู้คนตลอดไป เพราะว่าพื้นที่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงหมดแล้ว

“ตอนที่กรมศิลปากรมาสำรวจผลกระทบ เรารู้สึกว่า เขาไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ ก็น่าแปลก เพราะว่าพบของเก่าของโบราณเยอะมาก หรืออย่างการประเมินของป่าไม้ ก็บอกว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่สำหรับคนพื้นที่ อย่างแม่ลำดวนนี่เขาจะพูดเสมอว่า มันเป็นต้นน้ำสำคัญนะ มีพืชผักมาก มีป่าฮวกที่อุดมสมบูรณ์ เรียกว่าคนตำบลดงมะไฟกินหน่อฮวกจากป่าแถบนี้แหละ” ผมไม่รู้ว่า การประสานกันระหว่างกรมศิลปากรกับชาวบ้านกรณีนี้เป็นอย่างไร แต่ตามหลัก เขาต้องเข้าสำรวจพื้นที่ แล้วแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ให้ความสำคัญกับแหล่งภาพเขียนสีที่มีภาพหลายต่อหลายถ้ำเช่นนี้ เรื่องนี้ก็เลยดูลึกลับน่ากังขาอยู่

แต่ถ้าเป็นประเด็นป่าไม้ เป็นไปได้ว่า การจัดประเภทป่าของหน่วยงานไทยนั้นไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่นัก เช่นถ้าให้ไปจัดประเภทป่าบุ่งป่าทามในอีสาน ซึ่งสำคัญต่อชุมชนมาก ก็คงจะเป็นได้แค่ป่าเบญจพรรณ หรือกระทั่งป่าเสื่อมโทรมเช่นกัน

อย่างที่บอกว่า แม้ผมเองจะเคยร่วมสนับสนุนขบวนการยกเลิกสัมปทานระเบิดหินมาบ้าง เช่นที่เขางู ราชบุรี และเขาสมอคอน ลพบุรี แต่ก็เพิ่งได้รับรู้พลังอันเด็ดเดี่ยวของชาวบ้านดงมะไฟ ในการร่วมแรงร่วมใจยาวนานร่วมสามสิบปี

แม่ใหญ่ต้อย สุวรรณสนธ์ เล่าว่า ช่วงท้าย ๆ ทางเหมืองยอมแพ้ เคลื่อนย้ายรถโมบายล์ย่อยหินออก แล้วชาวบ้านมายืนเข้าแถวไล่นั้น เธอมีความรู้สึกว่า “สองมือสองตีนของเรา มันไล่เขาออกไปได้จริง ๆ ตอนนี้ถนนเส้นนี้บ่ใช่ของนายทุน เป็นของชาวบ้านแล้ว” 

……………………………..

เราคว่ำกลอง รองน้ำสาบานดื่ม  ไม่ให้ลืมสะแนนขวัญอันสืบสาย

แม้นสิ้นสูญมูนมังบังอบาย ดงจะวาย เนินจะปราบลงราบเตียน

กระดูกเราระเหิดไปในห้วยแห้ง   เลือดเราแดงสดใหม่ในภาพเขียน

ลมหายใจเราทุกคนยังวนเวียน    ในกลิ่นธูปเปลวเทียนเหนือฐานพระ..

ผมไปถึง “หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี” ก่อนงานเทศกาลอาหารบ้านป่าดงมะไฟ วันที่ 12 – 13 สิงหาคม งานนี้ ชาวบ้านและเครือข่ายร่วมกันจัดเพื่อรำลึกครบรอบ 4 ปีที่สามารถปิดเหมืองได้สำเร็จ การพบปะกันในงานปีนี้นับเป็นความพยายามก่อรูปธรรมสู่เป้าหมายที่ตั้งหวังกันไว้ คือ 

