อนาโตมีของ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ รักที่จะถูกเกลียด เกลียดที่จะถูกลืม หิวแสงเพื่อจะไม่แห้งตาย - Decode
Reading Time: 2 minutes

(Un) popular opinion

โตมร ศุขปรีชา

เกมโชว์ใหม่รายการหนึ่งที่เพิ่งเผยแพร่ทางช่องสตรีมมิงดัง เป็นเกมโชว์ที่มีชื่อสั้น ๆ ตรงไปตรงมาว่า The Influencer

นาทีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘อาชีพ’ ที่เรียกว่าอินฟลูเอนเซอร์ (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘อินฟลูฯ’) กันแล้ว ว่ากันว่า เป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยใฝ่ฝัน เนื่องจากถ้าประสบความสำเร็จ ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงลิบลิ่วเลยทีเดียว แถมยังมีชื่อเสียงไม่แพ้นักแสดงหรือดาราดัง ๆ อีกด้วย รายได้ของอินฟลูฯ ส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากแพลตฟอร์ม (แม้ว่าหลายแพลตฟอร์มจะมีการแบ่งรายได้ให้) ทว่ามาจากการร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ และการโฆษณาหรือ ‘ไทอิน’ สินค้าต่าง ๆ แฝงเข้ามาในเนื้อหาของรายการ

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเป็นอินฟลูฯ นั้น เหมาะเจาะกับคนที่อยากมีวิถีชีวิตอิสระ ไม่ต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น เพราะสามารถเลือกเวลาทำงานของตัวเองได้ จะไปถ่ายทำที่ไหนก็ได้ด้วยอีกเช่นกัน จึงเป็นงานที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก

ความยืดหยุ่นที่ว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเวลากับสถานที่เท่านั้น แต่เหนือไปกว่านั้นก็คือสามารถ ‘เลือก’ เนื้อหาที่จะมาใช้เป็นแก่นแกนของตัวเองได้ด้วย บางคนที่ชอบเรื่องการแต่งหน้า ก็สามารถเป็นอินฟลูฯ สายบิวตี้ได้ หรือถ้าใครชอบเรื่องแฟชั่น ก็กลายเป็นอินฟลูฯ ด้านการแต่งตัวได้ ไล่เลยไปจนถึงความ ‘สนใจใคร่รู้’ ในเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ตั้งแต่อินฟลูฯ สายเดินทางท่องเที่ยว (ที่มีหลายรูปแบบ) ไปจนถึงอินฟลูฯ ในระดับไมโครหรือนาโน ที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดตามมากมายนัก แต่ได้ ‘เจาะลึก’ กับเนื้อหาบางอย่าง จนมีกลุ่มผู้ติดตามเหนียวแน่น เช่น อินฟลูฯ ที่อธิบายเหตุการณ์เครื่องบินตกรอบโลก, อินฟลูฯ ที่เล่นแต่เกม The Sims 4 ในแนวทางการแต่งบ้านเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

อาชีพ อินฟลูฯ ยังเป็น ‘เวที’ ที่เปิดให้คนได้แสดงออกถึงความสนใจของตัวเองด้วยนะครับ เช่น ถ้าคุณอยากเล่นเกม The Sims 4 ในแนวทางแต่งบ้านมาก ๆ และอยากเล่นให้ได้เงินด้วย คงไม่มีอาชีพไหนเหมาะกับการเปิดช่องทางของตัวเองอีกแล้ว เพราะคงไม่มีบริษัทไหนจ้างคนมานั่งเล่นเกม แถมยังเป็นเกมเดียว และเล่นในสไตล์เดียว คือการแต่งบ้านอีกต่างหาก เรียกว่าเป็นงานที่ Niche เอามาก ๆ

ดังนั้น หนทางเดียวที่เหลืออยู่ ก็คือการทำช่องของตัวเองจนกลายเป็นอินฟลูฯ หรือเกมเมอร์เฉพาะทางไปเลย อาชีพนี้จึง ‘ตอบโจทย์’ ในแบบที่คนสมัยก่อนไม่อาจจินตนาการได้เลยว่าจะมีงานอะไรแบบนี้อยู่ด้วย

ด้วยเหตุผลที่ว่ามา รวมไปถึงเหตุผลอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง อาชีพอินฟลูฯ จึงเฟื่องฟูมาก มีทั้งนาโน ไมโคร แม็คโคร หรือเมกะอินฟลูฯ ที่มีผู้ติดตามเป็นหลักหลายล้านหรือหลายสิบล้านมากมายในหัวข้อที่คาดไม่ถึง อินฟลูฯ เหล่านี้ใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ มากมาย บางคนอาจทำในแพลตฟอร์มเดียว เช่นเป็นแค่ติ๊กต่อกเกอร์หรือยูทูปเบอร์อย่างเดียว แต่บางคนก็ไขว้แพลตฟอร์ม ใช้ทั้งยูทูป อินสตาแกรม พ็อดแคสต์ เอ็กซ์ ติ๊กต่อก หรือเฟซบุ๊ก โดยมีการนำเสนอที่หลากหลาย เช่นทำวิดีโอคอนเทนต์ ถ่ายภาพ เขียนบทความ พูด หรืออีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันมากก็คือการไลฟ์สด

ความหลากหลายของอินฟลูฯ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ จึงนำมาซึ่งเกมการแข่งขันว่าใครจะเป็นอินฟลูฯ ที่สุดแสนจะ ‘อินฟลูฯ’ ได้มากที่สุดในรายการเกมโชว์ของเกาหลีใต้ที่ว่ามาข้างต้น

รายการนี้พาอินฟลูฯ ระดับท็อป ๆ ของเกาหลีใต้มาแข่งกันว่าใครจะเป็นอินฟลูฯ ที่สุดยอดกว่ากัน โดยไม่แบ่งประเภทนะครับว่าจะมาจากติ๊กต่อก ยูทูป หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ แถมยังมีการชักชวนเอา ‘ดารา’ ที่หันมาทำงานออนไลน์ (ซึ่งถือได้ว่าเป็นอินฟลูฯ อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า Celebrity Influencer) มาเข้าร่วมรายการด้วย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องเสี่ยงอยู่ไม่น้อยสำหรับดาราดัง ๆ เพราะต้องถือว่าตัวเองมีต้นทุนเหนือกว่าคนอื่นในเรื่องรูปร่างหน้าตา และชื่อเสียงอยู่แล้ว ถ้าพ่ายแพ้ขึ้นมาคงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่

หลายคนอาจคิดว่า รายการนี้น่าจะทำขึ้นมาเพื่อยกย่องเชิดชูอาชีพอินฟลูฯ แต่เอาเข้าจริง เนื้อหาของการแข่งขันกลับมีนัยในการเสียดเย้ย และอาจถึงขั้น ‘ตีแผ่’ วิธีคิดของอินฟลูฯ ดัง ๆ ที่ถือได้ว่ามีอิทธิพลทางความคิดและการใช้ชีวิตของสังคมในหลายแง่มุมด้วยซ้ำไป

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเมื่อเป็นเกมก็ต้องมีการแข่งขันกัน และทางรายการน่าจะ ‘ทำการบ้าน’ เกี่ยวกับ ‘ความเป็นอินฟลูฯ’ (อาจเรียกว่า Influencity ก็น่าจะได้) ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นอินฟลูฯ หรือได้รับความนิยมขึ้นมาได้

แน่นอน – คนจำนวนมากอาจคิดว่าจะเป็นอินฟลูฯ ที่โด่งดังได้ ก็ต้องมีคนชอบเป็นจำนวนมาก ทุกคนมารุมกดไลก์ให้ หรือมีด้อม มี ‘ชาวช่อง’ มาคอยสนับสนุน ไม่ว่าจะแค่เปิดดู บริจาคเงินได้ หรือซื้อสินค้าต่าง ๆ ตามที่อินฟลูฯ แนะนำ ซึ่งจะเรียกว่าเป็น Positive Follower หรือผู้ติดตามเชิงบวกก็น่าจะได้

แต่เกมแรกของรายการนี้กลับบอกเราว่า ที่จริงแล้ว การเป็นอินฟลูฯ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดตามเชิงบวกอย่างเดียวเท่านั้น และในโลกจริงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยที่จะมีผู้ติดตามเชิงลบ (Negative Follower) หรือจะไปถึงระดับที่เกลียดชังกันจนเรียกว่าเป็น Hate-Follower ไปเลยก็ได้ด้วยเหมือนกัน

