โรคเลื่อน - Decode
Reading Time: 2 minutes

เพราะมนุษย์ไม่ควรตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้

สิทธิพล ชูประจง

ที่ปลายเตียงของโรงพยาบาล เรายืนมองไม่ได้พูดจาอะไรออกไปเพื่อบอกคนป่วยที่นอนอยู่บนเตียง คนบนเตียงที่หลับใหลไม่มีสติ ไม่ต้องพูดถึงสายระโยงระยางที่ช่วยประคับประคองชีวิตและตรวจสอบว่า ชีวิตยังมีอยู่หรือไม่

ในยามปกติของชีวิตที่เราพบกัน เขาจะมองหรี่ตาแล้วเดินเข้ามาพูดคุย มีรอยยิ้มและมีความกวนตีนอยู่ในที รูปร่างเขาเตี้ยอ้วน เมื่อเจรจาพาทีมีถ้อยความแสดงความสงสัย แต่มันไม่ทำให้รู้สึกว่านั่นคือการคุกคามผู้ใด ตาที่มักหรี่มองตลอดเวลาเมื่อมองทางเดินหรือมองผู้คน เราจึงทักถามหาความจริงเอาว่า เขาสายตาสั้นหรือไม่ เขาบอกน่าจะใช่ ที่ตอบว่าน่าจะนั้นเพราะไม่มีเงินไปตรวจสายตาไปตัดแว่นได้สักครั้ง

เขาเคยเป็นคนไร้บ้าน ใช้ชีวิตแถวราชดำเนินมาได้ประมาณ 1 ปี เป็นการใช้ชีวิตไร้บ้านในเงื่อนไขตามองไม่เห็น 1 ข้าง และอีกข้างทำท่าจะดับลง ชีวิตที่ใช้ระหว่างการเป็นคนไร้บ้านนะเหรอ ย่ำแย่ เสี่ยงอันตราย เละเทะ และมันเป็นผลจากตาทั้งสองข้างของเขา

ก่อนหน้ามานี้เขาทำงานเป็น รปภ. ทำงานเฝ้าพื้นที่และทรัพย์สินของคนอื่น ในระหว่างทำงานนั้น ดวงตาเขาก็ไม่ปกติมาเรื่อย ๆ มันเป็นผลจากอุบัติเหตุรถชนตั้งแต่ปี 2560 ทำให้สูญเสียตาข้างซ้ายไป และตาข้างขวาก็ผิดปกติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อตาขวาเริ่มเสื่อมสภาพมากขึ้น เลือนรางมากเข้า ความผิดพลาดของการงานก็ตามมา แล้วเขาก็ถูกเลิกจ้าง หลังจากนั้นชีวิตเริ่มเลือนรางเหมือนดวงตาข้างขวา หรือเอาเข้าจริงมันมืดบอดเหมือนดวงตาข้างซ้ายเสียมากกว่า

ความผิดปกติของดวงตาของเขานั้นกว่าที่จะรู้ได้ว่าข้างหนึ่งบอด ข้างหนึ่งเบลอนั้น เมื่อได้พาเขามาหาหมอเป็นเรื่องเป็นราว ก่อนหน้านั้นอาศัยจากคำตอบของเขาที่ให้ข้อมูลได้ บอกเพียงว่าสายตาผมไม่ดี มองไม่ค่อยเห็น สายตาน่าจะสั้น ซึ่งมันเป็นคำตอบจากคุณภาพสมองที่ผิดปกติของเขาเองเช่นกัน อุบัติเหตุจากถูกรถชนครั้งก่อน หรือสาเหตุใหม่ที่เมื่อมาหาหมอเป็นเรื่องเป็นราวจึงรู้ว่า มีก้อนเนื้ออยู่ในสมองและมันกดทับเส้นประสาทที่ส่งผลเรื่องการมองเห็นและนึกคิด

ย้อนกลับไปในชีวิตก่อนที่ความมืดบอดทั้งดวงตาและชีวิตจะมาเยือน เขาคือแรงงานมาตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปีดี ทำงานกับที่บ้านเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว วุฒิ ม.3 คือเครื่องประดับชีวิตและอีกด้านคือจุดจบที่บอกว่า เรียนไปก็เท่านั้นทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวจะดีกว่า แต่ชีวิตก็หักเมื่อพ่อแม่แยกทางกัน วัยหัวเลี้ยวหัวต่อจึงเริ่มเกเร เขาเกเรในฐานะของคนที่ต้องใช้แรงงานหาเลี้ยงตัวเอง เริ่มเข้าหาเหล้าเริ่มเข้าหายาบ้า