ปิดเหมืองหินและโรงโม่

ฟื้นฟูภูผาป่าไม้

พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว

โดยเลือกใช้ “อาหารของเรา” เป็นบทสนทนาบทแรกต่อโลกภายนอก

ในงานทั้งสองวัน จึงจะมีทั้งซุ้มของ “ผา” ต่าง ๆ เช่น ผายา ผาฮวก เอาของกินแซบ ๆ วัตถุดิบดี ๆ มาตั้งให้ดูให้ชิมกัน มีซุ้มกองกลาง ที่ระดมเอาพืชผักซึ่งเก็บหาได้ช่วงฤดูฝนกว่า 50 ชนิดมาอวด มาชี้แจงแสดงหน้าตา รสชาติ สรรพคุณ และวิธีทำกิน มีการเชื้อเชิญเชฟหนุ่ม – คุณวีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ จากร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ เมืองอุดรธานี มาสาธิตสูตรอาหารใหม่ ๆ ที่ประยุกต์ใช้วัตถุดิบเห็ดป่านานาชนิด และวันสุดท้าย มีการประชันรสมือจากซุ้มผาต่าง ๆ ให้ผู้เข้าร่วมงานทดลองชิม แถมลงคะแนนตัดสินกับข้าวยอดนิยมในงานครั้งนี้ด้วย

วันแรกที่ผมมาถึง เลิศศักดิ์และพ่อสมร เจ้าของบ้านโฮมสเตย์หน้าภูผายาที่ผมไปพัก พาไปดูถ้ำที่มีภาพเขียนสี ในเขตวัดถ้ำภูผายาธรรมสถิต นอกจากได้ดูภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้เห็นโบราณวัตถุจำนวนมากในศาลากลางสระน้ำในวัด ผมยังพบว่า รอบ ๆ เชิงเขา ระหว่างทางเดินขึ้นไปดูภาพเขียนสีนั้น มี “ไม้แดก” หลายชนิดขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติ เท่าที่เห็นเร็ว ๆ ก็มีเพกา ฝอยทอง เครือเขือง บุก กำจัด คาวตอง ผักคราด ตะคร้ำ ส้มลม ฯลฯ ผมเลยไม่ตกใจมากนัก เมื่อพบความอลังการของผักหญ้าผลาหารที่แต่ละผาเก็บมาอวดที่ซุ้มในวันงาน แต่ที่ตื่นตามาก ๆ คือเห็ดที่เก็บได้จากป่าข้าง ๆ ที่จัดงานนั่นเองครับ มีเห็ดโคน เห็ดปลวก เห็ดผึ้ง เห็ดตะไค เห็ดก่อ เห็ดหน้าขาว เห็ดระโงก เห็ดน้ำหมาก และเห็ดตีนแฮด

พื้นที่ดงมะไฟ คือแหล่งอาหารธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์จริง ๆ

กับข้าวของชาวบ้านทั้ง 5 ผาที่ทำมาให้ผู้ร่วมงานชิมนั้น อาจเรียกว่าเป็นไฮไลท์ของงานทีเดียวครับ เพราะว่าปรุงจากวัตถุดิบในพื้นที่ โดยพ่อครัวแม่ครัวที่เชี่ยวชาญอาหารบ้าน ๆ อย่างแท้จริง ความที่มัวแต่ชิม ผมเลยจดมาได้แค่สั้น ๆ

ผายา ทำอ่อมปูนา แจ่วเห็ดไค

ผาฮวก ทำก้อยหมากลิ้นฟ้า

ผาซาง ทำแกงหน่อไม้ ซุบเห็ดไค 

ผาซ่อน ทำป่นกบ ส้มหน่อไม้

ผาจันได ทำก้อยหอยเชอร์รี่

มีการชิม ให้ดาวคะแนนรวม ทั้งด้านรสชาติและหน้าตาสำรับด้วยนะครับ ผู้ชมผู้ชิมลงคะแนนให้อ่อมปู และแจ่วเห็ดไคของชาวบ้านผายาได้คะแนนสูงสุด ชนิดที่ว่าเฉือนกันหวุดหวิดกับหลายหมู่บ้าน ก็แน่นอนล่ะครับ เพราะว่ามันอร่อยแทบจะเท่ากันหมด ผมนี่อยากบอกดัง ๆ เลยว่า รสชาติที่ชาวบ้านกินจริง ๆ นั้น แตกต่างจากในร้านอาหารโดยสิ้นเชิง กล่าวคือมันนัวเนียนมาก ๆ ไม่ได้เผ็ดจัด เปรี้ยวเค็มหวานจัด เหมือนที่คนกินผู้มาจากวัฒนธรรมอื่น ๆ คิดแทนให้ด้วยความรู้สึกของตนเองเอาเลย

คำอธิบายสั้น ๆ ของคนทำก้อยหอยเชอร์รี่จากผาจันไดดูจะชัดเจนที่สุดครับ “กับข้าวแบบนี้ ลูกหลานเราก็ยังกินอยู่ แต่เขาอาจยังทำไม่เป็น เราก็พยายามรักษาไว้ ของธรรมชาติบ้านเราทั้งนั้นนะที่เอามาทำ คิดดูสิว่าถ้าเหมืองมา ไม่เหลือแน่นอน คงต้องกินทอดหินกันละ” เสียงปรบมือและเสียงหัวเราะขื่น ๆ ดูจะสนับสนุนคำพูดนี้ได้ดี

ผมพยายามลองคุยกับชาวบ้านหลายคน เพราะอยากรู้ว่า “ความรู้” ของวัตถุดิบอาหาร กับข้าวกับปลาที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้กระจายตัวมากแค่ไหน ก็พบว่า แทบทุกคนรู้จักผักหญ้าปลาเห็ดเหล่านี้ดี รู้ในระดับลึกซึ้งซับซ้อนถึงฤดูกาล รสชาติเฉพาะ ความหลากหลายของพันธุ์ ตลอดจนวิธีปรุงที่แตกต่างหลายแบบ เรียกได้ว่าพวกเขารู้จักอาหารของตัวเอง เข้าใจเงื่อนไขดินฟ้าอากาศ พื้นที่ เวลา มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดินนี้จริง ๆ

คงต้องเล่าเสริมด้วยว่า พวกเราบางคนซึ่งเข้าไปมีส่วนในการจัดงาน ต่างก็รู้ดีว่า กับข้าวชาวบ้านส่วนใหญ่ในประเทศนี้ยังติดการใส่ผงชูรสอยู่ จึงได้ลองท้าทายเบื้องต้นไว้ว่า ในเมื่อวัตถุดิบของดงมะไฟดีขนาดนี้ แล้วทำไมพวกเราไม่เพลา ๆ หรือเลิกใส่ผงชูรส ผงปรุงรสในกับข้าวกันบ้างล่ะ ตอนนั้นผมแอบเห็นสีหน้าไม่แน่ใจ เสียงกระซิบพึมพำเบา ๆ แสดงความสงสัย “แล้วมันจะอร่อยหรือ” อย่างไรก็ดี ในวันประลองจริง พวกเขางดเว้น ไม่ใส่มันโดยพร้อมเพรียงกันเลยทีเดียว

ผลของการไม่ใส่ผงชูรสและผงปรุงรสในอาหารที่ “เอาของธรรมชาติบ้านเรามาทำทั้งนั้น” นี้ก็คือรสชาติที่แสนจะกลมกลืนเป็นธรรมชาติ พอผมได้ยินเสียงดังมาจากหม้อแกงหน่อไม้บ้านผาซางว่า “เออ เราไม่เห็นต้องใส่ มันก็แซบอยู่นี่นา” แล้วก็แอบดีใจอยู่ลึก ๆ ครับ

ผมเองเป็นคนที่ทำกับข้าวไม่เคยใช้ผงชูรสเลย แม้จะเข้าใจอยู่ว่า มันทำหน้าที่ประสานรสชาติยังไง และการใช้ไม่มากก็ไม่ส่งผลร้ายจนน่ากลัว แต่ไอ้การเจ้ากี้เจ้าการประสานรสชาตินั่นแหละ ที่ผมไม่ประสงค์ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในหม้อกับข้าวของผม

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าผมทำต้มแซบ ผมย่อมต้องการให้กลิ่นและรสเครื่องปรุงสมุนไพรสดสายร้อนสายเผ็ดในหม้อนั้นระเบิดเข้าใส่กันแบบเต็มพิกัด ชนิดตูมตรงนั้น บึ้มตรงนี้ ถ้าผมดันใส่ผงชูรส มันจะไปควบคุมพลังพวกนั้นจน “เชื่อง” ได้รสกลม ๆ แน่น ๆ มาแทน ลองสังเกตต้มแซบบางร้านดูสิครับ จะเป็นแบบนั้นแหละ ใครชอบก็ใช้ไป ไม่ได้เป็นความผิดหรอก

ถ้ากับข้าวชาวดงมะไฟ ซึ่งต่อไปจะทำหน้าที่บทสนทนากับผู้มาเยือน มีลักษณะเฉพาะตัว รสชาติจริงใจตามธรรมชาติ กระทั่งสอดคล้องกับกระแสอาหารสุขภาพในโลกสมัยใหม่ คืองดเว้นสารปรุงแต่งที่ไม่จำเป็น กระทั่งอาจเป็นภาระตกค้างต่อระบบคัดกรองของเสียในร่างกาย มันก็คงเป็นประตูบานแรก ๆ ที่จะเปิดรับการไปมาหาสู่ มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อย่างสง่างามสมภาคภูมินะครับ

เห็ดทุกดอกงอกจากรอยเท้าผู้เฒ่า  กบในกลองสำริดเก่าอยู่กลางสระ

ฝ่ามือแดงประทับผ่านการปะทะ  ชัยชนะอุบัติด้วยน้ำมือมนุษย์..

ร่วม 30 ปีอันยาวนานของการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอิสรภาพของชีวิตบนดินแดนมาตุภูมิ 

4 ปีของชัยชนะที่นำมาสู่วิถีสามัญและการก้าวเดินด้วยตนเอง 

นับถึงวันนี้ คงเป็นจุดเริ่มต้นของการ “พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว” สมดังเจตนารมณ์ร่วมของชุมชนดงมะไฟแล้ว

เลิศศักดิ์พูดเกริ่นสั้น ๆ ไว้ในช่วงท้ายของงานว่า “ปีนี้เป็นปีแรก ที่งานรำลึกของเราไม่ตอบคำถามเก่า คือเรื่องการต่อสู้ต่อต้าน ชัยชนะต่าง ๆ แล้ว มันเริ่มไปถึงเรื่องวิถีชีวิต อย่างข้าวปลาอาหารของเรา มันถูกเอาออกมาแสดง นี่ทำให้เราต้องคิดต่อถึงมุมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญด้านอาหาร เรื่องอธิปไตยทางอาหาร มันเป็นเรื่องที่เราต้องทำกันต่อไป” 

ผมคิดย้อนไปถึงวิธีต่อสู้ของชุมชนที่ถูกอำนาจเหนือกว่ากระทำ อย่างเช่นที่เขางู, เขาสมอคอน, บ้านปูน ธนบุรี, ป้อมมหากาฬ ริมกำแพงพระนครกรุงเทพฯ แอบนึกเล่น ๆ ว่าบางครั้งการยื่นคำร้อง ถวายฎีกา พยายามไปยึดโยงฟูมฟายอยู่กับความสำคัญของพื้นที่ที่มีมาแต่อดีต มันก็น่าคิดว่า จะมีน้ำหนักพอ หรือครอบคลุมข้อเรียกร้องหลักในการต่อรองหรือเปล่า ไม่ว่าจะถ้ำโบราณบนเขางู เขาสมอคอน แหล่งอุตสาหกรรมทำปูนโบราณที่บ้านปูน ความเป็นโบราณสถานสำคัญของกำแพงเมืองและป้อมมหากาฬ กระทั่งภาพเขียนสีในถ้ำบนภูผายานั่นก็ตาม

