คนไทยเป็นนักสืบในตัว หนึ่งในเหตุผลที่ดิว – พิมพ์ชนก ศิริวรรณนาวี บรรณาธิการบริหาร กลุ่ม Literature สำนักพิมพ์ Prism (ปริซึม) ในเครือบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) มองว่ามีส่วนที่ทำให้ตลาดวรรณกรรมสืบสวน สยองขวัญเติบโตอย่างรวดเร็ว เธอสำทับด้วยคำว่า “ตลาดฟู” ในเมื่อคนไทยอ่านและตามหาสิ่งนี้ เสพงานเขียนแนวนี้จึงทดลองตลาดมาสองปี หลังจากเปิดตัวหนังสือครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือฯ ปีที่แล้ว prism ถือเป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ นำเสนอวรรณกรรมจากเอเชียจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวันและเกาหลีใต้ งานแนวสืบสวนสอบสวน ลึกลับ สยองขวัญ และสะท้อนสังคม เราเคยจับงานเอเชียก็มาจับงานไทยดูบ้าง
“นักเขียนไทยก็มีฝีไม้ลายมือที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก แม้แต่คนต่างชาติก็มักจะบอกว่าผีไทยน่ากลัว” แต่เธอก็ไม่เลือกน้ำเสียงตะโกนโดยใช้ “ผี” นำ มันน่ากลัวเกินไป (เงียบ) ที่สำคัญ คือกลัวคนไม่กล้าหยิบอ่าน ต้องอ่านไปนอกบ้าน (หัวเราะ)
พิมพ์ชนก มองว่าแนวโน้มของวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนในไทยน่าจะยังเป็นทิศทางขาขึ้นไปอีกสักพักและอยากให้นักเขียนไทยที่มีฝีมือหรือแม้แต่นักเขียนหน้าใหม่มีที่ทางปล่อยของ เพื่อดึงศักยภาพของนักเขียนรุ่นใหม่และเก่าเติบโตไปด้วยกันโดยเสริมกันในด้านการตลาดและอินไซต์เกี่ยวกับผู้อ่าน เพราะเด็กรุ่นใหม่ยังคงตามหาหนังสือแนวนี้ และพบว่าพฤติกรรมการอ่าน คืออ่านจบเร็ว และจะหาอ่านเล่มต่อไป มันจึงต้อง “ทำถึง” ซึ่งในตลาดหนังสือเล่มแนวนี้ยังมีคู่แข่งน้อยราย
“เราอยากทำให้วงการหนังสือมันไปต่อได้ คอนเทนต์คือ Never Die ไม่ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นช่องทางไหน แต่ถามว่าทำไมต้องเป็นหนังสือก็เพราะมันยังรับรู้รส กลิ่น เสียงและรูปธรรมที่เราจับต้องได้เป็นเจ้าของได้ เนื้อกระดาษที่ต่างกันมันให้ประสบการณ์ที่ต่างกัน เราจึงอยากลงทุนในจุดนี้อยู่”
เธอยอมรับว่าตอนนี้เป็นยุคสมัยของวรรณกรรมไทยแนวสืบสวน สยองขวัญ เธอหยิบยกสามเล่มแรกจากนักเขียนที่มีชื่อเสียงในไทยและในอดีตมาตีพิมพ์ใหม่ อย่าง สรจักษ์ ศิริบริรักษ์ นักเขียนที่มีผลงานโดดเด่นแนวเรื่องสั้นสยองขวัญจะเป็นเรื่องสั้นหักมุม รวมถึง “รอยมาร” ผลงานของลอยชาย นักเขียนที่ไม่เปิดเผยตัวตน แต่โด่งดังและเป็นที่รู้จักในเว็บไซต์พันทิป นอกจากนี้ยังมี “ภาคินัย กสิรักษ์” เจ้าของผลงานนิยายสยองขวัญที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครมากมาย อย่าง “ลิฟต์ซ่อนศพ” ถือเป็นวรรณกรรมสยองขวัญที่อยู่ในยุคต่อมา แม้คุณภาคินัยจะจากเราไปแล้วก็ตาม
“เขาเสียชีวิตไป แต่สิ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ คือผลงาน”
แม่ยุพา กสิรักษ์ บอกเล่าถึงความรู้สึกที่ผลงานของลูก(ภาคินัย กสิรักษ์) ถูกตีพิมพ์อีกครั้งทั้งเบื้องหลังที่เป็นแรงขับของการเขียนนิยายสยองขวัญถูกขับเคลื่อนได้เพราะ “ความกลัว” ล้วน ๆ
“เขากลัวผีนะ แต่ก็ไปดูเมรุเผาศพตามภาษาเด็ก เขาก็ใช้ความกลัวมาเขียน”
อีกส่วนหนึ่งเพราะภาคินัยเป็นนักอ่านด้วย โดยเฉพาะวรรณกรรมของสรจักรที่มีอิทธิพลต่อเขาอย่างมาก แม่ดีใจที่มีคนให้ชีวิตกับผลงาน อย่างน้อยคนที่ยังไม่ได้อ่านก็จะได้อ่าน แม่ยุพาเปรียบเทียบชีวิตคนกับวรรณกรรม เหมือนชีวิตยังอยู่ แต่เป็นชีวิตของผลงาน