แต่เขายังคงทำงานใช้แรงเรื่อยมา 

เมื่ออายุ 17 ปี : ทำงานเปิดเพลงแผ่นซีดี เช็คเครื่องเสียงที่ร้านอาบอบนวดแถวแยกห้วยขวาง ด้วยคำแนะนำจากพี่เขย ได้เดือนละ 8,000 บาท ทำอยู่ร่วม 10 ปี จึงตัดสินใจออกเพราะอยากเปลี่ยนอาชีพใหม่ เบื่อแล้ว

เมื่ออายุ 26 ปี : ทำงานเป็นคนสวนที่โรงแรมแถวสุขุมวิท ทำอยู่ได้ประมาณ 7-8 เดือน เงินเดือน 6,000 บาท รวมค่าเซอร์วิสต่าง ๆ จะอยู่ราว ๆ 17,000 ถึง 18,000 บาทต่อเดือน สาเหตุที่ออกเกิดการชุมนุมทางการเมืองยาวนาน ทำให้โรงแรมไม่มีลูกค้า สุดท้ายจึงต้องออกจากงาน

เมื่ออายุ 29 ปี : ทำงานเป็นเด็กเช็ดหัวไม้กอล์ฟ ทำได้ประมาณครึ่งปี ต้องตกงานเนื่องจากสนามพังเพราะพายุ เจ้าของจึงปิดปรับปรุง และเขาถูกเลิกจ้าง

เมื่ออายุ 30 ปี : ทำงานก่อสร้างในหมู่บ้าน ทำอยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี จนจบโครงการ

เมื่ออายุ 35 ปี : เป็นลูกจ้างร้านขายน้ำ ทำอยู่ประมาณสี่เดือน และตัดสินใจออกเนื่องจากนายจ้างจ่ายค่าแรงไม่ครบ และปีนี้เองที่เขาโดนรถชนจนดวงตาทั้งสองรวมถึงสมองเขาเริ่มมีปัญหา

เมื่ออายุ 36 ปี : กลับเข้าหางานที่กรุงเทพฯ ได้งานแถวบางนา เป็นอาชีพ รปภ. ค่าแรงวันละ 400 – 500 บาท ช่วงนี้เขาเริ่มกลับมาใช้ยาบ้าเพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า เขามาเป็น รปภ. ประมาณ 3 ปี (ช่วงนี้ย้ายบริษัท รปภ.ไปประมาณเกือบ 10 ที่) ที่สุดท้ายโดนโกงค่าแรง โดนขโมยรถมอเตอร์ไซค์จากเพื่อนจึงไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง

ดวงตาเริ่มมีปัญหา ไปสมัครงานทำงานอะไรไม่ได้แล้ว

และเมื่ออายุ 40 ปี :  เริ่มออกมานอนไร้บ้าน ปักหลักอยู่แถวตรอกสาเก โรงแรมรัตนโกสินทร์

เรารู้จักกันเมื่อชายหนุ่มเข้ามาขอทำงาน เขาได้งานในโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ชีวิตเริ่มดีขึ้น แต่โรคภัยที่สะสมมาหลายปีเริ่มแสดงตัว

ก่อนที่ดวงตาจะบอดไปอีกข้าง เราจึงช่วยพาเขาเข้ารับการตรวจรักษา และมันเป็นครั้งแรกของการเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาดวงตานับตั้งแต่ถูกรถชนเมื่ออายุ 35 ปี แต่มันก็ไม่ง่ายนักกับการเข้ารับการรักษา เมื่อระบบสวัสดิการที่เรียกภาษาปากว่า “บัตรทอง หรือ สิทธิ์ 30 บาท” มีการเปลี่ยนแปลงระบบในช่วงนั้นพอดิบพอดี ชาวบ้านชาวช่องอย่างเขาจึงต้องร่วมแบกรับน้ำหนักของระบบที่ไม่ลงตัวนั้นร่วมไปด้วย

น้ำหนักของระบบที่เขาต้องแบกมันร่วมด้วย เริ่มจากใบส่งตัวจากสถานพยาบาลปฐมภูมิไปยังสถานพยาบาลทุติยภูมิ ใบส่งตัวที่จำกัดการออกของปฐมภูมิ ที่ส่งผลให้ไปตามนัดหมายตรวจโรคตามใบนัดของสถานพยาบาลทุติยภูมิไม่ทันตามนัดตรวจ

“โรคเลื่อน” เป็นโรคที่ชายหนุ่มไม่ได้เป็น แต่มันเป็นโรคติดต่อในระบบสาธารณสุข อาการของโรคมันส่งผลให้หน่วยงานในระบบสาธารณสุขบางหน่วยไม่ให้ความสำคัญกับ “คนป่วย” มากพอ ชายหนุ่มเจอโรคเลื่อนนี้ถึง 3 ครั้งด้วยกัน

โรคเลื่อนครั้งที่ 1 จากใบส่งตัวของปฐมภูมิ ทำให้การที่ผู้ป่วยจะได้พบหมอทุติยภูมิตามนัดเลื่อนออกไปนับได้ 1 เดือน

โรคเลื่อนครั้งที่ 2 นั้นเกิดจากใบนัดที่ทางโรงพยาบาลทุติยภูมิลงแผนกที่ผู้ป่วยจะมาหานั้นผิด ใบนัดลงว่าอายุรกรรมแต่ที่ถูกต้องเขาต้องได้มาหาหมอศัลยกรรม โรงพยาบาลจึงทำนัดหมายวันให้ใหม่

โรคเลื่อนครั้งที่ 3 ก็มาถึง เมื่อหมอตรวจพบว่าเขามีก้อนเนื้อในสมอง จึงส่งต่อไปให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาดีกว่า ใบส่งตัวถูกเขียนขึ้นพร้อมวันที่ต้องไปหาหมอโรงพยาบาลใหม่ เมื่อไปถึงพบว่าโรงพยาบาลใหม่นั้นเป็นวันหยุดราชการ ชายหนุ่มถึงกับเหวอ คนพาไปก็เช่นกัน ไม่นึกฝันว่าจะประสบพบอะไรแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา

สิริรวมวันที่เกิดจากโรคเลื่อนนั้นกว่าจะได้พบหมออย่างเป็นเรื่องเป็นราวนำไปสู่แนวทางการรักษาโรคของโรงพยาบาลนั้น เป็นเวลา 2 เดือนกับอีก 10 วันโดยประมาณ สำหรับคนดี ๆ ไปแล้วเลื่อน ไปแล้วเลื่อน อย่างน้อย 3 ครั้งนั้นก็ชวนหงุดหงิดมากแล้ว แต่สำหรับชายที่มองแทบไม่เห็นและต้องเดินทางไปมาโดยไม่ได้รับการรักษาอะไรเลย คงไม่ใช่แค่ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ลำบากชิ..หาย จึงเป็นคำสบถที่ถูกถ่ายทอดออกมา

วันที่มาถึงมือหมอในโรงพยาบาลใหญ่ หมอได้ตรวจเขาอย่างครบถ้วน และพบว่าก้อนเนื้อที่สมองนั้นใหญ่มาก รวมถึงคอนดิชั่นอื่น ๆ ที่มีจะส่งผลต่อการรักษานั้นอีกด้วย หมอถึงกับมีคำถามออกมาว่า “ทำไมถึงมาหาหมอช้าจังล่ะครับ” เราและชายหนุ่มเงียบไปสักพัก จึงเริ่มเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ทำให้มาหาหมอช้าได้ถึงขนาดนี้

เขาจึงได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนตามความเห็นของหมอ แต่ผลจากการผ่าตัดนั้นกลับไม่ดีตามที่คิด เขาเริ่มไม่รู้สึกตัว ทุกอย่างในร่างกายแย่ลงเรื่อย ๆ เราด่วนไปเยี่ยมหา อยากบอกกล่าวอะไรให้เขาฟัง เป็นประโยคดี ๆ แต่เมื่อไปถึงเตียง ประโยคที่เอ่ยไปมีแค่เพียงชื่อของเขา และมือที่แตะไปที่ท่อนแขนเบา ๆ สองถึงสามครั้ง เราอยู่ในบรรยากาศนั้นราว 20 นาที เงียบนิ่ง มองเขา แตะตัวเขา และบอกลา

ราว 6 โมงเช้าของอีกวัน พยาบาลโทรมาแจ้งการเสียชีวิตของชายหนุ่ม เมื่อได้รับข่าว เราพยายามประสานงานเพื่อบอกข่าวนี้กับญาติพี่น้องชายหนุ่ม เท่าที่ติดต่อได้นั้น ปลายสายบอกว่าคงจะไม่สามารถรับศพไปทำพิธีกรรมใด ๆ ได้ แต่อีกวันต่อมา ญาติห่าง ๆ ของเขาโทรกลับเข้ามา บอกว่าเขาจะขอรับศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนาเอง “เป็นการทำอะไรให้เขาครั้งสุดท้าย” ญาติห่าง ๆ คนนั้นบอกกล่าว

ส่วนเรากำลังส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง สปสช. เพื่อหาความยุติธรรมให้กับเขาในฐานะที่เขาต้องมาแบกรับปัญหาเชิงระบบที่ทำให้ความล่าช้าในการรับการรักษาเกิดขึ้น จนส่งผลต่อชีวิตที่ต้องเสียไปไม่มีวันกู้กลับคืนมาได้อีก