“ณ ห้วงเวลานี้ ชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่งคงกำลังช่วยกันเดินหยอดปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวและสรรพอาหารลงบนผืนดินอันเป็นไร่หมุนเวียน ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชน ท่ามกลางสมดุลของดิน น้ำ ป่าที่พวกเราต่างพยายามปกป้องมาหลายชั่วอายุคน….”
วรรคแรกเริ่มจากถ้อยคำแถลงการณ์กะเหรี่ยงหกจังหวัด ประกาศกร้าวกลางหอศิลปวัฒธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่และการต่อสู้ของกลุ่มคนชาติพันธุ์ผู้มีวิถีพึ่งพาอาศัยกับระบบนิเวศในชีวิตใต้ป่าใหญ่ ผ่านเวที “ไฟป่า ฝุ่นควัน ชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2504 ภายใต้รัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ ได้มีประกาศพระราชบัญญัติพื้นที่อุทยานแห่งชาติฉบับแรกในประเทศไทย โดยจุดมุ่งหมายในการออกพระราชบัญญัติเพื่อการสงวน อนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้และเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ นำร่องพื้นที่แรกเริ่มคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้มีการประกาศอุทยานแห่งชาติเป็นจำนวน 133 แห่ง ทั่วประเทศ และมีพื้นที่เตรียมการประกาศอีก 23 แห่ง ซึ่งนั่นตามมาด้วยข้อพิพาทจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในอุทยานก่อนการประกาศทับที่ และกลายเป็นคดีความของประชาชนภายใต้ป่าดั้งเดิมมากกว่า 60 ราย
ขอบคุณภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
เดิมพันชีวิตคนอยู่กับป่า ไร่หมุนเวียน ≠ ไร่เลื่อนลอย
“เจ้าหน้าที่บอกว่าใจแผ่นดินเป็นต้นน้ำ ถ้าทำไร่จะทำให้ป่าต้นน้ำเสื่อม จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ”
แบงค์ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงสาเหตุแรกในการที่เจ้าหน้าที่อุทยานไม่อนุญาตให้ชุมชนกะเหรี่ยงสามารถอาศัยอยู่บนใจแผ่นดินได้ การมีอยู่ของพวกเขาขัดแย้งกับแผนนโยบายการจัดการป่าจากทางรัฐส่วนกลางด้วยแนวความคิดการอนุรักษ์ไว้มากกว่าการใช้ประโยชน์จากป่าด้วยการทำเกษตรแบบยั่งยืน
ไร่หมุนเวียน ≠ ไร่เลื่อนลอย
หนึ่งในสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดใจให้กับชุมชนกะเหรี่ยงมาอย่างยาวนานกับคำครหาจากผู้ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับป่าและตัดสินว่าวิถีชีวิตของพวกเขาผ่านภาพถ่ายทางอากาศไม่กี่ใบที่ปรักปรำถึงวิถีชีวิตการทำการเกษตรในพื้นที่บรรพชนว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่ถางป่าเปลี่ยนที่ทำกินไปเรื่อย ๆ อย่างไม่สิ้นสุด และทำให้ตามมาด้วยภูเขาหัวโล้น
แต่วิถีของชุมชนกะเหรี่ยงไม่ใช่เช่นนั้น พวกเขายืนยันว่า วิถีชีวิตของพวกเขา คือการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นระบบนิเวศพึ่งพาอาศัยของคนและป่าที่มีมาอย่างยาวนานกว่าสี่รุ่น
“เราต้องดูแลป่า เพราะเรามีทุกอย่างในนั้น ป่าสำหรับคนในชุมชนเปรียบเสมือน เซเว่น บิ๊กซี โลตัสของคนเมือง อยากจะกินอะไรอยากจะเอาอะไรก็มี เราเลยต้องดูแล ถ้าไม่ดูแลเราเองก็อยู่ไม่ได้”
ก๋อ ณัฐวุฒิ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง
ชุมชนบ้านแม่ส้าน จังหวัดลำปางมีพื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษทั้งหมด 18,102 ไร่ ในแต่ละปีจะมีการทำไร่เพียง 400 ไร่ ต่อปี และชุมชนมีกฏระเบียบจะทำต้องขอกรรมการว่า ทำได้ไหม หรือต้องพักให้ฟื้นฟูก่อน
สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและการทำไร่หมุนเวียน คือ ความเชื่อ
โดยเฉพาะพื้นที่การเพาะปลูกที่หมายถึงชีวิต ความเป็น ความตาย ของพวกเขาไปตลอดทั้งปี จึงทำให้ไร่หมุนเวียนเชื่อมโยงกับความเชื่อทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวกะเหรี่ยงอย่างเข้มข้น การจะหาพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนที่นอกเหนือจากพื้นที่ของบรรพบุรุษได้กำหนดขอบเขตไว้ นับเป็นเรื่องที่ยาก พวกเขาจะต้องทำพิธีกรรมทางความเชื่อในชุมชน โดยจะเป็นการตัดต้นไม้ในพื้นที่ที่จะทำการเกษตรแปลงใหม่ และรอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่นั้น อนุญาตในการทำไร่หมุนเวียนได้ ความเชื่อนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการยืนยันของชาวกะเหรี่ยงว่า พวกเขาไม่ได้ทำไร่เลื่อนลอยที่คอยจะทำการถางป่าไปตามอำเภอใจ เพราะทุกต้นไม้ ทุกพื้นดิน ทุกลำน้ำ ล้วนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องรักษาเอาไว้ที่คอยดูแลพวกเขามาตั้งแต่สมัยบรรพชน ให้ข้าวออกรวง ให้พืชออกผล ให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขาจึงรักษาป่าไว้ด้วยชีวิต
“เจ้าหน้าที่ชอบกล่าวหาว่าบุกป่า ทั้งที่เป็นที่ที่ทำกินตั้งแต่บรรพบุรุษจับจองไว้ และพื้นที่น้ำซับน้ำซึมไม่ทำอยู่แล้วเพราะมีความเชื่อเรื่องเจ้าที่ เจ้าป่าเจ้าเขา และเป็นที่ที่สิ่งศักดิ์สิทธิอาศัยอยู่ และต้นน้ำเราไม่ทำเพราะน้ำจะแห้ง ชุมชนรู้ดี”
ก๋อ ณัฐวุฒิ ชุมชนบ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง
“รัฐไม่เชื่อว่าทรัพยากรเป็นของทุกคนและประชาชนมีศักยภาพพอที่จะบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนตัวเองได้ เป็นอคติทางชาติพันธุ์ที่รัฐสร้างนโยบายมากดดัน รัฐไม่ใช่เจ้าของป่าคนเดียว เราควรมาทำความเข้าใจอนุรักษ์ป่าร่วมกัน เพราะความเกลียดชังของคนเมืองส่งผลต่อชาติพันธุ์ที่เดิมพันชีวิตของการอยู่กับป่า”
เฌอเอม ชญาธนุส ภาคีSaveบางกลอย
ขอบคุณภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
“และไม่ใช่ทุกชุมชน ทุกชาติพันธุ์ที่จะสามารถดำรงวิถีเช่นนี้ให้คงอยู่อย่างปกติได้ หลายชุมชนไร่หมุนเวียนเป็นประวัติศาสตร์ กลายเป็นเพียงอดีตอดีตชุมชนที่เคยทำไร่หมุนเวียนเท่านั้น หลายชุมชนกำลังเผชิญเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบาย กฎหมาย กระแสมายาคติ อคติทางสิ่งแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตทั้งโดยสมัครใจ ทั้งโดยความจำเป็น หรือด้วยความจำยอม… “
คำแถลงการณ์กลุ่มชาติพันธุ์วรรคสอง
ปมขัดแย้งยืดเยื้อ ใต้เงารัฐรวมศูนย์
เมื่อบ้านที่พวกเขาอาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กลับไม่สามารถอยู่ได้ดังเดิม นโยบายป่าไร้คนที่ควรมีไว้เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง รัฐจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการประนีประนอมกับชุมชนด้วยการจัดสรรพื้นที่ทำกินในพื้นที่ใหม่ให้กับชุมชนและทำให้ชุมชนต้องปรับเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่อย่างการต้องหันมาทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่รัฐจัดหาอย่างชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยซึ่งมีกรณีพิพาทยาวนานกว่า 20 ปีกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
มากกว่าการแจ้งข้อกล่าวหาคือดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าและสนธิกำลังจับกุมชาวบ้าน 22 คน ทั้งยังบังคับโยกย้ายชาวบ้าน 85 คน ลงมาจากบ้านบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน
“เขาบอกว่าจะจัดการที่ดินให้สุดท้ายก็ไม่ดูแลอย่างที่พูด ชาวบ้านส่วนนึงตัดสินกลับใจขึ้นไปเพราะอยากใช้วิถีแบบเดิม ชาวบ้านก็ถูกดำเนินคดี ถูกกดดันโดยเจ้าหน้าที่ เรื่องการจะกลับไปคนแรกที่พูดคือบิลลี่ ก็ถูกอุ้มหาย คนที่สองคือ ปู่คออี้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้กลับไปจนแกเสียชีวิต ทุกวันนี้เราถูกจำกัดการใช้ชีวิตกับธรรมชาติเพราะการประกาศทับที่อุทยาน “
แบงค์ พงษ์ศักดิ์ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี
หรือการพยามประนีประนอมกับชุมชนด้วยการให้สิทธิ์ในการทำกินในเขตอุทยาน แต่ไม่ให้เอกสารสิทธิ์ในที่ดินแก่ชุมชน แม้ข้อเสนอนี้จะดูเป็นทางออกภายใต้ความขัดแย้งพื้นที่ทำกินของชุมชนดั้งเดิมและปัญหาอุทยานแห่งชาติที่ประกาศทับที่ซึ่งเป็นการอะลุ่มอล่วยตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
“เราไม่มีความมั่นคงในการทำกิน เพราะเขาจะไล่เราตอนไหนก็ได้ ถึงแม้จะไม่ได้เจอการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ ตอนนี้ยังทำงานร่วมกันได้ และไม่รู้อนาคต หากเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ก็จะต้องเจรจากับเจ้าหน้าที่ชุดใหม่ เพราะตัวกฏหมายและนโยบาย กรอบกำหนดยังคงอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนอยู่กับป่าที่ถูกประกาศทับที่ “
หน่อย อำพร ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินดำ จ.สุพรรณบุรี
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย ถูกเจ้าหน้าที่สามนายพร้อมอาวุธปืนยาวหนึ่งกระบอก เข้าทำลายไร่หมุนเวียนที่ทำกินดั้งเดิม โดยมีการกระทำการ เจาะถังน้ำ เทน้ำที่ตักไว้ทิ้งทั้งหมด ทิ้งและทำลายข้าวของเครื่องครัวทั้งหมด,แกะฝากระท่อม และเอามาเผาด้ามเสียม,ทำลายและเอาที่ทำพิธีกรรมของชาวบ้านออกไปทิ้ง, ถอนพืชของชาวบ้านและปล่อยน้ำจากแท้งน้ำที่เก็บไว้ดับไฟป่าตามเส้นแนวกันไฟ 2 จุด ทางเจ้าหน้าที่ไม่มีหนังสือหรือแจ้งชาวบ้านก่อนเข้ามาในพื้นที่ใด ๆ ทั้งสิ้น
“ชุมชนแบบที่อยากอยู่คือ ไร่หมุนเวียนที่ยังมีอยู่ทำให้ไม่ต้องกังวลกับการกินการหาเลี้ยงชีพ ถ้ายังมีชุมชนที่ยังดูแลทรัพยากรและอยู่มีความสุข ยิ่งมีเยอะแบบนี้ก็ยิ่งดี ดูแลป่าจากจิตใจไม่ใช่เงินเดือน นี่คือขีวิตของเรา วิถีชีวิตของเรา ถึงเราไม่มีเงินเรายังดูแลป่า เราไม่ต้องพึ่งเงินเดือน”
เล็ก นิรภา ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย
เพียงห้าวันหลังจากการสิ้นสุดคำแถลงของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ใจกลางกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่รัฐได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชุมชนห้วยหินลาดใน ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการหว่านเมล็ดพันธุ์ความหวังของฤดูกาลที่อิ่มท้องของทั้งชุมชน และสะท้อนการใช้อำนาจรัฐตัดสินชะตาชีวิตของผู้คนที่มีวิถีชีวิตอยู่กับป่า
จากที่ชาวกะเหรี่ยงต้องขอเจ้าป่าเจ้าเขาในการทำไร่และชีวิต พวกเขาต้องมาขอเจ้าหน้าที่แทน การต้องขอในการทำทุก ๆอย่างนั้นทำให้ป่าแห่งนี้เหมือนที่นี่ไม่ใช่บ้านของพวกเขา
จนทำให้รู้สึกเหมือนเป็นอื่น
ภาพไร่หมุนเวียนชุมชนห้วยกินลาดในถูกทำลาย ขอบคุณภาพ : prasit siri
“แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตบนระบบไร่หมุนเวียน อันหมายถึงการปกป้องสมดุลนิเวศเพื่อผู้คนในสังคม ปกป้องจิตวิญญาณ จักรวาลทัศน์ ความเป็นชุมชน ปกป้องผืนป่าที่สืบสานจากบรรพชน ท่ามกลางสังคมทุนนิยมที่คอยแต่จะแปรเปลี่ยนดิน น้ำป่า อากาศให้เป็นทรัพย์สิน เป็นสินค้าเพื่อการครอบครอง ค้ากำไร…. “
คำแถลงการณ์กลุ่มชาติพันธุ์วรรคสาม
แพะรับบาปในดงฝุ่นพิษ บริการนิเวศไม่ทำลายป่า
อีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่ใหญ่ของชาติพันธุ์ คือการถูกทำให้เป็นแพะรับบาปของฝุ่นควัน ว่าการใช้ไฟในการเกษตรที่เป็นภูมิปัญญา คือสาเหตุหลักของไฟป่า และวิกฤตการณ์ฝุ่นพิษ
ด้วยมาตรา19 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งว่าด้วยข้อห้ามยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม ประจวบกับสถานการณ์ฝุ่นควันในประเทศไทย กับมาตรการห้ามเผาของรัฐบาลในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน เพื่อลดจำนวนฝุ่นpm2.5
ทำให้ชีวิตของกะเหรี่ยงไม่เคยเหมือนเดิมอีกต่อไป นอกจากการถูกประกาศทับที่จากอุทยานแห่งชาติที่พลิกชีวิตของกะเหรี่ยง พวกเขายังถูกห้ามใช้ไฟในฤดูกาลที่เหมาะสมอย่างเดือนมีนา-เมษายน การเผาในฤดูร้อน ที่ท้องฟ้าเปิดคือหนึ่งในภูมิปัญญาที่สำคัญในการทำการเกษตร
ด้วยวิธีแห่งไร่หมุนเวียน การไม่อนุญาตให้พวกเขาได้ใช้ไฟตามภูมิปัญญาก็เปรียบเสมือนการขับไล่พวกเขาทางอ้อม เมื่อพวกเขาไม่ได้เผาไร่ที่ถึงครบระยะเวลาพักฟื้น เพื่อกำจัดวัชพืชทั้งหมด คลังอาหารในไร่ของพวกเขาก็จะถูกแย่งสารอาหาร และทำให้ผลผลิตน้อยลง ที่หมายถึงการจะต้องอดของชุมชนไปตลอดทั้งปี
ถ้าหากพวกเขากระทำตามมาตราการของรัฐด้วยการเริ่มเผาในช่วง มิถุนายน เป็นต้นไปที่เข้าสู่ฤดูฝน เนื่องด้วยความชื้นที่มาก ทำให้การเผาไร่เตรียมการไร่หมุนเวียนต้องใช้ระยะเวลาที่มากขึ้นหลายเท่าตัวกว่าจะเผาไหม้เสร็จสมบูรณ์ และก่อให้เกิดควันที่มากขึ้นตามมา
และเป็นสิ่งที่พวกเขาถูกโจมตีจากผู้คนภายนอก ว่านี่คือต้นตอของการเกิดฝุ่น pm 2.5 และลามไปถึงการก่อตัวของอคติทางชาติพันธุ์ว่าพวกเขากำลังทำลายทรัพยากรป่าไม้อันล้ำค่าของประเทศ
“ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงคือ การใช้บริการทางนิเวศ แต่คนเมืองมองว่าเป็นการทำลายทรัพยากร เพราะในเมืองการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในบ้านตัวเองได้หายไปแล้ว”