เพราะในโลกแห่งอินฟลูฯ ยอดผู้ติดตามนั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ไม่ว่าผู้ติดตามจะติดตามเพราะรักเหลือเกินหรือชังน้ำหน้าเหลือแสน ‘ความหมาย’ ของการรักหรือเกลียดก็ไม่ได้ติดตามเข้าไปใน ‘ตัวเลข’ ผู้ติดตามในยอดนับแสนนับล้านเหล่านั้นด้วย

รายการจับประเด็นอันแหลมคมนี้ แล้วทำขึ้นมาเป็นเกม ซึ่งในตอนแรก อินฟลูฯ หลายคนก็ติดกับดัก คิดว่าจะเป็นอินฟลูฯ ที่ดีควรจะแสวงหาแค่ยอดไลก์เท่านั้น แต่ลืมคิดไปว่า การถูกกดเกลียดหรือ Dislike (รวมไปถึงความรู้สึกอื่น ๆ) ให้นั้น ล้วนถือเป็นยอด Engagement เหมือนกันทั้งสิ้น

คนเราก็สามารถ ‘ดัง’ ได้จากความ ‘เกลียด’ ด้วยเหมือนกัน

รายการนี้ดึงเอา ‘ธาตุ’ (Elements) ของความเป็นอินฟลูฯ หลายอย่างออกมาชำแหละเป็นชิ้น ๆ ทำให้เราเห็นว่า ‘อนาโตมี’ ของความเป็นอินฟลูฯ มีอะไรบ้าง ซึ่งทำแค่นี้ก็ช่วยเปิดโลกให้เราเห็นในสิ่งที่ไม่คาดคิดหลายเรื่องแล้ว แต่เมื่อเป็นการแข่งขัน รายการยังพาผู้เข้าร่วมรายการไปไกลกว่านั้นอีก ด้วยการนำเอา ‘ธาตุ’ แห่งความเป็นอินฟลูฯ เหล่านั้นออกมาเรียกคะแนนจากการแข่งขัน นั่นทำให้อินฟลูฯ หลายคนต้องเผยด้านที่อาจถูกมองโดยสังคมทั่วไปว่าอัปลักษณ์ออกมา แต่กับการเป็นอินฟลูฯ พวกเขารู้ตัวดีว่าเป็นลักษณะต่าง ๆ เหล่านั้นนั่นแหละ ที่สังคมปากว่าตาขยิบหน้าไหว้หลังหลอกต่างชอบดู ชอบเสพ และบรรลุจุดกระสันทางศีลธรรมของตัวเองได้ด้วยการด่าอินฟลูฯ เหล่านี้

จึงไม่น่าแปลกใจเลย – ที่จะมีข่าวตามมาว่า คนดูในเกาหลีใต้ (และอาจรวมถึงในสังคมไทยด้วย – ถ้ารายการนี้โด่งดังมากพอ) จะออกมาแสดงความไม่ชอบใจกับรายการ เพราะอินฟลูฯ ที่มีเพศสภาพเป็นหญิง (และ ‘สวย’ กับ ‘เซ็กซี่’ ตามมาตรฐานของสังคม) หลายคน จะเลือกใช้ความวับหวามวาบหวิวในเรือนร่างของตัวเองเป็นจุดขายเพื่อนำทางไปสู่ชัยชนะ

แต่นั่นก็คือ ‘ความจริง’ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมไม่ใช่หรือ ว่าอินฟลูฯ ไม่จำเป็นต้องขายความรู้คู่คุณธรรม แต่สามารถขายอะไรก็ได้ที่คนดูชอบ เช่น ขายขำ ขายโป๊ ขายห่าม ขายคำหยาบ ขายอารมณ์ ฯลฯ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนออกมาใน ‘เกม’ เมื่ออินฟลูฯ ทั้งหลายต้องเข้ามาห้ำหั่นบดขยี้กันเพื่อเงินรางวัลก้อนโต

