ฝันสลายใต้เครื่องหมาย "การพัฒนาอีอีซี" - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ลุงว่า นี่มันคือหายนะ”

เสียงสั่นเครือของลุงละม่อม บุญยงค์ ประธานองค์กรประมงท้องถิ่นปากน้ำบ้านเรา จ.ระยอง แกพูดขณะยืนเดี่ยวไมโครโฟนกับบรรยากาศที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้เจอกับลุงละม่อม ในสายตาของเราลุงเป็นคนพูดเก่งคารมคมคาย มีพาวเวอร์แข็งแกร่ง เป็นนักสู้ที่มีสายเลือดชาวประมงพื้นบ้าน

ปลายเสียงสั่น ๆ เจือความทุกข์ของลุงในเช้าวันนั้น ทำเราแปลกใจ
อาจเป็นเพราะนาทีนี้เป็นช่วงเวลาของความหวัง เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของท้องทะเลหน้าบ้านของลุง ชีวิตครอบครัวของลุง เป็นจังหวะที่กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.บ.EEC กำลังจะมีการทบทวนแก้ไขรับฟังความคิดเห็น แต่ความเงียบและความล่าช้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ความหวังของลุงละม่อมและชาวบ้านที่นั่นอึดอัด ความอดทนที่คนในพื้นที่จำยอมมานานอย่างน้อย ๆ ก็ 5 ปีมานี้ กลั่นออกมาเป็นน้ำเสียงของลุง

นั่นเป็นเช้าวันเดียวกันนี้ที่หนังสือถูกส่งถึงมือเรา บทเรียนการพัฒนาผ่านแนวนโยบายและกฎหมาย เขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย เขียนโดย อ.เขียว สมนึก จงมีวศิน และ คุณพรพนา ก๊วยเจริญ

ช่วงปิดเทอมตอนอยู่ประถม บ่อยครั้งที่เราจะได้โอกาสไปเที่ยวบ้านน้าสาวที่จังหวัดระยอง
โตมาหน่อย สมัยมหาวิทยาลัยจนตอนนี้ที่มีงานทำแล้วก็ยังคงติดใจการไปกินอาหารทะเลแถว ๆ พัทยา ชลบุรี (เพราะมันใกล้ดี ราคาจับต้องได้) ได้ยินว่าแถวบางละมุงคือ คลังอาหารทะเลของคนกรุงเทพฯ และคนแถบตะวันออก
ไม่นานมานี้มีโอกาสได้ไปกิน-นอนที่ฉะเชิงเทรา ชอบไม่น้อยกับภาพนาขาวังที่ยังพอมีให้เห็น ช่างน่าอึ้งพอ ๆ กับความสวยงามของแม่น้ำบางปะกงที่ไหลผ่าดงโรงงานและจุดลักลอบทิ้งขยะ

หลังคาบ้านในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ถูกปกคลุมด้วย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 คำว่า ‘พิเศษ’ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง บ้างคาดว่าจะเป็นฝันดีสำหรับเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บ้างว่าจะเป็นฝันใหญ่ที่ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้มีงานทำ แต่สำหรับลุงละม่อมและคนท้องถิ่นที่มีอาชีพยึดโยงกับฐานทรัพยากรธรรมชาติกำลังฝันสลาย เพราะบ้านที่เคยสมบูรณ์กำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เกิดขึ้นพร้อมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรีที่มาจากการรัฐประหาร และก่อนที่ EEC จะปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย

ก่อนหน้านั้นในยุคทหารภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แถบชายฝั่งตะวันออกเคยตกอยู่ภายใต้โครงการ Eastern Seaboard มาก่อนแล้ว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการปักธงอนาคตให้ภาคตะวันออกเดินหน้าด้วยอุตสาหกรรม 1.0 2.0 แม้ Eastern Seaboard จะประสบความสำเร็จในการทำรายได้เข้าประเทศ จนทำให้ไทยถูกจดจำในฐานะเสือตัวที่ห้าของเอเชีย แต่นั่นเป็นเพียงอดีต

แตกต่างกันตรงที่เวลานี้โลกพัฒนาไปสู่ทิศทางตรงข้าม ประชากรโลกกำลังตื่นตัวกับอุตสาหกรรมที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม การขยายฝันจาก Eastern Seaboard มาเป็น EEC ในช่วงเวลาต่อมา ราวกับการคืบคลานของสิ่งใหม่ในบ้านหลังเก่าที่ชำรุด แต่ยังไม่ได้ซ่อม

“เราไม่รู้จะพูดแบบไหน ตอนนี้รอแค่เวลาขึ้นศาล แต่มันถูกต้องไหม น้ำมันรั่วทำไมเราต้องมาขึ้นศาล แทนที่หน่วยงานภาครัฐจะฟ้องร้องแทนเรา ตอนนี้ยังไม่รู้จะสู้กันแบบไหนยังไง แต่ลุงบอกไว้เลยไม่ถอยแน่ จะสู้ให้รู้ดีรู้ชั่ว เพราะบริษัทที่มาทำธุรกิจมันขาดธรรมาภิบาล วันนี้ชาวประมงได้แค่เยียวยาเบื้องต้น 45,000 บาท ณ วันนี้เข้า 3 ปีแล้ว สี่หมื่นห้าพันบาทมันไม่พอกับที่เขามาทำให้ประมงชายฝั่งเสียหาย ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย”

