'พิษหนองพะวา' ไขปริศนาโกดังหมายเลข 5 ชำระประวัติศาสตร์อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม - Decode
Reading Time: 6 minutes

ชีวิตหนองพะวาที่ถูกบังคับแพ้ แม้จะเป็นผู้ชนะคดี

บ้านหนองพะวา ตั้งอยู่ที่ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ชื่อนี้มีที่มาจากการที่พื้นที่เต็มไปด้วยต้นพะวา เป็นผลไม้มีลักษณะคล้ายมังคุด และยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน

จนกระทั่งวันที่ 22 เมษายน 2567 หนองพะวากลายเป็นพื้นที่ถูกกระทำอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม ด้านกากอุตสาหกรรม ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

หนองพะวาในวันนี้มีซากที่ไฟลุกลามไปทั่วทั้งโกดัง 5 โรงงานของบริษัทวิน โพรเสสฯ หลักฐานความล้มเหลวในการจัดการกากอุตสาหกรรม แม้จะชนะคดีตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดระยอง ในปี 2565 แต่ค่าเยียวยา 20.8 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการเยียวยา บำบัด ฟื้นฟูพื้นที่ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ สวพ 1/2564 นั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ในปี 2566 บริษัทหยุดดำเนินการ ไม่มีการขนขยะเข้ามาในโรงงานและไม่มีการฟื้นฟูใด ๆ จากภาคธุรกิจ ความเงียบเข้าปกคลุมโรงงานอยู่นานนับปี จนกระทั่งเสียงที่ดังขึ้นอีกครั้งกลับไม่ใช่เสียงของเครื่องจักรที่เข้ามาบำบัด ฟื้นฟูพื้นที่ แต่กลายเป็นเสียงปะทุเพลิงไหม้ตอนรุ่งเช้า

เสียงดังในวันนั้น ทำให้ชัยชนะที่การเยียวยาเงียบงันของชาวบ้านตลอดการต่อสู้ 13 ปีกับบริษัทวิน โพรเสสฯ กลายเป็นวิบากกรรมที่ลืมไม่ลงเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

“โกดังหยุดดำเนินการไปนานแล้ว แต่รัฐเองก็ยังปล่อยให้กากอุตสาหกรรม สารเคมีให้อยู่ใกล้บ้านเรือนของชาวบ้านมาตั้งหลายปี สุดท้ายแล้วสิ่งที่ชาวบ้านกลัวก็เกิดขึ้น คือไฟไหม้โรงงาน” สนิท มณีศรี ชาวบ้านหนองพะวา กล่าว

สนิทนัดเจอพวกเราที่บ้าน ซึ่งต้องเข้าไปลึกในสวนแห่งหนึ่งของ ต.บางบุตร ทว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านใหม่ที่พึ่งย้ายเข้ามาได้ 2 ปี เนื่องจากบ้านหลังเดิมของสนิทได้รับผลกระทบที่ส่งตรงถึงที่ทำกินจากผลกระทบของโรงงานกากอุตสาหกรรม

ชายอายุ 53 ปีคนนี้ เป็นคนท้องที่หนองพะวา หลังจากที่ประกอบอาชีพเป็นหนุ่มโรงงานนับ 20 ปี ก็ผันตัวมาเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ ประกอบของตกแต่งบ้านในที่พักอาศัยของตน โดยบ้านหลังเดิมนั้นอยู่ติดกับบ่อหนองพะวา ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางชุมชน

สนิทเล่าว่า แต่ก่อนมักจะมีเพื่อนฝูงมาดื่มกิน หลายคนบอกว่าอิจฉาอยากได้ที่ผืนนี้บ้าง หลายคนมาติดต่อขอซื้อ แต่หลังจากการดำเนินการลักลอบฝังของโรงงานวิน โพรเสสนับ 10 ปี บ้านบนทำเลทองหลังนั้นถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้าโรงงานส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วและส่งผลให้น้ำที่ใช้ดื่ม ทำการเกษตร ใช้หาปลา ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป

“เห็นว่าแต่ก่อนเหมือนจะมีงานมาจัดที่หนองนี้เหมือนคล้าย ๆ งานวัด คือตรงนี้เคยเป็นศูนย์รวมของชุมชน จนกระทั่งบ้านเราเป็นศูนย์รวมของเพื่อน ๆ แต่มาวันนี้ไม่มีแล้ว ไม่มีทั้งคนอาศัย ไม่มีทั้งสัตว์ให้จับ มีแต่เศษซากกากอุตสาหกรรมเถื่อนนี่แหละ”

ในเช้าวันที่ 22 เมษายน หลังจากได้รูปภาพและข้อความที่ชาวบ้านส่งมา ควันที่ลอยจนสามารถมองเห็นได้จากบ้านของสนิทที่ห่างจากโรงงานวิน โพรเสสราว 1 กม. จากกองไฟ 2 เมตรก็เริ่มลุกลามและมีเสียงระเบิดของถังเก็บกากอุตสาหกรรมดังขึ้นเป็นระยะ

08.00 น. คือเวลาที่ไฟเริ่มไหม้

09.00 น. คือเวลาที่สนิทเริ่มถ่ายคลิปรายงานเหตุการณ์

เวลาล่วงผ่านไป 10.47 น. คือเวลาที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้ามาถึงที่โรงงานและไฟก็ได้ขยายตัวไปเกือบทั้งโกดัง 5 เสียแล้ว

