ความไม่แน่นอน = ความไม่แน่นอน - Decode
Reading Time: 2 minutes

เลือก Same as Ever จิตวิทยาเอาชนะอนาคต ไม่ใช่เพราะอยากจะเอาชนะอนาคต แต่เลือกเพราะคำโปรยปกหลังหนังสือมากกว่า

การทำนายอนาคตเป็นเรื่องยาก 

เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนอนาคตมักทำนายล่วงหน้าไม่ได้ 

ดังนั้น เราควรจะตั้งคำถามใหม่ดีกว่าว่า

อะไรจะยังคงเหมือนเดิมในอีกสิบปีข้างหน้า

และอะไรจะยังคงเหมือนเดิมในอีกร้อยปีข้างหน้า

ความรู้ในสิ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง 

มีประโยชน์มากกว่าความพยายามทำนายอนาคตที่เราไม่รู้และไม่แน่นอน

และนั่นแหละพออ่านตรงนี้จบ ก็เลยทำให้เราเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า…  

แล้วอะไรคือสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

แต่จากชื่อบทความที่เขียนไว้ก็น่าจะพอเดาได้ว่าทำไมเราถึงตั้งชื่อบทความแบบนั้น

ในหนังสือได้นำเสนอ 23 เรื่องราว สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน ซึ่งในแต่ละหัวข้อผู้เขียน MORGAN HOUSEL ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ต่าง ๆ มาทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น แต่เราจะขอหยิบยกบางเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับตัวเรา

ถ้ายกสถานการณ์มา 1 เรื่องที่พอจะสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ไม่เคยเปลี่ยนในหนังสือเล่มนี้ ถ้าเป็นเหตุการณ์ใหม่ ๆ เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่ค่อนข้างกระทบกับเราโดยตรงก็ต้องเรื่องโควิด-19 เนี่ยแหละ

จากที่โลกไม่มีโรคระบาดมานาน…และเราก็ไม่ได้เกิดทันช่วงที่มีโรคระบาดหนัก ๆ ในหลายปีก่อนหน้านั้น อยู่มาวันนึง ก็มี Covid-19 ระบาดขึ้น และระหว่างที่โรคนี้กำลังระบาดหนัก ๆ อยู่นั้น ตัวเราก็ไม่รู้เลยว่าการระบาดโรคนี้มันจะสิ้นสุดที่ตรงไหน ความน่ากลัวคือตอนที่ระบาดหนักช่วงแรก ๆ และยังไม่มีวัคซีน มีคนตายเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้เรารู้สึกว่าชีวิต แขวนอยู่บนเส้นด้าย จริง ๆ แล้วเจ้าโควิด ไม่ได้กระทบแค่ระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบกับทุกอย่าง ๆ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง แต่ก็นั่นแหละ ถึงเรารู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เราก็อาจจะป้องกันความเสี่ยงนั้นได้ไม่ครอบคลุมอยู่ดี เพราะมันอาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่พร้อมจะเข้ามากระทบกับเราเสมอ เพราะว่าความเสี่ยงคือสิ่งที่เรามองไม่เห็น

อย่างที่เราบอกนั่นแหละว่าปลายปี 2020 เรายังไปเที่ยวกับครอบครัว และยังแพลนจะไปเที่ยวต้นปี 2021 อยู่เลย แต่แล้วช่วงปลาย ๆ ธันวา 2020 ก็มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ขึ้นมา ในปี 2020 มันจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะมีโรคระบาดเกิดขึ้น คือเราอาจจะพอเดาได้ว่าตราบเท่าที่เรามีชีวิตอยู่ มันจะต้องมีช่วงนึงแหละ ที่มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นแน่ ๆ แต่เราก็ไม่มีทางรู้อยู่ดีว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน และความรุนแรงมากขนาดไหน และถึงแม้ว่าเราจะพร้อมรับความเสี่ยงแต่มันก็ทำได้แค่เฉพาะที่เราคาดการณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะมีความเสี่ยงอื่น ๆ อีกหรือไม่

ในหนังสือบอกว่า มนุษย์มีนิสัยต้องการความแน่นอน ชอบความเป็นไปได้ที่เป็นไปได้ ซึ่งนิสัยเราก็ค่อนข้างเป็นแบบนั้น เชื่อไหมว่าตั้งแต่มีโควิดมา เรายังไม่ได้เดินทางออกไปนอกประเทศเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไปเที่ยวต่างประเทศปีละครั้ง สองครั้งตลอด แต่พอเจอเหตุการณ์อะไรแบบนั้นเลยรู้สึกถึงความไม่แน่นอน จนตอนนี้เขาประกาศโรคฝีดาษลิงอีกโรคแล้ว ยังไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศเลย จนบางทีก็ต้องบอกตัวเองว่าบางทีก็ต้องกล้าเสี่ยงบ้างนะ พอคิดจะกล้าเสี่ยงไปเที่ยวก็มาเจอข่าวที่เครื่องบินตกหลุมอากาศบ่อยอีก คนที่ชอบความแน่นอนแบบเราก็จะออกอาการกล้า ๆ กลัว ๆ น่ะสิ แต่ถ้าอยากออกไปเที่ยวจริง ๆ ก็ต้องฮึบเอาความกล้าออกมาใช้แล้ว

แต่นั่นแหละ 

ความต้องการ ความแน่นอนคือ โรคภัยทางความคิดที่ร้ายแรงที่สุด 

คุณโรเบิร์ต กรีนได้เขียนไว้

เพราะอย่างที่เรารู้ ๆ ว่ามันมีอะไรแน่นอนเสียเมื่อไหร่ บางทีเราคิดว่าสิ่งนี้จะอยู่ตลอดไป คิดว่าความเงียบสงบมันจะดี แต่ความสงบอาจจะนำมาซึ่งความโกลาหลก็เป็นได้ ก็อย่างเจ้าโควิดเนี่ยแหละ โลกขาดการระบาดของโรคร้ายแรงมานาน การพัฒนาทางการแพทย์ก็ทำให้การรักษา การป้องกันโรคต่าง ๆ ทำได้ดีขึ้น แต่จู่ ๆ อยู่มาวันนึงมีโรคอุบัติขึ้น ถ้าโควิดระบาดในช่วงที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นมากมาย คนอาจจะไม่ได้ตระหนกตกใจมากขนาดนี้ แต่เมื่อมาระบาดในช่วงที่นวัตกรรมทางการแพทย์ไปไกลแล้ว จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว แต่ความโกลาหลนี้ก็ทำให้คนมีความตื่นตัวสูง แต่ก็มีความเครียดแฝงอยู่ อย่างเราเองเราก็เครียดนะ จะต้องใช้ชีวิตยังไง ถ้าติดแล้วจะเป็นอะไรไหม

อาจจะเหมือนที่เคยได้ยินมีคนบอกว่าก่อนจะเกิดพายุ คลื่นลมมักจะสงบ และก็ทำให้คนประเมินความเป็นไปได้ผิดพลาด รวมถึงผลกระทบจากความผิดพลาดนั้น ๆ ต่ำกว่าความเป็นจริง

สิ่งที่เราทำได้เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ อย่างแรก เราต้องยอมรับว่าความโกลาหลไม่ใช่เรื่องผิดเป็นเรื่องปกติ เมื่อพ้นจากจุดความโกลาหลไป ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ 

ก็คงเหมือนอย่างสถานการณ์โควิด คือก่อนมีโควิดเข้ามา ทุกคนใช้ชีวิตปกติ จนพอมีโควิดระบาด คนก็โกลาหลกันทั้งโลก หาวิธีทางการต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต จนเมื่อถึงจุด ๆ นึงทุกคนรับมือกับสถานการณ์ได้ก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันแบบปกติ

ในระหว่างที่โควิดกำลังระบาด อยู่ในสถานการณ์เร่งด่วนที่ทุกคนพยายามหาทางรอด แรงกดดันจากสถานการณ์แบบนั้นทำให้ผู้คนคิดนวัตกรรมต่าง ๆ ออกมามากมายราวกับปาฏิหาริย์บังเกิดเพื่อเอาตัวรอด ทั้งวัคซีนป้องกัน ทั้งยารักษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือนวัตกรรมที่มาช่วยโลก

เมื่อลองพิจารณาดี ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนโควิดกำลังระบาดหนัก ๆ สำหรับเราที่แน่ ๆ คือไม่ได้ออกไปเที่ยวต่างประเทศ อย่าว่าแต่ต่างประเทศเลย ต่างจังหวัดก็ยังไม่กล้าไป ช่วงนั้นสิ่งที่น่าจะใหม่สำหรับเรา คือการทำขนมปัง เพราะดูยูทูบคนทำขนมปัง จนถึงจุด ๆ นึงที่เรารู้สึกว่า มันก็ดูไม่ได้ยากนี่หน่า นั่นแหละ เลยจนเป็นจุดเริ่มต้นให้เราทำขนมปัง

ถ้าไม่มีวิกฤตจะไม่มีแรงกดดันที่ทำให้คนผลิตคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา

จากที่อ่านหนังสือเล่มนี้ จากเหตุการณ์ที่เราได้เจอมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเราก็เชื่อว่ากับสิ่งที่เราจะเจอต่อไปอีกในอนาคต สิ่งที่มันจะไม่เปลี่ยนไปเลย…คือความไม่แน่นอน ชีวิตคนเราล้วนแขวนอยู่บนเส้นด้ายตลอดเวลา เพราะชีวิตเรามักเจอความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดอยู่เสมอ ทักษะหนึ่งที่เราควรมีคือ ความสามารถในการประเมินระดับของปัญหากวนใจ และความไร้สาระที่เหมาะสม เนื่องจากว่าในชีวิตเราต้องเจอคนหลายแบบ และสถานการณ์หลายๆ อย่างที่ต่างออกไป เมื่อเราประเมินสถานการณ์ได้ ก็อาจจะช่วยให้สามารถรับมือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งก็คือการรับมือกับความเป็นจริง สิ่งนี้ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพื่อให้การดำรงชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้

PlayRead: Same as Ever จิตวิทยาเอาชนะอนาคต
เขียน: MORGAN HOUSEL แปล: วิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา
สำนักพิมพ์: ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี