ต่างจังหวัด : อำนาจและการควบคุม - Decode
Reading Time: 2 minutes

คุณคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริงหรือไม่?

ก. ใช่

ข. ไม่ใช่

ค. จะจริงหร๊อ..

จริงอยู่ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น อย่างเช่นการที่คนในพื้นที่มีสิทธิ์ออกไปเลือกผู้แทนประจำท้องถิ่นกันเอง แต่ก็ใช่ว่าอำนาจจากส่วนกลางจะไม่ได้เข้ามามีส่วนในการปกครองเลย

คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ได้เขียนและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ต่างจังหวัดในแดนไทย : การควบคุมพื้นที่ ความรู้ และความทรงจำนอกกรุงเทพฯ ไว้ในหนังสือเล่มนี้

อย่างหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เราได้รับรู้ทั้งจากตัวเองและผ่านสื่อ การจัดการหลายอย่างในท้องถิ่น/ต่างจังหวัด  คนในพื้นที่ต้องจัดการกันเอง เพราะหากรอการจัดการมาจากส่วนกลางอาจจะไม่ทันการณ์ ซึ่งคนในพื้นที่ก็มีการจัดการได้ดี เพราะเป็นคนที่ประสบปัญหา และอยู่ในพื้นที่นั้นจริง ๆ จึงสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตัวอย่างเช่นสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 วิกฤตนี้เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ และในพื้นที่ภาคเหนือ แม้ว่าต้นเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ของแต่ละพื้นที่จะต่างกัน อย่างเช่น กรุงเทพฯ ส่วนมากจะมาจากการเผาไหม้ของการใช้รถ ส่วนของภาคเหนือสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการเผาไหม้ป่าไม้และการเกษตร และเหมือนว่า ชาวบ้านชาวเขาถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายในสมการนี้ไป 

พอพูดถึงเรื่องที่ชาวบ้านชาวเขาตามต่างจังหวัดถูกทำให้มองเป็นผู้ร้าย ดูเป็นคนไม่มีความรู้แบบนี้ ทำให้นึกถึงที่คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือว่า แต่ไหนแต่ไรมาต่างจังหวัดถูกมองเป็นพื้นที่ที่ไม่น่าไว้วางใจเนื่องจากฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมียุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง ซึ่งการถูกมองว่าไม่น่าไว้วางใจนี้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของผู้มีอำนาจในสมัยนั้นที่สามารถทำให้คนทั่วไปมองเหมารวมได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่แบบนั้น การมองแบบเหมารวมนี้ เป็นมุมมองจากส่วนกลาง จากคนที่มีอำนาจ และกรณีการจัดการฝุ่นที่เหมือนท้องถิ่นดูแลกันเองนี้ เหมือนจะเป็นแค่การแสร้งว่ากระจายอำนาจ นี่คือคำที่ผุดมาในหัวของเรา เหมือนจะกระจายอำนาจ แต่พอเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี

ด้วยความที่แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศไทยมีการปกครองแบบรวมศูนย์ แม้ในปัจจุบันจะมีความพยายามในการกระจายอำนาจอยู่เนือง ๆ แต่รากในการรวมศูนย์ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ การปกครองแบบรวมอำนาจนั้นง่ายกับผู้ปกครอง เพราะเป็นการออกคำสั่งจากศูนย์กลางไปยังส่วนต่าง ๆ แต่นั่นก็ทำให้ส่วนงานต่าง ๆ ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นที่จะปรับอะไรให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ที่ควรจะเป็น อย่างในสถานการณ์เรื่องฝุ่นที่เราได้เกริ่นไป