“ถ้าคุณถามว่าภาครัฐมาจัดการอะไรบ้างไหม ถ้าคุณเข้าไปในโรงงานวันที่ฝนตกคุณจะเห็นละอองอะลูมิเนียมดรอส (อะลูมิเนียมแบบผง) ที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ ซึ่งเป็นพิษทั้งนั้น หรือถ้าให้ชัดเจนที่สุด บนหลังคาโกดัง 5 ที่ไฟไหม้ ถังแกลลอนที่ระเบิดก็ยังไม่มีใครมาเก็บกู้” จนถึงวันนี้ 2 เดือน ถังแกลลอนใบนั้นก็ยังติดอยู่บนหลังคาดังเดิม ไม่ต่างจากกากอุตสาหกรรมบนดินราว 34,000 ตันและสารเคมีจำนวนมากใต้ผิวดินที่คาดว่าอาจจะมากกว่าบนพื้นดินด้วยซ้ำ

“อย่าว่าแต่เจ้าหน้าที่รัฐเลย กระทั่งนายกฯ มาลงพื้นที่ เราก็ไปเชิญอยากให้มาดูพื้นที่ของชาวบ้าน อย่าดูแต่พื้นที่ของโรงงาน อยากให้ไปเห็นว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบอะไรบ้าง แต่อย่าว่าอะไรเลย ท่านยังไม่แม้แต่จะมองหน้าเราเลยด้วยซ้ำ ขนาดนายกมาลงพื้นที่แล้วยังทำอะไรไม่ได้ แล้วเราจะไปคาดหวังอะไร”

แม้วิน โพรเสสฯ จะเข้ามาที่บ้านหนองพะวาเป็นระยะเวลากว่า 13 ปี จำนวนปีที่วิน โพรเสสฯ ประกอบกิจการเกี่ยวกับกากของเสียอันตรายในพื้นที่บ้านหนองพะวา โดย 5-6 ปีแรกเป็นโรงงานเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาต และ 3-4 ปีหลังเป็นการประกอบกิจการภายใต้ใบอนุญาต 3 ใบ นั่นคือ การคัดแยกของใช้แล้วทั่วไป การหล่อและหลอมโลหะ และการรีไซเคิล แต่ไม่เคยมีเครื่องจักรใด ๆ สำหรับการจัดการกากอุตสาหกรรมเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

และตลอดระยะเวลาที่ผ่าน โรงงานวิน โพรเสสฯ ไม่เคยรีไซเคิลขยะแต่อย่างใด แต่เป็นการรับขนขยะมาฝังไว้ โดยที่ไม่มีการจัดการใด ๆ ตามกระบวนการจัดการกากอุตสาหกรรมเลย

นี่คือประวัติศาสตร์หนองพะวาฉบับย่อโดยพยานปากเอก ‘สนิท มณีศรี’

โกดังลักลอบ ‘เก็บ’ กาก มีหรือไม่มีใบอนุญาตก็ไม่เคยจัดการกากอุตสาหกรรม

ตู้ม!

สนิท เล่าถึงการระเบิดในโกดังหมายเลข 5 ในเช้าวันนั้น หลังจากเสียงแรกปะทุดังขึ้น หลังจากนั้นก็มีเสียงที่ 2 3 4 5… ปะทุขึ้นมาชี้ให้เห็นว่าในโรงงานวิน โพรเสส นั้น เก็บสารอันตรายอย่างไม่เป็นระบบและมีอานุภาพการทำลายล้างเพียงใด

“นั่นไง บนนั่นแหละ” สนิทชี้ไปบนหลังคาในวันฝนตกปรอย ๆ ควันจากอะลูมิเนียมดรอสปรากฏเป็นหมอกพิษขาว พร้อมถังแกลลอน 200 ลิตร ที่บรรจุสารเคมีไม่อาจทราบชนิดได้ระเบิดในเช้าวันที่ 22 เมษายน

สนิทกล่าวว่า หลังจากที่ชาวบ้านชนะคดีแล้ว แต่สิ่งที่ตนไม่เข้าใจ ทำไมหน่วยงานราชการถึงไม่มีการสอบสวนย้อนความผิดตั้งแต่อดีตและไม่ยอมนำกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ออกจากพื้นที่ไปจัดการตามกระบวนการบำบัดที่ถูกต้อง กว่าขวบปีที่กากอุตสาหกรรมถูกทิ้งไว้ไม่ต่างจากระเบิดนับถอยหลังที่รอให้ ‘เขา’ มาจุดชนวนเพื่อทำลายหลักฐานของการทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง

“อยู่อย่างนั้นมา 2 เดือนแล้ว ไม่มีใครไปเก็บลงมา ไม่มีใครรู้ว่าเป็นสารอะไร ที่รู้มีอย่างเดียวคือชาวบ้านก็ได้รับสารที่รั่วไหลออกจากถังใบนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแล้วแน่ ๆ” สนิท กล่าว

คำถามแรกที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งคำถามตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่โรงงานได้เข้ามาในพื้นที่ เพราะเหตุใดหน่วยงานรัฐจึงยังไม่สามารถจัดการอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่มีหลักฐานประจักษ์ชัดขนาดนี้ได้เลย

จริง ๆ มันควรจะจบตั้งแต่ 2556 หลักฐานมันชัดว่าบริษัทกระทำการผิดอย่างไรบ้าง ซึ่งทุกอย่างล้วนผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นกรณีหนองพะวาคือภาพแทนปัญหาใหญ่ของการจัดการกากอุตสาหกรรมและการทำงานของราชการบ้านเรา ในขณะที่วิน โพรเสสฯ เคยถูกคัดค้านไปแล้วในฐานะโรงงานเถื่อน รับขยะมากำจัดทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต แต่สุดท้ายก็ได้ใบอนุญาตมาได้ในปี 2560 หน่วยงานภาครัฐสามารถปล่อยผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายมาก่อนแล้วได้ยังไง โดยเฉพาะเรื่องการกำจัดกากซึ่งมีผลต่อชุมชนและชาวบ้านในละแวกโดยตรง”

แม้บริษัทจะกล่าวอ้างตัวเองเป็น ‘โรงงาน’ รับกำจัดกากอุตสาหกรรมและ ‘ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม’ แต่ด้วยพฤติกรรมของบริษัท วิน โพรเสสฯ ไม่เคยมีเครื่องจักรสำหรับการบำบัดกากอุตสาหกรรมที่รับมาเลย

สถานะของวิน โพรเสสฯ จึงควรเป็นบริษัทลักลอบกลบฝังกากอุตสาหกรรมในโกดังของตนเสียมากกว่า และไม่สามารถเรียกว่าโรงงานได้เพราะไม่มีระบบ เครื่องจักร หรือองค์ความรู้ใดที่เข้าข่ายโรงงานในกระบวนการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบถูกกฎหมายเลย

โดยลักษณะของวิน โพรเสสฯ นั้นเป็นการลักลอบเก็บ คือรับขยะมากลบฝังโดยไม่ได้มีการดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเช่าโกดังขนาดใหญ่ในพื้นที่และเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับการฝังกลบ และลักษณะนี้ยังเป็นรูปแบบของการลักลอบฝังเก็บกากอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งทั่วประเทศด้วยเช่นกัน

เพ็ญโฉมกล่าวว่า แรกเริ่มบริษัทวิน โพรเสสฯ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานคัดแยกสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ช่วงเดือนตุลาคม 2554  

อย่างไรก็ตาม แม้ กรอ. จะปฏิเสธการให้ใบอนุญาตต่อวิน โพรเสสฯ แต่บริษัทกลับลักลอบเดินหน้ารับกากของเสียเข้ามายังพื้นที่บ้านหนองพะวา กระทั่งในเดือนเมษายน 2556 ประชาชนในพื้นที่ร้องเรียน อบต. จนมีการประสานอุตสาหกรรมจังหวัด (อสจ.) ระยอง และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าตรวจสอบ จึงพบว่า บริษัทมีการลอบฝังกากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย

แม้จะมีคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดในเวลานั้น แต่วินโพรเสสเองก็ยังไม่หยุดขนกากเข้ามาในโรงงานเพื่อฝังเก็บ พร้อม ๆ กับที่ขอใบอนุญาตประกอบกิจการเรื่อยมา

ระหว่างปี 2557 – 2559 กลายเป็นช่วงเวลาวิกฤติหนักของชาวหนองพะวา เนื่องจากวิน โพรเสสฯ ไม่ได้สนใจคำสั่งใด ๆ จากทางภาครัฐ ในขณะที่รอขอใบอนุญาตก็ยังขนกากเถื่อนเข้าโรงงานตลอด ส่วนทางชาวบ้านและหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือก็คัดค้านและต่อต้านอย่างต่อเนื่อง มีการนำคนจำนวนกว่า 213 คนไปปิดที่หน้าโรงงาน

แต่แล้ว ในปี 2560 เมื่อ กรอ. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่วิน โพรเสสฯ ถึง 3 ใบ ทำให้กลายเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการได้ทั้ง

1. ประเภท 40(1) และ 64(11) ประกอบกิจการอัดเศษกระดาษ เศษโลหะ เศษพลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป
2. ประเภท 60 ประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะ
3. ประเภท 106 ประกอบกิจการรีไซเคิล

ในปีเดียวกัน กรอ. ยังได้มอบใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้วอีก 4 ใบแก่วิน โพรเสสฯ ด้วยเช่นกัน

“ปัญหาของการจัดการกากอุตสาหกรรมบ้านเราคือการทุจริตของภาครัฐ ทุกอย่างมันมีขั้นตอนมาหมดกว่าจะสร้างโรงงานใหญ่ขนาดนี้ได้ รถขนกากวิ่งตลอดคืน มันกลายเป็นว่าเราเปิดทางให้ตั้งโรงงาน แต่ไม่เปิดทางให้มีระบบการจัดการที่ดีเลย”

จากความพยายามของวิน โพรเสสฯ เพ็ญโฉมอธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยผลจากการขยายตัวของโรงงานเหล่านี้ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าแม้จะมีโรงงานกำจัดกากประเภทต่าง ๆ มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีธุรกิจที่เข้ามากำจัดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ลงทุนใด ๆ เกี่ยวกับการกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบเลย

อย่างไรก็ตามในการให้ใบอนุญาตในปี 2560 นี้ มีข้อสังเกตว่าเป็นผลพวงจากคำสั่งคสช. ฉบับที่ 4/2559 นอกจากการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมือง ยังมีประเด็นของการให้อนุญาตจากทางอุตสาหกรรมจังหวัดจากคำสั่งฉบับนี้ด้วยเช่นกัน

เพ็ญโฉม กล่าวว่า “ด้วยวิน โพรเสสฯ ดำเนินการมาก่อนคำสั่งฉบับนี้จะปรากฏ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าคำสั่งนี้เป็นผลให้วิน โพรเสสฯ ดำเนินการมา แต่ว่าคำสั่งฉบับนี้ก็มีผลให้อุตสาหกรรมจังหวัดมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้บริษัทแห่งนี้ยังสามารถอยู่ต่อและได้ใบอนุญาตอย่างที่เห็น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามคำสั่งฉบับนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งประเภท 101 105 และ 106 เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่เป็นโรงงานจริงหรือไม่ ดำเนินกิจการตามการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมของทางภาครัฐหรือไม่

หลักฐานคือชาวบ้านที่ต้องพบเจอกับสารเคมี สารพิษ ที่ยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จากโรงงานเหล่านี้โดยไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบคือคำตอบ”

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมจังหวัดที่เกิดขึ้นเพื่อการกระจายอำนาจในการจัดการโรงงานและกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ แต่ความจริงอุตสาหกรรมจังหวัด กลายเป็นหน่วยงานที่มองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตจากมุมมองของชาวบ้าน สนิทเล่าว่าอุตสาหกรรมจังหวัดเหมือนจะมาช่วยโรงงานมากกว่าช่วยชาวบ้านด้วยซ้ำ

“อุตสาหกรรมจังหวัดเขามาบ่อย แต่หลายครั้งที่เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้มาช่วยชาวบ้านเลย เหมือนเขามาช่วยโรงงานให้พ้นผิด มันเลยทำให้ชาวบ้านคิดว่าตัวอุตสาหกรรมจังหวัดเองคือส่วนหนึ่งในการทำให้โรงงานนี้ตั้งมาได้จนไหม้ถึงวันนี้” สนิท กล่าว

ที่มาจาก รายการคุณเล่าเราขยาย

ทั้งหมดนี้ เพ็ญโฉมเห็นว่าถ้าหากไม่ปฏิรูประบบการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทยใหม่สักที ก็จะมีบุคคลอีกหลายกลุ่มกระทำซ้ำเช่นนี้ดังกรณีไฟไหม้ที่หนองพะวาเช่นกัน

ที่เป็นระบบอย่างละเอียดคือการลักลอบฝังกลบกากอุตสาหกรรมของบริษัท ที่มีโรงงานต้นทางที่บ้านหนองพะวา อ.บ้านค่าย และโรงงานปลายทางที่บ้านโขดหิน อ.มาบตาพุด โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ว่าการขนย้ายกากเถื่อนมหาศาลเหล่านี้ทำโดยเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ไปได้อย่างไร

แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นระเบียบ ทว่า ในการใช้งานจริงกลับตรวจสอบได้ยาก ตั้งแต่ระบบ E-Manifest หรือเอกสารกำกับขนส่ง อย่างเช่นในกรณีแคดเมียมที่พบว่ามีการลงทะเบียนเพื่อขนส่งเคลื่อนย้ายจริง แต่ไม่เกิดการสื่อสารกับประชาชนในและนอกพื้นที่ จนเกิดเป็นความเสี่ยงต่อร่างกายของประชาชน

ในกรณีของหนองพะวาก็เช่นกัน เพ็ญโฉมเล่าว่า ในช่วงปี 2559 ที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับชาวบ้าน พบว่ามีการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมเข้าสู่โกดังของวิน โพรเสสฯ เป็นจำนวนมาก แม้จะมีการคัดค้านในพื้นที่แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด ซึ่งเอกสารกำกับจนส่งเหล่านี้ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมโรงงานฯ อุตสาหกรรมจังหวัดและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เพ็ญโฉมจึงมองว่าเอกสารกำกับขนส่งเหล่านี้ เป็นเพียงแค่การอนุญาต แต่ไม่ได้มีมาตรการรองรับใด ๆ

อีกทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลยังมีความทับซ้อน โดยเฉพาะระบบ Check and Balance ของการอนุญาตโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่ประเทศไทยรวมให้อำนาจในการอนุญาตและอำนาจในการควบคุมกำกับติดตาม รวมอยู่ที่หน่วยงานเดียวกันคือกรมโรงงานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัด

และท้ายที่สุดหน่วยงานอย่างกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งควรจะต้องเข้ามามีอำนาจในการควบคุมและกำกับติดตามนั้น ทำได้เพียงแค่ตรวจสอบและส่งหนังสือฟ้องตามลำดับ แต่ไม่มีหน้าที่ในการปิดโรงงานหรือหยุดกิจการแต่อย่างใด นั่นทำให้ภาพของการจัดการกากอุตสาหกรรมของภาครัฐนั้น แทบไม่มีหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปกำกับควบคุมเลย มีแต่หน่วยงานด้านโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถทำได้แต่ฝ่ายเดียว

“มันเหมือนกับเราให้คนอนุญาตและคนสามารถจับกุมเป็นคนเดียวกัน มันจึงง่ายต่อการที่ธุรกิจเหล่านี้จะทำการทุจริตต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่พึ่งเกิดการรณรงค์ให้เกิดการแก้ไข แต่พวกเราพูดกันมาหลายปีแล้ว และยังไม่เกิดการเคลื่อนไหวใด ๆ กับการเปลี่ยนแปลงนี้” เพ็ญโฉม กล่าว

จากคำถามข้างต้นที่เพ็ญโฉมตั้งคำถามไว้ การต่อสู้ตลอด 13 ปีของชุมชนหนองพะวาคือหนึ่งในแนวคำตอบให้กับเราได้ว่าอะไรคือความสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งแก้ไข 

แต่คำตอบที่ได้รับกลับมา มีเพียงถังแกลลอนที่ยังค้างเติ่งอยู่บนหลังคาโกดัง 5 ใบนั้นและไร้หน่วยงานภาครัฐไหนเข้ามารับผิดชอบ ป้องกัน หาทางแก้ไขกับกากอุตสาหกรรมเถื่อนนี้อย่างเด็ดขาดเสียที

บ่อดำ บ้านหนองพะวา แม่น้ำระยอง หายนะยิ่งกว่าเมื่อฝนมา

หลังจากเหตุไฟไหม้ที่โกดัง 5 เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เวลากว่าสัปดาห์ในการหยุดต้นตอเพลิง สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือสารพิษที่ทะลักออกมาทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศต่อบริเวณใกล้เคียง

ทันทีที่เข้าโกดังของวิน โพรเสสฯ กลิ่นของสารเคมีที่ยังคงค้างบอกให้รับรู้โดยทันทีว่าอากาศแถบนี้ผิดปกติ แม้ชาวบ้านที่ต้องเผชิญทุกข์และได้รับความเสียหายโดยตรงอย่าง ลุงเทียบ สมานมิตร เจ้าของสวนยางที่ต้องเสียพื้นที่ไปกว่า 30 ไร่ จากที่ดินติดโรงงาน จะกล่าวว่าเบาบางไปเยอะก็ตาม

รวมถึงบ่อดำ บ่อบำบัดบ่อที่ 1 ของโรงงานแห่งนี้ แต่มันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการทำหน้าที่บำบัดน้ำเสีย หากแต่เป็นบ่อที่รองรับกากอุตสาหกรรมที่รั่วซึมออกมาจากการฝังกลบกากใต้ดินจำนวนมหาศาล

ขณะที่ผลการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษในปี 2563 พบว่า น้ำผิวดินรอบโรงงานมีสภาพเป็นกรด ทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รวมถึงบ่อบาดาลของประชาชน โดยที่สวนของลุงเทียบคือจุดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด นั่นคือ มีการตรวจพบสารโลหะหนักในสระน้ำที่อยู่ติดรั้วโรงงาน หรือ “บ่อน้ำกรดลุงทียบ” ได้แก่ ทองแดง นิกเกิล แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในระดับที่เกินค่ามาตรฐาน โดยค่าแมงกานีสที่พบในบ่อน้ำดังกล่าวสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 130 เท่า

“เขาว่ามันเป็นกรดแรงมาก อย่าว่าแต่สัตว์ตัวไหนตกลงไปเลย คนตกลงไปแปปเดียวก็หายไปแล้ว” ลุงเทียบเล่าเท้าความถึงบ่อดำที่ตนก็มีในสวนยางเช่นกัน ที่หมาของแกตัวหนึ่งพลัดตกลงไปแต่ขึ้นไม่มานานก็เสียชีวิตลง

หลังเหตุเพลิงไหม้ทำให้เรารู้ว่ากากอุตสาหกรรมมากมายแค่ไหนที่ยังคงค้างอยู่ภายในโกดังและยังไม่ได้มีการกำจัดออกไป อีกทั้งภายในโรงงานนั้นยังเต็มไปด้วยของเสียหลากหลายรูปแบบ ทั้งเศษพลาสติก เศษเหล็ก ผงเหล็ก ทินเนอร์เก่า เศษสี และน้ำมันเครื่องใช้แล้ว

เพ็ญโฉมคาดว่า สารเคมีทั้งหมดที่อยู่ใต้ดินบริเวณบริษัทวิน โพรเสสฯ มีไม่ต่ำกว่า 1,000 ชนิด โดยอ้างอิงจากข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตรวจพบสารอะคริโลไนไตรล์, สารไฮโดรเจนไซยาไนด์, สารเมทิลเมอร์แคปเทน, สารอะคริโลไนไตรล์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสารอันตรายที่ต้องมีใบอนุญาตครอบครอง บางชนิดมีเอกสารควบคุมเฉพาะกว่าร้อยหน้าของทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

“ที่เป็นข่าวออกไปเราจะเห็นอะลูมิเนียมดรอส ซึ่งเป็นผงขาว ๆ สารชนิดนี้อันตรายมากเพียงแค่ทำปฏิกิริยากับน้ำก็จะระเหยกลายเป็นไอไปทั่วอากาศ นอกจากนี้สารที่เราพบยังมีสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน สารที่ทำปฏิกิริยาเอง สารอินทรีย์ สารตัวทำละลาย ขี้เถ้า สารพิษ และโลหะหนัก ทั้งหมดก็ยังอยู่ใต้ดินหนองพะวาในรัศมี 5 กม.”

อย่างไรก็ตาม การเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่วิน โพรเสสฯ ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลว่าหากน้ำท่วมลงมานั้น สารพิษที่ตกค้างอยู่ในโรงงานจะรั่วไหลมาถึงพื้นที่ชุมชนหรือไม่ รวมถึงบ่อดำที่อาจไม่สามารถรองรับน้ำฝนและทำให้น้ำดำนี้ไหลเข้าสู่ผืนดินและแหล่งน้ำของชุมชนโดยตรง

ตามข้อมูลของทาง อบจ. ที่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนต่าง ๆ ระบุว่า จากที่ทาง อบจ. ได้ดำเนินการขุดขยายและเสริมคันบ่อขึ้นมาอีกประมาณ 2 เมตร เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้บ่อมีความจุเพิ่มขึ้นจากประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นประมาณ 90,000 ลูกบาศก์เมตร

หากรวมกับบ่อที่เพิ่งขุดขึ้นใหม่บริเวณใกล้ ๆ กัน ซึ่งมีความจุประมาณ 40,000 ลูกบาศก์เมตร รวมแล้วจะทำให้รับน้ำได้ประมาณ 130,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้น

แต่แล้ว ความกังวลของชาวบ้านก็กลับมาอีกครั้ง

หลังวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เพจมูลนิธิบูรณะนิเวศได้เผยแพร่วิดิโอ เกิดฝนตกหนักที่ ต.บางบุตร เกิดเหตุน้ำท่วมไหลทะลักในหลายจุด ซึ่งรวมภายในโรงงานบริษัทวิน โพรเสสฯ และบริเวณรอบข้าง รวมถึงน้ำที่บ่อ 2 ของโรงงานเริ่มเอ่อล้นแล้ว

น้ำเหล่านี้เป็นน้ำที่ชะล้างกับกากอุตสาหกรรมของบริษัทมาก่อนหน้า ด้วยปริมาณน้ำและปริมาณสารเคมีจำนวนมาก ยังคงเป็นที่กังวลว่าหากบ้านหนองพะวาต้องเป็นด่านแรกในการรับน้ำที่รั่วไหลจากโรงงานและอาจรวมถึงน้ำบางส่วนจากบ่อดำ การรั่วไหลนี้อาจไปไกลถึงแม่น้ำระยองหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

มวลกากที่รั่วไหลออกมาตั้งแต่วันไฟไหม้ ความกดอากาศต่ำที่ทำให้ควันไฟสารเคมีย้อนกลับไปมาและส่งผลต่อคนในพื้นที่

เหตุการณ์น้ำท่วมในวันนี้ยิ่งทำให้เห็นอีกว่าระบบการจัดการ ‘กาก’ ของประเทศไทยยังคงสร้างความเสียหายออกเป็นวงกว้างได้มากกว่าที่เราจะจินตนาการ

ไฟนรก ‘วิน โพรเสสฯ’ ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

ในบ่ายแก่วันที่ 20 มิถุนายน 2567 หลังเกิดเหตุไฟไหม้ไปได้ 2 เดือน ชาวบ้านหนองพะวาร่วมจัดสวดทำบุญโพธิบาท พิธีบูชาศาล และอัญเชิญพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร พร้อมสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและพระคาถามงคล ที่หน้าโรงงานวิน โพรเสสฯ มีการนิมนต์พระสงฆ์และพระเกจิดังมาสวดเพื่อขับไล่ ไฟนรก ที่อยู่กับชาวบ้านมานานกว่า 13 ปีให้ดับจากพื้นที่เสียที

หนึ่งในชาวบ้านเล่าว่า สมัยก่อนบ้านแถบนี้โดนฟ้าผ่าบ่อย บ้านหลังไหนที่โดนฟ้าผ่าก็ต้องจัดสวดแบบนี้เพราะเชื่อกันว่าเป็นไฟนรกเล็ดลอดมา จึงต้องทำพิธีเพื่อดับไฟนรกเหล่านี้

แต่ในกรณีบริษัทวิน โพรเสสฯ ชาวบ้านคนนั้นนิยามว่า เป็นเหมือนไฟจากนรกที่ผุดขึ้นมาบนพื้นดินเหมือนเรื่องเล่าตามพุทธศาสนาที่เขาได้ยินมา พิธีกรรมในวันนี้ได้เชิญพระเกจิชื่อดังและพระสงฆ์หลายรูปมาร่วมสวดเพื่อให้บ้านหนองพะวาฟื้นฟูได้อย่างเดิม

หนึ่งในชาวบ้านหนองพะวาอีกคนกล่าวว่า “มันอาจจะดูงมงายนะ แต่กระบวนทางกฎหมายก็ช่วยไม่ได้ หน่วยงานราชการช่วยเราไม่ได้ เราก็ต้องทำอะไรที่เราทำได้”

สนิทเล่าว่า ที่คนมาเข้าร่วมเป็นแต่สูงวัยก็เพราะส่วนหนึ่งการต่อสู้ของบ้านหนองพะวานั้นอาจไม่ถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปได้แล้ว เนื่องจากคนรุ่นใหม่หลายคนก็โยกย้ายกันไปเกือบหมด รวมถึงหลายคนก็ไม่เห็นทางจะทำมาหากินในพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตามก็มีอีกหลายครัวเรือนที่จำต้องทนอยู่ต่อ เพราะไม่ว่าจะอยู่หรือจะไป ภาระทางเศรษฐกิจก็ยังหนักหนาไม่แพ้กัน

ด้าน ดร.สนธิ คชวัฒน์ ได้ให้ความเห็นเรื่องจุดอ่อนที่ไทยไม่สามารถจัดการกากอุตสาหกรรมไว้ว่า “ประเทศไทยยินยอมให้นำอุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกเข้ามาเพื่อการคัดแยกหรือแปรสภาพได้ แต่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซล เช่น ประเทศต้นทางที่ส่งออกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีน และฮ่องกงต้องแจ้งรายละเอียดและขอความยินยอมจากกรมโรงงานฯ ก่อน ถ้ายินยอมจึงจะสามารถนำเข้าได้ทั้งนี้การนำเข้าดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าอีกด้วย”

ด่านศุลกากรที่ท่าเรือแหลมฉบังและกรุงเทพไม่ได้ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ เพียงแต่ทำการสุ่มตรวจบางตู้เท่านั้น ทำให้มีขยะพิษปะปนมากับสินค้านำเข้าที่ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานฯ อีกทั้งเมื่อปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ออกจากด่านแล้วไม่มีการตามไปดูว่าสินค้าดังกล่าวไปโรงงานหรือที่ใด

ดร.สนธิ ยังกล่าวถึงคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 โดยเฉพาะโรงงานคัดแยกของเสียอุตสาหกรรมหรือประเภท 105 และโรงงานรับรีไซเคิลหรือประเภท 106 สามารถตั้งได้ง่ายมากโรงงานที่รับรีไซเคิลขยะพิษเหล่านี้ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะไม่อยู่ในประกาศของ สผ. รวมทั้งยังสามารถตั้งที่ไหนก็ได้โดยไม่มีผังเมืองบังคับ

“เนื่องจากมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภทให้รวมถึงโรงงานประเภท 105 และ 106 ด้วยโดยมีผลใช้บังคับทันทีตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2559 เป็นต้นไป จะเห็นได้ว่ามีโรงงานดังกล่าวจำนวนมากตั้งในพื้นที่สีเขียวและติดกับชุมชนจนกว่าจะได้มีการเปลี่ยนสีผังเมือง มีการอนุญาตโรงงานหรือสถานประกอบการขนาดเล็ก ประสิทธิภาพต่ำตั้งได้กระจายทั่วไทย”

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่รัฐในการติดตามตรวจสอบโรงงานที่รับรีไซเคิลขยะพิษดังกล่าว ทำให้ง่ายต่อการทำงานของผู้ประกอบกิจการฯ ที่ผิดกฎหมาย สุดท้ายกากของเสียที่เหลือจากการรีไซเคิลก็ไปอยู่ในกองขยะเทศบาล หรือฝังอยู่ใต้ดินปนเปื้อนทั้งสารเคมีและสารโลหะหนักในดิน ในน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินต่อไป

“เมื่อมีปัญหาขยะพิษถูกนำเข้ามาอยู่ในประเทศจำนวนมากประกอบการจัดกากอุตสาหกรรมในประเทศมีช่องโหว่รวมทั้งการอนุญาตให้สถานประกอบการสีเทาที่รับรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้ง่ายจนเกิดการทิ้งกากในที่สาธารณะ, การเผาทำลายกากผิดกฎหมาย, การนำกากฝังกลบในพื้นที่โรงงานหรือบ่อดินชุมชนเป็นข่าว ก็จะมีการตรวจสอบเป็นกรณี ๆ ไป ไม่มีหน่วยงานไหนแสดงความรับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะอ้างกฎหมายระเบียบไม่อำนวย การขาดกำลังคน เป็นต้น..วนเวียนไป”

เพ็ญโฉมมองฉากหน้าของการจัดการกากอุตสาหกรรมในปี 2567 ด้วยความที่ปีนี้ปัญหาของกากอุตสาหกรรม ‘หางโผล่’ จึงทำให้ปีนี้เป็นปีแห่งการสะสางปัญหาในหน้างานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และจากประสบการณ์ในการทำงานของเพ็ญโฉม ปัญหาของกากอุตสาหกรรมนี้หากยังไม่รีบอุดรอยรั่ว ยิ่งมีแต่จะแก้ไขยากขึ้นจากความซับซ้อนในการปกปิดของคนที่รอฉกฉวยผลประโยชน์จากข้อบกพร่องนี้

“ปัญหากากอุตสาหกรรมยังมีอยู่และยังคงมีต่อหากเรายังไม่แก้ไข ในการทำงานของเราพบว่ากลุ่มคนที่ทำเรื่องเหล่านี้ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จัดการและเอาผิดยากมากกว่าเดิมทุกวัน”

“หากยังไม่รีบแก้ไขระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างรอบด้าน มันอาจเกิดกรณีเหมือนที่หนองพะวา ที่เป็นการกระทำที่อุกอาจ อยู่เหนือกฎหมายและเป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมด้านกากอุตสาหกรรมในอีกหลายที่ทั่วประเทศ” เพ็ญโฉมกล่าวถึงบทสรุปของหนองพะวาที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะจบอย่างไร

จากการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ การทำงานของเจ้าหน้าที่และมูลนิธิหลายภาคส่วน เมื่อวันที่ 29 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.มาบตาพุด จ.ระยอง ได้ควบคุมตัว นายโอภาส บุญจันทร์ กรรมการโรงงานเก็บกากสารเคมี วินโพรเสส หมู่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ถูกไฟไหม้ ขณะเดินทางไปยังโรงงานอีกแห่ง บริษัทเอกอุทัย สาขาศรีเทพ ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ก่อนจะนำตัวมาควบคุมไว้ที่ สภ.มาบตาพุด ซึ่งเป็นไปตามหมายจับข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย โดยมีรายงานด้วยว่า นายโอภาส บุญจันทร์ ยังมีหมายจับอีกประมาณ 14 คดี ที่จะตามมาด้วย

เพ็ญโฉมเล่าว่า นายโอภาสไม่เพียงแต่จะเป็นต้นตอของปัญหาที่โรงงาน ณ บ้านหนองพะวา แต่ยังพบว่านายโอภาสยังกระทำการในลักษณะเดียวกันกับอีกหลายพื้นที่ในนามของบริษัทเอกอุทัยฯ ในหลายจังหวัดเช่น กลางดง, ศรีเทพ, ปากช่อง, บ้านม่วงชุม รวมถึงโรงงานที่พระนครศรีอยุธยาใน อ.อุทัย และ อ.ภาชี ซึ่งก่อนหน้านี้เพียง 2 เดือนก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งผลจากการสอบสวนพบว่าเป็นการวางเพลิงอย่างเป็นแบบแผน กลายเป็นวิถี(ไม่) ปกติของการปิดคดีอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม

และในตอนนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจนี้ก็ยังมีอีกหลายราย ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่

“จากเดิมที่เราช่วยเหลือที่บ้านหนองพะวา มีชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้ติดต่อมาที่มูลนิธิ ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกัน พอเราทำการตรวจสอบ ก็พบว่านายโอภาสมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงงานเหล่านี้เช่นกัน นั่นทำให้ครั้งนี้คือการทลายธุรกิจกำจัดกากเถื่อนที่มีเชื่อมโยงกันในหลายพื้นที่”

แต่เดิม การฟ้องร้องบริษัทเหล่านี้ เป็นไปในข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย โดยไม่มีใบสำคัญการขึ้นทะเบียน มีความผิดตามมาตรา 79 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ผลิตหรือนำเข้าไม่ได้แจ้งการดำเนินการ มีความผิดตามมาตรา 72 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้วยโทษดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าของการรับมากำจัด(เก็บไว้ในโรงงาน) รูปแบบการจัดการของบริษัทวิน โพรเสสฯ ที่ไม่ได้มีค่าดำเนินการบำบัดแต่อย่างใด ทำให้เม็ดเงินเหล่านี้เข้ากระเป๋าของเขา แต่สารพิษกลับเข้าที่ดินของชาวบ้าน ในอีกมุมหนึ่ง ด้วยโทษในลักษณะนี้เพ็ญโฉมตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะอยู่ในค่าเตรียมพร้อมสำหรับการทำธุรกิจนี้แล้วด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้จึงกลับมาที่เรื่องเดิม คือการวางระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมใหม่อย่างเข้มงวด เพราะธุรกิจเหล่านี้มีช่องโหว่มากเกินไป และรูรั่วดังกล่าว สามารถทำลายชีวิตของประชาชนในระดับชุมชน ตำบล หรืออำเภอได้เลย

“เรามีรูรั่วที่หนึ่งคือระบบการติดตามเคลื่อนย้ายกากที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เราไม่รู้เลยว่าสารเคมีพวกนี้จะถูกทิ้งอย่างไรบ้าง รูรั่วที่สองคือการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทับซ้อนผลประโยชน์ เอื้อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย และรูรั่วที่สามคือการกำหนดโทษที่ทำให้บทลงโทษกลายเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจนี้เสียด้วยซ้ำ

รูรั่วเหล่านี้ไม่ต่างจากรูรั่วบนโกดัง 5 ที่หนองพะวา เราเชื่อว่าบทเรียนตลอดหลายสิบปีที่ชาวบ้านหลายแห่งต้องเจ็บปวด ต้องโยกย้ายเพราะโรงงานพวกนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นและเข้าใจ แต่จะนำไปปรับใช้หรือไม่ นั่นคือคำตอบที่เรารอคอยมาตลอดที่เราทำงานเหล่านี้เป็นสิบปี” เพ็ญโฉม กล่าว

ในปัจจุบันมีการคาดการณ์งบประมาณที่จะนำมาฟื้นฟูหนองพะวาอยู่ราว 300 ล้านบาท เงินจำนวนมากนี้คือการปรับพื้นที่จากกากอุตสาหกรรมที่ถูกฝังมาเป็นเวลากว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม เพ็ญโฉมยังตั้งคำถามถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ เพราะท้ายที่สุดผู้ก่อมลพิษจำเป็นจะต้องรับผิดชอบร่วมด้วย และจากเอกสารการซื้อขายกากอุตสาหกรรมของบริษัทวิน โพรเสสฯ พบว่ามีกว่า 150 บริษัทที่เป็นบริษัทต้นทางในการส่งต่อกาก ก็ควรต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่เราอยากฝากไว้คือเรื่องนี้ไม่ควรจบที่ไฟไหม้ ประเทศไทยพบเจอการปิดคดีด้วยลักษณะแบบนี้บ่อยครั้ง การค้นหาความจริงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม และผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนเองกระทำ” เพ็ญโฉม กล่าวทิ้งท้าย

ในเร็ววันนี้ เหตุการณ์ไฟไหม้ที่โรงงานวิน โพรเสสฯ ที่บ้านหนองพะวาจะครบรอบ 3 เดือน

ความกังวลถึงความกดอากาศต่ำ ปริมาณน้ำจากสภาพอากาศแปรปรวน และสารพิษที่ยังซึมออกทุกขณะ ยังเป็นปัญหาที่ทิ้งไว้เหมือนกับกากอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาจัดการอย่างเด็ดขาด

ชาวบ้านหนองพะวาและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน ซึ่งรวม สนิท ลุงเทียบ เพ็ญโฉม ยังรอคอยการจัดการจากภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชน จัดการโรงงานเถื่อนอีกหลายแห่งทั่วประเทศ และขอให้วิน โพรเสสฯ เป็นกรณีตัวอย่างและกรณีสุดท้าย ที่ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นกับประชาชน

ท้ายที่สุด ยางยืนต้นตายที่สวนลุงเทียบ บ่อดำที่ปนเปื้อนสารพิษกว่า 34,000 ตัน ละอองดรอสในวันฝนตก และการย้ายบ้านของสนิท ทั้งหมดคือหลักฐานที่พิสูจน์แล้ว

ว่ารูรั่วบนหลังคาที่ปะทุออกมาบนหลังคานั้น เป็นเพียงรูเล็กของช่องโหว่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย หากยังไม่อุดรูรั่วเหล่านี้ ก็จะเหลือเศษ ซาก และกากให้กับชุมชนดังเช่นที่หนองพะวาแต่เพียงฝ่ายเดียว