เปลี่ยน 'วิกฤต' แรงงานเมียนมา เป็น 'โอกาส' ฟื้นศก.ไทย เผือกร้อนในมือ 'รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง' - Decode
Reading Time: 3 minutes

เรื่องเล่า(ไม่)ต้องห้าม

ปิยวัฒน์ สีแตงสุก

เสียงปืนดังเดือด ชายแดนไทย-เมียนมา

เรื่องใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เมียนมา” ที่หลายคนมักเห็นตามหน้าสื่อ คือสภาพบ้านเมืองของเมียนมาในยุคเผด็จการทหาร “มิน อ่อง หล่าย” ที่พ่วงมากับสถานการณ์สงครามระหว่างฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดังกรณีของการนำเสนอข่าวสงครามที่เมืองเมียวดีซึ่งปะทุขึ้นในช่วงเมษาหน้าร้อนที่ผ่านมา

ทว่าประเด็นที่ซุกซ่อนอยู่ในไฟสงครามที่อาจถูกขับเน้นน้อยกว่าสงครามหน้าฉาก คือสถานการณ์ของ “แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา” ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ราว 2 ล้าน 3 แสน หรือ 2 ล้าน 4 แสนกว่าคน คือตัวเลขของแรงงานชาวเมียนมาในไทยที่อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group – MWG) ให้มา หากเทียบเป็นสัดส่วนก็อยู่ที่ประมาณร้อยละ 70-80 จากจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมดในไทยที่มีประมาณ 3 ล้านกว่าคน (นอกเหนือจากแรงงานชาวเมียนมาก็มีแรงงานกัมพูชา ลาว และเวียดนาม)

จำนวนตัวเลขขนาดนี้แสดงให้เห็นถึงสถานะของแรงงานชาวเมียนมาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องอาศัยกำลังแรงงานของพวกเขาในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือในอุตสาหกรรมก่อสร้าง รองจากนั้นไปก็เป็นการเกษตร นี่ยังไม่นับงานบริการ ผลิตอาหาร หรืองานภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่แรงงานกลุ่มนี้มีส่วนขับเคลื่อน

“ถ้าเกิดว่าขาดแรงงานข้ามชาติก็จะเป็นผลกระทบใหญ่ต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร” อดิศรกล่าว

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เมียนมาปกคลุมด้วยอำนาจเผด็จการทหารและประสบกับภัยสงครามกลางเมืองอยู่ในทุกวัน ได้ส่งผลกระทบใหญ่ต่อทั้งแรงงานเมียนมาเดิมในไทยรวมถึงแรงงานใหม่ที่พยายามหลีกลี้ภัยการเมือง และสงครามในบ้านเกิดเมืองนอนข้ามมาแลกแรงกับเงินในฝั่งไทย

แต่เมื่อเข้ามาแล้วใช่ปัญหาจะจบ ข่าวที่ออกไม่นานมานี้บอกกับเราว่า แรงงานชาวเมียนมาราว 3 แสนคนในไทยอาจหลุดจากระบบภายในสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้ หากเป็นเช่นนั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป เป็นเรื่องที่น่าชวนคิดต่อ

ประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติจึงต้องให้ความสำคัญไปพร้อมกันทั้งในมิติที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง/สงครามและมิติของระบบแรงงานที่เป็นอยู่ในไทย เสมือน 2 เส้นเรื่องที่ต้องลากคู่ขนานกันไป หากจะเข้าใจเหตุที่มาของปัญหาและผลกระทบที่กำลังจะตามมา

ฝันสลายรัฐประหารยืดเยื้อยาวนาน

ความเลวร้ายของรัฐประหารไม่เพียงทำลายกลไกทางการเมืองปกติอย่างที่มันควรจะเป็นเท่านั้น ชีวิตของคนในประเทศยังได้รับผลกระทบตามมาอีกมหาศาล อย่างเช่นการรัฐประหารที่เกิดกับเมียนมา ประเทศที่มีสมญาว่า “ฤๅษีแห่งเอเชีย” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รัฐประหารที่ทำให้ชื่อของ “มิน อ่อง หล่าย” ในฐานะผู้นำเผด็จการทหารกระฉ่อนไปตามหน้าสื่อทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะในไทย

ทว่าหากย้อนไปก่อนหน้านั้นไม่นาน ทิศทางการเมืองของเมียนมาดูจะเป็นไปในแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น ภายหลังการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรค NLD ภายใต้การนำของออง ซาน ซู จี อาจเปรียบเสมือนฤๅษีแห่งเอเชียกำลังจะเดินออกจากถ้ำไปสู่โลกกว้าง

สิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยเมียนมาขณะนั้นสร้างขึ้นมาก็คือ โอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนรุ่นใหม่ และสร้างชนชั้นกลางขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ฉะนั้นการข้ามเข้ามาทำงานในไทยของคนกลุ่มหนึ่ง คือการสะสมทุนเพื่อกลับไปประกอบกิจการขนาดเล็กขึ้นมา

“หลายคนจึงมีความหวังว่า พอไปทำงานในเมืองไทยสักช่วงหนึ่ง ก็มีแผนที่จะกลับไปทำธุรกิจเล็ก ๆ ในหมู่บ้านในเมืองของตัวเอง” อดิศรกล่าว

แต่รัฐประหารทำให้ความหวังทั้งหลายในหมู่ชาวเมียนมาต้องชะงักลงทันที เพราะชัดเจนว่าหากกลับบ้านไปลงทุน ปัญหาก็จะตามมา และมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ออกมาชุมนุมกันจำนวนมากขึ้น แรงงานเมียนมาทั้งที่อยู่ในประเทศตัวเองและในไทยต่างเริ่มมีข้อกังวลว่ารัฐประหารจะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร บางส่วนจึงออกมาชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ตามมาหนีไม่พ้นการปราบปรามอย่างรุนแรง ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับลี้ภัยเข้ามา

ซ้ำร้ายกว่านั้น รัฐประหารในเมียนมาเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับโควิด-19 กลายเป็นว่าความย่ำแย่ของเศรษฐกิจเมียนมาทบทวีขึ้นจากภัยทั้งสอง

ปัญหาผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับปัญหาแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในไทยจึงมีความเชื่อมโยงกัน จากที่อดิศรเล่า ตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมาจำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นและมีลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมมีจำนวนหลักพัน ปัจจุบันน่าจะเหยียบหลักหมื่น ปัญหาใหญ่ของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาคือ เนื่องจากพาสปอร์ตเมียนมามีอายุ 5 ปี พอหลังรัฐประหารซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะกินระยะเวลาเกิน 5 ปี จะส่งผลให้ฐานะการอยู่อาศัยในประเทศไทยผิดกฎหมาย

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานชาวเมียนมา อดิศรชี้ว่ามีอยู่ 2 เรื่องสำคัญ

เรื่องแรก คนที่ลักลอบเข้ามาทำงานในไทย ก่อนรัฐประหารในเมียนมาจะเกิดขึ้น คนที่ลักลอบเข้ามาเป็นชาวกัมพูชาเสียส่วนใหญ่ แต่พอหลังรัฐประหารกลายเป็นชาวเมียนมาแทน

เรื่องที่สอง การลดลงของแรงงานที่ถูกกฎหมาย ถ้าแบ่งงานแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาตามกฎหมายไทยจะแบ่งได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย หรือเรียกกลุ่ม MOU เอกสารมีอายุ 4 ปี กลุ่มสอง คนที่ใช้หนังสือเดินทางผ่านแดน (Border Pass) ข้ามมาทำงานในพื้นที่ชายแดน และกลุ่มสาม คนที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย แล้วมาจดทะเบียนในไทยภายหลัง

