Nature-based Solutions กลยุทธ์พลิกฟื้นโลก - Decode
Reading Time: 2 minutes

Earth Calling

ดร.เพชร มโนปวิตร

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลายฝ่ายต่างตระหนักดีว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาทบทวนวิธีคิด และแนวทางการแก้ปัญหา ที่กำลังสั่นคลอนความมั่นคงในการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

‘Nature-based Solutions’ (NbS) หรือการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ผุดขึ้นมาเป็นความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน แนวคิดนี้มีรากฐานมาจากการจัดการเชิงระบบนิเวศ (Ecosystem-based Management) ซึ่งเน้นการบริหารจัดการแบบองค์รวมโดยอาศัยความรู้ความเข้าใจด้านระบบนิเวศเป็นพื้นฐาน

Nature-based Solutions ชวนให้เรากลับมาทบทวนปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เรียนรู้จากต้นแบบความสมดุลในระบบนิเวศ และปรับใช้ความรู้ดังกล่าวในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มนุษย์กำลังเผชิญ และนำพาสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

IUCN หรือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ริเริ่มแนวคิด Nature-based Solutions โดยเริ่มใช้คำนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2009 ในการประชุม World Conservation Congress ก่อนจะพัฒนาเป็นกรอบแนวคิดและคำจำกัดความที่ชัดเจนขึ้นในเวทีต่าง ๆ เช่น ในการประชุม United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ปี 2015 และการประชุม World Conservation Congress ปี 2016

IUCN ได้ให้คำนิยามว่า Nature-based Solutions คือ “การดำเนินการปกป้อง จัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติและปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเพื่อสนองตอบต่อความท้าทายของสังคม ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพและสามารถปรับตัวได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และความหลากหลายทางชีวภาพ”

IUCN มองว่า Nature-based Solutions คือการนำระบบธรรมชาติมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยพิจารณาควบคู่ไปกับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวได้ว่า แนวคิดนี้ประสานการอนุรักษ์ไว้กับการพัฒนาอย่างชาญฉลาด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อระบบนิเวศและชุมชน โดยได้พัฒนาเกณฑ์ Global Standard for Nature-based Solutions เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบ ดำเนินการ และประเมินโครงการที่อิงกับธรรมชาติอย่างเป็นระบบ

มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำอีกแห่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิด Nature-based Solutions ได้ให้นิยามที่กว้างออกไปอีกว่า Nature-based Solutions คือ “การดำเนินการที่ได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับการสนับสนุน หรือถูกลอกเลียนแบบจากธรรมชาติ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เกื้อกูลต่อทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง”

โดยในปี 2018 ได้ก่อตั้ง Nature-based Solutions Initiative ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการนำ Nature-based Solutions ไปปฏิบัติใช้จริงในระดับนโยบายและภาคส่วนต่าง ๆ

โดยมีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ

  1. สร้างฐานความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย
  2. พัฒนาเครื่องมือและกระบวนการ เพื่อการออกแบบโครงการที่มีประสิทธิภาพ
  3. สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา
  4. เสริมสร้างขีดความสามารถและการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และการฝึกอบรม

โดย Nature-based Solutions Initiative ได้ดำเนินโครงการวิจัยและความร่วมมือในหลากหลายประเด็น เช่น การวิเคราะห์ศักยภาพของ Nature-based Solutions ในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ของบริการจากระบบนิเวศ การพัฒนากลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุน Nature-based Solutions ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในระดับนานาชาติ เช่น UN Environment Programme (UNEP), World Economic Forum และ World Resources Institute เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผลักดันประเด็น Nature-based Solutions ไปสู่การปฏิบัติในวงกว้าง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่สหภาพยุโรปได้บรรจุ Nature-based Solutions ไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักภายใต้ Horizon 2020 ซึ่งเป็นกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขยายผลการใช้ Nature-based Solutions ในการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดตั้ง Nature-based Solutions for Climate Manifesto ขึ้นในปี 2019 เพื่อระดมความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย Nature-based Solutions จนนำไปสู่ Climate Action Summit 2019 ที่ยกให้ Nature-based Solutions เป็นประเด็นหลัก ไปจนถึงการที่ธนาคารโลกนำแนวคิดนี้มาใช้ในการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนา

งานวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่า Nature-based Solutions อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ของโลก ดังเช่นการศึกษาของ Griscom และคณะในปี 2017 ที่ได้ประเมินศักยภาพของ Natural Climate Solutions หรือการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยธรรมชาติ ในการช่วยบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