ละม่อม บุญยงค์ ประธานองค์กรประมงท้องถิ่นปากน้ำบ้านเรา จ.ระยอง

ระยองในวัยเด็กของเราเหลือเพียงความทรงจำ

ลุงละม่อม เล่าว่า จากวันที่น้ำมันรั่วซ้ำซ้อน 2556-2565 ทะเลระยองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เต่า ปู ปลา สัตว์ทะเลเป็นแผลพุพอง ก้อน Tar Ball ถูกซัดขึ้นฝั่งวันแล้ววันเล่า ความวัวยังไม่ทันหายความสงสัยก็เข้ามาแทรก

หลัง พ.ร.บ.EEC ประกาศใช้เมื่อปี 2561 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ก็เริ่มเดินหน้า ทะเลประมาณ 1,000 ไร่ถูกถม การลงทุนอยู่ในความดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (Gulf MTP)

ตามหลักการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น กนอ. มีการจัดตั้งมูลนิธิกองทุนโดยเอกชนคู่สัญญาเป็นผู้สมทบ 2 กองทุน มีกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินระยะก่อสร้าง และกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระยะก่อสร้าง
บริษัท Gulf MTP นำเงินสมทบเข้าตามระบุใน EHIA จำนวน 129,000,000 บาท

ในการเยียวยาประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 กนอ.จ่ายเงินให้ประมงพื้นบ้าน 936 ราย รวมเป็นเงิน 93.6 ล้านบาท (รายละ 1 แสนบาท) และทางมูลนิธิกองทุนฯ สนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 33.7 ล้านบาท

ทะเลกำลังถูกถมทำเป็นท่าเรือ สัตว์น้ำตกใจหนีหาย คลื่นรวนเปลี่ยนทิศ สัญญาณโคม่าจากท้องทะเลเตือนว่า เดดไลน์การล่มสลายของอาชีพประมงพื้นบ้านในจังหวัดระยองใกล้เข้ามาทุกที

“เราเคยออกเรือจับสัตว์น้ำมากินมาขาย ส่งลูกเรียนได้สบาย ๆ วันนี้ชาวประมงระยองหลายคนติดหนี้ บางคนกำลังต้องขายเรือทิ้ง นี่แหละผลกระทบจาก EEC เยียวยาอะไรไม่คุ้มหรอกนอกจากชีวิตลุงและพี่น้องชาวประมง ยังไม่มีการพูดถึงการเยียวยาธรรมชาติที่เสียไปเลยนะ” ลุงละม่อมเล่า

และเหตุการณ์เหมือนกันนี้เกิดขึ้นกับคนที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ละแวกที่มีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

จะสร้างบ้านต้องตอกเสาเข็ม ลงเสาเอกและเทปูนปูฐาน
บ้านหลังใหญ่ของลุงละม่อมมีรอยรั่วให้อุดเต็มไปหมด คลื่นทะเลไม่น่ากลัวเท่าคลื่นการพัฒนา ในขณะที่คนในพื้นที่กำลังต่อสู้เพื่อซ่อมบ้าน โครงการบ้านหลังใหญ่ก็เริ่มก่อสร้างเช่นกัน ภายใต้เสาหลักแรกของ EEC คือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ EEC เนื้อที่เกือบ 1 แสนไร่ รวม 35 แห่ง

เสาหลักที่สอง คือโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการใหญ่
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F)
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1
โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา

และเสาหลักที่สามการพัฒนาเมืองใหม่ในโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

ขอบคุณภาพ วิชัย จันทวาโร

ตู้คอนเทรนเนอร์
ท่าเทียบเรือ
โรงงานอุตสาหกรรม
โรงงานรีไซเคิล
โรงงานกำจัดของเสีย
โรงงาน โรงงาน โรงงานเต็มไปหมด
แน่ล่ะ ! เพราะเป้าหมายที่ถูกระบุตอนคลอดกฎหมาย EEC คือต้องการพัฒนาพื้นที่ด้วยอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยอมรับร่องรอยที่สร้างผลกระทบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และชัดเจนว่าอีอีซีทำ GDP ประเทศโตไม่ถึงเป้าหมาย, ECC ยังไม่ดึงดูดนักลงทุน, โครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการที่เล่าไปยังไม่เสร็จแต่ผลกระทบบางส่วนเกิดขึ้นแล้ว

ภาคต่อ EEC หลังการทบทวนกฎหมายในมุมมอง ดร.จุฬา คือการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต้องเกิดขึ้น วาดเป้าหมายใช้พื้นที่ที่ยังมีความสมบูรณ์เหลืออยู่มากอย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

