ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เมื่อพูดถึงแนวคิดเรื่องประกันสังคมตามบริบทความเข้าใจของสังคมไทย ถูกมองว่าเป็นกระบวนการสร้างสวัสดิการผ่านระบบการ สมทบแบบไตรภาคี เป็นเงินส่วนที่ นายจ้าง ผู้ประกันตน และฝ่ายรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นการพิจารณารูปแบบการประกันสังคมในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะหากเราพิจารณาลักษณะของการ “ประกันสังคม” ในความหมายกว้าง คือการรับประกันความเสี่ยงของผู้คนในช่วงวัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยทำงาน การประกันสังคมจึงไม่ได้จำเป็นต้องถูกออกแบบออกมาในรูปแบบ “ไตรภาคี” เสมอไป ซึ่งล้วนเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการตกลง และต่อรองของผู้คนในสังคมในช่วงระยะเวลานั้น
Caroline Dieckhoener ได้เขียนงานจำลอง สถานการณ์ระบบสวัสดิการในเยอรมนีในหลากหลายรูปแบบในลักษณะที่ว่า หากเยอรมนีมีการปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการออกมาเป็นในรูปแบบต่าง ๆ กันจะส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำหรือการแก้ไขปัญหาการว่างงานอย่างไรได้บ้าง ซึ่งตัวแบบสวัสดิการที่ยกมาเปรียบเทียบ คือแบบเสรีนิยมที่ปัจเจกชนรับผิดชอบตัวเอง แบบชุมชนนิยม ที่นำท้องถิ่นหรือกลุ่มทางสังคมเข้าช่วยจัดสวัสดิการ หรือแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่รัฐเป็นผู้จัดให้เป็นหลัก
แบบจำลองของ Dieckhoener ก็ได้ข้อสรุปที่ยืนยันสมมติฐานเดิมที่ว่า กรณีประเทศเยอรมนีควรใช้ระบบแบบเยอรมนีต่อไป คือเน้นการสมทบของคนในระบบสูงจะมีผลในการลดปัญหาการว่างงาน และทำให้คนข้างล่างได้ประโยชน์กับสวัสดิการมากกว่า
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขนี้เราก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขว่าสวัสดิการสังคมในเยอรมนี วางอยู่บนเงื่อนไขสำคัญประกอบด้วย 1.การจ้างงานในระบบปกติในอัตราที่สูง 2.การมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง 3.ระบบการฝึกอบรมและพัฒนาแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ โครงสร้างแรงงานและเป้าหมายการพัฒนาแรงงานก็ถูกวางไว้ภายใต้เงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากบริบทไทย เช่นนั้นเราจำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขสำคัญของโครงสร้างแรงงานไทย เพื่อออกแบบระบบประกันสังคมที่เหมาะสม
ในปี 2567 เงื่อนไขสำคัญโครงสร้างแรงงานของไทยคือ การมีแรงงานอิสระปริมาณสูง มีการรวมตัวต่อรองในทางสาธารณะในระดับที่ต่ำ และที่ตรงข้ามกับระบบเยอรมนี คือระบบการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ กล่าวคือแรงงานไทยมีทักษะที่หลากหลาย และไม่ตายตัว หรือมีความเป็น Heterogenous Skill มากกว่า Homogenous Skill ในแบบระบบอุตสาหกรรมอย่างในกรณีศึกษาในเยอรมนี การออกแบบระบบที่สำคัญจึงเป็นการพิจารณาระบบ “ประกันสังคมถ้วนหน้า” ที่สร้างระบบพื้นฐานสำหรับทุกคนมากกว่า ระบบที่ผูกติดกับลักษณะการจ้างแบบดั้งเดิม หรือแม้แต่ระบบสมัครใจก็ยังไม่เหมาะสม
จากการสำรวจ ในเงิน 10,000 บาทต่อเดือนของผู้มีรายได้น้อย เงินส่วนแรกจะถูกนำไปใช้กับค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และที่อยู่ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาชีพ ขณะที่ เงินส่วนสุดท้ายจะถูกนำไปใช้หนี้ ดังนั้น แม้การสมทบภาคสมัครใจจะใช้เงินไม่เยอะ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จึงเป็นเรื่องยากที่กลุ่มคนรายได้น้อยอันนับเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะสมบทบอย่างต่อเนื่อง เพราะในเงินที่เท่ากัน พวกเขาเอาไปเติมน้ำมันรถเพื่อขายของ หรือเอาไปใช้หนี้ที่ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อวัน มันคงมีประโยชน์มากกว่า
ดังนั้นการวางระบบถ้วนหน้า จึงสำคัญในแง่การสร้างความรู้สึกปลอดภัยต่อผู้คนและความปลอดภัยนี้จะเป็นตัวสำคัญในการสร้างตัวทวีคูณทางสังคมต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะ การเปลี่ยนงาน หรือแม้กระทั่งความสามารถในการดูแลครอบครัวรวมถึงการจัดการเวลาว่าง
ในเบื้องต้นหากเราพิจารณา จากประกันสังคม ม.40 และเทียบเคียงงบประมาณที่คาดว่า น่าจะใช้กับสิทธิประโยชน์ด้าน การชดเชยรายได้จากการพักรักษาตัว การเดินทางพบแพทย์ กรณีทุพพลภาพ หากรัฐทำการ “ประกัน” สิทธิพื้นฐานให้ทุกคนจะใช้งบประมาณ เพียงแค่เริ่มต้น 10,000 ล้านบาท สำหรับประชากรวัยทำงานทุกคน โดยเงื่อนไขสำคัญคือการรวม
ครั้งหนึ่ง ระบบการรักษาพยาบาลในไทยก็เป็นระบบสงเคราะห์ผ่านการพิสูจน์ความจน และระบบสมัครใจ (การซื้อประกันเอกชน) เป็นหลัก ซึ่งก็เป็นระบบที่เป็นปัญหามาหลายสิบปี จนกระทั่งการมาถึงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้วางรากฐานการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพของการรักษาพยาบาลในภาพใหญ่ และกลายเป็นระบบหลักของการรักษาพยาบาลในไทย การประกันสังคมก็เช่นกันหากเราสามารถปรับหลักเกณฑ์จากระบบสมัครใจใน ม.40 สู่ระบบถ้วนหน้า จะสร้างการเปลี่ยนแปลงมหาศาล
เราอย่าลืมว่า ครั้งหนึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้งบประมาณต่อปีปีละเพียงพันกว่าบาท เริ่มต้นในการรักษาชีวิตของผู้คนได้จำนวนมหาศาล ก่อนที่จะพัฒนาแนวทางการรักษาพยาบาลเพิ่มเติมต่อมาในอนาคต เช่นนั้นเมื่อเราพูดถึงหลักการประกันสังคมถ้วนหน้า จุดเริ่มต้นเพียงแค่ปีละ 360 บาท แต่สามารถสร้างความคุ้มครองให้แก่คนวัยทำงานกว่า 40 ล้านคนได้ จากงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่คนปราศจากความกังวลจากการขาดรายได้ไม่ว่าจะมาจากการเจ็บป่วย ความพิการ หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันในชีวิต
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ กลุ่มคนรายได้น้อยจะมีโอกาสมีรายได้สูงขึ้นระยะยาว ทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้นจากการมีเวลาในการหาเครือข่ายทางสังคมมากขึ้น รวมถึงส่งผลให้เกิดการรวมตัว และสร้างสังคมที่ตื่นรู้ต่อระบบสวัสดิการมากขึ้น ๆ
ดังนั้น ถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องนับหนึ่ง ในการจินตนาการถึงหลักการประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อสร้างการเดินหน้าสู่ก้าวแรกสู่การสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้สำเร็จ