สังคมที่แตกร้าว สัญญาณอันตรายของการเมืองอเมริกา - Decode
Reading Time: < 1 minute


ในความเคลื่อนไหว

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ก่อนที่เสียงปืนจะดังขึ้น และกระสุนจะพุ่งเฉียดหูของโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 17 ก.ค. 2024 ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอเมริกาหลายท่านได้ส่งสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านั้นนานแล้วว่า การเลือกตั้งชิงชัยประธานาธิบดีในปลายปีนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง

การลอบสังหารนักการเมืองเป็นความรุนแรงที่เลวร้าย แต่มิใช่สิ่งแปลกใหม่ในสังคมการเมืองอเมริกัน ที่ผ่านมาเคยมีประธานาธิบดีถูกลอบสังหารจนถึงแก่ชีวิตแล้ว 4 ราย (อับราฮัม ลินคอล์น, จอห์น เอฟ เคนเนดี ฯลฯ) ไม่นับรวมอดีตประธานาธิบดีอีกหลายรายที่ตกเป็นเป้าหมายของความพยายามลอบสังหารทว่ารอดชีวิตมาได้ เหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 17 ก.ค. 2024 ไม่ใช่เรื่องที่เหนือการคาดการณ์ในบรรยากาศที่สังคมอเมริกาแตกแยกอย่างรุนแรงที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์

แม้ว่าจนถึงวันนี้ การสอบสวนก็ยังไม่พบแรงจูงใจที่ชัดเจนของผู้ลงมือลอบสังหาร แต่ความพยายามปลิดชีพทรัมป์เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ชนวนและเงื่อนไขของความรุนแรงในสังคมอเมริกามีอยู่เต็มไปหมดจนอยู่ในสภาพที่ไฟจะถูกจุดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนทั้งจากฝั่งตัวผู้นำ ประชาชน และสภาพแวดล้อมทางสังคม

หากเปรียบสังคมเป็นบ้านหลังหนึ่ง อเมริกาในยุคปัจจุบันคือบ้านที่แตกร้าว และไม่ใช่การแตกร้าวที่หยุดอยู่เพียงความเห็นต่าง แต่ยกระดับไปสู่ขั้นที่ผู้คนต่างความเชื่อและต่างขั้วทางการเมืองพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน ในการสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันเมื่อไม่นานมานี้ในปี ค.ศ. 2022 ระบุว่าผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตร้อยละ 33 และผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันร้อยละ 36 มองว่าการใช้ความรุนแรงเพื่อเอาชนะกันทางการเมืองเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม ในขณะที่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 ตัวเลขดังกล่าวของทั้งสองพรรคอยู่ที่ร้อยละ 8 เท่านั้น ที่น่าตกใจไปกว่านั้น การสำรวจยังพบว่าร้อยละ 20 ของฝ่ายรีพับลิกัน และร้อยละ 15 ของฝั่งเดโมแครตตอบว่าสังคมอเมริกาจะน่าอยู่ขึ้น ถ้ากลุ่มที่เห็นต่างจากพวกเขาหายไปจากโลกนี้

ผลสำรวจของสำนักวิจัยหลายแห่งก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าคนอเมริกันยอมรับความรุนแรงเป็นเครื่องมือเพื่อเอาชนะกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดนักการเมืองที่ตนเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตและความเชื่อของตน นี่ย่อมไม่ใช่สังคมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ความเกลียดชังและไม่ไว้วางใจต่อกันมิได้จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ทางการเมือง แต่แทรกซึมไปถึงหน่วยย่อยที่สุดของสังคม คือครอบครัว ในปี ค.ศ. 1960 ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันร้อยละ 5 และเดโมแครตร้อยละ 4 ตอบว่าพวกเขาไม่รู้สึกสบายใจหากลูกหลานจะไปแต่งงานกับคนที่เลือกพรรคการเมืองตรงกันข้าม ข้ามมาที่ปี 2010 ตัวเลขดังกล่าวของฝั่งรีพับลิกันพุ่งไปที่เกือบร้อยละ 50 ในขณะที่เดโมแครตก็กระโดดไปที่ร้อยละ 33 สภาพแวดล้อมทางสังคมดังกล่าวย่อมเป็นเนื้อดินอันอุดมสมบูรณ์ของความรุนแรง ไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงอาวุธปืนได้โดยง่ายและสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย ยิ่งทำให้การตัดสินใจใช้ความรุนแรงเป็นทางออกเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นเป็นทวีคูณ

หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ของอเมริกาเอง ยุคสมัยที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองสูง คือยุคสมัยที่สังคมแตกร้าวรุนแรง นั่นคือ ช่วงทศวรรษ 1860 ซึ่งนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐทางเหนือกับทางใต้ และช่วงทศวรรษ 1960 ที่เกิดขบวนการประท้วงสงครามเวียดนามของคนหนุ่มสาว ขบวนการสิทธิสตรีและสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ ทั้งสองยุคแห่งความแตกแยก ประธานาธิบดี 2 คนถูกลอบสังหาร (ลินคอล์นและเคนเนดี) รวมถึงนักการเมืองและผู้นำขบวนการมวลชนอีกหลายราย

การลอบสังหารจึงสะท้อนอาการเสื่อมทรุดของยุคสมัยที่เยื่อใยทางสังคมถูกฉีกกระชากออกเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองที่ไม่ต้องการอยู่ร่วมโลกกัน   

เมื่อเนื้อดินอุดมสมบูรณ์ คลื่นของความรุนแรงก็แพร่ปกคลุม สอง กติกาและคุณค่าประชาธิปไตยที่เสื่อมถอย 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความรุนแรงทางการเมืองเกิดถี่ขึ้นและปรากฏทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น มีการยิงส.ส. สามีของอดีตประธานสภาถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส มีการทำร้ายร่างกายผู้ช่วยนักการเมือง มีการบุกไปลอบยิงนายกเทศมนตรีถึงออฟฟิศ มีการโยนระเบิดปลอมเข้าไปที่บ้านพักของผู้สมัครที่เป็นนักการเมืองหญิงในระดับท้องถิ่น พร้อมกับข้อความ “ถ้าไม่หยุดหาเสียง ครั้งหน้าจะเจอระเบิดจริง” หากนับรวมการข่มขู่ที่จะใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ (ส่งจดหมายลึกลับ บัตรสนเท่ห์ โทรศัพท์และอีเมลขู่ทำร้าย คอมเมนต์ในสื่อสังคม ฯลฯ) งานวิจัยพบว่าความรุนแรงทางการเมืองในสังคมอเมริกาต่อนักการเมืองเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

นักการเมืองผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย และผิวสีตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากเป็นพิเศษ บรรยากาศที่เป็นพิษและอันตรายต่อชีวิต ทำให้หลายคนตัดสินใจเลิกเล่นการเมือง นักการเมืองสตรีรายหนึ่งกล่าวว่า…

“ระดับของความโกรธ เกลียด การโกหกมดเท็จ การกล่าวหา และการแพร่กระจายความกลัวแพร่ระบาดในสังคมของเรา”

ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างที่หายไปนำไปสู่อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าอคติต่อความแตกต่างทางเพศ สีผิว ชาติพันธ์ และศาสนาจะเป็นปัญหาอยู่แต่เดิมอยู่แล้วในสังคมอเมริกา แต่ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 ความรุนแรงจากความเกลียดชังเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจและตรงนี้เองที่ปัจจัยด้านผู้นำมีความสำคัญอย่างมากต่อการที่จะลด หรือเพิ่มอุณหภูมิทางการเมือง

ทรัมป์ เป็นนักการเมืองที่หาเสียงผ่านการปลุกเร้าความโกรธ ความเกลียดชัง และความกลัว เขาหาเสียงผ่านวาทกรรมชาตินิยม แต่เป็นชาตินิยมที่ถูกนิยามอย่างคับแคบให้หมายถึงอเมริกาของคนผิวขาว นับถือศาสนาคริสต์ และถือกำเนิดในแผ่นดินอเมริกาแต่แรกเริ่ม (native born) ชาตินิยมแบบทรัมป์กีดกันผู้อพยพ และสร้างความเป็นอื่นให้กับคนต่างศาสนา สีผิว และเชื้อชาติ โวหารและการให้ความหมายกับความเป็นชาติแบบคับแคบดังกล่าวยิ่งเป็นการซ้ำเติมสังคมที่แตกร้าวและร้าวลึกหนักมากยิ่งขึ้นจนยากแก่การเยียวยา

ทรัมป์ ยังทำหลายอย่างที่เลยเส้นของความเป็นผู้นำที่ดีในสังคมประชาธิปไตย เขาไม่เคารพกฎเกณฑ์พื้นฐานอย่างการเลือกตั้งที่อยู่คู่กับการเมืองอเมริกามาตลอดประวัติศาสตร์ ไม่ว่าใครแพ้ก็ยอมรับผลและความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการเลือกตั้ง ทรัมป์ละเมิดสิ่งนี้เมื่อเขาปฏิเสธที่จะยอมรับความพ่ายแพ้แถมยังปลุกระดมผู้สนับสนุนของเขาให้ขัดขวางกระบวนการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติซึ่งเป็นประเพณีทางการเมืองของอเมริกาที่ไม่เคยถูกละเมิด ในช่วงที่เขามีอำนาจเขายังสนับสนุน และให้ท้ายการใช้ความรุนแรงของกลุ่มขวาจัด ในหลายโอกาสเขาปราศรัยให้ผู้สนับสนุนเขาใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงกันข้าม ในฐานะผู้นำที่มีผู้ติดตามมากมายมหาศาล เขาจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ทรัมป์มีส่วนสร้างเงื่อนไข ส่งเสริม และกระตุ้นให้ความรุนแรงทางการเมืองในอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นผ่านภาษา สัญลักษณ์ นโยบาย และแนวทางทางการเมืองของเขา

ตอนนี้สังคมอเมริกาเข้าสู่เขตแดนที่อันตราย หากไม่มีความพยายามลดทอนสภาพแวดล้อมที่แตกแยกแบ่งขั้วรุนแรง เราอาจจะเห็นความรุนแรงอุบัติขึ้นอีกทั้งในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งความวุ่นวายและวิกฤตรุนแรงจะบั่นทอนต่อคุณภาพและเสถียรภาพของประชาธิปไตยของประเทศ และความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบกว้างไกลต่อประชาคมโลกและการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศอื่น ๆ  

หากต้องการหยุดยั้งสัญญาณอันตรายที่กำลังก่อตัวขึ้น คงต้องเริ่มจากการที่ทุกฝ่ายในการเมืองสหรัฐฯ ต้องออกมาส่งสัญญาณอย่างชัดเจนในการยอมรับกติกาการเลือกตั้งและปฏิเสธความรุนแรง สิ่งสำคัญคือต้องไม่สร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับให้ความรุนแรงเป็นทางออกเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง บทบาทของผู้นำทั้งฝ่ายรีพับลิกันและเดโมครตสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ ประชาชน เพราะหากผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทั้งสองฝั่งยังคงมีทัศนคติที่ยอมรับว่าการใช้กำลังต่อคู่แข่งขันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ นั่นย่อมนำไปสู่การหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมของความรุนแรง และส่งเสริมให้เกิดการละเมิดกฎกติกาและคุณค่าพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย          

อเมริกากำลังเผชิญกับบททดสอบครั้งใหญ่ และไม่ว่าใครเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ความท้าทายอันแสนสาหัสที่รออยู่ข้างหน้า คือจะเยียวยาและฟื้นฟูสังคมที่แตกร้าวอย่างไร?