ทีมนักวิจัยได้ประเมินมาตรการต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูป่า การปลูกป่า การจัดการที่ดินเกษตรกรรม การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ฯลฯ พบว่าหากดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 23.8 พันล้านตันต่อปี ภายในปี 2030 ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นต้องลดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

นอกจากนี้ยังพบว่ามาตรการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้ ลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนที่เปราะบาง งานวิจัยชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ Nature-based Solutions ในฐานะกลยุทธ์เสริมที่ขาดไม่ได้นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในรายงานของธนาคารโลกปี 2018 ชื่อ “Integrating Green and Gray: Creating Next Generation Infrastructure” ได้กล่าวถึงศักยภาพในการลงทุนใน Nature-based Solutions เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง

โดยรายงานได้วิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Nature-based Solutions ผ่านการศึกษากรณีตัวอย่างกว่า 30 โครงการทั่วโลก พบว่าการลงทุนแต่ละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉลี่ยแล้วจะให้ผลตอบแทนถึง 4-15 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการลดความเสี่ยงและความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ฯลฯ ในบางโครงการที่เน้นประโยชน์ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและการบำบัดน้ำเสีย ผลตอบแทนอาจสูงถึง 30-50 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการลงทุน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการลงทุนใน Nature-based Solutions นั้นไม่เพียงคุ้มค่าในแง่การลดความเสี่ยง แต่ยังให้ผลตอบแทนเชิงบวกอย่างมากอีกด้วย

นอกจากนี้ รายงานยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Nature-based Solutions) เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม (Gray Infrastructure) เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างชาญฉลาด ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม แนวทางการพัฒนาเช่นนี้จะทำให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว มากกว่าการพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติ ลดทอนความยืดหยุ่นในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ และต้องเผชิญกับต้นทุนในการดูแลรักษาที่สูงในระยะยาว

ในโลกของการออกแบบ แนวคิด Biomimicry หรือการเลียนแบบธรรมชาติก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ Nature-based Solutions เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการออกแบบหุ่นยนต์สำหรับสำรวจใต้ทะเล โดยลอกเลียนโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของปลากระเบน ช่วยให้เคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่วและประหยัดพลังงาน หรือแม้แต่ การสร้างอาคารที่มีระบบระบายอากาศแบบธรรมชาติ ด้วยการจำลองรูปแบบการหมุนเวียนอากาศในรังปลวก เพื่อลดการใช้พลังงานในการปรับอากาศ นี่คือการเรียนรู้จากปัญญาของธรรมชาติ และปรับใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนกว่า

นอกจากนี้ แนวคิด Nature-based Solutions ยังขยายไปสู่วงการการเงินในรูปแบบของ Sustainable Finance ที่มุ่งเน้นการลงทุนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิเช่น บริษัทประกันภัยและบริษัทจัดการสินทรัพย์หลายแห่งในยุโรปและสหรัฐฯ ได้ริเริ่มโครงการประกันความหลากหลายทางชีวภาพและการรักษาระบบนิเวศ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในระยะยาว

หรือการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) และกองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ระดมทุนเพื่อนำไปลงทุนในโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยเฉพาะ นับเป็นกลไกทางการเงินที่สำคัญที่จะสนับสนุนให้การแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติแพร่หลายไปในวงกว้าง ขยายผลกระทบเชิงบวกที่เกื้อหนุนกัน ระหว่างธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม

หากเราช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ ธรรมชาติเองก็จะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับเรา ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ปลดล็อกศักยภาพมหาศาลของธรรมชาติที่จะนำพาสังคมกลับไปสู่ความสมดุลและยั่งยืน ด้วยแนวทางแบบองค์รวมที่เกื้อกูลต่อทั้งมนุษย์และธรรมชาติ พร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในการรับมือกับความท้าทายมากมายที่รออยู่เบื้องหน้า

เอกสารอ้างอิง

Browder, G., Ozment, S., Rehberger Bescos, I., Gartner, T., & Lange, G.M. (2019). Integrating Green and Gray: Creating Next Generation Infrastructure. Washington, DC: World Bank and World Resources Institute. https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/31430

Griscom, B. W., Adams, J., Ellis, P. W., Houghton, R. A., Lomax, G., Miteva, D. A., … & Fargione, J. (2017). Natural climate solutions. Proceedings of the National Academy of Sciences, 114(44), 11645-11650. https://doi.org/10.1073/pnas.1710465114