กลุ่มหลักจะอยู่ในกลุ่มสาม ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน แต่จำนวนกลุ่ม MOU ก่อนรัฐประหารและก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 8 แสนกว่าคน หรือเกือบล้านคน พอหลังรัฐประหารลดลงเหลือหลัก 2-3 แสนคน หลายคนอาจสงสัยว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะโควิด-19 หรือไม่ แต่พอหลังโควิด-19 ตัวเลขกระเตื้องขึ้นเพียงระยะสั้น ๆ หลังจากนั้นก็ลดลงอีก คล้ายกันกับตัวเลขกลุ่มจ้างงานพื้นที่ชายแดนที่ลดลงจาก 5 หมื่นกว่าคนเหลือหลักพัน ผลพวงจากการรัฐประหารจึงสัมพันธ์กับตัวเลขแรงงานกลุ่ม MOU ที่หายไป

“ในเมื่อการเดินทางข้ามมาฝั่งไทยอย่างถูกกฎหมายโดนหยุด คนจึงต้องลักลอบเข้ามา เท่ากับว่าช่วงหลังรัฐประหารที่ผ่านมา สถานการณ์การจ้างแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายก็เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ตอนเราไปจดทะเบียนตัวเลขเพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด”

สงครามกลางเมือง เหยื่อคือแรงงาน

สงครามกลางเมืองเมียนมาที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงภายหลังการรัฐประหาร จนถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ท่ามกลางการสาดกระสุนยิงใส่กัน หนึ่งใน “เหยื่อ” ผู้ต้องหลบกระสุนเพื่อให้ชีวิตเดินต่อไปได้นั่นก็คือแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจำนวนมากที่เข้ามาในไทย

ในจุดที่เดือดดาลที่สุดรอบหนึ่งของสงครามกลางเมืองคราวนี้ คือการที่กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหรือ KNU สามารถเข้ายึดเมืองเมียวดีได้ในช่วงเมษาหน้าร้อนที่ผ่านมา (แม้จะถูกกองทัพฝ่ายรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ยึดคืนกลับได้ในเวลาไม่นาน) ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนของไทย

อดิศรยกตัวอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ลักษณะพิเศษของพื้นที่นี้มีทั้งภาคการผลิตในรูปแบบโรงงานอุตสาหกรรมและการค้าชายแดน ซึ่งมีแรงงานหลักคือ กลุ่มที่ลี้ภัยข้ามมาพื้นที่ชายแดนโดยใช้หนังสือเดินทางผ่านแดน เมื่อเกิดการสู้รบ การบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนโดยเมียนมาเองก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทุกรูปแบบ ไม่สามารถออกหนังสือเดินทางผ่านแดนให้แก่แรงงานชาวเมียนมาได้ พอไม่มีเอกสารนี้ฝั่งไทยก็ไม่สามารถจ้างงานกลุ่มนี้ในพื้นที่ชายแดนได้

เมื่อมีสงคราม การเกณฑ์ทหารก็ตามมา แรงงานชาวเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานจึงเข้าข่ายที่จะต้องไปเกณฑ์ทหาร ในประเด็นนี้อดิศรชี้ว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือ กลุ่มที่ MOU ครบ 4 ปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งนโยบายที่รัฐบาลไทยใช้คือ ปัดเข้าสู่กระบวนการในการนำเข้าตามปกติ โดยกลุ่มนี้ต้องออกไปจากไทยก่อน 30 วันแล้วจึงกลับเข้ามา

แต่ด้วยภาวะความกลัวของแรงงานชาวเมียนมาที่จะกลับไป กอปรกับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนยังมีความรุนแรง ทำให้หลายคนตัดสินใจไม่กลับ อดิศรประเมินว่า ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่จะมีแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายทันทีประมาณ 7 แสนกว่าคน

แนวโน้มการขยายตัวของพื้นที่สงครามเด่น ๆ นอกจากบริเวณเมืองเมียวดีที่พบเห็นได้มากในหน้าสื่อไทยแล้ว ก็เริ่มขยายตัวไปโซนภาคใต้ของเมียนมาบริเวณแถบตะนาวศรี แล้วยังมีโซนภาคเหนือบริเวณแถบรัฐฉานและรัฐกะฉิ่น เพราะฉะนั้นน่าจะมีการเร่งเกณฑ์ทหารเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงจำนวนของแรงงานผิดกฎหมายในไทยที่จะเพิ่มขึ้นตามมา

“ส่วนอีกระยะถัดจากนี้ไป หากสถานการณ์ยังมีความรุนแรง หรือมีการเกณฑ์ทหารอย่างต่อเนื่อง อาจมีแรงงานที่ไม่สามารถใช้กลไกปกติ ลักลอบเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งของการหนีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเราประเมินว่า ตัวเลขของคนที่จะหนีทหารเข้าไทยอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.4 ล้านคน”

เผือกร้อนในมือรัฐบาลไทย สู่บทบาทเจรจา ‘สันติภาพ’ ในเมียนมา

ในฐานะเพื่อนบ้านรั้วรอบขอบชิดกัน อดิศรเสนอให้รัฐบาลเร่งทำ 2 เรื่อง เพื่อให้สถานการณ์จบโดยเร็ว

เรื่องแรก มีมาตรการการจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกลุ่มเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยต้องช่วยมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มจ้างงานชายแดน กลุ่ม MOU ครบ 4 ปีตั้งแต่ปี 2566 และกลุ่ม MOU ครบ 4 ปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 รัฐบาลไทยควรมีนโยบายผ่อนผันให้คนกลุ่มนี้สามารถทำงานในประเทศไทยกันชั่วคราวไปก่อน ข้อเสนอของ MWG คือ ให้คนทั้ง 3 กลุ่มนำเอกสารเดินทางแจ้งต่อกระทรวงแรงงาน หรือแจ้งต่อกรมการจัดหางาน ว่าเขาเป็นกลุ่มที่เคยทำงานในประเทศไทย แต่ปัจจุบันไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ขอให้ขยายเวลาให้อยู่ 2 ปี เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาเรื่องของแรงงานผิดกฎหมายไป

เรื่องที่สอง การมีบทบาทในการเจรจาให้เกิดสันติภาพในเมียนมาโดยเร็ว จังหวะนี้เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลไทยจะต้องแสดงบทบาทในฐานะคนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาบทบาทของรัฐบาลไทยยังค่อนข้างแสดงท่าทีเข้าข้างฝั่งรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา แต่หากไทยกลับไปใช้บทบาทใหม่ แสดงให้เห็นว่าพร้อมเป็นตัวกลางเปิดให้มีการเจรจาต่อรอง คิดว่าทุกฝ่ายมีความพร้อมที่จะยอมรับ โดยเป้าหมายหลักเบื้องต้นคือ ขอให้มีการเจรจาหยุดยิง เปิดพื้นที่ทางมนุษยธรรมให้ความช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ แล้วนำไปสู่กระบวนการการเลือกตั้งในอนาคตต่อไป

“การมีมาตรการทางการเมืองที่ชัดเจนจะทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนจากความขัดแย้งในเชิงการต่อสู้เป็นเข้าไปถกเถียงกันในรัฐสภา หรือการออกแบบรูปแบบการปกครองของเมียนมาใหม่ ผมคิดว่าตอนนี้สถานการณ์ในเมียนมาเองส่วนหนึ่ง บางกลุ่มก็เสนอว่าควรจะเป็นสหพันธรัฐ โดยอาจแบ่งบทบาทกันว่า รัฐเล็ก ๆ จะดูแลส่วนไหน เศรษฐกิจระหว่างประเทศดูแลโดยใคร”

การดำเนินการเหล่านี้เป็นจุดตั้งต้นที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้ พอตั้งต้นกระบวนการในการเจรจาได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแรงงานข้ามชาติก็จะคลี่คลายไปตามระบบ ไทยก็จะสามารถกลับไปสู่กระบวนการสร้างงานปกติได้เร็วขึ้น ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ MWG พยายามจะเสนอกับทางรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา