วังวน 'คนสองรุ่น' ถมเงินบนแปลงข้าวโพด 'มีกินเพราะข้าวโพด อดตายก็เพราะข้าวโพด' - Decode
Reading Time: 5 minutes

“… ตั้งแต่จำความได้หมู่บ้านผมก็ปลูกข้าวโพดแบบนี้แหละ แต่อาจไม่ได้เจริญเท่าตอนนี้”

ณ บ้านเสาหินกำแพงปูน พื้นกระเบื้องลายไม้จำลอง และหลังคายิปซัมมุงด้วยสังกะสี ชายหนุ่มวัยกลางผิวคล้ำแดดเอ่ยขึ้นท่ามกลางอากาศที่ร้อนกว่า 40 องศา ของพื้นที่บ้านห้วยม่วงนอก ตำบลแม่นาวาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 

ภายใต้หลังคาบ้านเดิม หากแต่มุงด้วยหญ้าคาและกำแพงยังเป็นรั้วไม้สาน
จะแฮ ชายเจ้าของผิวคล้ำแดดในวัยขวบแรก เติบโตขึ้นท่ามกลางครอบครัวเกษตรกร 

เดิมทีครอบครัวของจะแฮตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านแม่กุหลวง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก่อนจะย้ายมาอาศัยที่อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ไป ๆ กลับ ๆ ระหว่างสองพื้นที่นี้ จนมาลงเอยที่บ้านห้วยม่วงนอก อำเภอแม่อาย ตำบลแม่นาวาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อราวปีพ.ศ. 2527 และใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำมาหากินจนถึงปัจจุบัน

ผู้คนส่วนใหญ่ในอำเภอแม่อายนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยพืชเศรษฐกิจของพื้นที่คือ ข้าวนาปี ลิ้นจี่ที่เป็นไม้ผล และพืชจำพวกถั่วต่าง ๆ ทว่าในช่วงเวลาใกล้กันนั้นเอง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอแม่อายด้วยเช่นกัน

“ตอนที่เรายังเป็นเด็กอยู่ ก็เห็นพ่อแม่ปลูกถั่วเหลืองถั่วดำกันปีต่อปีนะ เมื่อก่อนที่หมู่บ้านเราก็มีลิ้นจี่นะ ต้นใหญ่เลย หลัง ๆ มาสภาพอากาศมันเปลี่ยนไป มันก็มีน้อยลง ผลผลิตก็ไม่ดี คนในหมู่บ้านก็เลยถอนออกหมด มาปลูกข้าวโพดแทน”

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ไกลจากการรับรู้ของจะแฮ
เขาจึงดึง จะหา คุณพ่อของเขา ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรในยุคแรกเริ่มเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย

จะหาเล่าว่า เขาเป็นคนที่ชื่นชอบในเกษตรกรรมอย่างมาก จึงมีอุปนิสัยในการเสาะหาเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ มาลองผิดลองถูกปลูกในไร่แปลงของเขา แม้พืชประเภทถั่วต่าง ๆ จะเป็นพืชทำเงินของครอบครัวจะแฮ แต่เงินที่ได้จากถั่วก็ไม่ได้มากมายนัก กอปรกับขั้นตอนการปลูกที่ใช้แรงกายมาก เขาจึงต้องหาพืชชนิดอื่นเพื่อปรับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

จนปี 2534 (7 ปีหลังจากตั้งรกรากที่อำเภอแม่อาย) จะหาและคนในพื้นที่เริ่มเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จะแฮลืมตาดูโลกพอดิบพอดี “ตอนที่เราเกิด ที่บ้านเราก็เริ่มปลูกข้าวโพดพอดีเลยอายุเท่ากัน” จะแฮแซวตนเอง

ณ เวลานั้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นข้าวโพดที่ได้มาจากอ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จะหาจึงลองซื้อข้าวโพดพันธุ์หนึ่งมาลองปลูกที่แปลงของเขา แต่ขณะนั้นราคาของข้าวโพดยังไม่ได้อยู่ในราคาของการเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ (ประมาณ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม) ทว่าก็นับว่าเป็นราคาที่พอรับได้ เพราะต้นทุนในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังไม่สูงเท่าปัจจุบัน นอกจากนั้นยัง สามารถนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดบางส่วนมาขยายพันธุ์ต่อได้

“สมัยที่พ่อปลูก ความต้องการข้าวโพดไม่ได้เยอะ ราคามันก็ยังไม่ได้ขยับไปไหน แต่ตอนปลูกถั่วเหลืองมันก็ไม่ได้อะไร มีคนมาแนะนำให้ปลูกข้าวโพด ก็เอาเชื้อมาลงปลูกดู ตอนนั้นยังไม่เป็นเมล็ดนะ เป็นหัวน้อย ๆ เราก็เอามาแกะและนำไปปลูก ตอนนั้นก็ซื้อมากระสอบนึงใหญ่ ๆ พ่อเลยให้ข้าวโพดเป็นรายได้หลักของครอบครัว”

ซึ่งหากดูตามช่วงปีดังกล่าวแล้ว เป็นช่วงเวลาภายใต้ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) โดยในบทที่ 5 ที่ว่าด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถของรัฐในการแก้ปัญหาของชาวชนบท พบสภาพปัญหาหลัก ๆ ของชนบท ณ ขณะนั้น 5 ประการใหญ่ โดยหนึ่งในนั้นคือ ปัญหาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของรายได้ไม่เพียงพอและก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านการว่างงาน แต่แผนพัฒนาฉบับดังกล่าวก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ในรายงานการวิเคราะห์บทบาทของตลาดเมล็ดพันธุ์กับการพัฒนาการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ฉบับที่ 5-8 โดย เพียงใจ จินดายะพานิชย์ และ ชณิกา เอี่ยมสุภาษิต นักวิชาการเกษตรจากกรมวิชาการเกษตรพบว่า ความพยายามที่ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 แล้ว

โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) รัฐบาลกำหนดนโยบายให้คงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไว้ประมาณ 10 ล้านไร่ ทว่าให้เพิ่มเป้าหมายการผลิตจากเดิม 3.3 ล้านตัน เป็น 4.2 ล้านตัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจาก 330 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 420 กิโลกรัมต่อไร่ ทว่ายังไม่สามารถยกระดับการผลิตได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากเกษตรกรยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีด้านพันธุ์พืช ขณะเดียวกันขีดความสามารถของรัฐบาลในการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นดีก็ยังต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฎหมายและนโยบายด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ชัดเจนทั้งยังไม่เอื้ออำนวยให้กลุ่มธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช

จนเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) รัฐบาลยังคงมีความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตอยู่ ทว่าก็ยังไม่สามารถก้าวไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ เนื่องจากขณะนั้นพื้นที่เกษตรกรรมพบกับความแปรปรวนของฝนและสภาพอากาศสูงมาก เกษตรกรไม่สามารถรับความเสี่ยงในการยกระดับการปลูกดังกล่าว พวกจึงคงวิธีการผลิตแบบเดิมอยู่ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์บนท้องตลาดได้ การส่งออกผลผลิตของประเทศไทยจึงไม่อาจแข่งขันในตลาดโลกสักเท่าไหร่

ปีพ.ศ. 2532-2533 รัฐบาลจึงมีนโยบายเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่เขตแหล่งผลิตสำคัญ เช่น เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี กำแพงเพชร พิษณุโลก เลย ฯลฯ ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลมีกำลังในการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นดีอยู่ราวปีละ 2,000-3,000 ตัน (พันธุ์ผสมเปิด) ส่วนภาคเอกชนมีกำลังผลิตอยู่ราว 3,000 ตัน (พันธุ์ลูกผสม) รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนให้กลุ่มเอกชนลงทุนในตลาดเมล็ดพันธุ์ และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นตามเป้าหมาย

ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายและแนวทางพัฒนาข้าวโพด โดยการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และปรับปรุงคุณภาพข้าวโพดให้มีความน่าเชื่อถือบนตลาดโลก ผ่านโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดร่วมกับภาคเอกชนอย่างครบวงจร

ระบบครบวงจรดังกล่าว มีแนวทางคือการให้สินเชื่อกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผ่านธนาคารเกษตรและสหกรณ์ แนะนำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมและเทคโนโลยีในการปลูกกับเกษตรกร และการรับซื้อผลผลิตของผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิต ณ จุดรับซื้อตามท้องถิ่นต่าง ๆ ภายใต้ราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 32 จังหวัด

จนกระทั่ง ความพยายามของรัฐในการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสำเร็จในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) ต่อเนื่องไปถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) หากอธิบายอย่างรวบรัดแล้ว รัฐบาลสามารถยกระดับผลผลิตต่อไร่ได้ตามเป้าหมาย ทว่าผลผลิตโดยรวมและพื้นที่เพาะปลูกยังคงลดลง พ่วงไปกับช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เริ่มขยายตัว

ข้าวโพดที่เคยเป็นพืชส่งออก จึงกลายมาเป็นพืชที่ตอบสนองการใช้งานในประเทศ และเน้นการขยายพื้นที่เพาะปลูกแต่ละพื้นที่ อาทิ เขตส่งออก เขตทั่วไป เขตดูแลพิเศษ ซึ่งแต่ละเขตจะมีเป้าหมายของการเพิ่มผลผลิตโดยรวม และปรับปรุงวิธีปลูกให้สอดคล้องกับพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง

แต่ก็ไม่สามารถผลิตข้าวโพดให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ และต้องนำเข้าข้าวโพดในที่สุด
ทว่าข้อค้นพบที่ของผู้เขียนรายงานดังกล่าวคือ รัฐบาลประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรที่มีเกษตรกรรมสมัยใหม่ โดยเกษตรกรยอมลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสม ปุ๋ย หรือเคมีภัณฑ์อื่น ๆ แม้มันจะมีราคาแพงก็ตาม

“ตอนที่ปลูกข้าวโพดแรก ๆ ยาฆ่าหญ้าหรือสารเคมีอื่นก็ไม่ได้ใช้เลย เราใช้เกลือก้อนไปละลายกับน้ำ ใส่ในโบโด(เครื่องพ่นยา) แล้วก็เอาไปฉีดฆ่าวัชพืช แต่ไม่ใช่ว่าตายทุกหญ้านะ มันจะฆ่าได้แค่วัชพืชใบกว้าง และเราก็ไปดึงวัชพืชใบแคบออกเอง”

จะหาอธิบายว่า การริเริ่มปลูกข้าวโพดจะต้องทำการตัดป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่ปลูกใหม่ โดยสภาพพื้นที่อำเภอแม่อายทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับเตี้ย และเนินสูงสลับกับที่ราบ ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรของ เกษตรกรในตำบลแม่นาวางจะอยู่บนพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ 

แต่ด้วยความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ค่อย ๆ ขยับขึ้น เกษตรกรในพื้นที่ก็เริ่มขยายพื้นที่การเพาะปลูกเช่นเดียวกัน แปลงข้าวโพดเริ่มขยับเข้าไปในพื้นที่ป่าและภูเขาของชุมชนมากขึ้น ซึ่งนั่นก็แลกมากับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพและสร้างกำไรให้กับครอบครัว “คนเรามีความอยากขึ้นมา อยากจะได้ อยากจะขับ เพราะมันมีรถยนต์ รถไถ เครื่องทุนแรงต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรทำได้ง่ายขึ้น ก็เลยขยายพื้นที่เยอะขึ้นไปอีก จากแปดไร่ เป็นสิบไร่ ขยายไปเรื่อย ๆ” จะหาเอ่ย

จะหาเล่าอีกว่าหลังจากทำไร่ข้าวโพดไปสักพัก อุปกรณ์ทุ่นแรงหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรก็พัฒนาขึ้นไปตามพลวัตของโลกด้วยเช่นกัน จากแต่ก่อนที่ผัวเป็นคนขุดหลุมและเมียเป็นคนใส่เมล็ดพันธุ์ ก็มีเครื่องจักรที่ทั้งขุดและฝังเมล็ดไปพร้อมกันได้ด้วยการเดินไถตามทาง จากให้ควายกินหญ้าที่ขึ้นตามแปลงปลูก ก็เปลี่ยนเป็นเครื่องตัดหญ้าที่ประหยัดเวลาไปได้มหาศาล

กระทั่งหากต้องการผลผลิตที่มากขึ้น ก็สามารถซื้อเคมีภัณฑ์อย่างปุ๋ยยี่ห้อต่าง ๆ มาใส่เพิ่มได้ (แม้ดินจะยังดีจนไม่ต้องใส่ปุ๋ย) หรือหากไม่อยากใช้เครื่องจักรตัดหญ้า ก็ยังมียาฆ่าหญ้าหรือยาฆ่าแมลงที่ทำให้วัชพืชและแมลงรบกวนหายไปราวกับดีดนิ้ว ซึ่งความง่ายดายในการปลูกทำให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว 

“ปกติปุ๋ยกำนึงเราใช้ได้ประมาณ 5-6 ต้น แต่ถ้าดินไม่ดี ใส่ทั้งแก้วก็ไม่ช่วย ยังไงมันก็ไม่ได้แล้ว หัวข้าวโพดไม่มีแล้ว ต้องเผาไฟอย่างเดียว ใส่ขี้ควายอย่างเดียว เราเลยต้องใช้ปุ๋ยเยอะขึ้นต่อปี แต่ถ้าดินมันเสื่อมสภาพจริง ๆ จะใส่ปุ๋ยยังไงมันก็ไม่ขึ้นเลย” จะหาเล่าด้วยเสียงเรียบนิ่ง

ท่ามกลางบทสนทนา ริ้วรอยของการทำงานและความเหี่ยวย่นที่มากขึ้นไปตามอายุ จะหาเอ่ยออกมาว่าเขาคงปลูกข้าวโพดเหล่านี้ได้อีกไม่เกินสองปี แม้ใจจะสู้แต่ร่างกายไม่ไหว และประสบการณ์กว่าสี่สิบปีบนแปลงข้าวโพดก็ถูกส่งต่อให้ลูกชายของเขาไปหมดแล้ว

จะหาลุกออกจากบทสนทนาหลังจากเล่าเรื่องราวต่าง ๆ จนครบถ้วน

ทิ้งเงินหมื่นมาคว้าเงินแสน? ข้าวโพดรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

“ถามว่าชอบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไหม ก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ครับ แต่ถ้าไม่มีมันเราก็จะไม่มีอาหาร ข้าวโพดมันเป็นพืชผลอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีรายได้ มันจำเป็น สมมุติถ้าเราติดหนี้แล้วไปปลูกไม้ยืนต้น เราก็ไม่มีใช้หนี้หรอก” จะแฮกล่าวพลางหัวเราะ

จากฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรเมื่อปี 2564 อำเภอแม่อายมีพื้นที่อยู่ 460,000 ไร่ และตำบลแม่นาวางที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของจะแฮมีพื้นที่อยู่ราว ๆ 100,000 ไร่ ซึ่งกว่าครึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

54,759.77 ไร่ของพื้นที่เกษตรกรรมในตำบลแม่นาวาง กว่า 19,237.73 ไร่เป็นแปลงข้าวนาปี กว่า 25,466.92 ไร่เป็นแปลงปลูกมันสำปะหลัง ยางพารา ไม้ผล พืชผัก และอีก 10,057.12 ที่เหลือนั้น เป็นแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่ข้าวโพดยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อก่อนปลูกอะไรก็งาม ดินมันมีความชื้น ใบไม้หล่นลงมาเป็นปุ๋ย จุลินทรีย์เยอะ เพราะป่าที่เราบุกเบิกใหม่ยังมีหน้าดินที่ดี เวลาเราปลูกต้นข้าวโพด ต้นพริก ต้นเท่าแขนเราอะ ถ้าไปปลูกข้าวโพดบนดอย กอมันก็จะใหญ่ สูงกว่าตัวเราอีก แต่ตอนนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว”

จะแฮและครอบครัวอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านห้วยม่วงนอก ตำบลแม่นาวาง ซึ่งสมาชิกในชุมชนกว่า 2,000 คนล้วนเป็นเกษตรกร และทุกคนต่างปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ตัวเลขการถือครองที่ดินเกษตรกรรมจะต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อกิจกรรมทางการเกษตร

จากเดิมที่มีเพียงเมล็ดพันธุ์และสองมือก็สามารถปลูกข้าวโพดได้ หากแต่ปัจจุบันไม่อาจทำเช่นนั้นได้แล้ว เหตุผลแรก คือ การขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพด ที่ทำให้เกษตรกรต้องสรรหาเครื่องมือทุ่นแรง อาทิ ยาสำหรับกำจัดแมลงรบกวน ยาฆ่าหญ้า และอุปกรณ์ใส่เมล็ดพันธุ์ รถไถหน้าดิน หรือรถเก็บเกี่ยว เพราะจำนวนแปลงปลูกที่มหาศาล ครั้นจะใช้แค่เมล็ดกับสองมือก็คงไม่ทันขาย

ตามคำบอกเล่าของจะแฮ เกษตรกรเริ่มรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าของชุมชนตั้งแต่ปีช่วงพ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน จากความต้องการที่จะขยายพื้นที่ทางเกษตรกรรม เพื่อให้สอดรับกับความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาด

ตลาดขยายตัว กิจกรรมทางการเกษตรก็คึกคักขึ้นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการไถ ขุดหน้าดิน การใส่ปุ๋ย กระทั่งการพ่นยากำจัดสิ่งรบกวน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบกับโครงสร้างดินทั้งทางตรงและอ้อม ทว่าจุดตัดสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่บ้านห้วยม่วงนอก คือ ไม่มีพื้นที่ป่าอีกแล้ว

“ตอนนี้ไม่มีที่ให้ขยายแล้ว มันมีเจ้าของหมด เราเลยต้องใช้ที่เดิมซ้ำ ๆ จนดินมันเสื่อมสภาพแล้ว”

จะแฮเล่าว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าในชุมชนบ้านห้วยม่วงนอกเหลือน้อยเต็มที จะปลูกป่าเพิ่มก็ต้องเจอกับคนนิรนามมาลักตัดไม้จนหัวเสีย ขณะนี้จึงทำได้เพียงพยายามอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่เหลือไว้ให้มากที่สุด ซึ่งข้อจำกัดนี้เองทำให้เกษตรกรไม่สามารถขยับเคลื่อนไปทำเกษตรในพื้นที่อื่นได้แล้ว และต้องใช้พื้นที่เดิมซ้ำมากกว่า 40 ปีแล้วหากนับตั้งแต่ยุคสมัยของจะหา

ซึ่งนำมาสู่เหตุผลที่สอง คือ การเสื่อมของดินในพื้นที่ จากการใช้ที่ดินเพาะปลูกต่อเนื่องทุกปีโดยไม่มีการพักเติมอาหารในดิน จนเป็นเหตุที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดไม่สามารถเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดได้ “หมู่บ้านอื่นเขาใส่ปุ๋ยรอบเดียวนะ เมื่อก่อนหมู่บ้านเราก็ใส่รอบเดียว แต่ประมาณ 3-4 ปีหลังมานี้ เราพ่นปุ๋ยรอบเดียวไม่ได้แล้ว ต้องพ่น 3-4 รอบ เพราะถ้าใส่รอบเดียว ข้าวโพดมันจะไม่มีน้ำหนัก” จะแฮเอ่ยพลางหัวเราะ

นอกจากการถมเงินถมทองลงบนแปลงข้าวโพดแล้ว
อีกสองวิธีที่พอจะบรรเทาความเสื่อมของดินได้ คือ การเผา และ การปลูกมันสำปะหลัง 

จะแฮอธิบายว่าการเผาของเกษตรกรในบ้านห้วยม่วงนอกจะเป็นการเผาซากข้าวโพดกับหญ้า โดยกินระยะเวลาในการเผาไหม้ราว 30 นาที จากนั้นจึงไถกลบ โดยการทำเช่นนี้จะช่วยเติมจุลินทรีย์จากใบไม้ที่ถูกเผาและทำให้ดินร่วนซุย เพื่อง่ายต่อการปลูก “เราลองดูในยูทูปที่เขาใช้ขี้วัวแทนปุ๋ยเพื่อปรับสภาพดินด้วย ปีนี้เราเลยลองทำไปแล้ว 5 ไร่ ลองดูว่ามันจะกลับมาเหมือนเดิมรึเปล่า”จะแฮเล่าอย่างตื่นเต้น

และอีกวิธีอย่างการปลูกมันสำปะหลัง ที่ก็นับว่าเป็นหนึ่งในวิธีการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่ จะแฮอธิบายว่าในสองสามปีหลังมานี้ เขาและเกษตรกรหลายคนเริ่มปลูกมันสำปะหลังสลับกับการปลูกข้าวโพด นอกจากมันจะใช้ต้นทุนน้อยกว่าหลายเท่า จะแฮสังเกตได้ว่าใบจากตอมันสำปะหลังสามารถกลายเป็นจุลินทรีย์ได้ และเมื่อปลูกข้าวโพดหลังจากปลูกมันสำปะหลัง ผลผลิตจะ มีคุณภาพขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยในสายตาของจะแฮ

“หลายหมู่บ้านก็เริ่มปลูกมันนะ แต่ส่วนมากเขาก็ปลูกข้าวโพดกันหมด ไชยปราการ ฝาง แม่อาย เท่าที่ผมไปเที่ยวดูก็เห็นภูเขาแทบทั้งลูกเป็นต้นข้าวโพดหมด เพราะได้เงินเร็ว พอโลกโซเชียลเข้ามา เราก็มีความอยาก อยากจะได้ อยากจะลองขับ(รถ) ก็เลยบุกรุกทำลายป่า ป่าพังหมด ก็เลยเป็นแบบนี้” จะแฮเปรยขึ้นก่อนจะทอดตัวลงบนเตียงท่ามกลางอากาศร้อนจัด

วังวนข้าวโพดเงินด่วน แปลงสีน้ำตาลที่อาจไม่มีพรุ่งนี้สำหรับรุ่นหลาน

ช่วงสายของอีกวันหนึ่ง จะแฮปลุกผู้เขียนด้วยเสียงเรียกเบา ๆ ก่อนจะชวนไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านถนนทางหลวง เตรียมพลังก่อนที่เขาจะพาไปดูแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สุดลูกหูลูกตาของตำบลแม่นาวาง

เขาคว้ากุญแจรถกระบะสีเงินคันโต สตาร์ทรถ และขับออกจากบ้านด้วยท่าทีแสนทะมัดทะแมง “คันนี้ก็ได้มาจากข้าวโพดนี่แหละ” เขาเอ่ยพร้อมหัวเราะลั่น

เกษตรกรในพื้นที่บ้านห้วยม่วงนอกอาจแบ่งได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ จากคำบอกเล่าของจะแฮ (หนึ่ง) คือกลุ่มที่มีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ (สอง) คือกลุ่มที่มีพื้นที่ 15-20 ไร่ กับ (สาม) คือกลุ่มที่มีพื้นที่ราว ๆ 50-60 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้หาใช่เกษตรกรข้าวโพดเท่านั้น แต่อาจหมายถึงเกษตรกรที่ปลูกยางพารา ส้ม หรือไม้ผลอื่น ๆ อีกด้วย “ถ้ามองไปบ้านไหนแล้วเขาปลูกส้ม ก็เป็นคนรวยเท่านั้นแหละครับ เป็นสวนส้มนายทุน ชาวบ้านอย่างเราปลูกไม่ไหว” จะแฮเล่าพลางหัวเราะ

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าสวนส้มมีต้นทุนการผลิตที่สูงมากและใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิต (3 ปี) ส้มจำเป็นต้องพ่นปุ๋ยหรือยาอาทิตย์ละหนึ่งครั้งอาจกินค่าใช้จ่ายราว 2,000 บาทต่อหนึ่งรอบ นั่นหมายความเกษตรกรจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายนี้ตลอดสามปีไปโดยปริยาย ส้มจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักสำหรับเกษตรกรที่ต้องการเงินก้อนในแต่ละปี

“ใส่ปุ๋ยข้าวโพดรอบหนึ่งก็ใช้เงินประมาณ 2,000-3,000 บาทเหมือนกัน ชาวไร่อย่างเราก็ต้องไปกู้เงินมาทำ บางทีกู้มาแล้วก็ขายไม่ได้ราคาอีก ก็เลยเป็นหนี้สินกันเยอะขึ้น” จะแฮอธิบาย

จะแฮเล่าว่าเขากู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ตั้งแต่ช่วงแรกที่เขามาเป็นกำลังหลักในการปลูกข้าวโพดของครอบครัว เขาเล่าว่าครั้งแรกที่กู้ธนาคารให้เป็นเงิน จำนวน 50,000 บาท ถัดจากนั้นสองเดือนได้เพิ่มอีกเป็น 100,000 บาท และได้เพิ่มจากเงินฉุกเฉิน (โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติปี 2565/66) อีก 50,000 บาท ที่ใช้เป็นทั้งค่าใช้จ่ายบนแปลงข้าวโพดและต้นทุนสำหรับครอบครัวของเขา

ขณะนี้ จะแฮและผู้เขียนยืนอยู่บนแปลงข้าวโพดของครอบครัวเขา
เขายืนชี้บอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ผ่านต้นไม้และผืนดินต่าง ๆ อยู่นานสองนาน