ฝันใหม่ที่ต้องรอการพิสูจน์ อาจไม่ต้องสวดภาวนาให้พรุ่งนี้เป็นฝันดี เพียงแค่ยกเลิกคำสั่ง คสช.ทุกฉบับที่มีอนุภาคยกเว้นกฎหมายปกติไปซะก่อนก็น่าจะเป็นลางที่ดีก่อนจะฝัน อย่างน้อยก็คำสั่ง คสช.ที่ 47/2560 การยกเว้นกฎหมายผังเมืองมาใช้บังคับในพื้นที่ EEC เพราะนั่นจะทำให้กฎหมายผังเมืองปกติได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เล่นแร่แปรธาตุให้พื้นที่ผังเมืองสีเหลืองไข่ไก่ (พื้นที่ชุมชนหนาแน่น) สามารถสร้างโรงงานอย่างปัจจุบัน (กฎหมายผังเมืองปกติ พื้นที่ตั้งโรงงานต้องเป็นผังสีม่วง)

‘ลุงเคยพาออกทะเลไหม?’ เราถาม
หลานชายในวัยประถมของลุงละม่อม ตอบ ‘เคยครับ’

แล้วโตขึ้นอยากทำประมงไหม? เราถาม
หลานชายในวัยประถมของลุงละม่อม ไม่ตอบ

มีความหมายในความเงียบ อาจเพราะยังไม่มีอะไรในความฝันของน้อง หรือ อาจเพราะไม่แน่ใจว่าจะฝันได้ไหม ?


ลุงละม่อม หลานชาย คนท้องถิ่น อยู่ตรงไหนในเส้นทางฝันถึงการพัฒนาที่ว่า สำหรับเราแล้วหนึ่งในการมีส่วนร่วมคือการมีทางเลือกให้คนรุ่นต่อไปในพื้นที่ได้กล้าฝันถึงชีวิตนอกรั้วโรงงานอุตสาหกรรม คำตอบเดียวของการพัฒนาที่ไม่ผูกขาดอยู่แค่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะทำให้ลุงละม่อม และหลานชายมีชีวิตแบบไหนในวันพรุ่งนี้ เป็นคำถามที่วนอยู่ในหัวนับจากวันที่เราได้คุยกัน

ถ้ามีทางเลือกที่มากกว่าโรงงาน อย่างน้อยลุงก็คงไม่ต้องพาหลานพาครอบครัวขึ้นมากรุงเทพมาขึ้นศาลขึ้นเวทีบ่อย ๆ

ขอบคุณภาพ วิชัย จันทวาโร

อยู่บ้านน่ะดีที่สุด
จะดีกว่านี้ ประหยัดได้มากกว่านี้ถ้าได้ทำงานใกล้บ้าน ในโลกทุนนิยมที่เบียดเราทุกคนให้เดินทางไกลจากบ้านเกิด
ภายใต้ประโยคบอกเล่าเหล่านี้มันมีปมที่ทำให้เราเองและอีกหลายคนเป็นคนไกลบ้าน
เราต่างมีต้นทุน มีความถนัด มีความฝันที่หลากหลาย
เด็ก ๆ คนรุ่นใหม่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพื้นที่อื่น ๆ ก็เช่นกัน

คลื่นทะเลตะวันออกยังเกรี้ยวกราด กระแสการพัฒนาในวาทกรรม ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ยังโหมกระหน่ำ
การทบทวนและเปิดรับฟังความความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.EEC กำลังจะเริ่มต้นขึ้น (หลังล่าช้ากว่ากรอบการทบทวนที่กำหนดในกฎหมายมาเกือบปี) เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่น่าหยิบหาหนังสือเล่มนี้มาเติมความทรงจำที่ลืมไม่ได้จำไม่ลงที่เคยเกิดขึ้นในฝั่งตะวันออก

ตัวเลขการลงทุนและการเยียวยาที่ถูกรวบรวมไว้ พอจะทำให้เราเห็นความเป็นไป

การละเว้น รวบรัด ของกฎหมายที่ถูกปกคลุมด้วยคำสั่ง คสช. อาจพอทำให้เราตั้งคำถาม

สุดท้ายเราอาจพบว่า EEC คือฝันใหญ่ ๆ ของ คสช. จนทำให้ ‘ฝัน’ ของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไปจนถึงคนรุ่นใหญ่ในภาคตะวันออก ‘สลาย’ไป

ขอบคุณภาพ วิชัย จันทวาโร

PlayRead: บทเรียนการพัฒนาผ่านแนวนโยบายและกฎหมาย เขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน 2567
ผู้เขียน: สมนึก จงมีวศิน และ พรพนา ก๊วยเจริญ
ภาพถ่าย: วิชัย จันทวาโร, กวิน สิริจันทรกุล, ศุภโชค ชุ่มเย็น, Land Watch Thai

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี