'ไม่มีนิติศาสตร์' ในคดี 'ยุบ' ก้าวไกล แต่ประชาชน 'ไม่สิ้นหวัง' มองสองมุมนิติศาสตร์ VS รัฐศาสตร์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ‘ยุบ’ พรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรครวม 10 คน ตามคำร้องที่คณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ยื่นคำร้องนั้น ทำให้วันนี้(7 สิงหาคม 2567)ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นสปอตไลต์ของสังคมอีกครั้ง De/code ต่อสายพูดคุยกับ ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง และ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ วิเคราะห์สองมุมมองที่แตกต่างทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของการ “ยุบพรรค” ทั้งยังมองไปข้างหน้าด้วย “ความหวัง” ต่อประชาธิปไตยไทย

ยุบ’ ก้าวไกล สะท้อนนิติสงครามยังไม่สิ้นสุด  

ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ในมุมมองนิติศาสตร์ว่าคดียุบพรรคก้าวไกลวันนี้เป็นเรื่องของปัจจัยทางการเมือง ไม่มีนิติศาสตร์ในคดีนี้เลย และมันคอนเฟิร์มในสิ่งที่ทุกคนมั่นใจกันมาตลอดว่า การเมืองเรามี ‘ศัตรูร่วม’ (COMMON ENEMY) มีศัตรูทางการเมืองที่ถูก Target ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย และใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นแค่พิธีกรรมที่ทำให้ดูป่าเถื่อนน้อยหน่อยในการจัดการกับศัตรู

นิยาม ‘นิติสงครามยังไม่สิ้นสุด’ ในมุมมองของ ผศ.ดร.เข็มทอง หมายความถึงการเลือกตั้งผ่านมาปีหนึ่งและมีคนพยายามบอกว่าเราเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว การยุบพรรคมันก็ยืนยันว่าเรายังออกไม่พ้นระบบนี้

ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่รัฐบาลอยู่เบื้องหลังนะ แต่หมายถึงว่าระบบนี้ยังไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลเป็นกลุ่มไหนก็ตาม แต่อำนาจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังอยู่ในมือของคนกลุ่มเดิมมาตลอด  

การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมือง เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ‘นิติสงคราม’ ที่ดำเนินอยู่มีความรุนแรงเท่าเดิม และความยาวนานของสถานการณ์แบบนี้ยืนยันว่า“ผู้มีอำนาจเขาเปลี่ยนใจไม่ได้ หรือ เปลี่ยนไม่เป็น

กลายเป็นสงครามรวม หรือ Total War ซึ่งการเมืองเแบบประชาธิปไตยมันไม่มีสงครามรวม ประชาธิปไตยปกติคุณจะผลัดกันแพ้ชนะในระบบ ผลัดกันเข้าสู่อำนาจ แต่ว่าของประเทศไทยตอนนี้มองได้ว่า เราไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย คุณอยู่ในระบอบที่มีฝ่ายเดียวที่ต้องชนะ” ผศ.ดร.เข็มทอง วิเคราะห์

กระบวนการนิติศาสตร์พา ‘ประชาธิปไตยไทยถดถอย

วันนี้ก้าวไกลถูกมัดมือชกข้างหนึ่ง จริง ๆ กกต. ไม่ได้ทำตามระเบียบกระบวนการสอบสวนก่อนส่งคดีไปสู่ศาล ก้าวไกลก็สู้คดีชี้ไปตรงนั้น แม้ก้าวไกลจะยื่นคำให้การ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของกระบวนการทางคดี แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาเป็นปัจจัยในการวินิจฉัย การพยายามยกข้อต่อสู้ที่เป็นเทคนิคทางกฎหมายมาสู้จึงไม่มีประโยชน์ เพราะศาลไม่ได้คิดในเชิงของกฎหมายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว คดีนี้หมดสภาพเป็นกระบวนการทางกฎหมาย แต่กลายเป็นกระบวนการทางการเมือง

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้จะฉายภาพว่า กระบวนการนิติศาสตร์ของประเทศพาประชาธิปไตยถอยหลัง การยุบพรรคมันแสดงให้เห็นความถดถอยทางปัญญาด้วย คือเรานำหลักกฎหมายสากลมาใช้ ไปในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์เดิมของมัน เหมือนคุณเอาค้อนมาทุบตะปูตามที่สากลเขาทำ แต่คุณเอาค้อนมาตักข้าว แทนที่มันจะทำให้คุณสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้เต็มประสิทธิภาพ คุณกลับทำไม่ได้

คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ ที่จะพาสังคมไทยประชาธิปไตยไทยเดินไปในทางที่ดีขึ้น เพราะผู้มีอำนาจเปลี่ยนใจไม่ได้ เปลี่ยนใจไม่เป็น ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน 

ปมซ้อน ‘ตุลาการภิวัฒน์’ วัฒนธรรมขึ้นหิ้ง

“ผมคิดว่าหลังปี 2549 กระบวนการนิติศาสตร์มันเป็นการตกต่ำมาตลอดและตกต่ำมาเรื่อย ๆ แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มันดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 แต่ไม่ได้แปลว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ดีแล้ว”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถแก้ปัญหาวัฒนธรรมตุลาการที่ไม่สนใจเสียงวิพากษ์โดยตรง

วัฒนธรรมตุลาการเป็นปัญหาที่ลึกกว่านั้น ผมคิดว่าต้องไปคิดหนทางอื่นควบคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมานาน เรื่องการไม่ขัดผู้ใหญ่ การผูกตัวเองว่า ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนที่รับใช้ประชาชน แต่ทำงานในนามของความชอบธรรมอื่น นั่นทำให้คนที่เข้าไปสู่ระบบนี้ด้วยวิธีการใด มักไม่ได้คิดเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือคิดเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยไปพร้อมกัน

ฉีกตำรานิติศาสตร์ ‘การสอนนิติศาสตร์มันจะยากแน่นอน’

ผมออกจากนิติศาสตร์มาประจำอยู่คณะรัฐศาสตร์แล้วอาจไม่ได้มีหน้าที่สอนเด็กนิติศาสตร์โดยตรง แต่ความเห็นของผมต่อการสอนนิติศาสตร์มันจะยากแน่นอน เพราะหนึ่งคุณต้องสอนเด็กว่า หลักการที่ถูกต้องคืออะไร สอง คุณต้องกล้าสอนว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำไม่ถูกต้อง

คำถามคือ คุณจะสอนอย่างนั้นได้ไหม เพราะคุณต้องสอนนิติศาสตร์ในลักษณะเป็นสองชั้นตลอดเวลา ว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร, สิ่งที่ทำอยู่คืออะไร และต้องกล้าพูดด้วย ว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องคืออะไร 

อันนี้นิติศาสตร์จะมีปัญหา เพราะส่วนใหญ่เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราสามารถเอาไปใช้ได้จริง อะไรที่เป็นบรรทัดฐานศาลตัดสิน เราไม่ค่อยถามเรื่องหลักการ ฉะนั้นจึงมักมีคนในสายนี้ที่ไม่สนใจว่าสากลใช้อย่างไร แต่สนใจแค่ว่าศาลไทยใช้อย่างไร แล้วสอนไปแค่นั้น ตรงนี้จึงเป็นข้อท้าทายกับคนเรียนนิติศาสตร์แน่นอน

ห่วงคำตัดสินวางบรรทัดฐานอันตราย เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

แม้เหตุผลด้านนิติศาสตร์ยังเต็มไปด้วยคำถาม ในด้านรัฐศาสตร์กลับมีความกังวลถึงความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทยโดยไม่จำเป็น รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเหตุผลว่า การขยายขอบเขตข้อกฎหมายที่ว่าอะไรเข้าข่ายล้มล้างการปกครองกว้างขวางจนเกินไปและไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ปกติแล้วการล้มล้างการปกครองหมายความถึงการใช้กำลัง อาวุธ เพื่อล้มล้างการปกครองด้วยกำลัง ซึ่งเป็นคำนิยามตามสากล อย่างกรณีประเทศเยอรมันซึ่งเป็นต้นแบบที่เราไปเอาต้นแบบศาลรัฐธรรมนูญและต้นแบบของการยุบพรรคมานั้น เยอรมันแทบจะไม่มีการยุบพรรค หรือถ้าจะเข้าข่ายยุบพรรคต้องมีองค์ประกอบของการใช้ความรุนแรง หรือเป็นพรรคการเมืองที่ปลุกระดมโดยใช้กำลังสร้างความรุนแรงและจะต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นแล้ว

ในกรณีของพรรคก้าวไกลไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง ในขณะเดียวกันคือเป็นแค่เรื่องการเสนอกฎหมายผ่านกระบวนการทางรัฐสภาในรูปแบบปกติ ซึ่งเป็นวิธีการสันติและเป็นกระบวนการปกติในระบอบประชาธิปไตย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับหนึ่งเป็นการล้มล้างการปกครอง รศ.ดร.ประจักษ์ จึงมองว่า เป็นคำตัดสินที่วางบรรทัดฐานที่อันตราย และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ประชาชนยัง(ไม่)สิ้นหวัง(ไม่)จำนนต่อความล้าหลังของการเมืองไทย

“เรายังอยากอยู่ในระบอบประชาธิปไตย โดยพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่สำคัญและเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ พรรคการเมืองไม่ได้มีแค่นักการเมืองยังมีประชาชนที่สนับสนุนด้วย พอจะตัดสินยุบสถาบันทางการเมืองจึงเท่ากับไม่เคารพเสียงของประชาชนไปด้วย และหากไม่ได้วางอยู่บนหลักของกฎหมาย เสียงของประชาชนก็ถูกทำลายลงไปด้วย” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวและเสนอต่อไปว่า ควรปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีขอบเขตอำนาจที่กว้างขวางจนเกินไป “การที่คน 9 คนที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และทำลายเสียงของประชาชนเป็นสิบ ๆ ล้านคนได้ จึงขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตย

ปัจจัยหนึ่งที่ รศ.ดร.ประจักษ์ หยิบยกขึ้นมาประเมินสถานการณ์ทางการเมืองคือกลไกทางรัฐสภา ถ้าไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไขกฎหมายผ่านกลไกรัฐสภาแล้ว ซึ่งเป็นหนทางที่สันติที่สุดแล้ว เรากำลังเปิดช่องไปสู่ความขัดแย้งที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต ถือเป็นความอันตรายอีกเรื่องหนึ่ง

“ผมกลัวในเรื่องความขัดแย้ง รุนแรง มันไปเพิ่มความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทยโดยไม่จำเป็นเลยในกรณีนี้”

เป็นอีกหนึ่งวันที่น่าเศร้าสำหรับประชาธิปไตยไทย รศ.ดร.ประจักษ์ ยอมรับกับDe/code อย่างตรงไปตรงมาทั้ง ๆ ที่เราควรจะเดินหน้าไปได้ไกลกว่านี้ตั้งนานแล้ว เรื่องการยุบพรรคการเมืองที่ไม่มีเหตุผล มันควรหมดไปได้แล้วในสังคมไทย ที่ผ่านมาประชาธิปไตยก็ถดถอยมาหลายครั้ง แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนยังไม่หมดหวัง ยังเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังของสังคมไทย ประชาชนยังตื่นตัว และไม่ยอมจำนนต่อความล้าหลังของการเมืองไทยที่ผิดปกติ รศ.ดร.ประจักษ์ มองไปข้างหน้าด้วยความหวังว่า ยังอยากเห็นการเมืองไทยที่พัฒนากว่านี้ และหากความหวังยังคงอยู่…เราก็ยัง ไม่หมดหวังเสียทีเดียว