และพอพูดถึงคำว่าอำนาจรวมศูนย์ ก็จะกลายเป็นว่าทรัพยากรต่าง ๆ จากโดยรอบจะถูกไหลเข้ามาส่วนกลาง ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรทางการเงิน ทรัพยากรมนุษย์ เพื่อมาพัฒนาส่วนกลาง และทำให้มีแค่ส่วนกลางเท่านั้นที่มีความเจริญ ความเหลื่อมล้ำก็ค่อย ๆ ถูกถ่างออกไปเรื่อย ๆ จนทำให้มองว่าอะไรที่อยู่จากต่างจังหวัดคือด้อยพัฒนา ล้าหลัง มักจะมีคำเรียกต่างจังหวัดด้วยคำต่าง ๆ อย่างเช่น บ้านนอก ภูธร และบางครั้งคำเหล่านี้ก็ดูเหมือนเป็นคำที่เหยียดกลาย ๆ 

จริง ๆ แล้วคำว่า “ต่างจังหวัด” แต่เดิมมาเป็นคำที่ไว้แบ่งการปกครองหน่วยพื้นที่ที่นอกกรุงเทพฯ และอย่างที่เกริ่นในข้างต้นว่าในประเทศไทยมีความพยายามที่จะกระจายอำนาจอยู่เรื่อย ๆ แต่ถึงกระนั้นในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ก็ยังมีการรวมอำนาจจากการทำรัฐประหาร และพักการใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ถูกยุติบทบาทลงไปด้วย และนั่นก็ทำให้พื้นที่นอกกรุงเทพฯ ตกเป็นรองเมืองหลวงในทุกด้าน

เมื่อความเจริญกระจุกตัวอยู่แต่ที่เมืองหลวง คนจากต่างจังหวัดก็ต่างพากันหลั่งไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ จนในช่วงทศวรรษ 2520 คนหลั่งไหลเข้ามามากจนทำให้เกิดความวิตกว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย การที่มีคนอพยพมาจำนวนมากจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ จนเกินความควบคุม ผู้มีอำนาจจึงได้ยอมกระจายอำนาจ(บางส่วน)โดยการทำบางเมืองให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่นั่นก็ไม่ใช่การกระจายอำนาจที่แท้จริง ยังมีการควบคุมจากส่วนกลางอยู่ดี

ในช่วงยุคหลังสงครามเย็น(ก่อน 2540) เศรษฐกิจของไทยเติบโตที่ดินราคาสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู ที่นาถูกขายโดยชาวนาชาวไร่ จนมาถึงช่วงปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและฟองสบู่แตก

หนึ่งในส่วนของหนังสือที่เราชอบคือ การพูดถึงต่างจังหวัด ภายใต้การควบคุมของอำนาจ-ความรู้ จริง ๆ มีคำกล่าวจากงานเสวนาวิชาการ “ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระ และการสร้าง” ที่สรุปเนื้อหาโดยคุณสุรพศ ทวีศักดิ์ เว็บไซต์ประชาไท ว่า

อำนาจจัดการความทรงจำทางประวัติศาสตร์ (ชำระ/สร้าง) ของสยามไทยอยู่ในมือของชนชั้นปกครองมาโดยตลอด 

(อ้างอิง https://prachatai.com/journal/2014/10/55871)

ในไทยไม่ค่อยมีเรื่องประวัติศาสตร์ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางซักเท่าไหร่ เมื่อประวัติศาสตร์ส่วนมากชนชั้นนำเป็นคนเล่าเรื่องก็สามารถเล่าเรื่องภายใต้มุมมองและผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก

ในที่สุดหลังการปฏิวัติสยาม 2475 อำนาจอธิปไตยก็กลับมาสู่ประชาชนอีกครั้ง และนั่นก็ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเขียนประวัติศาสตร์ สิ่งที่สะท้อนคือ ปาฐกถารวมเล่ม ปี 2478 ชื่อว่า ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาพของจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งก็สะท้อนว่า รัฐบาลที่มาจากภาคพลเมืองได้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น

ต่อมาในทศวรรษ 2500 เป็นยุคที่ความรู้แบบอเมริกันส่งผลต่อระบบการศึกษาไทย ทำให้เกิดการศึกษาเรื่องราวจากคนในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมี 2 ประเภท คือ การเขียนประวัติของบ้านเมืองและบุคคลสำคัญ ซึ่งบุคคลสำคัญที่ในหนังสือยกตัวอย่างมา ส่วนมากจะเป็นชนชั้นนำในยุคนั้น ๆ กับงานประวัติศาสตร์อีกประเภทการรวบรวมหลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอย่างหลัง คือเป็นแหล่งอ้างอิงในงานประเภทแรก เช่น พงศาวดาร ตำนาน กฎหมาย ฯลฯ แต่นั่นก็ทำให้เริ่มมีประวัติศาสตร์จากท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น

ต่างจังหวัดนั้น เกิดขึ้นและดำรงอยู่ตามพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จากหัวข้อนี้ ผู้เขียนให้เรามองจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ซึ่งก็คือ ภาษาและสำเนียงการพูด

ถ้าทุกท่านเคยผ่านการเรียนขั้นพื้นฐานมา น่าจะเคยผ่านตาเรื่องระดับของภาษา ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาทางการ ภาษาราชการ ราชาศัพท์ ยิ่งสองระดับหลังนี่ตอนที่เราจะอ่านหรือจะเขียน ต้องตีความ บางทีต้องปีนกำแพงทางภาษาเลยก็มี

ส่วนในเรื่อง “สำเนียง” ของภาษาไทย ก็จะเน้นให้เป็นสำเนียงกรุงเทพฯ ที่เป็นภาษาพูดที่ทรงอิทธิพล ถ้าใครพูดภาษาไทยแล้วมีสำเนียงอื่น หรือภาษาท้องถิ่นอื่น ก็จะโดนมองแปลก ๆ ทันที แบบเรียนต่าง ๆ การใช้ภาษาต่าง ๆ ตามสื่อ ก็ถูกบังคับให้ต้องเขียน เรียน ออกเสียงแบบสำเนียงกรุงเทพฯ เช่นกัน  

สำเนียงกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร ตัวอย่างก็อย่างเช่น การอ่านควบกล้ำ ร ล ว ให้ชัด

วัฒนธรรมไทย ไม่ใช่วัฒนธรรมที่กินความหมายของความเป็นไทยทั้งหมด แต่หมายถึงวัฒนธรรมที่มาจากส่วนกลาง ซึ่งนี่ก็ยังไม่พ้นการรวมศูนย์อีก อย่างการก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรม ในปีพ.ศ. 2495 ก็เป็นการสนับสนุนแนวคิดของทางฝั่งอนุรักษนิยม ที่พยายามแช่แข็งอะไรบางอย่างไว้ เห็นได้จากงานฉลองปี พ.ศ 2500 มีการบูรณะวัด พร้อมกระแสการเติบโตของพุทธพาณิชย์อย่างพระเครื่อง รวมไปถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นการเชิดชูวีรบุรุษที่เป็นผู้มีอำนาจในยุคนั้น ๆ ไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มาจากท้องถิ่น

ท้องถิ่นจะถูกมองให้เป็นอะไรที่หยุดนิ่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วในท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หากมีการกระจายอำนาจก็จะทำให้แต่ละพื้นที่สามารถดูแล จัดการ บริหารแต่ละภาคส่วนด้วยตนเองได้ 

หากเราอยากให้อำนาจเปลี่ยนมือ ท้องถิ่นมีการพัฒนาไปจากเดิม เมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นมาถึง แน่นอนว่าอำนาจบางอย่างเราอาจจัดการไม่ได้ เพราะมันเป็นอะไรที่ฝังลึกมาอย่างยาวนาน แต่ถ้าเป็นเรื่องการจัดการภาพรวมของท้องถิ่น ถ้าอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องอย่าลืมออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงที่เรามี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

Playread: ต่างจังหวัดในแดนไทย :  การควบคุมพื้นที่ ความรู้ และความทรงจำนอกกรุงเทพฯ
ผู้เขียน: ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
สำนักพิมพ์: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี