โลกเดือดทางสภาวะภูมิรัฐศาสตร์ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ในความเคลื่อนไหว

ประจักษ์ ก้องกีรติ

หากเอ่ยคำว่า “โลกเดือด” คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงสภาวะที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นหรือร้อนขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปีที่แล้วและปีนี้ โลกของเราถูกบันทึกว่า “ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์” กระทั่งถึงจุดที่ส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ระบบนิเวศ รวมถึงสุขภาพของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากรวมถึงองค์การสหประชาชาติจึงกล่าวว่า ณ ห้วงเวลาปัจจุบันถือว่ายุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว และเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling)

แต่ในบทความนี้ผมอยากชวนให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงสภาวะโลกเดือดในอีกความหมายหนึ่ง นั่นก็คือ ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในโลก จนกระทั่งผู้สันทัดหลายคนขนานนามว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่อันตรายที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ก่อนอื่นต้องกล่าวเสียก่อนว่าโลกของเราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่มีความขัดแย้งรุนแรงอยู่ตลอดเวลา บางช่วงเวลาโลกมีความสงบพอสมควร ภาวะสันติภาพนำไปสู่บรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คน หลังการยุติของสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่าง ๆ ล้วนตระหนักถึงมหันตภัยของสงคราม จึงหันมาร่วมมือกันทำข้อตกลง ร่างกติกา และก่อร่างสร้างสถาบันและองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมามากมายเพื่อป้องกันการสู้รบฆ่าฟันกัน และเพื่อกรุยทางไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน

แน่นอนว่าระเบียบระหว่างประเทศที่เพียรพยายามสร้างขึ้นมานั้นมีข้อบกพร่องและปัญหาในตัวมันเอง แต่มันก็ช่วยประคับประคองให้โลกเดินหน้าไปสู่เส้นทางที่ปลอดภัยมากขึ้น งานวิจัยด้านความขัดแย้งชี้ให้เห็นว่าสงครามระหว่างประเทศลดน้อยถอยลงเรื่อยมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งก็ลดน้อยลง ในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 2010 ความขัดแย้งรุนแรงค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบจากสงครามระหว่างรัฐไปเป็นสงครามภายในประเทศระหว่างรัฐกับประชาชน และการปะทะกันระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในรัฐเดียวกันเป็นหลัก

ข่าวร้ายก็คือ คลื่นความรุนแรงกำลังหวนคืนมาปกคลุมโลกในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จากฐานข้อมูลที่ศึกษาวิจัยและติดตามความขัดแย้งทั่วโลกที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุดแหล่งหนึ่งชื่อว่า Armed Conflict Location and Event Data Project (ACLED) ระบุว่า จากช่วงปี ค.ศ. 2018 ถึง 2023 จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในโลกเพิ่มขึ้นถึง 22% เฉพาะในปี 2023 เหตุการณ์ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2022 เฉพาะในปี 2023 ปีเดียว ทั่วโลกมีเหตุการณ์ความขัดแย้งถึง 147,000 เหตุการณ์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 167,800 คน

สถิติโดยเฉลี่ยยังชี้ให้เห็นภาวะที่น่าตกใจว่า ทุก 1 ใน 6 คนบนโลกใบนี้กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรงและอันตรายถึงแก่ชีวิตและความปลอดภัย จึงไม่ต้องแปลกใจว่าแนวโน้มที่ตามมาจากความรุนแรงที่สูงขึ้น ก็คือ คลื่นการอพยพและลี้ภัยของผู้คนที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อหนีภัยสงคราม หนีการปราบปรามของรัฐ การโจมตีของกองกำลังติดอาวุธและกลุ่มอาชญากรรม และการสู้รบที่ดูท่าไม่มีวันจะสิ้นสุด บ้านเรือนของประชาชนถูกทำลาย คนในครอบครัวเสียชีวิต ผู้คนสูญเสียอิสรภาพ เศรษฐกิจหยุดชะงัก และ Armed Conflict Location and Event Data Project (ACLED) กระทั่งปัจจัยพื้นฐานอย่างอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดในการดำรงชีวิต ก่อเกิดเป็นวิกฤตมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง

ฐานข้อมูล ACLED ยังได้จัดทำอันดับสถานการณ์ความรุนแรงของประเทศต่าง ๆ ในโลกเรียงตามลำดับความรุนแรงผ่าน 4 ตัวชี้วัดคือ ความอันตรายถึงแก่ชีวิต, ความอันตรายต่อพลเรือน, การกระจายตัวของความรุนแรงในเชิงพื้นที่ และจำนวนกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ปฏิบัติการภายในประเทศ จากดัชนีเหล่านี้พบว่า (สิ้นสุดปี 2023) ในบรรดา 50 ประเทศที่มีระดับความขัดแย้งรุนแรงสูงสุด มีเพียง 8 ประเทศที่สถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น ส่วนอีก 42 ประเทศสถานการณ์คงที่รวมถึงเลวร้ายลงเมื่อเทียบกับปี 2019

ทั้งนี้ 10 ประเทศที่รุนแรงที่สุด ณ ปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้ พม่า ซีเรีย ปาเลสไตน์ เม็กซิโก ไนจีเรีย บราซิล โคลอมเบีย เฮติ เยเมน และซูดาน ตามลำดับ ประเทศเหล่านี้เผชิญกับความรุนแรงหลากหลายรูปแบบซ้อนทับกัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง ความรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายและ/หรือองค์กรอาชญากรรม ความรุนแรงที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการแย่งชิงอำนาจรัฐ จากรายชื่อกลุ่มประเทศดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่ายุคนี้ความรุนแรงกระจายตัวครอบคลุมทุกภูมิภาคในโลก ไม่ใช่เพียงแถบแอฟริกาและตะวันออกกลางที่มักจะคุกรุ่นด้วยสงครามการสู้รบอยู่บ่อยครั้ง แต่ขยายไปถึงยุโรป ลาตินอเมริกา และมาถึงเอเชียของเรา 

สัญญาณที่น่ากังวลคือ ประเทศเมียนมาเพื่อนบ้านเราที่ปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่รุนแรงที่สุดในโลก เพราะมีองค์ประกอบความรุนแรงสูงในทุกด้าน คือ จำนวนผู้เสียชีวิต การตกเป็นเหยื่อของพลเรือน การกระจายตัวของพื้นที่ และตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสู้รบมีลักษณะกระจัดกระจายมากมายหลายกลุ่ม สถานการณ์ในพม่าน่าจะยืดเยื้ออีกนานและย่อมส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากมีพื้นที่ติดกัน ประเทศไทยต้องวางบทบาทให้ดีโดยเฉพาะในด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อชาวพม่าที่อพยพลี้ภัยสงคราม

สำหรับประเทศไทยของเรา จากการจัดอันดับของ ACLED อยู่ที่อันดับ 75 ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ คือ มีประเทศที่สถานการณ์รุนแรงกว่าเราครึ่งหนึ่ง และสงบสุขกว่าเราอีกครึ่งหนึ่ง โดยประเภทของความรุนแรงที่เป็นปัญหาของสังคมไทย คือ ความรุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง ความรุนแรงต่อสื่อและนักกิจกรรม ความรุนแรงที่เกี่ยวพันกับอัตลักษณ์ และความรุนแรงที่เกี่ยวกับปัญหาทรัพยากร (ผู้เขียนจะหาโอกาสเขียนถึงความรุนแรงในสังคมไทยแยกต่างหากอีกครั้งหนึ่ง)

ย้อนกลับมาที่ภาพรวมของโลก ประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในโลกระหว่างปี 2018-2023 อยู่ในสภาพที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่งคือ การหวนคืนกลับมาของสงครามระหว่างรัฐ ในกรณีที่รัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครน ซึ่งท้าทายระเบียบกติการะหว่างประเทศ รวมถึงสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่คู่ขัดแย้งคือกลุ่มฮามาสและรัฐบาลอิสราเอลต่างใช้ความรุนแรงในลักษณะที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ หลักมนุษยธรรม และหลักการทำสงครามอย่างโจ่งแจ้ง ความขัดแย้งรุนแรงในทั้งสองกรณีนี้ไม่เพียงส่งกระทบต่อชีวิตของผู้คนที่ต้องสูญเสียมากมายมหาศาล ไม่เพียงทหารที่สู้รบ แต่คือชีวิตของพลเรือนทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชราที่ต้องรับเคราะห์กรรม นอกจากนั้นยังส่งผลกว้างไกลถึงเศรษฐกิจของทั้งโลก แม้แต่ประเทศที่มิได้เกี่ยวข้องกับสงครามโดยตรงก็ได้รับผลพวงไปด้วย 

นักวิชาการด้านสันติภาพหลายท่านกล่าวว่าภาวะ “โลกเดือด” จากปัญหาความรุนแรงในปัจจุบันน่ากลัวที่สุดตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะความรุนแรงหลายประเภทและหลายระดับเกิดขึ้นในเวลาพร้อม ๆ กัน โดยกลไกแก้ไขความขัดแย้งทั้งระหว่างประเทศและในประเทศไม่ทำงาน และคู่ขัดแย้งก็ไม่สนใจที่จะเจรจาหรือหาหนทางยุติความขัดแย้งโดยไม่ต้องนองเลือด เราจึงอยู่ในโลกที่ความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นโดยมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นอกจากการหวนคืนของสงครามระหว่างรัฐแล้ว สงครามกลางเมืองในหลายพื้นที่ก็ปะทุขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางศาสนา ชาติพันธ์ุ การแย่งชิงทรัพยากร และข้อขัดแย้งในเรื่องดินแดน

ในขณะที่ความรุนแรงในรูปแบบการก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนในหลายประเทศ และนอกจากความรุนแรงที่ก่อโดยรัฐแล้ว ยังมีกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ องค์กรอาชญากรรม (ในลาตินอเมริกาและเม็กซิโก กลุ่มเหล่านี้ถึงขั้นลอบสังหารนักการเมืองและคนในกระบวนการยุติธรรมที่ขัดขวางการทำธุรกิจผิดกฎหมายของขบวนการ) และกลุ่มทหารรับจ้าง (โดยเฉพาะในสงครามรัสเซีย-ยูเครน) ที่กลายเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการลงมือก่อความรุนแรงเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์ของตน ทำให้ความรุนแรงมีลักษณะที่ไม่รวมศูนย์และยากแก่การควบคุม นอกจากนั้น การชุมนุมประท้วงในหลายประเทศถูกปราบปรามจากรัฐด้วยความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังเสียงและเคารพการแสดงออกของประชาชน

ความรุนแรงอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นแนวโน้มที่ท้าทายต่อเสถียรภาพทางการเมือง หลักนิติรัฐ และประชาธิปไตย คือ ความรุนแรงที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากการไม่ยอมรับกติกาทางการเมืองร่วมกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ สะท้อนภาวะการแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน โดยสถานการณ์ที่หลายฝ่ายกำลังจับตาคือ การแข่งขันชิงตำแหน่งประมุขทำเนียบขาวในปลายปีนี้ที่สหรัฐฯ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการแตกแยกร้าวลึกของคนในสังคมอย่างรุนแรง ข้อกังวลคือ สังคมสหรัฐฯ ในปัจจุบันจะสามารถจัดการเลือกตั้งอย่างสันติหรือจะเกิดการใช้กำลังเพื่อขัดขวางกระบวนการทางการเมืองดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และผู้สนับสนุนของเขาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งถึงขั้นใช้กำลังเข้าขัดขวาง

คงต้องกล่าวว่า ภาวะโลกเดือดทางการเมืองแก้ยากไม่น้อยไปกว่าการแก้ปัญหาโลกเดือดทางสภาวะภูมิอากาศ เพราะต้องอาศัยเจตจำนงของทั้งผู้นำและประชาชนที่จะร่วมมือกัน เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังในวันนี้ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปถึงจุดที่อาจจะไม่มีวันหวนกลับ

หมายเหตุ เนื้อหาในบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “โครงการวิจัยเชิงระบบเพื่อสำรวจสถานการณ์และสถานภาพองค์ความรู้เรื่องความรุนแรงในสังคมโลกและสังคมไทย” สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

“ขออุทิศบทความชิ้นนี้แด่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ครูที่ทำให้ผู้เขียนหันมาสนใจศึกษาวิจัยด้านความรุนแรง”