“… สองสามปีที่ผ่านมา แทบไม่มีเงินเหลือเข้าตัวเองเลยนะ” จะแฮถอนหายใจเสียงดัง

“… ปีนี้คงจะได้สักสามแสน หักต้นทุนไปเหลือแสนห้า แทบจะปลูกใช้หนี้เลย
ถ้าปีนี้ยังขาดทุนอีก เราคงต้องหางานข้างนอกทำแล้วล่ะ” จะแฮพูดพลางหัวเราะแห้ง

จะแฮอธิบายว่า ถ้าราคาข้าวโพดอยู่ในภาวะปกติ (ประมาณ 8-9 บาทต่อกิโลกรัม) จะแฮอาจจะได้เงินจากการขายข้าวโพดอยู่ราว 500,000 บาทต่อปี ทว่าตลอดปี 2564-2566 ที่ผ่านมา เขากลับไม่เคยได้ราคานั้นอีกเลย หนำซ้ำยังขาดทุนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย “เกือบทุกบ้านเป็นหนี้ ธ.ก.ส. และหนี้นอกระบบ ไม่ใช่จากการเล่นการพนันนะ แต่เป็นเพราะเราไปซื้อเมล็ดพันธุ์หรือปุ๋ยมาลงทุนนั่นแหละ”

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2565/2566 วงเงิน 716.10 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท

โดยหลักการและเงื่อนไขของการประกันรายได้ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ดที่มีความชื้นร้อยละ 14.5 จะได้ราคา 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่และไม่ซ้ำแปลง โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและแจ้งเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 – 31 พฤษภาคม 2566 และต้องเป็นเกษตรกรที่ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเองและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ข้าวโพด

“สภาพอากาศมันเปลี่ยน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่นถ้าร้อนและแล้ง เราลงเมล็ดไปแล้วมันไม่งอกขึ้นมาสักอาทิตย์หนึ่ง ข้าวโพดมันก็อาจจะตายได้ หรือถ้าฝนทิ้งช่วงนานและไม่ตกช่วงที่เมล็ดกำลังจะงอกนะ เตรียมตัวได้ใช้หนี้เลย”

จะแฮบอกว่าข้าวโพดของจะแฮมีความชื้นอยู่ราวร้อยละ 18-19 นั่นทำให้ข้าวโพดของเขาอาจจะไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับราคาตามที่รัฐบาลประกันราคาไว้ แต่การจะจัดการกับสภาพอากาศเพื่อให้ข้าวโพดของเขามีคุณภาพที่ดีที่สุดกลับยิ่งยากเข้าไปใหญ่

เขาอธิบายเสริมว่าเกษตรกรในพื้นที่บ้านห้วยม่วงนอกจะเริ่มเพาะปลูกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงเดียวกับที่ฝนเตรียมเข้าปกคลุมพื้นที่ ซึ่งตอนนี้นั้นดินจะเริ่มมีความชื้นพอเหมาะสำหรับการฝังเมล็ด และเมื่อฝนตกลงมา เกษตรกรก็จะได้ผลผลิตตามฤดูกาลที่วางไว้นั่นเอง

ทว่าหากฝนไม่ยอมตกจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งยาวนาน ก็เท่ากับว่าปีนั้นก็อาจได้ผลผลิตที่คุณภาพไม่ดีนัก หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คือไม่ได้ผลผลิตอะไรเลย

“เราใช้น้ำระบบเทวดา ก็ดูในมือถือว่าฝนจะมารึเปล่า บางทีมันไปตกที่เชียงใหม่ ตกที่อำเภอแม่อาย แต่ที่ตำบลแม่นาวางไม่มีตกเลย เหมือนแกล้งกัน แกล้งยันสภาพอากาศ แผนการปลูกก็เลยต้องปรับไปตามสถานการณ์ เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย”

ปัจจุบันจะแฮมีรายได้จากการขายข้าวโพดอยู่ราว 300,000 บาทต่อปี ซึ่งหากหักค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ค่าแรงของตนเอง เงินชำระหนี้ (ราวหนึ่งหมื่นบาท) โดยที่ยังไม่รวมค่าจัดการแปลงปลูก อาทิ ค่ารถไถ ค่าน้ำมันรถขนส่ง ต้นทุนของการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจะแฮจะอยู่ราว 150,000-200,000 บาท

หนึ่งแสนที่เหลือก็กลายไปเป็นค่าเล่าเรียนของลูกสี่คน ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงค่าบันเทิงต่าง ๆ ที่เขาพอจะหามาเติมความสนุกสนานให้กับชีวิตของเขาบ้าง “ลูกเราก็โตขึ้นมาเรื่อย ๆ เทคโนโลยีมันก็มีเยอะขึ้นมา ลูกเราเห็นคนอื่นเขาได้กัน เดี๋ยวก็ร้องไห้อยากได้ (หัวเราะ) เราก็เป็นพ่อ จะไม่ซื้อให้ก็ไม่ได้ เอ็นดูมัน”

รายได้จากข้าวโพดพ่วงผสมไปกับรายได้เสริมจากการรับจ้างทำกิจกรรมทางการเกษตรต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น การรับจ้างไถแปลงปลูก รับจ้างลงเมล็ด จนไปถึงการรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อที่จะมาบรรเทาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกวัน

ในอีกทางหนึ่งก็เป็นหมุดหมายในอนาคตของจะแฮเช่นเดียวกัน เขาเล่าว่าเขาอยากลงทุนในกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง เช่น การปลูกมะม่วง ลำไย ยางพารา ไม้ผลอื่น ๆ กระทั่งการเลี้ยงปลา เพื่อเพิ่มความหลากหลายในพื้นที่ และอาจจะทำให้ดินในพื้นที่บ้านห้วยม่วงนอกกลับมาดีอีกครั้ง

“แต่นั่นแหละ ถ้าทำอะไรผิดพลาดขึ้นมาก็จะเป็นหนี้มากขึ้น เราก็ทำได้แค่เก็บเงินไปก่อน”

จะแฮย้ำว่าสิ่งที่เขาทำได้ คือการทำไร่ข้าวโพดต่อไป เพราะนัยหนึ่งก็เป็นการต่อสู้เพื่อลูกหลาน เพื่อที่เขาจะยังสามารถมีที่ดินทำกินต่อไปได้

ส่วนในฟากฝั่งรัฐบาล จะแฮมองว่าพวกเขาควรมีบทบาทในการควบคุมกลไกราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้เหมาะสม และควบคุมการกำหนดราคาให้เป็นธรรมกับเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ รวมถึงการซื้อข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย 

“อยากให้รัฐบาลไม่ต้องไปซื้อข้าวโพดต่างประเทศ ถ้าในประเทศไทยมันไม่มีข้าวโพดให้ซื้อแล้ว ค่อยไปซื้อข้างนอก ไม่ใช่ซื้อแล้วมากดราคาพวกเรา จนเป็นหนี้เป็นสินกันมากขนาดนี้”

เด็ก ๆ สี่คนเริ่มเข้ามาจอแจกับจะแฮ อาจเพราะผู้เขียนใช้เวลากับพ่อของพวกเขามากเกินไป

“… ผมก็คิดว่าจะให้เด็ก ๆ ทำข้าวโพดต่อนั่นแหละ” จะแฮตอบกลับพร้อมเสียงหัวเราะ

“… เพราะส่วนมากเด็กก็ไม่ค่อยจบสูง ให้ออกมาก็เลยมาช่วยพ่อช่วยแม่ดีกว่า” จะแฮเสริม 

เขาฉายภาพว่ากว่าสองร้อยหลังคาเรือนในบ้านห้วยม่วงนอก มีคนจบปริญญาเพียง 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นคนที่มีต้นทุนทางครอบครัวและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง แต่สำหรับบางครอบครัวแล้ว การใช้มือจับจอบจับเสียม อาจเป็นคุณประโยชน์มากกว่าการจับปากกาในมหาวิทยาลัยเสียกว่า

จะแฮแซวตนเองว่าแม้การทำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะได้หนี้กลับมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน มันก็สามารถทำให้ครอบครัวคงสถานภาพพออยู่พอกินต่อไปได้ และค่อยมาวางแผนกันอีกที ตอนที่ผลผลิตนั้นเปลี่ยนเป็นเงินในปีนั้น

“… แต่ถ้าจะให้ไปถึงรุ่นลูก ก็คิดว่าน่าจะไปไม่ถึงแล้ว เพราะดินคงใช้การไม่ได้อีก”

จะแฮเอ่ย ก่อนจะพาเด็ก ๆ ไปทานข้าวตามเสียงเรียกของภรรยา