การเป็น ‘อินฟลูฯ’ จึงไม่ได้มีความหมายเดียวกับการเป็น ‘เด็กดี’ (Poster Boy) หรือเป็น ‘แบบอย่างของสังคม’ ใด ๆ เนื่องจากความเชื่อในยุคใหม่บอกเราว่า – ความรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้ย่อมวางอยู่บ่าของผู้เสพเอง นิ้วของคุณคือเครื่องมือในการปาดป้ายหน้าจอแล้วเลือกจะรับหรือปฏิเสธ ดังนั้น หน้าที่หนึ่งของอินฟลูฯ อาจคือการพาผู้ชมไป ‘ไต่เส้นศีลธรรม’ ด้วยซ้ำไป คือพาคุณไปหมิ่นเหม่อยู่บนขอบของ Preconceptions ด้านศีลธรรมประจำใจ เพื่อสร้างข้อถกเถียง (และยอดไลก์ยอดฟอลโลว์) ว่าประเด็นไหนล้ำเส้นไหนได้หรือไม่ได้บ้าง จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘กลยุทธ์’ สร้างความขัดแย้งขึ้นมาเพื่อให้โด่งดังเป็นที่รู้จัก

เหล่านี้นี่แหละ คือคุณสมบัติที่ทำให้อินฟลูฯ มี ‘ตัวตน’ ที่ชัดเจน ทั้งเนื้อหา หน้าตา วิธีสื่อสาร ความรู้ การแสดงอารมณ์ ความรัญจวนใจ ฯลฯ ล้วนรวมตัวกันก่อให้เกิดอัตลักษณ์บางอย่างขึ้นมา ซึ่งย่อมมีทั้งคนชอบและคนชัง

สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของการเป็นอินฟลูฯ ไม่ใช่การ ‘ถูกเกลียด’ แต่คือการ ‘ถูกลืม’ หรือไม่มีใครสนใจใยดี มียอดไลก์ยอดฟอลโลว์ต่ำ การถูกลืมคือนรกของอินฟลูฯ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังไม่ได้รับความสนใจ สิ่งที่พวกเขาจะต้องทำก็คือการแสดงอาการ ‘หิวแสง’ ออกมา – ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะด้วยวิธีการแบบใดก็ตาม ทั้งแนบเนียนและโฉ่งฉ่าง

และรายการนี้ก็ไม่พลาด ที่จะหยิบเรื่องความ ‘หิวแสง’ มาใช้เป็นอาวุธหนึ่งเพื่อประหัตประหารคู่ต่อสู้ มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผู้เข้าแข่งขันต้องพยายามแข่งกันแสดงอาการหิวแสง หรือบอกคนอื่นด้วยความภาคภูมิใจในประวัติแต่หนหลัง ว่าตัวเองเคยมีพฤติกรรมหิวแสงแบบไหนบ้าง ไปจนกระทั่งต้องแสดงอาการหิวแสงออกมาในฉับพลันทันทีด้วยวิธีต่าง ๆ

แน่นอน การดูรายการนี้ย่อมทำให้เราเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ทั้งชอบ เสพติด สนุก ชิงชัง รู้สึกว่าอินฟลูฯ บางคนน่ารังเกียจ ไม่เหมาะสม ฯลฯ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็คือ มันทำให้เราเห็นถึง ‘อนาโตมี’ ของอินฟลูฯ ในแบบที่ยากจะเห็นได้ ถ้าหากว่าเราไม่ได้จับอินฟลูฯ ที่มีฝีมือและชื่อเสียงทั้งหลายมาอยู่ด้วยกัน แล้วให้พวกเขา ‘ผ่า’ กันและกันออกมาตามกติกาของเกม จนเห็นลึกไปถึงตัวตนภายใน

การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดีในตัวเอง เพราะอินฟลูเอนเซอร์ก็เหมือนอาชีพอื่น ๆ นั่นแหละครับ พวกเขาจะ ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ ย่อมขึ้นอยู่กับต้นทุนในการเห็นโลกของพวกเขาเอง ซึ่งต้องนำมาผสมเข้ากับการ ‘ถูกกำหนด’ โดยต้นทุนในการเห็นโลกของผู้เสพพวกเขาอีกทีหนึ่งด้วย จึงจะออกมาเป็น ‘คำพิพากษา’ ของสังคม ซึ่งก็อาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย

สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ เมื่อเราเห็นถึง ‘อนาโตมีของอินฟลูเอนเซอร์’ จากรายการนี้แล้ว เราจะหาวิธี ‘รู้เท่าทัน’ กระแสแห่งอินฟลูฯ ที่ถาโถมเข้ามาสู่เราได้อย่างไร