ประชาธิปไตยที่(ไม่)ตั้งมั่นกับสามคำถามของคนรุ่นหลัง - Decode
Reading Time: < 1 minute


ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองหรือสังคมซึ่งสะท้อนความไม่ปกติ ในสังคมไทย ตัวผมเองมักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า เราจะอธิบายเรื่องเหล่านี้ ให้คนรุ่นถัดไปเข้าใจได้อย่างไร เป็นภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเหมือนกัน

ไม่ใช่เพียงแค่ในฐานะคนที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย แต่ในฐานะคนที่อยู่ในสังคม เพราะมันก็เป็นความยากในการที่จะอธิบายสิ่งหนึ่งที่เคยเป็นเรื่องที่คนรุ่นก่อนรู้สึกว่าปกติสามารถทำได้

พอเวลาผ่านไป บางครั้ง นอกจากจะเป็นสิ่งที่ ไม่ปกติแล้ว ยังเป็นสิ่งที่น่าละอาย เช่น ย้อนกลับไป ไม่กี่ 10 ปีก่อน หรือเพียงแค่ตอนผมเด็ก ๆ การเล่นมุกตลกเหยียดที่สีผิว หน้าตา สำเนียง หรือถิ่นกำเนิด ก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในทางสาธารณะ การกำหนดบทบาททางเพศที่ตายตัว ก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยเมื่อ 10 กว่าปีก่อนนี่เอง แต่ปัจจุบันการแสดงความเห็นเหล่านี้ในทางสาธารณะ ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะยอมรับได้

หรือบางกรณีอาจจะเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและมีความรุนแรงในลักษณะที่ว่าค่านิยมนั้นนอกจากจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนปัจจุบัน ยังถือเป็นอาชญากรรมด้วย อย่างเช่น คนเยอรมัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาอธิบายต่อคนรุ่นหลังอย่างไร ที่ผู้คนจำนวนมากในสังคม ดูจะเห็นดีเห็นงามกับระบอบที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

กล่าวคือความยากต่อการอธิบายมีอยู่สามระดับ คือ “เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไร” รวมถึง “เรามีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร” และ “เราได้พยายามมากพอหรือไม่ในการกีดขวางเรื่องนี้” การตอบสามคำถามนี้จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของเราต่อคนรุ่นหลัง

เกิดอะไรขึ้น

การเมืองไทยในช่วงเวลาที่พรรคก้าวไกลถูกยุบนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความตึงเครียด สังคมแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน ระหว่างกลุ่มที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโครงสร้างอำนาจเดิมกับกลุ่มที่ต้องการรักษาสถานะเดิมของสถาบันหลักในประเทศ

พรรคก้าวไกลเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศนี้ โดยนำเสนอตัวเองเป็นทางเลือกใหม่ทางการเมืองสำหรับคนรุ่นใหม่และผู้ต้องการเห็นการปฏิรูปอย่างก้าวกระโดด นโยบายของพรรคก้าวไกลมีลักษณะก้าวหน้า และท้าทายสถานะเดิมอย่างมาก พรรคเสนอการปฏิรูปสถาบันสำคัญของประเทศอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การถูกยุบพรรคในที่สุด แม้ว่านโยบายเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชนจำนวนมาก แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมและผู้มีอำนาจเดิม แต่พิจารณาอีกด้านหนึ่งความไม่พอใจต่อพรรคก้าวไกลไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเรื่องการเรียกร้องความเท่าเทียมในมิติที่หลากหลายที่เป็นเรื่องที่อนุรักษนิยมยากจะเข้าใจ

ในการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญใช้เหตุผลหลักว่าการกระทำและนโยบายของพรรคเป็นภัยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมองว่าพรรคพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านการเสนอแก้ไขกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดเกินไป และละเลยเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยที่ควรเปิดกว้างต่อความเห็นที่แตกต่าง

ผลกระทบจากการยุบพรรคก้าวไกลนั้นรุนแรงและกว้างขวาง ในทางการเมือง เสียงของประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนแนวทางของพรรคถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ สมาชิกพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องหาทางออกใหม่ทางการเมือง บางส่วนถูกตัดสิทธิทางการเมือง ส่งผลให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ในแง่สังคม เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความแตกแยกและความไม่พอใจในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าเสียงของพวกเขาถูกเพิกเฉย แน่นอนที่สุดว่าฝั่งอนุรักษนิยมกลัวที่สุด ก็คือประชาชนที่มีความหวัง การยุบพรรคก้าวไกลก็เพื่อทำลายความหวังของประชาชน พรรคการเมืองตั้งใหม่ได้ แต่ความหวังไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นมาได้ง่าย ๆ

เหตุการณ์นี้ให้บทเรียนสำคัญเกี่ยวกับประชาธิปไตยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และความจำเป็นในการสร้างดุลยภาพระหว่างการเคารพสถาบันเดิมกับการเปิดพื้นที่ให้กับแนวคิดใหม่ ๆ ในสังคม นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสถาบันตุลาการในการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง และการตีความกฎหมายอย่างเป็นธรรม ท้ายที่สุด เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้สังคมต้องทบทวนว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงควรมีลักษณะอย่างไร และจะสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องสถาบันหลักของชาติกับการเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างไร

แล้วเราจะบันทึกความคิดและจุดยืนของเราอย่างไร

เราจะบอกคนรุ่นหลังว่าเรื่องนี้ปกติหรือไม่?

แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เราเองก็มีหน้าที่สำคัญว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ปกติทั้งในความรู้สึกรู้สาของเรา ไม่ปกติต่อความเป็นไปของหลักการสากล มันอาจเป็นสิ่งปกติสำหรับคนบางกลุ่มในสังคม แต่หากเรารู้สึกว่ามันไม่ปกติ ก็ให้รวมตัวกันส่งเสียง แสดงจุดยืนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อยืนยันให้เห็นว่า เราไม่ได้เห็นดีเห็นงาม หรือมีส่วนร่วมกับสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงนี้

เพราะในอนาคตไม่ว่าเราจะชอบหรือชังโลก คนรุ่นถัดไปจะหันมามองและตั้งคำถามต่อพวกเรา เหมือนกับที่เราเคยทำกับคนรุ่นก่อนว่า พวกเรามีจุดยืนอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้