คือของพวกนั้นน่ะสำคัญแน่ ทว่า ถ้าทาง “ข้างบน” เขายืนยันว่า เขาเองก็เห็นความสำคัญนะ และหลังจากนี้จะมีมาตรการบำรุงรักษาอย่างดีเลยแหละ แต่ พวกนายต้องย้ายออกไปก่อน โครงการปรับปรุงของเราจะได้เสร็จสมบูรณ์เร็ว ๆ อดีตพวกนี้จะถูกบริหารจัดการให้สมคุณค่าทีเดียว ฯลฯ 

แล้วหลับตานึกถึงสภาพป้อมมหากาฬตอนนี้สิครับ

สิ่งที่ชุมชนดงมะไฟยืนยันต่อสู้จึงย้ำประเด็นนี้ได้ชัดเจน พวกเขาไม่ได้สู้เพื่อภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ไม่ได้สู้ให้หม้อดินเผาลายเชือกทาบ เครื่องมือโลหะอายุนับพันปี หรือแม้แต่กลองมโหระทึก Heger 1 ใบนั้น แต่สู้เพื่อให้ได้ชีวิตปกติสามัญธรรมดาของตนเอง ของลูกหลานที่จะเกิดต่อ ๆ ไป แสดงให้ทุกคนเห็นประจักษ์ว่า พวกเขารู้จักสมดุลของผืนแผ่นดินนี้ดีที่สุด รู้ว่าราคาป่าไม้ ลำห้วย พืชพันธุ์ธัญญาหาร ทรัพยากรต่าง ๆ มีความยั่งยืนกว่ามวลหินปูน ที่แม้จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศส่วนรวม แต่เมื่อลองชั่งน้ำหนักอย่างรอบด้านกับสิ่งที่จะสูญเสียไป ใครก็ตามที่มีใจเป็นธรรม ตลอดจนเห็นการยืนหยัดยืนยันของชาวบ้านดงมะไฟ ย่อมต้องใคร่ครวญเรื่องนี้ในทัศนะมุมมองใหม่

“ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา มันต้องเป็นป่าชุมชน บ่ใช่ป่าสงวนของใคร” ผมจำไม่ได้แล้วว่าใครพูดประโยคอันทรงพลังนี้ แต่เมื่อเห็นเด็ก ๆ วัยรุ่น ซึ่งจำนวนเกินกว่าครึ่ง เกิดและเติบโตในแคมป์ที่ชาวบ้านรวมตัวกันต่อต้านเหมือง ช่วยกันเขียนป้ายผ้าในงาน ลงสีตัวหนังสือ พาคณะนักท่องเที่ยวเดินดูป่าชุมชน บางคนสาธยายโครงการทริปท่องเที่ยวดงมะไฟในลักษณะต่าง ๆ อีกทั้งหลายคนที่มีนิสัยชอบทำอาหาร ปรารถนาอยากเป็นเชฟชุมชน ลุกขึ้นวิจารณ์กับข้าวของพ่อแม่ลุงป้าน้าอาในงานอย่างสุภาพ ลึกซึ้ง คมคาย ผมก็คิดว่า การแสดงโอชาอาหารครั้งนี้ มันทั้งได้สนทนากันเองภายในระหว่างรุ่นต่อรุ่น และได้พูดคุยเชื้อเชิญผู้คนภายนอกที่เปิดประตูเข้ามา อย่างมีมิตรไมตรียิ่ง

ขุนเขา ดงหญ้า ป่าไม้ รวมทั้งร่องรอยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีจะมีความหมายอะไร ถ้าไม่มีผู้คนที่เข้าอกเข้าใจ กระทั่งยอมเสียสละชีวิต ปกป้องสิ่งเหล่านั้น ส่งต่อให้ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

..มโหระทึกกึกก้องทำนุกสนุกสนาน

เสียงดังกังวานบ้านดงมะไฟในท้ายที่สุด

หินกลับเป็นไม้ ทรายกลับเป็นดิน ไม่สิ้นเสื่อมทรุด

ภูผาประดุจครรโภทรใหม่ ให้ทุกชีวิตฯ