“พอมันหายไป ก็รู้สึกว่าคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ ซึ่งเป็นการถูกทุนนิยมแทรกแซง”
“ถ้าเราอยากจะเข้าใจชาติพันธุ์ต้องถอดเลนส์ที่คิดว่าคนเมืองถูกทุกอย่างออกก่อน ชุมชนบ้านแม่ส้านใช้บริการนิเวศไป 7.3 ล้านบาท ในระยะเวลา 9 เดือน นั้นแสดงว่าพวกเขาจะไม่ทำลายป่า เพราะนั้นคือแหล่งความมั่นคงทางอาหารของเขา แล้วการที่ต้องซื้อทุกอย่างของคนเมือง นั้นมีความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ “
เฌอเอม ชญาธนุส ภาคีSaveบางกลอย
เมื่อป่าและไร่หมุนเวียนที่เคยฝากท้องและชีวิตไม่สามารถทำได้เหมือนเคย พวกเขาถูกบีบบังคับให้ต้องผลัดถิ่น และจำยอมกลายเป็นแรงงานในตัวเมือง เพื่อปากท้องและความอยู่รอด ทำให้วิถีชุมชนบางส่วนหายไปอย่างช้า ๆ
เช่น การทอผ้า งานประเพณีชุมชน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการหลายวัน จากที่เคยหว่านเมล็ดและรอให้วันเวลา ทำหน้าที่ให้พืชออกผล พวกเขาจะต้องเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ถูกดูดกลืนเวลาของพวกเขาในการอยู่กับชุมชนให้ลดน้อยลง ซึ่งเป็นการลบชาติพันธุ์ให้หายไป
ขอบคุณภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
“ วันนี้ พวกเราจึงได้ร่วมกันส่งเสียงอีกครั้ง เพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมเข้าใจวิถีชีวิตบนความหลากหลายวัฒนธรรมที่ยังสัมพันธ์กับผืนป่า ก็เพราะวิถีชีวิตที่ยังคงพึ่งพาป่าและดูแลป่าให้เหลือรอดเช่นนี้มิใช่หรือที่ทุกคนปรารถนาต้องการ หรือหลายคนต้องการเพียงผืนป่า สัตว์ป่าโดยปราศจากผู้คน ชุมชนดั้งเดิมอย่างพวกเรา “
คำแถลงการณ์กลุ่มชาติพันธุ์วรรคสี่
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เฝ้ารอ
“เล็กเห็นหมู่บ้าน เห็นพ่อแม่ ต่อสู้มากว่า 30 ปี สิ่งพวกนี้ถ้าไม่มีคนสานต่อจะสูญเปล่าไปเลย คนรุ่นใหม่ต้องสืบต่อเพื่อให้วิถีชุมชนนั้นคงอยู่ เลยทำให้เล็กตัดสินใจกลับไปที่หมู่บ้าน อดีตที่ถูกกล่าวหาเราไม่เคยอธิบายกับคนภายนอก คนในชุมชนต้องเป็นคนออกมาพูด ถึงองค์ความรู้ ช่วยกันกระจาย กลุ่มเยาวชนจึงต้องช่วยกันกระจายข้อมูธลที่ถูกต้องของไร่หมุนเวียน เช่น ป่าและแผนที่ ให้ชัดเจน “
เล็ก นิรภา ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย
เสียงของคนกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ที่สืบสานต่อเจตจำนงของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นานนับหลายปีที่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยยังคงต่อสู้ถึงสิทธิความเป็นมนุษย์และวิถีชีวิตการมีอยู่ของพวกเขา ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยได้ลงนาม Agenda 30 สนธิสัญญาที่จะกำจัดความยากจนและความหิวโหยทุกแห่ง; ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศต่าง ๆ สร้างสังคมที่สันติ ยุติธรรมและครอบคลุมคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รวมถึงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ภายในปี พ.ศ. 2573 แต่นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถทำและบรรลุเป้าหมายอย่างที่ควรจะเป็นได้
ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ รัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติชาติพันธุ์
โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย “คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม” ของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ เน้นสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย สร้างพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มวัฒนธรรมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
“กะเหรี่ยงเป็นคนจน เราไม่มีทรัพย์สินไปซื้อข้าวกินตลอดชีวิต เราใช้แรงกาย แรงใจ ปลูกข้าวเอง ช่วยเหลือกันทั้งชุมชนเพื่อให้ได้ข้าวมากิน เสื้อที่ใส่ก็มาจากไร่หมุนเวียน เราเลยเห็นความสำคัญของไร่หมุนเวียน และอยากให้คนอื่นเห็นความสำคัญ อยากให้ถูกยอมรับ เราเป็นกะเหรี่ยง เราภูมิใจนะ ไม่อยากให้ถูกมองข้าม”
หน่อย อำพร ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินดำ จ.สุพรรณบุรี
หยดน้ำตาไหลรินลงกลางเวทีเสวนา เมื่อพวกเขาได้พูดถึงบ้าน วิถีชีวิต ที่พวกเขารักและหวงแหน ภาพไร่หมุนเวียนที่ข้าวออกรวงตามฤดูการจากน้ำพักน้ำแรงคนในชุมชน สายลมแห่งเจ้าป่าเจ้าเขาพัดผ่านข้าวและพืชผลในไร่ที่ทำให้คนกะเหรี่ยงรุ่นสู่รุ่นเติบใหญ่อย่างอิ่มท้อง พวกเขายังคงหวังให้ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นอีกและคงอยู่ต่อไป
ขอบคุณภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
“และแม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ มลพิษสิ่งแวดล้อมอย่างแสนสาหัส แต่ก็ไม่ควรมีเพียงคนบางกลุ่ม คนบางวัฒนธรรมที่ต้องถูกตราหน้า ติดป้ายให้ต้องกลายเป็นตัวการดั่งแพะรับบาปในเรื่องนี้อย่างไม่ธรรม ตอกย้ำอคติ มายาคติทางสังคม กดทับให้พวกเรากลายเป็นอื่นอยู่ทุกยุคสมัย
บนเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องของพวกเรา เดินทางมาถึงอีกห้วงสำคัญในการผลักดันกฎหมายฉบับสำคัญที่ว่าด้วยสิทธิทางชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าทางสังคม
ร่วมกันขจัดอคติ มายาคติทางชาติพันธุ์ ปกป้อง ส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมบนผืนป่า ผืนทะเล ในฐานะหนึ่งในวิถีการอนุรักษ์ที่หลากหลาย การอนุรักษ์ที่มีชีวิตของชุมชนบนวิถีไร่หมุนเวียนอย่างที่เรากำลังพยายามส่งเสียงในวันนี้
หากเราต้องการผืนป่า ผืนน้ำ ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี การร่วมกันหยุดสร้างมายาคติ สร้างแพะรับบาปด้านผืนป่าและสิ่งแวดล้อม การร่วมกันปกป้องชุมชนคนกับป่าบนความเป็นธรรมทางสังคมวัฒนธรรมมากกว่าการมุ่งใช้อำนาจการปกครองแบบรวมศูนย์ จะเป็นก้าวสำคัญ เป็นดั่งทางรอด มากกว่าทางเลือกของสังคม”
คำแถลงการณ์กลุ่มชาติพันธุ์
ร่างพ.ร.บ ชาติพันธุ์ฉบับนี้ จะเป็นแสงสว่าง ความหวัง และคำขอโทษที่สำคัญของสังคมต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์และวิถีชีวิตของพวกเขาหลังจากต่อสู้อย่างยาวนานที่ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียผู้คน-วัฒนธรรมอย่างย้อนคืนมาไม่ได้